กลับสารบัญ

วชิราสูตร

พุทธพจน์ และ พระสูตร ๔๑.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕

 

            พระสูตรที่แสดงธรรมของท่านวชิราภิกษุณี ที่แสดงต่อมารที่มารบกวนท่าน  ด้วยหวังจะล่อลวงด้วยถ้อยคำถามให้หลงผิดย่อท้อ  แต่ท่านกลับแสดงธรรมตอบคำถามของมารอย่างอาจหาญอย่างปรมัตถ์ ยิ่งนัก จนมารต้องหนีหาย หรืออันตรธานไปจากใจของท่าน จนบันทึกอยู่ในพระไตรปิฏกตราบเท่าทุกวันนี้ในบท วชิราสูตร นี้,  ธรรมที่ท่านได้กล่าวแสดงแก่มารจนเป็นที่เลื่องระบือ ดังเช่น สังขารในพระไตรลักษณ์ ที่ย่อมประกอบขึ้นแต่เหตุปัจจัย อันท่านได้อุปมาอุปไมยโดยอาศัยรถ ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยประกอบหรือปรุงแต่งกัน จึงเป็นสิ่งที่เรียกกันโดยสมมติสัจจะหรือในภาษาทางโลกๆว่า รถ,  และยังตอบปัญหามารถึงเรื่องสัตว์บุคคลเขาเรา,  สัตว์บุคคลเขาเราหรือชีวิต ล้วนเป็นอนัตตาเพราะแม้แลดูประหนึ่งว่าเป็นเราเป็นของเรา แต่ความจริงแล้วก็ยังเป็นเพียงกลุ่มก้อนมวลรวมหรือการประกอบกันขึ้นของขันธ์ทั้ง ๕ เท่านั้นที่มาประชุมกัน นั่นจึงไม่ใช่เรา เราจึงไม่ใช่นั่น นั่นจึงไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา  และยังได้แสดงโฉลกธรรมแก่มารในเรื่องของ สังขารต่างๆรวมทั้งตัวตนเขาเรา ตลอดจนสังขารความสุขความทุกข์ว่าความจริงแล้ว ล้วนเป็นสังขาร จึงเป็นทุกข์ ไว้อย่างปรมัตถ์ จนเป็นพุทธภาษิตหรือคติธรรมที่ได้ยินและกล่าวอ้างกันอยู่เนืองๆโดยทั่วไปในพระศาสนา เพราะความที่เป็นปรมัตถ์ยิ่งนัก จึงเป็นจริงอย่างที่ท่านกล่าวไว้ตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วในหมู่ผู้รู้ธรรมที่แสวงหาในโลกุตระธรรม

วชิราสูตรที่ ๑๐

            [๕๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

ครั้งนั้น เวลาเช้า วชิราภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี

เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน

ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

            [๕๕๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้วชิราภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า

และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาวชิราภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะวชิราภิกษุณีด้วยคาถาว่า

 สัตว์นี้ใครสร้าง   ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน   สัตว์บังเกิดในที่ไหน   สัตว์ดับไปในที่ไหน ฯ

            [๕๕๔] ลำดับนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ

ทันใดนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาปใคร่จะให้เรา บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว

ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา ฯ

ครั้นวชิราภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป ด้วยคาถาว่า

            ดูกรมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่า สัตว์ฯ

            ในกองสังขารล้วนนี้  ย่อมไม่ได้นามว่า สัตว์ ฯ

            (กองสังขารล้วนนี้ จึงหมายถึง เฉพาะกองร่างกายล้วนๆที่ยังไม่ได้ประกอบด้วยปัจจัยครบทั้ง ๕ ขันธ์ของชีวิต  ผู้รู้จึงย่อมยังไม่ได้ให้ชื่อว่าสัตว์หรือชีวิต  จึงยังเป็นเพียงกองรูปหรือรูปขันธ์หรือซาก ที่เหมือนดังแค่รถ ดังที่จะกล่าวต่อไป)

            เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลาย(ต่างๆ ให้)เข้า(กันเรียบร้อย)  เสียงว่ารถ  ย่อมมีฉันใด ฯ

            (จึงเป็นไปเหมือนดังรถเท่านั้น  ที่ยังเป็นเพียงการประกอบกันเข้าของปัจจัยต่างๆทางรูปเท่านั้น  จนเห็นเป็นสิ่งที่เรียกกันโดยสมมติสัจจะว่า รถ เท่านั้น  จึงไม่มีชีวิตหรือเรียกไม่ได้ว่าสัตว์)

            (แต่)เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่(ครบทั้ง ๕ เมื่อใดเมื่อนั้นจึงถึง) การสมมติว่าสัตว์(จึง)ย่อมมี(ขึ้น)  ฉันนั้น ฯ

            (แต่เมื่อประกอบหรือมีปัจจัยปรุงแต่งครบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์  จึงพากันเรียกโดยสมมติสัจจะว่า เป็นสัตว์หรือชีวิตขึ้น  แต่ยังเป็นอนัตตา กล่าวคือชีวิตที่เห็นนั้นเกิดแต่เหตุปัจจัยมาปรุงกันขึ้น จึงขึ้นหรืออิงเนื่องสัมพันธ์อยู่กับเหตุคือขันธ์ ๕ ที่มาประชุมปรุงแต่งเป็นปัจจัยแก่กันและกัน  จึงไม่ใช่ีอัตตาที่หมายถึงความเป็นเราหรือของเราอย่างแท้จริง,  ท่านจึงกล่าวว่าหรือเรียกว่า สัตว์ ก็ล้วนโดยสมมติ   และเมื่อเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันเหล่านั้นถูกบีบคั้นหรือแปรปรวนไปด้วยเหตุอันใดก็ดี ก็เกิดสภาวะของการดับไปหรือเรียกกันโดยสมมติสัจจะโดยทั่วไปว่า ตาย ขึ้นนั่นเอง)

            (หรือกล่าวอย่างง่ายๆก็คือ  สัตว์หรือชีวิตนั้นไม่มีอัตตาตัวตนหรอก  มีแต่คำสมมติของสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๕ ที่เรียกกันว่า สัตว์หรือชีวิต)

 ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด  ทุกข์ย่อมตั้งอยู่  และเสื่อมสิ้นไป

 นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด  นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ ฯ

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วชิราภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

จบภิกษุณีสังยุต

        เหตุที่ท่านวชิราภิกษุณีได้กล่าวไว้ดังนั้น  เป็นการพิจารณาเห็นความจริงในพระไตรลักษณ์และปฏิจจสมุปบันธรรม  เพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงไม่ว่ารถ, สัตว์, สิ่งของ, แม้กระทั่งสุข, ทุกข์ ฯลฯ. (กล่าวคือ ทุกสรรพสิ่งพึงยกเว้นแต่อสังขตธรรมเท่านั้น) ต่างล้วนเป็นสังขตธรรม อันเกิดแต่เหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบันธรรม จึงมีลักษณะโดยทั่วไปหรือที่เรียกกันว่าสามัญญลักษณะ ที่มีความไม่เที่ยง๑  เป็นทุกข์ ตามทุกขลักษณะกล่าวคือ สภาพทนอยู่ได้ยาก หรือสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไปเป็นที่สุด๑  ล้วนเป็นอนัตตา๑

        ดังนั้นสังขารทั้งหลายทั้งปวง อันย่อมครอบคลุมถึง ตัวตนหรือสัตว์๑ ตลอดจนความทุกข์๑ อันย่อมล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งเช่นกัน จึงเรียกกันโดยสมมติว่าเกิดขึ้น  แล้วมีการตั้งอยู่อย่างแปรปรวนไปมา แล้วดับไปเป็นที่สุด  และด้วยเหตุที่สังขารทั้งสองต่างมีสามัญญลักษณะประจำตัวคือทุกข์หรือทุกขัง ดังกล่าวไว้ข้างต้นหรือในพระไตรลักษณ์  จึงล้วนย่อมมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เฉกเช่นเดียวกัน  จึงไม่ควรไปยึดมั่น ไม่ปล่อยวาง ให้ยืดยาวเป็นทุกข์ไปนั่นเอง

        ถ้ามองกันในแง่ของความสุขความทุกข์แล้ว เหตุที่ท่านกล่าวว่า มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิด มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับ ก็เพราะว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ อย่างปรมัตถ์ กล่าวคือ มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น และขณะเมื่อทุกข์ดับไปเป็นสภาวะที่เราเรียกกันโดยสมมติเป็นภาษาโลกว่า สุข นั่นเอง เป็นมายาหรือมารยาของจิตที่หลอกล่อ ด้วยอวิชชา จึงมองไม่เห็น  

        ส่วนความสุขที่เกิดขึ้นจากดับทุกข์นั้นเล่า แม้เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตเช่นกัน ที่เกิดจากดับไปของทุกข์ จึงสมหวังเป็นสุข จึงยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา แต่ตามความจริงอย่างปรมัตถ์แล้ว ก็คือ ยังเป็นทุกข์ อย่างละเอียดลึกซึ้งนั่นเอง กล่าวคือย่อมมีอาการของทุกขังคือคงทนอยู่ได้ยากจึงต้องดับไปเช่นกัน ดังนั้น ผู้มิได้สดับในธรรมของพระองค์ท่าน เมื่อเกิดเหล่าสุขหรือก็คือสุขเวทนาไม่ว่าจักเกิดจากกามคุณ ๕ หรือรูปฌาน หรืออรูปฌานก็ตามที  อันเป็นสภาวธรรมของชีวิตที่เมื่อมีเหตุปัจจัยยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมก่อให้เกิดปริเทวะอันเป็นหนึ่งในอาสวะกิเลสอันคือเกิดอาการโหยไห้ อาลัยหาในสุขนั้นในภายภาคหน้าขึ้นอีก เนื่องจากการเพลิดเพลินหรือติดเพลิน หรือยึดมั่นในกิเลสอันคือสุขนั้นนั่นเอง จึงกล่าวว่า สุขก็คือทุกข์อันละเอียดอ่อนที่นอนเนื่องต่อไปนั่นเอง อันย่อมยังให้เกิดทุกข์ขึ้นเป็นที่สุดในลำดับต่อมา  กล่าวคือสุขทุกข์ต่างล้วนเป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้

สุขเวทนา  เป็นสุขเพราะตั้งอยู่  เป็นทุกข์เพราะแปรไป

ทุกขเวทนา  เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่  เป็นสุขเพราะแปรไป

อทุกขมสุขเวทนา  เป็นสุขเพราะรู้ชอบ  เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด.

(จูฬเวทัลลสูตร)

        ดังนั้นไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด กล่าวคือ ในแง่ของทุกขังจึงทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป จึงเป็นทุกข์ หรือมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิด ที่ดับ  หรือในแง่ของความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ก็ตามที ทั้งสัตว์ ทั้งความสุขความทุกข์ จึงต่างก็ล้วนอยู่ภายใต้ทุกขัง จึงก่อให้เกิดทุกข์  และยิ่งเป็น ทุกข์อุปาทาน อันเร่าร้อนเผาลนถ้าไปอยากด้วยตัณหา หรือไปยึดด้วยอุปาทาน

ด้วยเหตุดั่งนี้นี่เอง สัตว์ทั้งปวงผู้ยังไม่ได้สดับ ผู้ยังไม่รู้จักโลกุตตรสุข

สัตว์,บุคคล,เขา,เรา จึงล้วนมีสภาพ และประสบกับสภาวะทุกข์ ดังที่ท่านวชิราภิกษุณีกล่าวไว้ คือ

มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น  จึงมีแต่ทุกข์ที่ตั้งอยู่  จึงมีแต่ทุกข์ที่ดับไป

นอกจากทุกข์แล้ว  จึงไม่มีอะไรเกิด  

นอกจากทุกข์แล้ว  จึงไม่มีอะไรดับ  

ส่วนผู้ที่อยู่ในโลกุตตรสุข นั้นมีข้อแตกต่างกัน  ถึงแม้ มีอะไรเกิด มีอะไรดับ อันเป็นสภาวธรรมที่ต้องเป็นเช่นนั้นเอง

ก็ล้วนไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส(อุปาทาน)นั่นเอง

ทุกข์เหล่านั้น ถึงจะเกิด ถึงจะดับ ตามสภาวธรรมจึงมารบกวนท่านไม่ได้

กล่าวคือเป็นโลกุตตรสุข ที่ สุข สะอาด สงบ บริสุทธ์  

เรารู้จักทุกข์  ไม่ใช่เพื่อให้เป็นทุกข์  แต่เพื่อใช้ไปในการดับทุกข์ที่เหตุ ที่ทำให้เกิดทุกข์

และก็เพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณ  จึงย่อมคลายกำหนัดหรือดับตัณหาเสียนั่นเอง

จึงเป็นการดับทุกข์ อันเป็นสุขยิ่ง อย่างถาวร

จึงสามารถตอบปัญหาของมาร เป็นข้อๆไป  ดังนี้ก็ได้

สัตว์นี้ ใครสร้าง ?

ปฏิจจสมุปบันธรรม เป็นผู้สร้างสัตว์ ตลอดจนสังขตธรรมทั้งปวง

ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน ?

ไม่มีผู้สร้าง หรือกล่าวว่าผู้สร้างคือ ธรรมธาตุ หรืออสังขตธรรม อันเที่ยงแท้และคงทนต่อทุกกาล และความเป็นไปตามธรรมดา

สัตว์บังเกิดในที่ไหน ?

ทุกแห่งหน ที่เกิดขึ้นแห่ง ปฏิจจสมุปบันธรรม กล่าวคือเมื่อมีเหตุมาเป็นปัจจัยครบองค์

สัตว์ดับไปในที่ไหน ?

ทุกแห่งหน ซึ่งเป็นที่ดับไปแห่งปฏิจจสมุปบันธรรมหรือการดับไปแห่งเหตุปัจจัย  หรือหลักอิทัปปัจจยตา

(ควรมีความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทและพระไตรลักษณ์)

อนัตตา

 

 

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ