|
พิจารณาธรรมอย่างไร จึงก้าวหน้า |
|
ปุถุชนทุกคน ย่อมมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส หรือความยึดมั่นถือมั่นให้เป็นไปตามความพึงพอใจของตัวของตนทุกคน บุคคลที่ไม่มีอุปาทานมีแต่ในพระอริยเจ้าเท่านั้น และลดหลั่นกันไปในอริยบุคคล
เมื่อรู้เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว ต่างต้องยอมรับและเข้าใจตามความเป็นจริงว่าปุถุชนยังคงมีอุปาทานดังกล่าวอยู่จริงๆ อุปาทานนั้นท่านแบ่งออกเป็น ๔ และมีอยู่ ๒ ที่จัดเป็นขวากหนามอันแหลมคมสำคัญยิ่งต่อการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ)ให้เกิดปัญญา โดยเฉพาะสัมมาญาณอันเป็นปัญญาในระดับปรมัตถ์ หรือความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงหรือธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ อุปาทานที่เป็นขวากหนามอันสำคัญนี้คือ ทิฏฐุปาทาน และ สีลัพพตปาทาน
ทิฏฐุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นตามความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อในทฤษฎีของตนเองอย่างยึดมั่นหรืองมงาย ตามที่ได้สั่งสม,อบรม,จดจำมาแต่อดีต เมื่อยึดมั่นจึงอยากหรือพึงพอใจที่จะให้เป็นไปตามความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อในทฤษฎีของตนเองอันแอบแฝงอยู่ในจิตโดยไม่รู้ตัว หรือไม่อยากหรือไม่พึงพอใจ จึงต่อต้านกับสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อในทฤษฎีของตนเองอันแอบแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน แต่บางครั้งสิ่งที่รู้ที่เข้าใจเหล่านั้นยังคลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความเป็นจริงของธรรมหรือธรรมชาติ จึงอาจเป็นความรู้ความเข้าใจที่เล่าเรียนแบบทางโลกๆยังไม่เป็นปรมัตถ์ หรือเพราะความเชื่อที่เป็นไปโดยศรัทธาแต่อย่างอธิโมกข์ ดังนั้นจึงเป็นเครื่องปิดกั้นไม่ให้เกิดปัญญาขึ้น เมื่อพิจารณาในสิ่งใดก็จะโน้มเอียงไปยึดมั่นในแนวทางความคิด,ความเชื่อของตนเองโดยไม่รู้ตัวสักนิด หรือสิ่งใดไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนก็ไม่พอใจ หรือโน้มเอียงไม่สนใจ หรือต่อต้าน โดยไม่รับฟังไปพิจารณาตามความเป็นจริงและเป็นไปของสิ่งนั้นๆตามธรรม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและเป็นไปโดยไม่รู้ตัว
สีลัพพตปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในข้อบังคับ(ศีล)และการปฏิบัติ(วัตร)ตามที่เชื่อๆสืบต่อกันมาแต่อย่างงมงาย ขาดเหตุผล เป็นการยึดมั่นในข้อบังคับหรือการปฏิบัติที่ถ่ายทอดสืบต่อๆกันมา เป็นประเพณีหรือวัฒนธรรม จึงเชื่อปฏิบัติตามๆกันมาโดยขาดปัญญา ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ข้อบังคับและข้อปฏิบัติบางอย่างก็ไม่ถูกต้อง หรือถูกต้องดีงามในการปฏิบัติในระดับหนึ่ง หรือเพียงเพื่อเป็นเครื่องยึดเครื่องผูกให้เป็นคนดีมีศีลธรรม เพื่อความสงบสุขของสังคม แต่ในทางการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์แล้วเป็นระดับปรมัตถ์ที่ต้องรู้ตามความเป็นจริงของธรรม ดังนั้นการเชื่อด้วยอธิโมกข์ตามที่สืบต่อๆกันมาอย่างมงาย ขาดปัญญาในการพิจารณา เมื่อสิ่งใดไม่ตรงกับข้อบังคับข้อปฏิบัติที่ตนเข้าใจหรือปฏิบัติอยู่ก็ต่อต้าน หรือไม่พึงพอใจ จนปิดกั้นไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาญาณในระดับสูงขึ้นไปได้
เมื่อรู้ตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้งว่าทั้ง ๒ สิ่งนี้ เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของปุถุชนแล้ว จึงพึงเข้าใจว่ามีอยู่เป็นอยู่โดยไม่รู้ตัวเป็นธรรมดา เป็นธรรมดานี้มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ที่หมายถึง เป็นสภาวธรรมที่เที่ยงตรงและคงทนเช่นนี้ ดังนั้นเมื่อปฏิบัติธรรมวิจยะในเรื่องใด พึงตั้งสติอย่างแน่วแน่ในการวางอุปาทานทั้ง ๒ นี้ลงเป็นการชั่วขณะ ถึงแม้มีอยู่ แต่พึงวางด้วยกำลังของสติและปัญญาที่รู้เข้าใจได้ชั่วขณะอย่างแน่นอน แล้วใช้สภาวะนี้ดำเนินไปในการพิจารณาอย่างเป็นกลาง วางความยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อ ความเข้าใจ ความยึดถือเดิมๆลงไปชั่วขณะในการพิจารณา พิจารณาทั้งความรู้ความเชื่อเดิมหรือความรู้ใหม่ๆด้วยใจเป็นกลาง แต่อย่างหาเหตุหาผล โดยเฉพาะทำความเข้าใจกับธรรม,สภาวธรรมหรือธรรมชาติอย่างใจเป็นกลาง เพราะพระพุทธศานานั้นเป็นศาสตร์ของความเป็นจริงอย่างที่สุด ละเอียดอ่อนครอบคลุมทั้งฝ่ายรูปธรรมหรือวัตถุธรรม และครอบคลุมถึงฝ่ายนามธรรมหรือจิตโดยเฉพาะเรื่องของความทุกข์ แก่นธรรมและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามจึงล้วนดำเนินและเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลตามหลักอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบันธรรมทั้งสิ้น
ยังมีธรรมอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเหตุปัจจัยให้รับธรรมหรือทำให้เกิดปัญญาไม่ได้ คือ วิปัสสนูปกิเลส ที่หมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตหลงจึงรับธรรมหรือคุณธรรมได้ยากหรือไม่ได้ อันมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญคือเกิดจากการติดเพลิน(นันทิ อันคือ ตัณหา)ในองค์ฌานต่างๆหรือสมาธิ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้อุปาทานกล้าแข็งขึ้นไปเป็นลำดับ เกิดอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นอย่างแรงกล้าจนไม่สามารถรับธรรมต่างๆ ได้ จึงไม่สามารถพิจารณาให้เกิดปัญญาที่ถูกต้องดีงามขึ้นได้
|