วิธีดับสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์ โดยพิจารณาปฏิจจสมุปบาท |
|
(การตัดวงจรของทุกข์ในปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้หมุนหนุนเนื่องกันได้สืบต่อไป)
ต้องขอกล่าวความสัตย์ก่อนว่า การดับทุกข์ ในทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่การร้องขอหรือบนบานศาลกล่าว ขอให้ทุกข์ โศก โรค ภัย เสนียดจัญไรต่างๆ ฯ. อย่าได้เกิดขึ้น อย่าได้แผ้วพาน อย่าได้จรมา หรือขอเงินทอง ชื่อเสียง การงาน ความรัก ฯ. ให้สมหวังเป็นไปตามปรารถนา ซึ่งการบนบานร้องขอดังกล่าว แม้เป็นประโยชน์แต่ก็เป็นเพียงสิ่งช่วยให้จิตมีที่ยึดเกาะอาศัยคือส่งเสริมกำลังใจได้บ้าง แต่เป็นไปในขณะหนึ่งๆเท่านั้น แต่ก็เป็นไปในลักษณะโลกิยะอยู่ อันเป็นเหตุให้งมงายได้ถ้าไปยึดถือเป็นไปแบบอธิโมกข์ แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการดับทุกข์แบบโลกุตระ ดังนั้นก่อนอื่นต้องจำต้องปล่อยวางทิฏฐุปาทาน อีกทั้งสีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในความเชื่อความเข้าใจผิดอย่างนั้นๆลงไปเสียก่อนอื่นสักขณะหนึ่งในขณะพิจารณาหาความจริงแท้ ลองพิจารณาตามโดยละเอียดและแยบคายหรือโยนิโสมนสิการ โดยไม่ต้องน้อมเชื่อ แต่ก็ไม่หักหาญปฏิเสธโดยทันที เพียงแต่ใข้ความคิดพิจารณา(โยนิโสมนสิการ)หาเหตุหาผลตามความเป็นจริง แล้วจึงสรุปตอบด้วยตนเอง เพราะการดับทุกข์ทางพระศาสนานั้นเป็นการดับทุกข์ที่ด้วยตัวเรา เป็นการปฏิบัติตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม หรืออิทัปปัจจยตา หลักเหตุปัจจัย คือหลักเหตุและผล อันเป็นอกาลิโก และเป็นปรมัตถ์
ดังที่กล่าวมาหลายครั้งแล้วว่า สังขารขันธ์ เป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ทางโลก เป็นขันธ์อย่างหนึ่งจึงจำเป็นทั้งในการดำรงและดำเนินชีวิต แต่ด้วยเป็นอนัตตา จึงเป็นอิสระจากเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แท้จริงจึงควบคุมบังคับเขาไม่ได้เลย เพราะสังขารขันธ์เป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น เขาทำงานตามหน้าที่ของเขาเท่านั้น ไม่ทำอื่น การดับสังขารขันธ์ทุกข์แบบ"ดับ"ลงไปดื้อๆ หรือการ"ละ"ไม่เอา หรือการ"กดข่ม"ไว้ คือไม่ให้เขาทำงานตามหน้าที่ในสภาพที่ยังเป็นขันธ์ที่จำเป็นของชีวิตอยู่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด เมื่อไปฝืนจึงต้องพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ในที่สุด จึงย่อมไม่มีวันประสบผลสำเร็จและกลับเป็นผลร้ายได้ ก็ด้วยไปฝืนธรรมหรือธรรมชาติ จึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงสามารถหยุดสังขารขันธ์ทุกข์หรือความทุกข์ที่กำลังเผาลนและต่อเนื่องยาวนานลงไปได้ คือ ทำได้โดยทำให้ไม่เกิดทุกข์ ขึ้นต่อเนื่องไปได้อีก โดยการตัดวงจรของทุกข์ไม่ให้ดำเนินต่อไปนั่นเองจึงจะได้ โดยการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทั้งด้วยสติและปัญญา
ขันธ์ทั้ง ๕ ต่างทำงานตามหน้าที่ของตน และยังต้องทำงานประสานสัมพันธ์ร่วมกันอีกด้วย เหมือนดังกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง ๕ ที่แสดงอยู่เสมอๆ
รูป |
จึงเหมือนการทำงานประสานเป็นเหตุปัจจัยกันดังวงจรปฏิจจสมุปบาทเช่นกัน อุปมาได้ดั่งรถยนต์ รถยนต์ที่ต้องประกอบด้วยระบบหรือส่วนต่างๆและเราสมมติเรียกว่าขันธ์(กอง,หมู่)เช่นกัน เช่น ระบบ(ขันธ์)เครื่องยนต์ ระบบเบรค ระบบไฟ ระบบขับเคลื่อน ระบบตัวถัง ฯ. เมื่อขาดขันธ์ใดขันธ์หนึ่งก็ย่อมไม่ประสานเป็นเหตุปัจจัยกันให้สามารถเกิด(ชาติ)รถ
ที่สามารถทำงานหรือทำหน้าที่อันควรของรถได้เลย ที่เราเรียกกันว่า รถเสียหรือรถตาย กล่าวคือ ย่อมทำหน้าที่ของรถคือการขับขี่เพื่อใช้งานไม่ได้เลย, ขันธ์ ๕ ก็เฉกเช่นกัน เขาทำงานและประสานกันกับขันธ์อื่นๆ และทำงานตามหน้าที่ของแต่ละตนเท่านั้น จึงไปห้ามไปหยุดขันธ์ไม่ได้เลย ดั่งรถยนต์เช่นกัน ต้องทำงานประสานกันทุกขันธ์(ระบบ)
และขันธ์ต่างๆก็ไม่ไปก้าวก่ายหน้าที่กัน เพียงแต่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน เช่น ระบบเบรคจะไปทำหน้าที่แทนเครื่องยนต์ก็ย่อมไม่ได้
ตราบใดที่รถยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหมายถึงการทำงานตามหน้าที่ได้ ย่อมไม่สามารถไปดับขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเขาได้เลย
เช่น ดับระบบเบรค ให้ทำงาน(เกิด)แต่ระบบเครื่องยนต์ รถย่อมนำออกไปใช้งานไม่ได้
รถตายนั่นเองหรือคนขับออกไปก็ตาย จึงได้แต่ช่วยเหลือพึ่งพาแก่กันและกันคือเป็นเหตุปัจจัยกัน เหมือนกันทั้งในขันธ์
๕ และรถยนต์ ทั้งสองต่างก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเหมือนดั่งเงา
ขันธ์ ๕ อันมี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เมื่อถูกครอบงำหรืออยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลของอุปาทาน คือมีความยึดมั่น ถือมั่น เชื่อมั่นตามกิเลสของตัวตนที่ได้สั่งสมอบรมไว้เป็นสำคัญ เมื่อประกอบร่วมคือครอบงำกับขันธ์ต่างๆแล้ว มีชื่อเรียกเฉพาะว่า รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิณญาณูปาทานขันธ์ ตามลำดับ อันก่อทุกข์ จึงได้ยินกันบ่อยๆว่า "กล่าวโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์" หรือ "ขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นทุกข์"นั่นเอง
อุปาทานในวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้น อุปมาดั่งสัญเจตนาในขันธ์ ๕ นั่นเอง, อุปาทาน จึงมีความหมายว่า สิ่ง(คือกิเลส)ที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดเจตนาหรือจงใจ,คิดอ่านไปให้เกิดการการะทำต่างๆ ได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ แต่เป็นไปตามอำนาจกิเลสหรือความพึงพอใจของตน
โยนิโสมนสิการกระบวนธรรมของจิตที่เกิดขึ้น ในวงจรชรา(สีแดง) ที่เกิดภายในวงจรปฏิจจสมุปบาทอีกทีหนึ่ง ให้โดยละเอียดแยบคายก่อน
อาสวะกิเลส
มรณะ สฬายตนะ สัญญูปาทานขันธ์
เวทนูปาทานขันธ์
ชาติ (สังขารขันธ์ แปรเป็นสังขารูปาทานขันธ์เกิดมโนกรรมคิดนึก เวทนา (มโนสังขาร) (อกุศลสัญเจตนา) (อกุศลสังขารขันธ์) ภาพวงจรปฏิจจสมุปบาท แบบขยายความเต็มรูปแบบโดยพิศดาร |
ดังภาพที่แสดง เมื่อเกิดตัณหา ในปฏิจจสมุปบาทแล้ว ที่ครอบคลุมสังขารขันธ์ฝ่ายอกุศลต่างๆทั้งสิ้น เช่น โลภ โกรธ หลง หดหู่ ทุกข์ ฯ. ขึ้นแล้ว อันเป็นเพียงกระบวนธรรมตามธรรมชาติของชีวิต ก็หยุดเพียงแค่นี้เอง ไม่เอา ปล่อยวาง หรืออุเบกขาเสียนั่นเอง วงจรของทุกข์ย่อมขาดสะบั้นไปไม่สามารถก่อให้เกิดการหมุนหนุนเวียนต่อเนื่องได้อีก จึงไม่มีภพ ชาติให้เกิดอีกต่อไป กล่าวคืออย่าให้เกิดวงจรชราต่อเนื่องสัมพันธ์ต่อไปได้
หรือที่กระบวนธรรมของวงจรปฏิจจสมุปบาทข้างต้น สังเกตุองค์ธรรมชาติ อันนับว่าคือ การเกิดขึ้นของทุกข์ คือเป็นสังขารขันธ์หรืออารมณ์ทางโลกที่ประกอบด้วยอุปาทานแล้ว ที่เรียกว่าสังขารูปาทานขันธ์ คือสังขารขันธ์หรือมโนกรรมที่เกิดขึ้นที่ถูกครอบงำด้วยกำลังของอุปาทานแล้ว ดังมีแสดงในภาพ กล่าวคือ สังขารูปาทานขันธ์นี้ ก็คือสภาพความรู้สึกหรืออารมณ์ของจิต ที่จะไปปรุงแต่งจิตให้เกิดเจตนาคิดอ่านให้เป็นไปตามอำนาจอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสของตัวตนเป็นสำคัญนั่นเอง ซึ่งนับว่าเป็นการเกิด(ชาติ)ของทุกข์ได้เริ่มขึ้นอย่างเต็มตัวแล้วภายใต้อำนาจของอุปาทานอันแรงกล้า สิ่งที่เกิดในองค์ธรรมชาติจึงคือ สังขารูปาทานขันธ์ อันเป็นทุกข์ ซึ่งส่งผลหรือเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความคิดนึกชนิดมโนกรรม ความคิดนึกต่างๆอันย่อมแฝงด้วยอุปาทานความเชื่อความเข้าใจความยึดถือต่างๆของตนเป็นสำคัญ จึงมักก่อทุกข์
เมื่อเกิดชาติขึ้นแล้ว ปุถุชนจะเกิดการคิดนึกปรุงแต่งต่อเนื่องไปอีกเรื่อยๆ ด้วยอวิชชาคือไม่รู้ความจริง ดังนั้นสังขารูปาทานขันธ์ที่ชาตินี้ จึงถูกหยับยกคือแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่ในกระบวนจิตที่เกิดการปรุงแต่งขึ้นใหม่อีกในชรา จึงทำหน้าที่เป็นรูปคือสิ่งที่ถูกรู้ ที่หมายถึงความนึกคิด ธรรมารมณ์ต่างๆ แต่ย่อมถูกครอบงำด้วยอุปาทานที่เนื่องมาจากสังขารูปาทานขันธ์จากชาติ จึงเรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ คือสิ่งที่ถูกรู้คือความคิดหรือธรรมารมณ์แต่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานที่แฝงมา ดังแสดงอยู่ในภาพของวงจรชรา แล้วกระบวนจิตก็ย่อมดำเนินต่อไปตามธรรม และขันธ์อื่นๆก็เกิดเนื่องเป็นเหตุปัจจัยกัน จึงล้วนถูกครอบงำด้วยเป็นอุปาทานขันธ์ไปด้วยล้วนสิ้น ดังภาพวนเวียนเป็นวงจรเล็กของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อรูปหรือรูปูปาทานขันธ์อันถูกครอบงำด้วยอำนาจอุปาทานแล้ว จึงยังให้ขันธ์อื่นๆที่เกิดเนื่องต่อๆไปอีกนั้นล้วนเป็นอุปาทานขันธ์ด้วยอยู่ในชรา จึงเหมือนดั่งหลงเข้าไปในเขาวงกตนั่นแล ดำเนินเป็นไปตามวงจรของทุกข์หมุนหนุนเวียนแปรปรวนต่างๆนาๆได้ไม่หยุดหย่อนอยู่ในชรา ด้วยความเร่าร้อนใจเป็นทุกข์ ได้ยาวนานแสนนาน เพราะไม่มีจุดสิ้นสุดเป็นวงจรจึงหมุนเวียนไปได้เรื่อยๆ จนกว่าวงจรนั้นจะขาดไป
ดังที่กล่าวไว้อยู่เนืองๆ เรื่องขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นอนัตตา จึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นอิสระจากเราจริงๆ ทำงานตามหน้าที่ของเขาเท่านั้น ไม่สามารถไปควบคุมบังคับแทรกแซงขันธ์นั้นๆได้เลย เพียงแต่ทำงานประสานกันเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน เป็นไปตามธรรมคือธรรมชาติของเขาเป็นธรรมดา แต่ปุถุชนมักหลงว่าควบคุมเขาได้ เพราะไปควบคุมหรือสั่งการอิริยาบถต่างๆของรูปขันธ์ได้บ้าง จึงเกิดการเข้าใจผิดหลงคิดไปว่าเป็นเรา เป็นของเรา จึงเป็นดั่งรถยนต์อีกเช่นเคย ที่ขันธ์แต่ละขันธ์เขาก็ทำหน้าที่ของตนไป เครื่องยนต์ก็ทำงานจุดระเบิดให้กำลังตามน้ำมันที่ส่งมา ระบบเบรคก็ทำหน้าหยุดป้องกันภัย ฯ. พิจารณาดูดีๆ ขันธ์แต่ละขันธ์ต่างทำงานตามสภาวธรรมตนเท่านั้น แต่ผู้ขับขี่เช่นเรา สามารถไปบังคับให้ทำงานประสานสัมพันธ์หรือเป็นเหตุปัจจัยกันให้ วิ่ง ให้หยุด ให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เร่งเครื่องได้ ฯ. ซึ่งเป็นเพียงกริยาที่เป็นเพียงผลของขันธ์เท่านั้น จึงเกิดความรู้สึกหลงไปว่าเราควบคุมรถนั้นได้ดังใจ แต่แท้จริงขันธ์ของรถนั้นแต่ละขันธ์ต่างยังคงทำหน้าที่ของตนเพียงเท่านั้น ไปควบคุมบังคับขันธ์เขาตรงๆไม่ได้ แต่เพราะไปควบคุมให้เคลื่อนไหวตามใจของเราได้ด้วยผลของการประสานทำงานกัน จึงเกิดความสับสนหลงไปในสภาวธรรมของขันธ์ ดั่งกล่าวขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว, แล้วเราต้องทำเยี่ยงไรจึงดับหรือหยุดเขาได้ โดยให้เป็นไปตามธรรม ไม่ฝืนสภาวธรรม?
อนึ่งพึงสังเกตุว่าเมื่อเกิด"ชาติ"และ"ชรา"แล้ว เราต้องมีสติรู้ตามความเป็นจริงว่าได้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นครอบงำเราไปแล้ว จึงต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่าย่อมต้องเป็นทุกข์นั้นๆในคราแรกแล้ว เช่น โทสะ จะไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้มีโทสะ ไม่ให้เกิดขึ้นเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะย่อมต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย การเป็นทุกข์หรือโทสะนี้เนิ่นนานแค่ไหนขึ้นกับสติที่รู้เท่าทันและการปฏิบัติเพื่อดับไป ถ้ารู้เท่าทันที่ชาติก็เกิดทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดาแค่ขณะจิตหนึ่ง แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องคืออุเบกขาเสีย ไม่ปรุงแต่งมโนกรรมความคิดนึกใดๆที่เกิดในองค์ธรรม"ชาติ" ก็ย่อมเสวยทุกข์เพียงขณะๆจิตหนึ่งเท่านั้นแล้วก็เสื่อมดับไป แต่ถ้าสติไม่รู้เท่าทันและปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ต้องยอมรับความจริงยิ่งว่า จะต้องเข้าไปเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนวนเวียนอยู่ในวงจร"ชรา" ที่สามารถครอบงำมนุษย์มาตลอดทุกยุคสมัย, วนเวียนเนิ่นนานเท่าใดก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้ามีตัณหาไม่ยอมรับความเป็นจริง ด้วยอยากให้ดับไป หรือด้วยไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ฯ. ก็ยิ่งเป็นทุกข์เร่าร้อนหนักยิ่งขึ้นและยาวนานขึ้นไปอีก แต่เมื่อสติรู้เท่าทันแล้วอุเบกขาเสีย โดยอุเบกขาในมโนกรรมที่เกิดขึ้นจากสังขารูปาทานขันธ์ในองค์ธรรม"ชรา"เสีย วงจรจึงจะขาดดับหยุดการหนุนให้หมุนเวียนอีกต่อไป ด้วยขาดเหตุปัจจัยคือความคิดปรุงแต่งต่างๆ(รูปูปาทานขันธ์)ไปหนุนเนื่องจึงหมดกำลังขับเคลื่อนต่อไปได้, ในปุถุชนบางครั้งทุกข์ก็ดับไปเพราะจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า จึงเกิดการดับไป แต่เป็นการดับไปชั่วขณะๆ แล้วก็สามารถดำเนินเกิดขึ้นใหม่ได้อีก ด้วยย่อมเกิดสัญญาการจำได้ไว้คืออาสวะกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิต แต่เมื่อถูกกวนหรือกระตุ้นเร้าด้วยผัสสะใดๆ หรือด้วยอาการสัญญาความจำที่ย่อมสามารถผุดขึ้นมาเองได้ของชีวิต อาสวะกิเลสที่นอนเนื่องสงบนิ่งอยู่นี้ก็ฟุ้งขึ้นมาย้อมจิต และเมื่อปรุงแต่งร่วมด้วยอวิชชา ดังภาพ จึงเกิดสังขารขึ้นอีก วงจรของทุกข์จึงถูกปลุกขึ้นมาหมุนหนุนเนื่องไม่รู้จบดั่งระลอกคลื่นอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นวงจรไม่รู้จบเกิดดับๆ...ในเรื่องเดิมๆได้ ที่ชรานี้เอง ที่เมื่อมีสติรู้เท่าทันสังขารูปาทานขันธ์คือมโนกรรมความคิดนึกต่างๆที่เกิดในชรา จะในรอบที่เท่าไรก็ตามที แล้วอุเบกขาเสีย ก็เพื่อไม่ให้เกิดรูปูปาทานขันธ์ใหม่ ขึ้นมาหนุนหมุนเวียนขับเคลื่อนวงจรให้ต่อเนื่องไปได้อีกนั่นเอง วงจรของทุกข์ก็ขาดการสืบเนื่อง เนื่องจากขาดเหตุปัจจัย จึงดับไปเป็นที่สุด
อาจมีคำถามที่สงสัยขึ้นมาอีกว่า แล้วที่กล่าวมาบ่อยๆว่า ไม่สามารถดับขันธ์ ๕ ได้ เพราะเป็นขันธ์ที่ทั้งต้องทำงานและประสานการทำงานกันอีกด้วยในการดำรงชีวิต ขาดเสียย่อมไม่ได้ ดั่งรถยนต์ที่ต้องประกอบด้วยส่วนต่างๆหรือเรียกว่าขันธ์ของเขา เช่น ระบบ(ขันธ์)เครื่องยนต์ ระบบเบรค ระบบไฟ ระบบขับเคลื่อน ระบบตัวถัง ฯ. เมื่อขาดขันธ์ใดขันธ์หนึ่งก็ย่อมไม่ประสานเป็นเหตุปัจจัยกันให้สามารถทำหน้าที่ของรถได้เลย ที่เราเรียกกันว่า รถเสียหรือรถตาย กล่าวคือ ย่อมนำไปทำหน้าที่ของรถคือขับขี่ใช้งานไม่ได้เลย, ขันธ์ ๕ ก็เฉกเช่นกัน เขาทำงานและประสานกันกับขันธ์อื่นๆ และทำงานตามหน้าที่ของตนเท่านั้น จึงไปห้ามไปหยุดขันธ์ไม่ได้เลย ดั่งรถยนต์เช่นกัน ระบบเบรคจะไปทำหน้าที่แทนเครื่องยนต์ก็ย่อมไม่ได้, แล้วทำไมจึงยังไปกล่าวว่าการอุเบกขา หยุดการฟุ้งซ่านปรุงแต่งในกิจหรือเรื่องนั้น จึงหยุดคือดับสังขารขันธ์ทุกข์นั้นได้?
จริงๆแล้วมันไม่ใช่การดับสังขารขันธ์ทุกข์โดยตรง แต่เป็นการตัดวงจรไม่ให้ทุกข์เกิดสืบเนื่องต่อไป ทุกข์จึงเสื่อมดับไปด้วยธรรมนิยาม อนึ่งพึงสังเกตุโดยโยนิโสมนสิการโดยละเอียด ในภาพวงจรข้างต้น จะพึงเห็นว่า รูปูปาทานขันธ์ ในชรา(ที่แปรมาจากสังขารูปาทานขันธ์ในชาตินั่นแหละ)นั้นไม่ใช่ขันธ์อีกต่อไปแล้ว ได้แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปจากสังขารขันธ์ทุกข์(สังขารูปาทานขันธ์)อันเป็นผลเช่นความคิดนึก ธรรมารมณ์ต่างๆในชาติ ไปทำหน้าที่เป็นรูป ที่หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ ในชรา จึงไม่ใช่ขันธ์อีกต่อไป แต่ทำหน้าที่เป็นเพียงความคิดนึก ธรรมารมณ์ แต่ประกอบด้วยอุปาทาน อันได้เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นฝ่าย"เหตุ"เสียแล้ว คือเป็นรูปหรือดั่งอายตนะภายนอก เป็นเพียงธรรมารมณ์หรือความคิดนึกฝ่ายก่อเหตุ จึงไม่สามารถควบคุมกำกับได้ จึงต้องอุเบกขาที่มโนกรรมความคิดนึกต่างๆอันเป็นฝ่ายผล จึงเกิดผลขึ้นได้ คือไม่เกิดเหตุขึ้นมาอีกหรือดับไป จึงเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา คือ"เมื่อเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ"
ดังนั้น เมื่อมีความรู้สึกทุกข์ใจ พึงมีสติระลึกรู้เท่าทันว่า เกิด"ชาติ"คือมีการเกิดของทุกข์ขึ้นแล้ว, และยังวนเวียนปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านอยู่ในวงจร"ชรา"อันเร่าร้อนอีกด้วยหรือไม่ แล้วอุเบกขาในมโนกรรมความคิดนึกต่างๆเสีย ก็เพื่อตัดเหตุก่อที่จะทำให้วงจรหมุนหนุนเนื่องต่อไปอีก
ทำไมไม่กล่าวสั้นๆไปเสียเลย ไม่เสียเวลาให้เยิ่นเย้อ เสียเวลากันเป็นปีๆก็มี เป็นสิบปีก็มี ตลอดชีวิตก็มี ดลอดชาติต่างๆก็มี ว่าเป็นทุกข์แล้วก็อุเบกขา คือ หยุดคิด หยุดนึกปรุงแต่ง ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่นเสีย ก็สิ้นเรื่อง?
พูดได้ แต่ทำได้ไหม? ก็ขนาดบอกให้หยุดฟุ้งซ่าน หยุดปรุงแต่ง บอกแล้วบอกอีกแต่มันก็หยุดไม่ได้ ทำอย่างไรก็ไม่ยอมหยุด มันคอยจะแวบเข้าไปปรุงแต่งเข้าไปยึดเข้าไปอยากอยู่เรื่อยๆตามที่ได้สั่งสมมาแต่อดีต อีกมักไปอุเบกขาหรือหยุดคิดหยุดนึกในธรรมารมณ์อันเป็นเหตุ จึงต้องเกิดผลขึ้นก่อน จึงไม่สำเร็จ ต้องหยุดคิดหยุดนึกที่หมายถึงอุเบกขาในมโนกรรมความคิดนึกที่เป็นผลที่เกิดขึ้นต่างหาก จึงไม่ไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์ให้เนื่องต่อเป็นวงจรไปได้อีก อีกทั้งเพราะถ้าไม่ฝึกปรือศึกษาให้เกิดปัญญาหรือญาณความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ย่อมไม่มีกำลังคือปัญญาพละ ย่อมเกิดวิจิกิจฉาต่างๆนาๆ ด้วยไม่รู้ทั้งเหตุ ไม่รู้ทั้งผล จึงขาดปัญญาพละ ด้วยไม่มั่นคงว่าเพราะมันเกิดจากเหตุปัจจัยดั่งนี้ๆ..เช่นนี้เอง จึงย่อมไม่สามารถปฏิบัติได้สำเร็จผลดังใจนึกนั่นเอง กล่าวคือไม่มีกำลังของญาณ อันคือปัญญาพละอันจำเป็นสูงสุดในการดับทุกข์อุปาทานนั่นเอง เพราะย่อมไม่สามารถดับทุกข์ได้ด้วยการกดข่มหรือควบคุมบังคับ ไม่ว่าจะด้วยกำลังของสมาธิหรือฌานอันแก่กล้าจนขั้นเหาะเหินเดินอากาศดำดินได้ก็ดี ซึ่งทำได้เพียงวิกขัมภนวิมุตติคือแค่ชั่วคราว ถ้าการได้โยนิโสมนสิการแล้วแจ่มแจ้งได้ ณ. ที่นี้บ้าง ก็ถือว่าเป็นการย่นย่อเวลาอย่างที่สุดแล้ว ย่อมสามารถดับทุกข์ได้ตามควรแห่งฐานะตน เพราะแม้คำสั่งสอนของพระองค์ท่าน ก็ล้วนเพื่อให้เกิดญาณทั้งสิ้นในเหล่าเวไนยสัตว์ที่โปรดได้ ในทุกฐานะ ก็มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทีเดียว
การดับทุกข์ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็นแนวทางการปฎิบัตินั้น มีได้หลายตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับสติ สมาธิและปัญญา ดังกล่าวข้างตัน เมื่อมีสติรู้เท่าทันทุกข์(สังขารูปาทานขันธ์หรือสังขารทุกข์)ในชราอันวนเวียนเร่าร้อนใจ แล้วอุเบกขาในมโนกรรมความคิดนึก แต่วิธีนี้ต้องรู้และยอมรับความจริงว่า ย่อมเป็นทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนวนเวียนอยู่พักหนึ่งหรืออย่างยาวนานแล้วก็ได้ จนกว่ามีสติและญาณ(ปัญญา)เกิดขึ้น เท่าทันสังขารูปาทานขันธ์นั้นๆ แล้วอุเบกขาในมโนกรรมคิดนึกต่างๆเสีย สังขารูปาทานขันธ์นี้ซึ่งไปทำหน้าที่เป็นรูปูปาทานขันธ์อันกลายเป็นฝ่ายเหตุจึงเกิดขึ้นอีกไม่ได้ วงจรของทุกข์ในชราจึงขาดสะบั้นไป ทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนก็ย่อมเสื่อมดับไปด้วยอำนาจธรรมนิยามอันยิ่งใหญ่ ซึ่งในปุถุชนมักเกิดการดับไปใน"ชรา"อย่างชั่วคราวได้ด้วยการจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าชั่วระยะหนึ่งๆคือ มีกิจอื่นๆมาเป็นอารมณ์ขึ้นแทนชั่วคราวโดยไม่รู้ตัว
ส่วนอีกทางหนึ่งคือ สติระลึกรู้เท่าทันที่"ชาติ" คือสติรู้เท่าทันทุกข์แต่แรกเกิด คือมีความชำนาญ แล้วอุเบกขาในมโนกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อหยุดการฟุ้งซ่านปรุงแต่งเสีย เพราะการคิดนึกใดๆหรือธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นย่อมแปรไปเป็นรูปูปาทานขันธ์ในชรา ด้วยการอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปปรุงแต่งให้เกิดรูปูปาทานขันธ์ในชราเสีย ก็คือการดับรูปูปาทานขันธ์หรือความคิดนึกอันเป็นโทษเสียแต่ต้นมือนั่นเอง เช่น มีสังขารขันธ์ทุกข์คือโกรธ จึงเป็นทุกข์อุปาทานชนิดรู้สึกวูบขึ้นมาด้วยความโกรธขณะจิตหนึ่งเท่านั้น เมื่อสติเท่าทันแล้วอุเบกขา ทุกข์นั้น(โกรธ)ย่อมเสื่อมดับไปด้วยอำนาจธรรมนิยามอันยิ่งใหญ่เช่นกัน คือเมื่อสติรู้เท่าทันชำนาญขึ้นดังเช่นใน"ชาติ"นี้ ก็จะเกิดอาการคล้ายดังที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้กล่าวไว้
"ประโยชน์ของการดูจิตนั้นมีอยู่มากนัก เบื้องต้นดูจิตเพื่อให้เห็นความคิด การเห็นความคิดบางทีเผลอบ้าง หลงลืมบ้างไม่เป็นไร ฝึกบ่อยๆ จนชำนาญก็เอาอยู่ เมื่อฝึกจนชำนาญแล้วแขกจะไม่ค่อยมาเยือน เมื่อถึงที่สุดเมื่อแขกมา...ยืนหน้าบ้าน เราก็รู้ แต่ไม่ต้อนรับแขกให้เข้ามาแล้ว"
ทั้งสองวิธีข้างต้น จากการพิจารณาในปฏิจจสมุปบาท แท้จริงแล้วก็คือ การปฏิบัติแบบ "จิตตานุปัสสนา" ในสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง คือการที่มีสติระลึกรู้เท่าทันในสังขารขันธ์(จิตตสังขาร)อันให้โทษ เช่น โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตัณหา ฯ. แล้วปล่อยวางไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่นเสียด้วยอาการของการอุเบกขานั่นเอง
จึงสรุปสั้นได้ ในการปฏิบัติในลักษณาการนี้ คือ
การมีสติระลึกรู้สังขารขันธ์อันให้โทษใน"ชาติ" แล้วอุเบกขา
การมีสติระลึกรู้สังขารขันธ์อันให้โทษใน"ชรา" แล้วอุเบกขา
จริงๆแล้วก็คือ การที่จิตคือสติ เห็นสังขารขันธ์อันให้โทษแล้วอุเบกขาเสียนั่นเอง ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องไปคอยจับหรือสังเกตุว่าอยู่ในตำแหน่งใดๆในปฏิจจสมุปบาทดังรายละเอียดที่แจง แต่การจำแนกแตกธรรมโดยละเอียดในเบื้องต้นขณะนี้ เป็นเพื่อการแจงให้เกิดญาณขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นได้ ย่อมทำให้มีความมั่นคง มั่นใจ ฮึกเหิม ฯ. อันเป็นกำลังสำคัญยิ่ง ด้วยรู้เห็นว่าเป็นไปดั่งนั้นจริงๆ ด้วยตัวตนเอง ไม่ใช่ด้วยอธิโมกข์ ไม่ใช่ด้วยสีลัพพตปาทาน จึงมีกำลังแรงกว่าปกติธรรมดา เรียกว่าเป็นกำลังปัญญา ที่ท่านเรียกว่า ปัญญาพละ
ส่วนอีกทางหนึ่งนั้น ก็ดั่งการปฏิบัติเวทนานุปัสสนานั่นเอง ด้วยการปล่อยวาง กล่าวคือมีความเข้าใจเวทนาแจ่มแจ้ง ดังว่า เวทนา เป็นขันธ์หนึ่งที่จำเป็นของชีวิตดังขันธ์ทั้งหลายเช่นกัน เกิดแต่เหตุปัจจัย คือ การที่ อายตนะภายนอก กระทบ อายตนะภายใน ย่อมเกิดวิญญาณของอายตนะนั้นๆขึ้น และเกิดการประจวบกันของปัจจัยทั้งสามข้างต้นที่เรียกว่าผัสสะ จึงเกิดเวทนาขึ้น เมื่อเกิดแต่เหตุปัจจัยจึงเป็นสังขาร ย่อมไม่เที่ยง คงสภาพเดิมอยู่ได้ ต้องดับไปเป็นที่สุด จึงเกิดดับๆ...จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงย่อมควบคุมบังคับเขาไม่ได้เช่นกันดังขันธ์อื่นๆ, เวทนา หมายถึง การเสวยอารมณ์ คือเมื่อเสพเสวยอารมณ์ ย่อมหมายถึงรับรู้ในรสของสิ่งที่กระทบสัมผัสคือผัสสะ ซึ่งจำแนกรสของการรับรู้ออกเป็น ๓ คือ สุขจากการผัสสะคือสุขเวทนา๑ ทุกข์จากการผัสสะคือทุกขเวทนา๑ และไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆจาการการสัมผัสหรือผัสสะคืออทุกขมสุขเวทนา๑ ซึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ ต้องเกิดขึ้นทุกครั้งไปเป็นธรรมดาเมื่อมีการผัสสะไม่ว่าจากอายตนะภายในใดๆก็ตามที ตามหน้าที่ขันธ์ของเขา ดังพระองค์ท่านทรงเปรียบเทียบไว้ว่า เวทนาอุปมาดั่งเม็ดฝนที่ตกกระทบกับผิวน้ำ ที่มีความหมายว่า เมื่อเม็ดฝนตกกระทบกับผิวน้ำ โดยธรรมหรือธรรมชาติ ย่อมต้องเกิดผลคือฟองน้ำขึ้น ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เป็นระลอกบ้างเป็นธรรมดา แสดงถึงเวทนาว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยเหมือนฟองน้ำ จึงไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนัตตาจึงไม่มีแก่นแกนสาระแท้จริง ดังฟองน้ำที่เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็แตกดับไป และถ้ายังพิจารณาด้วยการโยนิโสมนสิการโดยแยบคายต่อไปอีกจะเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุปัจจัยดังกล่าวคือการกระทบกันดังกล่าวแล้ว ไม่เกิดผลเป็นฟองน้ำหรือระลอกดังกล่าวขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่? ผิดวิสัยของโลกหรือไม่? เวทนาก็เป็นเฉกเช่นนั้น เมื่อเกิดการผัสสะจึงย่อมต้องเกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งจากการผัสสะ ต้องเกิดขึ้นเหมือนดั่งฟองน้ำเป็นธรรมดา สักว่าเวทนา มันเป็นเช่นนี้เอง เพราะย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย จากการผัสสะ มีการผัสสะกันเมื่อไรก็ย่อมเกิดเวทนาขึ้นทุกคราไป บางท่านที่ไม่ได้พิจารณาให้ดีก็อาจกล่าวว่า เมื่อผัสสะแล้วไม่เกิดขึ้นก็มีบ้าง แต่แท้จริงแล้วมันเกิดเวทนาขึ้นเพียงแต่เป็นเวทนาชนิดอทุกขมสุขเวทนาหรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า"อุเบกขาเวทนา" เป็นเวทนาที่เสวยอย่างเคยชินยิ่งเป็นปกติทั่วไปเกือบตลอดเวลา จนเคยชินยิ่งดุจสวมใส่เสื้อผ้า ที่ไม่เจตนาขึ้นก็ไม่รู้รสการผัสสะของกายกับเสื้อผ้าเลย, เวทนาจึงเป็นสุขทุกข์ธรรมชาติ เป็นขันธ์ที่เกิดขึ้นเพื่อติดต่อรับรู้โลก(คืออายตนะภายนอกต่างๆ) และแม้ช่วยป้องกันภัยตน ไม่มีเสียก็ดำรงขันธ์ไม่ได้เช่นกัน ดังมือถูกไฟ ย่อมเกิดทุกขเวทนา จึงเกิดสังขารขันธ์ต่างๆขึ้น คือเกิดกายสังขารจึงเกิดการสะดุ้งชักมือหนี เกิดวจีสังขารคืออุทานด้วยความเจ็บ เมื่อรู้ความจริงว่ามันต้องเกิดมีเป็นเช่นนี้เอง หลบก็ไม่ได้ หนีก็ไม่พ้น จึงอย่าไปเกิดตัณหาขึ้น เพราะไม่ว่าปรารถนาคืออยากหรือไม่อยากสิ่งใดก็ตามย่อมไม่ได้ตามปรารถนาแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยโดยแท้จริง เมื่อไม่เกิดตัณหา วงจรของทุกข์ก็ขาดสะบั้นดับลง ตั้งแต่องค์ธรรมเวทนาในปฏิจจสมุปบาท กลายเป็นเพียงกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ดำเนินต่อไป แต่แม้ไม่เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นแต่ก็ต้องรู้และยอมรับความจริงว่า ย่อมมีความรู้สึกเกิดจากการผัสสะในสิ่งนั้นๆ เป็นสุขสัมผัส(สุขเวทนา) เป็นทุกข์สัมผัส(ทุกขเวทนา) หรือเฉยๆ(อทุกขมสุขเวทนา)จากการผัสสะหรือสัมผัสเป็นธรรมดา (ไม่เหมือนสุขใจทุกข์ใจของสังขารขันธ์) และเพราะเป็นทุกข์ธรรมชาติ เป็นการทำตามหน้าที่ของเวทนาขันธ์ แต่ทุกข์ประเภทนี้ไม่ใช่ดั่งทุกข๋อุปาทานอันเร่าร้อนเผาลนวนเวียนเป็นวงจรทุกข์อันยาวนาน เพียงเกิดขณะมีการผัสสะกันอยู่ชั่วขณะๆเท่านั้น แต่มักเผลอไปเกิดตัณหาความรู้สึกทะยานอยากหรือไม่อยากในทุกขเวทนาหรือสุขเวทนานั้นๆขึ้นมา จึงย่อมเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน พาให้วนกลับไปเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของทุกข์อีกครั้ง และถ้าทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา แม้อทุกขมสุขเวทนาเหล่านั้นมีอามิส ก็ต้องยิ่งพึงระวังจะเกิดตัณหาได้ง่าย เหมือนดังฟืนเคยไฟ ซึ่งย่อมติดไฟได้ง่าย เวทนามีอามิสจึงทำให้เกิดตัณหาได้ง่าย ด้วยปล่อยวางเวทนา เมื่อเกิดเวทนาแล้วแม้เป็นทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา แต่ด้วยปัญญาอันสั่งสมไว้ดีแล้วเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง จึงไม่เกิดตัณหาขึ้น ทำให้สังขารขันธ์ที่เกิดเนื่องสัมพันธ์ต่อมานั้นไม่เป็นทุกข์เผาลนใจ ดังนั้นเมื่อสติรู้เท่าทันเวทนาด้วยปัญญาและด้วยการอุเบกขาเสีย เพื่อไม่ให้เกิดการเกิดเวทนาใหม่หรือสังขารขันธ์คิดใหม่ ขึ้นมาสืบเนื่องขับเคลื่อนให้วงจรหมุนเวียนต่อไปอีกเช่นกันดุจเดียวกับจิตตานุปัสสนาในข้างต้น
จึงพิจารณาในเวทนาดังที่กล่าวมา สักว่าเวทนา ที่ใช้เป็นเพียงเครื่องรับรู้ เครื่องระลึกเพื่อการใช้งานในการดำรงชีวิต จึงอย่ามีตัณหาความทะยานอยากจากเวทนาที่เกิดขึ้นมานั้นๆ
ลองมาทดลองกัน ตั้งสติตั้งใจให้ดี แล้วตีแขนตัวเองแรงๆ(ควรตีแรงหน่อย) ความรู้สึกรับรู้ในทุกขเวทนาจากการกระทบสัมผัสหรือผัสสะย่อมเกิดขึ้น เกิดการรับรู้รสของทุกขเวทนาทางกายขึ้นอย่างแน่นอน(ถ้าตีแรงพอควร) เกิดเสพเสวยรสสัมผัสพร้อมด้วยความรู้สึกเจ็บจากการผัสสะ(ทุกขเวทนากาย)ที่แขน ที่ยังคงต้องเกิดเป็นธรรมดา แต่พิจารณาจิตดู จะไม่เป็นทุกข์อันเกิดแต่ทุกขเวทนาใจ เพราะเรามีสัญญาทั้งจำได้และหมายรู้อยู่แล้วว่า เราเองเป็นผู้ตีผู้กำหนดเป็นผูกระทำเอง จึงไม่เกิดตัณหา(วิภวตัณหา-ความไม่อยาก)ใดๆขึ้น จึงเกิดสังขารขันธ์อย่างเป็นกลางๆคืออุเบกขา(เป็นความรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติใดๆเป็นเพียงอาการของจิตอย่างหนึ่งดังในเจตสิก๕๐ หัวข้อที่ ๓๔ อันหมายถึงเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งเท่านั้น) แต่ถ้าเราบ่นหรืออุทานออกมา "โอ๊ย เจ็บ" อันนี้เป็นสังขารขันธ์ ที่ยังให้เกิดวจีกรรมเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนใจ ถ้าตีแรงมากเกินไปจนสะดุ้ง ก็เป็นเพียงกายกรรมอย่างหนึ่ง
ตีแขนแรงๆ ผัสสะ รู้ว่าตีตัวเองจึงเป็นกลาง โผฏฐัพพะ
|
พึงสังเกตุว่าเวทนานุปัสนานี้ ที่ต้องมีปัญญาพละอันเกิดแต่ญาณ เข้าใจเวทนาเขาอย่างแจ่มแจ้ง รู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด ดับลงเพราะอะไร และจะดับได้อย่างไร เพราะจะบันทึกจดจำเป็นสัญญาได้นั่นเอง เพื่อจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางเวทนาได้ แล้วอุเบกขาเพื่อไม่ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปอีก
ในการปฏิบัติ หมายถึงการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันนั้น รู้เท่าทันตรงไหน ก็ปฏิบัติตรงนั้นไป สติรู้เร็วบ้าง(ที่เวทนา) รู้ช้าบ้าง(ที่ชาติหรือชรา) รู้ภายหลังบ้าง(รู้ระลึกชาติบ้าง) หลงลืมไปบ้าง ไม่เป็นไร อย่าถือสา เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ ย่อมเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งขึ้นเองโดยธรรมชาติ และย่อมเกิดความเคยชินสั่งสมยิ่งจนเป็นสัญญาอันดีงาม(สัญญาเหมือนดั่งการเรียนอ่านหนังสือ ที่ได้สั่งสมอบรมมาดีจนเห็นตัวหนังสือก็จำความได้หมายรู้ได้ทันที) แล้วย่อมเกิดการทำเองได้โดยอัตโนมัติเหมือนการอ่านหนังสือได้นั่นเอง คือเป็นมหาสติแล้วนั่นเอง
อนึ่งการมีสติรู้เท่าทันเวทนานั้น เช่น ทุกขเวทนากาย ดังการตีแขนทดลองข้างต้น หรือการผัสสะรุนแรงทางกายใดๆ เช่น การกระทบต่างๆ ปวดท้อง ปวดหัว ปวดฟัน ถูกทำร้าย ฯ. เป็นสิ่งที่พึงพินิจพิจารณาสังเกตุได้ง่าย แต่ทุกขเวทนาใจจะสังเกตุได้ยาก เพราะมักเกิดการไปสับสนกับสังขารขันธ์ทุกข์ทางใจ จนสับสนหรือแยกแยะไม่ออก พิจารณาไม่ถูก ต้องพิจาณาโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะได้จับตัวได้ง่ายขึ้นนั่นเอง แต่พอแนะข้อสังเกตุให้ได้บ้าง คือ เมื่อจิตคิดนึกหรือผุดคิดผุดนึกถึงเรื่องทุกข์ๆเรื่องใดประการหนึ่งที่เร่าร้อนรุนแรงพอประมาณ ขณะจิตแรกๆ ที่จิตแว๊บหรือวูบวาบ,ใจแป้วทันทีหรือใจสั่นระรัวรู้สึกว่าทุกข์ นั่นแหละมักเป็นทุกขเวทนา การเสพเสวยในรสของการสัมผัสผัสสะกับความคิด หรือการเห็น หรือการได้ยิน ฯ. คือรับรู้รสจากการผัสสะไม่ว่าจะเกิดจากอายตนะใดก็ตาม เป็นทุกขเวทนาทางใจที่ค่อนข้างรุนแรง ที่รู้สึกแว๊บหรือวูบวาบขึ้นนั้นเพราะการร่วมด้วยทุกขเวทนาทางกายนั่นเอง จึงส่งผลให้จิตแว๊บหรือวูบวาบก็คือใจสั่นระรัวหรือความดันโลหิตขึ้น จึงรู้สึกแว๊บหรือระรัวจากการรู้รสของเหตุที่กระทบผัสสะดังกล่าวขึ้น คือเสพเสวยในรสจากการผัสสะกับธรรมารมณ์ความคิดนึก(อันเป็นเหตุ)ซึ่งย่อมเกิดขึ้นเป็นเบื้องแรก, เมื่อเห็นความคิดต่างๆนั่นแหละสังขารขันธ์ชนิดมโนสังขาร คือความรู้สึกหรืออารมณ์ทางโลกต่างๆจึงเกิดขึ้นตามมา(อันเป็นผลจากเวทนา)นั่นแหละสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์(ผล) จึงยังให้เกิดความคิด ธรรมารมณ์ต่างๆ แต่ขณะเกิดขึ้นนั้นรวดเร็วเพียงขณะจิตหนึ่งดุจสายฟ้าแลบเท่านั้น จึงต้องพิจาณาโดยละเอียดแยบคาย ถ้ามีสติรู้เท่าทันความคิด คือรู้เท่าทันตัณหาหรือสังขารขันธ์ทุกข์ที่ทำให้เกิดมโนกรรมคิดนึกปรุงแต่งต่างๆขึ้นมาภายใต้อำนาจของอุปาทานตัวกูของกู หรือกลายเป็นสังขารูปาทานขันธ์
ดังนั้นถ้าเกิดความรู้สึกใดๆที่ประกอบด้วยการกระทำ ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือทางใจเช่นความคิด ก็คือสังขารขันธ์นั่นเอง
บางท่านสติระลึกรู้เท่าทันเวทนาได้ง่าย บางท่านก็สติระลึกรู้เท่าทันสังขารขันธ์ได้ดี บางท่านก็มีสติเท่าทันได้ทั้งในเวทนาและสังขารขันธ์ ดังนั้นการที่สติระลึกรู้เท่าทันอันใดขึ้นอยู่กับการสั่งสมความชำนาญของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่ามีสติระลึกรู้เท่าทันอันใดแล้ว ต้องพึงประกอบด้วยปัญญาด้วยว่า สักว่าเกิดจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ใช่เราเป็นผู้ควบคุมบังคับ จึงอย่าไปยึดถือแม้เวทนาหรือสังขารขันธ์
ในกรณีของสุขเวทนาก็เช่นกัน ลองพิจารณาย้อนระลึกชาติดู กลับไปสมัยแรกๆ ที่เมื่อตากระทบเจอคนที่รักหรือคนถูกใจในช่วงแรกๆ ย่อมเกิดความรู้สึกรับรู้ในรสสัมผัสของความสุขสัมผัสทางใจที่เกิดจากตาไปกระทบนี้ได้ และอาจยังร่วมด้วยด้วยสุขสัมผัสทางกายคือสุขเวทนาทางกาย คือมีความสดชื่น กระดี๊กระด๋าได้ในทันทีที่ตากระทบรูปคนรัก ถ้าสติไม่รู้เท่าทันแล้ว เวทนาเหล่านี้ก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารขันธ์ชนิดตัณหาขึ้นเนื่องต่อไปได้นั่นเอง โดยการคิดโน่นคิดนี่
บางทีผู้เขียนเอง ก็เรียกเวทนาว่า สุขทุกข์จากการสัมผัสหรือผัสสะ เพื่อป้องกันการสับสนและเพื่อการจำแนกแตกธรรม เช่นสุขเวทนา ก็คือ สุขจากการผัสสะ ทุกขเวทนาคือทุกข์จากการผัสสะ คือเพียงแต่รับรู้รส จึงมีความแตกต่างจาก สุขใจ ทุกข์ใจ อันเป็นสังขารขันธ์หรืออารมณ์ทางโลกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึก หรือความเป็นไปแห่งจิต ในขณะหรือชั่วระยะเวลาหนึ่งๆ ซึ่งทำให้เกิดสัญเจตนาในการกระทำต่างๆได้อีกด้วย จึงเป็นความรู้สึกที่ส่งผลต่อการกระทำได้
กล่าวดังนี้แล้วอาจพอพิจารณาแยกแยะเห็นความแตกต่างระหว่างเวทนาขันธ์ และ สังขารขันธ์ ได้บ้าง
อาจมีผู้สงสัย เวลากล่าวเรื่องกระบวนจิตของขันธ์ ๕ จะมีสัญญาความจำได้หมายรู้เข้ามาเกี่ยวข้องทุกคราไป แต่ในวงจรปฏิจจสมุปบาทเหตุใดจึงไม่กล่าวถึงสัญญาใดๆเลย
เหตุเพราะสัญญาในปฏิจจสมุปบาทนั้น ก็คือส่วนอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องซึมซ่าน แล้วกำเริบเสิบสานขึ้นมาย้อมจิต ก็คือสัญญาอย่างหนึ่งนั่นเอง แต่ย่อมเจือกิเลสมาอยู่ในที และมีการกล่าวถึงแต่เบื้องต้นไว้แล้ว และดังพระองค์ท่านทรงแสดงอยู่ในเบื้องท้ายของปฏิจจสมุปบาททุกคราไปคือ อาสวะกิเลส คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เพราะนอนเนื่องสั่งสมจดจำอยู่ในจิตมาแต่อดีต เพียงรอการกำเริบเสิบสานขึ้นมานานแสนนานแล้ว
อีกปัญหาหนึ่งที่สงสัยกัน คือเมื่อตัณหาเป็นเหตุ เป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ ดังที่พระองค์ท่านตรัสสอนในอริยสัจ ๔ อันเป็นที่รู้กันทั่วไป ทำไมเราไม่ดับตัณหาเสียโดยตรง จะได้ดับทุกข์เสียได้ง่ายๆสั้นๆตรงจุด ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ
เหตุเพราะดังที่ได้เคยกล่าวไว้อยู่เนืองๆในเรื่อง "ขันธ์ทั้ง ๕ ทำงานโดยอิสระ" ตัณหาแล้วแท้จริงก็คือสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง คือ ธรรมหรือสิ่ง(อารมณ์ทางโลก) ที่ปรุงแต่งจิต ให้เกิดสัญเจตนา(ความจงใจหรือความคิดอ่าน)ให้เกิดการกระทำต่างๆขึ้น เพียงแต่ตัณหานั้นสัญเจตนาความจงใจความคิดอ่านนั้นกลับกลายเป็นฝ่ายอุปาทานเสีย จึงทำให้เป็น สิ่งที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดอุปาทานคือยึดมั่นถือมั่นหรือเชื่อมั่นตามกิเลสที่สั่งสมของตนเป็นสำคัญ จึงต่างกันที่สัญเจตนาเท่านั้น ฝ่ายหนึ่งเป็นกล่าวโดยทั่วๆไป แต่อีกฝ่ายคือตัณหาเป็นอกุศลสังขารขันธ์นั่นเอง ดังนั้นเมื่อตัณหาแท้จริงแล้วคือสังขารขันธ์ อันเป็นขันธ์อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอนัตตา จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ เขาทำงานเป็นอิสระของเขา ถูกต้องตามหน้าที่และธรรมของเขาคือธรรมชาติแล้ว จึงย่อมไม่สามารถไป"ดับ"หรือไป"ละ"เขาได้ แต่สิ่งที่นักปฏิบัติทำได้คือ คือมีสติรู้เท่าทันแล้วก็อุเบกขาเพื่อดับเหตุต่างๆทั้งหลายดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น การคิดนึกปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน ฯ.ทั้งหลายอันเป็นมโนกรรมนั่นเอง ตัณหาจึงเกิดไม่ได้๑(คือการดับไปคือการทำให้เกิดขึ้นเนื่องต่อไปไม่ได้อีก จึงเป็นการดับไปอย่างถูกต้อง) หรือการตัดวงจรของทุกข์ที่เหตุในชราคือสังขารูปาทานขันธ์อันยังให้เกิดมโนกรรม(คือคิดนึกปรุงแต่งที่ประกอบด้วยอุปาทานแล้วนั่นเอง) ก็เพื่อไม่ให้ตัณหาหรือสังขารขันธ์ทุกข์ได้เกิดดับๆ..สืบเนื่องต่อไปอีกนั่นเอง๑ ตัณหาที่เกิดมาแล้วนั้นก็เสื่อมดับไปด้วยธรรมนิยามเป็นที่สุด ลักษณาการจึงเป็นไปดังที่กล่าวถึงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ขึ้นมากล่าวอยู่เนืองๆ คือ
มีผู้เรียนถามหลวงปู่ว่า "หลางปู่ ยังมีโกรธไหม" หลวงปู่ตอบว่า "มี แต่ไม่เอา"
เป็นคำตอบตามความสัตย์จริงอันยิ่ง เหตุที่ท่านกล่าวยอมรับว่า"มี" ความโกรธอยู่นั้น เพราะโกรธนั้นก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงมีอยู่เป็นธรรมดาของขันธ์ ไม่ว่าอริยบุคคลระดับไหน การไปดับตรงๆดื้อๆ หรือจะไม่ให้เกิดขึ้นเลยย่อมไม่ได้, แต่"ไม่เอา"ไปปรุงแต่งต่อหรืออุเบกขาสัมโพชฌงค์เสียนั่นเอง เพื่อไม่ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปได้ ดังกล่าวมาหลายวิธีข้างต้นนั่นเอง โกรธก็ย่อมเสื่อมดับไป ในขณะจิตหนึ่ง จึงเป็นการตัดวงจรของทุกข์ไม่ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปเสียนั่นเอง แต่ในความคาดเดาของปุถุชนนั้น มักคาดเดาไปกันเองว่าท่านต้อง "ไม่มี" เมื่อเข้าใจผิดไปดั่งนั้น เมื่อมีการปฏิบัติจึงเห็นเป็นไปตามแนวทางตามที่เข้าใจผิด(ทิฏฐุปาทาน)ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปโดยไม่รู้ตัว คือโน้มเอียงศึกษาค้นหาไปในทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือดับสังขารขันธ์ทุกข์ต่างๆอย่างตรงๆดื้อๆอย่างหักหาญโดยห้าวหาญ โดยหารู้ไม่ว่าไม่สามารถไปดับขันธ์อันเป็นสภาวธรรมของชีวิตได้โดยตรงๆดังสวิตช์ไฟ ด้วยกำลัง แม้ด้วยฌานสมาธิที่แม้มีกำลังมากแต่ก็ได้เพียงกดข่มไว้ในชั่วขณะที่อยู่ในสภาวะนั้นเท่านั้น ที่ท่านกล่าวว่าจึงเป็นเพียง วิกขัมภนวิมุตติ การพยายามดับโดยหักหาญจึงเปรียบเสมือน วิ่งเอาหัวชนภูเขา จึงย่อมไม่สามารถก้าวหน้าได้ในการปฏิบัติได้ เพราะเป็นการไปต่อสู้กับธรรมชาติ อันเป็นวิสัยของโลก จึงต้องดำเนินกลยุทธตามหลัก"อิทัปปัจจยตา" จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปตามหลักพระศาสนา
หลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงต้องอุเบกขาในมโนกรรมความคิดนึกที่เป็นผลจากสังขารขันธ์ ไม่ใช่ในธรรมารมณ์ความคิดนึกทั่วไปที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตอีกด้วยนั่นเอง จึงจักเกิดผลคือดับทุกข์ได้
ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโก
ความจริงอันน่ารู้ยิ่งเกี่ยวกับ ตัวกู ของกู