ชรา-มรณะ และอาสวะกิเลส ในปฏิจจสมุปบาท

        ชรา ที่จะกล่าวในที่นี้ เป็น ชรา ในองค์ธรรม ชรา-มรณะและอาสวะกิเลสอันมี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปปายาส อันเป็นองค์ธรรมเดียวกันในวงจรปฏิจจสมุปบาท

        ชรา โดยความหมายทั่วไป มีความหมายแปลว่า ความแก่ ความทรุดโทรม,  อันล้วนเกิดขึ้นเพราะความไม่เที่ยง จึงมีการเปลี่ยนแปลง หรืออาการแปรปรวนไปเป็นธรรมดา  จึงมีความหมายหลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับสาระและธรรมนั้นๆ  ดังนั้นจึงอย่าวิจิกิจฉาหรือยึดมั่นด้วยทิฏฐุปาทานในความหมายของคำว่าชรา ที่หมายถึงความแก่ ความเฒ่าของสังขารร่างกายแต่อย่างเดียว  อันจักเป็นดังที่พระองค์ท่านกล่าวไว้ว่า "ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น" ในอวิชชาสูตร,  แม้ในพระไตรปิฏกเอง จึงมีการกล่าวถึงชราหรือความแปรปรวนไว้หลายนัยด้วยกัน  ดังเช่น ชรา ที่หมายถึงความแปรปรวนวนเวียนของทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทก็มี   ชรา ที่หมายถึงแปรปรวนถดถอยของสังขารร่างกายหรือความแก่เฒ่าในทุกขอริยสัจก็มี หรือในมหาสติปัฏฐาน ๔ ก็มี   ชรา ที่หมายถึงการแปรปรวนของธรรมหรือจิตหรือขันธ์ต่างๆในชราธรรมสูตรก็มี  ฯลฯ.

        ดังนั้น ชรา โดยโลกุตระหรือทางธรรมแล้ว จึงมีความหมายถึง การเปลี่ยนแปลง การแปรปรวน การทรุดโทรมลง ของบรรดาสังขารทั้งปวง  จึงไม่ใช่หมายเฉพาะแต่สังขารกายแต่อย่างเดียวเท่านั้น

        ตามธรรมชาตินั้น   สังขารในความหมายพระไตรลักษณ์ที่ครอบคลุมสิ่งที่ถูกปรุงแต่งทุกสรรพสิ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมตั้งอยู่ระยะหนึ่งอย่างชราหรืออย่างแปรปรวนถดถอยหรือเสื่อมลงไปนั่นเอง  แล้วจึงต้องดับไปเป็นที่สุด

        ดังนั้น ชรา ในวงจรปฏิจจสมุปบาท  จึงมีความหมายเฉกเช่นเดียวกัน ในความแปรปรวน ความไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นเช่นกัน   แต่เน้นแสดงถึงความแปรปรวนที่หมายถึง ความแปรปรวนของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕  หรือความแปรปรวนของอุปาทานทุกข์  ซึ่งก็คือความวนเวียนอยู่ในอุปาทานทุกข์นั่นเอง และทุกข์เป็นชนิดอุปาทานทุกข์ที่มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจของตัวของตนเข้ามามีอำนาจครอบงำ ดำเนินและเป็นไปโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาตลอดชีวิต ไม่ได้เป็นทุกข์ธรรมชาติเหมือนดังเวทนาที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเมิ่อมีการผัสสะ   แต่เป็นความทุกข์ชนิดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเพียรพยายามสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้ดับมันลงไป  อันคืออุปาทานทุกข์   อันก่อให้เกิดความรู้สึกรับรู้ที่เร่าร้อนเผาลนด้วยไฟของเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน  (เวทนูปาทานขันธ์) อันดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างวนเวียนต่อเนื่องจึงยาวนาน และเสมอๆเป้นเอนกอยู่ในชรา  นี้นี่เอง

         ชราในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง สภาวะของความวนเวียนและแปรปรวนของเหล่าอุปาทานขันธ์ ๕  ที่เกิดดับๆๆ วนเวียนอย่างเร่าร้อนเผาลน  

         ตามปกตินั้น  กระบวนจิตที่ดำเนินไปในวงจรปฏิจจสมุปบาทจนถึงองค์ธรรมชาติใช้เวลาชั่วขณะจิต หรือเร็วกว่าสายฟ้าแลบเสียอีก จึงต้องใช้ทั้งสติและปัญญาในการรู้เท่าทันเท่านั้น   แต่เมื่อดำเนินไปอยู่ในองค์ธรรมชรา อันเป็นที่เกิดดับของอุปาทานขันธ์๕อันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน กลับอ้อยอิ่งวนเวียนแบบ เกิดแล้วดับ  เกิดแล้วดับๆ  วนเวียนแปรปรวนอยู่เยี่ยงนั้น  จนกว่าจะมีสติรู้เท่าทันและให้ปัญญาจัดการต่อปัญหานั้น   หรืออาจเบี่ยงเบนบดบังด้วยเหตุอันหนึ่งอันใด หรือด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์เองจึงดับไป   จึงเป็นที่เกิดของสภาวะการรับรู้ความรู้สึก(เวทนูปาทานขันธ์)เป็นทุกข์หรือสุขอันยาวนาน     ถึงแม้เป็นสุขแต่ก็ล้วนเผาลน และเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ในภายหน้าด้วยอาสวะกิเลส

         ตามที่กล่าวอยู่เสมอๆว่า ตามธรรมชาติแล้วปุถุชนดำเนินชีวิตเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท แต่เป็นไปโดยไม่รู้ตัวและเพราะความไม่รู้(อวิชชา)   และองค์ธรรม ชรา นี้นี่เอง ที่ปุถุชนรู้สึกทั้งเป็นสุขและเป็นทุกข์  หรือทั้งสุขทั้งทุกข์คละเคล้ากัน แต่ก็่ล้วนแฝงด้วยความกระวนกระวาย เร่าร้อน เผาลน ด้วยอำนาจของอุปาทาน   กล่าวได้ว่าเป็นองค์ธรรมที่ปุถุชนดำเนินและเป็นไปใน ชรา  นี้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นไปด้วยความไม่รู้  ดังที่แสดงชราไว้แล้วใน "ตัวอย่าง การเกิดปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวัน"  เมื่อโยนิโสมนสิการก็จะเห็นความคิดปรุงแต่งอันล้วนแฝงอุปาทานที่เกิดขึ้นวนเวียน เกิดๆดับๆ ได้อย่างยาวนาน จนกว่าจะเกิดการเบี่ยงเบนหรือบดบังจนเกิดการแยกพรากโดยสภาวะธรรมอื่นๆ และยังเก็บสั่งสมเป็นอาสวะกิเลส ดังที่กล่าวมาแล้ว   และที่ชรานี้นี่เอง เป็นที่ดำเนินไปของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ในรูปความคิดนึกปรุงแต่ง อันเป็นทุกข์ ที่ปุถุชนทั้งหลายพากันร้อนลุ่มเผาลน  อยู่กันเป็นระยะเวลานานๆ  และเมื่อดับไปเพราะการแยกพรากด้วยเหตุอันใดก็ดี  ก็กลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆเพราะอาสวะกิเลสและอวิชชาเป็นปัจจัยแก่กันและกันนั่นเอง

ภาพขยายวงจรของอุปาทานขันธ์ทั้ง๕ที่จักเกิดใน ชรา อย่างค่อนข้างต่อเนื่อง และเป็นไปได้อย่างยาวนานขึ้นอยู่กับการคิดปรุงแต่ง

   ...ตัณหา → อุปาทาน → ภพ → ชาติ  รูปูปาทานขันธ์ + ใจ + วิญญูาณูปาทานขันธ์  anired06_next.gif เวทนูปาทานขันธ์ → มรณะ → อาสวะกิเลส →... 

                        อุปาทานขันธ์๕  อันคือ คิดปรุงแต่งในชราอันเป็นทุกข์           

                สังขารูปาทานขันธ์ มโนกรรมคิดที่เป็นทุกข์         สัญญูปาทานขันธ์   

              ในวงจรล้วนเป็นอุปาทานขันธ์ เพราะล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว

        อุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕   ได้แก่

        รูปูปาทานขันธ์ = อุปาทานรูปขันธ์  หมายถึง  รูป หรือสิ่งถูกรู้หรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะภายใน คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ   ดังนั้นจึงมีความหมายครอบคลุมทั้ง รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  ธรรมารมณ์(สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยใจ เช่น ความคิด)  แต่ล้วนแฝงด้วยอุปาทานความยึดมั่นในพึงพอใจของตัวของตนที่เกี่ยวข้องกับรูปนั้นด้วย

        วิญญาณูปาทานขันธ์ = อุปาทานวิญญาณขันธ  หมายถึง  วิญญาณหรือระบบประสาทที่สื่อสารการกระทบผัสสะ หรือการรู้แจ้งในสิ่งที่มาผัสสะ แต่ก็ล้วนแฝงด้วยอุปาทานเช่นเดียวกัน  ประสาทสื่อสารการกระทบสัมผัสนั้น จึงโน้มเอียงไปตามอุปาทานโดยไม่รู้ตัว

        เวทนูปาทานขันธ์อุปาทานเวทนาขันธ์  หมายถึง ความรู้สึกรับรู้ที่เกิดแต่การผัสสะ  แต่ก็ล้วนแฝงด้วยอุปาทาน  ความรู้สึกรับรู้นั้นจึงเอนเอียงแทรกแซงด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจของตัวของตนเป็นใหญ่เช่นเดียวกันโดยไม่รู้ตัว

        สัญญูปาทานขันธ์อุปาทานสัญญาขันธ์  หมายถึง การจำได้ และการหมายรู้  แต่ก็ล้วนแฝงด้วยอุปาทาน  จึงจำได้และหมายรู้เอนเอียงไปตามความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจของตัวของตนเองเป็นสำคัญ  จึงย่อมทำให้การหมายรู้นั้น หมายรู้ไปตามความเชื่อความเข้าใจของตนเองโดยไม่รู้ตัว  จึงไม่เห็นเป็นไปตามความเป็นจริงอันถูกต้องของสิ่งหรือธรรมนั้นๆ

        สังขารูปาทานขันธ์อุปาทานสังขารขันธ์  หมายถึง  สังขารการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งทางกาย  วาจา  ใจ   แต่ก็ล้วนแฝงด้วยอุปาทาน  จึงกระทำและเป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสหรือความพึงพอใจของตัวและตน

         แล้วสังขารูปาทานขันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ หรือมโนกรรมความคิดนึกที่เกิดขึ้นนี้  ก็จะแปรปรวนไปเป็นความคิดต่างๆที่เนื่องสัมพันธ์กับสังขารูปาทานขันธ์ที่เกิดนั้น  แล้วไปทำหน้าที่เป็นรูปูปาทานขันธ์หรือธรรมารมณ์ขึ้นใหม่อีก  จึงเกิดการวนเวียน แปรปรวน และเร่าร้อนอยู่เยี่ยงนั้นตลอดเวลา

         จากกระบวนจิตที่เกิดขึ้นในชรานั้น  จะเห็นได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้อย่างยาวนานหรือสั้นก็ได้  ขึ้นกับการคิดนึกปรุงแต่งอันแฝงด้วยอุปาทานนั่นเอง  จึงเป็นองค์ธรรมที่เกิดขึ้นยาวนาน  และเป็นทุกข์หรือเสวยผลอันเร่าร้อนเผาลนที่สุดในองค์ธรรมทั้งหลายของกระบวนการการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท   ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดอุปาทานทุกข์เหล่านี้วนเวียนว่ายตายเกิดอยู่  คือ การมีสติรู้เท่าทัน  ให้ละตัณหาเสีย แล้วให้ถืออุเบกขาเป็นกลางวางทีเฉย ไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยการคิดปรุงแต่งด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆเฉพาะในเรื่องอุปาทานทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น    และถ้ากำลังไม่พออาจเบี่ยงเบนบดบังด้วยการเปลี่ยนอริยาบถ เป็นต้น  เช่น หันไปทำสิ่งอื่นๆ  หรืออาศัยการพิจารณาธรรมเป็นเครื่องอยู่

         ฟังดูแล้วง่ายแสนง่าย  ไม่น่ายากลำบากในการปฏิบัติแต่อย่างใด  แต่การณ์กลับไม่เป็นไปง่ายๆเช่นนั้น    เหตุเนื่องเพราะในปุถุชนนั้น ความคิดปรุงแต่งนั้นจัดเป็นองค์ธรรมสังขารอย่างหนึ่งที่ได้ผ่านกาลเวลาสั่งสมมาอย่างยาวนาน  จนกล่าวได้ว่า ไม่รู้ว่านานสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น  หรือเรียกว่าตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน  จนเป็นสังขารความเคยชินที่มีความชำนาญอย่างยิ่งยวด จึงเกิดการกระทำปรุงแต่งอยู่เสมอๆโดยไม่รู้ตัวเป็นธรรมดา   จึงเพลิดเพลินไปกับการปรุงแต่ง แต่อย่างเป็นทุกข์ไปกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา  จึงทำให้จิตดำเนินอยู่ในกองทุกข์เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว เป็นประจำสมํ่าเสมอ

         ส่วนในนักปฏิบัติ  อาจมีสติเห็นจิตคิดปรุงแต่งเหล่านั้นก็จริงอยู่  คือเจริญสติเช่น สติปัฏฐาน ๔ มาดีพอควรแก่การใช้งานแล้ว  แต่ไม่สามารถหยุดการปรุงแต่งเหล่านั้นได้อีกเช่นกัน  อันอาจเนื่องจากจิตตกอยู่ในอำนาจของอุปาทานที่มีกำลังอำนาจแรงกล้าขนาดที่สามารถครอบสรรพสัตว์มาไว้ได้ตลอดทุกกาลสมัย ได้ครอบงำเสียแล้ว   จึงพยายามหยุดการปรุงแต่งเท่าใดก็ไม่สามารถหยุดได้  เป็นต้องหลุดเข้าไปวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ในชราทุกทีไป   ทั้งๆที่มีสติเห็นจิตสังขารปรุงแต่งเหล่านั้นอย่างแจ่มแจ้ง   เกิดขึ้นเพราะขาดสติเท่าทันและกำลังของจิตอันเกิดแต่ปัญญานั่นเอง  เนื่องเพราะยังไม่มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งพอควร  จึงไม่เห็นเหตุว่าเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด  เป็นการปฏิบัติตามเป็นสูตรสำเร็จแต่ฝ่ายเดียวและไม่เจริญวิปัสสนาญาณไปด้วยเพื่อให้เกิดปัญญาหยั่งรู้อย่างแจ่มแจ้งแก่ใจตนเอง   ดังนั้นเมื่อเกิดเวทนาอันแก่กล้าขึ้นจึงยังให้เกิดอุปาทานอันแก่กล้าตามไปด้วยนั้น  จึงไม่สามารถหยุดยั้งการคิดปรุงแต่งได้  เมื่อเกิดดังนี้บ่อยๆเข้าไม่สามารถหยุดทุกข์ได้ตามที่ตนปฏิบัติ   โดยสภาวะธรรมของจิต ความเสื่อมถอยความเชื่อมั่นย่อมลดน้อยถอยลงไปเป็นธรรมดาโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้เป็นไปโดยอาการธรรมชาติไม่สามารถควบคุมหรือหลอกลวงมันได้   แต่ถ้ามีญาณหรือปัญญารู้เหตุรู้ผลอย่างแจ่มแจ้งพอควร  ในช่วงแรกถึงแม้ว่าจะไม่สามารถหยุดการปรุงแต่งได้ทุกครั้งทุกทีไปเช่นกันก็จริงอยู่    แต่จิตจะไม่เกิดอาการเสื่อมถอยความเชื่อมั่นหรือความเข้าใจลงไป  เพราะปัญญานั้นจะพลิกจิตให้พิจารณาหาเหตุที่ทำให้เกิดผลขึ้นได้อย่างถูกต้อง จนเกิดความเข้าใจกระจ่างสว่างขึ้นไปเป็นลำดับ  เกิดการสั่งสมความรู้ความเข้าใจจนเกิดภูมิรู้ภูมิญาณขึ้นในที่สุด    

         ณ ที่ชรานี้นี่เอง ที่ฌานสมาธิอันถูกต้องดีงามจะทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง คือ เป็นกำลังของจิต  ในการหยุดการคิดปรุงแต่งต่างๆที่ล้วนแล้วแต่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานอันกล้าแข็งจนเป็นอุปาทานขันธ์๕อันแข็งแกร่งและเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย  เกินกำลังจิตธรรมดาๆจะไปหยุดได้

         ดังในกรณีที่มีสติเห็นหรือระลึกรู้เท่าทัน  แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการคิดปรุงแต่งได้นั้น  เพราะสติเป็นผู้ระลึกรู้  ปัญญาเป็นตัวการจัดการปัญหา   สตินั้นระลึกรู้เท่าทันแล้ว  ใช้ปัญญาพิจารณาว่าที่หยุดไม่ได้เพราะอะไรเป็นเหตุ  เช่น เมื่อปัญญาที่พิจารณาเห็นว่า ถ้าทำเหตุคือคิดปรุงแล้วย่อมต้องเกิดผลเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดาเป็นกฏธรรมชาติ   เมื่อเข้าใจดังนี้จิตก็อาจวางการคิดปรุงแต่งลงไปได้เพราะปัญญา ที่รู้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งที่พิจารณาขึ้นมา  หรืออาจใช้การพิจารณาในธรรมที่ทำให้เกิดนิพพิท เพื่อคลายความอยาก(ตัณหา)ความยึด(อุปาทาน)ลงไปโดยตรงๆ  เช่น พระไตรลักษณ์ พิจารณาว่าไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีแก่นแกนแท้จริง  ล้วนเกิดแต่เหตุมาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน   ก็จะทำให้หยุดการคิดปรุงแต่งได้เช่นกัน

 

         มรณะ  มีความหมายว่า การดับไป  ความแตกทำลาย ความตาย ความแตกดับแห่งขันธ์  อันเป็นสภาวธรรม  มีความหมายหลายนัยยะเช่นเดียวกับชรา ขึ้นอยู่กับสาระและธรรมนั้นๆ  ดังนั้นจึงอย่าวิจิกิจฉาหรือยึดมั่นด้วยทิฏฐุปาทานในความหมายของคำว่ามรณะ ที่หมายถึงความตาย ความแตกทำลายของสังขารร่างกายแต่อย่างเดียว  แม้ในพระไตรปิฏกเอง  จึงมีการกล่าวถึงมรณะหรือการดับไปไว้หลายนัยยะด้วยกัน  ดังเช่น มรณะ ที่หมายถึงความดับไปแห่งกองทุกข์ในขณะหนึ่งๆหรือเรื่องหนึ่งๆในปฏิจจสมุปบาทก็มี   มรณะ ที่หมายถึงความแตกดับถดถอยของสังขารร่างกายหรือความตายในทุกขอริยสัจก็มี หรือในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มี   ความดับไปแห่งขันธ์หรือธรรมต่างๆ ในนิโรธธรรมสูตรก็มี   หรือหมายถึงความตายในมรณะธรรมสูตรก็มี

         มรณะ โดยโลกุตตระหรือทางธรรมแล้ว มีความหมายถึง การแตกดับ การดับไปของบรรดาสังขารทั้งปวง  จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะถึงสังขารร่างกายแต่อย่างเดียวเท่านั้น

         ดังนั้นมรณะ อันเป็นสภาวธรรม  เป็นไปตามพระไตรลักษณ์  กล่าวคือ เมื่อมีความไม่เที่ยงแปรปรวนเกิดขึ้นแล้วเป็นธรรมดา  จนแปรปรวนอย่างถึงที่สุดแล้วจึงดับไปเป็นธรรมดาหรือทุกขังที่หมายถึงความคงทนอยู่ไม่ได้   ดังนั้นเมื่อเกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนในชรา แปรปรวนไปมาอยู่เยี่ยงนั้น จนในที่สุดก็ดับไปเป็นธรรมดา  ไม่สามารถคงทนอยู่ได้ตลอดไป  แต่การดับไปนี้มิใช่การดับไปอย่างสูญสิ้นเสียทีเดียว  เป็นการดับไปชั่วขณะเพราะเหตุเกิดยังมีอยู่ คือ ยังมีชีวิตดำเนินต่อไปนั่นเอง    การดับนี้เป็นลักษณาการของการดับไปอย่างชั่วขณะระยะหนึ่ง เหตุเพราะการยังเก็บจำ(สัญญา)ได้พร้อมทั้งกิเลสที่ทำให้จิตขุ่นมัวทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นอันคืออาสวะกิเลสนั่นเอง  จึงเก็บจำในรูปนอนเนื่องอยู่ในจิต  และด้วยอาสวะกิเลสนี้นี่เองที่ไปเป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชาความไม่รู้ จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสังขารที่สั่งสมอันจักยังให้เกิดทุกข์ขึ้นอีก  เป็นวงจรอุบาทก์ของทุกข์ที่ดำเนินต่อเนื่องสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ  จึงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฎเช่นนี้ไปตลอดกาล

 

anired06_next.gif ชาติ

ภาพแสดงปฏิจจสมุปบาท  พร้อมอุปาทานขันธ์ ๕ ในชรา  เป็นลำดับ

 

กลับสารบัญ