๓. วิญญาณ เป็นเหตุปัจจัย จึงมี นาม-รูป |
|
กล่าวโดยย่อ
เมื่อเกิดวิญญาณ การรับรู้ในสังขารที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติแล้ว
ย่อมทำให้นาม-รูปครบองค์คือพร้อมทำหน้าที่ กล่าวคือ ครบองค์ของขันธ์ ๕ สมบูรณ์ จึงยังให้ดำเนินกระบวนการของชีวิตสืบเนื่องไป
ขยายความ
วิญญาณนั้น ความจริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของนามอยู่แล้ว (นาม หรือ จิต เกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ทั้ง ๔ คือประกอบด้วย เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) ดังนั้นเมื่อวิญญาณเกิดขึ้นมาแล้วจึงมีขันธ์อื่นๆเป็นปัจจัยร่วมเกิดขึ้นด้วย(ที่หมายถึงเกิดร่วมทำงาน)ด้วยเป็นธรรมดา คือเหล่า เวทนา สัญญา และสังขาร นั่นเอง เพราะวิญญาณหรือระบบประสาทต่างๆจักอยู่ หรือทำงานแต่โดยโดดเดี่ยวย่อมไม่ได้ ดังนั้นนามส่วนอื่นๆที่เหลืออันนอนเนื่องอยู่เช่นกัน ดุจเดียวกันกับวิญญาณหรืออาสวะกิเลส จึงเกิด การทํางานขึ้น จึงครบองค์ประกอบของชีวิตฝ่ายจิตเช่นเดียวกันกับการเกิดขึ้นของวิญญาณ, และเมื่อมีนาม(จิต)ก็ต้องมีรูปหรือกายร่วมเกิด การทํางานประสานกัน เพื่อเป็นที่อาศัยและใช้ทํางานของฝ่ายนามด้วย จึงเกิดครบองค์ของชีวิตหรือรูปนาม, นาม-รูปในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง การตื่นตัวของฝ่ายนามและรูป หรือชีวิตขึ้น พร้อมทำงานตามหน้าที่ในสังขารที่เกิดขึ้นมาก่อนนั้น ไม่ใช่นอนเนื่องเนือยๆเป็นแมวนอนหวดอย่างเดิมอีกแล้ว แต่เป็นแมวที่เห็นหนู จึงตื่นตัวพร้อมทำงานตามหน้าที่ตน, จึงเป็นเอกเสสนัย ที่หมายถึงการทำงานต่างๆของรูปนามหรือชีวิตด้วย เพราะรูปนามหรือชีวิตหรือขันธ์ทั้ง ๕ นั้น ก็เกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆมาประชุมกัน ของรูป(ธาตุ๔) และนามทั้ง ๔ และมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องทํางานประสานกันอย่างสอดคล้องเนื่องสัมพันธ์กันอีกด้วย, ด้วยเหตุดังนี้ท่านจึงตรัสว่า วิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนาม-รูป
ถ้ามองในแง่ปรมัตถธรรม คือ ตามความเป็นจริงสูงสุดแล้ว สำหรับผู้ที่เข้าใจกระบวนธรรมหรือกระบวนการทํางานที่เนื่องสัมพันธ์กันของขันธ์ทั้ง ๕ โดยปกตินาม-รูป หรือรูปนามนั้นมีอยู่แล้วครบองค์ของชีวิตในทุกผู้คนที่ยังดํารงชีวิตอยู่ เพียงแต่ตามปกตินั้นนอนเนื่องเฉกเช่นอาสวะกิเลสเช่นกัน นอนเนื่องเป็นแมวนอนหวด ที่ยังไม่ทํางานหรือยังไม่ทําหน้าที่เมื่อยังไม่เจอหนู ซึ่งชอบเรียกกันทั่วไปว่า "ดับ" จึงทําให้เกิดความสับสนกันโดยภาษาสมมุติว่า ไม่มีรูปนาม ดับๆเกิดๆ เดี๋ยวเกิด แล้วก็ดับแบบสูญ เพราะเป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตน, จริงๆแล้วโดยสมมติสัจจะมีรูปนาม มีตัวมีตน มิฉนั้นท่านจะมาอ่านและฉงนอยู่ได้หรือ แต่ว่าเป็นอนัตตาที่หมายความว่าไม่มีตัวตนที่เป็น "แก่นสาร","คงทนอยู่ไม่ได้","ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ ที่หมายถึงแม้ควบคุมได้บ้างแต่เป็นไปอย่างไม่จริงแท้ ไม่ถาวร" จึงไม่มีสาระให้ไปยึดมั่นถือมั่น, จึงมักเข้าใจตีความกันผิดๆตามตัวอักษร เป็นไม่มีตัวไม่มีตน จึงพยายามกําจัดตัวกําจัดตนชนิดนอกลู่ผิดทางต่างๆนาๆตามความเข้าใจผิดๆนั้น(อวิชชา) และเป็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัยด้วยอวิชชา
อนัตตา จึงกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า มีตัวตน แต่ไม่แท้จริง ไม่เป็นแก่นแกนถาวร เพราะคงทนและควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ตลอดไป พระองค์ท่านจึงถือว่าไร้สาระไร้คุณค่าให้ไปอยากหรือไปยึดไว้ เพราะเป็นเพียงสภาวะของการประชุมกันชั่วขณะหรือระยะหนึ่งของเหตุปัจจัยตามสภาวธรรม(ธรรมชาติ) จึงไม่มีแก่นแกนหรือแก่นสารให้ไปยึดมั่นถือมั่น เหตุเพราะเมื่อเหตุปัจจัยเหล่านั้นตัวใดตัวหนึ่งมีอาการแปรปรวนหรือดับไป ตัวตนหรือธรรม(สิ่งต่างๆ)ที่ประกอบมาแต่เหตุปัจจัยเหล่านั้น ก็ย่อมต้องแปรปรวนและดับไปตามสภาวะของเหตุปัจจัยนั้น จึงไม่สามารถคงอยู่ได้อย่างถาวรตลอดไป จึงจักก่อให้เกิดทุกข์ถ้าไปอยากหรือยึดไว้ เพราะความที่ต้องแปรปรวนและแตกดับไปเป็นที่สุดเป็นธรรมดา, ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ไม่มีตัวตนที่แท้จริง หรือมีตัวตนแต่ไม่เป็นแก่นแกนแท้จริงก็ได้ขึ้นอยู่กับมุมมองในสภาวะขณะใด แต่ที่เป็นแก่นแท้คือไม่ถาวร, คงทนอยู่ไม่ได้, ควบคุมบังคับบัญชาตลอดไปไม่ได้อย่างแท้จริง, ในกรณีของนาม-รูปในที่นี้ของวงจรปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นเพียงนามธรรม การเกิดจึงหมายถึงการเกิดขึ้นทำหน้าที่หรือทำงานของขันธ์ทั้ง ๕ หรือชีวิต ส่วนคำว่าดับนั้น เป็นภาษาธรรมเช่นเดียวกัน ที่หมายความว่า ขณะจิตนั้น นาม-รูปยังไม่ทํางานหรือยังไม่ทําหน้าที่โดยสมบูรณ์ แต่เมื่อใดที่นาม-รูปทํางานหรือทํากิจตามหน้าที่ครบองค์ก็เรียกว่า "เกิด" ดังนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยคือวิญญาณที่เกิดขึ้นมารับรู้สังขาร(ที่เกิดหรือผุดขึ้นมา หรือเจตนาขึ้นมาก็ตามที) ก็จักทําให้นาม-รูปครบองค์ประกอบของเหตุปัจจัย จึงเรียกว่าเกิดรูป-นาม คือ หรือมีนาม-รูปขึ้น
ถ้าจะเปรียบเทียบนามธรรมสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยใจนี้ อันรู้เห็นได้ยากให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้พิจารณาได้ง่ายและแจ่มแจ้งขึ้น ก็เปรียบเสมือนได้ดั่ง รถยนต์ที่ครบบริบูรณ์ทั้งคัน(เปรียบเสมือนดั่งนาม-รูป) ปกตินั้นย่อมจอดอยู่กับที่ แต่ล้วนมีอุปกรณ์อย่างครบถ้วน ไม่ได้ตายไม่ได้พังดับสูญไปไหน เพียงยังไม่ทําหน้าที่ คือออกไปโลดแล่น เหตุเพราะพลขับ(วิญญาณ)ยังหลับไหลอยู่ อันเสมือนหนึ่งนาม-รูปที่ยังไม่มีวิญญาณเกิดขึ้น จึงยังไม่ตื่นตัวทำงานนั่นเอง อันอุปมาได้ดังที่กล่าวคือ พลขับหรือวิญญาณยังนั่งหลับไหลหรือนอนเนื่องอยู่ในรถ แต่เมื่อใดที่พลขับอันเปรียบเสมือนวิญญาณ ได้ถูกกระตุ้นให้เกิดตื่นขึ้นมาทําหน้าที่แห่งตนคือสื่อสาร อีกทั้งเป็นตัวประสานสื่อสารกับทุกๆระบบ ทั้งระบบเบรค ระบบเครื่องยนต์ ระบบไฟ ฯลฯ., รถยนต์คันนั้นจึงครบองค์ประกอบสมบูรณ์พร้อมในการเกิดขึ้นทํางานตามหน้าที่ คือครบองค์ธรรมของยานพาหนะ ที่มีจริงๆเพื่อไว้ใช้ในการขับเคลื่อนขนส่งไปสู่จุดหมายต่างๆ อันเป็นการทําหน้าที่โดยบริบูรณ์ ตามฐานะของตน คือ รถที่ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะขนส่ง ไม่ใช่รถที่มีไว้จอดแช่นิ่ง ที่นอนเนื่อง เช่นเดียวกับรูป-นามที่ปราศจากการตื่นตัวทำงานของวิญญาณก็เหมือนรถที่จอดไว้ แต่เมื่อมีวิญญาณเกิดมาทำหน้าที่แล้ว ก็ย่อมครบองค์ของเหตุปัจจัยในการทำงานของชีวิต จึงเปรียนเสมือนรถยนต์ที่ขับออกไปโลดแล่นตามกิจที่ตั้งใจได้นั่นเอง
ดังนั้นอย่าได้พยายามหาทางดับ รูป-นาม โดยความเข้าใจทางรูปธรรมหรือภาษาสมมุติ ซึ่งเป็นการเข้าใจกันผิดๆเพราะสมมุติทางภาษาที่นอนเนื่องแอบแฝงอยู่ในจิตว่า ดับคือไม่มี, ดับสูญ, สูญสิ้น อันเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจในอนัตตาโดยถ่องแท้
ดับ ในที่นี้จึงเป็นภาษาธรรม ที่หมายถึง ไม่ได้ทําหน้าที่ หรือยังไม่ได้ทํากิจตามหน้าที่ตน กล่าวคือ นอนเนื่องอยู่นั่นเอง ไม่ได้ดับชนิดขาดสูญสิ้นหรือสูญหายตายจากไปไหนอย่างแท้จริง
เกิด ในที่นี้จึงเป็นภาษาธรรมเช่นเดียว ที่หมายถึง เริ่มการทําหน้าที่หรือทํางานตามหน้าที่, ทํางานตามกิจอันควรของตน
องค์ธรรมต่างๆในปฏิจจสมุปบาท
ตลอดจนขันธ์ ๕ ก็ล้วนมีสภาวะของการเกิดดับๆ เป็นไปในลักษณาการเช่นเดียวกัน ดังเช่น
อาสวะกิเลส ซึ่งอาจผุดขึ้นมาเอง๑ หรือเจตนาขึ้น๑ หรือเกิดการกระตุ้นเร้าจากการกระทบผัสสะขึ้นมาก็ตามที๑
ก็เรียกว่า "เกิด" ขึ้น เมื่อลืมไป(เพราะเป็นสัญญาความจำอย่างหนึ่ง)ก็คือนอนเนื่องตกตะกอนอยู่ก็เรียกว่า
"ดับ" ไป ซึ่งก็ไม่ได้ดับสูญหายไปไหน ยังคงนอนเนื่องอยู่ในจิตอย่างนั้นนั่นเองเพียงแต่ยังไม่"เกิด"ทำงาน
ไม่ได้ดับสูญหายแตกดับไปอย่างแท้จริง, องค์ธรรมสังขารกิเลสก็เช่นกัน
เมื่อยังไม่ถูกกระตุ้นเร่งเร้าทั้งด้วยอาสวะกิเลสและอวิชชาก็เรียกว่าดับไป
เมื่อมีเหตุปัจจัยครบองค์ก็ทำงานขึ้นก็เรียกว่าเกิดขึ้น, วิญญาณก็เฉกเช่นกัน
เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน เมื่อมีสังขารเกิดขึ้น ก็เกิดวิญญาณของอายตนะนั้นๆ
แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ เกิดดับๆ...อยู่อย่างนี้ ไม่ได้ดับชนิดสูญหายขาดสิ้นอย่างแท้จริงไปไหนเช่นกัน
ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย ซึ่งเมื่อครบองค์ของเหตุปัจจัยก็เกิดการทำงานขึ้น
นาม - รูป ก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน คือ อยู่ในสภาวะเกิดดับๆ...ที่หมายถึง ทําๆ หยุดๆ นั่นเอง ดับจึงไม่ใช่หมายถึงตายหรือการดับอย่างดับสูญ หรืออย่างความหมายว่าไม่มีตัวไม่มีตนชนิดรูปธรรมตามที่ตีความหรือเข้าใจกันทั่วๆไป อันจักยังให้ไม่สามารถเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทธรรมได้ ตลอดจนทําให้หลงไปปฏิบัติแบบผิดๆนอกลู่ผิดทางเสียอีกด้วย เช่น พยายามปฏิบัติไปในแนวทางดับรูปดับนามแบบผิดๆ แบบให้ขาดสูญ หรือไปตีความไปในรูปแบบข้ามภพข้ามชาติเสียแต่ฝ่ายเดียวอีกด้วย
ดังนั้นปฏิจจสมุปบาทจึงกล่าวดังนี้ก็ได้ว่า "เพราะอวิชชาเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ จึงเป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดของสังขารกิเลสขึ้น เพราะสังขารเป็นเหตุปัจจัย จึงเกิดการทำงานของวิญญาณขึ้น เพราะวิญญาณเป็นเหตุปัจจัย จึงเกิดการทำงานของนาม-รูปขึ้น เพราะนาม-รูปเป็นปัจจัย จึงเกิดการทำงานของสฬายตนะขึ้น....ฯ."
(อ่านพระไตรลักษณ์ ในบทที่ ๑๒ ประกอบการพิจารณา เพื่อความเข้าใจเรื่องการเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงมีการเกิดดับเกิดขึ้น)
จากขันธ์ ๕ ที่จะกล่าวถึงในบทขันธ์ ๕ ขอให้ท่านสังเกตุเพื่อที่จะเห็นได้ว่าวิญญาณมีหน้าที่สื่อสาร แลกเปลี่ยน รับรู้ข้อมูลต่างๆอันทํางานดั่งระบบประสาท ให้ชัดเจนเพราะจักช่วยให้เข้าใจจำแนกแตกธรรมได้อย่างถูกต้อง
พระองค์ท่านทรงแสดงว่าวิญญาณนั้นเป็นวิญญาณาหาร ที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดนาม-รูป ดังนั้นเมื่อวิญญาณทํางานตามหน้าที่ต่อสังขารที่เกิดนั้นๆ นาม-รูปจึงครบองค์ประกอบของการทําหน้าที่แห่งตนเช่นกัน หรือเกิดการทํางานของนาม-รูปหรือชีวิตเต็มตัว พระองค์ท่านจึงตรัสแสดงไว้ว่า วิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนาม-รูป หรือทําให้นาม-รูปครบองค์ชีวิตหรือครบองค์ของการทํางานได้ตามหน้าที่หรือกิจแห่งชีวิตตนนั่นเอง
๔. เพราะนาม-รูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
|