สัลลัตถสูตร
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ |
|
พระสูตร แสดงเวทนาว่าทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนานั้นยังคงมีอยู่ เพื่อความเข้าใจว่า เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต แต่เวทนาที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้เรียนรู้ และปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องในเวทนา ไม่ไปหาทางดับเวทนาหรือทุกขเวทนาอย่างผิดๆ เช่นการพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเวทนาก็เป็นอนัตตา จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เขาทำงานตามหน้าที่ตามเหตุปัจจัยของเขา ไปควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้เลย เวทนาทำหน้าที่รับความรู้สึกในสิ่งที่ผัสสะจากทุกอายตนะ จึงจำเป็นยิ่งในการดำรงชีวิต แม้มีอยู่แต่ควรปฏิบัติเยี่ยงไรจึงหยุดการเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการต่อเนื่องวนเวียนเป็นวงจรของความทุกข์ ดังพระสูตรนี้
สัลลัตถสูตร
[๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
(ต้องเกิดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติหรือสภาวธรรมของชีวิตินทรีย์ ในการรับรู้ในผัสสะต่างๆของเหล่าอายตนะทั้ง ๖)
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
(พึงพิจารณาตรงนี้โดยแยบคายว่า สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ยังคงมีอยู่เช่นเดียวกับปุถุชน ที่เมื่อมีการผัสสะย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย (แต่)ใน ชน ๒ จำพวกนั้น (ก็มี)อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก
เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย
เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และ เวทนาทางใจ ฯ
(กาย
โผฏฐัพพะ[เช่น ถูกทำร้าย,เจ็บป่วย]
กายวิญญาณ
ผัสสะ
ทุกขเวทนาทางกาย
ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ใจ
ธรรมารมณ์[เรื่องเป็นทุกข์]
มโนวิญญาณ
ผัสสะ
ทุกขเวทนาทางใจ
ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะความคร่ำครวญ รำพัน
ดังเช่น ทางกาย รู้สึกเจ็บ อึดอัด รุ่มร้อน กายสั่นระรัว กระสับกระส่าย อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ส่วนใจนั้นก็ร้อนรุ่ม เผาลน กระวนกระวายใจ ฟุ้งซ่าน ปรุงแต่ง)
[๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วยลูกศร
(แล้ว)ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ ทางกาย และ ทางใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย
เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และ เวทนาทางใจ
อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา นั้น
(นอกจากเสวยทุกขเวทนาทั้งทางกายและทางใจแล้ว ยังส่งผลเนื่องไปอีก ด้วยความขัดเคืองที่ย่อมเกิดขึ้น)
ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมนอนตามเขา ผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา
(และเมื่อ)เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อม(หันเหไป)เพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร
เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา นอกจาก(วิธีใช้)กามสุข
(กล่าวคือ จึงหันไปหากามสุขแทน หรือหันไปหากามสุขเป็นเครื่องอยู่ เพื่อให้เกิดสุขเวทนา)
และ(ในขณะที่)เมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่(นั้น) ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง
(และด้วยเหตุที่)เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง
เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง
อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุขเวทนา (หมายถึง หันไปหากามสุขอีกเช่นกัน)
เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น (จึง)ย่อมเสวยทุกขเวทนา(ในภายหลังอีก) เป็น ผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น(เป็นที่สุด)
และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา เป็น ผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
(กล่าวคือ ด้วยอวิชชา จึงย่อมปรุงแต่งจนเป็นทุกขเวทนา หรือทุกข์ขึ้นในที่สุดอีก)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์ ฯ
[๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ
อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย
เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ฯ
[๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูพึงยิงบุรุษด้วยลูกศร
ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อม เสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็ฉัน นั้นเหมือนกัน
ผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อม(แม้เป็นทุกขเวทนาแต่ว่า)ไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย
เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ
(หมายความว่า ถึงแม้มีทุกขเวทนาทางใจ กล่าวคือ ย่อมไม่ชอบใจ ย่อมไม่ถูกใจ ย่อมไม่สบายใจ คือเป็นความรู้สึกจากการต้องรับรู้จากการผัสสะเป็นทุกขเวทนาเป็นธรรมดานั่นเอง ซึ่งย่อมเกิดขึ้นควบคู่กับเวทนาทางกายซึ่งยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดานั่นเอง แต่เวทนาทางใจนี้มีความหมายว่า แม้เกิดขึ้นแต่เมื่อหยุดการพิรี้พิไรรำพัน คือการคิดปรุงแต่ง เวทนาทางใจก็ย่อมไม่เกิดขึ้นอีก หรือเวทนานั้นมีอยู่แต่ไม่ปรุงต่อ จึงไม่ประกอบด้วยอุปาทานหรือไม่เป็นเวทนูปาทานขันธ์อันเร่าร้อน จึงกล่าวว่า ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ พึงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะมีผลต่อการปฏิบัติอันถูกต้องต่อเวทนา)
อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนตาม
เธอผู้ไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะอริยสาวกผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออก จากทุกขเวทนา นอกจาก(การหันไปพึ่งพาใน)กามสุข
เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัยเพราะ สุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง
เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และ อุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง
เมื่อเธอรู้ชัดซึ่ง เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง
อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง
(ดังนั้น)ถ้าเธอ เสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส(ในการ)เสวยสุขเวทนานั้น
ถ้าเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส(ในการ)เสวยทุกขเวทนานั้น
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส(ในการ)เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้วนี้
เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์
(ปราศจากชาติ หมายถึง การไม่เกิดขึ้นของทุกข์ ปราศจากชรา หมายถึง จึงหยุดการแปรปรวนจากการคิดนึกปรุงแต่งๆวนเวียนต่างๆอันล้วนเป็นทุกข์ เมื่อไม่มีการเกิดของทุกข์ ทุกข์ย่อมดับคือมรณะ ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นอาสวะคือเป็นสัญญาความจำที่นอนเนื่อง ที่ประกอบด้วยกิเลสหรือเรียกว่าอาสวะกิเลส ก็ย่อมไม่เกิดการเก็บจำไว้ให้ก่อทุกข์ในภายหน้า)
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่องกระทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ
[๓๗๓] อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต
ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา
(ไม่เสวย หมายถึง ยังคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ไม่ติดเพลินไปเสพรสจนยึดติดยึดถือ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย)
นี้แล เป็นความแปลกกันระหว่างธีรชนผู้ฉลาด กับปุถุชน
ธรรม(สิ่ง)ส่วนที่น่าปรารถนา(อิฎฐารมณ์) ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูตเห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้าอยู่
ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา)
อนึ่ง เวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดี และไม่ยินร้าย
อริยสาวกนั้น รู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลี และหาความโศกมิได้
ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ(จบภพ หมายถึง ไม่เกิดภพขึ้นอีก)รู้โดยชอบ ฯ
จบสูตรที่ ๖
เวทนาทางใจ เกิดขึ้นได้ดังนี้ เมื่อมีเหตุคือการผัสสะกับของอายตนะภายนอกต่างๆนั่นเอง
ธรรมารมณ์ ใจ
มโนวิญญาณ (เกิดการผัสสะ)
เวทนาทางใจ
เหตุเกิด จึงเป็นธรรมารมณ์ที่กระทบกับใจ ย่อมเกิดมโนวิญญาณโดยธรรมชาติ การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ เรียกผัสสะ ยังให้เกิดเวทนาขึ้น แม้เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นธรรมดา จะดับเหตุไม่ให้หมุนเวียนเป็น ชาติ ชรา-มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงต้องหยุดธรรมารมณ์ ที่หมายถึงไม่เข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ยินดี ยินร้าย ในกิจนั้นๆอีก หรือการอุเบกขาเสียนั่นเอง
เวทนาทางใจก็เกิดได้จากอายตนะอื่นๆด้วยเช่นกัน ดังต้องศร ทั้ง ๒ ดอกนั่นเอง
กาย สัมผัส
กายวิญญาณ(การผัสสะ)
เวทนาทางกาย
สัญญา
สังขารขันธ์
เช่น ความโกรธ (แล้วความโกรธนี้ไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์ปรุงแต่งใหม่)
คิดด้วยความโกรธ
ใจ
มโนวิญญาณ(การผัสสะ)
เวทนาทางใจ
สัญญา
สังขารขันธ์ เช่น ความทุกข์ ฟุ้งซ่าน คับแค้นใจ ฯ.
จึงเกิดเวทนาทั้งทางกายและทางใจขึ้น ดุจดั่งต้องศรทั้ง ๒ ดอกขึ้น ดั่งพุทธพจน์ที่ตรัสไว้
แม้ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทั้งเวทนา และสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์เนื่องต่อมา ดังพุทธพจน์ด้านล่างนี้
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๗] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้ว
ได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ? พ. ดูกรภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ. (เกิดขึ้น)
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ.
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ.
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ.
นามรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ.
แต่เราย่อมไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดการผัสสะ ไปทุกเสียอย่างได้ เพราะก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต แต่เมื่อเกิดการผัสสะแล้วเกิดเวทนาขันธ์หรือสังขารขันธ์อันให้โทษขึ้นแล้ว ก็มีสติรู้เท่าทัน และปฏิบัติดังที่ท่านกล่าวไว้ คือ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไรรำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่งมงาย กล่าวคือปล่อยวาง ไม่ยึดถือ จึงไม่ปรุงแต่งต่อไป หรือการอุเบกขาเสียนั่นเอง ผัสสะต่างๆอันให้โทษนั้นๆ ก็ขาดความต่อเนื่องจึงย่อมหยุดคือดับไปด้วย เวทนาขันธ์ ตลอดจนสังขารขันธ์อันให้โทษที่จะเกิดขึ้นใหม่ย่อมไม่มี โทษหรือทุกข์นั้นจึงดับไป
|