คลิกขวาเมนู

        อวิชชา คือความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาวะเป็นจริงตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์และการดับทุกข์  ความไม่รู้นี้ครอบคลุมถึง "ไม่รู้เท่าทันหรือสติ และการไม่นำไปปฏิบัติด้วย" ด้วย  หรือความไม่รู้แจ้งแทงตลอดและไม่ปฏิบัติในอริยสัจ๔ และปฏิจจสมุปบาท หรือ อวิชชาทั้ง๘ ตามความเป็นจริง

        กล่าวอย่างง่ายๆก็คือ  สรรพสัตว์ทั้งหลายกำเนิดเกิดขึ้นมาพร้อมด้วยอวิชชา(ความไม่รู้,รวมทั้งไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง)โดยธรรมชาติอันมีพร้อมกับการเกิด  จึงย่อมต้องดำเนินและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทล้วนสิ้น   เพราะวิชชาเป็นสิ่งที่ต้องสังขาร(ต้องปรุงขึ้น)ทำให้เกิดขึ้น  ต้องสั่งสม   ต้องทำให้เจริญยิ่งๆขึ้น   มิใช่เกิดขึ้นมาได้เอง   จึงเป็นการสังขารสั่งสมทั้งทางด้านปัญญา ศีล สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จนเกิดสัมมาญาณ(ปัญญาอันยิ่ง)อันเป็นมรรคองค์ที่๙ (สัมมัตตะ๑๐) จึงจะเกิดสัมมาวิมุตติขึ้นได้ อันคือ สุขจากการหลุดพ้นอันเป็นมรรคองค์ที่๑๐

        อวิชชา อันคือ ไม่มีความรู้ ความไม่เข้าใจ และไม่รู้เท่าทันในเหตุปัจจัยอันเป็นสภาวะธรรม(ธรรมชาติ)ของทุกข์ และการดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ตามความเป็นจริง  อันคือความไม่รู้  ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอด ไม่รู้เท่าทัน(สติ) ในการดับทุกข์ เพราะอวิชชา๘ อันมีดังนี้

        ๑.ความไม่รู้ในเรื่องทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ดับสนิทอันหมายถึง อุปาทานทุกข์ อันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลน หรือก็คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อันเกิดแต่เหตุปัจจัยที่อาศัยซึ่งกันและกันจึงยังให้เกิดขึ้นได้    จึงทําให้การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเป็นจริง  เช่น พยายามในสิ่งที่ยึดแต่เข้าใจผิดๆ อันทําให้ไม่สามารถปฏิบัติได้ เช่น เข้าใจผิดว่าทำบุญทำกุศลหรือปฏิบัติธรรมแล้วจักไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีโรค ไม่มีภัยใดๆ มีแต่โชค ลาภ วาสนา มีเทวดา บุญกุศลคอยคํ้าจุนเกื้อหนุน,   แต่ตามความเป็นจริงแล้วกลับเป็น เหตุแห่งทุกข์นั้นยังคงมีอยู่เพราะเป็นสภาวะธรรมเป็นทุกขสัจจ์  แต่ไม่มีผู้รับ(หมายถึงจิต)ผลทุกข์นั้น หมายความว่าไม่เป็นทุกข์ทางใจอันเร่าร้อนเพราะประกอบด้วยอุปาทาน  หรือที่เรียกว่าสภาพ "เหนือกรรม" จึงจักเป็นการเข้าใจที่ถูกต้องดีงาม

        คือไม่เข้าใจว่าทุกข์นั้น มีทั้งที่เป็นทุกข์ธรรมชาติหรือทุกขสัจจ์ที่เป็นสภาวะธรรม จึงมีความเที่ยงเป็นธรรมดา ดังเช่น  ความเกิด,  ความแก่,เจ็บ,  ความตาย,  การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ที่ถูกใจ,  การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ถูกใจ,  การปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์กาย โทมนัส อุปายาส เหล่านี้เป็นทุกขสัจจ์  อีกทั้งเวทนาต่างๆ ยังคงต้องเกิดมีเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดา จึงไม่สามารถดับให้สูญไปได้  แต่กลับไปพยายามปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ธรรมชาติหรือทุกขสัจจ์เหล่านี้ จึงย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยเป็นสภาวธรรม(ชาติ) จึงเป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดา เป็นทุกขสัจจ์,   ตามความเป็นจริงและถูกต้องนั้น ต้องปฏิบัติอย่างไร อย่าให้ทุกขสัจจ์เหล่านี้แปรปรวนไปด้วยอำนาจของตัณหา anired06_next.gif อุปาทาน จนกลายเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรืออุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน  ได้แก่การมีสติระลึกรู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง  และยังต้องมีปัญญาเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านั้นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงในธรรมนั้นๆ จึงปล่อยวาง ไม่พัวพัน ไม่ปรุงแต่ง อุเบกขาเสีย

         ทุกข์ธรรมชาติเหล่านั้นอันรวมทั้งทุกขเวทนาทั้งหลายนั้นก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งจริงๆเช่นกัน   เพียงแต่ว่าธรรมชาติเดิมแท้ของทุกข์ธรรมชาตินั้นไม่มีความเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายด้วยไฟของกิเลสตัณหาอุปาทาน  เมื่อเกิดขึ้น  ตั้งอยู่อย่างจางคลายไป  และเนื่องจากขาดเหตุปัจจัยให้เกิดสืบเนื่องต่อไปอีก จึงดับไปในขณะจิตหนึ่งๆ   แต่ที่ปุถุชนมีความรู้สึกเป็นทุกข์กันอยู่อย่างยาวนานและเร่าร้อนนี้ อันแท้จริงแล้วล้วนเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรืออุปาทานทุกข์ทั้งสิ้น  แต่เพราะอวิชชาจึงไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานทุกข์ กลับไปคิดว่าเป็นทุกข์ธรรมชาติเสียอีก (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)

        ทุกขสัจจ์หรือทุกข์ธรรมชาติยังมีอยู่เป็นธรรมดา  แต่ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์  คือไม่มีตัณหา(คืออกุศลสังขารขันธ์ เช่นโลภะ โทสะ โมหะ ฯ.)ที่หมายความว่าแม้ตัณหาเกิดขึ้นได้แต่ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่พัวพัน ไม่ปรุงแต่ง หรืออุเบกขา จึงไม่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการสืบเนื่อง ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานขันธ์ ๕ หรืออุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนวนเวียนเป็นวงจรของทุกข์ขึ้น

        ๒.ความไม่รู้สมุทัย ว่าเหตุให้เกิดทุกข์มาจาก ตัณหา อันครอบคลุมอกุศลสังขารขันธ์ เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน ฯ. อันล้วนคือตัณหา จึงไม่ใช่ความปรารถนา ความติดใจอยาก ความใคร่ ความเสน่หา แต่เพียงอย่างเดียว  เมื่อไม่รู้สมุทัยจึงไปคิดนึกค้นหาเหตุอื่นใดว่าเป็นเหตุ เช่น พยายามดับรูป ดับนาม ดับเวทนา กันไปต่างๆนาๆเพราะคิดว่าเป็นเหตุ,   หรือโทษกรรมเก่าในชาติก่อน(วิบากกรรม)อันแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆไม่ได้แล้ว อันไม่มีคุณประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น แทนที่จะไปแก้ที่เหตุ  อันรังแต่ก่อให้เกิดอุปาทานขันธ์๕ อันเป็นอุปาทานทุกข์ (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)  

        อีกอย่างที่ผิดพลาดกันมากจนไม่ประสบผล คือพยายามหาวิธีดับตัณหาไม่ให้เกิด ไม่ให้มี ไม่ให้เป็น หรือพยายามดับตัวตัณหาตรงๆดื้อๆดังปิดเปิดไฟ  อันย่อมไม่สามารถทำได้ เพราะตัณหาเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งชนิดอกุศลสังขารขันธ์ เป็นขันธ์เป็นสภาวธรรมและเป็นอนัตตา ควบคุมบังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้  จึงต้องใช้วิธีปล่อยวาง ไม่พัวพัน ไม่ปรุงแต่ง หรืออุเบกขาเสีย  ตัณหานั้นจึงนับว่าดับไป,  ดับไปที่มีความหมายว่า ไม่สามารถไปเป็นเหตุก่อคือเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานขันธ์ขึ้นนั่นเอง จึงเป็นการดับตัณหาที่ถูกต้อง

        ๓.ความไม่รู้จักนิโรธ เป็นเช่นใด ไม่เคยสัมผัสสภาวะไม่ปรุงแต่ง คือว่างจากกิเลสตัณหาอันยังให้ใม่เกิดอุปาทานทุกข์  มีความสงบสุขใจเยี่ยงไร,  หรือเข้าใจผิดไปยึดเอาผลความสุขสงบสบายอันเกิดแต่อำนาจสมาธิหรือฌานเป็นสภาวะนิโรธ อันเป็นเพียงวิกขัมภนวิมุตติ อันยังกลับกลายหายสูญได้,  ด้วยไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้ว จักเป็นสุขใจสุขกายเยี่ยงใดจากการขาดการปรุงแต่ง?  คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม?   มีจริงหรือเปล่า?   ทําให้มีความสงสัยอยู่ลึกๆแบบแอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิตตลอดมา  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)

        ๔.ความไม่รู้มรรค ไม่รู้ทางปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ ควรปฏิบัติอย่างไร?, ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ,  ปฏิบัติไม่ถูก, ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน?,  ทําตัวไหนก่อน?  โดยไม่รู้ว่าเป็นการปฏิบัติให้ถึงขั้นปัญญา อันเป็นมรรคองค์ที่ ๙ โดยอาศัยมรรคทั้ง ๘ เป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลกันเป็นลำดับ ให้เกิดสัมมาปัญญาคือมรรคองค์ที่ ๙ เพื่อเป็นเหตุปัจจัยเครื่องหนุนให้เกิดสัมมาวิมุตติคือ มรรคองค์ที่ ๑๐ คือสุขจากการหลุดพ้น  หรือสัมมัตตะ ๑๐

        ๕.ความไม่รู้อดีต คือ อดีตที่มีความหมายว่า ในเบื้องต้น ความไม่รู้อดีตจึงหมายถึง ความไม่รู้ในเบื้องต้น ที่หมายถึง การไม่รู้เหตุ (ของการเกิดขึ้นของทุกข์) การไม่รู้แต่เบื้องต้นว่าทุกข์เกิดขึ้นจากอะไร  หรือกล่าวได้ว่ายังไม่เกิดปัจจัยปริคคหญาณ จึงไม่รู้อดีตคือเบื้องต้น คือไม่รู้ว่า "ธรรมใดเกิดแต่เหตุ"

         ๖.ความไม่รู้อนาคต คือ อนาคตที่มีความหมายว่า ในเบื้องปลาย จึงหมายถึง การไม่รู้ผล (ของทุกข์ที่จะเกิดขึ้น)  เพราะความที่ไม่เข้าใจว่าจัก เกิดผลเยี่ยงไรขึ้น  ก็เพราะความไม่เข้าใจแต่ในเบื้องต้น(อดีต)คือเหตุแล้วว่า เกิดแต่เหตุอะไร  จึงย่อมไม่รู้ว่าดับเหตุอะไรอย่างไร เพื่อไม่ให้ผลเกิดขึ้น คืออะไรเป็นเหตุที่จะต้องดับไปเพื่อการดับทุกข์  เพราะไม่รู้อิทัปปัจจยตาและปัจจัยปริคคหญาณนั่นเอง กล่าวคือไม่รู้ว่า"เมื่อเหตุดับ ธรรมหรือผลนั้นก็ดับ" นั่นเอง

        ๗.ความไม่รู้ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต  ไม่รู้ทั้งเบื้องต้นคือเหตุ  และเบื้องปลายคือผลที่จะได้รับ ย่อมไม่รู้ความเป็นเหตุผัจจัย จึงย่อมไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นการเกิดขึ้นของทุกข์ ที่อาศัยเหตุปัจจัยหนึ่ง เป็นปัจจัยให้เกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้น สืบต่อไป เป็นลำดับสืบเนื่องกันไปจนเกิดทุกข์ชนิดที่ประกอบด้วยอุปาทาน หรืออุปาทานขันธ์ ๕

        ๘.ความไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท เมื่อไม่รู้ทั้งเหตุ อีกทั้งผล ทั้งเหตุปัจจัย ก็ย่อมไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท อันอาศัยเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันไปจนเกิดทุกข์  เมื่อไม่ทราบ,ไม่รู้ธรรมชาติของทุกข์ คือ ไม่รู้กระบวนธรรมการเกิดขึ้น และการดับไปแห่งทุกข์ คือ ไม่รู้ในธรรมข้อที่ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งกัน อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้ตามหลักอิทัปปัจจยตา  เมื่อกําจัดเหตุปัจจัยบางประการเสียได้ ย่อมทําให้ธรรมนั้นไม่ครบองค์หรือขาดสมดุลย์ คือขาดแแรงบีบคั้นให้เกิดการประชุมปรุงแต่งกันขึ้น   อุปาทานทุกข์หรือธรรมนั้นๆก็ย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้  (เป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา)

        วิชชานี้ไม่ใช่วิชาความรู้ทั่วๆไปในทางโลกๆที่เรา เล่าเรียนศึกษากัน เป็นวิชาทางพุทธศาสตร์ในการดับทุกข์ อันไม่เกี่ยวเนื่องใดๆกับวิชาความรู้ในทางโลกทั้งหลาย  ดังจักเห็นได้ว่าในบางคนนั้นวิชาทางโลกนั้นสูง แต่กลับเต็มไปด้วยอวิชชาและความทุกข์  

        หรือเราอาจจักกล่าวได้ว่า อวิชชาก็คือความไม่รู้และไม่ปฏิบัติเพื่อละ ตัณหา,อุปาทานที่นอนเนื่องอยู่ในจิต(หมายความว่ายังไม่แสดงอาการหรือฤทธิ์ออกมา) และยังไม่มีวิชชาความรู้ความเข้าใจในการดับทุกข์มากําจัดมันออกไป จึงเรียกความไม่รู้ไม่เข้าใจนี้ว่าอวิชชา (หรือเพื่อให้เห็นเป็นภาพพจน์ที่ชัดเจนขึ้นอีกอาจกล่าวได้ว่า  คือตัณหาและอุปาทานในจิตใต้สํานึกที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิต ดังนั้นอวิชชาจึงทำหน้าที่คล้ายดั่งตัณหาที่นอนเนื่อง  ส่วนตัณหาและอุปาทานในขบวนปฏิจจสมุปบาทกองธรรมที่ต่อจากเวทนานั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นตัณหาหรืออุปาทานเฉพาะกิจหรือจรคือเกิดขึ้นในขณะจิตนั้นๆ   หรือตัวย่อยๆที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในปัญหานั้นๆ  ซึ่งเมื่อเรานําออกและละเสียอยู่เรื่อยๆ  อวิชชาหรือตัณหาอุปาทานหลักที่นอนเนื่องก็จักอ่อนแรงลง และหมดลงเช่นกัน

         อาสวะกิเลส  เหล่านี้อันมี

    ๑. โสกะ ความโศก โศรกเศร้า แห้งใจ หดหู่ใจ โศรกเศร้าจากการเสื่อมหรือสูญเสียต่างๆเช่น โศกเศร้าของผู้ที่เสื่อมสุข เสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกี่ยวด้วยโรค เสื่อมศีล เสื่อมทิฏฐิ เสื่อมยศ ฯลฯ.

    ๒. ปริเทวะ ความครํ่าครวญ โหยหา รํ่าไรรําพัน พิรี้พิไรรําพัน  อาการของความอาลัยอาวรณ์คิดคํานึงถึงในสุขหรือทุกข์ในอดีตที่เสื่อมหรือสูญเสียไปแล้ว เช่นโหยหา, อาลัย, ครํ่าครวญถึงสุข, ความสนุก, ญาติ, ทรัพย์, เกียรติ ฯลฯ.ที่เสื่อมหรือดับไปแล้วแต่อดีต อันอยากให้เกิดหรือไม่อยากเกิดขึ้นอีก   

    ๓. ทุกข์ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สบายกายทั้งหลาย ความจดจําได้ ความกลัว ในความเจ็บปวด ความป่วยไข้ การบาดเจ็บ

    ๔. โทมนัส เศร้าใจ เสียใจ ความทุกข์ทางจิต ความไม่สําราญทางจิต อารมณ์ไม่ดีเป็นทุกข์ หดหู่ เศร้าหมอง เกิดแต่ไม่ได้ตามใจปรารถนา

    ๕. อุปายาส ความขุ่นเคือง คับแค้นใจ ขุ่นข้อง เช่น ความโกรธ ความอาฆาต พยาบาท ขุ่นเคือง หรือเกิดจากความคับแค้นใจหรือถูกเบียดเบียน รังแก เอาเปรียบ หรือไม่ได้ดังใจปรารถนา

        อาสวะกิเลสที่เกิดจากความทุกข์เหล่านี้ที่หมักหมม นอนเนื่อง ซึมซ่าน ย้อมจิต เป็นตัวกระตุ้น เร่งเร้า ขับไส ผลักดันเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันร่วมกับอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริง  กระตุ้นสังขารให้ผุดขึ้นหรือเจตนาขึ้นมาอันเป็นเหตุปัจจัยอันก่อให้เป็นทุกข์  ปล่อยให้เป็นไปจนเป็นทุกข์ตามขบวนการเกิดของทุกข์ในปฏิจจสมุปบาท(ดูภาพการเป็นเหตุปัจจัยร่วมกัน)  อันจักหมุนดําเนินต่อไปไม่รู้จักจบ จักสิ้น เนื่องจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจจึงหยุดวงจรแห่งทุกข์นั้นไม่ได้,  และเหล่าอาสวะกิเลสเหล่านี้จะหมักหมม นอนเนื่องอยู่ในจิต ตามปกติจะมองไม่เห็นเช่น โกรธเกลียดใครอยู่คนหนึ่ง และไม่พบกันเป็นเวลานานๆ  เมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็นเวลาหลายปีเมื่อมาเจอกันอีก อาสวะกิเลส(อุปายาส-ความขุ่นข้อง คับแค้นใจ)ที่นอนเนื่องสงบอยู่ จนไม่เคยคิดว่ายังมีอยู่  จะเกิดขึ้นทันที เปรียบได้ดั่งนํ้าที่แลดูใสสะอาดแต่มีตะกอนนอนก้นอยู่ เมื่อมีสิ่งใดมากวนก็จะฟุ้งกระจายขึ้นมาแสดงความไม่บริสุทธิ์ให้เห็นทันที    แต่มันไม่จบแค่นั้น มันร่วมเป็นปัจจัยกับอวิชชาความไม่รู้ให้ทํางานเริ่มวงจรของทุกข์...เริ่มสังขารในปฏิจจสมุปบาท เช่นความคิดที่เป็นทุกข์ ก่อทุกข์ใหม่ขึ้นอีกครั้ง ให้เป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอีก,  นอกจากตกตะกอนนอนเนื่องแล้วยังมีแขวนลอยเป็นเชื้อโรคอยู่ในจิตเฉกเช่นเดียวกับนํ้า ที่มีทั้งแขวนลอยและตกตะกอน อาการพวกแขวนลอยได้แก่มีอาการหดหู่ หงุดหงิดมีโทสะกรุ่นๆโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ขุ่นมัว เศร้าหมอง   มักไม่เห็นเหตุที่เกิด นอกจากใช้ตาปัญญาเท่านั้น  อาการอย่างนี้เป็นได้นานๆมาก ล้วนเป็นผลมาจากพิษภัยอันร้ายกาจของอาสวะกิเลส  และเพราะอาสวะกิเลสนั้นก็เป็นสภาวะธรรมชาติที่เกิดจากความจํา(สัญญา)ดังนั้นจึงคงมีอยู่อันเป็นสภาวะธรรม(ชาติ),  เราจึงจําเป็นต้องมีวิชชาไม่ปล่อยไปตามอาสวะกิเลสนั้นๆ จนกว่าจักสิ้นอาสวะกิเลส(หมายถึงดับกิเลสโดยสัญญาจํายังมีอยู่  แต่ไม่มีผลใดๆต่อสภาวะจิตใจเนื่องจากเข้าใจสภาวะธรรมระดับสูงสุดแล้ว)เป็นการถาวร  ดั่งนี้ท่านคงเห็นแล้วอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรม(ชาติ)นั้นเป็นตัวสําคัญที่สุด เข้าใจยาก กําจัดยาก  พระพุทธองค์จึงทรงจัดไว้ลําดับสุดท้ายใน สังโยชน์ ๑๐ (ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์)ที่ต้องกําจัดก่อนถึงนิโรธ

        แล้วธรรมอันใดเล่าที่เราจักนําไปใช้ในการปราบพญามารนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนแล้วในอริยสัจ๔ คือ มรรค๘ ทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์(ดูอริยสัจ) อันจักต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรค ๑๐ ในที่สุด (มรรคเพื่อการปฏิบัติมี๘ เพื่อยังให้เกิดมรรคมีองค์๑๐ของพระอริยเจ้า)    ซึ่งจะขอเน้นองค์ธรรมที่สําคัญที่ใช้เป็นหัวกระบวนรบนี้ "โลกุตรสัมมาทิฏฐิ หรือ สัมมาญาณ อันเป็นมรรคองค์ที่๙  ซึ่งจะยังให้เกิดมรรคองค์ที่๑๐ อันคือ สัมมาวิมุตติอันคือสุขจากการหลุดพ้น(นิโรธ,นิพพาน)ของเหล่าพระอริยเจ้า" นั่นเอง    ก่อนอื่นต้องขอกล่าวซํ้ากับเรื่องที่พูดในขันธ์๕เรื่องเวทนาไปแล้ว องค์ธรรมนี้ไม่ใช่องค์ธรรมในระดับศีล และธรรม หรือทางโลกทั่วๆไป(โลกียธรรม) เพราะอวิชชานั้นกล้าแกร่ง ต้องเป็นระดับโลกุตตระคือระดับเหนือโลก(มิได้หมายถึงอิทธิฤทธิ์)อันหมายถึงรู้เข้าใจตามสภาวะเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ  ชึ่งจักบังเกิดขึ้นได้โดยวิธีโยนิโสมนสิการ หรือธรรมะวิจยะเท่านั้น คือการพิจารณาโดยละเอียดและแยบคายอันมีสติและสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน  ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการอ่าน การฟัง หรือเชื่อตามโดยศรัทธาฝ่ายเดียว  ต้องเอาธรรม(ธรรมชาติ)เป็นข้อพิจารณาโดยตรงจนเชื่อมั่นชนิดถึงใจ กระแทกใจ เข้าไปอย่างลึกซึ้งถึงที่สุด กล่าวคือ จนเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปเยี่ยงนั้นด้วยเหตุด้วยผลจริงด้วยตนเองเท่านั้น จึงจักกําหราบอวิชชาพญามารนี้ได้  เพราะในภาวะนี้เท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนทัศนะคติ ความเชื่อ ความยึดถือ อุดมคติเดิมๆ  ดังเช่น ทิฏฐปุาทานความยึดมั่นตามความเชื่อความเข้าใจของตัวของตน  หรือสีลัพพตปาทานการเชื่อการปฏิบัติตามที่ยึดถือสืบต่อๆกันมา  ที่มีและสั่งสมมาตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน หรือนานเสียจนไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้นให้คลายดับไป   เป็นการเชื่อหรือเข้าใจอย่างถูกต้องดีงามตามธรรมนั้นๆ   จึงจักสามารถปราบอวิชชานี้ได้อย่างเด็ดขาด  มิใช่ใช้การกด,ข่มไว้ อย่างการใช้กำลังสมาธิกดข่มไว้ ซึ่งไม่เป็นการถาวร  อันอุปมาดั่งหินทับหญ้า เมื่อยกหินออกเมื่อใดก็จักงอกงามขึ้นมาใหม่ ไม่เป็นไปเพื่อการกําจัดไปอย่างถาวรสิ้นเชิง,  ดั่งนี้จึงจักเกิดความมั่นคงดุจหินผาในคุณธรรม เป็นนิรันดร์ตลอดไป

        ข้าพเจ้าคงจะเขียนแนะแนวได้อย่างหยาบๆเท่าที่พอรู้อยู่บ้างเท่านั้นอันล้วนบังเกิดขึ้นโดยการพิจารณาธรรม(ธรรมะวิจยะ)โดยการโยนิโสมนสิการ(พิจารณากระทําในใจโดยละเอียดและแยบคาย), ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อหาทางพ้นทุกข์เช่นกันโดยศึกษาจากหนังสือต่างๆของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล, ท่านพุทธทาส, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย  และโดยเฉพาะหนังสือ "พุทธธรรม"ของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), ท่านหลวงปู่เทสก์เทสรังสี .....ฯลฯ  จนใคร่ขอกราบแทบเท้าของปูชนียบุคคลของข้าพเจ้าไว้ ณ.ที่นี้ด้วย, ท่านทั้งหลายนี้ได้ช่วยแนะแนวจนข้าพเจ้าเกิดปัญญาพอนําไปใช้แก้ทุกข์ทางโลกทั้งหลาย จนมีความสุขสบายใจพอสมควร ชื่นอกชื่นใจในรสพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โปรดประทานธรรมอันยิ่งใหญ่นับแต่โลกนี้อุบัติมา เพื่อโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตกอยู่ในห้วงสมุทรแห่งทุกข์  และแก่นธรรมของพระองค์สามารถปฏิบัติได้จริง  เป็นวิทยาศาสตร์ชั้นสูงโดยแท้  ไม่ใช่ของงมงาย  ไม่ใช่ไสยศาตร์  ไม่ใช่เวทมนต์  ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์  หรือล้าสมัย อย่างที่เข้าใจและคิดในตอนแรก  ไม่ใช่ของเกินเอื้อมหรือเป็นแค่ทฤษฎีหรือปรัชญาจนปฏิบัติไม่ได้ตามความคิดที่เคยยึดถือ เคยเข้าใจจากการฟัง จากการอ่าน จากการปรุงแต่งฟุ้งซ่านมาอย่างผิดๆงมงาย  ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดบันทึกธรรมเล่มนี้ของข้าพเจ้าขึ้นมา เพื่อเผยแผ่ธรรมบางประการที่ข้าพเจ้าพอจักเข้าใจอยู่บ้าง เพื่อเกื้อกูลกัลยาณมิตรนักปฏิบัติและผู้ใฝ่ในธรรมเพื่อการดับทุกข์  และเป็นการตอบแทนพระคุณของพระพุทธศาสนา

        การปฏิบัตินี้ข้าพเจ้าเขียนตามภพภูมิความเข้าใจของข้าพเจ้าล้วนๆเป็นหลัก  อาจแปลกตาหรือแปลกใจท่านบ้าง แต่ก็ยืนอยู่ในหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมั่นคง  ท่านต้องไปแยกพินิจพิจารณาโดยวิธีโยนิโสมนสิการ ตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะในกาลามสูตร  สิ่งใดท่านพิจารณาโดยละเอียด และแยบคาย(ฉลาดในธรรม)แล้ว เห็นว่าถูกต้องก็เก็บไว้ สิ่งใดไม่ดีขัดกับความเข้าใจของท่านก็ทิ้งไป  แต่ขอให้ทิ้ง มานะ และ ทิฏฐุปาทานลงเป็นการชั่วคราว (ท่านต้องพยายามจริงๆเพราะมานะนี้และทิฏฐุปาทานนี้ บุคคลที่จักละได้สิ้นมีแต่อริยสาวก ระดับพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉนั้นโปรดพยายามใช้สติระงับไว้ชั่วคราว) ให้พิจารณาโดยใช้ข้อธรรมในข้อ อุเบกขา (เห็นเข้าใจตามความเป็นจริง โดยวางใจเป็นกลาง) ใน สัมโพชณงค์๗  วางความเชื่อ ความเข้าใจ ความรู้เดิมๆไว้ชั่วขณะ แล้วประโยชน์อันสูงสุดจักบังเกิดแก่ท่านเป็นอัศจรรย์

        อนึ่งท่านที่ปฏิบัติสมถะสมาธิและวิปัสสนามาจนแก่กล้าแล้ว แต่ยังมีปัญหา คือ ไม่คืบหน้าไปตามสมควร อย่าโกรธหรือท้อแท้ แต่สํารวจตัวท่านเองอย่างละเอียดถ่องแท้อันไม่มีใครทราบได้นอกจากท่านคนเดียว  ขออย่าได้เอาความรู้สึกที่ว่าดี, ดีสุดยอดแล้ว ดีอยู่แล้ว มาร่วมด้วยโดยเด็ดขาด ขอให้ขาดจากความรู้สึกเชื่อมั่น ยึดมั่น ว่าดีแล้วดังกล่าวชั่วขณะ

        จริงๆแล้วสัมมาทิฎฐิ และ สัมมาดําริ(สังกัปปะ)ในมรรคองค์๘มันทํางานสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอด ไม่สามารถแยกแยะออกจากกันโดยเด็ดขาด ถ้าเราพยายามไปแยกหรือกังวลกลัวปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเร็วอาจจะทําให้ติดขัดได้ จะเห็นชอบก็ต้องมีดําริชอบก่อน จะมีดําริชอบก็ต้องมีเห็นชอบ จะคล้ายปัญหาไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน ต่างทํางานประสานร่วมกัน แต่ถือว่าสัมมาทิฎฐิเป็นตัวฐานกําเนิดของมรรค๘ ตามพุทธพจน์ ดังกล่าวไว้ในเรื่องมรรคในอริยสัจ  แต่ในระดับที่ต้องการพ้นทุกข์นั้นจําเป็นต้องใช้ในระดับโลกุตตระ

        โลกุตตรสัมมาทิฎฐิ หรือสัมมาญาณ คือ ปัญญาชอบ ความเห็นชอบ เข้าใจชอบอย่างถูกต้องอย่างแยบคาย เห็นตามความเป็นจริงตามสภาวะธรรม(ชาติ)แท้ๆ โดยอุเบกขา(ใจเป็นกลาง)ในระดับเหนือโลกคือพ้นจากอํานาจของกิเลส ตัณหาตลอดจนทัศนคติ ความเชื่อเดิมๆ  มาเจือปนให้เกิดอคติใดๆ,  เห็นชอบ เข้าใจชอบในอวิชชา  ต้องทราบว่าตัวอวิชชามีอยู่ในจิตแบบใด ทํางานอย่างไรดังได้อธิบายไว้โดยสังเขปเบื้องต้น  เปรียบประดุจ ช่างยนต์ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกต่างๆอย่างดีจึงจักสามารถซ่อมเครื่องยนต์ได้  ถ้าท่านไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์อาจจะต้องรื้อหมดยกเครื่องทั้งคัน ทั้งๆที่แค่นมหนูในคาบิวเรเตอร์ตันเพียงเอาลมเป่าก็จบแล้ว  เช่นเดียวกันท่านต้องเข้าใจในอวิชชาว่าทํางานอย่างไร(ศึกษาจากปฏิจจสมุปบาทมีกล่าวถึงกระบวนการทํางานของทุกข์ไว้) เมื่อท่านศึกษาแล้วจะรู้จะเข้าใจว่า มันเนื่องมาจากความทุกข์(อุปาทานทุกข์)ที่ก่อให้เกิดอาสวะกิเลส   อันเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชา แล้วเป็นไปตามกระบวนการเกิดทุกข์ คือ เกิดตัณหา และอุปาทานตัวใหญ่สุด,ประณีตที่สุด,ละเอียดที่สุด  กล่าวได้ว่าเป็นหัวหน้าพญามารของมารทั้งหลายทั้งปวง,   เห็นและเข้าใจในโทษอันมหันต์ของอวิชชา  กล่าวได้ว่าความทุกข์ทั้งหลายทั้งมวลตั้งแต่เราอุบัติขึ้นในโลกนี้เกิดจากอวิชชาความไม่รู้และไม่รู้เท่าทันคือยังไม่มีวิชชา จึงปล่อยไปตามกิเลสตัณหาอันมีคุณอยู่สิ่งเดียวแท้ๆคือตัณหาที่อยากพ้นทุกข์ เป็นการเอาตัณหาดับตัณหา  นอกนั้นเป็นสิ่งจอมปลอมทั้งสิ้น มีแอบแฝงกิเลสและตัณหาอยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งการทําบุญทํากุศลก็เพื่อมุ่งหวังชีวิตที่ดีขึ้นในภพนี้, ภพหน้า หรือหน้าตาในวงสังคม อยู่ลึกๆในจิตโดยไม่รู้ตัว

-เห็นเข้าใจอริยสัจ    กระทํากิจในอริยสัจ๔ อันมี ๑๒ ญาณทัศนะหรือ ๑๒ ข้อ (อ่านอริยสัจ)

-เห็นหรือเข้าใจว่า อวิชชามันมีจริงคือความไม่รู้ และไม่รู้เท่าทัน(สติ)ตามความเป็นจริงในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ จึงแสดงผลออกมา เข้าใจให้ได้ว่ามีอยู่จริงๆ

-เห็นหรือเข้าใจกระบวนการทํางานของทุกข์ว่า  เมื่อเกิดอุปาทานทุกข์ใน ชรา-มรณะ ก็จะเกิดอาสวะกิเลส แล้วเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชา โดยคิดนึกเปรียบเทียบจากอดีต ตามความเป็นจริงจนเห็นหรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ  ถ้าไม่เห็นเช่นนั้นท่านต้องหาคําตอบมาตอบตัวเองให้ได้ เพราะปล่อยเป็นวิจิกิจฉา(สงสัย ลังเล)ไว้ไม่ได้ เพราะเป็นการตัดทอนกําลังของปัญญาในธรรม

-เห็น หรือเข้าใจ ในโทษอันมหันต์ที่สุดของอวิชชาที่แอบแฝง ล่องหน อยู่ในจิตจนปุถุชนมองไม่เห็นตัวการใหญ่แห่งความทุกข์นอกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆความคิดนึกปรุงแต่ง ที่ก่อให้เกิดทุกข์ ทุกชนิดล้วนก่อกําเนิดมาจากอวิชชาทั้งสิ้น  จึงมาเร่งเร้าผลักดันอยู่เบื้องหลังอย่างแอบแฝงและเร้นลับตลอดเวลาไม่เคยหยุดแม้ขณะหลับ ตั้งแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบันกาลนี้ในปุถุชนทุกผู้ทุกนาม ยกเว้นผู้ที่กําจัดอวิชชาจนจบสิ้น

        การเห็น, เข้าใจในโลกุตตรสัมมาทิฎฐินั้น ต้องเป็นการเห็นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจริง  ไม่ใช่อ่านแล้วเข้าใจก็จบ  คิดว่าเข้าใจแล้ว(เป็นเช่นนี้ส่วนใหญ่) ต้องมาจากโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยแยบคายตามความเป็นจริงของธรรมชาติ (ที่ไม่ใช่จากความอยากให้เป็นไปหรือการปรุงแต่งใดๆของเรา)  มีวิจิกิจฉา(ความสงสัยใดๆ)ไม่ได้  ถ้าท่านยังรู้สึกมีวิจิกิจฉาอยู่ก็ต้องพิจารณาต่อ (ไม่ได้หมายความว่าต้องทําวันเดียวจบ) จนหายสงสัยจนหมดสิ้น  เพราะสัมมาทิฎฐินี้จะต้องมั่นคงดุจภูผาใหญ่ เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างความยึดถือเข้าใจใหม่ของจิต เป็น จิตพุทธะ ผู้ไม่มีอาสวะกิเลสและอวิชชา เนื่องจากการเห็นมหันตโทษ   จิตเมื่อรู้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วก็จะค่อยๆถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นออก บางคนอาจจะถอดถอน(หรือเข้าใจ)ออกเป็นชุดใหญ่ๆในขณะจิตเดียวที่เรียกว่ามรรคสมังคี หรือ ธรรมสามัคคีขึ้นอยู่กับจริต และเหตุที่ปฏิบัติ ไม่เหมือนกันทุกคน (อย่าไปคิดบังคับให้มีให้เกิดเพราะทําเหตุปัจจัยถูกมันก็เป็นเอง ควบคุมให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้)

         สังขารเข้าใจแล้วว่ามาจากอาสวะกิเลสเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชา  ต้องลดกําลังของอาสวะกิเลส......ฯลฯ.เมื่อท่านตัดการส่งกําลังบํารุงอย่างถูกต้องมีหรือที่ข้าศึกจะไม่ยอมแพ้ หมั่นปฏิบัติแบบสบายๆอยู่เป็นประจํา  ไม่จําเป็นต้องนั่งสมาธิในรูปแบบ แต่จิตขณะนั้นต้องปลอดโปร่งจากสิ่งขุ่นมัวก็ใช้ได้(ขณิกสมาธิ)  ทําในชีวิตประจําวันทั่วไป  เห็นการเกิดขึ้นต่างๆในจิตอย่างเข้าใจว่าล้วนเป็นไปตามกระบวนธรรมของขันธ์๕ หรือปฏิจจสมุปบาทล้วนสิ้น

        ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่าเมื่อเราเข้าใจและดับทุกข์ในปัจจุบันของเราไปอย่างสมํ่าเสมอเมื่อนั้นอวิชชาก็จะอ่อนกําลังไปตลอดเวลา  ไม่มีกําลังใหม่มาเสริม อันเนื่องมาจากอาสวะกิเลสอันเกิดจากทุกข์ลดน้อยถอยลงไปทุกขณะที่มีสติ จนในที่สุดมันไม่สามารถอยู่ได้เพราะขาดเหตุปัจจัยมาสนับสนุน  หรือเมื่อปัญญาหรือวิชชามีกําลังเหนือกว่าอวิชชา เพราะทุกขณะจิตที่ทุกข์ไม่เกิด กําลังของปัญญาหรือวิชชาก็จักเจริญเติบโตกล้าแข็งขึ้นทุกขณะจิตเช่นกัน จนเหนือกว่าอวิชชา ทําให้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงของธรรมชาติ วันนั้นก็เป็นการสิ้นสุดการปฏิบัติของเรา สิ้นภพอันเป็นสภาวะที่เกิดใหม่ สิ้นชาติแห่งการกระทําอันเป็นทางเกิดแห่งทุกข์

 

จิตไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง(กิเลส) อวิชชาอันนอนเนื่องอยู่ก็ไม่ทํางาน

สังขารก็ย่อมเกิดไม่ได้...........ทุกข์อุปาทานก็ย่อมเกิดไม่ได้

ถ้าลดอาสวะกิเลสยังไม่ได้ให้ปรับจิตที่ขุ่นมัวแทนคือยังมีเหลืออยู่แต่น้อยลง อวิชชาก็ย่อมเบาบางลง เป็นเหตุปัจจัยกัน

อวิชชาเบาบางลง เป็นปัจจัยให้ สังขารคิดอันก่อทุกข์น้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน

สังขารน้อยลง เป็นปัจจัยให้ เวทนา(หรือสังขารขันธ์)น้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน

เวทนาน้อยลง เป็นปัจจัยให้ ตัณหาน้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน

ตัณหาน้อยลง เป็นปัจจัยให้ อุปาทานน้อยลง เป็นเหตุปัจจัยกัน

อุปาทานน้อยลง เป็นปัจจัยให้ ทุกข์อุปาทานขันธ์๕และกิเลสขุ่นมัวพึงเกิดน้อยลงเป็นเหตุปัจจัยกัน........วนเวียนเป็นวงจรถอดถอนอย่างนี้เช่นกัน ทุกข์ก็จักน้อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงสภาวะนิโรธ

ทุกข์อันเกิดแต่ขันธ์๕ทั้งทางใจและกายนั้นมีเป็นปกติอันเป็นสภาวะธรรมชาติ

แต่ไม่มีอุปาทานทุกข์

--------------------------

รวม อวิชชาสูตร จากพระไตรปิฎก

 สังขาร