สกลิกสูตรที่ ๓
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ |
|
[๔๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิมิคทายวัน เขตกรุงราชคฤห์ ฯ
ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาคถูกสะเก็ดหินเจาะแล้ว
ได้ยินว่า เวทนาทั้งหลายอันยิ่ง เป็นไปในพระสรีระ เป็นทุกข์ แรงกล้า เผ็ด ร้อน
ไม่เป็นที่ยินดี(ทุกขเวทนาทางใจ) ไม่เป็นที่ทรงสบาย(ทุกขเวทนาทางกาย) ย่อมเป็นไปแด่พระผู้มีพระภาค
กายยังมีอยู่ เมื่อเกิดผัสสะ ย่อมเกิดทุกขเวทนาต่อกายและใจได้เป็นธรรมดาของธรรมหรือธรรมชาติ
พระองค์มีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาเหล่านั้น ไม่กระสับกระส่าย ฯ
แต่พระองค์ท่านอดกลั้นไม่กระสับกระส่าย ทรงเสวยแต่ทุกขเวทนาทางกาย อันย่อมเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ
แต่ไม่ทรงเสวยความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายทางใจด้วยเวทนูปาทานขันธ์เลย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วสำเร็จสีหไสยา
โดยพระปรัศเบื้องขวา พระบาทซ้ายเหลื่อมพระบาทขวา มีพระสติ สัมปชัญญะ ฯ
[๔๕๓] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านนอนด้วยความเขลา หรือมัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่
ประโยชน์ทั้งหลายของท่านไม่มีมาก
ท่านอยู่ ณ ที่นั่งที่นอนอันสงัดแต่ผู้เดียว ตั้งหน้านอนหลับ
นี่อะไร ท่านหลับ ทีเดียวหรือ ฯ
[๔๕๔] พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
เราไม่ได้นอนด้วยความเขลา ทั้งมิได้มัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่
เราบรรลุประโยชน์แล้ว ปราศจากความโศก อยู่ ณ ที่นั่งที่นอน
อันสงัดแต่ผู้เดียว นอนรำพึงด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ฯ
ลูกศรเข้าไปในอกของชนเหล่าใด ร้อยหทัยให้ลุ่มหลงอยู่
แม้ชนเหล่านั้นในโลกนี้ ผู้มีลูกศรเสียบอกอยู่ ยังได้ความหลับ
เราผู้ปราศจากลูกศรแล้ว ไฉนจะไม่หลับเล่า ฯ
เราเดินทางไปในทางที่มีราชสีห์เป็นต้น ก็มิได้หวาดหวั่น
ถึงหลับในที่เช่นนั้นก็มิได้กลัวเกรง กลางคืนและกลางวันย่อม
ไม่ทำให้เราเดือดร้อน เราย่อมไม่พบเห็นความเสื่อมอะไรๆในโลก
ฉะนั้น เราผู้มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง จึงนอนหลับ ฯ
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา
พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง ฯ
พึงพิจารณาให้เกิดปัญญา โดยการโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะพึงพบว่าทุกขเวทนานั้นแม้ยังมีอยู่เป็นธรรมดา แม้ในพระองค์ท่าน อันพึงเกิดขึ้นแก่จิตและกายเป็นธรรมดา แต่พระองค์ท่านไม่ทรงเจริญทุกขเวทนาเหล่าใดเหล่านั้นต่อไปจนเกิดเวทนูปาทานขันธ์ หรือทุกขเวทนาทางใจที่ประกอบด้วยอุปาทาน จึงมิได้มีความเร่าร้อนเผาลน ดังที่มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ได้เข้าใจผิด จึงได้มาทูลถามเย้าแหย่ นี่คือความแตกต่างกันอันยิ่งในระหว่างปุถุชนและพระอริยเจ้า จึงพึงทำปัญญาให้เห็นถูกต้อง เพื่อการนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องแนวทางตามพุทธประสงค์ จึงมิใช่การปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นในเหล่าทุกขเวทนาที่บังเกิดขึ้นเมื่อมีทุกข์อันจรมาผัสสะ แต่เป็นการปฏิบัติอย่างไรแล้วเมื่อเกิดทุกขเวทนาเหล่านั้นอันเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในที่สุด ดังเช่นทุกขเวทนาอันเกิดแต่ทุกขอริยสัจทั้งหลายมาเยือน แล้วไม่เป็นทุกข์ ที่หมายถึงไม่เกิดทุกขเวทนาทางใจที่ประกอบด้วยตัณหาหรืออุปาทานหรือเวทนูปาทานหรือโทมนัสอันเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย ดังที่พระองค์ท่านทรงแสดงแก่มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ จนต้องอับอายหนีหายไป.
สกลิกสูตรที่ ๘
[๑๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคทายวัน ในสวนมัททกุจฉิ เขตพระนครราชคฤห์
ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาคถูกสะเก็ด หินกระทบแล้ว
ได้ยินว่า เวทนาทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคมาก เป็นความลำบาก
มีในพระสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลาย ไม่ทรงเดือดร้อน
ในครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิสี่ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยาส
โดยพระปรัสเบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมด้วยพระบาท ทรงมีพระสติ สัมปชัญญะอยู่ ฯ
[๑๒๓] ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา เจ็ดร้อย
มีวรรณงาม ยังสวนมัททกุจฉิทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ
[๑๒๔] เทวดาตนหนึ่งครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้เปล่ง อุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นนาคหนอ ก็แหละ พระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ
ทรงอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีใน พระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นนาค มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ
[๑๒๕] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นสีหะหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรง มีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลาย
อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็น ความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นสีหะ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ
[๑๒๖] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มี พระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นอาชาไนยหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลาย
อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็น ความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นอาชาไนย มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ
[๑๒๗] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้องอาจหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลาย
อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่ พระสมณโคดมเป็นผู้องอาจ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ
[๑๒๘] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้ใฝ่ธุระหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนาทั้งหลาย
อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็น ความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย
ด้วยความที่ พระสมณโคดมเป็นผู้ใฝ่ธุระ มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ
[๑๒๙] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นผู้ฝึกแล้วหนอ ก็แหละพระสมณโคดม ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลาย
อันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย
ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นผู้ฝึกแล้ว มิได้ทรงเดือดร้อน ฯ
[๑๓๐] ในครั้งนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านทั้งหลายจงดูสมาธิที่พระสมณโคดมให้เจริญดีแล้ว อนึ่ง จิตพระสมณโคดมให้พ้นดีแล้ว
อนึ่ง จิตเป็นไปตามราคะ พระสมณโคดมไม่ให้น้อม ไปเฉพาะแล้ว
อนึ่ง จิตเป็นไปตามโทสะ พระสมณโคดมไม่ให้กลับมาแล้ว
อนึ่ง จิตพระสมณโคดม หาต้องตั้งใจข่ม ต้องคอยห้ามกันไม่
บุคคลใดพึงสำคัญ พระสมณโคดมผู้เป็นบุรุษนาค เป็นบุรุษสีหะ เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นบุรุษองอาจ เป็นบุรุษใฝ่ธุระ
เป็นบุรุษฝึกแล้วเห็นปานนี้ว่าเป็นผู้อันตนพึงล่วงเกิน บุคคลนั้น จะเป็นอะไรนอกจากไม่มีตา ฯ
เทวดานั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ว่า
พราหมณ์ทั้งหลายมีเวทห้า มีตบะ ประพฤติอยู่ตั้งร้อยปี
แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ
พราหมณ์ เหล่านั้นมีจิตเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง ฯ
พราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้อันตัณหาครอบงำแล้ว
เกี่ยวข้องด้วยพรตและศีล ประพฤติตบะอันเศร้าหมองอยู่ตั้งร้อยปี
แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ
พราหมณ์ เหล่านั้นมีจิตเลว ย่อมไม่ลุถึงฝั่ง ฯ
ความฝึกฝน ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ใคร่มานะ
ความรู้ย่อมไม่มีแก่บุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น
บุคคลผู้เดียวเมื่ออยู่ในป่า ประมาทอยู่แล้ว
ไม่พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งแดนมัจจุได้ ฯ
บุคคลละมานะแล้ว มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีจิตดี
พ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว ผู้เดียว อยู่ในป่า ไม่ประมาทแล้ว
บุคคลนั้น พึงข้ามพ้นฝั่งแห่งแดนมัจจุได้ ฯ
|