ข้อเตือนใจนักปฏิบัติ
นักปฏิบัติที่ปฏิบัติในแนวทางปฏิจจสมุปบาท หรือสติปัฏฐาน๔ คือ สติเห็นเวทนา(เวทนานุปัสสนา) หรือสติเห็นจิต(จิตตานุปัสนา) ขอให้มีสติเตือนใจตนว่า เวทนา หรือจิตคิดนั้นยังมีอยู่เป็นปกติธรรมชาติ มิใช่หยุดเวทนาหรือหยุดคิด เพียงแต่มีสติหยุดคิดปรุงแต่ง เหตุที่กล่าวเตือนนั้น เพราะเมื่อเกิดเวทนาทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนาหรือจิตคิดขึ้นมาก็ตาม ถึงแม้จะเห็นการเกิด การแปรปรวน หรือการดับอย่างแจ่มแจ้งบ้างแล้ว แต่ถ้าไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ ก็จะแอบผลักไส ถ้าถูกใจ ติดใจ ชอบใจก็แอบยึดไว้ อาการเหล่านี้เกิดแต่ความเคยชินที่ได้สั่งสมมายาวนานตั้งแต่จำความได้ จึงมักไหลเลื่อนกระทำเองโดยอัติโนมัติอย่างไม่รู้ตัว หรือเป็นสังขารอันเกิดแต่อวิชชานั่นเอง กล่าวคือ เห็นเวทนาหรือจิตอย่างแจ่มแจ้งก็จริงอยู่ แต่สตินั้นไม่ทันว่า ยังคงต้องเกิดต้องมีเช่นนั้นเป็นธรรมดา เพราะความที่ได้สั่งสมเคยชินมาอย่างแก่กล้าดังที่กล่าวไว้ จึงเกิดเป็นตัณหาต่อความรู้สึกนั้นๆโดยไม่รู้ตัว จึงเพียงแต่รู้ถึงสภาวะของการเกิดขึ้น แปรปรวน ดับไป และหยุดคิดปรุงแต่ง อันจึงย่อมต้องรับรู้ยอมรับตามความเป็นจริงในเวทนาเหล่านั้นว่าเป็นธรรมดา เมื่อมีสติเวทนาใจก็จะเบาบางลงเอง ไม่ใช่การไปเผลอ อยากให้เกิด อยากให้มี อยากให้เป็น หรือไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เป็นขึ้น อันจะก่อให้เกิดความทุรนทุรายเร่าร้อนโดยไม่รู้ตัว
-------------------
ตัณหาจะเกิดขึ้นมาได้ ต้องอาศัยเวทนา
เพราะ
เวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา
แต่เวทนาก็เป็นสภาวะธรรมของชีวิต จึงดับให้สนิทไปไม่ได้ แต่อยู่ในสภาวะเกิดดับๆๆๆ อยู่เยี่ยงนั้น จึงยังคงต้องมีอยู่ในลักษณาการดังที่กล่าว เวทนานุปัสสนาจึงหมายถึงการปฏิบัติในทางปัญญาที่หมายถึงรู้เข้าใจตามความเป็นจริง และการมีสติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาที่เกิดขึ้นเหล่านั้น จนเป็นมหาสติ คือ ทำหรือปฏิบัติได้เอง อันเกิดแต่ความชำนาญอย่างยิ่งยวด ดังเช่น การอ่านหนังสือออก หรือมหาสตินั่นเอง
|