ปุจฉา - วิสัชชนา ปฏิจจสมุปบาท

คลิกขวาเมนู

        ผู้เขียน เขียนเรื่องนี้ในแนวถามตอบข้อปัญหาต่างๆที่มักเกิดขึ้นในการพิจารณา หรือในการใช้ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ  เพื่อตอบข้อสงสัยบางประการ  เพื่อไม่ให้เกิดวิจิกิจฉา หรือสีลัพพตปรามาส บั่นทอนปัญญาที่ดำเนินมาอย่างถูกต้องแนวทางในปฏิจจสมุปบาทธรรม  ซึ่งเมื่อกระทำธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ให้เกิดความเข้าใจในข้อสงสัยได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว จักทำให้ปัญญาจักขุสว่าง กระจ่าง ขึ้นไปเป็นลำดับ  จึงยังให้เกิดวิริยสัมโพชฌงค์ขึ้นอันเป็นไปตามธรรมโพชฌงค์ ๗   ตลอดจนยังให้เห็นความเป็นไปของธรรมตามหลักอิทัปปัจจยตา และปฏิจจสมุปบาท  อันล้วนก่อให้เกิดปัญญาเห็นการดำเนินไปอย่างมีเหตุผลอย่างปรมัตถ์ หรือความเป็นเหตุปัจจัยจึงยังให้เข้าใจสักกายทิฏฐิ ลดละหรือเบาบางในวิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส ฯลฯ.

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

        ๑. ปุจฉา - สติระลึกรู้เท่าทันเวทนาแล้ว  บางทีก็สติระลึกรู้เท่าทันจิต(จิตสังขาร)เช่นความคิดที่จักเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์เช่นประกอบด้วยราคะ โทสะ โมหะ ฯ.   แต่มันไม่จางคลาย,ไม่หายไป  เวทนาหรือความคิดเป็นทุกข์(โมหะ,โทสะ,จิตฟุ้งซ่านฯ. หรือก็คือเจตสิก)เหล่านั้นยังคงผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่หยุดไม่หย่อน   รู้ก็รู้ครับ ว่าต้องหยุดคิดปรุงแต่ง แต่ก็หยุดมันไม่ได้  คอยแต่ผุดคิดผุดนึกปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งแต่ในเรื่องนั้นๆอยู่ตลอดเวลา  ควบคุมบังคับไม่ให้ฟุ้งซ่านหรือไม่ไปปรุงแต่งไม่ได้จริงๆครับ  เป็นอยู่อย่างนั้นเสมอๆ  เป็นเพราะอะไร?

        วิสัชนา - ปัญหานี้เป็นปัญหาที่นักปฏิบัติมักต้องเเจอะเจอบ่อยครั้งเป็นที่สุด ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นธรรมดา  เมื่อยังไม่เข้าใจด้วยปัญญา หรือแก้ไขไม่ได้ ก็ย่อมต้องเกิดวิจิกิจฉาและท้อแท้จนเลิกปฏิบัติไปในที่สุดเป็นธรรมดา  หรือไปหาวิธีใหม่ๆต่างๆนาๆ ทั้งที่ดำเนินอยู่ในปรมัตถธรรมอันถูกต้องดีงามยิ่ง  ที่เป็นดังนี้ก็เนื่องมาจากเห็นเวทนาเช่น ทุกขเวทนา ฯ. หรือเห็นจิต(จิตสังขารหรืออาการของจิตคือเจตสิก)เช่น จิตคิดปรุงแต่ง,โทสะ,โมหะ ฯ. ก็จริงอยู่  แล้วทุกข์ไม่จางคลายหรือดับไปดังใจ จึงย่อมท้อใจหรือท้อแท้   แต่ก็เพราะว่าเป็นการไปเห็น ไปรู้เท่าทันเมื่อเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ ในองค์ธรรมชราอันแรงกล้าเสียแล้ว  กล่าวคือเป็นการมีสติรู้เท่าทันเหมือนกัน แต่เป็นการรู้เท่าทันที่เวทนูปาทานขันธ์(เวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทานแล้ว) หรือเป็นการระลึกรู้เท่าทันที่สังขารูปาทานขันธ์(สังขารหรือจิตตสังขารที่ประกอบด้วยอุปาทานแล้ว)  อันเกิดขึ้นเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง แต่เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งดั่งสภาพของฟืนที่เคยไฟเสียแล้ว จึงไปถึงองค์ธรรมชราเสียแล้วโดยไม่รู้ตัว  ดังภาพแสดงการแปรปรวนของการคิดนึกปรุงแต่งวนเวียนเป็นวงจรของอุปาทานทุกข์ในองค์ธรรมชรานี้ 

...ตัณหา → อุปาทาน → ภพ → ชาติ  รูปูปาทานขันธ์ + ใจ + วิญญูาณูปาทานขันธ์  anired06_next.gif เวทนูปาทานขันธ์ → มรณะ → อาสวะกิเลส →... 

                        อุปาทานขันธ์๕  อันคือ คิดปรุงแต่งในชราอันเป็นทุกข์             

                สังขารูปาทานขันธ์ เช่นคิดที่เป็นทุกข์                 สัญญูปาทานขันธ์     

ในวงจรของชรา  ล้วนเป็นอุปาทานขันธ์ เพราะล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว

ที่ชรานี้นี่เอง ที่ปุถุชนพากันเป็นทุกข์เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายกันด้วยเวทนูปาทานขันธ์ อย่างวนเวียนและเร่าร้อนโดยไม่รู้ตัว

หรือแม้รู้ตัว แต่ไม่สามารถควบคุมบังคับให้หยุดได้เสียแล้ว

        ขันธ์ทั้ง ๕ จึงล้วนถูกครอบงำหรือประกอบด้วยอุปาทานอันแรงกล้าเสียแล้วในทุกขันธ์ที่ดำเนินไปในองค์ธรรมชรา กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ควรมีสติรู้เท่าทันเช่นกัน  แต่ก็ไม่ดับหรือจางคลายหายไปง่ายๆ เหมือนการเห็นเวทนาหรือการเห็นจิตก่อนถูกครอบงำด้วยตัณหาแลอุปาทาน   อาจเกิดจากไม่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องเวทนา,อุปาทาน,ภพ,ชาติ,ชรา ฯ.   หรือเกิดจากสติไม่เท่าทันและไม่ต่อเนื่องในเวทนาและจิตสังขารเมื่อเกิดผัสสะแต่ต้นกระบวนธรรม  กล่าวคือยังไม่มีกำลังสั่งสมของสติ,สมาธิ,ปัญญาบริบูรณ์พอที่จะหยุดการปรุงแต่งอันเร่าร้อนรุนแรงอันประกอบด้วยกำลังของอุปาทานแล้วเหล่านั้น    อันปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้จากการพิจารณาและการปฏิบัติ จนรู้เห็นด้วยตนเองว่าเป็นไปดังนั้นจริงๆ  และต้องเป็นการรู้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ที่หมายถึง เห็นได้ด้วยตนเองที่ไม่ใช่เพราะน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์ว่า  ถ้าปรุงแต่งแล้วย่อมต้องเกิดเวทนา  ที่มักนำให้เกิดตัณหา อุปาทาน  ภพ  ชาติ...อันเป็นอุปาทานทุกข์ขึ้น  และยังต้องมีสติและสมาธิ(ความตั้งมั่น ที่หมายถึงความต่อเนื่อง)เป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนปัญญาที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องชี้แนวทางให้   เมื่อไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและไม่มีสติรู้เท่าทันจึงไม่มีกำลังจิตพอที่จะหยุดการคิดหรือนึกปรุงแต่งอันรุนแรงเร่าร้อนด้วยกำลังของอุปาทาน  จึงหยุดการปรุงแต่งหรือปล่อยวางหรืออุเบกขาไม่ได้  จึงถูกมารยาจิตหลอกล่อให้ไปปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแต่ก็หยุดไม่ได้เสียแล้ว  ก็เนื่องด้วยความเคยชินที่สั่งสมมานานแสนนาน จนมันทำมันเป็นของมันเอง และเนื่องด้วยกำลังอันแรงกล้าของตัณหาอุปาทานที่ครอบงำเสียแล้วนั่นเอง

        อาการเหล่านี้มักเป็นเพราะความเข้าใจผิดว่า สติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาหรือจิต แต่ตามความเป็นจริงนั้นเป็นการรู้ตาม คือระลึกรู้เท่าทันในเวทนูปาทานขันธ์หรือสังขารูปาทานขันธ์ในชราอันเป็นที่ตั้งอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อันเป็นทุกข์และมีกำลังแรงกล้าเสียแล้ว กล่าวคือถูกครอบงำหรือประกอบด้วยอุปาทานแล้ว จึงอยู่ภายใต้อำนาจอันรุนแรงเร่าร้อนแรงกล้าของอุปาทานที่ครอบสัตว์ไว้มาตลอดกาลนานทุกยุคสมัย จึงไม่สามารถดิ้นหลุดออกมาได้ง่ายๆทั้งๆที่เห็นแล้ว   ให้พิจารณาตรงนี้ให้แจ่มแจ้งว่าเป็นจริงดังนี้หรือไม่  แล้วฝึกสติให้เห็นเวทนาหรือจิตก่อนที่จะถูกครอบงำหรือประกอบด้วยตัณหาอุปาทานให้ว่องไวและแจ่มแจ้งขึ้น   จึงต้องฝึกปัญญาให้เห็นเข้าใจ และฝึกสติให้ระลึกรู้เร็วขึ้นในสิ่งที่เข้าใจในชีวิตประจำวัน ในเวทนาและจิต(จิตสังขารอันเป็นสังขารขันธ์)

        ดูภาพประกอบ  ตำแหน่งของเวทนาและสังขารขันธ์(จิต ที่หมายถึงจิตสังขาร) ที่ควรมีสติระลึกรู้เท่าทัน ก่อนถูกครอบงำด้วยตัณหาแลอุปาทาน  โดยสังเกตุที่องค์ธรรมเวทนาที่แสดงโดยลูกศรในตำแหน่งที่สติตัดทำลายหรือหยุดชะงักวงจรของทุกข์  แล้วเกิดสัญญาหมายรู้ที่ไม่ประกอบด้วยอุปาทาน จึงหมายรู้ตามความเป็นจริงหรือปัญญา แสดงที่ด้านล่างโดยหลุดออกไปจากวงจรของทุกข์ปฏิจจสมุปบาทแล้ว  แล้วเกิดสังขารขันธ์(จิต) จึงเป็นจิตสังขารหรือความคิดที่ย่อมไม่ถูกครอบงำหรือประกอบด้วยตัณหาอุปาทาน  จึงมีเพียงเสวยเวทนาเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ กล่าวคือเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติ ที่พึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา   พิจารณาสังเกตุด้วยว่า เมื่อใดที่ระลึกรู้เท่าทันที่เวทนาและจิตดังนี้แล้ว  มันจางคลายหายไปจริงไหม  ถ้าเวทนาหรือจิตสังขารนั้นรุนแรงก็จะมีสภาพดุจดังกองฟืนหรือไม้ขีดที่ลุกไหม้แล้วค่อยๆมอดลงๆจนดับไป   เพื่อให้เกิดปัญญาความเข้าใจแจ่มแจ้ง ไม่มีวิจิกิจฉาในธรรมอีกต่อไป

        อาการที่ไม่สามารถหยุดการปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านอันเร่าร้อนนี้   จึงเป็นเพราะการรู้เท่าทันในชรา อันยังเป็นการรู้ตาม  กล่าวคือยังไม่รู้เท่าทันนั่นเอง   แต่การปฏิบัติแรกๆก็ย่อมต้องรู้ตามเป็นธรรมดา และถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นการฝึกปฏิบัติและก่อให้เกิดปัญญาญาณ ให้รู้บ่อยๆเป็นทั้งการสั่งสมทั้งปัญญาและสติและสมาธิให้แจ่มแจ้งขึ้นในภาคหน้า,  แต่เมื่อเป็นการรู้ตามจึงเสวยทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อน แล้วบางครั้งยังเกิดตัณหาซ้อนเข้าไปอีกโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ อยากให้ทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเหล่านั้นมันหายหรือดับไป(มักเป็นในปุถุชน)   หรือไม่อยาก(วิภวตัณหา)ให้ทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเหล่านั้นมันเกิดขึ้นหรือคงอยู่(มักเป็นในนักปฏิบัติ),    อันการรู้ทันหรือรู้ตามนั้น  เป็นไปดังที่ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้กล่าวสอนไว้ในหนังสือ เทสรังสีอนุสรณาลัย  เรื่อง "สิ้นโลก เหลือธรรม (นัยที่สอง)" (หน้า ๙๓)  ที่ได้กล่าวถึงเรื่อง สติ ที่รู้ทันและรู้ตามไว้  จึงขอกราบอาราธนามาแสดง ดังนี้

        "จิต คือ ผู้คิดผู้นึกในอารมณ์ต่างๆ ที่รวมเรียกว่ากิเลสอันเป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมองนั่นเอง  จึงต้องฝึกหัดให้มสติระวังควบคุมจิต  ให้รู้เท่าทันจิต  ซึ่งคำนี้เป็นโวหารของพระกรรมฐานโดยเฉพาะ   คำว่า " รู้เท่า " คือ สติรู้จิตอยู่ ไม่ขาดไม่เกินยิ่งหย่อนกว่ากัน  สติกับจิตเท่าๆกันนั่นเอง คำว่า " รู้ทัน " คือ สติทันจิตว่าคิดอะไร  พอจิตคิดนึก  สติก็รู้สึกทันที เรียกว่า " รู้ทัน "   แต่ถ้าจิตคิดแล้ว จึงรู้นี้เรียกว่า " รู้ตาม " อย่างนี้เรียกว่าไม่ทันจิต  ถ้าทันจิตแล้ว พอจิตคิดนึก สติจะรู้ทันที  ไม่ก่อนไม่หลัง  ความคิดของจิตก็จะสงบทันที............"

        จากคำสอนของหลวงปู่  นำมาจำแนกแตกธรรมกับปฏิจจสมุปบาทก็จะได้ว่า  การระลึกรู้เท่าทันในเวทนาและจิต(จิตสังขาร-สังขารขันธ์) ตามภาพนี้ คือการมีสติรู้ทัน    ส่วนการระลึกรู้เท่าทันในเวทนูปาทานขันธ์และสังขารูปาทานขันธ์ในชรา ต้องกล่าวว่าเป็นการรู้ตามนั่นเอง  จึงมีอานิสงส์ที่แตกต่างกัน

        ขอเน้นสักนิด แม้ไม่สามารถรู้ทันในระยะแรก แต่สามารถรู้ตาม อย่างถูกต้องดีงาม รู้บ่อยๆ ถี่ๆ อย่างผ่อนคลาย กล่าวคือประกอบด้วยจิตหรือสติที่ไม่ย่อหย่อนเกินไป  ไม่ต้องประคองเกินไป  ไม่หดหู่ในภายใน  ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก ถือว่าประโยชน์ยิ่งต่อปัญญาและการปฏิบัติในภายหน้า เป็นการสั่งสมนั่นเอง ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์  อย่าได้เข้าใจผิด  อย่าได้คิดท้อแท้  เพราะการรู้ตามบ่อยๆครั้งจนชำนาญย่อมเกิดทั้งปัญญาและสติรู้เท่าทันว่องไวขึ้นไปเป็นลำดับนั่นเอง เพราะเป็นไปดังในสติปัฏฐาน ๔ เช่นกัน  ที่รู้ขณะเกิดบ้าง(รู้ทัน) รู้ขณะกำลังแปรปรวนบ้าง(รู้ตาม)  รู้เมื่อดับไปแล้วบ้าง(ระลึกรู้ภายหลัง) ก็ล้วนเพื่อให้รู้บ่อยๆก็เพื่อการสั่งสมทั้งในสติและปัญญาจนรู้เท่าทันในที่สุด

ถึงแม้อุเบกขาแล้วก็ตาม แต่ว่า.......เป็นกลางวางใจเฉยไม่ได้

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

        ๒. ปุจฉา - แล้วควรจะทำอย่างไร?  จึงจะหยุดคิดปรุงแต่งที่เป็นทุกข์เร่าร้อนเผาลนอยู่นี้ได้  มันไม่ยอมหยุดคิดหยุดนึกเลย  คอยแต่ผุดคิดผุดนึกขึ้นมาอยู่เสมอๆ

        วิสัชนา - อาการไม่สามารถหยุดคิดหยุดนึกปรุงแต่ง หหรือฟุ้งซ่านไปปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลานี้  มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อจิตดำเนินอยู่ในองค์ธรรมชรา จึงหมายถึงการถูกครอบงำหรือประกอบด้วยอุปาทานอันแรงกล้าเสียแล้ว กล่าวคือขันธ์ทุกขันธ์ที่เกิดขึ้นล้วนแฝงความว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเรื่องราวของตัวของตนอย่างยึดมั่น   เมื่อเป็นไปดังนี้แล้ว เมื่อสติระลึกรู้ขึ้นมา และเข้าใจแล้วว่ารู้ตามดังข้างต้นแล้ว  มีความรู้สึกหรือเวทนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามย่อมเข้าใจว่าเป็นไปดังนั้นตามธรรม แล้วให้ละตัณหานั้นเสียก่อน แล้วให้ถือ อุเบกขา ในโพชฌงค์ ๗ (ห้ามท้อแท้ ด้วยคิดเสียว่าฝึกสั่งสมการละตัณหา และอุเบกขา ที่เป็นองค์สำคัญยิ่งในการปฏิบัติ) กล่าวคือ เป็นกลาง วางทีเฉย ด้วยการไม่โอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ  (ไม่ใช่การหยุดคิดหยุดนึกทั้งปวง) ปล่อยวาง ด้วยการไม่ไปคิดนึกแทรกแซงว่าดีหรือชั่ว  ไม่แทรกแซงว่าถูกหรือผิด  ไม่แทรกแซงว่าเราดีเขาชั่ว  ไม่แทรกแซงว่าเราถูกเขาผิด  ไม่แทรกแซงว่าบุญบาป  ไม่แทรกแซงว่าอดีตอนาคต  ไม่แทรกแซงว่าสุขหรือทุกข์  เพราะล้วนเป็นกริยาจิตที่หลอกล่อให้ไปปรุงแต่งจนเป็นทุกข์เนื่องต่อสัมพันธ์ไป   ดังนั้นผู้มีปัญญาจากการรู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์ ๕  ก็จะมีพลังปัญญาหรือพลังจิตที่จะละตัณหา แล้วอุเบกขาได้อย่างมั่นคงกว่า เมื่อมีสติระลึกรู้เท่าทันขึ้นมา อันเนื่องจากการรู้เข้าใจเหตุปัจจัยด้วยตนเองอย่างแจ่มแจ้ง   ส่วนผู้ที่ไม่มีปัญญาจากความเข้าใจในธรรม  ก็จะไปหาเหตุผลต่างๆนาๆ  และย่อมไม่เห็นเหตุปัจจัยอย่างปรมัตถ์  จึงกลายเป็นการดิ้นรนอย่างถูกหลอกล่อให้ไปปรุงแต่งเพื่อหาทางแก้ไขหรือปฏิบัติแบบต่างๆนาๆ ที่กลับกลายเป็นมารยาจิตที่หลอกล่อให้ปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งจนเป็นทุกข์ต่อเนื่องไปอยู่ตลอดเวลา  จึงดับทุกข์เหล่านั้นไม่ได้  จึงวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์อยู่เยี่ยงนั้น อย่างยาวนานด้วยอวิชชา

        การอุเบกขา ก็คือ รู้ตามความเป็นจริง แล้วไม่ไปยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง  หรือก็คือ การปฏิบัติดังนี้ต่อเวทนา กล่าวคือ เมื่อเกิดสุขเวทนาก็ไม่ติดเพลิน ไม่บ่นถึง ก็คือละตัณหา แล้วไม่ปรุงแต่งหรือการไม่คิดปรุงแต่งหรืออุเบกขานั่นเอง,   เมื่อเกิดทุกขเวทนาก็ไม่พิรี้พิไร ไม่รำพัน ไม่โอดครวญ ก็มีความหมายเดียวกันคืออาการละวิภวตัณหา แล้วไม่ปรุงแต่งหรือไม่คิดปรุงแต่งหรืออุเบกขานั่นเอง   ถ้าเป็นอทุกขมสุขก็เพียงรู้เท่าทันและไม่ปรุงแต่งให้เกิดทุกข์หรืออุเบกขาเช่นกัน

        ดังนั้นความหมายหรือลักษณาการของการอุเบกขาเหล่านี้ จึงเหมือนกัน  แตกต่างแต่การสื่อออกมาเป็นภาษาทางโลก หรือมุมมองในการพิจารณาตามธรรมแบบต่างๆเท่านั้นเอง เช่น ไม่ยึดมั่นหมายมั่น,  ปล่อยวาง,  อุเบกขา,  ไม่ปรุงแต่ง,  ไม่คิดนึกปรุงแต่ง,  ไม่ยินดียินร้าย,  ไม่ฟุ้งซ่านออกไปภายนอก ฯ.

        การปฏิบัติดังนี้ คือ ละตัณหาเสียก่อน แล้วอุเบกขา จึงเป็นการดับอุปาทานทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนอย่างถูกต้อง  หรือการดับด้วยการเกิดนิพพิทาจากการรู้เห็นเป็นไปตามความเป็นจริง เช่น ระลึกรู้เข้าใจในไตรลักษณ์ แล้วอุเบกขา   การดับด้วยวิธีอื่นๆล้วนเป็นการดับอย่างชั่วคราวหรือกล่าวได้ว่ายังไม่ถูกต้องดีงาม เช่น อาจด้วยกำลังขององค์ฌานกดข่ม กล่าวคือจิตมีฌานสมาธิเป็นเอกจึงไร้นิวรณ์ ๕ จึงไม่สนใจในทุกข์ อันเป็นไปได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้   หรือจากการเบี่ยงเบนบดบังด้วยอริยบถอันเป็นไปตามธรรมชาติ  หรือเป็นไปตามพระไตรลักษณ์คือคงทนอยู่ไม่ได้จึงดับไปเอง   จึงล้วนไม่ได้เกิดแต่ สติ สมาธิ ปัญญาจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องอันเมื่อปฏิบัติบ่อยๆครั้งย่อมสั่งสมเป็นสังขารอันดีงามหรือมหาสติในที่สุด

        อีกลักษณาการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถหยุดการคิดปรุงแต่งได้ คือ การเป็นมิจฉาฌาน,มิจฉาสมาธิ  คือ ปฏิบัติสมถสมาธิหรือฌานอย่างไม่ถูกต้องมาก่อน  ที่เคยมีอาการติดเพลินเพื่อเสพรสของความสุข,ความสบาย,และความสงบ อันเกิดขึ้นแต่อำนาจขององค์ฌาน,สมาธิโดยไม่รู้ตัวสักนิดในอดีต  มักเนื่องจากไม่ได้นำผลอันเกิดขึ้นจากฌานสมาธิเหล่านั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ในการวิปัสสนาหรือธรรมวิจยะอย่างจริงจัง    จิตจึงมีสังขารที่สั่งสมไว้หรือความเคยชินในลักษณะชอบเกาะติดแน่นหรือแน่วแน่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นสันดานอันเนื่องจากการสั่งสมในขั้นต้นในอดีตอย่างผิดๆโดยไม่รู้ตัวเพราะขาดการวิปัสสนา จนจิตมีความชำนาญอย่างยิ่งยวดในการเกาะยึดติดสิ่งต่างๆตลอดจนองค์ฌานต่างๆหรือความสุข,สงบ,สบายในสมาธิ กล่าวคือ เมื่อไม่ยึดเกาะหรือกำหนดในสิ่งใดแล้วมีความรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้จะให้จิตไปอยู่ที่ไหน  ดังนั้นเมื่อจิตหวั่นไหวเลื่อนไหลหลุดจากองค์ฌานหรือสมาธิด้วยเหตุอันใดก็ดี   จิตจึงมักหันมายึดเกาะเวทนาหรือความทุกข์หรือความคิดเป็นทุกข์เหล่านั้นที่จรเข้ามากระทบแทนอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อยคลายด้วยอำนาจของความเคยชินที่สั่งสมโดยไม่รู้ตัว  เป็นไปในลักษณะอุปัฏฐานะในวิปัสสนูปกิเลส (วิธีแก้ไขอ่านจิตส่งใน, ติดสุข)

         ตลอดจนอาจเกิดแต่ตัณหา,อุปาทานอันเร่าร้อนรุนแรงหรือสั่งสมในเรื่องนั้นๆมานาน(อาสวะกิเลส)  จึงมีสภาพดุจดั่งฟืนที่เคยไฟมาแล้ว ที่ย่อมลุกติดไฟ(ของตัณหาอุปาทาน)ได้อย่างง่ายๆรวดเร็วและร้อนแรงกว่าฟืนธรรมดา  เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงดำเนินและเป็นไปอย่างรวดเร็วจนถึงเวทนูปาทานขันธ์หรือสังขารูปาทานขันธ์ในชรา จนสติตามไม่เท่าทันเวทนาหรือจิตก่อนถูกครอบงำด้วยตัณหาอุปาทาน   จึงอาจต้องพิจารณาดับตัณหาอุปาทานนั้นๆตรงๆเช่นกัน เช่นพิจารณาธรรมให้เกิดนิพพิทา   พึงระวังพิจารณาในวิภวตัณหาด้วย คือในความไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้เป็นไป  โดยใช้ปัญญาพิจารณาโทษหรือทุกข์นั้นตรงๆเลย  หรือหันหน้าสู้  ให้เห็นคุณเห็นโทษตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้งอย่างน้อมเกิดนิพพิทา   และข้อสำคัญยอมรับตามความเป็นจริง  เหมือนดั่งการน้อมยอมรับในเวทนา เพราะปัญญาความเข้าใจในเวทนา ที่เมื่อมีการผัสสะขึ้นย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอทุกขมสุขบ้าง เป็นทุกข์ธรรมชาติ อันเป็นไปตามธรรมหรือเหตุที่มาผัสสะ

         หรือไปอยู่กับการบริกรรม เช่นพุทโธ แบบมีสติ  หมายความว่าทำในขณะใดก็ได้อย่างมีสติ อย่างต่อเนื่องที่เป็นสัมมาสมาธิในการวิปัสสนา   ไม่ได้ต้องการให้เกิดสมถสมาธิ,หรือฌานแต่ประการใด   แต่ต้องการให้เป็นเครื่องอยู่ของจิต  คือให้จิตมีที่ยึดอย่างมีสติ ไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดทุกข์  การบริกรรมนี้จึงต้องเป็นไปอย่างมีสติ  ไม่ต้องการให้เลื่อนไหลไปเป็นสมถสมาธิหรือฌานที่ให้แต่ความสงบสบายแต่อย่างใด   พุทก็รู้ว่าพุท  โธก็รู้ว่าโธ  คือ พุท ขึ้นในใจก็ให้รู้ว่าพุท   โธ ขึ้นในใจก็ให้รู้ว่าโธ  อย่างมีสติ   อาจเว้นจังหวะถี่ ยาว สั้น ตามสะดวกไม่ต้องสมํ่าเสมอก็ดี จะได้ไม่เลื่อนไหลเพราะคล่องปากคล่องใจไปสู่สมาธิระดับประณีต   ขอให้มีสติเมื่อพุท เมื่อโธก็แล้วกัน  การบริกรรมอย่างมีสติไม่เลื่อนไหลนี้ถ้าพิจารณาโยนิโสมนสิการแล้ว ก็เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาอย่างหนึ่ง  คือการมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต(จิตสังขาร)  พุทโธนั้นเป็นจิตสังขารอย่างหนึ่งที่เราสังขารหรือปรุงขึ้นนั่นเอง

ถึงแม้อุเบกขาแล้วก็ตาม แต่ว่า.......เป็นกลางวางใจเฉยไม่ได้

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

        ๓. ปุจฉา - ทำไมเมื่ออยู่ในฌานสมาธิแล้ว   เกิดปัญญาเห็นเข้าใจบางอย่างแล้วจึงผิดพลาด(มิจฉาญาณ)   ก็ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอๆว่า  สมาธิยังให้เกิดปัญญา

        วิสัชนา - เพราะได้ยินได้ฟังกันดังนี้บ่อยๆเสมอๆว่่า สมาธิทำให้เกิดปัญญา จึงเข้าใจกันเป็นนัยๆอย่างเข้าใจผิดโดยไม่รู้ตัว  เหตุเพราะปัญญาที่เกิดขึ้นในฌานสมาธิระดับประณีตและมิได้เกิดขึ้นจากการพิจารณาเห็นเหตุปัจจัยอย่างแจ่มแจ้งแต่เกิดขึ้นเพราะภวังคจิตจึงอาจเป็นเพียงนามนิมิตอย่างหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งอาจผิดหรืออาจถูกก็ได้ด้วยมิจฉาญาณ เหมือนดังความคิดทั่วไปของเราที่มีทั้งถูกบ้างผิดบ้างเป็นธรรมดา  แต่นักปฏิบัติมักจะไปยึดถือนิมิตที่เกิดขึ้นว่าถูกต้องอย่างจริงแท้แน่เทียวเสียด้วยอธิโมกข์ จากอำนาจของความอัศจรรย์ ตื่นตาเร้าใจต่างๆอันเกิดแต่อำนาจของฌานสมาธิ   ทั้งๆที่อาจเป็นญาณหรือความรู้ความเข้าใจชนิดวิปัสสนูปกิเลสอันก่อโทษหรือมิจฉาญาณ  คือ คิดว่าเข้าใจว่าถูกต้อง แต่ไม่ถูกต้อง,   สมาธิยังให้เกิดปัญญา ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติแต่ฌานสมาธิแล้วปัญญาหยั่งรู้จะผุด,จะเกิด,จะเห็น,จะเข้าใจขึ้นมาเอง   ถ้าผุดขึ้นมาเองเยี่ยงนั้นก็จะเป็นไปในลักษณาการดังที่กล่าว คือนามนิมิต คือ รู้แต่ไม่รู้จริง หรือก็คือรู้อย่างไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งธรรมนั้นๆนั่นเอง เป็นการไปรู้ตามทิฏฐิความเชื่อความเห็นทฤษฏี หรือสัญญาของตัวของตนที่แอบแฝงนอนเนื่องอยู่ในจิต

         ดังนั้นที่ได้ยินได้ฟังกันเสมอๆว่า สมาธิยังให้เกิดปัญญานั้น  มาจาก "สมาธิปริภาวิตา  ปญฺญามหปฺผลา  โหติ มหานิสํสา" ที่แปลว่า "สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา"  จึงมีความหมายที่ถูกต้อง ที่หมายถึง จิตที่สงบไม่ซัดส่ายเนื่องจากไร้นิวรณ์ อันเป็นผลจากอำนาจของฌานสมาธิย่อมมีกำลังมาก  จึงนำเอามาเป็นกำลังหรือบาทฐาน หรือปัจจัยเครื่องสนับสนุนในการพิจารณาธรรมอันละเอียดอ่อนให้เกิดปัญญาหรือความเข้าใจในธรรมอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์   อันเป็นไปดังการเล่าเรียนหนังสือในทางโลกเช่นเดียวกัน  ที่ต้องมีสติ และสมาธิ(อย่างต่อเนื่อง)ในการเล่าเรียน  ก็ล้วนเพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจในวิชชาต่างๆทางโลกนั่นเอง  ในทางธรรมก็เป็นไปเฉกเช่นเดียวกันนั้นแล

         ท่านหลวงตามหาบัว ได้เทศนาสั่งสอนเกี่ยวกับสมาธิและปัญญาไว้  จึงขอกราบอาราธนานำมาแสดง ณ ที่นี้

         "จิตที่เป็นสมาธิ ก็เต็มภูมิ(webmaster - มีขีดจำกัด)ได้เหมือนกัน    เมื่อถึงขั้นเต็มภูมิแล้ว  จะทำอย่างไรก็ไม่เกินนั้น  ไม่เลยนั้นไปอีก  ถึงขั้นสมาธิที่เต็มภูมิแล้วก็มีแต่ความแน่วแน่ของจิต  ความละเอียดของจิตที่รู้อย่างแน่วแน่เท่านั้น   จะให้มีรายละเอียดแหลมคมหรือแยบคายต่างๆแผ่กระจายออกไปฆ่ากิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่างๆที่มีอยู่ในใจนั้นไม่ได้   เพราะไม่เห็น เพราะไม่รู้    ด้วยเหตุดังนี้ ท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา     ซึ่งเป็นเรื่องแยบคายกว่าสมาธิอยู่มากมาย จนหาประมาณไม่ได้   นี่แหละปัญญา  จึงเป็นปัญญา

         ผู้ที่เป็นสมาธิ  ถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา  จะเป็นสมาธิอย่างนั้นตลอดไป  จนกระทั่งวันตาย  ก็หาเป็นนิพพานได้ไม่  หาเป็นปัญญาได้ไม่  ต้องเป็นสมาธิอยู่ตลอดไป   นี่ละท่านจึงสอนให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา   มีความจำเป็นอย่างนี้ให้ทุกๆท่านจำไว้ให้แม่นยำ  นี่สอนด้วยความแม่นยำด้วย   สอนด้วยความแน่ใจของเจ้าของ เพราะได้ผ่านมาแล้วอย่างนี้   ติดสมาธิก็เคยติดมาแล้ว........"

จาก หลักเกณฑ์การปฏิบัติสมาธิ - ปัญญา  (๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑)

พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

         ดังนั้นแม้แต่ผู้ได้เจโตวิมุตติอันเกิดแต่ฌานสมาธิระดับประณีตแล้ว  ก็ยังต้องเจริญปัญญาให้เกิดสัมมาญาณขั้นปัญญาวิมุตติ,  เจโตวิมุตตินี้จึงไม่กลับกลาย ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์ได้

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๔. ปุจฉา - สติปัฏฐาน ๔ ที่นำมาประกอบการปฏิบัติ  ควรปฏิบัติไปตามลำดับหรือไม่  กล่าวคือ เรียงไปตาม กาย  เวทนา จิต  ธรรม

         วิสัชนา -ถ้าเป็นไปในลักษณะการฝึกหรือพิจารณาในเบืื้องต้น   ก็ฝึกเป็นไปตามลำดับได้เพราะเป็นเหตุปัจจัยเกื้อหนุนสนับสนุนแก่กันและกัน  คือ เป็นการสั่งสมไปเป็นลำดับ  แต่ในการปฏิบัติจริง หมายถึง การปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้น  ขยายความ เห็นธรรมใดผุดขึ้นก่อน ก็ปฏิบัติในธรรมนั้นๆ จึงถูกต้อง อันอาจเป็นไปตามจริต สติ ปัญญาของแต่ละคน กล่าวคือ มีสติระลึกรู้เท่าทันธรรมนั้นๆ  ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกันแต่อย่างใด  คือ ไม่ต้องเห็นต้องเข้าใจในเฉพาะธรรมหรือทุกๆธรรม

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๕. ปุจฉา - เหตุใดจึงไม่ใช้สติเห็นองค์ธรรมสังขาร คือ เห็นความคิดหรือสิ่งปรุงแต่งในองค์ธรรมสังขารนี้เสียแต่แรกๆ เพื่อตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทเสียแต่ต้นๆกระบวนธรรม

         วิสัชนา - กล่าวคือ ความคิดที่เกิดในองค์ธรรมสังขาารเป็นความคิดที่เป็นเหตุ  (รวมทั้งความคิดอันเป็นเหตุที่เกิดในองค์ธรรมชรา - รูปูปาทานขันธ์)  ล้วนเป็นความคิดชนิดที่เป็นเหตุ อันเกิดขึ้นเนื่องจากอาสวะกิเลสที่สั่งสมนอนเนื่องมาไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้นอันอาศัยอยู่ในหทัยวัตถุหรือสมองเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชา และเป็นสภาวะธรรมของชีวิตที่เกิดคิดระลึกขึ้นมาเองได้ หรือถูกกระตุ้นเร้าโดยการผัสสะ  แต่ด้วยหลักที่ว่าเมื่อมีเหตุแล้วย่อมต้องเกิดผลขึ้นเป็นธรรมดาตามหลักอิทัปปัจจยตา เมื่อเหตุได้เกิดขึ้นมาแล้วจึงย่อมดำเนินไปตามธรรมนั่นเอง จึงย่อมเกิดผลขึ้นแก่จิต คือ ย่อมต้องดำเนินไปตามสภาวธรรมของจิตหรือชีวิต  กล่าวคือเป็นไปโดยธรรมของชีวิตนั่นเอง ดังนั้นเองแม้ในหลักปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ในจิตตานุปัสสนานั้น สิ่งที่ท่านให้เห็นนั้นล้วนเป็นจิตตสังขารอันเป็นผลนั่นเอง ดังเช่น จิตฟุ้งซ่าน จิตมีโมหะ จิตมีโทสะ จิตเป็นสมาธิ ฯ. ล้วนเป็นจิตตสังขารอันเป็นผลของกระบวนธรรมของจิตทั้งสิ้น,  หรือในเวทนานุปัสสนาก็ล้วนคือผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนธรรมของจิตเช่นกัน  ลองโยนิโสมนสิการจากกระบวนธรรมของจิตในแนวขันธ์ ๕  ดังนี้

ธรรมารมณ์ (คิดอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์)  ใจ    มโนวิญญาณ   ผัสสะ  สัญญาจำ   ทุกขเวทนา........ฯ

ไฟ (อันเป็นเหตุ กาย   กายวิญญาณ   ผัสสะ  สัญญาจำ   ทุกขเวทนา........ฯ

        โยนิโสมนสิการโดยแยบคายพิจารณาดูจากกระบวนธรรมขันธ์ ๕ ของกายที่ถูกไฟกระทบผัสสะ   เมื่อไฟมากระทบถูกกายเข้า  เป็นไปได้ตามธรรมหรือไม่? ที่จะไม่เกิดกายวิญญาณหรือประสาทรับรู้ทางกายขึ้น  ไม่เกิดการผัสสะ  ไม่เกิดสัญญาจำและเข้าใจได้   ไม่เกิดเวทนาชนิดทุกขเวทนาความรู้สึกรับรู้อันเกิดแต่ไฟได้หรือ   ไปห้ามธรรมหรือสภาวธรรมใดธรรมหนึ่งเหล่านี้ไม่ให้เกิด,ไม่ให้มี ล้วนเป็นไปไม่ได้   จึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามสภาวธรรมโดยธรรมชาติ  ลองพิจารณาด้วยว่าถ้าไม่เกิดทุกขเวทนาขึ้นจะดำเนินชีวิตอยู่ได้ไหม! อย่างกรณีนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับกาย กล่าวคือเมื่อไม่เกิดทุกขเวทนา ย่อมไม่เกิดสังขารขันธ์ทางกาย ดังเช่น การที่กายสะดุ้งหนีออกจากไฟเพราะทุกขเวทนา กายส่วนนั้นๆย่อมมอดไหม้ไปโดยไม่รู้ตัว  ดังนั้นทุกขเวทนาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งโดยธรรมชาติในการดำรงชีวิตเพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงจากทุกข์โทษภัยบางประการเช่นกัน  ไม่มีเสียก็อยู่ไม่ได้ในโลกนี้  และเพราะทุกขเวทนาเหล่านี้นี่เองมนุษย์จึงขวยขวายทำมาหากิน ประกอบอาชีพ,   จึงกล่าวอยู่เนืองๆว่าถ้าเกิดองค์ธรรมสังขารในปฏิจจสมุปบาทขึ้นแล้ว  อย่างน้อยต้องดำเนินไปตามธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตจนถึงองค์ธรรมเวทนา แล้วจึงแทรกแซงได้ด้วยสติและปัญญา   ถ้าโยนิโสมนสิการโดยแยบคายจะพบว่ากระบวนธรรมดังนี้เกิดขึ้นและเป็นไปเหมือนกันในอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.   ดังนั้นทั้งสองกระบวนธรรมข้างต้นจึงเกิดขึ้นและเป็นไปในลักษณาการเดียวกัน

        แล้วที่องค์ธรรมเวทนาที่เกิดขึ้นนี้จะดำเนินต่อไปจนจบสิ้นกระบวนธรรมของจิต เช่น ถ้ามีสติปัญญารู้เท่าทัน  ก็ดำเนินเป็นขันธ์ ๕ อันประกอบด้วยสติปัญญาอันไม่เป็นอุปาทานทุกข์ กล่าวคือ เป็นกระบวนธรรมของขันธ์ ๕  อันมีเพียงเวทนาต่างๆยังเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเป็นไปตามธรรม   แต่ไม่เกิดอุปาทานทุกข์อันเผาลนเร่าร้อน  อันเป็นไปดังนี้

คิด(อันเป็นเหตุ ใจ  มโนวิญญาณ ผัสสะ  สัญญาจำ  ทุกขเวทนา  สัญญาหมายรู้  สังขารขันธ์ (คิดอันเป็นผล)

        หรือถ้าไม่มีวิชชา ก็จักดำเนินต่อไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอันคือเกิด ตัณหา......ชราอันเร่าร้อนเผาลนด้วยไฟของเวทนูปาทานขันธ์  ดังนี้

คิด(อันเป็นเหตุ ใจ  มโนวิญญาณ ผัสสะ  สัญญาจำ  ทุกขเวทนา  ตัณหาไม่อยากให้เกิดขึ้น  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  ชราอันเร่าร้อนเผาลนด้วยไฟของเวทนูปาทานขันธ์ในอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชรา .........ฯ.

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๖. ปุจฉา - สติที่ควรรู้เท่าทันในปฏิจจสมุปบาทมีอะไรที่สำคัญบ้าง

         วิสัชนา - เมื่อมีปัญญาแล้ว  จะเห็นได้ว่าที่่สำคัญควรมีสติรู้เท่าทันมี

         ๑. เวทนาที่เกิดขึ้นในองค์ธรรมเวทนา (ถ้าพิจารณาในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ก็เทียบเท่ากับการปฏิบัติเวทนานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนาในขันธ์ ๕)

         ๒. จิตสังขาร(คิด)ที่เกิดขึ้น(ผล)   ขอยกตัวอย่างจากกระบวนธรรมข้างบน ชนิด ที่คิดแล้วไม่เป็นอุปาทานทุกข์  กล่าวคือ ไม่เป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท  แต่ก็ต้องรู้เท่าทันจิต(สังขารขันธ์)นั้นเช่นกัน    เพื่อป้องกันไม่ไปคิดปรุงแต่งให้เกิดอุปาทานทุกข์ต่อไป (เทียบเท่ากับจิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขันธ์ ๕ ในสติปัฏฐาน ๔)

คิด(อันเป็นเหตุ ใจ  มโนวิญญาณ ผัสสะ สัญญาจำ  เวทนา  สัญญาหมายรู้  สังขารขันธ์ (จิตสังขาร  คิดที่เกิดขึ้นอันเป็นผล)

คิดนึกแรกเป็นธรรมารมณ์หรือความคิดที่เป็นเหตุ   ส่วนความคิดที่เกิดหลัง เป็นสังขารขันธ์ชนิดจิตสังขาร อันเป็นผล

          ๓. เวทนูปาทานขันธ์(เวทนา)  ในองค์ธรรมชรา (เทียบเท่ากับปฏิบัติเวทนานุปัสสนาและธรรมานุปัสสนาในอุปาทานขันธ์ ๕ ในสติปัฏฐาน ๔)

          ๔. สังขารูปาทานขันธ์(จิตสังขารอันเป็นผลที่ประกอบด้วย)  ในองค์ธรรมทั้งชาต(เพราะที่ชาตินี้เป็นที่เกิดของทั้งสัญญูปาทานขันธ์และสังขารูปาทานขันธ์) และชรา(เพราะในชราเป็นที่เกิดของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อย่างวนเวียนเป็นวงจร จึงเกิดจิตสังขารประเภทสังขารูปาทานขันธ์ขึ้นด้วย - อยู่ในภาพวงจรเล็กสีแดง)  (เทียบเท่ากับจิตตานุปัสสนาและธรรมานุปัสสนาในอุปาทานขันธ์ ๕ ในสติปัฏฐาน ๔)

          ๕. มีสติระลึกรู้ พิจารณาในปฏิจจสมุปบาทธรรมอยู่เสมอๆ

          หรือกล่าวอย่างง่ายๆ คือ  สติระลึกรู้พิจารณาปฏิจจสมุปบาทอยู่เสมอๆ  และรู้เท่าทันเวทนา   จิต(จิตสังขาร)   เวทนูปาทานขันธ์ (เวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน อันเร่าร้อนเผาลนในชรา)   สังขารูปาทานขันธ์ (จิตสังขารที่ประกอบด้วยอุปาทาน อันความเร่าร้อนเผาลนในชรา)

          เมื่อยังปฏิบัติอยู่   ให้ปฏิบัติไปในการดำเนินชีวิตประจำวัน เมื่อรู้เท่าทันในสิ่งใดก็ได้  อันเป็นไปตามกำลังสติ,สมาธิ,ปัญญาในขณะนั้น   แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด กล่าวคือ เกิดเวทนาอย่างไรก็รู้เข้าใจว่าเป็นไปอย่างนั้นตามธรรมชาติ  เมื่อเป็นสุขเวทนาก็ไม่ติดเพลิน  เมื่อเป็นทุกขเวทนาก็ไม่พิรี้พิไร  ไม่รำพันโอดครวญ   หรือก็คือการถืออุเบกขาเป็นกลางวางทีเฉย โดยไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดหรือกริยาจิต ใดๆ  ไม่ยึดว่าดีชั่ว  ไม่ยึดว่าถูกผิด  ไม่ยึดว่าบุญบาป

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

          ๗. ปุจฉา - ทำไมไม่ปฏิบัติดับอวิชชา  เสียแต่เริ่มต้นเลย  ดับอวิชชาเสียวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ก็ดับแล้ว  แม้แต่พระองค์ท่านก็ตรัสไว้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ...อาสวะกิเลสจึงดับ ฯ.  เสียเวลาเปล่าๆไปกับการปฏิบัติในการพิจารณาองค์ธรรมอื่นๆให้ล่าช้า

          วิสัชนา - กล่าวคือ พูดนะง่าย  เพราะจิตเป็นสสิ่งที่ละเอียดอ่อน แปรปรวน และรวดเร็วสุดหยั่ง  ดั่งที่มีพระพุทธตรัสไว้อยู่เนืองๆ   การดับอวิชชานั้นเป็นของละเอียดอ่อนลึกซึ้งอย่างที่สุด  จึงต้องปฏิบัติสร้างภูมิรู้ภูมิญาณในสิ่งที่เป็นพื้นฐานให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งประจักษ์ด้วยตนเองเสียก่อน  เพราะเมื่อนักปฏิบัติขาดปัญญาความเข้าใจ   เมื่อปฏิบัติไปย่อมมีการติดขัดขึ้นในระยะแรกขึ้นเป็นธรรมดา  ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามความเข้าใจว่าง่ายๆ   พลังจิตอันเกิดแต่พลังปัญญาจะหายไป  นั่นเนื่องจากวิจิกิจฉามีความกังวลสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา  สงสัยว่าผิดบ้าง  ไม่ถูกต้องบ้าง  เมื่อเกิดหลายๆครั้งขึ้นเพราะยังไม่แจ่มแจ้ง  และไม่รู้เหตุตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์จึงแก้ไขอย่างไม่ได้ดับที่เหตุอย่างถูกต้อง  แต่แก้ไขไปอย่างงูๆปลาๆด้วยความไม่รู้(อวิชชา)  ในที่สุดก็แก้ไขไม่ได้  ก็จะท้อแท้ถดถอยไปในที่สุด  ไปค้นคว้าหาความรู้ใหม่  หาอาจารย์ใหม่  หาที่ยึดที่เกาะใหม่บ้าง ตามที่เขาว่าดัง ว่าดี ว่าเก่ง หรือตามที่เขารํ่าลือกันต่อๆมา เป็นต้น   อันอาจพาเข้ารกเข้าป่าอีกเสียด้วย คือ หลงทาง  จึงเป็นการวนเวียนว่ายตายเกิดอยู่เยี่ยงนี้   ทั้งๆที่มีความเข้าใจมาถูกต้องถูกทางดุจดั่งมีของวิเศษอยู่ในมือแต่ไม่มีปัญญาเห็นในคุณค่าจึงทิ้งไป

          ส่วนนักปฏิบัติที่ปฏิบัติจนมีความเข้าใจ(ปัญญา)อย่างแจ่มแจ้ง   เมื่อปฏิบัติไปในระยะแรกก็ย่อมมีการติดขัดน้อย   เมื่อติดขัดยังเป็นอุปาทานทุกข์อยู่ ก็สามารถใช้ปัญญาพิจารณาแก้ไขจนเข้าใจว่าอะไรเป็นเหตุได้อย่างถูกต้องดีงาม   จึงย่อมสามารถแก้ไขที่เหตุได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วกว่า อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา   และไม่เสียพลังจิตพลังปัญญาไปในการติดขัดนั้น  กลับทำให้ปัญญาญาณ กระจ่าง สว่าง ขึ้นไปเป็นลำดับเสียอีก   กลับกลายเป็นการเพิ่มพูนพลังจิต,พลังปัญญาหรือวิชชาอันเนื่องจากความมั่นใจขึ้นไปเรื่อยๆจากการได้ไปรู้ ได้ไปเห็นได้ ได้ด้วยตนเอง จนในที่สุดย่อมดับอวิชชาอย่างถูกต้องดีงาม

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๘. ปุจฉา - การปฏิบัติเป็นการปฏิบัติแต่ปัญญาอย่างเดียวก็พอหรือ?

         วิสัชนา -  ไม่ใช่  จริงแล้วในขั้นต้นเปป็นการปฏิบัติตามมรรคองค์ ๘ นั่นเอง  กล่าวคือต้องมีปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ  จึงเกิดทาน ศีล  สติ  สมาธิ  อันเพื่อยังให้เกิดมรรคองค์ ๑๐  อันจักบังเกิดเพิ่มขึ้นอีก ๒ องค์ คือ สัมมาญาณ(ปัญญาอันยิ่ง) และสัมมาวิมุตติ ความสุขอันสงบบริสุทธิ์ยิ่งอันเกิดแต่การหลุดพ้นไปจากกองอุปาทานทุกข์   กล่าวคือ ต่างเป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่กันและกันดุจเดียวดั่งวงจรปฏิจจสมุปบาท  จึงดำเนินไปดังนี้

ปัญญา  ศีล  สติ  สมาธิ = สัมมาญา  สัมมาวิมุตติ

หรือก็คือการปฏิบัติใน มรรคองค์ ๘ นั่นเอง อันประกอบด้วย

        ปัญญา(๑.เห็นชอบ, ๒.ดำริชอบ)  

        ศีล(๓.วาจาชอบ, ๔.กระทำชอบ, ๕.เลี้ยงชีพชอบ)  

        สมาธิ(๖.ความเพียรชอบ, ๗.สติชอบ, ๘.สมาธิชอบ)  ชอบที่หมายถึง ต้องถูกต้องดีงาม ไม่งมงาย   

        เมื่อมรรคทั้ง ๘ ยังให้เกิดสัมมาญาณ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาวิมุตติ   จึงเกิดมรรคมีองค์ ๑๐ ของพระอริยเจ้า

กล่าวคือต้องมีฝ่ายปัญญาเห็นชอบหรือมีความคิดความเห็นที่จะออกจากทุกข์เป็นเบื้องต้นเสียก่อนจึงปฏิบัติธรรม   จึงมีฝ่ายศีล ข้อบังคับที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสุขสงบในระดับหนึ่ง มิฉนั้นก็เกิดการเบียดเบียน จนย่อมไม่สามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุขสงบได้พอควรแก่การใช้งาน  จนเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนการอบรมขั้นสมาธิได้   อันทั้ง ๘ จึงเป็นไปเพื่อเป็นบาทฐานให้เกิดกำลังจิตในการพิจารณาธรรมให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง(สัมมาญาณ)จึงเป็นการปฏิบัติในขั้นปัญญา กล่าวคือ สัมมาญาณเป็นผู้ชี้แนวทางให้สติและสมาธิที่เกิดจากมรรคองค์ ๘ อีกครั้งหนึ่ง  จึงเกิดสัมมาวิมุตติขึ้นได้

         กล่าวคือ จึงต้องมีมรรค ๘ จึงรวมสติและสมาธิ เป็นบาทฐานเครื่องสนับสนุนให้เกิดสัมมาญาณขึ้นนั่นเอง จึงทำให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีกำลัง เพียงแต่ในหนังสือหรือเว็บนี้เน้นไปในทางการสร้างและปฏิบัติในขั้นสัมมาญาณ  และโดยเฉพาะปฏิจจสมุปบาท  ที่สามารถยังให้เกิดสัมมาญาณได้อย่างดียิ่ง อันกล่าวได้ว่าเป็น มงกุฏแห่งธรรม  ตลอดจนขันธ์ ๕ และพระไตรลักษณ์  ในระดับสัมมาญาณ  จึงอาจกล่าวทางด้านอื่นๆน้อยลงไปเป็นธรรมดา  แต่ต่างล้วนเป็นเหตุปัจจัยเครื่องสนับสนุนแก่กันและกันในการปฏิบัติดังกล่าว

         การกล่าวถึงฌานสมาธิในทางไม่ดีนั้น  พึงเข้าใจด้วยว่าเป็นการกล่าวถึงมิจฉาสมาธิหรือมิจฉาฌานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเพราะความเข้าใจผิดเท่านั้น  เพื่อเป็นข้อสำรวมสังวรระวัง ไม่ให้เป็นอุปสรรคขวากหนามในการปฏิบัติ

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๙. ปุจฉา - ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้อง  จะไม่เป็นอุปาทานทุกข์  ใช่หรือไม่

         วิสัชนา - ใช่  ควรมีความเข้าใจอย่างถูกต้องดด้วย  กล่าวคือ ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องมีทั้งสติ ปัญญา สมาธิ แล้วจะไม่เป็นอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายและมักยาวนาน    แต่ยังคงมีเวทนาเช่นทุกขเวทนาเป็นไปตามธรรม แล้วก็จางคลายดับไปเพราะขาดเหตุก่อหรือเหตุเกิดขึ้นอีก   เพราะเป็นกระบวนธรรมของชีวิตที่เมื่อเกิดผัสสะแล้วย่อมต้องมีการรับรู้ตามความเป็นจริง จึงต้องเข้าใจจึงยอมรับสภาพของเวทนาตามความเป็นจริง ไม่ไปดิ้นทุรนทุรายจนเป็นอุปาทานทุกข์ขึ้นจริงๆ

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๐. ปุจฉา - ทำไมจึงไม่กล่าวเรื่องภพเรื่องชาติในภายยภาคหน้าบ้าง   และทำไมสังขารหรือตัวตนก็เกิดมาแล้ว จึงมีนาม-รูป หรือรูปนามที่น่าจะหมายถึงตัวตนหรือชีวิตขึ้นอีกครั้ง

          วิสัชนา - ในองค์ธรรม  สังขาร  วิญญาณ  นามรูป และสฬายตนะ นี้เป็นที่วิจิกิจฉากันโดยทั่วไปในนักปฏิบัติที่ทำการโยนิโสมนสิการ หรือ ธรรมวิจยะ  จนไม่สามารถดำเนินก้าวหน้าไปในปฏิจจสมุปบาทธรรมได้อย่างถูกต้องดีงาม   เพราะความที่จะไปนึก ไปคิด หรือไปพิจารณาอย่างยึดติดยึดถือหรือตามทิฏฐิความเชื่อ,ความเข้าใจว่า มีตัวตนหรือมีชีวิตได้กำเนิดเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมต้องมีสังขารที่เข้าใจไปว่าหมายถึงกายหรือตัวตนหรือชีวิต,  วิญญาณที่เข้าใจไปว่าเป็นเจตภูตบ้างหรือปฏิสนธิวิญญาณบ้าง,  รูปนามที่เข้าใจไปว่าหมายถึงตัวตนหรือชีวิตหรือขันธ์๕ที่จะเกิดขึ้นมาอีก   และสฬายตนะที่เข้าใจไปว่าเกิดขึ้นพร้อมตัวตนหรือชีวิต   เพราะทั้งรูปนามก็ครบบริบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้วในชาตินี้หรือปัจจุบันนี้    จึงเป็นเหตุให้ไปนึก,ไปตีความเป็นไปในเรื่องข้ามภพข้ามชาติเข้าร่วมด้วยเสีย     ดังนั้นจึงเป็นที่สงสัยกันโดยไม่รู้ตัวกันเป็นอย่างยิ่งว่าทำไมจึงต้องมาแสดงองค์ธรรมเหล่านี้  หรือองค์ธรรมเหล่านี้ทำไมจึงมีเกิด จึงมีขึ้นมาอีกทั้งๆที่ในเมื่อปัจจุบันนี้ก็มีอยู่แล้วอย่างครบถ้วน  จึงไปเข้าใจตีความนัยกันไปดังนั้นว่าเป็นการกล่าวถึงการเกิดในภพชาติในภายภาคหน้ากันเสียแต่ฝ่ายเดียว  ทั้งๆที่พระพุทธองค์ท่านต้องการแสดงธรรมของการเกิดขึ้นเพื่อการดับไปแห่งอุปาทานทุกข์เป็นสำคัญ เสียตั้งแต่ภพ,ชาติในปัจจุบันนี้ เป็นแก่นแกนสำคัญที่สุด    ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งธรรมด้วยว่า  ตัวตน หรือ รูปนาม หรือ ชีวิต ในขณะปัจจุบันนี้ได้มีอย่างครบถ้วนอยู่แล้วก็จริงอยู่    แต่ที่กล่าวในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง แสดงสภาพหรือสภาวะหรือการทำงานต่างๆของกระบวนธรรมของจิตหรือชีวิตที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานทุกข์หรือความทุกข์ขึ้น   แต่ละองค์ธรรมจึงมีลักษณาการคล้ายอาสวะกิเลสที่ยังนอนเนื่องอยู่    กล่าวคือ มีขันธ์๕ หรือมีชีวิตนั้นอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ก็จริงอยู่  แต่ยังนอนเนื่อง  เป็นแมวนอนหวด ที่ยังไม่ทำหน้าที่วิ่งไล่จับหนู   กล่าวคือยังไม่ได้ทำงานอย่างจริงจัง หรือยังไม่ทำงานอย่างเป็นชิ้นเป็นอันตามกิจหรืองานที่จรมาผัสสะหรือเกิดขึ้น   ดังนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยต่างๆจรมาหรือเกิดขึ้น  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการทำงานเป็นไปตามกระบวนธรรมของจิตอันเป็นสภาวธรรมชาติของชีวิต   ดังนั้นเมื่อไม่สามารถทำเหตุให้ปัญญาเห็นเข้าใจได้แต่เบื้องต้น  ผลเบื้องปลายจึงผิดพลาดไปเป็นธรรมดา  ด้วยเหตุดังนี้จึงทำให้ปฏิจจสมุปบาทอันดีงามลึกซึ้งถูกต้องตามพระพุทธประสงค์เป็นลำดับแรก จึงแทบสูญหายไปเพราะความตีความกันอย่างเดียวไปเกี่ยวกับภพชาติในภาคหน้า  (อ่านการตีความปฏิจจสมุปบาท ประกอบการพิจารณา)

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๑. ปุจฉา -  เมื่อเกิดความอยากหรือไม่อยากในสิิ่งใดๆหรือก็คือตัณหาแล้ว และได้รับความสนองตอบตามต้องการ   ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นสุขขึ้น  ก็เท่ากับดับทุกข์ไปแล้ว  ทำไมต้องไปเสียเวลายุ่งยากในการศึกษาปฏิบัติแบบต่างๆนาๆ   สนองตอบเขาไปก็สิ้นเรื่อง

         วิสัชนา - ก็เป็นสุขอย่างหนึ่งจริงๆแบบทางโลกหรือโลกิยสุข ในขณะนั้นจริงๆ   เพียงแต่ว่าสุขนี้ยังมีความไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้จึงแปรปรวนไปเป็นทุกข์เป็นที่สุด  จึงไม่สุขชนิดสงบบริสุทธิ์เย็นจริง เพราะล้วนยังแฝงความเร่าร้อนซ่อนเร้นอยู่ด้วย จึงยังเป็นการดำเนินและเป็นไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาทอยู่ ไม่ได้ตัดทำลายวงจรอุบาทนี้ลงไปแต่ประการใด แต่ด้วยอวิชชาจึงไม่รู้  กล่าวคือ  เมื่อสุขเหล่านั้นมีอาการแปรปรวนและดับไปแล้ว(มรณะ) ยังเกิดกระบวนธรรมของจิตในการเก็บสั่งสมพอกพูนเป็นอาสวะกิเลส เช่นในรูปปริเทวะ คือจักเกิดอาการพิรี้ พิไร ครํ่าครวญ คิดถึงถึงสุขเหล่าใดเหล่านั้นขึ้นอีกในภายหน้า อันเป็นสภาวธรรมของสัญญาความจำจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้   จึงย่อมทำให้เกิดการแสวงหาอันย่อมเร่าร้อนขึ้นอีก เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆไป   เมื่อสนองตอบไม่ได้ตามปรารถนาเมื่อใดจากสุขก็จะเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์และสั่งสมนอนเนื่องอีกเช่นกัน   แม้เมื่อได้ตามปรารถนาก็ยิ่งสั่งสมพอกพูนยิ่งๆขึ้นไปนั่นเอง   จึงวนเวียนเป็นวงจรอุบาทของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ    โยนิโสมนสิการ พิจารณาได้ง่ายๆ จากแค่เรื่องเพศหรือเรื่องอาหารที่อร่อยถูกใจ  ถ้าอร่อยก็ติดใจจำ  แล้วรำลึกหรือคิดถึงขึ้น(ปริเทวะ)ในภายหน้า  จึงเกิดอาการต้องขวยขวายกระวนกระวายออกไปสนองตอบอีกเช่นนี้อยู่เสมอๆในภายภาคหน้า  ถ้าวันใดรำลึกขึ้นมาแต่ไม่สามารถสนองตอบได้ก็รู้สึกเป็นทุกข์เร่าร้อนกระวนกระวายเพียรวนเวียนวุ่นวายปรุงแต่งหาหนทางสนองตอบ  เมื่อไม่ได้ดังใจแม้จะต้องดับไปตามธรรมหรือพระไตรลักษณ์ก็จริงอยู่  แต่ก็ยังผุดขึ้นมาใหม่ได้อีก   จึงเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้นี่เอง

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๒. ปุจฉา -  ถ้าอย่างนั้นสุขและทุกข์ล้วนไม่เออา  ไม่เฉยๆเป็นท่อนไม้เป็นหุ่นยนต์หรือแข็งทื่อไปหรือ  หลีกเลี่ยงเสียทุกอย่าง  เอาแต่สุข ไม่เอาทุกข์ไม่ได้หรือ?

         วิสัชนา - ไม่ใช่อย่างนั้น   ไม่ใช่อย่าางนั้น   แต่หมายความว่าทั้งสุขและทุกข์และยังรวมถึงอทุกขมสุข  ก็ยังคงมี คงเป็นเช่นนั้นตามธรรมของเขา  แต่ต่างล้วนไม่ติดเพลินหรือยึดมั่น  ดังเช่น  อาหารอันอร่อยหรือไม่อร่อยก็ตามที  เป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของอาหารนั้นๆอันพร้อมด้วยสัญญาความจำได้นั่นเอง   อร่อยก็กินและรู้ถึงความเอร็ดอร่อยนั้นเป็นธรรมดาแต่ไม่ติดเพลิน(นันทิ)ด้วยสติและปัญญา   ส่วนที่ไม่อร่อยก็กินและย่อมรับรู้รสถึงความไม่อร่อยเหล่านั้นเป็นธรรมดา แต่ไม่ผลักไสปรุงแต่งหงุดหงิดด้วยติดเพลินคำนึงถึงรสชาดความเอร็ดอร่อย    จึงเป็นไปดังเช่นเดียวกับฌาน,สมาธิที่เป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะเจ้าที่ไม่ยังโทษใดๆเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่อันเป็นสุขยิ่งเมื่อต้องการใช้ เพราะไม่ได้เกิดแต่การติดเพลิน  ทั้งๆที่ท่านมีอยู่เป็นธรรมดาจากการปฏิบัติ   ส่วนปุถุชนนั้นเมื่อมีฌานสมาธิเกิดขึ้นก็ไปติดเพลินหรือเพลิดเพลินในรูปแบบต่างๆนาๆอันสลับซับซ้อนด้วยอวิชชา  จนก่อทุกข์โทษภัยขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวว่าเกิดแต่นันทิ

          ย่อมเป็นที่ใฝ่ฝันของปุถุชนทุกคนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้เขียนเองแต่อดีต  อยากมีแต่สุข ไม่เอาทุกข์  จึงเกิดการพยายามยึดสุข และผลักไสทุกข์  คิดว่าดีที่สุดและถูกต้องเนื่องแต่อวิชชาจึงไม่รู้  เพราะดูเผินๆแล้วก็น่าจะเป็นได้  แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สุขทางโลกหรือโลกิยสุขนั้น ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ในที่สุด เป็นอนัตตาที่ไม่มีแก่นแกนแท้จริง  ดังนั้นเมื่อสั่งสมหรือยึดในสุขโดยไม่รู้ตัว  จิตก็ย่อมสั่งสมความต้องการความอยากหรือเพิ่มความแก่กล้าของกิเลสขึ้นเรื่อยๆ ตามกระบวนจิตที่ได้สั่งสมปรุงแต่งแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว จนย่อมเกิดสภาวะไม่สมหวังอันเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุด  เพราะสุขทางโลกที่เกิดขึ้นเหล่านั้น จะล้วนเก็บจำเป็นอาสวะกิเลสในรูปปริเทวะ กล่าวคือ โดยอาการพิรี้พิไร อาลัย รำลึก คิดถึงจนกำเริบเสิบสานขึ้นเป็นอุปาทานทุกข์นั่นเอง

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๓. ปุจฉา - พิจารณาอย่างไรในปฏิจจสมุปบาท ให้เกิดนิพพิทา

         วิสัชนา - พิจารณาการเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์ & วนเวียนเป็นวงจรไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตามที  ต่างล้วนสั่งสมเป็นอาสวะกิเลส แล้วร่วมด้วยอวิชชายังให้เกิดทุกข์ขึ้นอีก  แล้วก็ดับไป  แล้วก็เกิดขึ้นอีกเยี่ยงนี้  เป็นวงจรที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์หรือสังสารวัฏ  ทำให้ไม่สามารถดับภพดับชาติอันเป็นทุกข์ไปได้  หมั่นพิจารณาว่าเป็นมายาจิตที่หลอกล่อให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์หรือสังสารวัฏ

         ๑๔. ปุจฉา - เหตุใด วิญญาณไม่เกิดก่อนสังขาร   เกิดมาเป็นตัวเป็นตนแล้ว ย่อมมีวิญญาณ(เจตภูติ)ติดตัวมาด้วยแล้วไม่ใช่หรือ?

         วิสัชนา - อ่านคำตอบใน รายละเอียดขององค์ธรรม วิญญาณ-นามรูป-สฬายตนะ-ผัสสะ

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๕. ปุจฉา - ทำไมไม่ดับเวทนาเสีย  ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาแล้ว

         วิสัชนา - เพราะเวทนานั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหรืือขันธ์ ๕ อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  อันจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตอยู่  ไม่มีเสียก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน  การดับเวทนาจึงเป็นภาษาธรรม ที่หมายถึง ปัญญารู้เข้าใจตามความเป็นจริง และมีสติรู้เท่าทัน  จนไม่ไปยึดติดยึดถือในเวทนาเหล่านั้นจนเกิดตัณหาขึ้น   จึงมิได้หมายถึงการทำให้ดับสูญหายไปแต่ประการใด  ส่วนตัณหานั้นไม่ใช่ส่วนประกอบอันจำเป็นของชีวิตหรือขันธ์ ๕ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต  ละได้เสียกลับเป็นสุขสงบอันบริสุทธิ์ยิ่ง เพราะไม่มีความเร่าร้อนแอบแฝงอยู่ในความสุขสงบนั้น เหมือนดังความสุขทางโลก  และตัณหาความจริงแล้วก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาความจำชนิดอาสวะกิเลสที่สั่งสมไว้ได้เช่นกัน เกิดแต่ตัวตนของตนเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้น  และยิ่งมีมากเท่าใดก็ยิ่งทุกข์เท่านั้น   ส่วนเวทนานั้นเกิดขึ้นตามสภาวธรรมที่เมื่อเหตุปัจจัยครบเกิดการผัสสะย่อมต้องเกิดเวทนาเป็นธรรมดา

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๖. ปุจฉา - ทำไมจึงกล่าวว่าองค์ธรรมสังขารในวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็น "สังขารกิเลส" ?

         เนื่องเพราะเป็นสังขาร ที่หมายถึงการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากอาสวะกิเลสที่สั่งสมไว้หรือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่นั่นเองเป็นบาทฐาน กล่าวคืออาสวะกิเลสที่นอนเนื่องอยู่นั้นได้ผุดขึ้นมาหรือถูกกระตุ้นเร้าจนเกิดการตื่นตัวขึ้นมาเป็นกิเลสด้วยอวิชชาความไม่รู้ความจริง

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๗. ปุจฉา - ผมพยายามหยุดคิด หยุดนึก ในที่สุดรู้สึกว่ามีอาการขี้หลงขี้ลืม แช่นิ่งๆ ทื่อๆ เบลอ   มีความรู้สึกว่าไม่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงมีความสงสัยในการปฏิบัติ   และในบางครั้งก็ทานอาหารไม่รู้รสชาด  เป็นการปล่อยวางหรือการปฏิบัติมาถูกต้องหรือเปล่าครับ?

         วิสัชนา  -  ผิดครับ นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ในหมู่นักปฏิบัติ  ต้องหยุดแต่คิดนึกปรุงแต่ง หรือหยุดจิตฟุ้งซ่านไปปรุงแต่งครับ  การไปหยุดคิดหยุดนึกโดยไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่าดีชั่ว ถูกผิด  จึงเกิดอาการดังนั้นขึ้น  กล่าวคือเมื่อพยายามหยุดคิดหยุดนึกบ่อยๆเข้าก็กลายเป็นสังขารกิเลสที่สั่งสมไว้  จึงหยุดการคิดทั้งดีทั้งชั่วไปเสียจนเลยเถิด ควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นไปตามความเคยชิน หรือเรียกว่าอัติโนมัติก็ได้ และแก้ไขได้ยาก  ดูเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ซิครับ  ยังต้องมีสติระลึกรู้ตามความเป็นจริงของธรรมก่อนว่า เป็นเวทนาหรือจิตเยี่ยงไรในช่วงปฏิบัติ และเล็งเห็นว่าเป็นโทษ แล้วจึงอุเบกขาหรือก็คืออาการไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆครับ   การพยายามไปหยุดคิดนึกเสียดื้อๆโดยขาดปัญญาความเข้าใจจึงเป็นโทษครับ  จึงเกิดการหยุดความคิดนึกที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของขันธ์ ๕ โดยไม่รู้ตัวด้วยการทำไปเองด้วยความเคยชินด้วยอวิชชา   ส่วนการไม่รับรู้รสชาดในบางขณะนั้น  ก็อย่าไปเข้าใจผิดว่าดี ว่าได้ปล่อยวางไม่พัวพันในรสชาดได้แล้ว  ก็เกิดมาแต่การที่จิตหยุดคิดหยุดนึกในฝ่ายธรรมารมณ์ความคิดอันเป็นฝ่ายเหตุ อันจัดเป็นองค์ธรรมสังขาร  อย่างขาดปัญญาบ่อยๆจนชำนาญ  จึงเลยเถิดไปตัดหรือกดข่มเวทนาได้เป็นครั้งคราวโดยไม่รู้ตัวครับ   ที่ถูกต้อง คือรับรู้รสชาดตามความเป็นจริง อร่อยก็รู้ว่าอร่อย แล้วไม่ติดเพลิน  ไม่อร่อยก็รู้ว่าไม่อร่อย แล้วไม่ปรุงแต่ง  จึงเป็นการอุเบกขาที่ถูกต้อง  (สังขารขันธ์ ที่หมายถึงจิตสังขาร จึงจะเป็นสิ่งที่ควรรู้เท่าทันแล้วอุเบกขา หยุดคิดหยุดนึกปรุงแต่ง)

          ถ้าโยนิโสมนสิการโดยแยบคายในปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์ ๕ หรือสติปัฏฐาน ๔ ก็ตามที จะพบว่าความจริงแล้ว ไม่ใช่การหยุดคิด หยุดนึกแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะการใช้ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกันโดยทั่วๆไปมาพยายามอธิบายธรรมหรือจิตที่แสนจะละเอียดอ่อนจึงเกิดการสับสน   จริงๆแล้วการหยุดคิดนึกปรุงแต่ง หมายถึง การมีสติระลึกรู้ตามความเป็นจริงและเท่าทันในเวทนา หรือสังขารขันธ์ชนิดจิตสังขารที่เกิดขึ้น  แล้วจึงหยุดการคิดนึกปรุงแต่งต่อจากสังขารขันธ์ ชนิดจิตสังขารที่เกิดขึ้นมานั้น หรือก็คือความคิดอันเป็นผล เช่น จิตมีโมหะ โทสะ โลภะ จิตฟุ้งซ่าน ฯ.

           พิจารณาสังเกตุคิดอันเป็นเหตุ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าธรรมารมณ์     และคิดอันเป็นผล หรือที่เรียกว่าจิตสังขาร   ในกระบวนธรรมต่อไปนี้

คิด(อันเป็นเหตุ ใจ  มโนวิญญาณ ผัสสะ สัญญาจำ  เวทนา  สัญญาหมายรู้  สังขารขันธ์ ชนิดจิตสังขาร หรือก็คือความคิดที่เกิดขึ้น อันเป็นผล)

คิดนึกแรกเป็นธรรมารมณ์หรือความคิดที่เป็นเหตุ  ธรรมารมณ์นี้ครอบคลุมในสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยใจทั้งสิ้น จึงอาจเป็นไปในลักษณะความจำได้ของความรู้สึกก็เป็นได้  ถ้าไปหยุดเสียอย่างขาดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง(ปัญญา)  ก็กลับกลายเป็นผลร้ายได้ดังที่เกิดขึ้น

           ส่วนความคิดที่เกิดหลัง เป็นสังขารขันธ์ชนิดจิตสังขาร อันเป็นผลที่เกิดขึ้น  ที่ควรรู้เท่าทันและเข้าใจ แล้วหยุดปรุงแต่งหรืออุเบกขา

           ดังนั้นเมื่อไปหยุด ไปห้าม ไปตัดคิดนึกที่  "คิด(อันเป็นเหตุ)" เสียด้วยอวิชชา  เพราะแม้เป็นเหตุก็จริงอยู่  แต่ก็จำเป็นยิ่งในการยังชีวิตในฝ่ายดีงามด้วยเช่นกัน จึงไม่สามารถไปดับเสียอย่างดื้อๆอย่างขาดเหตุผล  เมื่อไปพยายามดับธรรมารมณ์อันเป็นเหตุอย่างขาดเหตุผลเข้า สักแต่ว่าทำตามเขาบอกหรือคิดว่าใช่  ผลจึงพาลให้ดับทั้งเวทนาและจิตสังขารที่บางส่วนจำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขไปเสียด้วย  และเมื่อชำนาญขึ้นจึงส่งผลบางส่วนให้อายตนะอื่นเป็นไปตามอีกด้วย  และสั่งสมเป็นอาสวะกิเลสอันจักยังให้เกิดเป็นสังขารกิเลสเคยชินขึ้นในที่สุด จึงกระทำเองโดยไม่รู้ตัวเสมอๆ  จึงเกิดปัญหาขึ้น เช่น พาลจำอะไรไม่ค่อยได้ ไม่รู้สึกรู้สาในเวทนา ตลอดจนจิตสังขารที่ดีงามที่ควรรับรู้ในการดำเนินชีวิตก็ย่อมหายไป  ดังเช่น การที่ลิ้นควรรู้รสชาดของอาหารเป็นธรรมดา กลับกลายเป็นไม่รู้สึกรู้สาในรสชาด    ดังนั้นการหยุดคิดนึกอย่างขาดปัญญาบ่อยๆ ในที่สุดก็กลายเป็นขี้หลงขี้ลืม เฉื่อยชา แช่นิ่ง ทื่อๆไปในที่สุด  ตลอดจนทำให้ร่างกายแข็งเกร็ง   จึงเขียนกล่าวอยู่เสมอๆว่า ไม่ใช่หยุดคิดหยุดนึก อันจำเป็นต้องมีอยู่  แต่หมายถึง การหยุดคิดนึกปรุงแต่ง หรือหยุดคิดฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งภายนอก เมื่อระลึกรู้เท่าทันในจิตสังขารที่เกิดขึ้นแล้วนั้น

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๘. ปุจฉา - ทำไมจึงกล่าวว่า องค์ธรรมต่างๆในปฏิจจสมุปบาท อยู่ในสภาพเกิดดับ เกิดดับๆ... อยู่เยี่ยงนั้น    เกิดและดับนี้หมายถึงอะไร  เพราะคงไม่ใช่หมายถึงการเกิดมาเป็นตัวตนแล้วตายไปเป็นที่สุด

         วิสัชนา - ถูกแล้วครับ ไม่ได้หมายถึงการเกิดการดับบที่หมายถึงการเกิดการตายอย่างทางที่โลกหมายความกัน   แต่เกิดเป็น ภาษาธรรมที่หมายถึง การเกิดขึ้นเมื่อเหตุปัจจัยครบองค์ประกอบเช่นการครบองค์ของการผัสสะ หรือก็คือเกิดการทำงานหรือactiveตามหน้าที่ขึ้น   และดับ ที่หมายถึงการหยุดหรือไม่ทำงานเนื่องแต่เหตุปัจจัยบางประการได้แปรปรวนหรือดับไป จึงไม่ครบองค์ประกอบของการทำงานหรือของการผัสสะ  แต่การดับในทางธรรมนั้น แม้จะดับไป แต่เหตุต่างๆก็ยังคงมีอยู่ ตราบที่ยังดำรงขันธ์อยู่  ดังนั้นการดับจึงเป็นไปอยู่ในสภาพนอนเนื่องแช่นิ่งอยู่ จึงไม่ใช่การดับชนิดสูญหาย แตกดับไปอย่างสูญสิ้นเป็นการถาวร   แต่เมื่อใดที่มีเหตุปัจจัยใดแปรปรวนขึ้นแล้วครบองค์ประกอบของการทำงานนั้นก็เรียกว่าเกิดขึ้น  แล้วก็ดับไปเมื่อเหตุปัจจัยนั้นแปรปรวนไปด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี   จึงเป็นเหมือนดังเงาที่เคยกล่าวถึงเสมอๆ   หรืออุปมาดั่งการเกิดขึ้นและดับไปของเกลียวคลื่นในท้องทะเล  ที่ทะยอยเกิดดับ เกิดดับๆๆ อยู่เยี่ยงนั้นด้วยอำนาจของลม เมื่อมีลมอันเป็นสภาวธรรมชาติ ก็เกิดเกลียวคลื่นขึ้น  ปฏิจจสมุปบาทก็เช่นกันที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นวงจรหรือภวจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้นก็ด้วยกำลังอำนาจของอวิชชา อันเป็นสภาวธรรมชาติของปุถุชนเช่นกัน ที่มีมาพร้อมกับการเกิดเป็นธรรมดา

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๑๙. ปุจฉา - แล้วทำไมไม่ดับเสียที่ผัสสะเลย  จะได้ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา โดยเฉพาะเมื่อไม่เกิดทุกขเวทนาขึ้น  ก็ย่อมไม่มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์อันเร่าร้อน  จริงไหมครับ

         วิสัชชนา - จริงครับ  ถ้าสามารถดับผัสสะได้!   แต่ปัญหาคือ ผัสสะเป็นสภาวธรรมของชีวิตหรือก็คือของขันธ์ทั้ง ๕  ที่ใช้เรียกการประจวบกันหรือประกอบกันของเหตุปัจจัยกันครบองค์ ๓ ของ อายตนะภายนอก๑  อายตนะภายใน๑  วิญญาณ๑  ก็เรียกว่าเกิดการผัสสะขึ้นเป็นธรรมดา ไม่สามารถไปควบคุมไม่ให้เกิดการผัสสะขึ้นได้   สามารถปฏิบัติได้เพียงสำรวมสังวรระวังในทวารทั้ง ๖ ไม่ให้สอดส่ายไปปรุงแต่งกระทบให้ครบองค์ของการผัสสะเท่านั้น  ด้วยเหตุดังนี้นี่เองท่านจึงให้มีการสำรวม สังวร ระวังในทวารทั้ง ๖ อยู่เสมอๆ เพราะย่อมยังให้เกิดผัสสะ ๖ ขึ้นเป็นธรรมดา

ผู้ไม่ระวังผัสสะทั้งหก แม้ประตูหนึ่ง   ย่อมประสพความทุกข์

ฉเฬว  ผสฺสายตนานิ  ภิกฺขเว    อสํวุโต  ยตฺถ  ทุกฺขํ  นิคจฺฉติ

(สังคัยหสูตร  ๑๘/๗๖)

ดังนั้นเมื่อมีการผัสสะเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถไปหยุดกระบวนธรรมของจิตที่ต้องดำเนินไปตามธรรมของขันธ์ ๕ หรือชีวิตได้   อุปมาดั่งสารเคมีสองชนิด ที่มีสภาวธรรม ที่ทำปฏิกริยาเคมีต่อกันโดยธรรมหรือธรรมชาติ  แล้วเมื่อมาเกิดการกระทบกันหรือผัสสะขึ้นแล้ว  จะไปห้ามไม่ให้เกิด,ไม่ให้ทำปฏิกริยาต่อกันและกัน ย่อมเป็นไม่ได้  จึงย่อมต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้นเองตามธรรม   หรือก็มีลักษณาการเหมือนดังเงา ที่เมื่อมีเหตุปัจจัยครบองค์ คือมีการประจวบกันหรือการผัสสะกันของแสง วัตถุทึบแสง พื้นที่ตกกระทบแล้ว ย่อมต้องเกิดเงาขึ้นเป็นธรรมดา  ไปห้ามอย่างไรเสียก็ไม่ได้   แทรกแซงหรือดับไปก็ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว  แต่เมื่อเกิดการประจวบกันครบองค์ของเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นใหม่เป็นธรรมดา  เป็นไปตามธรรมหรือสภาวธรรมดังนี้อย่างเที่ยงตรงและคงทนต่อทุกกาลเพราะความเป็นอสังขตธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง

         ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง นักปฏิบัติฝ่ายฆราวาสจึงไม่สามารถดำเนินการปฏิบัติไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วเช่นดังฝ่ายบรรพชิต  ก็เพราะการผัสสะที่ย่อมมีการเกิดอย่างมากมาย จากการดำเนินชีวิตประจำวันตามหน้าที่แห่งตนในปุถุชน   ตลอดจนเพราะขาดศีล(ข้อบังคับ)และพรต(ข้อปฏิบัติ)ในการควบคุมกำกับดังเช่นฝ่ายบรรพชิตซึ่งย่อมทำให้เกิดการผัสสะน้อยลง  ดังนั้นฝ่ายบรรพชิตเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องจึงย่อมดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นกว่าในการดับไปแห่งทุกข์ทั้งปวง

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๒๐. ปุจฉา-ถ้าอย่างนั้นก็พยายามหยุดคิดหยุดนึกหยุดจำเสียก็สิ้นเรื่อง  อาสวะกิเลสก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้  จริงไหมครับ?

         วิสัชชนา-ใช่ครับ!  แต่อย่าลืมว่าอาสวะกิเลสก็คือส่วนหนึ่งของสัญญาหรือความจำทั้งมวล อันเป็นขันธ์หนึ่งของชีวิต ทำงานเป็นอิสระจากใครๆ ไม่มีเสียก็ไม่ครบขันธ์ ๕ ย่อมดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขไม่ได้  ดังนั้นจะดับเสียดื้อๆก็ไม่ได้ จึงต้องใช้ปัญญาและสติรู้เท่าทัน  ธรรมชาติหนึ่งของชีวิตคือการผุดนึกจำขึ้นมาได้เองบ้าง หรือเพราะการถูกกระตุ้นเร้าแบบแอบแฝงซ่อนเร้นก็เป็นได้  ดังเช่น บางครั้งผุดนึกจำขึ้นมาได้เองว่า ลืมกระเป๋าสตางค์บ้าง  ลืมปิดไฟบ้าง ลืมของบ้าง เป็นต้น  ไร้ซึ่งเจตนาโดยตรงๆเพียงแอบแฝงเร้าอยู่ จนในที่สุดผุดขึ้นมาเอง  ดังนั้นแม้พยายามหยุดคิดหยุดจำก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะธรรมชาติดังนี้นั่นเอง ซึ่งไม่มีเสียก็ดำรงชีวิตไม่ได้เช่นกัน  จึงต้องใช้วิชาของพระองค์ท่านเท่านั้น คือ ปัญญา สติ สมาธิ   ถ้ายังไม่ชัดเจน   ลองพิจารณาจากความฝันดู  ไร้ซึ่งเจตนาโดยตรงแต่สามารถผุดเหล่าอาสวะกิเลสขึ้นมาเป็นสังขารกิเลสได้แม้ในขณะที่หลับอยู่  หรืออาจเป็นสัญญาธรรมดาขึ้นมาเองก็ได้

[อาสวะกิเลส อวิชชา] จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขารกิเลสคือความฝันอันเป็นเหตุหรือธรรมารมณ์ที่แฝงกิเลสที่ผุดขึ้นมาเองได้เนื่องมาจากอาสวะกิเลส มโนวิญญาณ นาม-รูป  สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา  ตัณหา  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  ชรา แล้ววนเวียนปรุงแต่งเร่าร้อนกระวนกระวายนอนเหงื่อโทรมกายแม้ในฝัน หรือฝันหวานแต่เร่าร้อนอยู่ในแม้ความฝัน มรณะ  อาสวะกิเลส... ...ฯ.

         ที่เกิดขึ้นและเป็นไปดังนี้ ก็เพราะจิตนั้นไม่เคยหลับไม่เคยนอน  ที่หมายถึงพร้อมทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาทั้งในขณะตื่นหรือหลับเมื่อเกิดการผัสสะขึ้นโดยธรรมหรือธรรมชาติ  กล่าวคือสัญญาหรืออาสวะกิเลสเกิดผุดขึ้นเองแม้ในขณะหลับ  จิตก็จะเกิดมโนวิญญาณขึ้นรับรู้ในฝันนั้น จึงครบองค์ผัสสะ แล้วดำเนินไปตามกระบวนธรรมหรือจิตของขันธ์ ๕ หรือเป็นแบบเป็นทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทก็ได้   จึงเป็นไปดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในเรื่องจิตที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาแม้ในขณะหลับหรือตื่น ไว้ดังนี้

         "ภิกษุทั้งหลาย   การที่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ จะเข้าใจไปยึดถือว่าร่างกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ว่าเป็นตัวตน  (webmaster - ขยายความว่า  ถึงแม้ว่าจะเป็นความเเข้าใจที่ผิดก็ตาม แต่ก็  )ยังดีกว่าจะยึดถือจิตว่าเป็นตัวตน    เพราะว่า กายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้  ยังปรากฎให้เห็นว่าดำรงอยู่(ขยายความว่า  แสดงให้เห็นว่าคงทนอยู่ไม่ได้อย่างแท้จริง อย่างไรเสียก็แสดงให้เห็นว่าอยู่ได้)เพียงปีหนึ่งบ้าง ๒ ปีบ้าง  ๓ - ๔ - ๕  ปีบ้าง  ๑๐ - ๒๐ - ๓๐ - ๔๐ - ๕๐ ปีบ้าง  ๑๐๐ ปีบ้าง  เกินกว่านั้นบ้าง  แต่สิ่งที่เรียกว่า  จิต  มโน  หรือวิญญาณนี้  เกิดดับอยู่เรื่อย ทั้งวันทั้งคืน   (ขยายความว่า  จิตนั้น เกิดดับ อยู่ทั้งในขณะตื่น และแม้ขณะหลับ   เช่นการฝัน   แต่กลับไม่เห็นว่า เกิดแต่เหตุปัจจัยจึงเกิดดับอยู่ตลอดเวลา  จึงไปยึดว่ามีตัวมีตน   จึงเป็นการหลงผิดที่ร้ายกว่าการหลงผิดไปยึดถือว่ากายเป็นตัวตน   เพราะย่อมยังให้ไม่เข้าใจความเป็นเหตุปัจจัยและพระไตรลักษณ์)"

(สํ.นิ. ๑๖ / ๒๓๑ / ๑๑๔)

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๒๑. ปุจฉา-ทำไมบางวัน  อยู่ดีๆก็รู้สึกหดหู่  ห่อเหี่ยว เศร้าสร้อยใจ เสียเหลือเกิน  จนหาเหตุหาผลไม่พบ  ก็ไม่ได้คิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านใดๆ  แต่อยู่ดีๆก็ผุดขึ้นมาเสียอย่างนั้นแหละ

         วิสัชชนา - ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องอาสวะกิเลสแลละดับอวิชชาว่า  อาสวะกิเลสนั้นเป็นความจำหรือความทรงจำ อยู่ได้ในทุกรูปแบบ แม้แต่ความจำได้ในความรู้สึกหดหู่แต่เก่าก่อน  ความเศร้าใจ ฯ. ในรูปแบบต่างๆ   เมื่อผุดขึ้นมา หรืออาจมีสิ่งเร้าแบบแอบแฝงซ่อนอยู่กระตุ้นเร้าขึ้นมา  จึงไม่รู้เท่าทันด้วยอวิชชา  จึงเกิดเป็นสังขารกิเลสชนิดธรรมารมณ์ขึ้น อันเป็นเพียงมวลของความรู้สึกที่ยังไม่ทันได้คิดได้นึกเลย แต่ก็เกิดขึ้นและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท จึงไม่รู้ตัว   จึงต้องรู้ตัวเท่าทันด้วยวิชชา(อันประกอบด้วยปัญญา สติและสมาธิ)หรือดับอวิชชาเป็นที่สุดของการปฏิบัติ  กล่าวคือเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องสมํ่าเสมอก็จะเกิดทั้งปัญญา และสติรู้เท่าทันอย่างว่องไวปราดเปียวขึ้นและอย่างต่อเนื่องในที่สุด

[อาสวะกิเลส อวิชชา] จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขารกิเลสคืออันเป็นเหตุหรือธรรมารมณ์หรือมวลความรู้สึก อันหดหู่ใจที่ผุดขึ้นมาเองได้เนื่องมาจากอาสวะกิเลสร่วมกับอวิชชา มโนวิญญาณ นาม-รูป  สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา  ตัณหา อยากให้มันหายไป  หรือในบางท่านเช่นนักปฏิบัติอาจเป็นไปในลักษณะไม่อยากให้เกิดขึ้น(วิภวตัณหา)  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  ชรา จึงวนเวียนปรุงแต่งเร่าร้อนกระวนกระวายไม่หยุดหย่อน มรณะ  อาสวะกิเลส... รอวันกำเริบเสิบสานในวันข้างหน้าอีก

         ข้อสังเกตุประการหนึ่ง  ความรู้สึกหดหู่ มักเกิดแต่ตัณหาชนิดวิภวตัณหา  กล่าวคือเกิดความรู้สึกไม่อยากให้เกิดขึ้น  ไม่อยากให้เป็นไป

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

         ๒๒. ปุจฉา - ผมเพียรมีสติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาและจิต  แต่พอปฏิบัติไปได้สักพัก หรือนานๆเข้า มีความรู้สึกว่าตึง หรือเครียดมาก  ควรทำอย่างไรครับ

         วิสัชชนา - แสดงว่าอาจจดจ่อจดจ้องหรือสติมากเกินพอดดีครับ(อุปัฏฐานะในวิปัสสนูปกิเลส)  สติที่ใช้ในการปฏิบัติควรเกิดขึ้นจากการระลึกรู้เท่าทันบ่อยๆเสมอๆอย่างสบายใจ ไม่เคร่งเครียด  ไม่ใช่เกิดจากการจดจ่อจดจ้องอย่างแรงกล้าแต่เป็นครั้งคราวอย่างนานๆครั้ง   เมื่อมีสติระลึกรู้เท่าทันบ่อยๆเสมอๆจนเกิดความชำนาญหรือความเคยชินในการระลึกรู้เท่าทัน จนในที่สุดเหมือนราวกับว่า ไม่ต้องเจตนากระทำขึ้น หรือเรียกว่ากระทำโดยอัติโนมัติ หรือมหาสตินั่นเอง   สติที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์จึงเป็นไปในลักษณาการของการสั่งสมขึ้นบ่อยๆเสมอๆจนเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง จากการปฏิบัติและการสั่งสมอย่างสมํ่าเสมอ  จากที่สติระลึกรู้เท่าทันที่ประกอบด้วยปัญญาคือเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นอย่างบ่อยๆครั้งแล้วจึงปล่อยวางหรืออุเบกขา ไม่ใช่จากการมีสติจดจ่อจดจ้องอย่างแรงกล้าแต่ในเวทนาหรือจิตจนขาดสัมปชัญญะ   จึงไม่ใช่ลักษณะของการปฏิบัติแบบวันหนึ่งตั้งใจทำแบบปฏิบัติสมาธิแค่ครั้งสองครั้ง แต่ต้องเป็นไปในลักษณะบ่อยๆเสมอๆแม้ในชีวิตประจำวัน

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

          ๒๓. ปุจฉา - เห็นบางทีก็กล่าวว่า อาสวะกิเลสก็คือตัณหา,อุปาทานที่นอนเนื่องอยู่  หมายความว่าอย่างไร

          วิสัชนา - เหตุที่กล่าวดังนั้นก็เพราะว่า <ตัณหาแม้เป็นเพียงความรู้สึกอยาก หรือไม่อยากในสิ่งใดก็ตาม  แต่จิตก็ล้วนจดจำได้ในมวลความรู้สึกเหล่านั้นได้  ไม่ใช่จำได้แต่ความคิดความเข้าใจเท่านั้น   ดูแต่ปริเทวะ ความครํ่าครวญ รำพัน ในสุขทุกข์แต่อดีต  ครํ่าครวญในสุขก็เกิดขึ้นจากสภาวะของตัณหาที่นอนเนื่อง  ครํ่าครวญในทุกข์ก็เกิดขึ้นจากสภาวะของวิภวตัณหาที่นอนเนื่องนั่นเอง,   ส่วนอุปาทานความรู้สึกยึดมั่นด้วยกิเลส หรือยึดมั่นในความพึงพอใจของตัวของตนก็เป็นไปเฉกเช่นกัน  พิจารณาดูได้จาก กามุปาทาน  ทิฏฐุปาทาน  สีลัพพตปาทาน  และอัตวาทุปาทาน  ก็ต่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความจำชนิดมีกิเลสแฝงอยู่หรืออาสวะกิเลสนั่นเอง  กล่าวคือทั้งตัณหาแลอุปาทานนั้นมีอยู่ในรูปอาสวะกิเลสนั่นเองเพียงแต่ยังนอนเนื่องอยู่  เพียงยังไม่แสดงอาการของการเกิดขึ้นมาทำงานอย่างเป็นชิ้นเป็นอันจนเกิดทุกข์ขึ้นเท่านั้นเอง

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

          ๒๔. ปุจฉา - จิตหรือสติเห็นจิต หมายถึง เห็นแต่จิตสังขารที่เป็นผลแล้ว เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ จิตหดหู่ ฯลฯ. ถูกต้องไหมครับ?

          วิสัชนา - ถ้ากล่าวถึงในแนวทางปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ แล้วถูกต้องครับ,  แต่ในภายหน้าก็ไม่ใช่การเห็นแต่จิตสังขารแต่อย่างเดียว จริงๆแล้ว "จิตเห็นจิต" นั้นเป็นการเห็นทั้งจิตที่เป็นเหตุ (เช่นความคิด, ธรรมารมณ์ที่ทำหน้าที่เป็นเหตุ, อาสวะกิเลส) ตลอดจนจิตสังขารที่เป็นผลเกิดขึ้นดังที่กล่าว  เพียงแต่ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นั้น เน้นกล่าวที่จิตสังขารอันเป็นผล ดังเช่นในสติปัฏฐาน ๔ จิตมีโทสะ จิตมีโลภะ จิตมีโมหะ จิตหดหู่ ฯ. เพราะย่อมเห็นเข้าใจได้ง่ายกว่า และก่อให้เกิดปัญญาในการจำแนกแตกในธรรมสืบต่อๆไป  และเมื่อเกิดปัญญาและความชำนาญย่อมเห็นจิตอันเป็นเหตุ เช่นธรรมารมณ์, สังขารอันเกิดแต่อาสวะกิเลสเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชาได้ในที่สุด   การพยายามเห็นจิตที่เป็นเหตุโดยขาดความเข้าใจ(ปัญญา) มักก่อให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติ เช่น การไปหยุดคิดหยุดนึกอย่างขาดเหตุผลขาดความเข้าใจ ฯลฯ.  จึงก่อให้เกิดการปฏิบัติออกไปอย่างผิดลู่แนวทาง

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

          ๒๕. ปุจฉา - ในเมื่อพระองค์ท่านกล่าวว่า องค์ธรรม ชรา-มรณะและอาสวะกิเลส เป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ ที่ย่อมหมายถึงยังให้เกิดอาสวะกิเลสขึ้นนั่นเอง  ทำไมเราไม่ปฏิบัติเพื่อดับอาสวะกิเลสเสียตรงๆเลย   เห็นกล่าวอยู่บ่อยๆว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ  ทำไมไม่ดับมันเสียที่เหตุคืออาสวะกิเลส หรืออวิชชาเสียแต่โดยตรงเลย

          วิสัชนา - ดังที่กล่าวมาเนืองๆในเรื่องสัญญาหรืออาาสวะกิเลสว่า  เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต กล่าวคือต้องมีสัญญาความจำได้หมายรู้หมายเข้าใจต่างๆ อันเป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ จึงยังให้ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข  จึงมีข้อจำกัดอยู่ว่า เป็นสภาวธรรมของชีวิตที่ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เกิดสัญญาจดจำเฉพาะสิ่งที่ต้องการได้  จะดีจะชั่วก็ล้วนจดจำบันทึกไว้ ดุจดั่งเทป ที่ย่อมบันทึกทุกอย่างที่อยู่ในวิถี จะไพเราะ อ่อนหวาน หยาบคาย แข็งกระด้าง สรรเสริญ ด่าทอต่อว่า ฯ. ก็ล้วนบันทึกทุกสิ่งลงไปตามหน้าที่แห่งตน  แล้วรอวันมาเกิดหรือเปิดเครื่องขึ้นเล่นเท่านั้นเอง  การกำจัดอาสวะกิเลสเสียโดยตรงๆดื้อๆจึงกระทำไม่ได้ดังที่กล่าว  การดับอาสวะกิเลสจึงต้องเป็นไปในลักษณาการเช่นเดียวกับการกำจัดนํ้าที่ขุ่นมัวด้วยตะกอนต่างๆนั่นเอง  กล่าวคือเราต้องการนํ้าสะอาดเพื่อการยังชีวิต  จะเททิ้งเสียดื้อๆก็ไม่ได้ อันดุจดังสัญญาความจำได้หมายรู้หมายเข้าใจต่างๆ  เราจึงต้องใช้วิธีกรองตะกอนอันขุ่นมัวนั้นออกให้คงเหลือเพียงนํ้าสะอาดที่จำเป็นในการยังชีวิต  อาสวะกิเลสก็เป็นเช่นนั้น  เพราะอาสวะกิเลสก็คือสัญญาเจือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่  เราจึงต้องกวนเหล่ากิเลสให้ฟุ้งกระจาย ที่หมายถึงให้เห็นกิเลสเหล่านั้น  แล้วกรองหรือกำจัดกิเลสเหล่านั้นออกไป  จึงคงเหลือแต่เพียงสัญญาอันบริสุทธิ์ที่หมายถึงเป็นไปตามธรรม(ธรรมชาติ)หรือตามความเป็นจริง เป็นเพียงเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติในการดำเนินชีวิต  จึงเป็นดุจดั่งนํ้าที่ผ่านการกรองนั่นเองย่อมเป็นนํ้าที่สะอาดบริสุทธิ์ ทิ้งไปเสียซึ่งเหล่าตะกอนหรือกิเลสเท่านั้น

             ส่วนการดับอวิชชาความไม่รู้ก็คือสิ่งที่เราเพียรปฏิบัติกันอยู่เพื่อให้รู้ความจริงทั้งหลายอย่างปรมัตถ์นั่นเอง

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

             ๒๖. ปุจฉา - ทำไมพุทธศานาจึงสอนแต่เรื่องทุกข์   ผมอยากเป็นสุข กล่าวคือ ไม่เป็นทุกข์ แล้วยังเป็นสุขอีกด้วย

             วิสัชชนา - จริงครับ พุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทุกข์ แต่ก็เพื่อใช้ไปในการดับทุกข์  อันเป็นสุขยิ่งเหนือกว่าความสุขทางโลก(โลกิยสุข)ใดๆ กล่าวคือ

เรารู้จักทุกข์  ไม่ใช่เพื่อให้เป็นทุกข์  แต่เพื่อใช้ไปในการดับทุกข์  ที่เหตุแห่งทุกข์  จึงจักบังเกิดผลยิ่ง

จึงยังให้เกิดวิมุตติสุข  ซึ่งเป็นสุขอันยิ่งกว่าโลกิยสุขเป็นไหนๆ

รวมหัวข้อปุจฉาทั้งหมด

             ๒๗. ปุจฉา - เพราะอวิชชาดับ  เป็นปัจจัย  สังขารจึงดับ.  อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร  หมายถึง นิพพานหรือตายใช่ไหม?

             วิสัชชนา - ไม่ใช่ดังนั้น  อวิชชาดับ มีหมายถึึง มีวิชชาเกิดขึ้น  ส่วนสังขาร ไม่ได้มีความหมายถึง สังขารร่างกาย แต่มีหมายถึง สังขารการกระทำต่างๆ คือ กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ที่ล้วนแฝงด้วยกิเลส  ดังนั้นสังขารดับในปฏิจจสมุปบาท จึงมีความหมายถึง สังขารกิเลส หรือสังขารที่หมายถึงการกระทำต่างๆที่แฝงด้วยกิเลสดับไป  จึงไม่เกิดการกระทำต่างๆอันจักยังให้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นเนื่องสัมพันธ์ต่อไป  กล่าวคือ "สังขารกิเลส" ดับไป จึงเป็น เพียง "สังขาร" ที่ไม่แฝงกิเลสนั่นเอง จึงยังมีเพียง "สังขาร" เกิดขึ้น และดำเนินไป ตามกระบวนธรรมของชีวิต หรือขันธ์ ๕ อันไม่เป็นทุกข์อุปาทาน จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง

รวมหัวข้อปุจฉา

         ๒๗. ปุจฉา - เพราะอวิชชาดับ  เป็นปัจจัย  สังขารจึงดับ.  อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร  หมายถึง นิพพานหรือตายใช่ไหม?

         ๒๖. ปุจฉา - ทำไมพุทธศานาจึงสอนแต่เรื่องทุกข์  ผมอยากเป็นสุข  กล่าวคือ ไม่เป็นทุกข์ แล้วเป็นยังเป็นสุขอีกด้วย

         ๒๕. ปุจฉา - ในเมื่อพระองค์ท่านกล่าวว่า องค์ธรรม ชรา-มรณะและอาสวะกิเลส เป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ ที่ย่อมหมายถึงยังให้เกิดอาสวะกิเลสขึ้นนั่นเอง  ทำไมเราไม่ปฏิบัติเพื่อดับอาสวะกิเลสเสียตรงๆเลย   เห็นกล่าวว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ  ทำไมไม่ดับมันเสียที่เหตุคืออาสวะกิเลส หรืออวิชชาเสียแต่โดยตรงเลย

         ๒๔. ปุจฉา - จิตหรือสติเห็นจิต หมายถึง เห็นแต่จิตสังขารที่เป็นผลแล้ว เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ จิตหดหู่ ฯลฯ. ถูกต้องไหมครับ?

         ๒๓. ปุจฉา - เห็นบางทีก็กล่าวว่า อาสวะกิเลสก็คือตัณหา,อุปาทานที่นอนเนื่องอยู่  หมายความว่าอย่างไร

         ๒๒. ปุจฉา - ผมเพียรมีสติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาและจจิต  พอนานๆเข้า มีความรู้สึกว่าตึง หรือเครียดมาก  ควรทำอย่างไรครับ

         ๒๑. ปุจฉา - ทำไมบางวัน  อยู่ดีๆก็รู้สึกหดหู่  ห่อเหี่ยว เศร้าสร้อยใจ เสียเหลือเกิน  จนหาเหตุหาผลไม่พบ  ก็ไม่ได้คิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านใดๆ  แต่อยู่ดีๆก็ผุดขึ้นมาเสียอย่างนั้นแหละ

         ๒๐. ปุจฉา - ถ้าอย่างนั้นก็พยายามหยุดคิดหยุดนึกหยุดดจำเสียก็สิ้นเรื่อง  อาสวะกิเลสก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้  จริงไหมครับ?

         ๑๙. ปุจฉา - แล้วทำไมไม่ดับเสียที่ผัสสะเลย  จะได้ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา โดยเฉพาะเมื่อไม่เกิดทุกขเวทนาขึ้น  ก็ย่อมไม่มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ จริงไหมครับ

         ๑๘. ปุจฉา - ทำไมจึงกล่าวว่า องค์ธรรมต่างๆในปฏิจจสมุปบาท อยู่ในสภาพเกิดดับ เกิดดับๆ... อยู่เยี่ยงนั้น    เกิดและดับนี้หมายถึงอะไร  เพราะคงไม่ใช่หมายถึงการเกิดมาเป็นตัวตนแล้วตายไปเป็นที่สุด

         ๑๗. ปุจฉา - ผมพยายามหยุดคิด หยุดนึก ในที่สุดรู้สึกว่ามีอาการขี้หลงขี้ลืม แช่นิ่งๆ ทื่อๆ เบลอ   มีความรู้สึกว่าไม่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงมีความสงสัยในการปฏิบัติ   และในบางครั้งก็ทานอาหารไม่รู้รสชาด  เป็นการปล่อยวางหรือปฏิบัติถูกต้องหรือเปล่าครับ?

         ๑๖. ปุจฉา - ทำไมจึงกล่าวว่าองค์ธรรมสังขารในวงจรปฏิิจจสมุปบาทเป็น "สังขารกิเลส" ?

         ๑๕. ปุจฉา - ทำไมไม่ดับเวทนาเสีย  ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาแล้ว

         ๑๔. ปุจฉา - เหตุใด วิญญาณไม่เกิดก่อนสังขาร   เกิดมาเป็นตัวเป็นตนแล้ว ย่อมมีวิญญาณ(เจตภูติ)ติดตัวมาด้วยแล้วไม่ใช่หรือ?

         ๑๓. ปุจฉา - พิจารณาอย่างไรในปฏิจจสมุปบาท ให้เกิดนิพพิทา

         ๑๒. ปุจฉา -  ถ้าอย่างนั้นสุขและทุกข์ล้วนไม่เออา  ไม่เฉยๆเป็นหุ่นยนต์ไปหรือ   หลีกเลี่ยงเสียทุกอย่าง

         ๑๑. ปุจฉา -  เมื่อเกิดความอยากหรือไม่อยากในสิิ่งใดๆหรือก็คือตัณหาแล้ว และได้รับความสนองตอบตามต้องการ   ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นสุขขึ้น  ก็เท่ากับดับทุกข์ไปแล้ว  ทำไมต้องไปเสียเวลายุ่งยากในการศึกษาปฏิบัติแบบต่างๆนาๆ   สนองตอบเขาไปก็สิ้นเรื่อง

         ๑๐. ปุจฉา - ทำไมจึงไม่กล่าวเรื่องภพเรื่องชาติในภายยภาคหน้าบ้าง   และทำไมสังขารหรือตัวตนก็เกิดมาแล้ว จึงมีนาม-รูป หรือรูปนามที่น่าจะหมายถึงตัวตนหรือชีวิตขึ้นอีกครั้ง

         ๙. ปุจฉา - ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้อง  จะไม่เป็นอุปาทานทุกข์  ใช่หรือไม่

         ๘. ปุจฉา - การปฏิบัติเป็นการปฏิบัติแต่ปัญญาอย่างเดียวก็พอหรือ?

         ๗. ปุจฉา - ทำไมไม่ปฏิบัติดับอวิชชา  เสียแต่เริ่มต้นเลย  ดับอวิชชาเสียวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ก็ดับแล้ว  แม้แต่พระองค์ท่านก็ตรัสไว้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ --->...อาสวะกิเลสจึงดับ ฯ.  เสียเวลาเปล่าๆไปกับการปฏิบัติในการพิจารณาองค์ธรรมอื่นๆให้ล่าช้า

         ๖. ปุจฉา - สติที่ควรรู้เท่าทันในปฏิจจสมุปบาทมีอะไรที่สำคัญบ้าง

         ๕. ปุจฉา - เหตุใดจึงไม่ใช้สติเห็นองค์ธรรมสังขาร คคือ เห็นความคิดหรือสิ่งปรุงแต่งในองค์ธรรมสังขารนี้เสียแต่แรกๆ เพื่อตัดวงจรปฏิจจสมุปบาทเสียแต่ต้นๆกระบวนธรรม

         ๔. ปุจฉา - สติปัฏฐาน ๔ ที่นำมาประกอบการปฏิบัติ  ควรปฏิบัติไปตามลำดับหรือไม่  กล่าวคือ เรียงไปตาม กาย  เวทนา จิต  ธรรม

         ๓. ปุจฉา - ทำไมเมื่ออยู่ในฌานสมาธิแล้ว   เกิดปัญญาเห็นเข้าใจบางอย่างแล้วจึงผิดพลาด   ก็ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอๆว่า  สมาธิยังให้เกิดปัญญา

         ๒. ปุจฉา - แล้วควรจะทำอย่างไร?  จึงจะหยุดคิดปรุงแต่งที่เป็นทุกข์เร่าร้อนเผาลนอยู่นี้ได้  มันไม่ยอมหยุดคิดหยุดนึกเลย  คอยแต่ผุดคิดผุดนึกขึ้นมาอยู่เสมอๆ

         ๑. ปุจฉา - สติระลึกรู้เท่าทันเวทนา หรือสติระลึกรู้เท่าทันจิต(จิตสังขาร) เช่นความคิดที่เป็นทุกข์แล้ว  แต่มันไม่จางคลาย,ไม่หายไป  ความคิดเป็นทุกข์(โมหะ,โทสะ,จิตฟุ้งซ่าน ฯ.)ยังคงผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน   รู้ก็รู้ว่าต้องหยุดคิดปรุงแต่ง แต่ก็หยุดมันไม่ได้  คอยแต่ผุดคิดผุดนึกปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งอยู่เรื่อยๆ  เป็นอยู่อย่างนั้นเสมอๆ  เป็นเพราะอะไร?

 

กลับสารบัญ