ธรรมข้อคิด ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล |
คลิกขวาเมนูู |
จากหนังสือ
บันทึกโดย พระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)
รวบรวมและเรียบเรียงเป็นเล่มโดย รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์
ผู้เขียน(webmaster) ขอกราบอารธนาธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ด้วยเล็งเห็นว่าธรรมข้อคิดต่างๆของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยสงฆ์ แฝงไว้ด้วยแก่นธรรมที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจ และขันธ์๕ แต่เป็นไปในลักษณะปริศนาธรรม สั้น กระชับ มีคุณประโยชน์มากแก่ผู้ที่มีพื้นฐานทางธรรมอย่างแท้จริง แต่ยากเกินเข้าใจสําหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานในธรรม จึงได้พยายามอธิบายความหมายตามความเห็นตามความเข้าใจของผู้เขียน เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อันอาจมีข้อผิดพลาดสื่อผิดจุดมุ่งหมายบางประการ ก็ต้องกราบขออภัยต่อท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล, ท่านผู้บันทึก และท่านผู้รวบรวมและเรียบเรียงหนังสือนี้ด้วย, เพราะผู้เขียนกระทําด้วยกุศลจิต และท่านนักปฏิบัติทั้งหลายต้องโยนิโสมนสิการด้วยตัวเองอีกว่าถูกหรือผิดประการใด จึงจักเกิดประโยชน์บริบูรณ์ ในคําสอนของท่านที่ได้บันทึกไว้เพื่อประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง
แก่นธรรมคำสอน (อ่าน)
จุดผิดพลาดในการดูจิต (อ่าน หน้า ๕๓)
Youtube
สมาธิวิปลาส เพราะหลงปฏิบัติผิดทางธรรม
ข้อธรรม คำสอน ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
(ขยายความโดยwebmaster คลิกที่ ข้างหน้า)
อย่าส่งจิตออกนอกไปเสวยอารมณ์ (webmaster - เสวยอารมณ์ หมายถึงเวทนา)
คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้ (น.๔๕๖)
เกี่ยวกับนิมิต "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง" (น.๔๕๔)
"ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งใน ขันธ์๕, แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท, หยุดการปรุงแต่ง, หยุดการแสวงหา, หยุดกริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล" (น.๕๐๖)
"เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย" (น.๕๐๔)
เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ
.........มีผู้กราบเรียนหลวงปู่ว่า หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลาได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงจะได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว ฯ.
หลวงปู่กล่าวว่า
"ที่เราสร้างนี่ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้น
ถ้าพูดถึงเอาบุญ เราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้" (น.๔๕๗)
"การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดที่สุด" (น.๕๐๕)
มีผู้เรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า "ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม?"
หลวงปู่ตอบสั้นๆว่า "มี แต่ไม่เอา" (น.๔๖๑)
อีกครั้งหนึ่ง มีผู้เรียนถามหลวงปู่เรื่องการละกิเลส "หลวงปู่ครับทําอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้"
หลวงปู่ตอบว่า
"ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน...
เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง." (น.๔๖๒)
อย่างที่พูดในหลักวิชาการเรียนทางศาสนาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ว่าศีลทําให้เกิดอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ฉนั้น พลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหลังจากเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นจะยกสภาวะธรรมขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาแล้ว ปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้งดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิ หรือจิตที่ไม่มีสมาธิ (น.๒๒๒)
มีผู้กราบเรียนถามหลวงปู่เรื่องการไว้ทุกข์
หลวงปู่ตอบว่า "ทุกข์ ต้องกําหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทําไม" (น.๔๖๔)
มีผู้อวดอ้างของวิเศษจากสัตว์ต่างๆนาๆ แล้วเรียนถามหลวงปู่ว่าอันไหนวิเศษกว่ากัน หลวงปู่ตอบว่า
"ไม่มีดี ไม่มีวิเศษอะไรหรอก เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน" (น.๔๖๕)
"เมื่อตาเห็นรูปแล้ว รู้ว่าสวยงาม หรือน่ารังเกียจอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
เมื่อหูได้ยินเสียง รู้ว่าไพเราะ หรือน่ารําคาญอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส รู้ว่าอร่อย หรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
เมื่อจมูกได้กลิ่น หอมหรือเหม็นอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้
เมื่อกายสัมผัสโผฎฐัพพะ รู้ว่าอ่อนแข็งเป็นอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้" (น.๒๑๘)
หลักธรรมที่หลวงปู่ใช้พิจารณาคือ "สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา" ซึ่งมีคําขยายความในหนังสือหน้า๔๔ ดังนี้ "เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป สภาพแห่งการเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร" (น.๔๓)
มีผู้เรียนถามหลวงปู่ "พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ"
ท่านตอบว่า "การหลับแล้วเกิดฝัน เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ไม่ใช่หรือ" (น.๕๐๒)
"เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกริยาวัตถุต่างๆทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสําหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือ ได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง. (น.๕๐๐)
หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีผู้เข้าเยี่ยมแล้วเรียนถามหลวงปู่
"หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ" หลวงปู่ตอบว่า "เวทนากับร่างกาย มีอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย" (น.๕๐๔)
เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น, อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง, อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงามให้ จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้" (น.๒๒๐)
จิตปรุงกิเลส คือ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทําสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้เลว ให้เกิดวิบากได้ แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตัว นั่นเป็นตน ของเรา ของเขา, กิเลสปรุงจิต คือการที่สิ่งภายนอกเข้ามาทําให้จิตเป็นไปตามอํานาจของมัน แล้วยึดว่ามีตัว มีตนอยู่ สําคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่รํ่าไป (น. ๔๘๒)
.......แท้จริงแล้วความทุกข์ร้อนวุ่นวายใจ มักเกิดจากสิ่งภายในใจเราทั้งสิ้น คือ กิเลส ตัณหา อุปาทาน มันก่อขึ้นภายในใจ จนต้องดิ้นรนอย่างน่าเวทนายิ่ง (น.๕๖)
มีไฟไหม้ใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ ผลคือความทุกข์ยากสูญเสีย บางคนเสียใจจนเสียสติ บางรายก็มาลําเลิกให้หลวงปู่ฟังว่า อุตส่าห์ทําบุญเข้าวัด ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทําไมบุญกุศลจึงไม่ช่วยคุ้มครอง และหลายรายเลิกเข้าวัดทําบุญ เพราะธรรมะไม่ช่วยให้เขาพ้นจากไฟไหม้
หลวงปู่ได้กล่าวว่า"ไฟมันทําตามหน้าที่ของมัน ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น หมายความว่า ความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจําโลกอยู่แล้ว ทีนี้ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะเมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น." (น.๔๙๘)
ส่วนผู้ที่ประสบภัยพิบัติ หรือผู้ที่ตกในสภาวะอับจน ก็ไม่ควรหมดอาลัยตายอยากควรทําจิตใจให้สงบระงับตั้งมั่นอยู่ ก็จะค่อยๆหาทางออกให้แก่ตนได้ เพราะปัญหาทุกอย่างที่ไม่มีทางออกทางแก้ย่อมไม่มีในโลก ดูเอาเถอะว่า แม้แต่ปัญหาเรื่องความทุกข์ อันเกิดจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระพุทธองค์ก็ยังหาคําตอบไว้ให้ได้ สําหรับปัญหาอื่นๆ อันเล็กน้อยจะไม่มีคําตอบได้อย่างไร (น.๑๔๑)
ในทางปฏิบัติที่ว่า ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้ ก็คือให้มีสติกํากับใจให้เป็นสติถาวร ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด เดี๋ยวก็สว่างวาบ เดี๋ยวก็ดับ เดี๋ยวก็สว่าง แต่ให้มันสว่างติดต่อกันไปตลอดเวลา เมื่อสติมันติดต่อกัน(webmaster- เป็น สัมมาสมาธิ คือประกอบด้วยความตั้งมั่น)ไปอย่างนี้แล้ว ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา" ตัวรู้ก็คือ "สติ" นั่นเอง หรือจะเรียกว่า "พุทโธ" ก็ได้ พุทโธที่ว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ก็คือตัวสตินั่นแหละ (น.๔๖๙)
มีผู้ไปกราบเรียนกับหลวงปู่เรื่องงานที่มีการจัดกันบ่อยๆใกล้วัดว่ารบกวนการปฏิบัติ ท่านได้ตอบดังนี้"มัวสนใจอะไรกับสิ่งเหล่านั้น ธรรมดาแสงย่อมสว่าง ธรรมดาเสียงย่อมดัง หน้าที่ของมันเป็นเช่นนั้นเอง เราไม่ใส่ใจฟังเสียก็หมดเรื่อง จงทําตัวเราไม่ให้เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม เพราะมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้เอง เพียงแต่ทําความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งเท่านั้นเอง" (น. ๔๙๓)
"คําสอนทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั่น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คําสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจักหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วเราจะหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อที่จะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้พ้นทุกข์เสีย มิฉนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงําปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน" (น.๔๗๙)
มีผู้ไปกราบเรียนหลวงปู่เรื่องสมาธิว่าปฏิบัติได้ดีอย่างยิ่ง เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่อย่างนี้นานเท่าไรก็ได้
หลวงปู่ยิ้มแล้วพูด
"เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบมิได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัด ภพ ชาติ ตัณหา อุปาทาน ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์๕ให้แจ่มแจ้งต่อไป" (น. ๔๙๕)
มีผู้เรียนถามถึงเรื่องหยุดคิด หยุดนึก
หลวงปู่บอกว่า
"ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดนั่นเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจักอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกําจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้นเลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง" (น. ๔๘๘)
"พระธรรมทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิต อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต (ของเราเอง)" (น. ๔๘๙)
"การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสํารวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกําหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่างไม่มีตัวไม่มีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงรู้เอง" (น. ๔๙๔)
"........การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตํารานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติทําวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปโดยสิ้นเชิง" (น. ๔๙๙)
มีผู้อยากฟังความคิดความเห็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของหลวงปู่ และยกบุคคลมาอ้างว่าท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติ
หลวงปู่ว่า
"เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นไปได้แล้วทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลที่ได้ก็คือ ทําให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตํ่า แล้วก็ตั้งใจทําดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตัว, ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทําลาย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น อีกอย่างหนึ่งต่างหาก" (น.๔๙๙)
"ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรปล่อยให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้ ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา ความหน่าย คลายกําหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน" (น. ๔๗๖)
คติธรรมคําสอน ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จิตที่ส่งออกนอกเพื่อรับสนองอารมณ์ ทั้งสิ้น |
เป็นสมุทัย |
ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว |
เป็นทุกข์ |
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง |
เป็นมรรค(สติเห็นจิตสังขาร) |
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง |
เป็นนิโรธ |
หลวงปู่ ดูลย์ อตุโล
Webmaster - จิตส่งออกนอก-ส่งจิตไปคิดนึกปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านต่างๆ ย่อมยังให้เกิดเวทนาต่างๆ อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
รับสนองอารมณ์-เสวยอารมณ์, เวทนา
หวั่นไหว-คิดนึกปรุงแต่งแล้วเกิดตัณหา
จิตเห็นจิต-สติเห็นทั้งเวทนาและจิตสังขาร หรือ เวทนานุปัสสนา และ จิตตานุปัสสนา
คติธรรม คําสอนของท่านหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ข้อนี้ในความเห็นของผู้เขียน ล้วนแฝงไว้ด้วยแก่นธรรมอันสําคัญยิ่ง อันน่าจดจําเป็นเครื่องเตือนสติ มีหลักธรรม
๑. อริยสัจ๔ อันแสดงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๒. ปฏิจจสมุปบาท อันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการเกิดของทุกข์ อันเนื่องจากเวทนาหรือเสวยอารมณ์
๓. สติปัฏฐาน๔ อันแสดงถึงจิตตานุปัสสนาให้ เห็นจิตในจิต หรือจิตเห็นจิต หรือจิตเห็นเวทนาหรือจิตสังขารคือเห็นความคิดคือสังขารขันธ์อันให้โทษนั่นเอง เช่น โลภะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ.
รวมคำสอนข้างบนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พร้อมคำแนะแนวของwebmaster เพื่อการพิมพ์ไว้อ่าน
ข้อคิด อันเนื่องมาจากปฏิจจสมุปบาทและขันธ์๕
และ
จิตส่งออกนอกไปคิดนึกปรุงแต่ง
คิดนึกปรุงแต่ง ๑ ครั้ง, คือการเกิดของขันธ์๕ขึ้น ๑ ครั้ง
เกิดขันธ์๕ขึ้น ๑ ครั้ง, ย่อมต้องเกิดเวทนาขึ้น ๑ ครั้ง
ดังนั้นคิดนึกปรุงแต่ง ๑๐๐ ครั้ง, ย่อมต้องเกิดเวทนาขึ้น ๑๐๐ ครั้งเช่นกัน
เวทนาเกิดขึ้น ๑๐๐ ครั้ง ย่อมเปิดโอกาสให้เกิดตัณหาได้ ๑๐๐ ครั้งเช่นกัน
ตัณหาเกิดขึ้นเมื่อใด ทุกข์อุปาทานเกิดขึ้นเมื่อนั้น
ดังนั้นจงมีแต่คิดนึก, แต่ไม่มีคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน.
พนมพร
หยุดคิดนึกปรุงแต่ง
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้กล่าวอยู่เนืองๆว่า อย่าส่งจิตออกนอก ด้วยเหตุเพราะตัณหานั้นอาจไม่ได้เกิดจากเวทนาของความคิดหรือสังขารขันธ์แรกแต่ฝ่ายเดียว, แต่ตัณหา ที่เกิดนั้น อาจเกิดจากเวทนาของความคิด(นึกปรุงแต่ง)อันเป็นขันธ์๕ชนิดหนึ่งเช่นกันที่เกิดขึ้นตามหลัง(วนเวียน)มาเรื่อยๆก็ได้ หลวงปู่จึงมักกล่าวอยู่เสมอๆว่าอย่าส่งจิตออกนอก(ไปคิดนึกปรุงแต่ง) เพราะจะยังให้เกิดทุกข์ขึ้นตามมาในที่สุดนั่นเอง (พนมพร)
พุทธพจน์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยจักษุ(ตา)และรูป เกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบกันของธรรมทั้ง๓เป็นผัสสะ และเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์(เวทนา) เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง (อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น)
เขา(บุคคล)อันสุขเวทนาถูกต้อง(กระทบ)แล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่
อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไห้ ไม่คร่ำครวญทุ่มอก ไม่ถึงความหลง(โมหะ)พร้อม จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่
อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงไม่มีอวิชชานุสัย นอนเนื่องอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนาบรรเทา, ละปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา, ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา, ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้ แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ
ข้อความเดียวกันใน เสียง-หู, กลิ่น-จมูก, รส-ลิ้น, สัมผัส-กาย, ธรรมารมณ์-ใจ