อย่าส่งจิตออกนอก และอย่าจิตส่งใน

         ส่งจิตออกนอก  หมายถึง การส่งจิตออกไปภายนอกไปเสวยอารมณ์ (อันหมายถึงเวทนา) มีความหมายถึง การที่ไม่สำรวมจิต  การฟุ้งซ่าน คือส่งจิตออกไปสอดส่ายรับการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ภายนอกต่างๆ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  จึงส่งจิตออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่อสิ่งต่างๆเหล่านั้น  จึงเกิดการเสวยอารมณ์คือเวทนาต่างๆ ขึ้น  ซึ่งมักเป็นปัจจัยให้เกิดการคิดปรุงแต่งต่างๆสืบต่อมา  เมื่อเกิดการคิดปรุงแต่งต่างๆขึ้นจึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาต่างๆหลากหลาย ซึ่งมักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาขึ้น  จึงยังให้เกิดความทุกข์ขึ้นในที่สุด  อันเป็นการดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทหรือการเกิดขึ้นของกองทุกข์นั่นเอง

         หรือกล่าวโดยย่อก็คือ การส่งจิตออกไปภายนอก ไปปรุงแต่ง  ไม่มีสติอยู่ภายใน กาย เวทนา จิต ธรรม  เพื่อการระลึกรู้ หรือเพื่อการพิจารณาในธรรมทั้ง๔ นั่นเอง

         ส่งจิตออกไปภายนอก  จิตฟุ้งซ่านไปภายนอก  จิตคิดปรุงแต่ง  จิตปรุงแต่งไปภายนอก  คิดปรุงแต่ง  ฟุ้งซ่าน  มีความหมายเดียวกัน

         ส่วน จิตส่งใน หมายถึง  การส่งจิตเข้าไปเสวยอารมณ์หรือเวทนา อันอิ่มเอิบสุขสงบสบาย อันเกิดแต่ภายในกายหรือจิตของตน ด้วยอำนาจขององค์ฌานหรือสมาธิ  หรือแม้แต่ความสุข,ทุกข์ต่างๆภายในเป็นต้น   จึงเกิดการติดเพลิน(นันทิ)จึงกระทำโดยไม่รู้ตัวอันเป็นตัณหาเช่นกัน  จึงเป็นทุกข์ในที่สุด  เพราะเมื่อติดเพลินเสียแล้วด้วยความไม่รู้(อวิชชา)  จึงเกิดการกระทำทางจิตอยู่เสมอๆ จนในที่สุดได้กลายเป็นองค์ธรรมสังขารในปฏิจจสมุปบาท ที่หมายถึงการกระทำตามที่ได้สั่งสมหรือเคยชินเสมอโดยบังคับควบคุมไม่ได้   จึงยังให้เกิดทุกข์เป็นที่สุด  เพราะความไม่เที่ยงขององค์ฌาน  ดังที่กล่าวมาแล้วในทั้งในเรื่องฌานสมาธิ, จิตส่งใน และติดสุข   

         จิตส่งใน กล่าวคือ เป็นอาการของการติดสุขในฌานหรือสมาธินั่นเอง อันยังผลร้ายแรงทั้งต่อกายและจิตรุนแรงตามมา เพราะการปฏิบัติอย่างผิดๆนี้เอง  แรกๆก็เกิดเพราะความไม่รู้ด้วยอวิชชา หรือด้วยความเข้าใจผิด จึงปฏิบัติแต่แบบผิดๆโดยไม่รู้ตัว  จนติดเคยชนิดเป็นสังขาร

         เมื่อกล่าวกันว่า "อย่าส่งจิตออกนอก" จึงมักสับสน ไปเข้าใจกันไปเองหรือหมายรู้อย่างผิดๆด้วยอวิชชาไปว่า  เมื่อไม่ส่งจิตออกนอกดังนั้นจึงควรทำ "จิตส่งใน"  แต่ความเป็นจริงนั้นสังขารทั้งสองต่างล้วนเป็นสังขารขันธ์ชนิดการกระทำทางจิต ที่ไม่สมควรปฏิบัติอย่างยิ่งยวด  เพราะต่างล้วนเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดทุกข์  ดังนั้นหลักการปฏิบัติต่อสังขารทั้งสองนี้จึงเป็นดังนี้

อย่าส่งจิตออกนอก ไปเสวยอารมณ์ภายนอก

และอย่าจิตส่งใน ไปเสวยความสุขสบายอันเกิดแต่กายหรือจิต จากอำนาจของฌาน,สมาธ

         แล้วควรทำจิตหรือปฏิบัติอย่างไร  สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ ให้จิตหรือสติระลึกรู้อยู่ใน กาย  เวทนา  จิต  หรือธรรม  หรือแนวทางปฏิบัติในสติปัฏฐาน๔ นั่นเอง  ซึ่งเมื่อระลึกรู้แล้วต้องปล่อยวาง ไม่ติดเพลิน  หรืออุเบกขานั่นเองโดยการไม่เอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิด หรือกริยาจิตใดๆเช่นการจดจ่อหรือจดจ้องใดๆไม่ปล่อยวาง   จึงไม่ยึดมั่นหมายมั่นในสิ่งใดๆ

         อนึ่งควรรู้อย่างแจ่มแจ้งว่า จิตระลึกรู้อยู่ใน กาย  เวทนา  จิต  และธรรม หรือบางทีก็เรียกว่าจิตอยู่ภายในนั้น   ไม่เหมือนกับจิตส่งในหรือจิตส่องใน   เพราะจิตส่งในมีองค์ประกอบที่สำคัญคือความติดเพลินคือนันทิหรือตัณหา และความไม่รู้(อวิชชา) จึงไม่ปล่อยวาง จนเป็นสังขารกิเลสในปฏิจจสมุปบาท,   ส่วนสติหรือจิตอยู่ภายใน  มีความหมายว่า มีสติหรือจิต ระลึกรู้เท่าทันหรือมีสติพิจารณาอยู่ใน กาย, เวทนา, จิต, ธรรม  เพื่อให้เห็นความจริง อันเป็นการวิปัสสนา

        และในการปฏิบัติแบบจิตระลึกรู้ในกาย  เวทนา จิต  เช่น  ข้อ ลมหายใจ อิริยบถ และ สัมปชัญญะ  หรือเวทนา หรือจิต   ก็สามารถเป็นได้ทั้งสมถะและการฝึกพัฒนาสติเพื่อการวิปัสสนา   เมื่อขาดสติในการติดตามดู ปล่อยให้เลื่อนไหลแน่วแน่ไปเองตามความชำนาญหรือเคยชินก็เป็นสมถะเป็นสมาธิแต่อย่างเดียว     ถ้ามีสติก็เป็นการฝึกสติที่ถูกต้องดีงามพร้อมด้วยสมาธิที่ดีงามเป็นผลตามมาอีกด้วย   เพราะมีนักปฏิบัติเป็นจำนวนมากที่ฝึกสติตามหลักสติปัฏฐาน๔  แต่กลายเป็นอยู่ในมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌาน แทนการฝึกและพัฒนาสติชนิดสัมมาสติหรือสัมมาสมาธิเพื่อประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนา โดยไม่รู้ตัว

_______________

 

 

กลับหน้าเดิม 

สารบัญ