ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ
และ วิปัสสนาญาณ |
คลิกขวาเมนู |
เป็นการรวบรวมแสดงลำดับญาณในพระไตรปิฏก โดยพระอรรถกถาจารย์ เพื่อเป็นการจำแนกให้เห็นลำดับญาณหรือภูมิรู้ภูมิธรรมทางปัญญาที่เกิดขึ้น, ในญาณทั้ง ๑๖ นี้มีเพียงมรรคญาณ และผลญาณเท่านั้นที่เป็นญาณขั้นโลกุตระ คือ เหนือหรือพ้นจากทางโลก จึงหลุดพ้นหรือจางคลายจากทุกข์ตามมรรค,ตามผลนั้นๆ ส่วนที่เหลือยังจัดเป็นขั้นโลกียะทั้งสิ้น, นักปฏิบัติไม่จำต้องปฏิบัติตามเป็นลำดับขั้นแต่ประการใด เป็นเพียงแค่การแสดงภูมิรู้ ภูมิญาณ ในวิปัสสนาญาณต่างๆที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น เพื่อให้เป็นเพียงเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องแนวทางการวิปัสสนาหรือไม่ กล่าวคือ เพื่อพิจารณาการปฏิบัติว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมหรือสั่งสมให้เกิดวิปัสสนาญาณต่างๆเหล่านี้ หรือไม่, อันญาณต่างๆเหล่านี้ล้วนจักเกิดขึ้นเอง ตามเหตุปัจจัยจากความรู้เข้าใจอันแจ่มแจ้งจากการปฏิบัติสั่งสมเท่านั้น จึงยังให้เกิดญาณ ที่หมายถึง ปัญญาหรือการรู้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงนั้นๆ ด้วยปัญญาจักขุ ที่หมายถึงปัญญานั่นเอง กล่าวคือ ไม่เห็นเป็นไปตามความเชื่อหรือความอยากความยึดของตนเอง หรือด้วยอธิโมกข์ แต่เห็นเป็นไปหรือเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่ง(ธรรม)นั้นๆด้วยปัญญาตน, ญาณ ๑๖ แลดูว่ายุ่งยากมากมาย ไม่ต้องไปท่องจำ เพียงแต่เป็นเครื่องรู้ ระลึก เพื่อเป็นแนวทางของการปฏิบัติเท่านั้น
ส่วนวิปัสสนาญาณนั้น เป็นการจำแนกแตกธรรม ที่จัดแสดงเน้นว่าญาณใดในโสฬสญาณทั้ง ๑๖ ข้างต้น ที่จัดเป็นการปฏิบัติวิปัสสนา คือการปฏิบัติเพื่อการเรืองปัญญาในการดับทุกข์ ซึ่งได้จำแนกออกเป็น ๙ กล่าวคือ ข้อ ๔- ๑๒ ในโสฬสญาณนั่นเอง
โสฬสญาณ หรือญาณ ๑๖
ญาณ
๑๖ ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาจนถึงจุดหมาย
คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่าง คือ
๑.
นามรูปปริจเฉทญาณ
ญาณกำหนดแยกนามรูป คือปัญญากำหนดรู้เข้าใจในนามและรูป
คือมีความเข้าใจแยกรูป และแยกนามออกได้ถูกต้องชัดแจ้ง เช่น สิ่งที่รู้คือถูกรู้ได้ด้วย ตา
หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้ง ๕ เป็นรูปหรือรูปธรรม, ส่วนสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยใจ เช่น เวทนา
สัญญา สังขารขันธ์ วิญญาณ ความคิดนึกต่างๆหรือธรรมารมณ์ ฯ. เป็นนามหรือนามธรรม
เป็นญาณพื้นฐานเพื่อแยกรูปแยกนามให้ได้อย่างชัดเจน เพื่อการนำไปใช้พิจารณาในกาลข้างหน้า
๒.
(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ
ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป คือปัญญากำหนดรู้ทั้งในนามและรูปว่าล้วนเกิดขึ้นแต่เหตุปัจจัยมาปรุงแต่งกันทั้งสิ้น ดังเช่น การเห็นจากการพิจารณาสังขารโดยตรง
หรือพิจารณาในขันธ์ ๕, ปฏิจจสมุปบาท ฯ. ก็ยังผลให้เห็นความเป็นเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย
ญาณนี้ พระอรรถกถาจารย์ท่านจัดว่าผู้ที่แจ่มแจ้งดีแล้วได้"จูฬโสดาบัน"
หรือ"พระโสดาบันน้อย"ทีเดียว
คือถือว่าเป็นผู้มีคติหรือความก้าวหน้าอย่างแน่นอนในพระศาสนา ด้วยเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า
สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัย กล่าวคือ เกิด"ปัจจัยปริคคหญาณ"
(อ่าน
เหตุปัจจัย
ปฐมบทของโลกและธรรม)
๓.
สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
คือปัญญากำหนดรู้เข้าใจอย่างแท้จริงใน"สังขาร"ว่าล้วนสักว่า อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้จึงเสื่อมดับไป อนัตตาไม่มีตัวตนของมันเองจริง
จึงครอบครองเป็นเจ้าของไม่ได้ จึงควบคุมบังคับบัญชาเขาไม่ได้ให้เป็นไปตามใจปรารถนา
ข้อ
๔.
- ๑๒. ตรงกับ วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ เป็นญาณที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเพื่อการเรืองปัญญาในการดับทุกข์
เป็นญาณที่จัดเป็นการวิปัสสนา
๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป ความเข้าใจแลเท่าทันของการเกิดขึ้นของนามรูปว่าเกิดจากเหตุปัจจัย และการดับด้วยอะไร ของนามรูป ดังเข้าใจว่าคือการดับไปของเหตุต่างๆ ที่มาป็นปัจจัยกัน
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมาว่า สังขารทั้งปวงล้วนจะต้องแตกสลายไปทั้งหมด สติเท่าทันและเข้าใจเหตุผลที่ดับไปอย่างเด่นชัด เช่น การขาดหรืออดับไปของเหตุปัจจัย
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขาร ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะสังขารทั้งปวงนั้นล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่เที่ยง จึงไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษของสังขารว่า มีข้อบกพร่อง ระคนด้วยทุกข์ เช่น เห็นสังขารปรากฏเหมือนเรือนถูกไฟไหม้ เพราความที่คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย เพราะเห็นมีแต่โทษมากมาย จึงหน่ายคลายกำหนัด
๙. มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสียจากทุกข์
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร ปรีชาหยั่งรู้ถึงขั้นเกิดความวางเฉย(อุเบกขา)ในสังขาร ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ รู้เท่าทันสภาวะของสังขารว่า ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นต้นนั้น มันเป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงเลิกเพราะเบื่อหน่าย เลิกคิดหาทางแต่จะหนีเสีย วางใจเป็นกลางต่อมันได้ ด้วยการอุเบกขา เลิกเกี่ยวเกาะพัวพัน และให้ญาณแล่นมุ่งสู่นิพพานอย่างเดียว
๑๒.
สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
๑๓.
โคตรภูญาณ
ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
๑๔.
มรรคญาณ(มัคคญาณ) ญาณในอริยมรรค
เช่น โสดาปัตติมรรค
ญาณหรือปัญญาที่เกิดในขณะปฏิบัติ
๑๕.
ผลญาณ ญาณในอริยผล เช่น โสดาปัตติผล
เป็นพระโสดาบัน ญาณที่สำเร็จผลขึ้นแล้ว จากการปฏิบัติมรรคญาณ
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ
ญาณที่พิจารณาทบทวน
ยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวนตรวจตรามรรคผล กิเลสที่ยังเหลืออยู่ เพื่อนิพพาน (เว้นพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่);
ญาณ
๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส
วิปัสสนาญาณ
ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา
หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี
๙ อย่าง คือ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป ความเข้าใจของการเกิดขึ้นของนามรูปว่าเกิดจากเหตุปัจจัย
และการดับด้วยอะไร ของนามรูป ดังเข้าใจว่าคือการดับไปของเหตุต่างๆ ที่มาป็นปัจจัยกัน
๒.
ภังคานุปัสสนาญาณ
ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมาว่า สังขารทั้งปวงล้วนจะต้องแตกสลายไปทั้งหมด เข้าใจเหตุผลที่ดับไปอย่างเด่นชัด เช่น
การขาดเหตุปัจจัย
๓.
ภยตูปัฏฐานญาณ
ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะสังขารทั้งปวงนั้นล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่เที่ยง
จึงไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
๔.
อาทีนวานุปัสสนาญาณ
ญาณคำนึงเห็นโทษของสังขารว่า มีข้อบกพร่อง ระคนด้วยทุกข์ เช่น เห็นสังขารปรากฏเหมือนเรือนถูกไฟไหม้
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย เพราะเห็นมีแต่โทษมากมายจึงหน่าย
๖. มุจจิตุกัมยตาญาณ
ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย
๗.
ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
๘.
สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร
ปรีชาหยั่งรู้ถึงขั้นเกิดความวางเฉย(อุเบกขา)ในสังขาร
ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ รู้เท่าทันสภาวะของสังขารว่า ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นต้นนั้น มันเป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงเลิกการเบื่อหน่าย เลิกคิดหาทางแต่จะหนีเสีย วางใจเป็นกลางต่อมันได้ เลิกเกี่ยวเกาะและให้ญาณแล่นมุ่งสู่นิพพานอย่างเดียว
๙.
สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
โสฬสญาณ หรือญาณ ๑๖ มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ หรือ สังขารปริเฉท ญาณหรือความรู้ความเข้าใจในรูปและนาม คือแยกออกด้วยความเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นรูปธรรม อันสัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง๕ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งใดเป็นนามธรรม อันเพียงสัมผัสได้ด้วยใจอย่างถูกต้อง เหล่านี้เป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการพิจารณาธรรมให้เข้าใจยิ่งๆขึ้นไป (เป็นการเห็นด้วยปัญญาว่า สักแต่ว่า นาม กับ รูป ไม่มีตัวตนแท้จริง) - เรียกง่ายๆว่าเห็น นาม รูป
๒. นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ ญาณที่เข้าใจในเหตุปัจจัย คือรู้เข้าใจว่านามและรูปว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย พระอรรถกถาจารย์ในภายหลังๆเรียกว่าเป็น "จูฬโสดาบัน" คือพระโสดาบันน้อย ที่ถือว่าเป็นผู้มีคติหรือความก้าวหน้าอย่างแน่นอนในพระศาสนา (เห็นด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัย) - เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้นของสังขารทั้งปวง
๓. สัมมสนญาณ ญาณพิจารณา พิจารณาเห็นการเกิด การตั้งอยู่อย่างแปรปรวน การดับไป คือเห็นด้วยปัญญา(ปัญญาจักขุ)ใน ความไม่เที่ยง,แปรปรวนและดับไปทั้งหลายตามแนวทางพระไตรลักษณ์นั่นเอง (เห็นด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่า ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง) - เห็นพระไตรลักษณ์
๔. อุทยัพพยญาณ (อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันเห็นการเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ หรือการเห็นการเกิดดับของรูปและนามนั่นเอง คือพิจารณาจนเห็นตามความเป็นจริงในการการเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕ จนเห็นได้ด้วยปัญญา(ปัญญาจักขุ)ในปัจจุบันจิตหรือปัจจุบันธรรมคือในขณะที่เกิดและค่อยๆดับสลายลงไป (เห็นและเข้าใจสภาวะธรรมดังกล่าวในแง่ปรมัตถ์ เช่นเห็นสังขารขันธ์ความคิดที่ผุดว่าเพราะสังขารนี้จึงเป็นทุกข์ ไม่ใช่รายละเอียดปลีกย่อยของความคิดนั้นๆ และไม่ปรุงแต่งต่อในสิ่งที่เห็นนั้นๆด้วยถ้อยคิดใดๆ ดังการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น) - เห็นการเกิดดับของรูปและนาม หรือกระบวนธรรมของขันธ์๕ ทางปัญญา
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ (ภังคานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันเห็นการแตกดับ เมื่อเห็นการเกิดดับบ่อยๆ ถี่ขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็จักเริ่มคำนึงเด่นชัดขึ้นด้วยปัญญา ในความดับไป มองเห็นเด่นชัดขึ้นที่จิตที่หมายถึงปัญญานั่นเอง ถึงการต้องดับสลายไปของนาม รูป หรือของขันธ์ต่างๆ การดับไปจะเห็นได้ชัด ถ้าอุเบกขา ที่หมายถึง การเป็นกลางวางทีเฉย รู้สึกอย่างไรไม่เป็นไร แต่ไม่เอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่งใดๆ ก็จะเห็นการดับไปด้วยตนเองชัดแจ้งเป็นลำดับ โดยปัจจัตตัง - เห็นการดับ
๖. ภยญาณ (ภยตูปัฏฐานญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันมองเห็นสังขารหรือนามรูปว่า เป็นของที่มีภัย เพราะความที่ไปเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารหรือนามรูปต่างล้วนไม่เที่ยง ต้องแปรปรวน แตกสลาย ดับไป ไม่มีแก่นแกนตัวตนอย่างแท้จริง ถ้าไปยึดไปอยากย่อมก่อทุกข์โทษภัย เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด - เห็นสังขารเป็นของมีภัย ต้องแตกดับเป็นธรรมดา จึงคลายความอยากความยึดในสังขารต่างๆ
๗. อาทีนวญาณ (อาทีนวานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณคำนึงเห็นโทษ เมื่อเห็นสิ่งต่างล้วนต้องดับแตกสลายไปล้วนสิ้น จึงคำนึงเห็นโทษ ที่จักเกิดขึ้น ว่าจักเกิดทุกข์โทษภัยขึ้น จากการแตกสลายดับไปของสังขารหรือนามรูปต่างๆถ้าไปอยากหรือยึดไว้ เกิดสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติอันเป็นทุกข์อันเป็นโทษ - เห็นโทษ
๘. นิพพิทาญาณ (นิพพิทานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันคำนึงถึงด้วยความหน่าย จากการไปรู้ตามความเป็นจริงของสังขารหรือขันธ์๕ ว่าล้วนไม่เที่ยง แปรปรวน และแตกดับไปเป็นที่สุด ไม่สามารถควบคุมบังคับได้ตามปรารถนาเป็นที่สุด จึงเกิดความหน่ายต่อสังขารต่างๆเพราะปัญญาที่ไปรู้ตามความเป็นจริงอย่างที่สุดนี่เอง - ความหน่ายคลายความยึดความอยากหรือเหล่าตัณหาทั้งปวงจากการไปรู้ความจริง
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ (มุจจิตุกัมยตาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณหยั่งรู้ มีความหยั่งรู้ว่าต้องการพ้นไปเสียจากสังขารชนิดก่อทุกข์ คือ ปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารหรือขันธ์๕ที่ก่อให้เกิดทุกข์ (หมายถึงอุปาทานขันธ์๕) - ปรารถนาพ้นไปจากทุกข์
๑๐. ปฏิสังขาญาณ (ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทางหลุดพ้นไปเสียจากภัยเหล่านั้น ดังเช่น โยนิโสมนสิการหรือปัญญาหยิบยกสังขารหรือขันธ์๕(นามรูป)ขึ้นมาพิจารณาโดยพระไตรลักษณ์ เพื่อหาอุบายที่จะปลดเปลื้องหรือปล่อยวางในสังขารหรือขันธ์๕เหล่านี้ เพื่อให้หลุดพ้นจากภัยเหล่านั้น - ทบทวนพิจารณา
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ (สังขารุเปกขาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร เมื่อรู้เข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยปัญญา เช่น สังขารอย่างปรมัตถ์แล้ว ก็วางใจเป็นกลางต่อสังขาร และกายสังขารได้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ติดใจในสังขารทั้งหลาย จึงโน้มน้อมที่จะมุ่งสู่ความหลุดพ้นหรือพระนิพพาน - วางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวง
๑๒. อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันเป็นไปโดยการหยั่งรู้อริยสัจ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายแล้ว ญาณอันคล้อยตามอริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ
๑๓. โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร หรือญาณอันเกิดแต่ปัญญาที่เป็นหัวต่อระหว่างภาวะปุถุชนและภาวะอริยบุคคล
๑๔. มรรคญาณ ญาณอันสำเร็จให้เป็นอริยบุคคลต่อไป
๑๕. ผลญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นแล้ว ผลญาณก็เกิดขึ้นเป็นลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆในชั่วมรรคจิต ตามลำดับแต่ละขั้นของอริยบุคคล
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่เกิดขึ้นเพื่อพิจารณามรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน (เว้นพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่) เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลในขั้นหนึ่งๆคืออริยบุคคลขั้นหนึ่งๆ หรือถึงพระนิพพาน
(หาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือพุทธธรรม หน้า ๓๖๐-๓๖๔)