การปฏิบัติตามแนวทางปฏิจจสมุปบาท

 

ปฏิจจสมุปบาท แบบ นิโรธวาร

ขวาเมนู

อวิชชา เป็นหัวหน้าในการประกอบอกุศลธรรม

อวิชฺชา  ปุพฺพงฺคมา  อกุสลานํ  ธมฺมานัง  สมาปตฺติยา

วิชชาสูตร ๒๕/๒๒๗

        คราวนี้จะขอกล่าวถึงการปฏิบัติโดยอาศัยอ้างอิงในปฏิจจสมุปบาทธรรม กล่าวคือ ดับอวิชชา  ผู้ที่จะปฏิบัติดังนี้  ควรมีความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้ง  เห็นการดำเนินและเป็นไปตามหลักปัจจยการของปฏิจจสมุปบาทได้อย่างคล่องแคล่วพอสมควร(ปัญญา)จากการปฏิบัติที่ได้สั่งสมไว้  อย่ารีบร้อนที่จะปฏิบัติไม่เกิดประโยชน์อันใด และอาจเกิดโทษได้เนื่องจากปฏิบัติผิดๆโดยไม่รู้ตัว เช่น เกิดการเบื่อหน่ายท้อแท้ในการปฏิบัติ,  หลงเข้าใจผิด เช่น ปฏิบัติผิดไปดับหรือกดข่มความคิดความจำอันดีงามที่ใช้ในกิจหรือชีวิต ฯลฯ. ทั้งๆที่ปฏิบัติมาอย่างถูกต้องแนวทางแล้ว   ขอให้โยนิโสมนสิการโดยละเอียดและแยบคาย จนเข้าใจกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้ง   จนเกิดปัญญาเห็นแล้ว จึงมีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนาในวงจร หรืออุปาทานสังขาร(จิตสังขาร เช่น ความคิด ที่เป็นผลที่เกิดในชาติ)   รวมทั้งเวทนา(เวทนูปาทานขันธ์)และสังขารขันธ์(สังขารูปาทานขันธ์)ในองค์ธรรมชรา  อันวนเวียนปรุงแต่งเป็นวงจรของอุปาทานขันธ์ ๕ ล้วนๆอันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนต่อเนื่อง    และเป็นการเห็นและเข้าใจได้อย่างค่อนข้างสมํ่าเสมอหรือต่อเนื่อง(สัมมาสมาธิ)    ดังนั้นท่านที่ยังไม่แจ่มแจ้งในปฏิจจสมุปบาทก็อ่านให้เข้าใจเป็นปัญญาเป็นพื้นฐานเสียก่อนก็ได้   แล้วต้องทำการโยนิโสมนสิการในปฏิจจสมุปบาทธรรมจนหมดวิจิกิจฉาเสียก่อนอื่น  จนเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นและเป็นไปเยี่ยงนั้นด้วยเหตุด้วยผลจริง  ด้วยตนเองในทุกองค์ธรรม   เพราะเป็นบาทฐานอันสำคัญยิ่งในการดำเนินไปในการดับอวิชชา   ต้องไม่ใช่แค่การท่องจำหรือจดจำได้  อย่างคล่องแคล่วในองค์ธรรมต่างๆ    จึงต้องไม่ใช่ด้วยการน้อมเชื่อด้วยอธิโมกธ์ในพระศาสนาหรือองค์พระศาสดา  หรือในข้อเขียน แต่อย่างเดียว  ต้องเป็นการเห็นด้วยปัญญา(ปัญญาจักษุ)ในการเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ

         อวิชชา เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของปุถุชนที่มาพร้อมกับการเกิด คือ ย่อมเกิดมาพร้อมด้วยอวิชชาโดยธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อเกิดมาย่อมยังไม่มีวิชชา คือย่อมไม่มีความรู้หรือปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นธรรมดาในธรรมหรือสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงอันครอบคลุมถึงความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องแท้จริงอย่างปรมัตถ์ด้วย   อวิชชาจึงเป็นสภาพที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวตนหรือชีวิตโดยถ้วนหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นธรรมดา    การดับอวิชชา จึงหมายถึงการทำให้มีวิชชาหรือปัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง  ดังนั้นการที่จะมีวิชชาในธรรมต่างๆที่ใช้ในการดับไปแห่งทุกข์นั้น จึงเป็นสิ่งที่เกิดแต่ปัญญาเป็นเหตุปัจจัยหลัก โดยมีสติและสมาธิเป็นบาทฐานเป็นเครื่องสนับสนุนอันสำคัญยิ่ง  ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้  จึงต้องมีการเรียนรู้,ศึกษา,ปฏิบัติ  หรือต้องสังขารปรุงขึ้นด้วยปัญญานั่นเอง จึงจะเกิดขึ้นได้   และเป็นสังขารชนิดที่ควรทำให้เกิด  ทำให้มี  ทำให้เป็น  และควรทำให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปอย่างยิ่งยวด   จึงเป็นภาเวตัพพธรรม-ธรรมที่ควรเจริญให้ยิ่งๆขึ้นไป

         ตามที่ได้สั่งสมกันมาจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาท   จนมีปัญญาเข้าใจ  แล้วมีสติเห็น(ระลึกรู้เท่าทัน)เวทนา  จิตตสังขารต่างๆ    ตลอดจนสภาวธรรมหรือหลักธรรมชาติต่างๆ เช่น  หลักอิทัปปัจจยตาอันมีเหตุมีผล   เข้าใจอันใดเป็นอุปาทานทุกข์ หรืออุปาทานขันธ์๕อันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลน ที่ควรดับ,  อันใดเป็นทุกข์ธรรมชาติที่ยังคงมี   ขันธ์๕อันไม่เป็นทุกข์   และธรรมต่างๆ เช่น อริยสัจ ๔  พระไตรลักษณ์เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความอยากความยึดลงกันไปบ้างแล้ว   เป็นพื้นฐานที่จักเกิดขึ้นในผู้ที่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทธรรม   เห็น(หมายถึงเข้าใจ)ว่ามันเป็นไปเช่นนั้นเองอย่างแจ่มแจ้งด้วยเหตุด้วยผลแล้ว    ตลอดจนเข้าใจกระบวนธรรมของขันธ์๕ คือ การทำงานอย่างเนื่องสัมพันธ์กันของขันธ์ทั้ง ๕ ที่มีอยู่ อย่างแจ่มแจ้ง  ว่าเป็นสภาวธรรมของชีวิตที่ยังคงมีเกิดมีเป็นเช่นนั้นเป็นธรรมดาจนกว่าจะดับขันธ์ไป

         เมื่อปฏิบัติวิปัสสนาด้วยการปฏิบัติและพิจารณาปฏิจจสมุปบาท  จนมีสติปัญญา  เห็น(เข้าใจและระลึกรู้เท่าทัน)เวทนา  เห็นจิต สังขารต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในวงจรปฏิจจสมุปบาทแจ่มแจ้งพอควรแล้ว

         บัดนี้ถึงเวลาที่ใช้สติ   และสติอย่างต่อเนื่องนั้น(สัมมาสมาธิ)   ตลอดจนสัมมาญาณหรือปัญญา  เหล่านี้ที่ได้สั่งสมอบรมมาในการปฏิบัติในขั้นสำคัญยิ่ง  กล่าวคือ  ดับอวิชชา หรือก็คือ การยังให้มีวิชชาเกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์ ยิ่งขึ้นไปนั่นเอง    จึงย่อมยังผลให้ดำเนินไปตามหลักเหตุปัจจัยอันเนื่องสัมพันธ์กัน  อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวารหรือฝ่ายดับไปแห่งทุกข์นั่นเอง   อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตาเช่นกัน

 

ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร

 

 

แต่เพราะอวิชชานั่นแลดับ    จึงดับสังขารได้

 

 

เพราะสังขารดับ   จึงดับวิญญาณได้

 

 

เพราะวิญญาณดับ   จึงดับนาม-รูปได้

 

 

เพราะนามรูปดับ   จึงดับสฬายตนะได้

 

 

เพราะสฬายตนะดับ   จึงดับผัสสะได้

 

 

เพราะผัสสะดับ   จึงดับเวทนาได้

 

 

เพราะเวทนาดับ   จึงดับตัณหาได้

 

 

เพราะตัณหาดับ   จึงดับอุปาทานได้

 

 

เพราะอุปาทานดับ   จึงดับภพได้

 

 

เพราะภพดับ   จึงดับชาติได้

 

 

เพราะชาติดับ  จึงดับชรา-มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้

 

 

อย่างนี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้

 

แสดงวงจรปฏิจจสมุปบาทคลิก ดูวงจรปฎิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธวาร เป็นลำดับขั้น

         กล่าวโดยสรุปของฝ่ายนิโรธวารหรือฝ่ายดับทุกข์ได้ว่า "เพราะอวิชชาดับไป  สังขารปรุงแต่งชนิดแฝงกิเลสจากอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องอันก่อให้เกิดทุกข์ย่อมไม่เกิดขึ้น  วิญญาณจึงไม่อุบัติเกิดขึ้น  นาม-รูปจึงนอนเนื่องดังเดิม  สฬายตนะจึงไม่ถูกกระตุ้นเร้า  จึงย่อมไม่เกิดการผัสสะ  จึงย่อมไม่เกิดเวทนาขึ้น  จึงไม่มีตัณหา  จึงย่อมไม่เกิดการยึดตัณหาคืออุปาทาน  จึงไม่มีภพ  เมื่อไม่มีภพย่อมไม่มีชาติ  จึงย่อมไม่มีการชรา-มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส"

โยนิโสมนสิการ

         ทบทวนความรู้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทธรรมอย่างแยบคาย  โดยวางใจเป็นกลาง พิจารณาตามสภาวธรรมหรือธรรมชาติจริงๆด้วยเหตุด้วยผล  ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามทิฏฐุปาทาน และเหล่าวิปัสสนูปกิเลสเสียชั่วระยะหนึ่งให้ได้  โดยอาศัยทั้งสติ สมาธิ และปัญญา  โยนิโสมนสิการทบทวนโดยละเอียดและแยบคาย

 

         โยนิโสมนสิการสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั้น อันหมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นหรือสิ่งที่มีเหตุปัจจัยต่างๆมาปรุงแต่งกันขึ้น เป็นการกระทำหรือการปรุงแต่งทางกาย,วาจา,ใจ ตามที่ได้สั่งสม อบรม ประพฤติ ปฏิบัติ มาแต่เก่าก่อนนั้น  ก็ล้วนอันเนื่องมาจากอาสวะกิเลสที่สั่งสมเป็นเบื้องต้นหรือปฐมเหตุหรือสมุทัยนั่นเองที่เป็นเหตุปัจจัยร่วมกันกับอวิชชา  จึงมีองค์ธรรมสังขารขึ้น อันย่อมเป็นสังขารปรุงแต่งชนิดสังขารกิเลส เช่นเป็นความคิดต่างๆขึ้นมานั่นเอง  ทบทวนให้แจ่มแจ้ง   ขยายความสังเกตุภาพอาสวะกิเลส   แบบต่างๆที่รายล้อมอวิชชา แล้วดำเนินไปตามวงจรเพื่อประกอบการพิจารณา   จะเห็นสภาวะที่อาสวะกิเลสต้องเป็นเหตุปัจจัยร่วมกันกับอวิชชาหรือความไม่รู้  จึงเกิดองค์ธรรมสังขาร(ชนิดจักทำให้เกิดทุกข์-สังขารกิเลส)ขึ้น   อันเป็นการดำเนินไปตามหลักอิทัปปัจจยตานั่นเอง

         โยนิโสมนสิการอาสวะกิเลส ซึ่งความจริงก็คือ สัญญาหรือความทรงจำหมายรู้อย่างหนึ่งนั่นเอง  อันสัญญาบางส่วนหรือบางอย่างนั้นก็จำเป็นยิ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งถ้าไม่มีสัญญาเหล่านี้เสียก็ดำรงชีวิตหรือขันธ์ ๕ อยู่ไม่ได้   ในสัญญา(ความทรงจำ)ก็มีบางส่วนที่แอบแฝงนอนเนื่องด้วยสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัวเศร้าหมองหรือกิเลสอยู่ด้วย ซึ่งเรียกสัญญาชนิดนี้กันว่าอาสวะกิเลส อันเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอุปาทานทุกข์ที่เร่าร้อนเผาลนมวลมนุษย์   ตลอดจนพิจารณาในอาสวะกิเลสอันเป็นสภาวธรรมหรือสัญญาความจำอย่างหนึ่งจึงจะละทิ้งเสียตรงๆดื้อๆก็ไม่ได้  จะจำแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่จำชั่ว(ทุกข์)ก็ไม่ได้  ทบทวนให้แจ่มแจ้งเพื่อให้เกิดอาสวักขยญาณเบื้องต้น

         ถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาท  ที่พระองค์ท่านตรัสไว้ว่า  ชรา - มรณะ อาสวะกิเลส เป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์  ก็เพราะอาสวะกิเลสนั่นเอง  ที่มีความทรงจำหรือสัญญาเอาไว้ แล้วเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชา---> ยังให้เกิดสังขาร จึงเป็นสังขารกิเลสหรือเรียกกันสั้นๆทั่วไปว่ากิเลสขึ้นนั่นเอง  ตัวกิเลสจึงเนื่องสัมพันธ์กันเป็นวงจรดังนี้   อาสวะกิเลส ---> (สังขาร)กิเลส---> ตัณหา---> อุปาทาน  ---> แล้วก็เกิดอาสวะกิเลสนอนเนื่องอันยังให้ดำเนินเนื่องต่อไปอีกในภายหน้าไม่รู้จักจบสิ้น.....แต่มักกล่าวกันย่อๆได้ยินเสมอๆว่า  กิเลสตัณหาอุปาทาน

         พึงโยนิโสมนสิการ  ให้เห็นเหตุปัจจัยว่า  ถ้าอาสวะกิเลสเกิดขึ้นและอวิชชายังไม่ดับ  จึงเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันยังให้เกิดองค์ธรรมสังขาร(สิ่งปรุงแต่งอันจักยังให้เกิดทุกข์ เช่น ความคิดแรกเริ่มหรือธรรมารมณ์อันเป็นเหตุ  ที่จักดำเนินต่อไปจนทำให้เกิดความคิดชนิดเป็นผลทำให้เกิดทุกข์)   แล้วย่อมดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทจนถึงเวทนาอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นอย่างน้อยที่สุดในช่วงแรก ถ้ามีสติปัญญาระลึกรู้เท่าทันเวทนานั้น  กล่าวคือ ก็ย่อมต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตามกระบวนธรรมดังนี้  ...สังขารจึงยังให้เกิด วิญญาณ ---> นามรูป ---> สฬายตนะ ---> ผัสสะ ---> เวทนา  อันล้วนแล้วแต่เป็นสภาวธรรมของชีวิตที่ต้องดำเนินและเป็นไปเช่นนี้เองเป็นธรรมดา   เป็นกระบวนธรรมของธรรมชาติที่ไม่สามารถไปแทรกแซงหรือห้ามได้แต่ประการใดในกระบวนธรรมของจิตช่วงนี้  (แจงเหตุผล อยู่ในข้อ ๕ ปุจฉาฯ.)   แต่ถ้าไม่มีสติปัญญาเท่าทันในเวทนา  ก็อาจดำเนินต่อเนื่องไปตามธรรมคือตามวงจรปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือเกิด  ตัณหา ---> อุปาทาน---> ภพ ---> ชาติ ---> ชรา อันเป็นอุปาทานทุกข์อันเผาลนเร่าร้อนในที่สุด......ฯ.

         องค์ธรรมสังขารหรือสังขารกิเลสหรือกิเลสนี้อันเป็นไปเพื่อทุกข์   ล้วนเกิดขึ้นได้ก็เนื่องแต่ อาสวะกิเลส เป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมกับ อวิชชา จึงเกิดขึ้น   กล่าวคือ  โยนิโสมนสิการโดยแยบคายจะพบว่า  ก่อนจะเกิดองค์ธรรมสังขารอันแฝงกิเลสและจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ขึ้นเนื่องต่อไปนั้น   จะต้องมี อาสวะกิเลส อันคือ สัญญาความจำความเข้าใจชนิดมีกิเลส เพียงแต่ยังนอนเนื่องอยู่ ยังไม่เกิดการทำงานขึ้น

         สัญญานี้ ไม่ได้หมายถึง สัญญาจำได้และเข้าใจ และ สัญญาหมายรู้ ดังที่กล่าวผ่านมาในเรื่องของขันธ์ ๕ เท่านั้น  กล่าวคือ สัญญานี้หมายถึงความจำรวมทั้งหมดของชีวิต  หรือความทรงจำของสมองหรือหทัยวัตถุที่เก็บจำทั้งหมด จึงครอบคลุมในทุกรูปแบบจริงๆ    หทัยวัตถุหรือสมองแม้เป็นส่วนหนึ่งของกาย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของจิตด้วย  แต่จิตก็ไม่ใช่สมอง เพราะจิตเกิดแต่เหตุปัจจัยอื่นๆอีกมาร่วมปรุงแต่งกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่อง จิตคืออะไร    หทัยวัตถุหรือสมองที่เก็บจำทั้งมวลเหล่านี้ จึงครอบคลุมในทุกรูปแบบจริงๆ แม้แต่ความจำ,ความรู้,ความเข้าใจ,ความรู้สึกต่างๆที่เคยเกิดเคยเป็น คือการได้สั่งสมไว้นั่นเอง จึงรวมแม้กระทั่งเหล่าความจำได้ในตัณหา แลอุปาทานที่เคยเกิดเคยเป็น   จึงไม่ใช่การเน้นกล่าวเฉพาะเรื่อง,เฉพาะกิจ ดังที่แสดงความเกิดขึ้นและเป็นไปในปฏิจจสมุปบาทหรือสัญญาในขันธ์๕เพียงเท่านั้น,   หรือกล่าวได้ว่าคือ ความทรงจำทั้งมวลทั้งหมดเพียงแต่อยู่ในสภาพที่นอนเนื่องอยู่นั่นเอง  ซึ่งความทรงจำใดมีกิเลสแฝงอยู่ด้วยก็เรียกว่าอาสวะกิเลส     ดังนั้นจึงไม่ใช่ความจำที่เกิดเฉพาะเรื่อง,เฉพาะเจาะจงลงไปดังในปฏิจจสมุปบาท หรือความจำได้,หมายรู้ที่เกิดแต่การกระทบผัสสะของอายตนะต่างๆดังแสดงในขันธ ์๕ เท่านั้น  กล่าวคือเป็นความทรงจำทั้งหลายทั้งปวงในชีวิต หลายรูปแบบหลากหลาย

สภาวธรรมหรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่  จึงมี  19_c.gif  ธรรมชาติของชีวิต  จึงมี  19_c.gif   สัญญา(อันครอบคลุมอาสวะกิเลส)โดยอาศัยหทัยวัตถุ จึงเกิดขึ้น

หรือกล่าวอย่างง่ายๆก็คือ  เกิดขึ้นมาแล้วย่อมต้องมีสมองเพื่อจดจำสิ่งต่างๆทั้งดีและชั่ว เป็นไปโดยสภาวธรรมชาติของชีวิต

         สัญญาและอาสวะกิเลสนี้   จึงมีลักษณาการที่นอนเนื่องอยู่ กล่าวคือยังไม่เกิดทำงานเป็นชิ้นเป็นอันแต่ก็บันทึกจดจำอยู่ในที   เมื่อจำได้หรือเกิดขึ้นมาเพียงแว๊บหนึ่งเท่านั้นเองแล้วย่อมดำเนินไปตามกระบวนธรรมของจิต  กล่าวคือ เดิมนอนเนื่องอยู่เมื่อผุดขึ้นมาด้วยเหตุอันใดก็ดีก็แปรสภาพหรือเกิดเป็นสังขารทันที   ซึ่งถ้าเป็นสัญญาโดยทั่วไปก็จะดำเนินไปตามกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ อันไม่เป็นอุปาทานทุกข์ เป็นสังขารชนิดธรรมารมณ์    แต่ถ้าสัญญานั้นเป็นชนิดอาสวะกิเลสก็จักเกิดองค์ธรรมสังขารชนิดมีกิเลสแฝงด้วยจึงอาจเรียกว่าสังขารกิเลสก็ได้ แล้วย่อมดำเนินไปตามกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทอันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์    โยนิโสมนสิการในอาสวะกิเลสนี้โดยแยบคายจริงๆ  เนื่องจากการผุดนึกจำขึ้นมาหรือถูกกระตุ้นขึ้นมานั้น เกิดปรากฎอย่างรวดเร็วมากแค่ชั่วเสี้ยวขณะจิตหนึ่งเท่านั้น   อันเมื่อแว๊บนึกจำในอาสวะกิเลสเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นแล้ว โดยวิสัยปุถุชนตามที่สั่งสมมาด้วยความไม่รู้หรืออวิชชาอันมีมาตั้งแต่เกิด  อาสวะกิเลสที่ผุดนึกจำนี้จึงเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชา หรือก็คือความที่ไม่รู้นั่นเอง หรือก็คือการที่ยังไม่มีวิชชา  จึงเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันโดยธรรมชาติเป็นองค์ธรรมสังขารต่างๆนาๆในทันที เช่น ปรุงแต่งขึ้นเป็นความคิดหรือการกระทำ  หรือความรู้สึกที่จำได้ (ธรรมารมณ์)   ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในทันที   ซึ่งสังขารนี้ย่อมเป็นสังขารเจือกิเลสด้วย เนื่องมาจากถือกำเนิดมาจากอาสวะกิเลสที่ร่วมกับอวิชชาโดยตรง ที่ได้ตื่นตัวเกิดขึ้น  จึงจัดเป็นสังขารกิเลส  แล้วดำเนินต่อไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท

         ถ้าพิจารณาในปฏิจจสมุปบาท  กระบวนธรรมของจิตก็จะดำเนินและเป็นไปดังนี้

[อาสวะกิเลส อวิชชา] จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขารกิเลสคือความคิดอันเป็นเหตุหรือธรรมารมณ์ที่แฝงกิเลส มโนวิญญาณ นาม-รูป  สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา  ตัณหา  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  ชราแล้ววนเวียนปรุงแต่งอย่างเร่าร้อน มรณะ  อาสวะกิเลส... ...ฯ.

         ถ้าสัญญานั้นเป็น ความทรงจำธรรมดาที่ไม่แฝงกิเลส  เป็นไปเพื่อการดำรงชีวิต  ก็จะดำเนินเกิดขึ้นและเป็นไปดังนี้

[สัญญาจากหทัยวัตถุ เป็นเหตุปัจจัยจึงมี]  คิด(ธรรมารมณ์หรือสังขารคิด) + ใจ มโนวิญญาณ   ผัสสะ  สัญญาจำ เวทนา สัญญาหมายรู้ ที่หมายรู้ตามความเป็นจริง ไม่หมายรู้ตามความพึงพอใจของตน สังขารขันธ

         โยนิโสมนสิการโดยแยบคาย  สังเกตุให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ความทรงจำที่มีในสัญญาจากหทัยวัตถุก่อนที่จะเกิดผุดขึ้นมา  กับความคิด(ธรรมารมณ์หรือสังขารคิด)ในองค์ธรรมสังขาร  เสียก่อน    ความทรงจำในสัญญาทั่วไป และอาสวะกิเลสที่เป็นสัญญาอย่างหนึ่งเช่นกันแต่ชนิดมีกิเลส  ต่างก็ล้วนอยู่รวมกันในหทัยวัตถุหรือสมอง  ที่เกิดๆดับๆอยู่ตลอดเวลา ที่หมายถึง เมื่อผุดขึ้นก็เรียกว่าเกิด  แล้วก็ดับไป  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา   เปลี่ยนไปเป็นอาสวะเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้างอยู่ตลอดเวลา  หรือเป็นสัญญาความทรงจำที่ใช้ทางโลกเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้างเช่นกัน  อันเป็นสภาวธรรมหนึ่งของชีวิต    พึงโยนิโสมนสิการให้เห็น อาสวะกิเลส อันเป็นปฐมเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์(เป็นสมุทัยในแนวทางปฏิจจสมุปบาท)ขณะปรากฏขึ้นแก่จิตเสียก่อน   เพราะปัญญาเห็นเหตุอย่างแจ่มแจ้ง จึงจะสามารถดับที่เหตุได้อย่างถูกต้องดีงาม  กล่าวคือ ให้ปัญญารู้จักตัวรู้จักตนของมันเสียก่อน  จึงจะสามารถใช้สติระลึกรู้แลเห็นเท่าทันมันได้      เพราะสัญญาและอาสวะกิเลสนี้ เป็นความทรงจำอย่างหนึ่งอันเป็นสภาวธรรมของชีวิต จึงจะกำจัดทิ้งเสียดื้อๆหรือเลือกจดจำก็ไม่ได้  แต่เมื่อผุดนึกหรือจำอะไรได้ก็ให้มีสติปัญญา รู้ตัวทั่วพร้อม เป็นสิ่งที่ทำได้    หรือทำญาณให้เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง คือ การทำปัญญาให้เข้าใจและสติระลึกรู้เท่าทันจิต    ไม่ใช่การพยายามไปหยุดคิดหยุดนึกหยุดจำ   แต่เป็นการให้มีสติเท่าทันเห็นคิดเห็นนึกเห็นจำเหล่านั้น    การหยุดคิดหยุดนึก หมายถึง เฉพาะการหยุดคิดนึกปรุงแต่ง  ต่อไปจากความคิดที่เกิดขึ้นแล้ว(จิตสังขาร)ี่จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นเท่านั้น    ที่หมายถึงมีปัญญา แล้วมีสติระลึกรู้ แล้วจึงหยุดคิดปรุงแต่งในสิ่งที่สติปัญญาเห็นหรือเข้าใจนั้น  หรือก็คืออุเบกขาเสียนั่นเอง

         โยนิโสมนสิการให้เข้าใจว่า เหล่าสัญญาหรืออาสวะกิเลสนี้สามารถเกิดขึ้นมาได้จาก ผุดนึกจำหรือเกิดลอยๆขึ้นมาบ้าง๑   หรือเกิดการเร้าจากการกระทบผัสสะของอายตนะใดๆโดยตรงบ้าง๑   หรือจะโดยเจตนาขึ้นมาบ้างก็ตามที๑    ขอใช้คำว่าผุดนึกจำแทนความหมายโดยรวมๆของการเกิดขึ้น   อันล้วนเกิดแต่อดีตและยังไม่มีการปรุงแต่งใดในขณะจิตนั้นต่อสิ่งที่ผุดนึกจำขึ้น    ขอเน้นว่า เป็นความนึกจำ  อันรวมทั้งความรู้  ความคิด  ความเห็น  ความเข้าใจ แม้กระทั่งความรู้สึกในตัณหา,อุปาทาน อันนอนเนื่องอยู่ในจิตมาแต่อดีต  ที่ผุดขึ้นมาล้วนๆซึ่งยังไม่ได้ปรุงแต่งเพิ่มเติมเสริมแต่งใดๆอีก      แต่ย่อมต้องปรุงแต่งร่วมกับอวิชชาเกิดเป็นธรรมารมณ์(ความคิดความนึกเรื่องใดๆ)แล้ว  หรือก็คือสภาพที่เกิดผุดขึ้นมาจากการนอนเนื่อง  ก็เรียกว่าการเกิดขึ้นขององค์ธรรมสังขาร   แล้วย่อมต้องดำเนินไปตามวงจรจนถึงองค์ธรรมเวทนา  เป็นอย่างน้อยที่สุด  แล้ว(ถ้ามีสติรู้เท่าทันเวทนา)    โดยธรรมชาตินั้นเมื่ออาสวะกิเลสผุดขึ้นมาก็ต้องมีการปรุงแต่งเพิ่มเติมด้วยอวิชชาหรือสภาวะไม่รู้นั่นเอง จึงเกิดเป็นความคิดหรือธรรมารมณ์ต่างๆ อันคือการเกิดขึ้นแห่งองค์ธรรมสังขารอันยังให้เกิดทุกข์นั่นเอง,   อาสวะกิเลสจึงเป็นเพียงความทรงจำที่ยังนอนเนื่องอยู่ และยังไม่เป็นความคิดหรือสังขารใดๆอย่างเจาะจงเฉพาะเรื่อง    จึงมีทั้งละเอียด,หยาบ  อันครอบคลุมทุกรูปแบบจริงๆ แม้แต่ความรู้สึก ดังเช่น  ความจำในความรู้สึกหดหู่ อันเกิดแต่โทมนัสความไม่สำราญทางใจ(เป็นความรู้สึกล้วนๆจึงยิ่งมีความละเอียดยิ่ง)ด้วยความไม่รู้(อวิชชา)จึงไม่รู้ตัว   อันเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ล้วนๆ ที่จดจำไว้จากเหล่า โสกะ(ความโศกเศร้าจากการเสื่อม,การสูญเสีย) (อารมณ์ในที่นี้ หมายถึง อารมณ์ในภาษาทางโลก ดังเช่น  อารมณ์ดี  อารมณ์เสีย  อารมณ์หดหู่  อารมณ์เศร้า ฯลฯ. ต่อไปนี้ขอเรียกว่าความรู้สึกหรือมวลของความรู้สึก เพื่อให้แตกต่างจากคำว่าอารมณ์ในทางธรรม)  ดัวเช่นมวลของความรู้สึกอันเกิดแต่ ปริเทวะ(พิรี้พิไรในสุข หรือครํ่าครวญในทุกข์) เช่น ความรู้สึกเป็นสุขในรสชาดต่างๆอันเกิดแต่ ตา หู  จมูก ลิ้น กาย ใจ,    ทุกข์(ทุกข์อันเกิดแต่กาย) ความรู้สึกกังวล,กลัวในความเจ็บป่วยต่างๆของกาย,   โทมนัส(ความแห้งใจ หดหู่  ความไม่สำราญทางใจ) ความรู้สึกหดหู่,    อุปายาส(ความขุ่นข้อง คับแค้นใจ) ความรู้สึกขุ่นเคืองขัดข้องนั่นเอง  หรือกล่าวได้ว่าเป็นสภาวะความจำได้ของเหล่าตัณหาอุปาทาน แต่ยังนอนเนื่องอยู่เท่านั้นเอง   แม้แต่มวลของความรู้สึกอันเคยเกิดจากองค์ฌานต่างๆเช่น ปีติ  สุข อุเบกขา เอกัคคตา ฯ. เหล่านี้ก็จัดเป็นอาสวะกิเลส ชนิด ปริเทวะ(พิรี้พิไร ครํ่าครวญในสุข)อย่างหนึ่งถ้าเกิดมาแต่การติดเพลิน(นันทิ)      หรือการผุดนึกจำในเรื่องราวต่างๆแต่ยังไม่ได้ปรุงแต่ง ดังเช่น  ผุดนึกจำในบุคคลที่เกลียดชัง(หยาบขึ้นมา),   ผุดนึกจำในเรื่องที่เป็นทุกข์    ผุดนึกจำอยากทานอะไรขึ้นมา

          โยนิโสมนสิการในมวลของความรู้สึกหรือธรรมารมณ์นี้  จะเห็นได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆโดยไม่ต้องมีการคิดนึกใดๆก็ได้  มีเพียงมีสิ่งเร้าอย่างแอบแฝงอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ก็จะผุดจำเป็นธรรมารมณ์หรือสังขารขึ้นมาได้ทันที   ลองพิจารณาดีๆ บางครั้งจะมีมวลของความรู้สึกที่หดหู่  หรือไม่สบายใจขึ้น เป็นมวลของความรู้สึกลึกๆที่แฝงอยู่ขึ้นมาดื้อๆได้เหมือนกัน    บางครั้งอยู่คนเดียวเงียบๆก็ผุดเกิดขึ้นมาเป็นมวลของความรู้สึกที่ล้วนเกิดมาแต่เหล่าอาสวะกิเลสแต่ในอดีตที่ได้สั่งสมมา  ดังอาจจะเคยได้ยิน,เคยสัมผัสมาเองแล้วบ้าง ดังว่า ไม่รู้สิ อยู่ดีๆมันก็มีความรู้สึกหดหู่ขึ้นมา   จึงหาเหตุไม่พบ,   แต่ก็ล้วนเกิดแต่เหตุ เพราะจริงๆแล้วเนื่องแต่อยู่คนเดียวหรือมีสภาพแวดล้อมความทุกข์ความเครียดความกังวลเป็นสิ่งเร้าแอบแฝงอยู่ จึงมีการผุดเกิดขึ้นของอาสวะกิเลสเป็นสังขาร กล่าวคือ มวลความรู้สึกหรือมวลอารมณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องมาแต่เหล่า โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส ตามที่สั่งสมนอนเนื่องอยู่ในหทัยวัตถุ  ร่วมด้วยความไม่รู้หรืออวิชชา จึงปล่อยให้เกิดจิตสังขารหดหู่ขึ้น  แล้วย่อมต้องดำเนินและเป็นไปตามวงจรการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท

          ในเรื่องของอาสวะกิเลสที่ผุดนึกจำขึ้นมาได้  เช่น  มีบุคคลที่เกลียดชังด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ตาม  อยู่ดีๆก็ผุดนึกจำหรือลอยผุดขึ้นมา หรือถูกกระตุ้นเร้าจากการได้ยินคนกล่าวถึง หรือเกิดจากตาไปกระทบรูป  เป็นความจำได้ที่ยังไม่ได้ปรุงแต่งต่อ  แต่โดยทั่วไปตามวิสัยปุถุชนที่สั่งสมกันมาแต่การเกิด ก็จะเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาก็คือไม่รู้นั่นเอง จึงเกิดองค์ธรรมสังขารตามที่สั่งสมเนื่องจากอาสวะกิเลสนั้น เช่น เป็นความคิด(ธรรมารมณ์อันเป็นเหตุ) จึงยังให้เกิดทุกขเวทนา---> จิตโทสะหรือจิตคิดอันเป็นผล ดังเช่น คิดนึกโกรธเคืองในเรื่องต่างๆที่เขากระทำบ้าง   คิดนึกว่าเขาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้กับเราอีก   คิดแช่งชักหักกระดูกเขา   คิดว่าเขาจะทำไม่ดีอย่างไรอีก   คิดว่าเขาควรรับกรรมบ้าง   คิดแก้แค้นเขาบ้าง  อันล้วนดำเนินและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทอันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน  (ลองพิจารณาตามความเป็นจริง ณ ขณะนั้นดูสิ  เขาผู้นั้น หรือ ผู้ปรุงแต่งกันแน่ที่กำลังอยู่ในกองทุกข์หรืออุปาทานทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลน),   ที่สังเกตุเห็นได้ชัดเจนง่ายๆอีกอย่างหนึ่งคือขณะปฏิบัติสมาธิหรือพิจารณาธรรมก็ตาม   มักจะมีผุดนึกจำหรือลอยผุดขึ้นของอาสวะกิเลส(หรือสัญญาจำทั่วไป)ขึ้นมาแทรกแซง  ในขณะจิตแรกที่ผุดขึ้นมาสัมผัสนั่นแหละคือสังขารอันเกิดแต่อาสวะกิเลสอันบันทึกจดจำนอนเนื่องอยู่ในหทัยวัตถุร่วมกับอวิชชา ซึ่งเป็นสภาวะของปุถุชนจึงร่วมปรุงแต่งกันเป็นสังขารขึ้นทันทีโดยไม่รู้ตัวด้วยความเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งอันได้ฝึกปรือและติดตัวมาตั้งแต่เกิดโดยธรรมชาติ  จึงย่อมดำเนินและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท,    หรือการคิดพิจารณาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วผุดนึกจำหรือเห็นเป็นภาพ(รูปนิมิต)แทรกซ้อนขึ้นมา  อันอาจเป็นอาสวะกิเลสหรือสัญญาทั่วไปก็ได้ แต่ล้วนมาจากสัญญาจากหทัยวัตถุหรือสมอง,    ที่สังเกตุเห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง คือ บุคคลใดมีทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนอยู่ ดังเช่น การจากไปของผู้ใกล้ชิด  เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดหรือตัวตนกล่าวพิรี้พิไรรำพันโอดครวญขึ้นมา   ถ้าสังเกตุจะพบมวลของความรู้สึกอันเกิดแต่อาสวะกิเลส คือโสกะ(ความรู้สึกโศรกเศร้าจากการสูญเสีย)ที่สั่งสมจดจำนอนเนื่องอยู่ผุดขึ้นมาเป็นสังขารทันที  แล้วดำเนินไปตามธรรม ให้นํ้าตาไหล,นํ้าตาคลอ,สะอึกสะอื้นถึงร้องไห้โฮได้ง่ายๆทีเดียว  และโดยวิสัยปุถุชนก็จะโอดครวญพิรี้พิไรรำพันถามไถ่กันต่อไปให้เป็นทุกข์เพิ่มขึ้นและสั่งสมโสกะใหม่ๆเข้าไปอีกโดยไม่รู้ตัว  กลับไปคิดเสียอีกว่าดี ที่ได้ระบายความทุกข์ความอัดอั้นตันใจออกมา ก็เพราะอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นเอง

          หรือในกรณี ของสัญญาธรรมดาที่ใช้ในการดำเนินชีวิต  ดังเช่น  ออกไปนอกบ้านผุดนึกจำขึ้นมาได้ว่า  ลืมปิดเตาไฟที่บ้าน   ลืมกระเป๋าสตางค์บ้าง  หรือลืมชื่อผู้ที่รู้จัก  ลืมงานและหน้าที่  เหล่านี้เป็นต้น   ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาความจำที่เกิดแต่หทัยวัตถุหรือสมองล้วนๆที่ผุดขึ้น อันล้วนเป็นไปตามธรรมชาติและจำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตถ้าไม่มีเสียก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติได้ด้วยตนเอง   แล้วจึงเกิดสังขารความคิดขึ้น ดังเช่น ลืมกระเป๋าไว้ที่ใดหนอ เป็นต้น  จึงเป็นการดำเนินไปตามกระบวนจิตของขันธ์ ๕ อันไม่เป็นอุปาทานทุกข์  ย่อมมีเพียงแต่ทุกขเวทนาความรู้สึกรับรู้ที่เกิดจาการผัสสะของการคิดจำได้ ที่ย่อมไม่สบายใจไม่ชอบใจเป็นธรรมดา อันเป็นทุกข์หรือทุกข์ของชีวิต อันเป็นไปตามธรรมของผู้มีชีวิต แต่เป็นไปในระดับของขันธ์ ๕ธรรมดา  ไม่เป็นอุปาทานทุกข์   แต่ถ้าคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไป ทั้งๆที่ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง(อวิชชา) เช่น  มีใครหยิบไปหรือเปล่า,  คงมีใครหยิบไปแล้วแน่ๆ,   คงหายไปแล้วแน่ๆ,   คงต้องวุ่นวายกันยกใหญ่กับเอกสารในกระเป๋าที่คงหายไปแล้วอย่างแน่นอน....ฯลฯ.   เมื่อมีการคิดปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านเยี่ยงนี้เข้าร่วม ก็ย่อมยังโอกาสให้เกิดภวตัณหาหรือวิภวตัณหาให้เป็นอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวในที่สุดเช่นกัน  ดังที่กล่าวมาเนืองๆในเรื่องขันธ์ ๕ และปฏิจจสมุปบาท

          จึงกล่าวได้ว่าสัญญาในหทัยวัตถุหรือสมอง คือ สัญญาหรือความทรงจำทั้งมวลตามที่สั่งสมไม่รู้ว่านานมาสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น  หรือตั้งแต่เกิดจวบจนปัจจุบัน   อันครอบคลุมทั้งเหล่าอาสวะกิเลสทั้งหลาย ที่บันทึกจดจำอยู่ในหทัยวัตถุหรือสมองเช่นกัน   แต่ล้วนเป็นไปแบบนอนเนื่อง เนื่องจากจำนวนอันสั่งสมไว้อย่างมากหลาย   จึงล้วนถูกจำกัดให้ผลัดกันผุดขึ้นมาผ่านทางประตูใจหรือจิตทีละชิ้นทีละอันโดยสภาวธรรมของประตูนั่นเอง ที่ย่อมไม่สามารถทะลักทะลายทั้งหมดออกมาในคราเดียวได้,    หทัยวัตถุหรือสมอง จึงเปรียบเทียบได้ดัง เทปบันทึก หรือ ฮาร์ดดิสก์ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก็บจำข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้นของคอมพิวเตอร์ไว้แม้แต่รูปภาพหรืออะไรก็ตามแต่ กล่าวคือไม่ว่าจะดีหรือชั่วนั่นเอง  เพียงแต่เมื่อใช้งานก็จำต้องใช้งานผ่านทางโปรแกรมวินด์โดว์ ทีละชิ้นทีละอัน  ที่ไม่ใช้งานก็นอนเนื่องอยู่ในฮาร์ดดิสก์   ดุจดั่งนั้นนั่นแล   แม้ว่าคอมพิวเตอร์จะทำงานได้อย่าง Multitask กล่าวคือพอจะทำงานได้หลายอย่างบ้างแต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่ไม่สามารถใช้พร้อมกันทั้งหมดได้ จึงมีสภาพเหมือนกับจิต   แต่ไม่ว่าจะใช้งานอย่างใรก็ล้วนต้องผ่านทางประตูโปรแกรมวินด์โดว์นั่นเอง   วินด์โดว์จึงเปรียบเสมือนประตูใจหรือจิตของขันธ์ ๕  แสดงภาพขยายความ

          เมื่อแยกแยะความเข้าใจดังกล่าวได้ก็ถึงเวลาที่ใช้  สัมมาญาณ(ปัญญา)  สัมมาสติ   สัมมาสมาธิที่หมายถึงมีการสติอย่างต่อเนื่องในกิจนั้นๆ  ทั้งหลายทั้งปวงตามที่ได้สั่งสมฝึกอบรมฝึกปฏิบัติกันมาแบบต่างๆนาๆนั้น    มาโยนิโสมนสิการให้เห็นสัญญาหรืออาสวะกิเลสที่ผุดขึ้นนี้เสียแต่แรกๆกล่าวคือเห็นสังขาร  เนื่องจากจะกำจัดทิ้งเสียดื้อๆก็ไม่ได้เพราะเป็นสภาวธรรมของชีวิต  จึงต้องใช้สติปัญญาที่ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมและเข้าใจในอาสวะกิเลสอันละเอียดอ่อน  เมื่อมีการปรุงแต่งหรือเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาจนเกิดองค์ธรรมสังขารต่างๆนาๆ     สติจะเป็นผู้ทำหน้าที่ระลึกรู้เท่าทันในสังขารได้โดยตรง อันเนื่องจากเห็นเข้าใจแล้วอันเกิดแต่ปัญญาเป็นเบื้องต้น   และปัญญาที่สั่งสมด้วยความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ดังเช่น ในปฏิจจสมุปบาท จะเป็นผู้รู้อยู่ว่าควรทำอะไรในที่สุด  หมายถึง เพราะเห็นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแท้จริงจึงเป็นกำลังของจิตอันสำคัญยิ่ง เนื่องเพราะปัญญาความรู้อย่างมีกำลังยิ่งว่า ปล่อยให้ปรุงแต่งต่อไปจนเป็นองค์ธรรมสังขารกิเลสย่อมเป็นปัจจัยอันเนื่องให้เกิดทุกข์ขึ้นอย่างจริงแท้แน่นอนอย่างแจ่มแจ้งตามวงจรปฏิจจสมุปบาท ด้วยการเคยสัมผัสหรือปฏิบัติได้ด้วยตนเองมาแล้วนั่นเอง   ดังนั้นเมื่อระลึกรู้เท่าทันสังขารพร้อมปัญญาอันแจ่มแจ้ง   องค์ธรรมสังขารอันยังให้เกิดทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้เนื่องจากเหตุปัจจัยไม่ครบองค์เนื่องจากมีวิชชาเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง หรือก็คืออวิชชาดับไป  กล่าวคืออาสวะกิเลสเหล่านั้นจึงดับไป ซึ่งหมายถึงว่า อาสวะกิเลสเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงดุจดังสัญญานึกจำ ดังนั้นองค์ธรรมสังขารอันล้วนเป็นสังขารกิเลสเช่นความคิดที่แฝงกิเลสอันยังให้ก่อทุกข์นั้น จึงแปรไปเป็นเพียงสังขารเช่นความคิดธรรมดาไม่แฝงกิเลส ของขันธ์ ๕  แล้วดำเนินและเป็นไปภายใต้สติตามกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ อันเป็นสภาวธรรมที่ไม่เกิดอุปาทานทุกข์   พร้อมทั้งการไม่ปรุงแต่งต่อไปในเรื่องนั้น  โดยถืออุเบกขาไม่เอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิด,กริยาจิตใดๆในเรื่องนั้น  ดังที่กล่าวมาเนืองๆในทุกบท

เปรียบเทียบอาสวะกิเลสเมื่อร่วมกับวิชชา และอวิชชา

ความจำ(อาสวะกิเลส)  วิชชา  สังขารอันเป็นเหตุ เช่นความคิดหรือธรรมมารมณ์  แล้วดำเนินไปตามกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ เช่นกัน

[อาสวะกิเลส วิชชา] จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขารคือความคิดอันเป็นเหตุ หรือธรรมารมณ์ ใจ วิญญาณ ผัสสะ เวทนา  สัญญาหมายรู้ตามความเป็นจริง  สังขารขันธ์ ชนิดจิตสังขาร เช่น คิดอันเป็นผลดีงามหรือถูกต้องตามความเป็นจริง

(สามารถพิจารณาผ่านวงจรปฏิจจสมุปบาทก็ได้ เพราะจะดำเนินไปตามวงจรจนถึงเวทนา ที่วงจรปฏิจจสมุปบาทจะถูกตัดขาด แล้วเกิด --->  สัญญาหมายรู้ ตามความเป็นจริงที่เป็นไปด้วยวิชชา ---> สังขาร )  ขยายความ

ถ้าอาสวะกิเลสร่วมกับอวิชชา พิจารณาในกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ก็จะดำเนินไปดังนี้

ความจำ(อาสวะกิเลส)  อวิชชา  สังขารอันแฝงกิเลสอันทำหน้าที่เป็นเหตุ เช่นความคิดหรือธรรมมารมณ์ แล้วดำเนินไปตามวงจรแห่งทุกข์

[อาสวะกิเลส อวิชชา] จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขารกิเลสคือความคิดอันเป็นเหตุหรือธรรมารมณ์ที่แฝงกิเลส ใจ วิญญาณ ผัสสะ เวทนา  สัญญาหมายรู้แต่แฝงความเป็นของตัวของตน  สังขารขันธ์ เช่นจิตมีโทสะ

[อาสวะกิเลส-ความจำที่นอนเนื่องได้ในอาหารอร่อยๆ หรือจำได้ในรสเพศสัมพันธ์(ในรูปความจำได้ในความคิด,ความรู้สึกแฝงกิเลส หรือก็คือเหล่าตัณหาอุปาทานที่ยังนอนเนื่องอยู่) อวิชชา] จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขารกิเลสคือความคิดอันเป็นเหตุหรือธรรมารมณ์ที่แฝงกิเลส ใจ วิญญาณ ผัสสะ เวทนา  สัญญาหมายรู้แต่แฝงความเป็นของตัวของตน  สังขารขันธ์ เช่นจิตมีราคะ จึงต้องขวยขวายกระเสือกกระสนไปหามาป้อนตัณหาอุปาทานของตัวตน

สามารถพิจารณาโดยใช้วงจรปฏิจจสมุปบาทก็เฉกเช่นกัน

[อาสวะกิเลส อวิชชา] จึงเป็นเหตุให้เกิด สังขารกิเลสคือความคิดอันเป็นเหตุหรือธรรมารมณ์ที่แฝงกิเลส มโนวิญญาณ นาม-รูป  สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา  ตัณหา  อุปาทาน  ภพ  ชาติ  ชราแล้ววนเวียนปรุงแต่งอย่างเร่าร้อน มรณะ  อาสวะกิเลส... ...ฯ.

         กล่าวคือ  มีสติและปัญญาเท่าทัน  เมื่อผุดนึกจำในรูปแบบต่างๆของอาสวะกิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในหทัยวัตถุ อันมี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ต่างๆเหล่านี้ ที่สามารถผุดขึ้นมาด้วยอาการธรรมชาติของชีวิตหรือเจตนาขึ้นก็ตามแต่  ตามที่ได้สั่งสมมาแต่อดีต  ทั้งในรูปแบบของความรู้สึกหรือคำนึงถึง(องค์ธรรมสังขาร)ก็ตาม   เมื่อผุดการนึกจำใดที่ยังให้เกิดทุกข์ขึ้น ก็มีสติระลึกรู้เท่าทันและปัญญาจัดการต่อเหล่าสังขารขันธ์(จิตสังขาร)ที่ย่อมเกิดขึ้นเหล่านั้นโดยการอุเบกขา  หรือการปล่อยวาง หรือการไม่ยึดมั่นนั่นเอง

ดูวงจรปฏิจจสมุปบาท

เหตุเพราะเป็น สภาวธรรมหรือธรรมชาติ นั้นมีอยู่     ธรรมชาติของชีวิต ก็ย่อมมี    สัญญาหรืออาสวะกิเลสโดยอาศัยหทัยวัตถุ จึงมี     อวิชาดับ เพราะมีวิชชาเกิด  อันประกอบด้วย ปัญญา  สติ  สัมมาสมาธิ เป็นเหตุปัจจัยหลัก     องค์ธรรมสังขารกิเลสที่จะทำให้เกิดทุกข์ย่อมกลับกลายเป็นสังขารชนิดที่ไม่เป็นทุกข์  เช่น ความคิดต่างๆอันย่อมมีสติแฝงอยู่  แล้วดำเนินและเป็นไปตามกระบวนธรรมของขันธ์ ๕  ไม่เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนยาวนาน   คงมีแต่เวทนาอันเป็นสภาวธรรมของชีวิตเป็นธรรมดาเท่านั้น    แล้วปฏิบัติตามความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทตามที่กล่าวมาในกาลก่อน คือ รู้เท่าทันเวทนาและจิต อย่างเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง จนเกิดปัญญาหรือวิชชาขึ้นเป็นที่สุด

        หรืออุปมาได้ดั่งนี้ เพื่อให้เข้าใจกระบวนธรรมของจิตในการปฏิบัติ,    หทัยวัตถุหรือสมองเปรียบประดุจดั่งเมืองใหญ่หรือเมืองหลวงเมืองหนึ่งที่สำคัญยิ่งทั้งของจิตและชีวิต    ภายในเมืองหทัยวัตถุนี้จึงย่อมประกอบด้วยผู้คนมากมาย อันย่อมมีทั้งคนดี(สัญญาทั่วไปในการดำเนินชีวิต)และคนชั่ว(อาสวะกิเลส)ในทุกรูปแบบปะปนคละเคล้ากันไปเป็นธรรมดาดั่งเมืองทั่วๆไป จะให้มีแต่คนดีหรือชั่วล้วนๆย่อมเป็นไปไม่ได้  จึงเปรียบได้ดั่งสัญญาความทรงจำทั้งมวล จึงรวมทั้งอาสวะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่เคยเกิดที่เคยเป็นมาแต่อดีต จึงไปรวมแออัดยัดเยียดกันอยู่ภายในเมืองหทัยวัตถุนี้     เมืองหทัยวัตถุนี้ก็ย่อมต้องมีประตูเมืองสำหรับเข้าออกเหมือนเมืองอื่นๆทั่วไปเพื่อการติดต่อกับโลกภายนอก อันคือชีวิตหรือขันธ์๕อยู่เป็นธรรมดา เรียกกันโดยทั่วไปว่าประตูใจหรือทวารใจ   จะดีจะชั่ว ถ้าจะเข้า ถ้าจะออก ก็ล้วนต้องผ่านเข้าออกประตูใจนี้ นั่นเอง  จึงย่อมจำกัดจำนวนการเข้าออกในแต่ละครั้งเป็นธรรมดาโดยสภาวธรรมของประตู ที่ย่อมไม่สามารถทะลักทะลายปล่อยออกมาในคราเดียวได้ทั้งหมด,  ในหมู่คนดีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและอย่างถูกต้อง(หมายถึง การปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามที่สั่งสมไว้)จนมีมากโขพอควร จึงรวมหัวกัน แต่งตั้งปัญญาผู้เฉลียวฉลาดขึ้นเป็นเจ้าเมืองใหญ่ ให้เป็นผู้วางแผน, บงการ, บังคับบัญชาควบคุมเมืองหทัยวัตถุนี้   ปัญญาผู้ยิ่งใหญ่จึงใช้อำนาจที่มี สั่งให้ สติ ทำหน้าที่อันสำคัญยิ่ง  คือเป็นนายทวารใหญ่ ผู้คอยดูแลรักษาประตูใจหรือทวารใจเหล่านี้  จุดประสงค์คือ ให้สติเฝ้าดูผู้ดีผู้ชั่ว  ที่ผ่านเข้าผ่านออกประตูใจหรือจิตนั่นเอง   พร้อมทั้งคำสั่งอันเด็ดเดี่ยวกำชับสำทับลงมาให้ทำงานอย่างสมํ่าเสมออย่างต่อเนื่อง อย่าได้ละทิ้งหน้าที่ในการตรวจตราประตูใจเหล่านั้น  อันเปรียบได้ดั่งสัมมาสมาธิในการดับทุกข์หรือวิปัสสนา   ดังนั้นเมื่อ สติ พบเห็นคนดี(สัญญา),หรือคนชั่ว(อาสวะกิเลส)ที่จะทำให้เกิดทุกข์ตัวหนึ่งตัวใด ตามที่เจ้าเมืองปัญญาผู้รอบรู้ได้อบรมบอกกล่าวไว้ก่อนแล้ว   เดินผ่านเข้าออกมา อันหมายถึงการมีสติระลึกรู้เท่าทัน    ก็จะทำหน้าที่ปล่อยให้ผ่านหรือกำจัดกักกัน   หรือถ้าเกินกำลังของสติก็จะแจ้งไปยัง ปัญญา ผู้เป็นใหญ่หรือผู้บังคับบัญชา    ปัญญาอันมีความเข้าใจอันแจ่มแจ้งรอบรู้ตามความเป็นจริง รู้จักคนดี,คนชั่วตามที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้วจากการโยนิโสมนสิการหรือธรรมวิจยะด้วยความเพียร,ปฏิบัติดี,ปฏิบัติชอบ   ก็จะเป็นผู้สั่งการ ดังเช่น ให้สัญญาทั้งหลายนั้นผ่านไปทำหน้าที่อันควรของเขาตามธรรม (ถ้าไปกำจัดหรือกักกันเขา ย่อมก่อทุกข์โทษภัยรุนแรงอย่างแน่นอน)    แต่จำกัดสิทธิเหล่าคนชั่วหรืออาสวะกิเลสที่จะผ่านเข้าออกมาในสภาพสังขารเหล่านั้นเสีย ด้วยการอุเบกขาไม่ปรุงแต่งเอนเอียง  ตามควรแห่งปัญญาแห่งตน  อันย่อมเนื่องจากความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในธรรมใดๆก็ตามที่ได้ปฏิบัติสั่งสมมา เช่น ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์  ขันธ์๕  อริยสัจ  ฯลฯ.  ดังเช่น   ผู้มีปัญญาในปฏิจจสมุปบาทก็จะมีพลังจิตอันเกิดแต่ปัญญา,สติและสมาธิที่เกิดแต่ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งจนพิสูจน์รู้ได้ด้วยตนเองว่าถ้าดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทต่อไปย่อมเกิดทุกข์ขึ้นอย่างแน่นอน จึงไม่ปรุงแต่งเสีย   หรือในผู้ที่มีปัญญาใน พระไตรลักษณ์ ย่อมรู้แจ้งอยู่ว่า  ไม่เที่ยง  คงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์  ไม่มีแก่นแกนแท้จริง จึงมีพลังจิตไม่ไปยึดหมาย     ผู้ที่มีปัญญาใน ขันธ์ ๕ ก็ย่อมรู้ว่าเมื่อเกิดการกระทบผัสสะแล้วย่อมเกิดสังขารอันอาจเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดา  เหมือนดั่งกายกระทบผัสสะเหล่าใด ก็ย่อมต้องเกิดเวทนาไปตามธรรมทุกครั้งทุกทีเหล่านั้น  จึงไม่ปรุงแต่ง  ดังนี้เป็นต้น,   เหล่าอาวะกิเลสเมื่อไม่สามารถผ่านออกไปภายนอกได้อย่างสะดวกต้องแอบเล็ดลอดอยู่ตลอดเวลา  ของใหม่ก็ถูกเพียรจำกัดกักกันจึงไม่เสริมเข้ามา  ย่อมขาดกำลังบำรุง  ย่อมอ่อนแรงลงไปเป็นลำดับเป็นธรรมดา   จนในที่สุดคนชั่วหรืออาสวะกิเลสย่อมถูกกลืนกินหรือกลมกลืนไปกับคนดี ด้วยบารมีของเจ้าเมืองปัญญาที่คอยสั่งสอนอบรมแต่สิ่งที่ดีงามถูกต้องแก่ชาวเมืองหทัยวัตถุนั้นอย่างสมํ่าเสมอด้วยความเพียรยิ่ง ตลอดจนสติและสมาธิ(ต่อเนื่อง)เป็นเจ้าหนัาที่ที่กระทำการด้วยความเพียรยิ่ง  พร้อมทั้งสำรวมระวังอย่างเข้มแข็งปิดกั้นผู้ชั่วไม่ให้อพยพเข้ามาเสริมเพิ่มกำลังได้อีก   จึงอยู่กันอย่างสุข สงบ บริสุทธิ์ยิ่งในกาลต่อไป  ยิ่งกว่าเมืองแก้วเมืองสวรรค์ในชั้นฟ้าใดๆ

          แล้วสติที่เฝ้าดูแลผู้ดีผู้ชั่ว จริงๆแล้วอยู่ที่ใดกันละ   สติที่เฝ้าดูแลผู้ดีผู้ชั่ว ก็เป็น สติที่เฝ้าดูแลพุทโธ หรือ สัมมาอรหัง หรือคำบริกรรมใดๆ ตลอดจนการปฏิบัติแบบต่างๆ เช่น สติที่เฝ้าตามลมหายใจ ฯลฯ. ที่ล้วนต้องผ่านเข้าออกทางทวารใจหรือจิตนั่นเอง  เพียงแต่ในขณะนั้นเป็นการฝึกปฏิบัติในแบบต่างๆกันไป ก็เพื่อการสั่งสมให้สติมีความเข้มแข็ง ว่องไว และอยู่ในวินัยได้อย่างต่อเนื่อง และทำหน้าที่อย่างถูกต้องดีงาม(ดังเช่น การปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔)   ส่วนสติที่ใช้ไปในการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะในโพชฌงค์ หรือธรรมานุปัสนาในสติปัฏฐาน๔ หรือก็คือการโยนิโสมนสิการในธรรมต่างๆนั่นเอง)ก็ยังให้เกิดปัญญาเพิ่มพูนตลอดจนนิพพิทาจนหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงขึ้น    จุดประสงค์ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้มีปัญญาแล้วใช้สติ ซึ่งเมื่อไปทำหน้าที่เป็นนายทวารใหญ่แล้วมีความพร้อมบริบูรณ์ในการทำหน้าที่ของตนในการเฝ้ารักษาดูแลทวารใจหรือจิตที่มีผู้คนหรือสัญญาแบบต่างๆผ่านเข้าออกอย่างเข้มแข็งและถูกต้องดีงามนั่นเอง

          ในกรณีลมหายใจข้างต้น  แม้เป็นกายสังขารก็จริงอยู่   แต่ก็ล้วนเกิดแต่สัญญาในหทัยวัตถุที่เจตนาขึ้นเป็นสังขารหรือธรรมารมณ์ก่อนนั่นเอง

          จะเห็นได้ว่าทั้งอาสวะกิเลสและสัญญาเป็นสภาวธรรมอันสำคัญยิ่งของชีวิตและละเอียดอ่อนเป็นที่สุด  เนื่องจากจะกำจัดทิ้งเสียดื้อๆ หรือเลือกที่รักผลักที่ชัง กำจัดทิ้งส่วนที่ไม่ดีไม่ชอบ เฉพาะส่วนเสียก็ไม่ได้ เพราะเป็นสภาวธรรมของชีวิต ก็จริงอยู่ แต่สามารถทำให้ใสสะอาดปราศจากกิเลสได้นั่นเอง    การปฏิบัติในขั้นดับอวิชชาจึงต้องพรั่งพร้อมประกอบด้วย สัมมาญาณ(ปัญญา)รู้เข้าใจอย่างถูกต้อง   สัมมาสติที่ระลึกรู้อย่างเท่าทันอย่างถูกต้อง   และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง(สัมมาสมาธิ)อย่างถูกต้อง

          เมื่อกระทำดังกล่าวจนเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งหรือวิชชาแก่กล้าขึ้น   ก็จะทำให้อาสวะกิเลสอันจะผุดนึกจำหรือลอยผุดขึ้นมาได้เป็นสังขาร อันเกิดขึ้นเนื่องจากถูกกระตุ้นเร้าจากการผัสสะโดยตรงเบาบางและดับไปเป็นที่สุดเช่นกัน   ดังเช่น  ตา กระทบ รูปคนที่เกลียดชัง  19_c.gif จักษุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของผู้มีชีวิต   19_c.gif พรั่งพร้อมด้วยสัญญาความจำได้ในบุคคลคนนั้นอันย่อมแฝงอาสวะกิเลส  19_c.gif จึงเกิดเวทนามีอามิส....ฯ.  (นี่คือเหตุผลว่า ทำไมยังต้องรู้เท่าทันเวทนาดังเดิมอีกด้วย)   ดังนั้นแม้อาสวะกิเลสที่แฝงจำในสัญญาของขันธ์ ๕ อันเกิดจากการกระทบผัสสะโดยตรงก็จะจางคลายดับไปในที่สุดเช่นกัน    อันเป็นไปในลักษณาการของเรื่องไก่กับไข่   เมื่อไม่มีไก่ ก็ไม่มีไข่    เมื่อไม่มีไข่ ก็ไม่มีไก่    ต่างก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน เหมือนวงจรปฏิจจสมุปบาท   การไปหาว่าไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกันจึงเป็นเรื่องอจินไตยทางโลกอันชวนปวดหัวยิ่งนัก

แสดงให้เห็นความเนื่องสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยกันของกิเลสทั้งหลายได้ดังนี้

อาสวะกิเลส

อุปาทาน

 anired06_next.gif

 

กิเลส

ตัณหา

ดังนั้น  เมื่อเหตุตัวใดตัวหนึ่งแปรปรวนจางคลายหรือดับไป จึงเป็นผลถึงกิเลสตัวอื่นๆด้วยเช่นกัน  อันเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตานั่นเอง

         ปฏิบัติเหล่านี้ จนเป็นสังขารที่สั่งสมไว้อย่างยิ่งยวด   จนเป็นมหาสติ   กล่าวคือ เมื่อกระทำบ่อยๆครั้งเข้าก็จักสั่งสมจนสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องเจตนา กล่าวคือ ไม่ต้องจดจ่อคอยจดคอยจ้องอย่างแรงกล้าดังเมื่อเริ่มการปฏิบัติ คือ จะเกิดขึ้นและเป็นไปได้เองโดยธรรมชาติ  หรือเป็นการเกิดขึ้นและเป็นไปตามที่สั่งสมโดยอัติโนมัตินั่นเอง   อันเป็นสภาวธรรมหนึ่งของชีวิตจึงยิ่งใหญ่มีอำนาจมาก   ดังนั้นในการทำญาณให้เห็นจิต กล่าวคือ ทำปัญญาให้เห็นสังขารต่างๆโดยเฉพาะจิตสังขารต่างๆ(จิตตานุปัสสนา รวมทั้งเวทนานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน๔)   เป็นการมีสติระลึกรู้อย่างเท่าทัน อย่างต่อเนื่อง(สมาธิ)   ระยะนี้จึงต้องฝึกทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยเช่นกันและต้องอย่างถูกต้องตามความเข้าใจอันเกิดแต่ปัญญาควบคู่กันไปอีกด้วย    ช่วงแรกๆในการปฏิบัติสติก็จะรู้ตามเมื่อเกิดไปแล้ว  ขอให้มีความเพียร อย่าได้ท้อแท้ใจ เพราะต้องเป็นไปเช่นนี้เองเป็นธรรมดา  แต่ในที่สุดสติรู้เท่าทันเร็วขึ้นไปเป็นลำดับ   อันเป็นไปในลักษณาการเช่นเดียวกันกับเด็กเล็กเด็กอนุบาลที่เริ่มเล่าเรียนเลข  อันมีปัญญาที่เกิดขึ้นบ้างแล้วนั่นเอง  แต่เมื่อเล่าเรียนใหม่ๆเมื่อชี้ถามว่าเลขอะไร  ปัญญาและสติระลึกรู้เท่าทันยังไม่สั่งสมบริบูรณ์  เด็กจึงต้องใช้เวลามองพิจารณาระลึกรู้อยู่เป็นเวลานานทีเดียว จึงจะตะกุกตะกักตอบได้อย่างถูกต้อง   ต่อเมื่อเล่าเรียนสูงขึ้นจนอยู่ชั้นประถมเมื่อชี้เลขอันใด  เด็กก็จะมีปัญญาและสติระลึกรู้เท่าทันในทันทีที่ชี้ถาม   อันล้วนเกิดขึ้นจากการสั่งสมปฏิบัติเช่นกัน,    เราจึงต้องมีความเพียรในสติ,สมาธิ,ปัญญาให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่งดุจดังนั้น  ที่เกิดดั่งตากระทบอักษรแล้วเกิดสัญญาระลึกรู้จำได้และเข้าใจ  พร้อมทั้งสัญญาหมายรู้ในความหมายโดยธรรมดาในทันที   อันเป็นมหาสติอย่างหนึ่ง แต่เป็นไปในทางโลกไม่เกี่ยวกับการดับทุกข์    เมื่อเป็นมหาสติดังตาเห็นรูปดังนั้นแล้วก็คือการสิ้นสุดการปฏิบัตินั่นเอง   ท่านสามารถตอบตนเองได้ด้วยอาการของผู้รู้หรือปัจจัตตัง

ในช่วงแรกของการปฏิบัติในระยะนี้   จึงจะเป็นไปดังนี้

อาสวะกิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้น   จึงไม่เกิดเพราะวิชชา

อันเนื่องมาจากมีวิชชาคือ สติ, สมาธิ และปัญญา    อาสวะกิเลสจึงถูกกุมอยู่ ไม่ผุดขึ้นมามากมายดังอดีต

อาสวะกิเลสที่ยังเกิดขึ้นอยู่บ้าง  แต่เพราะวิชชาเกิดขึ้นเท่าทันบ้าง

จึงไม่อาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดองค์ธรรมสังขารที่จักก่อทุกข์ขึ้น   อาสวะกิเลสก็ไม่เกิดสั่งสมขึ้นอีก

อาสวะกิเลสที่ยังเกิดขึ้นอยู่บ้าง  และเพราะอวิชชายังมีอยู่ยังไม่สูญสิ้นหมดไป

ก็ให้รู้เท่าทัน เวทนาและจิตดังเดิม

ดูวงจรปฏิจจสมุปบาท

         การปฏิบัติในขั้นนี้  จึงต้องดำเนินไปอย่างครบถ้วนกระบวนวิชชา  ประกอบด้วยสัมมาสติ, สัมมาสมาธิ และสัมมาญาณ ให้เห็นจิต    (สัมมา ในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงเป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม ตรงตามเป้าหมายในการดับทุกข์  จึงไม่ใช่สติ สมาธิ ปัญญา อย่างที่ฝึกหรือปฏิบัติหรือเข้าใจโดยทั่วๆไป กล่าวคือ นำไปใช้งานในการดับทุกข์อย่างถูกต้อง)   จิตอันหมายถึงครอบคลุมทั้ง สังขารอันผุดขึ้นจากอาสวะกิเลส และรวมทั้งเวทนา  จิตสังขาร(คิด) อย่างที่ได้ปฏิบัติมาแต่ก่อนด้วย    ดังนั้นจึงสรุปหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งโดยแจกแจงอย่างละเอียดขึ้น ก็คือ ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  มีปัญญา  และสติรู้เท่าทัน  และอย่างต่อเนื่องอันเป็นสมาธิ  ในธรรมทั้ง๕ อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้  คือ มีสติกุมจิตอยู่ในธรรม สังขารจากอาสวะกิเลส(๑.)ย่อมเกิดผุดขึ้นน้อยลง  แต่ในการปฏิบัติในระยะแรกสติย่อมไม่เท่าทันตลอดเป็นธรรมดา  ก็ให้เท่าทันในองค์ธรรมเวทนา(๒.)    หรือจิตสังขาร(๓.)    หรือเวทนูปาทานขันธ์(๔)    หรือสังขารูปาทานขันธ์(๕)  อย่างใดอย่างหนึ่งในธรรมทั้ง ๕ นี้  อันล้วนคือจิต  แล้วปล่อยวาง  (อันพึงยกเว้นเฉพาะเมื่อทำการโยนิโสมนสิการหรือธรรมวิจยะเท่านั้น) คือ การไม่ยึดมั่นหมายมั่นใดๆ กล่าวคือ โดยอาการอุเบกขาเป็นกลาง วางทีเฉย โดยการไม่โอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิด,หรือกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นๆ  เหมือนการปฏิบัติดังที่กล่าวๆผ่านมา  จนมีความเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง  จึงย่อมระลึกรู้ในธรรมใดทั้ง๕พร้อมการอุเบกขาว่องไวขึ้นไปเป็นลำดับเป็นธรรมดา(ที่ไม่ธรรมดา)   สั่งสมจนในที่สุด สติ,สมาธิ,ปัญญาจะระลึกรู้เท่าทันในธรรมเร็วขึ้นไปเรื่อยๆเป็นลำดับ  จนสติเท่าทันธรรมลำดับแรกคือสังขารอันเกิดแต่อาสวะกิเลสได้อย่างแคล่วคล่องขึ้นไปเป็นลำดับเช่นกัน พรั่งพร้อมด้วยการอุเบกขา  จนกลายเป็นมหาสติโดยสภาวธรรมชาติของชีวิตอันเป็นส่วนหนึ่งของสภาวธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ทรงพลังยิ่ง ที่เที่ยงตรง คงทนอยู่ได้ แต่ก็เป็นอนัตตา

         ดังนั้นในขั้นนี้  เมื่อมีปัญญารู้แจ้งว่าเหตุอันใดอย่างแจ่มแจ้งดีแล้ว  จึงต้องหมั่นฝึกสติให้กล้าแข็งด้วย  เพราะคราครั้งนี้สติจะระลึกรู้อย่างถูกต้องแนวทางด้วยปัญญาแล้ว  ไม่ใช่การฝึกแต่สติโดยที่ยังไม่รู้แนวทางอย่างชัดแจ้งดังเช่นคราก่อนๆ อันเป็นเพียงการสั่งสมเตรียมการไว้   แล้วฝึกสติเยี่ยงไร  ฝึกอย่างเดิมนั่นแหละ คือ ให้มีสติอยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม  แต่เป็นการมีสติในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง  สติเห็นในกาย เวทนา จิต ธรรม อันใดอันหนึ่งก็ได้นั่นเอง คือมีสติเห็นสลับสลับเปลี่ยนกันไปมาในธรรมทั้ง๔ได้  เป็นไปตามสภาวธรรมที่กระทบผัสสะในชีวิตนั่นเอง ไม่เน้นเฉพาะเจาะจงแต่ธรรมใดธรรมหนึ่ง  แต่ตามที่เกิดในปัจจุบันนั้นจริงๆ  เพื่อให้สติมีความว่องไวแข็งแรงและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง(สมาธิ)ในชีวิต  จนเป็นมหาสติ

เมื่อเป็นมหาสติแล้ว  จึงจักเป็นไปเยี่ยงนี้

อาสวะกิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้น     จึงไม่เกิดเพราะวิชชา

กล่าวคือมีวิชชาอย่างบริบูรณ์  หรืออวิชชาดับไป

         การปฏิบัติในขั้นนี้ จึงจำเป็นต้องใช้สติระลึกรู้อย่างเท่าทันในสิ่งที่ปัญญาไปเห็นเข้าใจ คือสังขารอันเกิดแต่อาสวะกิเลสร่วมกับอวิชชาและความคิดสัญญาต่างๆที่เกิดขึ้น   ดังนั้นสติที่จะเท่าทันดังนี้ได้ จึงต้องเป็นสติดังที่จักอาราธนาธรรมคำสอนของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี  จากหนังสือ เทสรังสีอนุสรณาลัย  เรื่อง "สิ้นโลก เหลือธรรม (นัยที่สอง)"  (หน้า ๙๓)  ที่ได้กล่าวถึงเรื่อง สติ ไว้ดังนี้

         "จิต คือ ผู้คิดผู้นึกในอารมณ์ต่างๆ ที่รวมเรียกว่ากิเลสอันเป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมองนั่นเอง  จึงต้องฝึกหัดให้มีสติระวังควบคุมจิต  ให้รู้เท่าทันจิต  ซึ่งคำนี้เป็นโวหารของพระกรรมฐานโดยเฉพาะ   คำว่า " รู้เท่า " คือ สติรู้จิตอยู่ ไม่ขาดไม่เกินยิ่งหย่อนกว่ากัน  สติกับจิตเท่าๆกันนั่นเอง  คำว่า " รู้ทัน " คือ สติทันจิตว่าคิดอะไร  พอจิตคิดนึก  สติก็รู้สึกทันที เรียกว่า " รู้ทัน "   แต่ถ้าจิตคิดแล้วจึงรู้นี้เรียกว่า " รู้ตาม " อย่างนี้เรียกว่าไม่ทันจิต  ถ้าทันจิตแล้ว  พอจิตคิดนึก  สติจะรู้ทันที  ไม่ก่อนไม่หลัง  ความคิดของจิตก็จะสงบทันที............"

         สติ ที่ท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีได้กล่าวแสดงนี้  คือ สติที่ "รู้เท่า" "รู้ทัน" ที่จักบังเกิดผลอันยิ่ง กล่าวคือ รู้เท่าทันระดับสังขาร(ในปฏิจจสมุปบาท)อันเกิดขึ้นจากความทรงจำ(สัญญาหรืออาสวะกิเลส)  และก็มิได้ขัดแย้งกับการปฏิบัติในสติปัฏฐาน  ๔ หรือปฏิจจสมุปบาท แต่ประการใด  ในสติปัฏฐาน ๔ ที่ให้รู้ทันขณะเกิดบ้าง แปรปรวนบ้าง ดับไปแล้วบ้าง คือรู้ทันบ้าง รู้ตามบ้าง ระลึกรู้ภายหลังบ้าง เพราะเป็นการฝึกฝนปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์อยู่ อันย่อมมิสามารถรู้เท่าทันได้ทั้งหมดเป็นธรรมดาในขั้นแรก  จึงต้องรู้ทันบ้าง รู้ตามบ้าง ระลึกรู้เมื่อดับบ้างเป็นธรรมดา และก็ยังให้เกิดปัญญาเข้าใจในสภาวธรรมต่างๆ รวมทั้ง พระไตรลักษณ์ ฯลฯ.   ส่วนในปฏิจจสมุปบาทนั้นก็เป็นไปเฉกเช่นเดียวกัน ที่สติและทั้งปัญญาย่อมยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง จึงไม่เท่าทันสังขารอันเกิดแต่อวิชชาร่วมกับอาสวะกิเลสได้เป็นธรรมดาในการปฏิบัติขั้นต้นๆ แต่เพื่อการสั่งสม จึงต้องรู้ทันเวทนาบ้าง จิตสังขารบ้าง เวทนูปาทานขันธ์และสังขารูปาทานขันธ์ในชราบ้าง   และรู้เท่าทันบ้าง รู้ตามบ้าง รู้เมื่อเป็นสุขเป็นทุกข์ๆไปแล้วบ้างเป็นธรรมดา  จนในที่สุดแล้วสติที่ใช้ร่วมกับปัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งอวิชชาที่ต้องปฏิบัติสั่งสมจนพัฒนาเป็นสติที่ต้อง "รู้เท่า" "รู้ทัน" สังขารดังแสดงข้างต้นจึงเป็นที่สุดของการดับทุกข์  อันจักบังเกิดขึ้นจากการปฏิบัติด้วยความเพียรสั่งสมจนกล้าแข็ง แลเป็นมหาสตินั่นเอง

          หรือดังธรรมคำสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จากหนังสือ "อตุโล ไม่มีใดเทียม"  (น.๔๖๙)

          ".........ในทางปฏิบัติที่ว่า ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจอยู่กับใจนี้  ก็คือให้มีสติกํากับใจให้เป็นสติถาวร  ไม่ใช่เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด เดี๋ยวก็สว่างวาบ  เดี๋ยวก็ดับ  เดี๋ยวก็สว่าง  แต่ให้มันสว่างติดต่อกันไปตลอดเวลา   เมื่อสติมันติดต่อกัน(webmaster- เป็นสัมมาสมาธิในการดับทุกข์)ไปอย่างนี้แล้ว   ใจมันก็มีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อยู่กับตัวรู้ตลอดเวลา"  ตัวรู้ก็คือ "สติ" นั่นเอง  หรือจะเรียกว่า "พุทโธ" ก็ได้   พุทโธที่ว่า รู้ ตื่น เบิกบาน ก็คือตัวสตนั่นแหละ"

 

           ส่วนสมาธิที่ใช้ในการปฏิบัติในขั้นปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี้  มิได้หมายถึงสมถสมาธิ  แต่หมายถึง สมาธิที่มีจิตตั้งมั่นอยู่ในที อยู่ในการกิจหรือการปฏิบัตินั้นๆได้อย่างต่อเนื่อง คือ เป็นการนำสมถสมาธิที่ฝึกปฏิบัติมาใช้งานจริงในชีวิตประจำวันในการปฏิบัติธรรมเพื่อการดับไปแห่งทุกข์

 

          อาการที่สติและปัญญารู้เท่าทัน  ไม่เกิดอวิชชาขึ้นนั้น  บางครั้งก็เป็นไปโดยธรรมชาติ   ลองสังเกตุในความคิดหรือเรื่องที่เป็นทุกข์  เมื่อเผลอสติคิดขึ้นมาก็เป็นสังขารกิเลสอันเป็นทุกข์ส่วนใหญ่  แต่ในบางครั้งจะสังเกตุว่า คิดในเรื่องสิ่งเดียวกันแต่ไม่รู้สึกเป็นทุกข์  เพราะมีบางครั้งนั้นมีก็มีสติและปัญญาโดยอาการธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นเองเป็นบางครั้ง หรืออยู่ภายใต้สภาวะของฌานสมาธิอันเป็นวิกขัมภนวิมตุติ   แต่ถึงอย่างไรก็ดีเป็นเพียงบางครั้งเท่านั้นเอง ยังไม่ได้เกิดแต่เจตนาด้วยวิชชา

___________

 สติ ควรระลึกรู้เท่าทันระดับใด