การปฏิบัติ สติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้อง

        การปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ในขั้นต้นนั้น ต้องใช้สติเป็นบาทฐานในการปฏิบัติ  เป็นการฝึกสติและสมาธิในขั้นแรกอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดสมาธิ(ขณิกสมาธิ)แล้วน้อมจิตที่สงบดีอันย่อมมีกำลังแล้วนั้น ไปฝึกสติ หัดใช้สตินั้นพิจารณาสังเกตุศึกษาให้เห็นและรู้เท่าทันต่อธรรม(สิ่ง)ต่างๆตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์ให้ชัดเจนขึ้น เช่นการเห็นกายอย่างปรมัตถ์ดังเช่นเห็นว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยของธาตุ๔ อยู่ใต้อำนาจพระไตรลักษณ์ดังนี้เป็นตน  แล้วดำเนินก้าวต่อไปโดยการใช้สติไปพิจารณาให้รู้เข้าใจอย่างปรมัตถ์และรู้เท่าทันในเวทนา และจิตสังขารต่างๆที่เกิดขึ้น  ตลอดจนใช้พิจารณาและรู้เท่าทันธรรมต่างๆเพื่อให้เกิดภูมิรู้ภูมิญาณเข้าใจในสภาวะธรรมต่างๆอย่างปรมัตถ์ถูกต้อง  เมื่อปฏิบัติดังกล่าวดีแล้วก็ต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วยความเพียร จึงจักถูกต้องและบังเกิดผลสูงสุดขึ้นได้

        การปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ในสมาธิ  หาที่สงัด  ตั้งกายให้ตรง  ดำรงจิตให้มั่นนั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เกิดผลคือมีสติและสมาธิเพื่อพิจารณาให้เข้าใจใน กาย เวทนา จิต และธรรมอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง(ปรมัตถ์)  ก็เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงๆอีกครั้งในขณะดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน๔ในสมาธิเท่านั้น  คือต้องนำไปฝึกฝนอบรมอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันจนเป็นมหาสติ หรือเป็นดังเช่นสังขาร(ในปฏิจจสมุปบาท)แต่มิได้เกิดแต่อวิชชา,  กล่าวคือเมื่อปฏิบัติโดยถูกต้องและประจำสมํ่าเสมอ จิตจะเริ่มกระทำตามสังขารที่ได้สั่งสมอบรมไว้เองโดยอัติโนมัติในชีวิตประจำวัน  นั่นแหละมหาสติหรือสังขารธรรมอันถูกต้อง เป็นจุดมุ่งหมายอันสูงสุดในการปฏิบัติสติปัฏฐาน๔

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

        ขณะดำเนินชีวิตประจำวันนั้น จะมีสิ่งต่างๆมากระทบผัสสะตลอดเวลา เมื่อธรรมใดมากระทบและรู้เท่าทันก่อนก็ให้ปฏิบัติธรรม(กาย เวทนา จิต ธรรม)นั้น  เพราะธรรมหรือสิ่งที่มาผัสสะนั้นมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ตลอดจนจริตของนักปฏิบัติเอง จึงมีความชำนาญชํ่าชองในการเห็นการรู้ในธรรมทั้ง๔ที่แตกต่างกันออกไปตามจริตและสังขารที่ตนได้สั่งสมไว้นั่นเอง  และธรรมทั้ง๔นั้นเมื่อเห็นและรู้เท่าทันก็ล้วนมีคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น ดังนั้นในการดำรงชีวิตประจำวันแล้วมีสติเห็นในธรรมใดก่อนก็ได้ เพราะล้วนเกิดคุณประโยชน์ในการดับทุกข์ทั้งสิ้น  ดังเช่น

        รู้เท่าทันกาย  เพื่อทำให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในกาย   พิจารณาหรือรู้เท่าทันอย่างอื่นหรือจะสู้กายเราอันเป็นที่รักที่หวงแหนเป็นอย่างที่สุดแต่มักไม่รู้ตัวจนกว่าจะประสบภัยพิบัติหรือทุกข์ทางกายการเจ็บป่วยไข้มากระทบ,    เมื่อระลึกรู้ตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์ด้วยว่า  ล้วนสักแต่ธาตุ๔  หรือสิ่งปฏิกูล ล้วนต้องเน่าเสีย คงทนอยู่ไม่ได้ ควบคุมบังคับไม่ได้ตามปรารถนา เป็นไปเพื่ออาพาธเจ็บป่วย ฯลฯ.   เกิดการระลึกรู้หรือเห็นดังนี้จนชํ่าชอง เช่น ส่องกระจกก็รู้เท่าทัน  ห่วงกายก็รู้เท่าทัน เห็นกายภายนอกเช่นเพศตรงข้ามที่ถูกใจก็รู้เท่าทัน ฯลฯ. ว่าสักแต่ว่ากายอันล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย,ไม่เที่ยงดั่งนี้เป็นต้น  แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง  ก็จะเห็นการดับในที่สุด

        รู้เท่าทันเวทนา เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในเวทนาความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า สักแต่เกิดแต่เหตุปัจจัย มันต้องเป็นเช่นนั้นเอง แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเวทนาความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นและไม่เข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเห็นการเกิด การดับได้ด้วยตนเอง เช่น เห็นรูปที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ, ได้ยินเสียง(คำพูด)ที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เห็นอาหารที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ  ก็ย่อมต้องเกิดความรู้สึก(เวทนา)ต่อสิ่งนั้นๆเช่นนั้นเอง ฯลฯ. เมื่อเข้าใจว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยและรู้เท่าทันจนชำนาญ จิตเมื่อเห็นความจริงการเกิดการดับและเพราะเหตุปัจจัยเช่นนี้บ่อยๆและเร็วขึ้นว่า สักแต่ว่าเวทนาเป็นดังนี้เอง ก็จักเกิดนิพพิทาในเวทนาต่างๆเหล่านั้นในที่สุด

        รู้เท่าทันจิต  เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในจิตสังขาร(ความคิด ความนึก ความรู้สึกต่างๆ) เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า สักแต่เกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์ เป็นสังขารต่างๆทางใจเกิดขึ้นเช่น ความรู้สึกโทสะ(โกรธ) โลภ หลง หดหู่ ดีใจ เสียใจ ต่างๆ  เมื่อเห็นว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย มันต้องเป็นเช่นนั้นเอง แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเห็นการเกิด การดับได้ด้วยตนเอง และเร็วขึ้นเป็นลำดับ จิตเมื่อเห็นความจริงเช่นนี้บ่อยๆสักว่าจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัยเช่นนี้เอง ก็จักเกิดนิพพิทาในจิตสังขารความคิดปรุงแต่งเหล่านั้นในที่สุด

       รู้เท่าทันธรรม  เพื่อให้เกิดนิพพิทาและภูมิรู้ภูมิญาณตลอดจนระลึกรู้เท่าทันความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆได้อย่างปรมัตถ์นั่นเอง  เมื่อเกิดกาย เวทนา หรือจิตตามข้างต้น หรือเกิดเห็นธรรมะใดๆก็หยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรือคิดนึกพิจารณาในสิ่งเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างปรมัตถ์  การคิดนึกดังนี้ไม่ใช่การคิดนึกปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดทุกข์  แต่เป็นคิดนึกที่จำเป็นในการดับทุกข์อย่างยิ่ง เช่นเห็นทุกข์หรือรู้ว่าเป็นทุกข์ก็รู้ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยใด(เห็นปฏิจจสมุปบาท),  เห็นความไม่เที่ยง(เห็นพระไตรลักษณ์) ดังนี้เป็นต้น

ดังมีพุทธพจน์ดำรัสไว้ในตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้ว่า

ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ ด้วยความเพียร ตลอด ๗ วัน หรือ.......๗ปี

เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือ

เมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ฯ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์ โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ฉะนี้แล   คำที่เรากล่าวดังพรรณนามาฉะนี้ เราอาศัยเอกายนมรรคกล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ยินดี ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนี้แล ฯ

 

           

 

กลับสารบัญ

 

 

 

 

 

hit counter

นับคน . คอม : Realtime counter สำหรับคนไทย