ธรรมที่เป็นคู่ปรับ

         ธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน  หรือธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน  หมายถึงว่า เป็นธรรมหรือสิ่งที่ไม่อยู่ร่วมกันหรืออยู่ร่วมกันไม่ได้  กล่าวคือ ถ้ามีสิ่งหนึ่งเกิด  แล้วมีธรรมคู่ปรับในธรรมนั้นๆเกิดขึ้น  ธรรมหรือสิ่งที่มีอยู่ก่อนนั้นก็ย่อมสงบหรือเบาบาง หรือถึงขั้นดับลงไป    อันมีสภาพดุจดั่งนํ้ากับไฟ  หรือ นํ้ากับนํ้ามัน   การดับนั้นอาจเป็นไปอย่างไม่ถาวรก็ได้  เป็นไปในลักษณาการเช่นเดียวกับในเรื่องของฌานสมาธิ  ที่มีธรรมคู่ปรับ คือ นิวรณ์ ๕  อันเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง  ซึ่งเมื่อมีกิเลสในนิวรณ์ ๕ เกิดขึ้น ย่อมไม่สามารถเจริญในฌานสมาธิได้ดี ก็เพราะกิเลสต่างๆเหล่านั้นเป็นเหตุ เพราะเมื่อมี กามฉันทะ๑-ความใคร่ ความพอใจอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ   พยาบาท๑-อาฆาตโกรธแค้นขุ่นเคือง   ถีนะมิทธะ๑-ความหดหู่ความซึมเซาง่วงงุน   อุธัทจะกุกกุจจะ๑-ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ   วิจิกิจฉา๑-ความลังเลสงสัย   แต่เมื่อใดที่เจริญในฌานสมาธิได้ดี นิวรณ์ก็ฟุ้งเกิดขึ้นไม่ได้  กล่าวคือแม้ยังไม่ได้ดับไปเป็นการถาวรอย่างแท้จริง  แต่ก็ย่อมยังประโยชน์ในที่สุด

          กิเลสทั้ง ๕ เหล่านั้นเกิดขึ้นในจิต ย่อมเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยคือปฏิจจสมุปบันธรรม คือเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตซัดส่าย สอดแส่ ฟุ้งซ่านออกไปคิดนึกปรุงแต่งภายนอก หรือต่อภายในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง   ย่อมยังให้เกิดการผัสสะ จึงเกิดเวทนา เกิดความทุกข์,ความกังวลใจ จึงเกิดเวทนาต่างๆนาๆซัดส่ายไปในเหล่ากิเลสนิวรณ์เหล่านั้น  จิตเมื่อซัดส่าย จึงย่อมทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงฌานสมาธิได้  เพราะฌานสมาธิมีหลักสำคัญยิ่งอยู่ที่การมีจิตแน่วแน่ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด(อารมณ์)   และเมื่อเจริญฌานสมาธิได้ผลดี ก็ย่อมหมายความ จิตหยุดการซัดส่ายไปในเหล่ากิเลสของนิวรณ์ ๕ เหล่านั้น จึงเป็นอันระงับหรือดับไป แต่เป็นไปอย่างชั่วระยะหนึ่ง ยังไม่เป็นการดับไปอย่างถาวร เป็นไปในลักษณาการของการกดข่มหรือสะกดด้วยอำนาจของฌาน,สมาธิ  จึงยังสามารถกำเริบเสิบสานขึ้นมาใหม่ได้อีก จัดเป็นวิกขัมภนวิมุตติ

ธรรมคู่ปรับ

        นิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นธรรมคู่ปรับกับฌานสมาธิ และความดี

        นิพพิทา เป็นธรรมคู่ปรับกับจิตฟุ้งซ่าน  จิตคิดนึกปรุงแต่ง  ตัณหา

        ความสังเวช เป็นธรรมคู่ปรับกับ ความกำหนัดหรือราคะ

        จิตหดหู่ (ถีนะเป็นธรรมคู่ปรับกับ ติดสุขในฌาน,สมาธิ  กล่าวคือ ผู้ที่ติดสุข ติดสงบ ติดสบายในผลของฌานสมาธิ  เมื่อไม่สามารถทรงฌานหรือสมาธิได้ ก็จะเกิดจิตหดหู่ขึ้น   และเมื่อทรงฌานสมาธิหรือปรุงระลึกในองค์ฌานได้ด้วยความจำจากความชำนาญ  จิตหดหู่ก็จะหายไป

        ถีนมิทธะ  จิตหดหู่  ความซึมเซา  ง่วงเหงาหาวนอน  เป็นธรรมคู่ปรับกับ ปีติ ความอิ่มเอิบใจ  กล่าวคือ เมื่อเกิดความอิ่มเอิบกายหรือใจ  เหล่าความหดหู่(ถีนะ)  หรือความง่วงเหงาหาวนอนอันเกิดแต่จิตเป็นเหตุ(มิทธะ) เช่นความเบื่อ ความเซ็งในความซํ้าซาก หรือไม่ต้องใจจึงง่วงงุน   สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ย่อมหายไปเมื่อเกิดปีติ

        โทสะจริต คนมีพื้นนิสัยหนักในโทสะ หงุดหงิด โกรธง่าย แก้ด้วยเจริญเมตตา

        อกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล, ต้นเหตุของอกุศล,  ต้นเหตุของความชั่ว มี ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ
        ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับ
โลภะ คือ จาคะ - ความคิดเผื่อแผ่
        ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับ
โทสะ คือ เมตตา
        ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับ
ความหลง คือ
ปัญญา

        อภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการกระทำของบุคคล, เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม มี ๓ อย่างคือ
        ๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นบุญ
        ๒. อปุญญาภิสังขาร
อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป
        ๓. อาเนญชาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นอเนญชา คือ กุศลเจตนาที่เป็น
อรูปาวจร ๔
 

        เรียกง่ายๆ ได้แก่ บุญ บาป ฌาน

        วิกขัมภนนิโรธ  ดับด้วยการไปข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น
        ตทังคนิโรธ  
ดับด้วยธรรมองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้  ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้
เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ

Google


ทั่วโลก  ค้นหาเฉพาะใน"ปฏิจจสมุปบาท"