อเหตุกจิต ๓

จากหนังสือ

"อตุโล ไม่มีใดเทียม"

บันทึกโดย พระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)

 หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

รวบรวมและเรียบเรียงโดย รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์

คลิกขวาเมนู  

         ๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

                 ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักขุวิญญาณ คือการเห็น จะห้ามไม่ให้ตาเห็นรูป ไม่ได้   [webmaster-อีกทั้งไปห้ามเวทนาและสังขารขันธ์คืออารมณ์ต่างๆก็ไม่ได้เช่นกัน]

                 หู ไปกระทบเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือการได้ยิน จะห้ามไม่ให้หูได้ยินเสียง ไม่ได้

                 จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือการได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่น ไม่ได้

                 ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือการได้รส จะห้ามไม่ให้ลิ้นรับรู้รส ไม่ได้

                 กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือการสัมผัส จะห้ามไม่ให้ กายรับสัมผัส ไม่ได้

        วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาที่แฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น  ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอก ที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิดมีเป็นเช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้

        การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่น เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็นไม่คิดปรุง, ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง   ดังนี้ เป็นต้น (ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว) [ถืออุเบกขาไม่คิดนึกปรุงแต่งเอนเอียงเข้าไปแทรกแซงนั่นเอง - webmaster]

         ๒. มโนทวาราวัชชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร(ใจ) มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกมากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

        ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น    [ถืออุเบกขาเสียนั่นเอง-webmaster]

         ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆทั้งสิ้น [ด้วยการอุเบกขา-webmaster]  จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น  ไม่เป็นทุกข์ 

         ๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี [webmaster-เป็นอาการที่จิตยิ้มเองอยู่ภายใน โดยเกิดขึ้นเอง เช่น แม้มีอาการโกรธภายนอกแสดงอยู่ แต่มีอาการจิตยิ้มอยู่ภายในขึ้นเอง เกิดขึ้นจากการมีสติรู้เท่าทัน และเข้าใจเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งแจ่มแจ้ง]

         สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ มีเท่ากันในพระอริยเจ้า และในสามัญชน  นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ควรพิจารณา อเหตุกจิต นี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม

         อเหตุกจิต นี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด  ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจใน อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ นี้เอง

         อเหตุกจิต ข้อ ๓ เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเองโดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง

 

แนวทางพิจารณา และ แนวทางปฏิบัติ โดยอาศัยธรรม "อเหตุกจิต"

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ