การเกิดของสังขารในวงจรปฏิจจสมุปบาท
สังขารในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง การกระทำหรือสิ่งปรุงแต่งหรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ตามที่ได้สั่งสม อบรม ประพฤติ ปฏิบัติมาแต่อดีต พร้อมแฝงด้วยกิเลสอยู่ในทีที่พร้อมจะดำเนินต่อไปตามวงจรปกิจจสมุปบาทให้เกิดอุปาทานทุกข์ขึ้น กล่าวคือ อาสวะกิเลสอันเป็นสัญญาจำเจือด้วยกิเลส เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันร่วมกับอวิชชาความไม่รู้ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสังขารชนิดที่จะก่อทุกข์ขึ้น จึงเรียกว่าสังขารกิเลสหรือ "กิเลส" ก็ได้ คือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่นั้นได้ทำงานอย่างเต็มตัว
การเกิดขึ้นของสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั้นมี ๓ ลักษณะ
๑. เกิดผุดขึ้นมาเอง อุปมาดังโคลนตมที่หมักหมมเน่าเปื่อยอยู่ภายใต้ท้องธาร เมื่อหมักหมมเน่าเปื่อยได้ที่ย่อมเกิดก๊าซต่างๆผุดลอยขึ้นมาเอง ไม่สามารถควบคุมบังคับได้ หนึ่งในวิธีเกิดขึ้นของสังขารในปฏิจจสมุปบาทก็เป็นไปดังนี้ กล่าวคือ อยู่ดีๆก็สังขารคิดอันเกิดขึ้นเนื่องจากอาสวะกิเลสที่ลอยผุดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมบังคับได้ จะไปบังคับว่า เจ้าจงอย่าได้เกิดขึ้น เจ้าจงอย่าคิด ล้วนควบคุมบังคับไม่ได้อุปมาดังโคลนตมที่หมักหมมเน่าเปื่อยอยู่ใต้ท้องธาร(อาสวะกิเลส)ที่ย่อมต้องผุดฟองอากาศอันเปรียบประดุจสังขารขึ้นมาได้เองจากการหมักหมม ถ้าเราโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายก็จะพบว่า ล้วนเป็นไปตามกระแสธรรมหรือธรรมชาติของผู้ที่มีชีวิตนั่นเอง ความฝันก็เป็นการเกิดขึ้นในลักษณะนี้อย่างหนึ่งเช่นกัน
อาสวะกิเลสตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นสัญญาอย่างหนึ่งนั่นเอง สัญญาหรือความจำนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต ถ้าไม่มีสัญญาจำได้ในอดีตก็จะเกิดปัญหาขึ้น ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองทันที จำไม่ได้ว่าทำงานหรือกิจถึงไหนแล้ว จำไม่ได้ว่าวางกระเป๋าไว้ที่ไหน จำไม่ได้ว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้ชื่ออะไร จำไม่ได้ว่าลืมปิดเตารีดที่บ้าน จำไม่ได้ว่าทานข้าวหรือยัง ลองพิจารณาแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะธรรมของชีวิตที่ปกติ ถ้าขาดสัญญาจำเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อีกเลย บางครั้งออกไปข้างนอกบ้าน จนไกลแล้ว สัญญาความจำได้ก็ผุดขึ้นมาว่าลืมปิดเตารีดบ้าง ลืมปิดเตาบ้าง ลืมกระเป๋าสตางค์บ้าง ลืมโทรศัพท์บ้าง สังเกตุได้ว่ามิได้เจตนาที่จะสัญญาหรือจำได้ขึ้นมาเลย แต่เพราะเป็นธรรมชาติหรือองค์ประกอบของชีวิตจึงสามารถจำได้หรือผุดขึ้นมาได้เองเป็นองค์ในการดำเนินชีวิตนั่นเอง เป็นเยี่ยงนี้อยู่บ่อยๆทั้งวันทั้งคืน และดังที่กล่าวไว้แล้วเกี่ยวกับสัญญาจำใน อาสวะกิเลส และ สัญญา (รายละเอียดแต่ละองค์ธรรมปฏิจจสมุปบาท ในหน้ากระดานธรรม) ที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงเหมือนดังเทปบันทึกเสียง ถ้าอยู่ในวิถีแล้ว จะดีชั่ว ไพเราะหยาบคาย ถูกใจไม่ถูกใจ ต่างล้วนบันทึกไว้ ไม่สามารถเลือกจดจำแต่สิ่งที่ต้องการหรือจำแต่ในสิ่งที่ดีๆหรือชอบได้ อาสวะกิเลสก็เป็นไปดังนี้เช่นกันคือแม้เป็นความจำที่ทำให้จิตขุ่นมัวหรือกิเลสก็จดจำได้ ไม่สามารถไปบังคับไม่ให้จดจำได้ ดังนั้นจึงมีลักษณาการของการเกิดขึ้นมาเองได้โดยไม่ได้เจตนาหรือเกิดขึ้นเองโดยอัติโนมัติ หรือผุดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจดังเช่นสัญญาอื่นๆเช่นกัน จึงไม่มีใครหรือผู้ใดสามารถไปควบคุมบังคับได้เลยเพราะความที่เป็นส่วนหนึ่งอันจำเป็นยิ่งในการดำรงชีวิตคือสัญญา และวิบากกรรมหรือผลของกรรมชั่วส่วนหนึ่ง ก็เกิดขึ้นโดยผ่านสังขารนี้นี่เองจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนยาวนานในชรา และอีกส่วน ของวิบากกรรมนั้นก็เป็นไปในรูปอจินไตยเป็นผลของกรรมแบบใดแบบหนึ่งออกมาในภพชาติต่อๆไปผ่านทางอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ในชราอีกเช่นกัน ด้วยเหตุดั่งนี้นี่เองจึงไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงวิบากกรรมหรืออาสวะกิเลสได้เลย นอกจากผู้มีวิชชาจนสิ้นอาสวะกิเลสหรือเหนือกรรม
๒. เกิดการเจตนาขึ้นมาด้วยอวิชชา ตามอำนาจความเคยชินความชำนาญตามที่ได้สั่งสมอบรมไว้โดยตรง แต่สิ่งที่สั่งสมอบรมเหล่านี้ล้วนแฝงด้วยกิเลสสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวอันเนื่องมาจากอาสวะกิเลส และเพราะความไม่รู้(อวิชชา)นั่นเอง จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันเกิดสังขาร อันเป็นสังขารกิเลสหรือกิเลสนั่นเองให้กระทำการต่างๆให้ดำเนินและเป็นไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท
๓. เกิดขึ้นจากการกระตุ้นเร้าจากการผัสสะโดยตรง กล่าวคือเกิดแต่การที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปผัสสะโดยตรงต่อ รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมมารมณ์โดยตรง เกิดสังขารขันธ์ขึ้น อันเป็นการไปกระตุ้นเร้าอาสวะกิเลส หรือไปกวนตะกอนกิเลสที่นอนก้นอยู่ให้เกิดการตื่นขึ้นทำงานหรือฟุ้งขึ้นนั่นเอง ดังเช่น ตา ไปกระทบกับ บุคคลที่เกลียดชัง, หู ไปกระทบ เสียงที่ด่าว่า เป็นต้น. แล้วเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชา จึงเกิดองค์ธรรมสังขาร หรือสังขารกิเลสขึ้น แล้วดำเนินต่อไปในวงจรปฏิจจสมุปบาท.
|