เมื่อถูกทุกข์รุมเร้าจนเร่าร้อนเผาลน ไม่ว่าจักด้วยไฟของความขุ่นเคือง ขัดข้อง คับแค้นใจ เนื่องจากโมหะ หรือโทสะ ด้วยคิดว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือด้วยไฟแห่งริษยาหรือพยาบาท หรือเจ้าคิดเจ้าแค้นก็ตามที ให้พึงใช้การแผ่เมตตาเป็นเครื่องบรรเทา
ในการปฏิบัติแรกๆ หรือในขณะที่ทุกข์เหล่าใดเหล่านั้นรุมเร้าอยู่ แรกปฏิบัติในการแผ่เมตตานั้น จิตย่อมไม่ราบรื่นหรือไหลลื่น มีอาการสะดุดหรืออึดอัดขัดใจเมื่อตั้งจิตคิดแผ่เมตตาถึงบุคคลหรือสิ่งที่ทำให้เกิดปฏิฆะคือความขัดเคือง,ขุ่นข้องหรือโทสะ เนื่องจากย่อมเกิดการผัสสะกับเหล่าสิ่งขุ่นข้องหมองใจจนเกิดทุกขเวทนาขึ้นบ้างเป็นธรรมดา อันย่อมเป็นไปดังนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในเบื้องต้น แต่เมื่อปฏิบัติอย่างสมํ่าเสมอด้วยจิตที่ตั้งใจมั่น และร่วมด้วยการปล่อยวางจากการฟุ้งซ่านหรือนึกปรุงแต่ง และถ้ายิ่งด้วยความมีสติระลึกรู้ด้วยความเข้าใจในธรรม(ธรรมชาติ)ของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ล้วนย่อมมีกิเลสตัณหาดำเนินไปตามสังสารวัฏตามวงจรปฏิจจสมุปบาทเช่นนี้เองเป็นธรรมดา, หรือสติระลึกรู้ในสังขารทั้งปวงว่า ล้วนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตก็จะบรรเทาอาการสะดุดติดขัดเมื่อระลึกถึงทุกข์คือบางคนหรือบางสิ่งเหล่าใดเหล่านั้นขึ้นมา และเมื่อกระทำบ่อยครั้ง ในที่สุดก็ย่อมสามารถแผ่เมตตาได้อย่างราบรื่นเต็มกำลัง
แผ่เมตตา เป็นตทังคปหาน คือเป็นธรรมคู่ปรับหรือปฏิปักษ์กับโทสะหรือปฏิฆะ กล่าวคือ เป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ อุปมาดั่งนํ้า กับไฟ นั่นเอง เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดหรือเจริญงอกงามขึ้น อีกสิ่งหนึ่งอันเป็นผลย่อมต้องดับไปหรือไม่กำเริบเสิบสาน, เมื่อปฏิฆะดับไป ย่อมเสวยสุขโดยธรรมคือธรรมชาติ แล้วประกอบด้วยการไม่ปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปก่อทุกข์อีก และเมื่อกระทำบ่อยเป็นเอนกอยู่เนืองๆจิตย่อมตั้งมั่น ก็มีอานิสงส์ดังกล่าวด้านล่างนี้
แผ่เมตตา
คือ การตั้งจิตปรารถนาดีขอให้ผู้อื่นมีความสุข คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลัก
มีว่า
สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ
อ่านว่า
" สัพเพ สัตตา อะเวรา อัพพะยาปัชชา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ."
แปลว่า
ขอสัตว์ทั้งหลาย,
(ที่เป็นเพื่อนทุกข์
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน)
ทั้งหมดทั้งสิ้น,
(จงเป็นสุข
เป็นสุขเถิด)
อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย,
(จงเป็นสุข
เป็นสุขเถิด)
อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย,
(จงเป็นสุข
เป็นสุขเถิด)
อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย,
จงมีความสุขกาย สุขใจ, รักษาตน ให้พ้นจากทุกข์โทษภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
เถิด.
(ข้อความในวงเล็บ
เป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาในคำแปลเป็นภาษาไทย)
ผู้เจริญเมตตาธรรมอยู่เสมอ
จนจิตมั่นในเมตตา มีเมตตาเป็นคุณสมบัติประจำใจ จะได้รับอานิสงส์
คือผลดี ๑๑ ประการ
คือ
๑. หลับก็เป็นสุข |
๒. ตื่นก็เป็นสุข |
๓. ไม่ฝันร้าย |
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย |
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย |
๖. เทวดาย่อมรักษา |
๗. ไม่ต้องภัยจากไฟ ยาพิษ หรือศัตราวุธ |
๘. จิตเป็นสมาธิง่าย |
๙. สีหน้าผ่องใส |
๑๐. เมื่อจะตาย ใจก็สงบ ไม่หลงใหลไร้สติ |
๑๑. ถ้ายังไม่บรรลุคุณพิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก |
พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
|