กลับสารบัญ

๓. ภิกขุสูตรที่ ๑

พุทธพจน์ และ พระสูตร ๓๑.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗

 คลิกขวาเมนู

ว่าด้วยเหตุได้ชื่อว่าเป็นผู้กำหนัดขัดเคืองและลุ่มหลง

        พระสูตรนี้ แสดงเรื่องของอาการครุ่นคิดหรือถ้อยคิดหรือความคิดนั่นเองคือการนับว่าเข้าไปพัวพันหรือการยินดียินร้าย,ฟุ้งซ่าน,ปรุงแต่ง  เพื่อจะได้รู้ว่าการครุ่นคิดนั้นเป็นการนับหรือการไปพัวพันยินดียินร้ายกับสิ่งนั้นๆนั่นเอง  จะได้ใช้ความครุ่นคิดหรือความคิดไปในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ในกิจหรืองานแห่งตน หรือในธรรม,  ส่วนเรื่องใดเมื่อเห็นว่าเป็นโทษ ก็ไม่ครุ่นคิดหรือคิดปรุงแต่งให้พัวพันเป็นโทษเสีย กล่าวคือ แสดงความขัดเคืองและความลุ่มหลงใดๆ อันจักเกิดแต่การครุ่นคิดหรือการเข้าไปพัวพันนั่นเอง

        เมื่อพิจารณาโดยอาศัยขันธ์ ๕ เพื่อให้เห็นอาการเกิดขึ้นและเป็นไป,  อาการครุ่นคิด ก็คือ ธรรมารมณ์ นั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดอาการครุ่นคิดถึงสิ่งใดขึ้นแล้ว ย่อมมีใจมาทำหน้าที่  จึงเกิดมโนวิญญาณ  เกิดการผัสสะ  เกิดเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆเป็นธรรมดา.....จึงเกิดสังขารขันธ์ต่างๆนาๆขึ้น ดังเช่นความคิดที่เป็นทุกข์  ดังกระบวนธรรมต่อไปนี้

ธรรมารมณ์ คืออาการครุ่นคิด กระทบกับ ใจ เป็นปัจจัย จึงมี มโนวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา เป็นปัจจัย จึงมี สัญญาหมายรู้ เป็นปัจจัย จึงมี สังขารขันธ์

ไม่ว่าจักครุ่นคิดใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณก็ตามที

ภิกขุสูตรที่ ๑

ว่าด้วยเหตุได้ชื่อว่าเป็นผู้กำหนัดขัดเคืองและลุ่มหลง

        [๗๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ

ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า

ขอประทานวโรกาส พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์  โดยย่อ

ที่ข้าพระองค์ฟังแล้ว พึงเป็นผู้ๆเดียวหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคงอยู่เถิด.

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ  บุคคลย่อมครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมถึงการนับ(ว่าไปพัวพันหรือเกาะเกี่ยวหรือยึดมั่นหรือปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน)เพราะสิ่งนั้น

บุคคลย่อมไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่ถึงการนับเพราะสิ่งนั้น

        ภิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์เข้าใจแล้ว.

        พ. ดูกรภิกษุ ก็เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อ ได้โดยพิสดารอย่างไร?

        ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป  ย่อมถึงการนับ(ว่าไปพัวพันหรือเกาะเกี่ยวหรือยึดมั่น)เพราะรูปนั้น.

(ดังเช่น  ครุ่นคิดถึง ในรูปคือ บุคคล สัตว์ สิ่งของใด  ก็คือการนับว่าไปพัวพัน หรือไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นแล้ว)

(หรือกล่าวในแนวทางขันธ์ ๕ หรือปฏิจจสมุปบาท ก็ได้ว่า  ย่อมเกิดการผัสสะขึ้นนั่นเอง)

ถ้าครุ่นคิดถึงเวทนา ย่อมถึงการนับเพราะเวทนานั้น.

(ดังเช่น ครุ่นคิดถึง สุข ทุกข์ใด  ก็คือการนับว่าไปพัวพัน หรือไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นแล้ว)

ถ้าครุ่นคิดถึงสัญญา ย่อมถึงการนับเพราะสัญญานั้น.

(ดังเช่น ครุ่นคิดถึงสัญญาใด  ก็คือการนับว่าไปพัวพัน หรือไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นแล้ว)

ถ้าครุ่นคิดถึงสังขาร ย่อมถึงการนับเพราะสังขารนั้น

(ดังเช่น ครุ่นคิดถึงการกระทำใด เช่น ความคิด, คิดปรุงแต่งใด จิตหดหู่ จิตโทสะ ฯ. หรือกระทำใดๆ  ก็คือการนับว่าไปพัวพัน หรือไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น)

ถ้าครุ่นคิดถึงวิญญาณ ย่อมถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น.

(ดังเช่น ครุ่นคิดถึงการรู้ที่เกิดขึ้นจากการที่อายตนะต่างๆกระทบกัน เช่น เกิดการรู้ในรูป(จากการเห็น), การรู้จากเสียง(จากการได้ยิน) ฯ.ใดๆ  ก็คือการนับว่าไปพัวพัน หรือเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นแล้ว)

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ถ้าบุคคลไม่ครุ่นคิดถึงรูป  ก็ไม่ถึงการนับเพราะรูปนั้น

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงเวทนา  ก็ไม่ถึงการนับเพราะเวทนานั้น

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสัญญา  ก็ไม่ถึงการนับเพราะสัญญานั้น

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสังขาร  ก็ไม่ถึงการนับเพราะสังขารนั้น 

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงวิญญาณ  ก็ไม่ถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ เข้าใจเนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อได้ โดยพิสดารอย่างนี้แล.

        [๗๕] พ. ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ เธอเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อได้ โดยพิสดารดีนักแล.

ดูกรภิกษุ ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป ก็ย่อมถึงการนับเพราะรูปนั้น   

ถ้าบุคคลครุ่น คิดถึงเวทนา  ย่อมถึงการนับเพราะเวทนานั้น. 

ถ้าครุ่นคิดถึงสัญญา  ย่อมถึงการนับเพราะสัญญานั้น.

ถ้าครุ่นคิดถึงสังขาร  ย่อมถึงการนับเพราะสังขารนั้น

ถ้าครุ่นคิดถึงวิญญาณ  ก็ย่อมถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น.

        ดูกรภิกษุ ถ้าบุคคลไม่ครุ่นคิดถึงรูป  ก็ย่อมไม่ถึงการนับเพราะรูปนั้น   

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงเวทนา  ก็ไม่ถึงการนับเพราะเวทนานั้น

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสัญญา  ก็ไม่ถึงการนับเพราะสัญญานั้น

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงสังขาร  ก็ไม่ถึงการนับเพราะสังขารนั้น 

ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงวิญญาณ ก็ย่อมไม่ถึงการนับเพราะวิญญาณนั้น.

ดูกรภิกษุ เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อ โดยพิสดารอย่างนี้แล.

        [๗๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปนั้น เพลิดเพลินอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป.

ครั้งนั้นแล เธอได้เป็นผู้ๆเดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมั่นคง อยู่ไม่นานเท่าไร

ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย

ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน

เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ก็ภิกษุนั้นได้เป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

จบ สูตรที่ ๓.

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ