๑๐. ภพเป็นเหตุปัจจัย จึงมีชาติ |
|
ชาติอันคือความ "เกิด" หรือการเกิดขึ้นนั่นเอง ในปฏิจจสมุปบาทนั้น ไม่ใช่หมายถึง การเกิดแต่ท้องแม่ แต่หมายถึง ความเกิดขึ้นของกองทุกข์ หรือการเริ่มเกิดขึ้นของความทุกข์หรืออุปาทานขันธ์ คือเกิดและเป็นไปตามภพของจิตที่เกิดขึ้นนั่นเอง ดังเช่น ถ้าเป็นกามภพที่เป็นสุข ความคิดหรือการกระทําที่เกิดในภพนั้น ก็จะได้รับอิทธิพลเป็นสุขไปด้วยตามกําลังของภพนั้นหรือที่อยู่ของจิตนั้น (แต่สุขนั้นจะเก็บจําเป็นอาสวะกิเลสในรูปปริเทวะ อันก่อให้เกิดความโหยไห้อาลัยหา หรือทําให้กิเลสตัณหาสั่งสมกล้าแข็งขึ้น อันก่อทุกข์ในภายหลังได้เช่นกัน), และถ้ากามภพนั้นเป็นที่อยู่ของจิตชนิดเป็นทุกข์ จิตหรือความคิดคํานึงตลอดจนการกระทําต่างๆที่เกิดในภพนั้นๆย่อมเป็นไปตามกําลังของภพที่อาศัยอยู่ด้วย คือล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ไปด้วย, กล่าวได้ว่าจะเกิดการกระทําใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําทางกาย ทางวาจา หรือทางใจใดๆตามกําลังอิทธิพลของภพ กล่าวคือก่อให้เกิดขันธ์ ๕ ต่างๆนาๆ (กระบวนธรรมของชีวิต)ขึ้นในองค์ธรรมต่อไปแต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่กลับกลายเป็นขันธ์ ๕ ที่เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทาน คือมีความพึงพอใจหรือยินดียินร้ายเพื่อตัวตนของตนเป็นหลักแอบแฝงอยู่ในขันธ์ต่างๆเหล่านั้นด้วย คือแฝงความพึงพอใจใดๆของตัวของตนเป็นหลักเป็นสำคัญ แฝงอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่างๆ อันคือขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้น
ภพ ที่อยู่ที่อาศัย จึงหมายถึงที่อยู่ที่อาศัยของจิตหรือใจ หรือสภาวะของจิตที่เกิดขึ้นมา ณ ขณะนั้นๆ ดังเช่น ถ้าเกิดกามภพ ชนิดโทสะกล่าวคือเลือกสวมบทบาทเป็นปฏิปักษ์หรือเกลียดชังต่อสิ่งใดแล้ว ชาติหรือความเกิดของทุกข์นั้นจักกระทําหรือแสดงอาการไปตามนั้น คือแสดงหรือกระทําออกมาทางกาย,ทางวาจา,ทางใจ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งนั้น เช่น เราเกลียดใคร นั่นคือภพหรือบทบาทหรือสถานะแบบปฏิฆะหรือความเกลียด,ขุ่นเคือง ที่มีต่อบุคคลนั้น, เมื่อเจอหรือพบปะกัน จะมีอาการไม่พอใจ ความเกลียด ความกลัว อันอาจแสดงออกมาได้ทั้งทางกาย(แสดงอาการฮึดฮัด,ทําร้าย,สั่น), วาจา(ด่าทอ, ว่าเสียดสี), และใจ(คิดต่อว่า, คิดไม่พอใจ,ด่าว่าในใจ, กลัว), เราจักเห็นหรือระลึกถึงประสบการณ์(ย้อนระลึกขันธ์หรือย้อนระลึกชาติ)ได้ว่าภพที่เลือกเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งใดๆนี้จักอยู่ในสภาวะหรือบทบาทต่อไปได้นานจนกว่าภพนั้นจะดับไป, และยังเก็บจําสะสมไว้ในรูปอาสวะกิเลสอีกด้วย อันจักยังให้เกิดสังขารคิดตามที่ได้สั่งสมไว้เกิดขึ้นมาอีก และเมื่อถูกกระตุ้นด้วยตัณหาอีกเมื่อใดก็จักเกิดเป็นทุกข์จากอุปาทานขันธ์๕ในเรื่องเดิมๆอีกได้ง่าย ดุจดั่งฟืนที่เคยไฟ, หรือถ่านไฟเก่า
ถ้าเกิดกามภพ แบบราคะ คือรักหรือชอบใครหรือสิ่งใดๆในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะแล้ว ก็จักกระทําอาการในรูปแบบต่างๆเช่นกันทั้งทางกาย,ทางวาจา,ทางใจ ซึ่งล้วนแล้วจะเป็นการแสดงออกถึงความรัก,ความหวง,ความห่วงใย ความเสน่หาต่างๆ ตามภพหรือบทบาทที่เลือกไว้แล้วโดยไม่รู้ตัว อันล้วนถูกครอบงําด้วยอุปาทานของตัวตนเอง
จักเห็นได้ว่าเมื่อเกิดอุปาทานมามีอิทธิพลครอบงําแล้ว จึงเกิดภพอันคือที่อยู่ของสภาวะจิต หรือสภาวะหรือบทบาทที่ตกลงใจจะกระทําการใดๆตามอิทธิพลของอุปาทานที่ครอบงํา เช่น ในบางครั้ง เกิดความคิดที่เป็นทุกข์แว๊บขึ้นมา(สังขารที่สั่งสมไว้อันเกิดแต่อาสวะกิเลสอันห้ามไม่ได้ทุกๆครั้งไป) จะเกิดทุกขเวทนา หรือบางทีบางท่านอาจรู้เท่าทันที่สังขารขันธ์(จิต หรือ คิด)ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ชนิดเป็นทุกข์แล้ว ซึ่งตามปกติของสภาวธรรม(ธรรมชาติ)นั้นเวทนาหรือสังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในขณะจิต (หมายถึงชั่วขณะ กริยาอาการดับคล้ายๆกองไฟที่ค่อยๆมอดลง มอดลงไป ไม่ใช่ชนิดเปิดปุ๊บติดปั๊บ หรือปิดปุ๊บดับปั๊บ)เหมือนดังขันธ์ ๕ ปกติทั่วไป แต่เหตุที่เป็นทุกข์คงอยู่ได้นานๆเพราะอุปาทานอันแรงกล้าได้ครอบงําแล้ว จึงเกิดความคิดนึกปรุงแต่งอย่างต่อเนื่องอันย่อมล้วนเป็นไปตามภพที่เกิดขึ้นนั้นๆ จึงเกิดมีการ เกิดดับๆๆๆ... อย่างต่อเนื่อง(ปรุงแต่งในเรื่องทุกข์ๆนั้น วนเวียนอยู่ตลอดเวลาเป็นวงจร หรือคล้ายลูกโซ่ที่นํามาต่อกันเป็นโซ่ ฉันใดก็ฉันนั้น โดยไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวก็ห้ามไม่ได้เพราะไม่ฝึกปฏิบัติจึงไม่มีกำลังพอ) จนกว่าจักเบี่ยงเบน หรือบดบังด้วยสิ่งอื่นๆ เช่น สติ ความเหนื่อย ความหิว กิจธุระอื่นๆ หรือเรื่องอื่นๆเช่น ดูทีวี ฟังเพลง การสังสรร กินเหล้า เมายา มากระทบทําให้บดบังหรือเบี่ยงเบนออกจากทุกข์นั้นชั่วขณะ(อริยาบถการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง,การแยกพรากบดบังทุกข์-รายละเอียดอยู่ในบทพระไตรลักษณ์) แต่ก็ยังเก็บจําไว้เป็นในรูปของอาสวะกิเลส อันพร้อมที่จะกลับมาก่อเป็นทุกข์ใหม่ได้ทุกขณะเมื่อสังขารคิดขึ้นมาและมีตัณหาเกิดขึ้นครบเหตุปัจจัย
สําหรับผู้ที่เข้าใจขันธ์ ๕ ในแนวทางที่พิจารณาเห็นกระบวนธรรมของขันธ์ทั้ง๕ จะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น (มีอธิบายละเอียดในเรื่องขันธ์๕), กล่าวคือ ส่วนของขันธ์ต่างๆที่จะเกิดต่อจากองค์ธรรม"อุปาทาน"ในปฏิจจสมุปบาท จักไปเกิดดำเนินต่อเนื่องไปถึง "ชาติ" แล้วจึงดำเนินไปตามวงจรจนถึง "ชรา-มรณะ" เพียงแต่ขันธ์เหล่านี้ ล้วนกลับกลายเป็นขันธ์ชนิดประกอบด้วยอุปาทาน หรือก็คืออุปาทานขันธ์ทั้งสิ้น อันเป็นไปตามภพที่อาศัยซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอํานาจอุปาทาน ดังนั้นการกระทําต่างๆทั้งทางกาย, วาจา, ใจ หรืออุปาทานขันธ์๕ที่จักเกิดสืบเนื่องต่อไปในทุกๆขันธ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน(ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุปาทานนั้นๆและการคิดนึกปรุงแต่งต่างๆที่เกิดขึ้น) จักถูกครอบโคตรหรือครอบงําไว้ด้วยอุปาทาน คือเป็น อุปาทานขันธ์๕ไปด้วยล้วนสิ้น กล่าวคือ ล้วนก่อให้เกิดเป็นทุกข์ทุกๆขณะที่เกิดการกระทํา, พูด, หรือคิดในเรื่องนั้นๆจนกว่าจะดับ(มรณะ)ไป และยังเก็บสะสมเป็นอาสวะกิเลสนอนเนื่องอันพร้อมเป็นเชื้อทุกข์ให้เกิดทุกข์ขึ้นใหม่ในรอบวงจรต่อไปได้อีก และ "ชาติ" แท้จริงก็คือตัณหาอันเป็นสังขารอย่างหนึ่งที่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานแล้ว คือ"สังขารูปาทานขันธ์"นั่นเอง
ตามปกตินั้นจะเกิดขันธ์๕ อันเป็นกระบวนการชีวิต อันเกิดอยู่ทุกขณะจิตในผู้มีชีวิตทุกคน แม้แต่พระอรหันต์เจ้าดังนี้
ตัวอย่างแบบย่อ ผู้เขียนได้ละสัญญาจําอันเกิดร่วมมากับการผัสสะ อันแสดงมาก่อนหน้านี้ไว้บ้าง เพื่อให้ดูสอดคล้องกับวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ละไว้เช่นกัน เพราะสัญญาจําในปฏิจจสมุปบาทนั้นมาจากอาสวะกิเลสแล้วนั่นเอง คงแสดงแต่เพียงสัญญาหมายรู้ที่ไว้คิดค้นคว้า,คิดเปรียบเทียบ ปัญญา เพียงส่วนเดียว ก็เพื่อความสะดวกในการพิจารณา จะไปกล่าวแบบละเอียดในขันธ์ ๕ ในภายหน้า ซึ่งตามความจริงแล้วก็เป็นดังเช่นปฏิจจสมุปบาทในช่วงก่อนเกิดตัณหานั่นเอง เพียงแต่การแสดงลำดับขั้นแตกต่างกันบ้าง ตามจุดประสงค์เพื่อการพิจารณาในแต่ละแบบ แต่ดำเนินไปใต้กฎเกณฑ์หรือหลักอิทัปปัจจยตาเดียวกัน
รูป
ตา
วิญญาณ
ผัสสะ
เวทนา
สัญญา(หมายรู้)
สังขารขันธ์ (ธรรมหรือสิ่งหรืออาการของจิต ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาคือเจตนาหรือความคิดอ่านในการกระทำต่าง
ทั้งทางกาย วาจา และใจ)
นี้คือกระบวนการทํางานของขันธ์ทั้ง๕ อย่างย่อๆ ของผู้มีชีวิตทุกผู้นาม อันทํางานเหมือนกันล้วนสิ้นใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือสฬายตนะ ทั้ง ๖
แต่ในขณะที่กระบวนการของชีวิตดําเนินไปนั้น อันยังเป็นเหตุ ส่งผลให้เกิดเวทนาขึ้น และยังไปเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาก็คือสังขารขันธ์นั่นแหละ แต่เป็นสังขารขันธ์อาการของจิตที่ประกอบด้วยความทะยานอยากความปรารถนา ตามขึ้นมาอีกด้วย จึงทําให้ขันธ์ ๕ ธรรมชาติเหล่านั้น เกิดการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อดําเนินมาถึงเวทนาตามกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ข้างต้น แล้วเกิดเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาขึ้น จึงดำเนินและเป็นไปตามวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์(ปฏิจจสมุปบาท) แทนขันธ์ ๕ ธรรมชาติที่ใช้ในการดําเนินชีวิตอันเป็นปกติธรรมดา ดังกระบวนธรรมต่อไปนี้
รูป
ตา
(จักขุ)วิญญาณ
ผัสสะ
เวทนา
ตัณหา
อุปาทาน
ภพ
ชาติ การเกิดของทุกข์
อุปาทานสังขารขันธ์(สังขารูปาทานขันธ์)
เพื่อให้มองเห็นเปรียบเทียบกับวงจรปฏิจจสมุปบาทได้ชัดเจน ผู้เขียนจะใช้ความคิด(สังขาร)แทนรูป ดังนั้นสฬายตนะส่วนที่จะกระทบกับความคิดก็เปลี่ยนไปเป็นใจ และทําการจัดลําดับการกระทบผัสสะใหม่ให้แลดูสอดคล้องเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท เพื่อความสะดวกและง่ายในการพิจารณาหรือโยนิโสมนสิการ
คิด(สังขาร)
ใจ(สฬายตนะ)
(มโน)วิญญาณ
ผัสสะ
เวทนา
ตัณหา
อุปาทาน
ภพ
ชาติ การเกิดของทุกข์ เป็นอุปาทานสังขารขันธ์(สังขารูปาทานขันธ์)
จึงกล่าวได้ว่าอุปาทานสังขาร(สังขารูปาทานขันธ์)ที่เกิดในชาติ ก็คือ การเริ่มเกิดขึ้นของทุกข์นี้ จัดได้ว่าเป็นต้นกระบวนธรรมของอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ที่จะเกิดสืบเนื่องต่อไปอีกในชรา กล่าวคือสังขารูปาทานขันธ์ด้วยอำนาจอุปาทานนี้ จะเปลี่ยนหน้าที่เป็นธรรมารมณ์แต่อยู่ในการครอบงำของอุปาทาน กระทบกับใจคือรูปูปาทานขันธ์ ในองค์ธรรมชรา ดูรูปประกอบ
ภาพขยายในชรา ล้วนเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ เพราะเกิดจากสังขารูปาทานขันธ์ในชาติ อันถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว |
ท่านจึงตรัสแสดงไว้ว่า ภพเป็นเหตุปัจจัย จึงมีชาติ หรือการเกิดขึ้นของกองทุกข์ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นจริงเป็นจังแล้ว
นี่แหละคือ ภพ ชาติ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสขึ้นภายหลังการตรัสรู้ว่า
"ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพเป็นที่เกิดใหม่ไม่มีอีกต่อไปแล้ว"
"ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ตั้งแต่ ณ บัดนี้เป็นต้นไป ภพอันเป็นที่เกิดใหม่ก็ไม่มีอีกต่อไปแล้ว" จึงหมายความว่า ท่านสิ้นภพ สิ้นชาติเสียแล้วตั้งแต่ ณ ขณะจิตที่ท่านตรัสรู้ มิได้หมายความถึงการสิ้นภพ สิ้นชาติเมื่อพระองค์ท่านเสด็จสู่ปรินิพพานเท่านั้น, แต่เป็นการดับสิ้นแม้กระทั่ง "ภพ ชาติของความทุกข์" ที่เกิดในชีวิตประจําวันในชาติปัจจุบันนี้ อันคือ สิ้นในภพในชาติของอุปาทานทุกข์ อันล้วนแต่เป็นทุกข์อันเร่าร้อนเสียตั้งแต่ในขณะที่ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั่นเอง ซึ่งตามปกติแล้วเกิดขึ้นเป็นแสนภพ แสนชาติในปุถุชน ในแค่ชั่วชีวิตในชาติหนึ่งๆ จึงมิได้หมายถึง การสิ้นภพสิ้นชาติแต่เมื่อตายแตกดับ หรือนิพพานเท่านั้น"
ดังนั้น ภพ ชาติ ของความทุกข์ในปุถุชน วันหนึ่งๆจึงเกิดขึ้นได้หลายๆสิบครั้ง จนเป็นร้อยเป็นพัน ตามการปรุงแต่ง เกิดสั้นบ้าง เกิดยาวบ้าง เบาบ้าง รุนแรงบ้าง ตามกําลังอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้นๆ ที่เนื่องสัมพันธ์กันอยู่ในทีนั่นเอง
เราตถาคต บัญญัติเพื่อความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน
(พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๕๐)
แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมของ ชาติ ในปฏิจจสมุปบาท
๑๑. เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา-มรณะ และ อาสวะกิเลส