พจนานุกรมพระพุทธธรรม บาลี - ไทย - อังกฤษ

THE PALI - THAI - ENGLISH DICTIONARY OF BUDDHIST TERMS

คำนำ

 สารบัญ

        ในการทำพจนานุกรมเล่มนี้ เดิมได้เคยค้นหาว่า  ชาติใดหรือประเทศใดกันแน่ที่พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือพระพุทธธรรมเล่มแรกสุด   เหตุที่ถามเช่นนี้  เพราะพระไตรปิฎกเป็นต้นตอของพระพุทธศาสนา  ดังนั้นการแปลศัพท์บาลีหรือสันสกฤตเป็นตำรับตำราแรกๆ  ของผู้ที่ใฝ่ใจในด้านนี้จึงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ  และควรรู้

        เดิมได้คิดในใจว่า น่าจะเป็นทวีปลังกาที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก  จริงอยู่  ศรีลังกาได้ปฐมสังคายนาเป็นครั้งแรกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยตอบคำถามแบบที่  พระสังคีติกาจารย์ได้กระทำไว้  และเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา  แต่มิใช่การตีพิมพ์เป็นรูปเล่มขึ้นเป็นครั้งแรก   จึงหันไปมองที่จีน  ทั้งนี้ก็เพราะจีนเป็นประเทศแรกสุดที่คิดค้นการตีพิมพ์ขึ้น  เยอรมนีเองเป็นชาติที่สองรองจากจีน  โดยที่เยอรมนีก็คิดค้นการพิมพ์หลังประเทศจีนหลายศตวรรษ และเยอรมนีไม่ใช่ชาติที่สองที่พิมพ์พจนานุกรมบาลีหรือสันสกฤต

        ในประเทศจีนนั้นในช่วงหลายศตวรรษแรกที่พุทธศาสนาได้เข้าไป   พระไตรปิฎกก็เช่นเดียวกับศรีลังกาและอินเดียที่จดจำจารึกกันด้วยมือ  ในราชวงศ์ซุงในศตวรรษที่ 10 จึงได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก  ดังที่เรียกกันว่า Shu  edition ซึ่งปรากฎขึ้นใน ค.ศ.  933   การรวบรวมนี้ต้องใช้ตัวอักษรจีนประมาณ 130,000 อักษรด้วยกัน  โดยทำเป็นบล็อคไม้ในการตีพิมพ์ไว้

        Shu edition  เป็นงานที่ใหญ่  มีทั้งหมดกว่า 1,070 ชิ้นด้วยกัน  ในจีนตอนเหนือ ผู้ปกครองมงโกลในราชวงศ์เหลียวได้ตีพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1055 โดยทำตาม Shu edition  ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อเกาหลีในราชวงศ์โตเรียว  โดยตีพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับไว้ด้วยกัน ในเกาหลีตอนใต้ปัจจุบันยังมีตัวพิมพ์เก็บเอาไว้ที่เขาคายะ อีกทั้งใช้เป็นแม่แบบของการตีพิมพ์ในยุคต่อ ๆ มา

        นอกจาก Shu edition แล้ว  การรวบรวมได้มีขึ้นในราชวงศ์ชินและหยวน การรวบรวมเสร็จสมบูรณ์ในจีน ใน ค.ศ. 1176 อันเป็นผลงานของเจ้าอาวาสหกรูปด้วยกันที่วัดตุงซานในเขตฟูเทียน  ซึ่งการรวบรวมมากกว่า Shu edition  ราวร้อยละ 50  การตีพิมพ์ทำเป็นรูปที่อ่านง่ายกว่าเดิม การรวบรวมครั้งนี้ได้เป็นมาตรฐานในยุคต่อๆ มา  ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหาด้วย

        ญี่ปุ่นได้ศึกษาพระไตรปิฎกและตีพิมพ์ในไดนิปปอง โคเต ไดโซเกียว  ใน ค.ศ. 1800-5 และในไดนิปปอง โคเต ไดโซเกียว ใน ค.ศ. 1902-5 ในบรรดาเอกสารพุทธศาสนาทั้งปวง สารานุกรมไดโซ ชินชู ไดซกเกียว  ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1924-34 มีมาตรฐานสูง  เป็นที่อ้างอิงในหมู่นักวิเคราะห์สมัยใหม่  ใช้เอกสารกว่า 100 เล่มด้วยกัน  และบรรจุผลงานทั้งหมด 3,360 ชิ้น

        ผลงานพระไตรปิฎกในจีน , เกาหลี และญี่ปุ่น ใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก  นอกจากใช้อักษรของชาติตนในการแปลและอธิบายความไว้ด้วย  กล่าวสำหรับญี่ปุ่น  การเข้ามาของพุทธศาสนาเริ่มต้นในพระราชวังใน ค.ศ. 552 แต่มีผู้รู้กล่าวจากการค้นคว้าว่าเข้ามาใน ค.ศ. 538 ในยุคที่คณะทูตจากเกาหลีในอาณาจักร Packche ได้เดินทางมาพร้อมด้วยพระพุทธรูปหนึ่งองค์  และคำสอบางอย่างของพระพุทธเจ้า  เพื่อถวายแด่องค์จักรพรรดิญี่ปุ่น

        ประเทศไทยเองมีการตรวจและสังคายนาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ค.ศ.  1610-28) แต่โดยทั่วไปเป็นบันทึกด้วยมือ ในลังกาทวีปซึ่งไทยใช้เป็นแบบอย่างได้จดลงใบลานด้วยอักษรสิงหล การตีพิมพ์ในประเทศไทยนั้นเริ่มทำครั้งแรกในรัชสมัยของ    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ใน ร.ศ. 112  ตรงกับ พ.ศ. 2434 หรือ ค.ศ. 1891

        สมาคมบาลีปกรณ์ หรือ Pali Text Society  ได้กล่าวถึงพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยว่า เป็นพระไตรปิฎกไทยชุดแรกของโลกที่พิมพ์ทั้งชุดเป็นตัวโรมัน  ใช้ตัวอักษรบาลี โดยจัดพิมพ์ชุดละ 39 เล่ม  เป็นจำนวน 1,000 ชุด  ตามหลักการสังคายนาในพุทธศาสนาเถรวาท  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้พระราชทานพระไตรปิฎกนี้ไปยังพระอารามทั่วกรุงสยาม และสถาบันต่างๆ ทั่วโลกอีก 250 แห่ง  ข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง  เป็นการปริวรรตจากอักษรบาลี  จากอักษรขอมเป็นอักษรสยาม  เปลี่ยนจากการใช้ใบลานไปเป็นกระดาษพิมพ์   จึงไม่ต้องจดด้วยมืออีกต่อไป  เรียกกันในหมู่ตะวันตกว่า The King of Siam’s Edition  of the Pali Tripataka.

        ขณะที่สหภาพพม่ามีการจัดแปลปทานุกรมพระไตรปิฎกขึ้น  พระมหาเถรานุเถระชาวพม่าได้รจนาปทานุกรมนี้ไว้เป็นหนังสือประมาณ 20 เล่ม ด้วยกัน

        กล่าวสำหรับสมาคมบาลีปกรณ์นั้น  ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษ ในปี 1881 โดยโธมัส ดับบลิว ริส เดวิดส์ (Thomas W. Rhys Davids) เพื่อส่งเสริมการศึกษาคัมภีร์บาลี  แต่สมาคมบาลีปกรณ์พิมพ์หนังสือที่เป็นภาษาบาลีมากกว่าภาษาสันสกฤต  กิจกรรมของสมาคมมุ่งไปที่พระไตรปิฎก  ความตื่นตัวของยุโรปก็มาจากการค้นคว้าและแปลเป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก  ในช่วงที่สองของคริสตวรรษที่ 18 ซึ่งทำให้สนใจภาษาบาลีเพิ่มขึ้น  แต่อักษรบาลีที่สมาคมนี้ใช้เป็นอักษรโรมัน  แล้วจึงแปลเป็นอังกฤษ วารสารเผยแพร่พุทธธรรมของสมาคม คือ Journal  of the Pali Text Society. หนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง คือ พจนานุกรมอธิบายศัพท์พุทธศาสนาทางบาลี

        ในอังกฤษ เช่นเดียวกับในไทยที่ทำเป็นภาษาของคนพื้นเมือง  ดังเช่น  สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  ได้ทรงพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย  หรือที่เรียกว่า พระคัมภีร์อภิธนานัปปิทีปิกา ขึ้นใน พ.ศ. 2456 ต่อมาพระธรรมไตรโลกาจารย์ (นิรันดร์  นิรันตรก)  ได้ตรวจชำระและเพิ่มเติมขึ้น

        ในช่วงแรก ๆ มีสมเด็จพระมหาสัมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ได้ทรงพระปฐมสมาณธิกถาขึ้น  ต่อมา พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักปัษณ์) ได้เขียนพระบาฬีลิปิกรม  แปลลำดับศัพท์บาลีเป็นไทย ใน พ.ศ. 2459   ถัดจากนั้นก็มีอักษรานุกรมธรรมบท  เขียนรวบรวมโดยพระยาพจนสุนทร (เรือง อติเปรมานนท์) ให้ชื่อว่า อักษรานุกรมธรรมบท

        ในบรรดาพจนานุกรมที่ตีพิมพ์ออกมา ฉบับที่มีการกล่าวขวัญกันมาก เป็นตำราบาลี-สยามอภิธาน อันเป็นตำราศัพท์บาลีแปลเป็นไทย  ไทยก็เคยทำมาแล้ว แต่อาจไม่สมบูรณ์ดีพอ  บางแห่งก็เขียนลงสมุดฝรั่ง  รู้กันก็ในวงแคบ  แต่ตำรับตำรานี้ได้แพร่หลายตามสมควร  กระนั้นก็แทบไม่มีภาษาสันสกฤตแปลเป็นไทยในแง่ของพุทธธรรมเลยในยุคนั้น  ยิ่งกว่านั้นการรวบรวมเรียบเรียงพจนานุกรมพุทธธรรมนั้นเกือบไม่มีเลย  ที่มีอยู่ก็ไม่มีศัพท์พอเพียง

        โดยทั่วไปพจนานุกรมพุทธศาสนาในภาษาอังกฤษได้ตั้งชื่อว่า Digital  Dictionary  มีศัพท์แสงอยู่มากมายเป็นจำนวนมากกว่าพจนานุกรมต่าง ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา อีกฉบับหนึ่งคืองานพิมพ์ของออกซ์ฟอร์ด ชื่อ Dictionary  of  Buddhism จัดทำโดย Damien Keown มีศัพท์มากมายจากพม่า , จีน , ลังกา, ทิเบตและญี่ปุ่น  นอกจากนี้ก็มี Historical Dictionary of  Buddhism  ตีพิมพ์โดย Scarecrow  Press ผู้ที่ศึกษาประวัติพุทธศาสนาในเมืองไทยได้ใช้พจนานุกรมนี้มิใช่น้อย

        ในส่วนของอเมริกาตอนเหนือ มีอิทธิพลในเชิงพุทธศาสนาสูง มีวัดพุทธตั้งขึ้นมาแห่งแรกที่ซานฟรานซิสโกใน 1853  เพื่อช่วยเหลือคนงานจีนที่อพยพเข้ามา    ทิเบตมีการแพร่ขยายอยู่มากในหมู่ชาวอเมริกัน

        สำหรับประเทศไทย  นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้ว มีปทานุกรมที่เรียกกันว่า ปทานุกรมของขุนประเสริฐนิติ   ซึ่งเป็นแม่กองรวบรวมพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรก 500 ฉบับ ปทานุกรมนี้ให้ชื่อว่า พจนานุกรม มีศัพท์แสงมากมายเกี่ยวกับพุทธธรรม   ต่อมาได้มีการตั้งกรมราชบัณฑิตขึ้น  มีพระยาเมธาธิบดีเป็นเจ้ากรม ได้รับหน้าที่รวบรวมปทานุกรมสำหรับนักเรียน

        ปราชญ์ไทยมักใช้พจนานุกรมภาษาบาลีที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ  เช่น พจานุกรมบาลี-อังกฤษ โดยโรเบิร์ต ซีซาร์ ชิลเดอร์ส  ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.  2415  โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์   ความจริงก่อนหน้าที่พระยาปริยัติธรรมธาดาตีพิมพ์หนังสือออกมา  พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจาริยางกูร)  เคยเขียน สยามสาธก  วรรณสาทิศ  ฉบับบาลีแปลเป็นไทยไว้แล้ว

        กล่าวสำหรับพจนานุกรมพุทธศาสนาที่ทำโดยสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทยนั้น   เดิมทีเดียวได้อาศัยพจนานุกรมพระพุทธศาสนาฉบับของนายแพทย์ เต็ง ฮกเป้า แต่พจนานุกรมนี้ไม่สะดวกนัก  เหตุเพราะภิกษุสามเณรส่วนใหญ่เรียนจากโรงเรียนไทย  จึงไม่ถนัดภาษาจีน   อีกทั้งพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในเมืองไทยมีตำรับตำราน้อยเล่ม  ไม่พอเพียงในการค้นคว้า  จึงได้จัดทำพจนานุกรมอีกสองเรื่อง คือ พจนานุกรมจีน- สันสกฤต-อังกฤษ – ไทย  พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2519  อีกฉบับคือ ศัพทานุกรมพุทธศาสนาไทย-บาลี-จีน  พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ.  2521 สำหรับพจนานุกรมจีน-สันสกฤต-ไทย  นั้นได้ร่างเป็นผลสำเร็จ  ใช้เวลา 3 ปี   ต่อมาได้เพิ่มภาษาอังกฤษอีกภาษา  จึงมีด้วยกัน 4 ภาษา  ใช้เวลาทำกว่า  2 ปี หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ประธานองค์การพุทธศาสนิกาสัมพันธ์แห่งโลก ได้ประทานคำอนุโมทนาไว้ด้วย

        เล่มหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก   เป็นตำราศัพท์บาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต  อันเป็นตำราศัพท์บาลีแปลเป็นไทย  ตั้งชื่อว่า ปทานุกรม  เป็นงานชิ้นเอกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ท่านได้ทรงแปลนิบาตชาดกไว้ 1 เรื่อง  โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์คำนำไว้ด้วย

        ในยุคหลังๆมักเป็นพจนานุกรมพุทธศาสนามากกว่าเป็นพจนานุกรมบาลี-ไทย ดังที่ปรากฏในยุคก่อน  ฉบับหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในหมู่ผู้อ่าน   เป็นประมวลศัพท์ศาสนาสำหรับนักศึกษาและประชาชน  เขียนรวบรวมโดย พันเอกปิ่น  มุทุกัณต  ฉบับที่กล่าวขวัญกันมากเป็น Dictionary  of  Buddhism  โดยสุชีพ ปุญญานภาพ  พิมพ์ในการต้อนรับนักศึกษารุ่นใหม่  อีกฉบับหนึ่งที่มีการพูดถึงอยู่ไม่น้อย คือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม และฉบับประมวลศัพท  แต่พจนานุกรมเหล่านี้แม้บรรจุศัพท์ทางบาลี ก็ไม่มีศัพท์จีน เกาหลี ญี่ปุ่นอยู่เช่นเดียวกับ ศัพท์ที่ควรรู้ของชาวพุทธของเสนาะ ผดุงฉัตร

        ในบรรดาพจนานุกรมที่ออกมานั้น  พจนานุกรมบาลี-ไทย ของพระอุดรคณาธิการ  (ชวินทร์  สระคำ)  และ ร.ศ.จำลอง  สารพัดนึ  เป็นที่กล่าวขวัญมาก  คำขวัญของผู้ประพันธ์ทั้งสองก็คือ ตราบใดที่มีภาษาบาลีอยู่ที่ไหน  พุทธศาสนาก็อยู่ที่นั่น  นอกจากนี้ก็มีพจนานุกรมบาลี-ไทย  ของ แปลก  สนธิลักษณ์ ป.ธ.9 ด้วย  แต่เป็นพจนานุกรมทางภาษามากกว่าพจนานุกรมที่อธิบายคำต่างๆ  จึงคล้ายกับพจนานุกรม บาลี-ไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ   ฉบับที่มีการกล่าวถึงกันมาก เป็นพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม  และฉบับประมวลศัพทของพระธรรมปิฎก (ป.ธ.ปยุตโต)

        หนังสือคำวัด เป็นหนังสือพจนานุกรมเล่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงในหมู่พระสงฆ์และสามัญชน  เขียนขึ้นโดยพระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) เป็นภาษาพูดที่พจนานุกรมทั่วไปมองข้าม โดยมิได้เก็บไว้  เล็งเห็นว่าเป็นคำง่ายๆ เข้าใจกันอยู่แล้ว  แต่คำเหล่านี้มีที่มามากมาย  เป็นสิ่งที่น่าสนใจในตัวของมันเอง  และคนไทยมักเข้าใจผิด คิดว่าถูกต้องแล้วอยู่เสมอๆ

        ส่วนหนังสือของมหาเถระ ท่านพุทธทาส ซึ่งเป็นพจนานุกรมใช้คำไทยและคำบาลีง่ายๆ เช่น กิน กินเหยื่อ เคล็ด เถรส่องบาตร ทำบุญต่ออายุ - ล้ออายุ  โดยอธิบายในเชิงธรรม  เป็นหนังสือกึ่งสารานุกรม กึ่งพจนานุกรม ทั้งนี้เพราะบางคำศัพท์ท่านมิได้แปลตรงตัวตามรูปศัพท์  แต่แปลโดยความหมายและคำอธิบาย เป็นคำพรรณามากกว่าอธิบายโดยศัพท์  พจนานุกรมของท่านพุทธทาสเป็นหลักสดมภ์ในทางพุทธธรรมให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป

        ในบรรดาพจนานุกรมทั้งปวง มีอยู่ฉบับหนึ่งพิมพ์โดยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  ชื่อ ศัพท์หมวดพุทธานุพุทธและศัพท์หมวดธรรม ตำราเล่มนี้เหมาะสำหรับนักเรียนธรรมศึกษาชั้น ตรี โท เอก  กระนั้นก็มีการรวบรวมคัดจัดสรรศัพท์และถ้วยคำค่อนข้างมาก  แต่ไม่สู้จะมีความหมายในการอธิบายเพียงพอ   นอกจากนี้ เป็นการอธิบายเป็นภาษาไทย  ไม่มีการแปลออกเป็นภาษาอังกฤษ

        พจนานุกรมฉบับหนึ่งของ Ven. Nyanatiloka ชื่อ Buddhist Dictionary - A Manual of Buddhist Terms and Doctrines พิมพ์โดย Silkworm Books เริ่มเขียนครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๕๒  เป็นคู่มือที่ไว้วางใจได้ในการศึกษาศัพทานุกรมเถรวาท และสามารถใช้เปรียบเทียบในเชิงภาษาอังกฤษเกี่ยวกับศัพท์พุทธโดยตรง  ท่านผู้นี้เป็นชาวยุโรปที่เข้ามาบวชในศรีลังกา ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๓  นอกจากเรียบเรียงพจนานุกรมแล้ว ท่านได้แปลงานอื่นๆเกี่ยวกับทางพุทธ เช่น Anguttara Nikaya (๕ เล่ม) เป็นภาษาเยอรมัน

        พจนานุกรมพุทธธรรมฉบับนี้ได้รวบรวม  เรียบเรียง จัดทำและแปลเป็นสองภาษา กล่าวคือ ไทย-อังกฤษ และอังกฤษ –ไทย โดยเอาศัพท์และสำนวนต่าง ๆ จากบรรดาหนังสือต่างๆ ดังที่ระบุไว้ในบรรณานุกรม  จึงเป็นงานที่ยุ่งยาก  แต่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้พจนานุกรมฉบับนี้  ผู้รวบรวม  เรียบเรียง  และจัดทำเล่มนี้   เชื่อว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับการศึกษา  อีกทั้งในอนาคตข้างหน้าจะมีการปรับปรุงพจนานุกรมฉบับนี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

นพพร สุวรรณพานิช

 

ความมุมานะพยายาม ตลอดจนอรรถประโยชน์ใดๆจากพจนานุกรมฉบับนี้

ขอมอบให้

สุรพงษ์ ชัยนาม

อดีต เอกอัครราชทูตไทย

และ

อดีตโฆษกกระทรวงต่างประเทศ

 

 

อักษรย่อที่ใช้ในพจนานุกรมเล่มนี้

ABBREVIATIONS USED IN THIS DICTIONARY

 

ก. ……………………………… กิริยา

น. ……………………………… นาม

ว. ………………………………  วิเศษณ์ หรือ วิเสสนะ  คำรวมหมายทั้ง คุณศัพท์ และกิริยาวิเศษณ์

ส. ……………………………… สรรพนาม

a. ……………………………… adjective

adv. …………………......……adverb

cf. ………………………….……confer ; compare

i. e. ………………………..……id est ; that is.

n. ………………………….…… noun

pron. …………………….....…Pronoun

v. …………………………………verb

viz. ………………………...……viderlicet ; namely ;  that is.

b. …………………………………born

BCE. ……………………......…before the common era.

Chin...………........…….……Chinese

Jap. ………………...…… ……Japanese   

 

หนังสืออุเทศ

 

 

 

 

กลับหน้าเดิม

 

 

 

 

hit counter

นับคน . คอม : Realtime counter สำหรับคนไทย