ตัวอย่าง การคิดในกิจหรือสติปัญญา และ การคิดแบบคิดนึกปรุงแต่ง
|
|
คิดนึกในกิจหรือในงานที่กระทำหรือในธรรมที่ปฏิบัติ อันนี้เป็นคิดนึกที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตหรือเป็นการคิดนึกที่ทำให้เกิดสติปัญญา เป็นคิดนึกที่ควรทำให้เกิด ให้มี ให้เป็น ให้เจริญ (ภาวนาปธาน) เนื่องจากความคิดความนึกของปุถุชนนั้น เป็นไปในลักษณาการของขันธ์ ๕ หรือแบบอุปาทานขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแบบ เกิดดับ เกิดดับๆๆ...ฯ อย่างต่อเนื่องหรืออย่างเนื่องสัมพันธ์กับความคิดเดิมๆ อันอาจทิ้งช่วงแต่ยังอยู่ในภายใต้อำนาจของการคิดนึกเดิมๆนั้นอยู่ กล่าวคือเป็นไปโดยสติไม่เท่าทัน จึงปล่อยให้เป็นไปโดยไม่รู้ตัว ด้วยความเคยชินของปุถุชนหรือการอุทธัจจะ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ที่จะแสดงการคิดในกิจแต่ประกอบด้วยความคิดนึกปรุงแต่งหรืออุทธัจจะแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ มาประกอบการอธิบาย
คิดว่าต้องทำงานนี้เยี่ยงไร, ทำอย่างไรจึงดีในกิจหรือหน้าที่ของตน อย่างนี้ถือว่าเป็นคิดเพื่อการดำเนินชีวิตหรือคิดที่ประกอบด้วยสติและปัญญา ดังเช่น งานนี้วางแผนทำวันนั้นวันนี้(คิดในกิจ หรือคิดแบบขันธ์ ๕ ขึ้น ๑ ครั้งแล้ว), ทำอย่างนั้นอย่างนี้(ขันธ์ ๕ อีก ๑ ครั้งแบบคิดในกิจ), คนอื่นไม่เห็นมาช่วยเลย(ขันธ์ ๕ อีก ๑ ครั้ง แต่แบบคิดนึกปรุงแต่ง แทรกแซงขึ้นมา), ไม่มีนํ้าใจกันเลยหนอ(ขันธ์ ๕ แบบคิดนึกปรุงแต่ง), ให้เราทำคนเดียว(ขันธ์ ๕ แบบคิดนึกปรุงแต่งอีก), เรียกคนนั้นมาช่วยน่าจะทำได้ดี(ขันธ์ ๕ กลับมาคิดปกติอีก), เขาจะช่วยหรือเปล่าหนอ(ขันธ์ ๕ แบบคิดปรุงแต่งอีก), แล้วถ้าเขาไม่ช่วยจะทำได้หรือไม่หนอ(ขันธ์ ๕ แบบคิดนึกปรุงแต่งอีก), ใช้วิธีนี้แก้ปัญหาดีกว่า(ขันธ์ ๕ แบบคิดในกิจ), เจ้านายคงชอบแน่ๆๆเลย(ขันธ์ ๕ แบบคิดนึกปรุงแต่ง) เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการคิดนึกในกิจอันควร แต่แทรกแซงด้วย คิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา จนอาจยังให้เกิดอุปาทานทุกข์ขึ้นเป็นที่สุด...ทำไมต้องเรียกแต่เราคนเดียว(คิดนึกปรุงแต่ง), ทำไมไม่เรียกคนนั้นคนนี้บ้างหนอ(ขันธ์ ๕ แบบคิดนึกปรุงแต่ง), น่าเบื่อจริงๆ(คิดนึกปรุงแต่ง แบบมีโมหะ), เรียกแต่เราทุกที ทีนายนั่นนายนี่ไม่เห็นเรียกบ้างเลย(ขันธ์ ๕ แบบคิดนึกปรุงแต่ง), เราทำแทบตายไม่ได้อะไรแต่คนนั้นไม่ทำอะไรเลยแต่ได้ ๒ ขั้น(ขันธ์ ๕ แบบคิดนึกปรุงแต่ง แบบมีโทสะ)...ฯ
ถ้าสังเกตุให้ดีแล้ว จะเห็นว่า"ความคิดนึกปรุงแต่ง"นั้น มักเกิดขึ้นมาจากมโนกรรม คือความคิดอันเป็นผลจากสังขารขันธ์หรืออารมณ์ต่างๆทางโลกนั่นเอง
คิดนึกที่เป็นเหตุ ผัสสะ
ธรรมารมณ์ ใจ
มโนวิญญาณ
สัญญาจํา
เวทนา
สัญญาหมายรู้
สังขารขันธ์
เกิดสัญเจตนา(เจตนา,จงใจ)
กรรม (คือ
เกิดมโนกรรมคือความคิดนึกอันเป็นผลขึ้นนั่นเอง)
ความคิดนึกปรุงแต่ง จึงมักแทรกมากับความคิดในกิจหรือความคิดทั่วไป จึงเป็นไปโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา ก็ด้วยเหตุดังนี้นี่เองที่บางครั้งคิดอยู่ในกิจแต่ทำไมจึงเกิดทุกข์ขึ้นโดยไม่รู้ตัว อันนี้เป็นความละเอียดของจิตที่ต้องโยนิโสมนสิการ
เมื่อเป็นไปดังนั้น กล่าวคือคิดนึกปรุงแต่งแทรกแซงหรืออุทธัจจะอยู่ตลอดเวลาหรือเป็นระยะๆ ในที่สุดความคิดนึกปรุงแต่งใดปรุงแต่งหนึ่งเหล่านั้น เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนาใดเวทนาหนึ่ง ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาหรือวิภวตัณหาขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงดำเนินเป็นไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท
ด้วยเหตุนี้นี่เอง จึงต้องมีสติรู้เท่าทันเหล่าความคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านเหล่านี้ ที่มักแทรกเข้ามาในระบบความคิดความนึกต่างๆ การฝึกสติทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้เห็นในเวทนา(เวทนานุปัสสนา)หรือจิตปรุงแต่ง(จิตตานุปัสสนา)เหล่านี้ แล้วด้วยปัญญาที่รู้ยิ่งจากการวิปัสสนาหรือธรรมานุปัสสนา ดังเช่นว่า ในขันธ์ ๕ เมื่อปล่อยให้เกิดการปรุงแต่งย่อมเกิดการผัสสะขึ้นเป็นธรรมดา, จึงย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดเวทนาต่างๆที่อาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาขึ้น จึงเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน...ภพ..ชาติอันคือการเกิดขึ้นของอุปาทานขันธ์ ๕ อันคืออุปาทานทุกข์ จึงหยุดการปรุงแต่งเหล่านั้น หรือก็คือการอุเบกขาด้วยกำลังจิตอันยิ่ง อันไม่ใช่เกิดแต่อธิโมกข์ แต่เกิดจากความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งด้วยตนเองด้วยอาการธรรมสามัคคี
ส่วนกายานุปัสสนา เป็นทั้งการฝึกสติเบื้องต้น แล้วยังเป็นการใช้สติในการพิจารณาในกายต่อไป ให้เห็นความจริงของสังขารร่างกาย เพื่อให้เกิดนิพพิทาในสังขารร่างกายว่า สักแต่ธาตุ ๔, ล้วนปฏิกูล, ล้วนเป็นอสุภ ฯ. เพื่อคลายกำหนัดความยึดในสังขารร่างกายทั้งหลาย