ภพ และกำลังอิทธิพลของภพ

        ภพ  แปลว่า  โลกอันเป็นที่อยู่ของสัตว์,  ภาวะชีวิตของสัตว์

        ภพ ในปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง ภาวะของชีวิตหรือภาวะของจิต ที่ตกลงปลงใจให้เกิดการกระทำ(กรรม)คือ มโนกรรม ซึ่งย่อมอยู่ภายใต้การครอบงำของอุปาทาน ณ ช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ

        ภพ ในวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็นองค์ธรรมที่แสดงการดำเนินและเป็นไปของกระบวนจิตให้ครบถ้วนบริบูรณ์ถูกต้องเท่านั้น  ไม่สามารถดับทุกข์ลงไปได้โดยตรงๆ  ถ้านำไปเปรียบเที่ยบกับกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ แล้ว ภพ ก็คือ กรรม การตัดสินใจกระทำต่างๆทางกาย วาจา และใจ นั่นเอง  แต่ในปฏิจจสมุปบาทย่อมหมายถึง อกุศลกรรมต่างๆ คือการกระทำต่างๆทางด้านอกุศลทางใจ คือมโนกรรมฝ่ายอกุศลที่เกิดขึ้นนั่นเอง  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดชาติหรือการเกิดขึ้นของทุกข์ คือมโนกรรมหรือธรรมารมณ์ฝ่ายอกุศลนี้จะไปวนเวียนปรุงแต่งให้เป็นทุกข์ไม่หยุดหย่อนอยู่ในองค์ธรรม"ชรา" นั่นเอง

        กล่าวคือ  เมื่อกระบวนจิตดำเนินไปตามวงจรการเกิดขึ้นแห่งทุกข์หรือปฏิจจสมุปบาทจนถึง ตัณหาความอยากแล้ว จึงเป็นเหตุปัจจัยจึงมีอุปาทาน อันเป็นความยึดมั่นถือมั่นเพื่อให้เป็นไปตามตัณหา ก็เพื่อสนองตอบให้บรรลุผลหรือเป้าหมายเป็นไปความต้องการของตัวตนหรือตัณหาความอยากนั้น  คือ เกิดความยึดมั่นถือมั่นที่จะให้เป็นไปหรือเกิดขึ้นเพื่อสนองความพึงพอใจของตัวของตนนั่นเอง  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดภพของจิตขึ้น กล่าวคือ จิตตกลงใจในภาวะชีวิตหรือจิตของตนในเรื่องนั้นๆ  ที่จะให้ดำเนินและเป็นไป  แต่ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจของเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นอันคืออุปาทาน   

        อันกล่าวได้ดังนี้ว่า คือ มีความต้องการหรือความอยาก(ตัณหา)แล้ว  ย่อมเกิดการยึดถือ(อุปาทาน)ให้เป็นไปเพื่อสนองความตามความต้องการนั้นให้เกิดเป็นตัวตนขึ้นจริงๆ หรือสัมฤทธิ์ผล   แล้วจึงเกิดการตัดสินใจ หรือตกลงใจ(ภพ)ที่จะให้เกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้นเป็นที่สุด

        หรือพอจะกล่าวสั้นๆในกระบวนธรรมของ ตัณหา >> อุปาทาน >> ภพ  ได้ดังนี้   เมื่อเกิดความอยาก, จึงยึดสนองตอบความอยากนั้น,  แล้วตกลงใจในที่สุด

        ภพ  ในปฏิจจสมุปบาท ท่านแบ่งออกเป็น ๓   อันมี

        ๑. กามภพ สภาวะหรือบทบาทต่างๆในแบบทางโลกๆทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์พึงมี อันเนื่องมาจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ อันล้วนก่อให้เกิดภพย่อยเจาะจงลงไปได้อีก อันเนื่องมาจากความต้องการใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์นั้น ดังเช่น ปฏิฆะ-ความขุ่นเคือง ขัดข้อง, ราคะ-ความรัก ความใคร่, โลภ, โมหะ-ความหลง,ความไม่เข้าใจ,ความไม่เห็นตามความเป็นจริง, โทสะ-ความโกรธ ความขุ่นเคือง ฯลฯ.   

        กามภพสามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง ดังเช่นแบ่งภพไปตามสถานะภาพ ดังเช่น ภพของความเป็นพ่อ, ภพของความเป็นแม่,  ภพของความเป็นลูก,  ภพความเป็นเจ้าของ,  ภพของความเป็นเจ้านาย, ภพของความเป็นลูกน้อง....ฯลฯ.    หรือแบ่งออกตามกิเลสที่เกิดขึ้น  เช่น  ภพของความโลภ(ราคะ),  ภพของความขุ่นเคือง(ปฏิฆะ),  ภพของความหลง(โมหะ), ภพของความโกรธ(โทสะ)  เหล่านี้ล้วนจัดได้ว่าเป็น ภพย่อย ของ กามภพ ทั้งสิ้น    ดังนั้นเมื่อเกิดภพของจิตเยี่ยงใด ย่อมเป็นไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์คือการเกิด(ชาติ)ตามมาของจิตเยี่ยงนั้น  อันนำไปสู่อุปาทานทุกข์เป็นที่สุด

        ๒. รูปภพ  สภาวะหรือสถานะที่ยังยึดติดยึดถือในรูปอันวิจิตรที่สัมผัสได้ด้วยใจ กล่าวคือ ละเอียดอ่อนซ่อนรูปกว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖ ในกามภพ อันหมายถึง รูปฌานหรือสมาธินั่นเอง แต่หมายถึงรูปฌานหรือสมาธิ อันเกิดขึ้นจากตัณหาหรือนันทิเท่านั้น  อันเนื่องเพราะความสุข,สงบ,สบายอันเป็นผลจากรูปฌานหรือสมาธิ หรือเพราะอวิชชาที่แอบซ่อนนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัว  จึงเกิดการติดเพลิน(นันทิ)ขึ้นในที่สุดนั่นเอง   เป็นข้อที่น่าพึงโยนิโสมนสิการสังเกตุสําหรับนักปฏิบัติที่ยึดติดเน้นแต่การปฏิบัติในรูปแบบสมถสมาธิหรือฌานอันเป็นสุข โดยไม่ดำเนินไปในการวิปัสสนาให้เกิดปัญญาอย่างถูกต้องร่วมด้วย  เพราะเกิดภพเมื่อใดย่อมเป็นไปตามวงจรให้เกิดอุปาทานทุกข์ตามมาเป็นที่สุด

        ๓. อรูปภพ สภาวะหรือสถานะในอรูปอันวิจิตรอันสัมผัสได้ด้วยใจ ใน อรูปฌานอันมักเกิดแต่ตัณหาที่แอบซ่อนนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัว(นันทิ-ติดเพลิน) เช่นเดียวกับรูปภพ  ดังเช่น การไปติดเพลินในอรูปฌานต่างๆหรือความว่างอย่างยึดติดยึดถือ คอยกระทำหรือทรงอยู่แม้ในภาวะจิตตื่น(วิถีจิต) อันย่อมนำไปสู่อุปาทานทุกข์ในที่สุดเช่นกัน

        ขอแจงสักนิดหนึ่ง  ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน ที่กล่าวว่าเมื่อเกิดเป็นรูปภพหรืออรูปภพแล้วย่อมก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์อย่างแน่นอนนั้น   ไม่ได้หมายความว่า รูปฌานหรืออรูปฌานเป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่อย่างใด  แต่หมายความว่า สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างหนึ่งนั้น  เป็นมรรคปฏิบัติอันสำคัญยิ่งก็จริงอยู่  แต่ถ้าไปติดเพลิน(นันทิ) กล่าวคือเกิดตัณหาความอยากให้เกิด อยากให้มี อยากให้คงอยู่ จะเพราะความสุขสงบสบายหรือเพราะอวิชชา จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม  กล่าวคือ เกิดตัณหาหรือนันทิขึ้นแล้วย่อมยึดติดยึดถือ(อุปาทาน)แล้วต้องดำเนินไปตามวงจรของทุกข์ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง  ถ้าไม่ได้เกิดแต่ตัณหาหรือนันทิการติดเพลินแล้วก็ถือว่าเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งในการเจริญวิปัสสนา  จึงหมายความว่ามีหรือปฏิบัติรูปฌานหรืออรูปฌานได้ แต่ต้องขาดเสียซึ่งความติดเพลินหรือตัณหา  จึงเป็นคุณประโยชน์คือเครื่องสนับสนุนในการปฏิบัติธรรม  จึงเป็นเพียงเครื่องอยู่อันสุขสบายยิ่ง คือในระดับขันธ์ ๕

        ภพ  ที่อยู่ของสัตว์หรือของจิต  ภพจิตจึงเป็นดั่งเช่นภพโลกเช่นกัน   อันเมื่อได้ถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกภพแล้ว ถือว่าเป็นภพใหญ่เป็นแก่นเป็นแกนของความเป็นมนุษย์   และยังมีภพย่อยๆเกิดแฝงอยู่เนื่องสัมพันธ์กันอีกด้วย ดังเช่น เกิดมาในภพย่อยลงไป คือ ภพคนไทย  อันหมายถึง  ชีวิตหรือจิตเมื่อเป็นไปตามกรรมเกิดเป็นมนุษย์ ก็จักมีการกระทำพื้นฐาน ตลอดจนความต้องการเช่นมนุษย์โลกทั้งหลาย   และย่อมมีแรงบีบคั้นให้เป็นไปดังเช่นภพที่ตนได้ตกลงอาศัยอยู่   ดังนั้นจึงเป็นไปตามกำลังอิทธิพลของภพตลอดจนภพย่อยนั้นๆ ดังเช่น ประเทศไทยที่อาศัยอยู่ด้วยอย่างควบคู่กัน   ดังนั้นการกระทำ การประพฤติปฏิบัติใดๆ จึงล้วนมีอิทธิพลและแนวโน้มเอียงหรือบีบคั้นให้เป็นไปตามภพมนุษย์นั้นๆที่ได้เกิดมาและยังต้องเป็นไปตามภพย่อยด้วยเช่นกัน  เช่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ การแต่งกาย รสนิยมในอาหาร ความเชื่อ ความยึด ตามที่ยึดถือปฏิบัติกันในภพย่อยๆหรือในสังคมนั้นๆด้วย  ดังนั้นการกระทำใดของผู้อาศัยในภพนั้นๆจึงโน้มเอียงไปตามอิทธิพลที่อยู่ที่อาศัยคืออิทธิพลของภพนั้นๆด้วยเช่นกัน  แต่ก็ล้วนแฝงความเป็นภพมนุษย์ อันเป็นภพใหญ่อยู่เต็มปรี่ เช่น เดิน๒ขา มีตัณหา มีความต้องการพื้นฐานเฉกเช่นมนุษย์ทั้งปวง

        โยนิโสมนสิการ จักเห็นว่าการจะออกจากภพอันมีอิทธิพล แรงบีบคั้นต่างๆของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำได้ง่ายๆ เพราะกฎเกณ ระเบียบแบบแผนของภพหรือสังคมนั้น  จิตก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน  ดังนั้นเมื่อเกิดภพจิตขึ้นแล้วจึงคงทนอยู่ได้นานๆ ไม่สามารถดับไปได้ง่ายๆ  และมีความเนื่องสัมพันธ์ไปในสิ่งอื่นๆที่เข้ามาในวิถีเหมือนเช่นภพทางโลกเช่นกัน  ดังเช่น เมื่อจิตอยู่ในกามภพ และมีภพย่อยคือโทสะ  ความคิดอื่นที่ปะปนเกิดขึ้นมาในภพนั้นเข้า ย่อมได้รับอิทธิพลของโทสะนั้นไปด้วยเป็นธรรมดา

        สภาพของจิตที่เกิดภพก็เป็นไปในลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน  เมื่อจิตเกิดภพใดๆขึ้นมาเป็นภพใหญ่แล้ว  การเกิด(ชาติ)หรือการกระทำใดๆจึงตกอยู่ใต้อำนาจหรือโน้มเอียงไปภายใต้ภาวะของภพจิตนั้นๆ  ดังเช่นเกิดกามภพ ก็มีภพย่อยๆ ดั่งทางโลกข้างต้น เช่น ปฏิฆะคือขุ่นข้อง ขุ่นเคืองใจในสิ่งใด ก็จะพลอยให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจไปในสิ่งอื่นหรือครอบงำสิ่งใกล้เคียงที่เกิดในขณะนั้น เช่นการคิด,การกระทำต่างๆที่บังเกิดขึ้นในขณะนั้นไปด้วยเป็นธรรมดา  เพราะภพหรือภาวะของจิตขณะนั้น มันเป็นเช่นนั้นเอง...จนกว่าภพนั้นจะดับไป อันอาจกินเวลา ชั่วยาม หรือชั่วโมง หรือวัน หรือเดือน หรือเกิดๆดับๆทั้งภพชาตินี้!    ภพ จึงแบ่งย่อยออกไปได้หลายรูปและหลายประการ ขึ้นกับมุมมองในการพิจาณานั่นเอง  เช่น ภพโลภะ  โทสะ  ราคะ   หรือแม้กระทั่ง ภพของความเป็นพ่อ เป็นแม่ เจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ.  แต่ก็ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจของกามภพหรือภพทางโลกๆโดยไม่รู้ตัว ไม่อาจฝืนได้

        ลองน้อมพิจาณาดูดังนี้  สมมติเราได้ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถูกจริตถูกใจอย่างมาก เช่น บ้านใหม่ รถใหม่ คนรักใหม่ ฯลฯ. ลองย้อนระลึกภพชาติในอดีตดู จะเห็นสภาวะของกามภพ หรือภพสุขที่เกิดขึ้นนั้นๆ  มีความคงทนอยู่ได้นานๆ เป็นชั่วโมง เป็นวันๆ เป็นอาทิตย์ เป็นเดือนๆ ทีเดียว  ภพจึงมีอิทธิพลอยู่ได้ยาวนานดังนี้  ภพอันเกิดแต่รูปฌาน อรูปฌาน หรืออรูปภพและอรูปภพก็เป็นไป เฉกเช่นเดียวกัน ย่อมยังผลให้ความสุข สงบ อุเบกขา ฯ ต่อเนื่องมา แม้เมื่อถอนออกจากการปฏิบัตินั้นๆแล้วก็ตามที จนกว่าจะหวั่นไหวหรือเลื่อนไหลหลุดออกไปด้วยไตรลักษณ์

        ขอเน้นเรื่องรูปภพและอรูปภพสักหน่อย  เพราะนักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทอันเป็นหนึ่งในอวิชชา๘  จึงไม่รู้ไม่เข้าใจว่ารูปภพและอรูปภพก็มีโทษเช่นเดียวกันกับกามภพ สามารถก่อให้เกิดทุกข์ที่หมายถึงอุปาทานทุกข์ได้และป็นไปได้อย่างรุนแรงกว่ากามภพเสียอีก กล่าวคือ สุขก็สุขยิ่ง ทุกข์ก็ทุกข์ยิ่ง เมื่อเกิดการติดเพลินเพราะอวิชชาขึ้นแล้ว และอยู่ได้อย่างยาวนาน ในวิถีจิตตื่น แต่อย่าง เกิดดับๆๆ.. ไม่เที่ยงไม่เสถียร   และก็ยังคงมีภพย่อยๆเกิดขึ้นดังเช่นกามภพเหมือนกันนั่นเอง เช่น ภพของโมหะ โทสะ โลภะ,  ภพของความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ฯลฯ.  แต่เหล่านี้จักล้วนแฝงด้วยกำลังอำนาจของรูปภพหรือฌานสมาธิอันมีกำลังมากอยู่ในทีโดยไม่รู้ตัว   รูปภพนี้ปุถุชนนักปฏิบัติเข้าใจกันว่าดีแต่ฝ่ายเดียว  ถ้ามีความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทแจ่มแจ้งแล้ว จักระลึกถึงพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า เกิดภพ เกิดชาติ เมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น  ไม่ว่าจักเป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพ อะไรทั้งสิ้น  เพราะทั้งรูปภพและอรูปภพก็ล้วนยังไม่เที่ยงยังมีการเกิด การแปรปรวน การดับไป และอย่างรุนแรงเสียยิ่งกว่ากามภพเสียอีก  ขณะอยู่ในกามภพ ก็มีทั้งสุขราวกับเทวดาบนสวรรค์และทุกข์ราวกับนรกคละเคล้ากันไป,   ส่วนเมื่ออยู่ในรูปภพก็ราวกับเทวดา มีแต่ความสุข ความสงบ ความสบาย  ขณะอยู่ในอรูปภพก็ราวกับสงบสบายราวกับพรหม เพียงแต่ภพเหล่านี้ล้วนยังมีการแปรปรวน จึงเป็นทุกข์อย่างสุดแสนทั้งทางกายและทางจิตราวกับลงนรกได้เช่นกัน   ดังนั้นต้องปฏิบัติเยี่ยงไรให้สมาธิหรือฌานนั้นมีอยู่แต่ไม่เกิดภพ  คือ เป็นแค่เครื่องอยู่ของขันธ์๕นั่นเอง กล่าวคือ ไม่ติดเพลิน(นันทิ)จนเกิดภพเกิดชาตินั่นเอง   แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่อวิชชา นักปฏิบัติจึงไม่เชื่อ ทั้งเพราะความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท  ทั้งรูปภพและอรูปภพเป็นของละเอียดและ เกิดดับๆ ติดต่อกันได้ยาวนานเป็นปีๆจวบจนวันตาย  จึงละเอียดอ่อนเสียจนผู้ที่ติดเพลินอยู่ในรูปภพหรืออรูปภพที่มีความรู้ดังนี้แล้วก็ยังพิจารณาไม่เห็นว่าเป็นไป รวมทั้งไม่เห็นโทษ เพราะความสุขสงบสบายได้ปิดกั้นไว้เสียแล้ว!  นี่คือสภาวะจริงๆที่เกิดขึ้นและเป็นไปในรูปภพและอรูปภพของสัตว์โลก  จึงผูกมัดสัตว์ไว้กับภพชาติอยู่ตลอดไปเช่นกัน เหมือนดังกามภพ   อันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเพียรพยายามอย่างยิ่งในการแจงให้โลกรู้ ตามธรรมอันถูกต้องดีงาม  ไม่ออกนอกลู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์

anired06_next.gifอุปาทาน

 

ชาติ

 

  

  

กลับสารบัญ