ทุกข์

หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี

แสดง ณ  วัดหินหมากเป้ง  อ.ศรีเชียงใหม่  จ.หนองคาย

วันที่  ๒๓  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๑๔

จากหนังสือ  เทสกานุสรณ์  หน้า ๓๓

_________________________

         วันนี้จะเทศน์ถึงเรื่องทุกข์  อธิบายถึงเรื่องทุกข์  คนเราส่วนมากชอบสุข  กลัวทุกข์  นี่เป็นส่วนมากไม่ว่าใครทั้งหมด  สุขนั้นเป็นที่ปรารถนา  ทุกข์นั้นเป็นที่น่ารังเกียจ  ไม่ชอบเลย    ถ้าหากพิจารณาความจริงถี่ถ้วนแล้ว  แท้ที่จริงเพราะทุกข์แท้ๆ  เลยทำมาค้าขายหาอยู่หากินด้วยประการต่างๆ  ทำสวน  ทำนา  ค้าขาย  ข้าราชการ  เป็นเจ้านาย  หาเงินเดือนกิน  ก็เพราะกลัวทุกข์  แม้ที่สุดแต่โจรขโมย หาปล้นก็เพราะมันกลัวทุกข์ อยากได้ความสุขอย่างเขาที่รํ่ารวย    นี่จึงว่าทุกข์เป็นเหตุให้ขยันหมั่นเพียร  ทุกข์เป็นเหตุให้แสวงหาประโยชน์    ถ้าไม่มีทุกข์บีบบังคับบีบคั้นเสียแล้ว  คนเราจะพากันนิ่งนอนใจ  ไม่แสวงหาสิ่งใดเลย

         มันมีปัญหาอยู่ที่ว่า  การทำงานก็เพื่อหาความสุข  แต่เหตุไฉนจึงต้องไปทนทุกข์  เช่น  ลำบากตรากตรำ  ตากแดดตากฝน  มันทุกข์แท้ๆ  พระพุทธเจ้าท่านตรัสเทศนาเอาไว้ว่า  วิริเยน  ทุกฺขมจฺเจติ  คนเราจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร    ก็การเพียรมันไม่ใช่เรื่องทุกข์หรือ  ทำไมจึงว่าพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร  มันเป็นปัญหาน่าคิด    แต่หากว่าเราจะอุปมาอุปไมย  หรือหากเราจะฟังอีกแง่หนึ่งในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า  โลกนี้ นอกจากทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็ไม่เห็นมีอะไร  พระพุทธเจ้าท่านตรัสเทศนาไว้อย่างนี้    ตกลงคนเราเกิดมาแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น  ถ้าหากเราพูดถึงธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อนี้แล้วนั้น  ก็จะไขความในข้อต้นขึ้นมาได้บ้าง  หรือหากเราจะอุปมาเปรียบให้เนื้อความกระจ่างขึ้นไปอีก  ดังเช่นคนตกนํ้า  ถ้าไม่พยายามว่ายก็มีหวังจมนํ้าตาย  คนที่ว่ายและพยายามว่ายเท่านั้นจึงจะรอดมาได้  อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบดังนี้แล้ว  ก็ชัดขึ้นในความข้อนั้น

         ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเทศนาเป็นปฐมเทศนา   ทุกข์เป็นของควรกำหนด  ไม่ใช่ของควรละ,   ความทะเยอทะยานดิ้นรนและความอยากคือตัณหา  นั่นเป็นสิ่งที่ควรละ    อันนี้ก็เป็นเหตุส่องให้เราคิดค้นเหมือนกัน  คิดค้นหาหลักความจริง  ทุกข์นั้นมันเป็นของมีอยู่ จะทิ้งก็ไม่ได    ถ้าพูดถึงเรื่องทางด้านปฏิบัติ  วิปัสสนาไม่ใช่ทิ้งทุกข์  แต่ยกทุกข์ขึ้นมาพิจารณา  ไม่ใช่เป็นของว่างหรือของไม่มี  ถ้าเป็นของว่างหรือของไม่มี  ไม่เป็นวิปัสสนา   ใครจะเอาของว่างของไม่มี มาพิจารณา ไม่เป็นวิปัสสนาเลย    ต้องเอาของมีอยู่คือทุกข์  ปรารภทุกข์  ค้นคว้าถึงเรื่องทุกข์  ให้เห็นต้นตอของทุกข์  เหตุของการเกิดทุกข์  และเหตุที่จะดับทุกข์

         ผู้ปฏิบัติถ้าหากพิจารณาต้นตอของทุกข์แล้ว  เห็นชัดตามเป็นจริง  คือว่าทุกข์อยู่ในขันธ์  ถ้าหากมีขันธ์อยู่ตราบใดทุกข์มันก็ติดอยู่ในขันธ์นั้น  เมื่อเราเห็นชัดว่าขันธ์เป็นก้อนทุกข์  ทำอย่างไรมันจึงทิ้งก้อนทุกข์นี้ได้    เราแยกขันธ์ออกมาเป็นธาตุ  อายตนะ  อินทรีย์  แยกออกเป็นส่วนๆ  ขันธ์เลยไม่มี  เห็นแต่สภาวธรรมอันหนึ่ง  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  อุปาทานความถือขันธ์มันก็เลยหายไป   ใจที่ถือว่าขันธ์เป็นตัวเป็นตนมันก็หายไป  พร้อมกันนั้นความสงบก็เกิดขึ้น  ใจก็ไปอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากขันธ์  คือว่า  มันไปมองเห็นขันธ์  มันไม่ได้ไปอยู่ในขันธ์  แต่หากขันธ์เจือกันอยู่กับจิต    จิตไปเห็นขันธ์  แต่ว่าจิตนั้นไม่ได้เข้าไปอยู่ในขันธ์  เห็นเป็นสภาวธรรมเกิดขึ้นดับไป  ในขณะที่จิตมันสงบลงไป  ความทุกข์ที่เราถือว่าเป็นทุกข์มาแต่เบื้องต้นมันก็หายไป

         เราพิจารณาทางวิปัสสนา  มันต้องเป็นอย่างนั้น  ต้องยกขันธ์ขึ้น  คือยกกองทุกข์ขึ้น    อันของไม่มีนั้นไม่ใช่วิปัสสนา  เงียบสงบไปหมดเลย  ว่างเปล่าสูญหมด  (แล้วจะ)เอาอะไรมาพิจารณา  ไม่มีเรื่องพิจารณา    พิจารณาสูญก็เลยสูญไปหมด  สูญไม่ทราบอะไรต่ออะไร  ว่างก็เลยว่างหมด  ไม่ทราบอะไรต่ออะไร  เงียบไปหมดไม่มีอะไร  แล้วจะเอาอะไรมาพิจารณา    เมื่อไม่มีเรื่องพิจารณา  ปัญญามันก็ไม่เกิด  มันก็ไปสงบอยู่เฉยๆ    ความสงบนี้ไม่ใช่มันอยู่ไปตลอดชีวิต  ไปสักครู่สักพัก สักชั่วโมงสองชั่วโมงอย่างดีที่สุด กลับออกมาก็ของเก่า  ทุกข์ทั้งหลายมีอยู่อย่างไรก็มีอยู่เท่าเก่า    ถ้าหากไม่ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างว่านี้แล้ว  ไม่เข้าถึงสัจจะของจริง  ไม่เห็นของจริง  อย่างดีที่สุดเมื่อทุกข์มากๆ ก็เข้าไปสงบหลบหลีกทุกข์เสีย    ท่านพูดไว้อีกนัยหนึ่ง  ผู้ชอบความสงบคือหลบทุกข์  ไม่ใช่นักสู้นักรบ  ผู้ที่ต่อสู้คือวิปัสสนาค้นคว้าอย่างอธิบายมาแล้ว  นั่นเป็นนักสู้นักรบ  สู้รบมันต้องประจัญหน้ากันกับข้าศึก  แพ้ชนะมันจึงค่อยเห็น

         ทุกข์เป็นข้าศึกอันหนึ่งของจิตใจ  คือเราไม่ชอบดังที่ว่ามาแล้ว  มันคอยเป็นปรปักษ์และเป็นข้าศึกรบกวนไม่ให้เราสบายอยู่ตลอดกาลเวลา   อันนี้ถ้าหากเราเห็นมันเป็นข้าศึก  เราต้องต่อสู้  ยกทุกข์ขึ้นมาพิจารณา  พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ควรพิจารณา ไม่ใช่ควรละ  ดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้น  ที่ว่าทุกข์เป็นของควรกำหนด(กิจจญาณ)  ถ้าหากว่าเข้าใจชัดเจนดังอธิบายมาแล้วนั้น  จนมันวางทุกข์ได้  มันเห็นเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป  ก็เรียกว่าเราได้กำหนดแล้ว  เราได้เห็นแล้ว  เราได้รู้ความจริงแล้ว  เราได้ชัดเจนแล้ว    หากมันจะเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก  เราก็พิจารณาอย่างเก่าแนวเก่า  หรืออาจจะมีแวววาวคมขำขึ้นไปกว่าเก่าอีก  ก็อาจเป็นไปได้    เหตุนั้นทุกข์จึงเป็นของควรต่อสู้  ที่เราควรที่จะต่อสู้อย่างยิ่ง

         ทุกข์มันมีอยู่ตลอดเวลา  ทุกข์เพราะหิวกระหาย  ทุกข์เพราะเจ็บป่วย  ทุกข์เพราะความทะเยอทะยานดิ้นรน อยากได้นั่นอยากได้นี่   ทุกข์เพราะความกังวลเกี่ยวข้องพัวพัน กลุ้มอกกลุ้มใจ  ทุกข์ที่เป็นนามธรรม     ทุกข์ที่เป็นรูป ก็ทุกข์เพราะหิวกระหาย  กระทบเย็นร้อนอ่อนแข็ง ทุกอย่างที่มากระทบ    เพราะสัมผัสมันมีอยู่  ประสาทมันยังไม่ทันดับยังไม่ทันตาย  สิ่งทั้งหลายจะต้องมากระทบอยู่ตลอดเวลา  จะหนีทุกข์พ้นที่ไหนได้ ไปไม่พ้นหรอก   จึงว่าใครจะทิ้งทุกข์ก็ทิ้งไม่ได้  มีชีวิตอยู่ตราบใดก็ยังมีทุกข์อยู่ตราบนั้น    พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน  พระอริยสงฆ์สาวกก็เหมือนกัน   ถึงแม้ท่านจะพิจารณาเห็นทุกข์แล้ว  ทุกข์ก็ยังอยู่เหมือนเดิม  ท่านก็ไม่ได้ทิ้งไปไหน  แต่ว่าทุกข์มาแล้วไม่สามารถมารบกวนท่านได้  ด้วยเหตุที่ท่านเห็นชัดตามเป็นจริง ดังอธิบายมานั้น

         ทุกข์จึงเป็นเครื่องอยู่  เป็นอารมณ์ให้ยกขึ้นมาพิจารณาอยู่ตลอดเวลา  ทุกข์เลยไม่ทุกข์  เลยกลายเป็นเครื่องอยู่เสีย  เหมือนๆกับคนที่เขาชอบการงาน  การขุดดินฟันไม้ก็ดี  หรือการจักการสานอะไรก็ตามที่ออกกำลัง  เราเห็นเข้าใจว่าเขาเหน็ดเหนื่อย  แต่พวกที่ชอบการงานนั่นไม่เหนื่อย  เมื่อได้ทำงานแล้วรู้สึกแข็งขันขึ้นมา  ร่างกายกระฉับกระเฉง  สุขภาพดีขึ้น    การงานที่เขาทำลงไปนั้น  มันเป็นเรื่องเพลิดเพลิน  เป็นเรื่องสนุกไม่มีความทุกข์

         ผู้ที่พิจารณาถึงธรรมะเห็นทุกข์  จะไม่มีความทุกข์เลย    พิจารณาทุกข์ยิ่งเป็นเครื่องอยู่  เป็นเครื่องพิจารณา  เป็นเครื่องดำเนินชีวิต  เลยกลายเป็นวิหารธรรมเหมือนๆกับคนชอบทำงาน  ในการที่เขาทำนั้น  ผลพลอยได้ตามมา  การงานเขาขยันขันแข็งไม่เกียจคร้าน  ผลประโยชน์อันพึงได้ก็พึงได้ตามมา    อันผู้พิจารณาทุกข์  เมื่อเห็นสภาพตามเป็นจริงแล้ว  ทุกข์นั้นไม่ใช่มันจะมาครอบงำผู้ที่เห็นทุกข์  แต่การพิจารณาทุกข์นั้นกลายเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่  มันเป็นการฟอกฝนจิตใจให้ใสสะอาด  อันเป็นบ่อเกิดของปัญญาให้ฉลาดเฉียบแหลมขึ้นทุกที   นี่ว่าถึงเรื่องทุกข์เป็นของกำหนด

         คนที่กลัวทุกข์ก็หมายความว่าคนขี้ขลาด  คือไม่มีความสามารถในการที่จะต่อสู้  มุ่งอย่างเดียวแต่ความสุข    ถ้ามีความฉลาดสามารถแล้ว  สิ่งใดที่มันทุกข์มากที่สุด  สิ่งนั้นต้องเอามาเป็นอารมณ์มาคิดนึกพิจารณา    ผู้บำเพ็ญภาวนากรรมฐานต้องเป็นผู้อาจหาญต่อสู้อย่างนี้   นักปฏิบัติมาแต่ก่อนเก่าอยู่กับหมู่อยู่กับเพื่อนอยู่ในที่สบายไม่ชอบ  เพราะจิตใจไม่กล้า  ไม่ได้ต่อสู้  ต้องไปหาวิเวกที่สงัด  ไปป่าเปลี่ยวในที่หวาดเสียวน่ากลัว  จึงจะได้ผจญภัย  คือเอาความกลัวมาเป็นเหตุ  เมื่อเอาความกลัวมาเป็นเหตุก็เพ่งพิจารณาถึงความกลัว  กลัวไปก็พิจารณาไปมามันถึงความตาย  กลัวก็คือกลัวตาย  ก็ไปลงเห็นความจริงว่าคือกลัวตาย   ก็คืออัตตา  กลัวตนตาย  ไปถืออัตตา  เมื่อถืออัตตาก็กลัวตาย  มันเข้าไปถึงของจริง  ก็เพราะมันมีเหตุคือความกลัว

         เพราะฉนั้น  ทุกข์จึงเป็นของดีมีประโยชน์มาก    ถ้าหากจะพูดอีกนัยหนึ่งความสุขกับความทุกข์นั้นนํ้าหนักเท่ากัน  เหมือนความเกิดกับความตายนํ้าหนักเท่ากัน  เกิดเท่าไรก็ตายเท่านั้น  ทุกข์เท่าไรก็สุขเท่านั้น  สุขเท่าไรก็ทุกข์เท่านั้น  เรียกว่ามีนํ้าหนักเท่ากัน    แต่มีค่าผิดกัน  ความเกิดหรือความสุขมีราคาน้อย  ความทุกข์หรือความตายมีราคามาก  ถ้าหากทุกคนไม่แสวงหาสิ่งที่มาบำบัดทุกข์  นั่นแหละเป็นเหตุอย่างนี้  คนจะมีจะรวยก็ดี  ทำมาหากินด้วยประการต่างๆ  ที่จะมีจะรวยเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ทั้งนั้นจึงค่อยแสวงหา  จึงค่อยขยันหมั่นเพียร    ผู้ที่จะถึงมรรคผลนิพพานเพราะกลัวทุกข์ในวัฏสงสาร   ผู้ที่ทำบุญสุนทานต่างๆ  ก็เพราะกลัวทุกข์ในโลกนี้  เมื่อได้ทราบว่าพวกเทพทั้งหลายมีความสุขกว่ามนุษย์ก็จะทำบุญรักษาศีล เจริญเมตตาภาวนาเพื่อจะได้พ้นจากทุกข์ในโลกนี้   ผู้เห็นโทษทุกข์ในชั้นฟ้าสวรรค์ในสุคติว่ายังไม่สิ้นทุกข์สิ้นร้อน  ยังมีอารมณ์คือความวุ่นวาย  จึงพยายามให้ถึงซึ่งพรหมโลก  คือมีเอกคตาจิต  เอกัคคตารมณ์  คือ  อารมณ์อันเดียว    ผู้เห็นโทษนั้นว่ายังไม่ถึงที่สุด  จึงพยายามเดินตามมรรค๘  นี่ด้วยปรารภทุกข์ทั้งนั้น

         นี่จึงว่าตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด  เอาทุกข์เป็นต้นเหตุ  ทุกข์จึงเป็นของมีค่ามากจนถึงพระนิพพาน  ความตายก็เหมือนกัน  ความเกิดใครๆก็ชอบ  ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่อยากตาย  การอยากตายไม่มี  มีแต่อยากเกิดอยากอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา    อันความที่ไม่อยากตายหรือว่าเกิดขึ้นมาแล้วไม่อยากเจ็บอยากไข้อยากตายเป็นความประมาท  คนที่พิจารณาถึงความตายเป็นคนไม่ประมาท  ไม่ใช่อยากตาย  แต่พิจารณาถึงความตายจึงจะเป็นผู้ไม่ประมาท  เพราะเหตุมันมีความตายอยู่ข้างหน้า  จึงพยายามที่สุดที่จะหาที่พึ่ง  อย่างน้อยที่สุดก็หาหลักฐานไว้ให้ลูกหลานเมื่อเวลาเราตายไปแล้ว  หาสมบัติพัสถานไว้ให้ลูกไว้ให้หลาน  ถ้าไม่คิดถึงความตาย  ไม่มองเห็นความตายก็จะไม่ทำอย่างนี้  นี่จึงว่าความตายมีค่ามากกว่าความเกิด  ก็เข้าแนวเดิมอีก  ตายไปแล้วไม่รู้จะไปสุคติหรือทุคติ  ไม่แน่ใจ  จึงพยายามทำคุณงามความดี  มีทาน  ศีล เป็นต้น  ก็เพราะปรารภความตาย  เวลาเห็นตายแล้วเกิดเป็นทุกข์  ก็พยายามที่จะพ้นจากทุกข์    นี่จึงว่าความตายมีค่ามาก  แต่คนเราเกลียดความตาย  เกลียดความทุกข์

         ถ้าว่าถึงเรื่องความจริงแล้ว  ตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า  เป็นของดี  มีค่ามากกว่าความเกิด  มีค่ามากจนถึงที่สุด    ความคิดความเห็นของนักปฏิบัติมันตรงกันข้ามกับความเห็นเดิม  มันตรงกันข้ามนี้ไม่ใช่มันผิดแผกแหวกแนวไปทางอื่นทางไกล   แต่แท้ที่จริง คือ มันเข้าถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง  คนที่ฟังไม่ถูกก็หาว่าแหวกแนว  เพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่  เพราะมันเข้าไม่ถึงธรรม     ถ้าเข้าถึงธรรมแล้วทางตรง  ไม่ใช่แหวกแนว  ความเห็นที่ว่าเกิดเป็นสุข  เกิดนั้นชอบ  สุขนั้นชอบ  อยากได้แต่สุขและอยากได้แต่เกิด  เกลียดตายและเกลียดทุกข์  อันนั้นเป็นการแหวกแนว    เพราะฉนั้นจึงว่า  นักปฏิบัติไม่น่ากลัวเลยเรื่องความทุกข์ทั้งหลาย  จงยกเอาทุกข์นั้นขึ้นมาพิจารณาจนเห็นเป็นสภาวะตามเป็นจริงทุกสิ่งทุกประการ  เห็นเป็นธรรมหมดเเสืยเมื่อไรสบายเมื่อนั้น    ความเป็นจริงเป็นธรรมจริงๆ  แต่จิตเรายังไม่ทันถึงธรรม  ก็เลยยังไม่เป็นธรรม    นี่ยกทุกข์ขึ้นมาพิจารณาโดยอุบายที่อธิบายมานี้  มีเนื้อความโดยย่อๆเท่านี้  ให้นำไปคิดพิจารณาเอาเอง

         ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นอารมณ์  เอาทุกข์ขึ้นมาพิจารณา  อย่าไปกลัวทุกข์  ถ้ากลัวทุกข์แล้วมาทำความดีจึงจะถูก    แต่เราอย่าไปกลัวทุกข์  ให้เอาทุกข์มาเป็นอารมณ์  ได้ทุกข์มาแล้ว  ได้ความตายมาแล้ว  เอามาเป็นอารมณ์  อันนั้นได้ชื่อว่าเป็นบทบาทเบื้องต้นที่จะพ้นจากความทุกข์และได้รับความสุข  หรือเป็นบทบาทที่จะไม่ให้ตาย   ถ้าเราไม่ยึดและไม่จับอันนี้เป็นหลักแล้วจะไม่มีเครื่องพิจารณา  ถ้าเราจับอันนี้เป็นหลักและพิจารณาอยู่ตลอดเวลา  จะเป็นภาวนาทำสมาธิให้เกิดปัญญาญาณอยู่ตลอดเวลา  ทางเดินวิปัสสนาต้องเป็นอย่างนี้  เอาละ.

 -----------------------------------

 

ทุกฺขเมว พิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฺฐติ เวติ จ
นาฌฺฌตฺร ทุกฺขาสมฺโภติ นาฌฺฌตฺร ทุกฺขานิรูชฺฌติ

(สุ.สํ. สคาถวรรค ๑๕/๑๑๙)

ความจริง   ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น   ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่   ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป
นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรเกิด     นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรดับ

กลับสารบัญ