กระดานธรรม ๑

โยนิโสมนสิการ  อานิสงส์ดุจดั่งก่อพระเจดีย์ใหญ่

 คลิกขวาเมนู  

การพิจารณาธรรมอย่างแยบคาย  ได้บุญกุศลสูงเหมือนดังก่อพระเจดีย์ใหญ่

แล้วเกิดสภาวะเหมือนดังการต่อภาพปริศนาหรือ Jig saw

หรือการเกิดอาการธรรมสามัคคีขึ้นนั่นเอง

         การโยนิโสมนสิการ กระทำในใจโดยละเอียดและแยบคายนั้น ให้ประโยชน์มากและเป็นไปดังนั้นจริงๆ  จึงย่อมได้อานิสงส์ผลบุญกุศลอันสูงส่งอย่างแน่นอน  แต่มิได้จากการก่อพระเจดีย์นั้นตรงๆ  แต่เป็นทั้งบุญทั้งกุศลอันสูงยิ่งกว่าเหนือกว่าการก่อพระเจดีย์ใหญ่สูงเสียดฟ้าเสียอีก คือ เป็นลักษณาการของการพิจารณาธรรมแล้วเกิดความเข้าใจขึ้น ดุจดังการก่อสร้างพระเจดีย์ใหญ่นั่นเอง  กล่าวคือ  เมื่อพิจารณาธรรมในช่วงแรกๆนั้น  อ่าน,ฟังใหม่ๆก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาย่อมเนื่องด้วยอวิชชา  แต่เมื่อปฏิบัติด้วยการพิจารณาด้วยความเพียรอย่างใช้ปัญญา  การศึกษาการอ่านการฟังเหล่านั้นก็จะยังให้เกิดปรากฏการณ์ อุปมาดั่ง การก่อขยายฐานของพระเจดีย์ใหญ่ก่อน   ยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจเป็นรากฐานแผ่ออกไปเสียก่อน   และเมื่อพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนและแยบคายอยู่เสมอๆ โดยการโยนิโสมนสิการ หรือจะเรียกว่าธรรมวิจยะก็ตามที  ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจ ภูมิรู้ภูมิญาณแตกฉานขึ้นสูงเป็นลำดับ  อุปมาดังการก่อ ต่อยอดพระเจดีย์สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปๆ เป็นลำดับ   เพราะการพิจารณาธรรม หรือธรรมะวิจยะ หรือการโยนิโสมนสิการ มีอานิสงส์ให้เกิดปัญญาญาณ(สัมมาญาณ)โดยตรง  จึงยังให้เกิดสัมมาวิมุตติ สุขจากการหลุดพ้นไปจากกองทุกข์  อันเป็นไปตามหลักสัมมัตตะ ๑๐   อันเป็นบุญกุศลสูงสุด

โยนิโสมนสิการ  เกิดผลเหมือนดั่งต่อภาพปริศนา

        การโยนิโสมนสิการ กระทำในใจโดยละเอียดและแยบคายนั้น ให้ประโยชน์มาก ทำให้เกิดปัญญา เพียงแต่ต้องมีความเพียร และวางความยึดความเชื่อลง พิจารณาโดยวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปตามความเชื่อเดิมๆซึ่งมีทั้งถูกและผิด ความชอบความชัง  เน้นที่สภาวธรรม(ธรรมชาติ)ตามความเป็นจริงเป็นแก่นเป็นแกน

        หลายท่านที่โยนิโสมนสิการแล้วกล่าวว่า ไม่ได้อะไรเลย ไม่เห็นรู้อะไรเลย ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรสู้การอ่านข้อธรรมดีๆไม่ได้  เหล่านั้นล้วนเป็นความเข้าใจผิด

        เพราะการโยนิโสมนสิการนั้น เหมือนกับการต่อภาพปริศนา(Jig Saw)ด้วยความเพียร เมื่อเริ่มลงมือนั้นจะเหมือนการต่อภาพปริศนานั่นเอง คือแล้วแต่ชิ้นภาพที่จะจับขึ้นมาเป็นหลักอันมักเป็นภาพส่วนที่มีจุดเด่น หรือมีเอกลักษณ์พิเศษที่สังเกตุได้ง่าย แล้วก็เริ่มคุ้ยหาส่วนต่างๆที่สัมพันธ์กันหรือเป็นเหตุเป็นผลกัน หยิบขึ้นมาพิจารณา เจอบ้าง ไม่เจอบ้าง อันเป็นธรรมดา หยิบชิ้นนี้ขึ้นมาดูแล้วไม่ใช่ก็วางลง แต่ก็ยังคงจดคงจำเค้าโครงไว้ได้ลางๆในจิตไว้เป็นประโยชน์เมื่อคราวต่อๆไป  ค้นหาชิ้นส่วนภาพอื่นๆที่ปะติดปะต่อทีละเล็กทีละน้อย ประติดประต่อบ้าง ไม่ประติดประต่อบ้าง วางมุมนี้บ้าง  เพิ่มมุมนั้นบ้าง  สลับเวียนวนอยู่ดังนี้ จนภาพนั้นจะเริ่มขยายขึ้นทีละน้อย ทีละน้อย ตามความเพียร ยิ่งประกอบได้มากเท่าใด ชิ้นส่วนก็น้อยลงเท่านั้นยิ่งประกอบได้ง่ายขึ้น ง่ายขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดขณะใกล้สำเร็จนั้นความเร็วย่อมเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติเป็นธรรมดา  และเมื่อประกอบชิ้นสุดท้ายลงไป ภาพนั้นก็ลงตัวบริบูรณ์

        การโยนิโสมนสิการก็เช่นกัน เริ่มแรกเราก็ต้องเลือกเฟ้นธรรมตามหลักธรรมวิจยะ แล้วเริ่มปฏิบัติ เมื่อเริ่มแรกขณะพิจารณาก็ต้องขุดคุ้ยธรรมต่างๆ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างเป็นธรรมดา แต่ล้วนเป็นคุณประโยชน์โดยไม่รู้ตัว เกิดการประกอบของภูมิรู้ ภูมิญาณขึ้นทีละเล็กทีละน้อยดังภาพต่อ ที่แรกเริ่มก็ไม่รู้เค้ารู้โครงว่าเป็นภาพอะไรเป็นธรรมดา แต่เมื่อกระทำโดยความเพียร ด้วยใช้เหตุใช้ผล ก็ย่อมก่อรูปก่อร่างขยายขึ้นทีละเล็กทีละน้อยเหมือนภาพต่อ เมื่อเริ่มจับหลักเห็นเค้าโครงได้ ภูมิรู้ภูมิญาณในสภาวะธรรมตามความเป็นจริงก็ย่อมดำเนินไปได้รวดเร็วขึ้นๆเป็นธรรมดา จนในที่สุดก็จะเกิดอาการธรรมสามัคคีหรือถึงขั้นมรรคสามัคคี(มรรคสมังคี ก็เรียก)ในธรรมนั้นๆ ขึ้นในที่สุด ....อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เอง สว่างไสวขึ้นแก่จิตตน

 

โยนิโสสูตร

ความสำคัญของการโยนิโสมนสิการ

 พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)

 

 

กลับสารบัญ