ความแตกต่างระหว่างสุขทางโลก และสุขจากการหลุดพ้น
|
|
สุขทางโลกหรือโลกียสุขนั้นเกิดขึ้นแต่ภาวะของการสร้างการก่อทุกข์ขึ้นมาก่อน แล้วดับทุกข์นั้นลงไป จึงเกิดเป็นภาวะที่เรียกกันโดยภาษาสมมุติทางโลกว่า ความสุข ทุกข์ที่ยิ่งรุนแรง รุมเร้า เร่าร้อน กระวนกระวาย เมื่อดับทุกข์นั้นลงไปได้ก็จะรู้สึกว่าเป็นสุขมากตามความรุนแรงเร่าร้อนของทุกข์นั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นความสุขชนิดที่ต้องจ่ายค่าตอบแทน หรือเป็นไปตามกฎฟิสิกส์อันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน ในเรื่องแรง คือเมื่อมีแรงกริยา จึงเกิดแรงปฏิกริยาขึ้นนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วสุขทางโลกที่เกิดไปแล้วนั้นยังเก็บจำหรือนอนเนื่องเป็นอาสวะกิเลสในรูปปริเทวะคือ เกิดการโหยให้อาลัยหาให้เป็นทุกข์ขึ้นในภายภาคหน้านั่นเอง และยังมีภาวะทุกข์ในการต้องดูแลรักษาในสุขเหล่านั้นให้คงอยู่หรือคงสภาพไปอีกนานแสนนาน ดังนั้นสุขทางโลกนั้นก็คือทุกข์อันละเอียดอ่อนลุ่มลึกนั่นเอง ไม่โยนิโสมนสิการก็จักแลเห็นและเข้าใจได้ยาก
พิจารณาสุขทางโลกโดยปฏิจจสมุปบาท จะพบความจริงอย่างยิ่งว่า สุขที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสภาวะที่ต้องเกิดตัณหาความอยากหรือไม่อยากในสิ่งใดขึ้นมาให้เร่าร้อนเผาลนเสียก่อน จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานเกิดอาการยึดมั่นถือมั่นในตัณหานั้นๆเพื่อสนองให้เป็นไปตามความพึงพอใจของตัวของตน จึงเป็นเหตุปัจจัยให้มีภพอันคือสภาวะของจิตที่ตกลงใจที่จะเกิด,จะเป็นไปขึ้น จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดชาติการเริ่มเกิดขึ้นของกองทุกข์(มายาจิตทำให้หลงไปเข้าใจว่าสุข)จึงเกิดขึ้น กระบวนธรรมของจิตในขณะที่ดำเนินการคิดปรุงแต่งต่อไปในชรานั้น ถ้าได้รับการตอบสนองให้เป็นไปตามอุปาทานที่ครอบงำไว้แล้วนั้น ก็จะเกิดภาวะสุขเวทนาหรือความสุขขึ้นระยะหนึ่ง แลดูเป็นสุขดีอยู่ จริงอยู่ เพียงแต่ว่าไม่เที่ยง จึงดับไป พร้อมเก็บจำเป็นอาสวะกิเลสโดยไม่รู้ตัวตามสภาวธรรม อันพร้อมที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชา ยังให้เกิดสังขารตามที่สั่งสมในลักษณะนั้นๆ อันก่อทุกข์หรือสุขขึ้นอีกในภายหน้า วนเวียนอยู่เยี่ยงนี้ จนในที่สุดก็ไม่อาจสนองตอบได้ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จึงเกิดทุกข์ขึ้นเป็นที่สุด
ส่วนตัณหาใดที่ตอบสนองไม่ได้ตามอุปาทานภพ ก็เกิดทุกข์เผาลนกระวนกระวายขึ้นเสวยวิบากกรรมในทันใด
นอกจากนั้นแล้วยังมีทุกข์อีกประการหนึ่งเกิดร่วมขึ้นด้วย คือ ทุกข์เพราะรักษา กล่าวคือเมื่อดับทุกข์ต่างๆเหล่านั้นลงไปที่เราเรียกกันว่าสุขแล้ว ก็ยังต้องมีทุกข์ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ กล่าวคือ ทุกข์เพราะต้องดูแลรักษาในสุขเหล่านั้น ให้คงอยู่ คงสภาพ ไปอีกนานแสนนาน อยากได้รถ อยากได้บ้าน อยากได้เงิน ฯลฯ. เมื่อดับทุกข์หรือเป็นสุขสมปรารถนาแล้ว ก็ต้องคอยดูแลรักษาสิ่งต่างๆเหล่านั้นกันไปอีกนานเท่านาน
สุขทางโลกจึงมีเหตุปัจจัยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสุขจากการหลุดพ้น หรือสุขทางธรรม
สุขทางธรรมนั้น เป็นสุขที่เกิดแต่ภาวะหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เราเป็นผู้ก่อขึ้น เป็นความสุขที่เกิดขึ้นมาโดยปราศจากภาวะของการสร้างหรือการก่อทุกข์โดยสิ้นเชิง เป็นสภาวะของความสุข อันเกิดแต่ความสงบ ไม่เผาลนร้อนรุ่มด้วยไฟอันเป็นของร้อนของกิเลสตัณหาอุปาทาน จึงล้วน บริสุทธิ์ ปราศจากการปรุงแต่ง ตรงข้ามกับสุขทางโลกที่ต้องสร้างต้องปรุงแต่งต้องก่อทุกข์ใดๆขึ้นมาเผาลนแล้วต้องหาทางพยายามดับมันไป สภาวะสุขทางธรรมหรือนิโรธจึงเป็นความสุขอันสงบ สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากสภาวะที่ต้องสร้างสมปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ขึ้นก่อน จึงเป็นสุขแท้จริงอย่างยิ่ง ซึ่งสงบ สะอาด และบริสุทธิ์ยิ่ง
เหตุที่พระองค์ท่านทรงสั่งสอนแต่เรื่องทุกข์ ไม่ใช่เพื่อให้เป็นทุกข์ แต่เพื่อให้รู้จักและรู้เท่าทันในเหตุปัจจัยของทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการนำไปดับทุกข์ อันเป็นสุขอย่างยิ่งนั่นเอง
-------------------------
โลกุตตรสุข สุขอันยิ่ง
เหตุที่กล่าวว่า นิโรธหรือสุขจากการหลุดพ้นจากกองกิเลส เป็นความสุขอันยิ่ง เนื่องจากความเป็นสุขที่
สุข สะอาด สงบ บริสุทธิ์
เป็น สุข ที่ต่างจากสุขทางโลกหรือโลกียสุข
ที่ต้องสร้างทุกข์ขึ้นมาเสียก่อน
แล้วต้องแสวงหาหรือหาทางสนองเพื่อดับลงไป
สะอาด เพราะไม่เจือด้วยกิเลสตัณหาหรืออามิส
สงบ เพราะไม่เร่าร้อนเผาลนด้วยไฟของการแสวงหา
บริสุทธิ์ เพราะไม่มีสิ่งตกค้างนอนเนื่องของกิเลส(อาสวะกิเลส) จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นอีก
พนมพร
-------------------------
ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ ฯ
|