เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสมาธิและวิปัสสนา

รวมหัวข้อ ฌานสมาธิ

 

 คลิกขวาเมนู

        ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ทั้งสมาธิและวิปัสสนาต่างล้วนเป็นจำเป็นยิ่งในการปฏิบัติธรรมทั้งสอง  เพียงแต่ว่าต้องให้เป็นไปอย่างถูกต้องแนวทาง  เป็นไปในลักษณะเป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนกันให้ถึงจุดมุ่งหมายในพุทธธรรม  จึงไม่ใช่เรื่องที่มาถกเถียงกันว่าอะไรจำเป็นกว่าอะไร  แต่ควรเป็นเรื่องของการปฏิบัติอย่างไรจึงถูกต้องไม่พาไปให้หลงผิดออกไปนอกลู่แนวทางเสียด้วยอวิชชา  จึงได้รวบรวมธรรมข้อคิดจากครูบาอาจารย์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับฌานสมาธิและการวิปัสสนามาไว้ที่นี้  เพื่อให้ได้โยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านี้เพื่อให้เกิดปัญญา เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติ

        ส่วนการกล่าวถึงข้อเสียในฌานสมาธิเป็นอเนกนั้น ขอให้ระลึกด้วยว่าไม่ได้เป็นการกล่าวโทษในฌานสมาธิ ที่หมายถึงสัมมาฌาน, สัมมาสมาธิแต่อย่างใด  แต่หมายถึงการนำฌานสมาธิไปใช้ไปปฏิบัติอย่างผิดๆจนเกิดเป็นมิจฉาสมาธิ จึงเกิดมิจฉาญาณ จึงไม่ยังประโยชน์และให้โทษ จึงได้กล่าวระวังกันอยู่เนืองๆเป็นอเนก  มิฉนั้นก็จะพากันไปติดเพลินกันจนเสียการ เนื่องจากความสุข,สงบ,สบายที่เกิดขึ้นได้แต่อำนาจของสมถสมาธิหรือองค์ฌานนั้นรุนแรงจนจัดเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียดทีเดียว คือรูปราคะและอรูปราคะ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนซ่อนเงื่อนเสียยิ่งกว่ากามราคะและปฏิฆะเสียอีก

         ธรรมเหล่านี้รวบรวมตามคำสอนของพระอริยะ ผู้รู้ดีชอบ จึงเป็นสิ่งที่ควรพึงสังวรไว้  ไม่ประมาท  มิฉนั้นก็จะเดินไปผิดแนวทาง เสียเวลาเนิ่นช้า จนถึงขั้นเสียภพเสียชาติ ก็เป็นได้

จาก ธรรมสามัคคี

หลวงปู่ชา สุภัทโท

        ความสงบนี้มีสองประการคือความสงบอย่างหยาบอย่างหนึ่ง  และความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง  อย่างหยาบนั่นคือเกิดจากสมาธิที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุขแล้วถือเอาความสุขเป็นความสงบ   อีกอย่างหนึ่งคือความสงบที่เกิดจากปัญญานี้ไม่ได้ถือเอาความสุขเป็นความสงบ แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ เพราะว่าความสุขทุกข์นี้เป็นภพเป็นชาติเป็นอุปาทานจะไม่พ้นจากวัฏฏสงสารเพราะติดสุขติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้นจึงไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุขความทุกข์แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา ทำจิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

 

จาก สิ้นโลก เหลือธรรม  ;  หนังสือ เทสก์รังสีอนุสรณาลัย

โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

        บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว  สอนให้ถือเอานิมิตนั้น  เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น  เช่น  นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน   เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี   เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี   เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์  ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์อย่างนี้เป็นต้น

        ไปถือเอาแสงภายนอก  ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์   ความเห็นเช่นนั้น  ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก.................นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก  ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว  มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร........(หน้า๑๕-๑๖)

(webmaster - เหตุที่ภวังคเป็นอุปสรรคของมรรค ก็เนื่องจากในภวังค์นั้นเคลิบเคลิ้มเลื่อนไหลไปในจิตภายในตน จึงไม่สามารถใช้สติได้เต็มภูมินั่นเอง)

        แท้ที่จริงนิมิตทั้งหลาย  ดังที่อธิบายมาแล้วก็ดี  หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี   ถึงไม่ใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล  แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุกๆคน  เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี   เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน  เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน  หรืออาจารย์ผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่  เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ  ถ้าหาไม่แล้วก็ต้องจมอยู่ปรัก คือนิมิต นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แล อุททกดาบส เป็นตัวอย่าง........(หน้า๑๗)

จาก สิ้นโลก เหลือธรรม  ;  หนังสือ เทสก์รังสีอนุสรณาลัย

โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

         ขอสรุปใจความย่อๆ ในหนังสือเล่มนี้ว่า(หมายถึงหนังสือ "สิ้นโลก เหลือธรรม")  พระคณาจารย์ทั้งหลายที่ได้ศึกษาเรื่องจิต-ใจยังไม่เข้าใจแจ้งชัด  ขอได้โปรดอย่าไปสอนสานุศิษย์ทั้งหลาย  เพราะอาจเป็นบ้าเป็นบอไปก็ได้  ขายขี้หน้าพาหิรกะภายนอกศาสนา  เพราะศาสนาพุทธสอนให้เข้าถึงจิต-ใจ  แต่ผู้สอนไม่เข้าถึงจิต-ใจ  จึงทำให้ลูกศิษย์เห็นผิด  เกิดวิปลาสเป็นบ้าไปต่างๆนานา  แล้วก็ทอดทิ้งให้ระเกะระกะอยู่ทั่วไป  ผู้เขียน(หมายถึงท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)ได้ประสบเรื่องนี้มามากแล้ว  ถ้าผู้นั้นยังพอมีสติอยู่ ก็พอพูดกันรู้เรื่องบ้าง  ถ้าเป็นมาก ก็พูดไม่รู้เรื่องกัน  แล้วก็เลยพากันทอดทิ้งกันหมด  น่าสงสารจริงๆ  พุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงจิต-ใจ  ให้มีสติควบคุมจิตของตนให้เป็นคนดีเรียบร้อย   แต่ว่าผู้สอนกลับสอนตรงกันข้าม  จึงเป็นหนทางให้เสื่อมพุทธศาสนา  คนภายนอกเลยพากันเห็นว่า พุทธศาสนาสอนคนให้เป็นบ้า  (หน้า๑๐๒)

หลักเกณฑ์การปฏิบัติสมาธิ - ปัญญา (๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑)  

โดย พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

         "หลักใหญ่ให้จิตสงบได้นั้นแหละของดี   เพียงจิตสงบเท่านั้นก็ตัดความกังวลวุ่นวาย   ซึ่งเคยประจำจิตเสียดแทงจิตออกได้โดยลำดับลำดา  จนถึงกับเป็นขั้นสบาย   เพราะฉนั้นผู้ภาวนาเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จึงมักขี้เกียจในการพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยปัญญา   นอนจมอยู่กับสมาธินั้นเสียไม่ออกพินิจพิจารณา  สุดท้ายก็เข้าใจว่าความรู้ที่แน่วแน่แห่งความเป็นสมาธิของตนนั้นเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย   ในข้อนี้ผมเคยเป็นแล้ว  จึงได้นำมาอธิบายให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ   ว่าสมาธิต้องเป็นสมาธิ    ปัญญาต้องเป็นปัญญา   เป็นคนละสัดเป็นคนละส่วน  เป็นคนละอันจริงๆ  ไม่ใช่อันเดียวกัน   หากเป็นอยู่ในจิตอันเดียวกันนั่นแล  เป็นแต่เพียงไม่เหมือนกัน.............ผู้ที่เป็นสมาธิ  ถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา  จะเป็นสมาธิอย่างนั้นตลอดไป  จนกระทั่งวันตาย  ก็หาเป็นนิพพานได้ไม่  หาเป็นปัญญาได้ไม่........."

 

จาก บุญ กับ กุศล 

โดย ท่านพุทธทาส)

       "............................ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญก็ได้  เอากุศลก็ได้  สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับคนโน้นคนนี้ที่โลกอื่น ตามที่ตนกระหาย จะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิเพื่อการไปเกิดในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมันนั่นเอง(webmaster-บุญ แปลว่า ความใจฟู ความอิ่มเอิบ) ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตรายแก่เจ้าของถึงกับต้องรับการรักษาเป็นพิเศษ  หรือรักษาไม่หายจนตลอดชีวิตก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่าสมาธิเช่นนี้ มีตัณหาและทิฎฐิเป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุด ก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน     ส่วนสมาธิที่มีความมุ่งหมาย เพื่อการบังคับใจตัวเองให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้างกิเลสอันกลุ้มรุมจิตให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิอันจรมาในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศล ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้ามจากสมาธิเอาบุญ"

จาก หลวงปู่ฝากไว้ โดย หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เรื่อง แนะวิธีละนิมิต

         ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า  นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกยังเป็นของภายนอกทั้งหมด  จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้  ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น  ไม่ก้าวต่อไปอีก  จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร  จึงหลีกไม่พ้น  นั่งภาวนาทีไร  พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที่  หลวงปู่โปรดได้แนะนำวิธีละนิมิตด้วยว่า  ทำอย่างไรจึงจะได้ผล

         หลวงปู่ตอบว่า

        เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี  น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก  แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า  วิธีละได้ง่ายๆก็คือ  อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น   "ให้ดูผู้เห็น  แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง"

 

เรื่อง หลักธรรมแท้

         มีอยู่อย่างหนึ่งที่นักปฏิบัติชอบพูดถึง  คือ  ชอบโจษขานกันว่า นั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง  ปรากฎอะไรออกมาบ้าง  หรือไม่ก็ว่า ตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฎอะไรออกมาบ้างเลย  หรือบางคนก็ว่า  ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ  ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า  ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการเป็นต้น ฯ

         หลวงปู่เคยเตือนว่า  การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด  เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง

         "หลักธรรมที่แท้จริงนั้น  คือ  จิต  ให้กำหนดดูจิต  ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง  เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว  นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม."

 

เรื่อง ละเอียด

         หลวงพ่อเบธ วัดป่าโคกหม่อน  ได้เข้าสนทนาธรรมถึงการปฏิบัติทางสมาธิภาวนา เล่าถึงผลการปฏิบัติขั้นต่อๆไปว่าได้บำเพ็ญสมาธิภาวนามานานให้จิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เป็นเวลานานๆก็ได้  ครั้นถอยจากสมาธิออกมา  บางทีก็เกิดความรู้สึกเอิบอิ่มอยู่เป็นเวลานาน  บางทีก็เกิดความสว่างไสว เข้าใจสรรพางค์กายได้ครบถ้วน  หรือมีอะไรต้องปฏิบัติต่อไปอีก

         หลวงปู่ว่า

         "อาศัยพลังอัปปนาสมาธินั่นแหละ  มาตรวจสอบจิต(ท่านหมายถึงการพิจารณาในเวทนาหรือจิตตสังขาร)  แล้วปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด  อย่าให้เหลืออยู่."

กำลังรวบรวมเพิ่มเติม

 

 

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ

 

 

 

hit counter