ปฏิจจสมุปบาท

ย้อนกลับ

๙. อุปาทาน เป็นเหตุปัจจัย จึงมี ภพ

คลิกขวาเมนู

           อุปาทาน ความยึดมั่น, ความถือมั่น  อันเป็นไปตามกำลังอำนาจกิเลสคือตัณหา เพื่อความพึงพอใจของตัวของตน  หรือ

           อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในตัณหา เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของตัวของตนเป็นหลักสําคัญในสิ่งใดๆทุกๆสิ่ง  อันท่านตรัสว่า อุปาทาน มี ๔

                ๑. กามุปาทาน  คือ ความยึดมั่นถือมั่นหรือความพึงพอใจในกาม ไปยึดถือเอาว่า เป็นของเรา หรือจะต้องเป็นของเรา จนเป็นเหตุให้เกิดความริษยา หรือความหวงแหน ความลุ่มหลง ความเข้าใจผิด  ทำผิด  ในสิ่งที่อยากได้ หรือไม่อยากได้  ในกามหรือทางโลกๆ เช่นใน รูป, รส, กลิ่น, เสียง, โผฏฐัพพะ(สัมผัส)

                ๒. ทิฏฐุปาทาน  คือการยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสหรือความพึงพอใจของตัวของตน ในความเชื่อ, ความเข้าใจ(ทิฏฐิ), ทฤษฎี, ความคิด, ลัทธิของตัวของตน. อันมักมีความอยากให้เป็นไป หรือไม่อยากให้เป็นไปตามที่ตนเชื่อ, ตามที่ตนยึดถือ, หรือตามที่ตนยึดมั่น, ตามที่ตนเข้าใจ   ถ้าผิดไปจากที่ตนพึงพอใจยึดถือหรือเข้าใจ ก็จะไม่เห็นด้วยหรือต่อต้าน โดยไม่รู้ถูกรู้ผิดตามความเป็นจริงของธรรม

                ๓. สีลัพพตุปาทาน  คือการยึดมั่น ถือมั่น ยินดียินร้ายในศีล(ข้อบังคับ)และพรต(ข้อปฏิบัติ) อันมักเติมแต่งด้วยกิเลสหรือตัณหาอย่างเข้าใจผิดๆ หรืออย่างงมงาย หรือตามความเชื่อที่สืบต่อตามๆกันมาแต่ไม่ถูกต้อง เช่น การทรมานกายเพื่อให้บรรลุธรรม,  ถือคีลหรือทําแต่บุญอย่างเดียวแล้วจะพ้นทุกข์หรือบรรลุธรรมจึงขาดการวิปัสสนา,  เชื่อว่าขลังว่าศักสิทธิ์,  เชื่อว่าปฏิบัติสมาธิอย่างเดียวจนแก่กล้าแล้วปัญญาบรรลุมรรคผลจักเกิดขึ้นเองจึงไม่จําเป็นต้องปฏิบัติวิปัสสนา(พิจารณาธรรม)จนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง(สัมมาญาณ),  ทําบุญเพื่อไปสวรรค์แต่ฝ่ายเดียว,  กราบพระหรือสิ่งศักสิทธิ์หรือทําบุญเพื่อบนบานหวังความสุข ขอทรัพย์ ขออย่าให้มีทุกข์ โศก โรคภัย เสนียดจัญไรต่างๆมาแผ้วพาน, การบนบาน ฯลฯ.  อันล้วนเกิดขึ้นแต่อวิชชา คือยังไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง  จึงไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆก็เพื่อเป็นที่ยึด ที่วางจิต คือให้เป็นกำลังจิตเป็นกำลังใจโดยไม่รู้ตามความเป็นจริงด้วยอวิชชา

                ๔. อัตตวาทุปาทาน  คือความยึดมั่นในวาทุ หรือวาทะ(ถ้อยคํา,คําพูด)ของตนเอง กล่าวคือเกิดมายาล่อลวงให้ยึดมั่นถือมั่นเป็นที่สุดว่าเป็นตัวตน เป็นของตนของตัวโดยไม่รู้ตัว เหตุเนื่องมาจากคําพูดหรือถ้อยคำที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อแสดงความเป็นตัวตน,ของตน,หรือของบุคคลอื่น   อันเป็นเพียงแค่สื่อถ้อยคําอันจำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการสื่อสารซึ่งกันและกันในสังคม  แต่ก็ก่อกลายให้เกิดมายา เป็นความหลงผิดขั้นพื้นฐาน ที่เกิดในชีวิตประจําวันอย่างสมํ่าเสมอจนเป็นสังขารความเคยชินหรือการสั่งสมอันยิ่งใหญ่โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว,   เนื่องเพราะความจําเป็นที่ต้องใช้ถ้อยคำหรือคำพูดก็เพื่อการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นๆนี้เอง  และยังต้องมีการช่วยเสริมด้วยถ้อยคําภาษาสมมุติต่างๆเพื่อใช้สื่อสารต่อกันและกันเพื่อความเข้าใจอย่างละเอียดละออถูกต้องในชีวิตประจําวัน  จึงก่อให้เกิดการสั่งสม  การหลง ความเคยชิน อันก่อเป็นความจำอย่างอาสวะกิเลสแล้ว ยังเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง,   ทําให้เกิดการมองเห็นสิ่งต่างๆเกิดการแยกออกจากกันและกัน คือก่อตัวก่อตนขึ้นตามคําพูดนั้นๆโดยไม่รู้ตัว  ทําให้เกิดความจำว่าเป็นของตัวของตน, ของบุคคลอื่นเด่นชัดขึ้นในจิตโดยไม่รู้ตัว เป็นประจําทุกขณะจิตที่สื่อสารพูดคุยกัน  จึงก่อให้เกิดความหลงผิดหลงยึดถือด้วยความเคยชินตามที่สั่งสมอันเป็นไปโดยไม่รู้ตัวและควบคุมไม่ได้ ดังเช่น ของๆผม, ของๆคุณ, บ้านผม, รถฉัน, ลูกฉัน, เงินฉัน, สมบัติฉัน, นั่นของคุณ, นี่ของผม, นี่ไม่ใช่ของผม ฯลฯ. จนเกิดการไปยึดถือ, ยึดติด, ยินดียินร้ายหรือพึงพอใจตามภาษาที่ใช้สื่อสารกันนั้นโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ในทุกขณะจิตในชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีสังคมและการแข่งขันสูง และการสื่อสารที่ทันสมัย  ,  อัตตวาทุปาทาน ทำให้เกิดการหลงไปยึดถือ ว่าเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของตัวของตนเอง โดยไม่รู้ตัว ในสิ่งต่างๆแม้ในสิ่งที่เป็นอรูปทั้งหลาย เช่น ชื่อเสียง เกียรติยศ ความร่ำรวย ฯ.

        อุปาทานต่างๆเหล่านี้นี่เองที่เป็นปัจจัยให้เกิดภพ อันคือ ที่อยู่ที่อาศัยของจิต หรือคูหาแห่งจิต หรือสถานะหรือสภาวะบทบาทของชีวิต ณ ขณะนั้นที่ "จิตได้ตกลงใจเลือกที่จะอยู่, เลือกที่จะเป็นไป" อันล้วนเป็นไปตามกําลังอํานาจของอุปาทานที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆ ในรูปแบบต่างๆ,   หรือกล่าวได้ว่าคือ

สถานะหรือสภาวะของจิต

ที่ตกลงใจจะคิดหรือจะกระทํา อันประกอบหรือเป็นไปภายใต้อิทธิพลของอุปาทานที่เกิดขึ้นมานั้น

หรือก็คือ สัญเจตนา นั่นเอง

แต่ย่อมเป็นอกุศลสัญเจตนา หรือเจตนาที่ประกอบด้วยกิเลสคืออุปาทาน

ดังเช่น กามภพ อันเป็นภพที่เวียนว่ายตายเกิดใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส(โผฏฐัพพะ)   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า

         ภพ คือ สภาวะของจิตในขณะนั้น ทีปรุงแต่งจิตให้เกิดการกระทำหรือกรรม  ที่ย่อมต้องถูกครอบงำให้มีความคิดอ่านหรือเจตนา(สัญเจตนา)ให้เป็นไปตามกระแสของอุปาทานความยึดมั่นด้วยกิเลสเพื่อความพึงพอใจของตัวตนเป็นสำคัญที่เกิดขึ้น

         ดังนั้นภพก็คือ สภาพการตกลงปลงใจของจิต ที่ไปปรุงแต่งจิต ให้เกิดการกระทำต่างๆ(กรรม)ขึ้น นั่นเอง  ซึ่งเมื่อเกิดในวงจรปฏิจจสมุปบาทย่อมแฝงด้วยอำนาจอุปาทาน

ภพ อันเป็นที่อาศัยอยู่ของความเป็นตัวตน ของตน, หรือตัวกูของกูที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

กล่าวคือ เมื่อเกิดภพชนิดใดขึ้น  จิตหรือการกระทําใดๆทั้งทางกาย,วาจาและใจที่เกิดขึ้นในขณะภพนั้นๆ ก็จะเป็นไปตามกําลังอํานาจของภพนั้นๆ เช่น เกิดกามภพ ชนิดปฏิฆะ (ขุ่นเคือง ขัดข้อง) จิตหรือการกระทําต่างๆที่จะเกิดขึ้น ณ ขณะภพนั้นๆก็จะเป็นไปตามกําลังอิทธิพลของภพ คือประกอบด้วยความขุ่นเคืองขัดข้องนั้นด้วย จนกว่าภพนั้นจะดับไป,  หรือก็คือ

บทบาทหรือสภาวะของจิตหรือชีวิต ที่ตกลงใจเลือก ณ ขณะนั้น  จึงเกิดกรรมขึ้น

และเป็นไปตามกําลังอํานาจของอุปาทานที่ครอบงําอยู่ขณะนั้นๆ

คือจะกระทําทางกาย ทางใจ ทางวาจา ภายใต้การครอบงําหรืออิทธิพลของอุปาทานที่ครอบงําอยู่  คือการกระทําทั้งทางกาย วาจา และใจที่จะเกิดขึ้นต่อๆมาในภพนั้นก็จะเป็นไปตามอิทธิพลของภพ  หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง

ภพ ก็คือกรรม หรือกระบวนพฤติกรรมทั้งปวงของกาย,วาจาและใจ หรือแนวโน้มเอียงของพฤติกรรมทั้งหลายที่จะเกิดกรรมขึ้น

ในขณะภพนั้นๆ อันจักเป็นไปตามกำลังอำนาจของอุปาทานที่ครอบงําไว้

        เรามองภพได้ในอีกแบบหนึ่งอย่างง่ายๆเป็นแค่ ๒ ก็ได้ ในการพิจารณา คือ มองในแง่กามภพ อันมีภพอันเป็นสุข และภพอันเป็นทุกข์ คือ สภาวะที่อุปาทานได้รับการสนองก็จะเกิดภพชนิดเป็นสุข   ถ้าอุปาทานนั้นไม่ได้รับการสนองก็จะเกิดภพอันเป็นทุกข์ขึ้น

        ถ้าอุปาทานได้รับการตอบสนอง ภพที่เกิดก็เป็นลักษณะพึงพอใจหรือเป็นสุข(ในทางโลกๆ อันไม่เที่ยงและเป็นปริเทวะอันจักครํ่าครวญ โหยไห้ อาลัยหา ถวิลถึง คิดถึง อันก่อทุกข์ในภายหลังอันเป็นอาสวะกิเลสนั่นเอง) ความคิด การกระทํา การพูดจาต่างๆที่เกิดอยู่ในภพขณะนั้นก็จักได้รับอิทธิพลเป็นสุขไปด้วย

        และถ้าอุปาทานนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง ภพที่เกิดก็เป็นลักษณะไม่พึงพอใจหรือเป็นทุกข์นั่นเอง ขุ่นเคือง ขัดข้องใจ(ปฏิฆะ) ดัง  ลองพิจารณากับภาวะทางโลก เช่นขณะภพจิตที่ขุ่นเคืองขัดข้องนั้น ความคิดและการกระทําต่างๆในขณะนั้นก็จะโน้มเอียงไปในทางขุ่นเคือง โมหะ ไม่เป็นสุข,  พร้อมทั้งเมื่อดับไปแล้วก็ยังเก็บจำนอนเนื่องเป็นอาสวะกิเลสอีกด้วยเช่นกันเหมือนดังความสุข

        ลองโยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยน้อมคิดถึงคนที่เราเกลียดไม่ชอบ  แค่ขณะจิต  จิตก็จะดำเนินเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทจนมาถึงภพ   อันจักเป็นภพของความปฏิฆะ อันคือประกอบด้วยความขุ่นเคืองขัดข้อง  ลองโยนิโสมนสิการหรือย้อนระลึกดูว่า ความคิดความเห็นใดๆที่เกิดขึ้น ณ ขณะภพนั้น เกี่ยวกับบุคคลผู้นั้น ล้วนเป็นไปตามบทบาทหรือสภาวะของภพ อันคือความขุ่นข้องที่ได้เกิดขึ้นแล้ว  กล่าวคือ จะพูดอะไร จะคิดอะไร หรือกระทําการใดๆเกี่ยวกับบุคคลผู้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางไม่ดีไม่งามล้วนสิ้นเพราะปฏิฆะ  ทั้งๆที่บุคคลคนนั้นตามความเป็นจริงแล้วก็มีส่วนดีของเขาบ้างเช่นปุถุชนทั่วไป  แต่ขณะภพนั้นของเรา จะเห็นแต่ความไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูกของเขาแต่ฝ่ายเดียว อันเป็นไปตามกำลังของภพหรือสภาวะของจิต ณ ขณะนั้นที่ได้เกิดขึ้นมานั่นเอง

ท่านจึงตรัสว่าเพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย  จึงมีภพ,  นี่แหละคือ"ภพ"ที่พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระพุทธอุทานขึ้นภายหลังการตรัสรู้

"ภพเป็นที่เกิดใหม่ไม่มีอีกต่อไป"

        ภพ โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์, ภาวะชีวิตของสัตว์ มี ๓ คือ
        ๑.
กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ ทั้ง ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ,  การเกี่ยวข้องอยู่ในกาม, ที่อาศัยของผู้เสพกาม
        ๒.
รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน หรือรูปอันวิจิตร
        ๓.
อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน  หรืออรูปอันวิจิตร เช่น ธรรมารมณ์

    ๑. กามภพ ภพที่อยู่ของผู้เสพกาม เช่นโลก,  ภพหรือที่เกิดของผู้ยังเสวยคือเกี่ยวข้องอยู่ในกาม คือใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ทั้ง ๕  ดังเช่น เมื่อเกิดตัณหาเช่นความปรารถนาในรูปนั้นๆ  หรืออกุศลสังขารขันธ์ต่างๆเช่นโทสะ ฯ.  จึงเกิดอุปาทานขึ้น คือทำให้เกิดเจตนาที่ไปปรุงแต่งจิตให้เห็นเป็นไปตามกิเลส หรือความพึงพอใจของตนเป็นสำคัญ ดังเเช่นเกิดตัณหาในรูปนั้นๆ ก็ย่อมเกิดอุปาทานไปปรุงแต่งจิตให้เห็นเเป็นไปตามกิเลสตนเป็นสำคัญ  จึงเกิดกามภพขึ้น  หรือเช่นเมื่อเกิดโทสะ ก็ย่อมยังให้เกิดอุปาทานเกิดเจตนาให้เห็นเป็นไปตามความเชื่อความพอใจของตนแต่ไม่ได้ตามปรารถนาจึงเกิดความโกรธหรือโทสะขึ้น

    ๒. รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน  หรือภพผู้ที่ติดใจในรูปฌาน หรือในรูปอันวิจิตร ในผู้ที่เป็นสมาธิแล้วย่อมรับรู้ในรสชาติอร่อย หรือความสุข สงบ สบายต่างๆที่เกิดขึ้นจากผลของสมาธิเช่นรูปฌาน  แล้วเกิดการติดเพลินหรือตัณหาขึ้น จึงย่อมเกิดอุปาทาน คือเจตนาที่ไปปรุงแต่งจิตให้เห็นเป็นไปตามกิเลส หรือความพึงพอใจของตนในรูปฌาน(สมาธิ)นั้นๆ  จึงติดเพลิน อยู่ในรูปภพ   หรือการเกิดขึ้นจากรูปอันวิจิตร คือเกิดจากกามทั้ง ๕ ในกามภพนั่นแหละ แต่มีความวิจิตรพิสดารกว่ากามทั้ง ๕ มากเป็นพิเศษ คือมีความยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา เช่น ในบุตร ภรรยา รถ บ้าน เงินทอง ฯลฯ. คือในสิ่งหรือกามทั้ง ๕ อันวิจิตรกว่า ด้วยคิดว่าเป็นเราเป็นของเรา  จึงมีความละเอียดลึกซึ้งกว่า กามภพเสียอีก

    ๓. อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน  หรือภพผู้ที่ติดใจในอรูปฌาน คือในผลจากรสอร่อยจากรูปฌาน, ภพของผู้ที่ติดในอรูปธรรม เช่นธรรมารมณ์ทั้งหลาย  ไม่อยากเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง(อรูป) เช่นไม่อยากเป็นนั่น ไม่อยากเป็นนี่  อยากดับสูญ  ไม่อยากเป็นคนยากจน ฯ.,  หรืออยากในอรูปต่างๆอันวิจิตรเช่น อยากมีชื่อเสียง อยากมีเกียรติ์ อยากร่ำรวย ฯ.

        กามภพ สภาวะหรือบทบาทต่างๆในแบบทางโลกๆทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์ผู้พึงบริโภคกามยังเนื่องอยู่  คือเนื่องใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ   อันย่อมล้วนก่อให้เกิดปฏิฆะ-ความขุ่นเคือง ขัดข้อง, ราคะ-ความรัก ความใคร่, โลภ, โมหะ-ความหลง,ความไม่เข้าใจ,ความไม่เห็นตามความเป็นจริง, โทสะ-ความโกรธ ความขุ่นเคือง ฯลฯ.

        อันสามารถพิจารณาภพ ในแง่มุมมองของสถานะภาพก็ได้ ดังเช่น ภพของความเป็นพ่อเป็นแม่,   ภพของความเป็นลูก,  ภพความเป็นเจ้าของ,  ภพของความเป็นเจ้านาย,  ภพของความเป็นลูกน้อง ฯลฯ.   หรือแบ่งภพออกตามความความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น ภพของความโลภ(ราคะ),  ภพของความขุ่นเคือง(ปฏิฆะ),  ภพของความหลง(โมหะ), ภพของความโกรธ(โทสะ).....เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภพย่อยของกามภพทั้งสิ้น ฯลฯ.   ดังนั้นเมื่อเกิดภพที่ใด ย่อมเกิดทุกข์ที่นั่นเป็นที่สุด

        รูปภพ สภาวะหรือสถานะที่ยังยึดติดยึดถือในรูปอันวิจิตรสวยงามถูกใจหรือต้องใจ คือใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันวิจิตรเลอเลิศต้องใจกว่าธรรมดา,  และรูปฌานหรือสมาธิ(อันมักเกิดจากตัณหาที่แอบซ่อนนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัวอันคือการติดเพลิน(นันทิ)อันคือตัณหานั่นเอง เป็นข้อสังเกตุสําหรับนักปฏิบัติที่ยึดติดเน้นแต่การปฏิบัติในรูปแบบสมถสมาธิหรือฌานอันเป็นสุข โดยไม่ดำเนินในวิปัสสนาอย่างถูกต้อง)  หรือภพผู้ที่ติดใจในรูปธรรม หรือผู้ที่ยึดในรูป เป็นตัวตนอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นอยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ เป็นเศรษฐี เป็นคนดัง

        อรูปภพ สภาวะหรือสถานะในอรูปอันวิจิตรอันสัมผัสได้ด้วยใจเช่นใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, และอรูปฌานอันมักเกิดแต่ตัณหาที่แอบซ่อนนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัว(นันทิ-ติดเพลิน) เช่นเดียวกับรูปภพ  หรือภพผู้ที่ติดใจในอรูปธรรม  ภพของผู้ที่ไม่อยากเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง(อรูป) เช่นไม่อยากเป็นนั่น ไม่อยากเป็นนี่  อยากดับสูญ  ไม่อยากเป็นคนยากจน

        ในรูปภพและอรูปภพนั้น ถ้าเป็นการปฏิบัติสมาธิหรือณานเพื่อให้จิตสงบและเกิดกําลังแห่งจิตเพื่อไปปฏิบัติวิปัสสนาคือพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาญาณ ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์เพราะไม่ได้เกิดแต่นันทิความติดเพลินหรือตัณหา  และเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งยวด,  ข้อควรระวังการหลอกตนเอง เพราะทั้งรูปภพและอรูปภพถือได้ว่าเป็นบ่วงมารอันยิ่งใหญ่ในการปฏิบัติ เพราะเกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจหรืออวิชชา อันยังต้องมีอยู่เป็นธรรมดา, และเกิดนันทิ(การติดเพลิน)หรือตัณหานั่นเองโดยไม่รู้ตัวในความสุข ความสบาย หรือความสงบอันเกิดฤทธิ์โดยตรงต่อจิตแลกาย, ตลอดจนความไปยึด ความไปเชื่อหรือศรัทธาอย่างอธิโมกข์ ในสิ่งที่เห็นหรือสัมผัสจากการปฏิบัติ เช่น ความสุข หรือ โอภาส นิมิต(ทั้งรูปนิมิตและนามนิมิต)  จึงทําให้เกิดความหลง(โมหะ)หรือติดเพลินได้ง่ายเป็นที่สุด  ตลอดจนยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอันก่อให้เกิดผลร้ายต่อนักปฏิบัติ  และทําให้ไม่สามารถก้าวหน้าในการปฏิบัติต่อไปได้อีก

        โยนิโสมนสิการสังเกตุความแยบยลของอุปาทานที่ทําให้เกิดภพ(ที่อยู่หรือคูหาจิตหรือสภาวะจิต ณ ขณะนั้นๆ)ต่างๆ เช่น ภพของความเป็นพ่อแม่ลูก  ดังเช่น โดยปกติเราจะไม่รู้สึกถึงภพหรือสภาวะบทบาทความเป็นพ่อเป็นแม่โดยตลอดเวลา จะเรียกว่าภพนั้นยังไม่เกิดก็ได้  แต่ถ้าพ่อแม่หรือลูกป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้น ภพอันเกิดมาแต่อุปาทานที่เป็นเหตุปัจจัยกระตุ้นขึ้นนั้น จะเสนอตัวเองที่แอบแฝงหรือเกิดขึ้นมาให้เห็นทันที  แสดงความกังวล ห่วงใย ต่างๆนาๆ  ต้องการชี้ให้เห็นสภาพที่ถูกครอบงําแล้วโดยไม่รู้ตัวด้วยอํานาจของอุปาทาน อันเป็นสภาพคล้ายดั่ง ฟืนที่เคยไฟ อันมีสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อยก็สามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทได้อย่างรวดเร็ว,  ต้องการแสดงให้เห็นว่านอกจากอํานาจอันยิ่งใหญ่แล้ว ก็ยังล่องหนแอบแฝงอยู่ในจิต หรือเกิดขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

 

anired06_next.gif ย้อนกลับวงจรปฏิจจสมุปบาท

๑๐. เพราะภพเป็นปัจจัย  จึงมีชาติ

กลับสารบัญหน้า ปฏิจจสมุปบาท