กระดานธรรม ๑/๔๕

ธรรม หรือธรรมชาตินั่นเอง

คลิกขวาเมนู

        ธรรมนิยาม หมายความว่า กำหนดแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ,
        ความจริงที่มีอยู่หรือดำรงอยู่ตามธรรมชาติของมัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วทรงนำมาแสดงจำแนกอธิบายให้คนทั้งหลายให้รู้ตาม มี ๓ อย่าง
        แสดงความตามพระบาลี ดังนี้
           ๑. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา  สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง
           ๒. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา  สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ (เพราะคงสภาพอยู่มิได้)
           ๓. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา  ธรรมทั้งปวง ไม่เป็นตัวตน;
        ดู
ไตรลักษณ์

        "พึงทราบว่า พระบาลีเรียกไตรลักษณ์ ว่า ธรรมนิยาม (ธมฺมนิยามตา)  ส่วนคำว่า"ไตรลักษณ์"และ"สามัญลักษณะ" เป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคอรรถกถา  กล่าวคือ เรียกกันในภายหลัง" (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยท่านพระธรรมปิฎก)

         พระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  หรือถ้าแปลขยายความเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อใช้ในการปฏิบัติ  จึงคงได้ความหมายดังนี้ว่า

         ธรรม ธรรมะ หรือธรรมชาตินั่นเอง  ดังนั้น พระธรรม จึงมีความหมายว่า คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันล้วนแล้วเป็นเรื่องของธรรมหรือสภาวธรรมชาติที่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของความทุกข์ และธรรมชาติในการดับไปแห่งกองทุกข์  ก็เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดับไปของทุกข์ อันเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง

ธรรมจึงเป็นไปดังพระพุทธพจน์ ที่ตรัสไว้ว่า

เราเป็นผู้ที่เปิดของที่ควํ่าอยู่(อันคือธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติของความทุกข์และการดับทุกข์) หงายขึ้นเปิดเผยแสดงแก่โลก

และอีกพระพุทธพจน์หนึ่งที่ตรัสไว้

ในกาลก่อนก็ตาม ในบัดนี้ก็ตาม เราตถาคต บัญญัติขึ้นสอนแต่เรื่องทุกข์และความดับสนิทไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น(อันเป็นสุขยิ่ง)

          ธรรม หรือ ธรรมชาติ ส่วนที่เป็นอสังขตธรรมนั้น มีความเที่ยง และคงทนต่อทุกกาลหรืออกาลิโก ดังที่ได้แสดงไว้แล้วในเรื่องอนัตตา  ถึงแม้จะไม่มีตัวตนเป็นแก่นแกนแท้จริงเหมือนสังขารทั้งปวงเช่นกัน

         ธรรมหรือธรรมชาติเป็นเรื่องของความเป็นจริงอันยิ่งใหญ่ ที่มันต้องเป็นเช่นนี้เอง(ตถตา)  ไม่มีผู้ใดตั้งแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบันและต่อไปในอนาคต จะไปควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างจริงแท้และแน่นอน  เป็นสิ่งที่มีพร้อมมากับกำเนิดของโลกทั้งหลาย  และจะคงอยู่เช่นนี้เองอยู่ตลอดไปจนถึงกาลแตกดับ  ดังเช่น กฎพระไตรลักษณ์ ก็เป็นการกล่าวถึงสภาวธรรมหรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของสังขารทั้งปวง โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

         แต่ถึงแม้ธรรมชาติจักมีอำนาจอันยิ่งใหญ่สักปานใด  แต่ด้วยพระปรีชาญาณยิ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ผู้ทรงทราบถึงเหตุปัจจัยเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้ง  จึงมีพระพุทธดำรัสไว้ว่า การปฏิบัติของพระองค์ท่านนั้นเป็นเรื่อง"สวนทวนกระแส"   อันเป็นไปตามกระแสพระพุทธดำรัสนั้นอย่างถูกต้อง คือ เป็นเรื่องสวนทวนกระแสธรรมชาติของมนุษย์หรือปุถุชน ที่ตามธรรมชาติแล้วจะต้องเกิดการสั่งสมกิเลสตัณหาต่างๆนาๆแล้วไหลเลื่อนไปสู่กองทุกข์โดยไม่รู้ตัว  อันเป็นจริงดุจธรรมชาติของนํ้า ที่โดยธรรมชาติแล้วย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ตํ่าเท่านั้นเป็นธรรมดา  ดังนั้นธรรมของพระองค์จึงเป็นเรื่องสวนทวนกระแสธรรมชาติของปุถุชน ที่ตามปกติแล้วจะต้องไหลเลื่อนลงสู่กองทุกข์เช่นกันเป็นธรรมดา ดุจดั่งน้ำ  ดังนั้นพระองค์ท่านจึงได้สอนการปฏิบัติเพื่อสร้างสมธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตแบบใหม่หรือแบบดับทุกข์อันเป็นสุขยิ่งนั่นเอง  โดยอาศัยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นั่นแหละ เป็นตัวจักรกลขับเคลื่อนให้หลุดพ้นออกจากกองทุกข์  โดยการสร้างสมสังขารอันเกิดแต่ปัญญาญาณขึ้น  เป็นสังขารอันนำพาให้พ้นไปจากทุกข์ เป็นสังขารที่มิได้เกิดแต่อวิชชาดังเช่นในวงจรปฏิจจสมุปบาท  แต่กลับเป็นสังขารที่เกิดขึ้นโดยวิชชาของพระองค์ อันมีฤทธิ์มาก สามารถสวนทวนกระแสของความทุกข์ในปุถุชนได้

"กาลนี้   ธรรมนี้เราบรรลุได้โดยยาก บัดนี้ ไม่ควรประกาศ

ธรรมนี้ไม่เป็นธรรมที่ชนผู้มีราคะโทสะหนาแน่นตรัสรู้ได้โดยง่าย

ชนผู้มีราคะกล้า ถูกกองความมืดหุ้มห่อไว้ ย่อมไม่เห็นธรรม

ที่ยังสัตว์ให้ถึงที่ทวนกระแสโลก ละเอียด ลึก เห็นได้โดยยากเป็นอณู."

(คราแรกพระองค์ จึงไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรมแก่ชาวโลก)

         ด้วยพระปัญญาญาณ จึงได้อาศัยธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เหล่านั้นเอง มาปฏิบัติสวนทวนกระแสธรรมชาติของปุถุชนที่ก่อให้เกิดทุกข์จนสําเร็จได้  อุปมาได้ดั่ง เรือใบที่แล่นทวนสวนกระแสลมและกระแสนํ้าของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่นั้นได้  ก็ด้วยความเข้าใจในธรรมชาติของน้ำและลม  และใช้ธรรมชาติของนํ้าและลมนั้นเองเป็นเหตุปัจจัยร่วมกันกับใบเรือและหางเสือที่ถูกต้องดีงาม ที่เป็นผู้ผันแปรธรรมชาติของลมและน้ำนั้น ให้เรือนั้นสามารถแล่นสวนทวนกระแสของทั้งลมและน้ำอันยิ่งใหญ่โดยธรรมชาติได้  ใบเรือและหางเสือจึงอุปมาได้ดั่งสังขารธรรมหรือธรรมะอันถูกต้องดีงามของพระองค์ท่าน ที่รู้เข้าใจเหตุปัจจัยอย่างแจ่มแจ้งในธรรมชาติของชีวิต,ของความทุกข์ อันเป็นธรรมชาติ แล้วจึงผันแปรสิ่งอันยิ่งใหญ่เหล่านั้น มาดับทุกข์เสียเอง  ดุจดั่งของลมและน้ำนั่นเอง ที่ทําให้เรือแล่นสวนทวนกระแสธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่มีที่เป็นอย่างเกิดๆดับๆอยู่อย่างนั้นเองของลมและนํ้าได้

         เราจะยกน้ำให้ขึ้นที่สูง ซึ่งตามธรรมหรือธรรมชาตินั้นย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น  การจะยกน้ำให้ขึ้นที่สูงได้ต้องใช้เครื่องมือ เช่นกังหันฯ. ที่ต้องอาศัยธรรมหรือธรรมชาติของน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำเพื่อไปหมุนกังหันนั้นๆ  กังหันนั้นจึงเปรียบได้ดั่งธรรมของพระองค์ ที่สามารถยกจิตของเราให้สูงขึ้นจนพ้นจากธารแห่งความทุกข์ได้

 

อุปปาทสูตร

พุทธพจน์ และ พระสูตร ๕๑.

พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๐

        [๕๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม  ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม

ธาตุ นั้นคือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา   ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

ครั้นแล้ว จึงบอก  แสดง  บัญญัติ  แต่งตั้ง  เปิดเผย  จำแนก

ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขาร ทั้งปวงไม่เที่ยง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม

ธาตุ นั้นคือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา   ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

ครั้นแล้ว จึงบอก  แสดง  บัญญัติ  แต่งตั้ง  เปิดเผย  จำแนก

ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขาร ทั้งปวงเป็นทุกข์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม

ธาตุ นั้นคือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา   ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

ครั้นแล้ว จึงบอก  แสดง  บัญญัติ  แต่งตั้ง  เปิดเผย  จำแนก

ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา

(พระไตรปิฏก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๐ , ข้อที่ ๕๗๖)

(แสดงธรรม หรือธรรมชาติ ด้านบน)

 

กลับสารบัญ