พระธรรมปิฎก

(ป.อ. ปยุตฺโต)

คัดลอกจากหนังสือ พุทธธรรม  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙

webmaster-คัดลอกธรรมะสั้นๆ จากหนังสือ พุทธธรรม ของท่านพระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต) สมณศักดิ์ปัจจุบัน พระพรหมคุณาภรณ์

เนื่องจากเล็งเห็นว่า ธรรมะที่ท่านได้เมตตาบันทึกไว้เป็นประโยชน์อย่างสูงต่อนักปฏิบัติ  อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมอย่างถูกต้องดีงาม

ธรรมะจากพระอริยเจ้า

 

ธรรมชาติ

        พุทธธรรมมีหลักการว่า   ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม    ความจริงก็ดำรงอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างเป็นกลางๆ    พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้คือ ค้นพบความจริงนั้นแล้วนำมาเปิดเผยไว้    สาระของความจริงนี้ก็คือ  (ความเป็นไปตาม)ธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย  หรือกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย  ผู้ที่มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น    ไม่ใช่มองตามที่ตนอยากหรือไม่อยากให้มันเป็น    จึงจะเข้าใจความจริงที่เป็นกลางนี้ได้    เมื่อเข้าใจธรรมที่เป็นกลางนี้แล้ว  ก็ย่อมมองเห็นความจริงอย่างกว้างๆ ครอบคลุมทั่วไปทั้งหมด  มีทัศนะเปิดกว้าง  หลุดพ้นเป็นอิสระอย่างแท้จริง   โดยหลุดพ้นทั้งทางจิต  คือจิตหลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้นครอบงำที่เรียกว่ากิเลสและความทุกข์ กลายเป็นจิตที่ปลอดโปร่ง เบิกบาน เป็นสุข    และด้านปัญญา คือ หลุดพ้นด้วยรู้เท่าทันธรรมดา   แล้วมองเห็นตัวความจริงที่ล้วนๆบริสุทธิ์    ไม่มีกิเลสเคลือบแคลงหรือทำให้เอนเอียงและรู้ชัดแจ้งที่ความจริงโดยตรง  ไม่ต้องรู้ผ่านใครๆหรือรู้ตามที่ใครบอกอีกต่อไป......................พุทธธรรม หน้า ๙๒๓

(พิจารณาปฏิจจสมุปบาทในความเป็นเหตุปัจจัย   และ อุปาทสูตร ในเรื่องของธรรมชาติ  เพื่อประกอบการโยนิโสมนสิการ)

การปฏิบัติธรรม

        เรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงไว้ด้วย  คือ  ปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งมีความหมายคลาดเคลื่อน  เลื่อนลอย  แปลกไปตามกาลสมัย  ตัวอย่างสำคัญคือ  คำว่า  "ปฏิบัติธรรม"  ซึ่งมีความหมายที่แท้ควรได้แก่  การนำเอาธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต  หรือการดำเนินชีวิตตามธรรม   แต่ปัจจุบันมักเข้าใจคำนี้ในความหมายว่า  เป็นการอบรมทางจิตปัญญาขั้นหนึ่งระดับหนึ่งโดยเฉพาะ  ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปแบบ  และทำไปตามแบบแผนที่กำหนดวางไว้ ...............พุทธธรรม หน้า ๙๓๒

(Webmaster-การปฏิบัติธรรม มักคิดกันไปว่าเป็นการ การปฏิบัติแบบมีแบบมีแผน ปฏิบัติสมาธิ ที่แม้แลดูเป็นแบบแผนมีความสงบความเรียบร้อย แต่ขาดเสียซึ่งการเจริญปัญญาหรือวิปัสสนา และที่สำคัญขาดการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็เรียกกันทั่วไปว่า การปฏิบัติธรรม  ถือว่ายังเป็นการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนอยู่)

ธรรมที่ตรัสรู้

        รวมความว่า    ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้    พระองค์ได้ตรัสแสดงไว้เป็นหลักใหญ่มี ๒ นัย  คือ  ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน   กับอริยสัจ๔   ทั้งสองนัยว่าโดยสาระแล้ว  เป็นอันเดียวกัน  แต่พิจารณาต่างแง่กัน  คือ

        ๑. ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน   ตรัสในคราวปรารภที่จะทรงเริ่มประกาศธรรมว่า   สิ่งที่ตรัสรู้ลึกซึ้งยากยิ่งนักที่สัตว์ทั้งหลายจะเข้าใจ   การตรัสในแง่นี้หมายความว่า   ปฏิจจสมุปบาทและนิพพานเป็นส่วนเนื้อหาสาระของการตรัสรู้ หรือพูดให้สัมพันธ์กับนัยที่สองว่าเป็นส่วนแก่นแท้ของอริยสัจ    เป็นตัวแท้ๆ ล้วนๆ ของธรรมซึ่งเข้าใจได้ยากอย่างยิ่ง

        ๒. อริยสัจ๔   ตรัสในคราวทรงเล่าลำดับแห่งการปฏิบัติจนตรัสรู้ของพระองค์เอง  และในคราวทรงแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่น  เริ่มแต่ในปฐมเทศนา   การตรัสในแง่นี้หมายความว่า  อริยสัจ๔  คือธรรมที่ได้ตรัสรู้ทั้งหมด  ซึ่งปรากฎในรูปลักษณะที่จัดเข้าลำดับเป็นกระบวนการขั้นตอน  โดยคำนึงถึงความสามารถที่จะเข้าใจและการใช้ประโยชน์ ของมนุษย์  เพื่อมุ่งสอนให้เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ผล

        พูดอีกอย่างหนึ่ง    ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน  เป็นแต่ตัวธรรมชาติล้วนๆตามธรรมชาติ    ส่วนอริยสัจ๔ เป็นหลักธรรมในรูปที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง  และพูดได้ว่าอริยสัจ๔ คือธรรมทั้งหมดมีจุดซึ่งเป็นแก่นแท้เข้าใจยากที่สุดอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทและนิพพานเท่านั้น     ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทและนิพพานแล้วก็เป็นอันเข้าใจพุทธธรรมทั้งหมด.....................พุทธธรรม หน้า ๙๐๑

ระดับของนิโรธ

        อย่างไรก็ตาม    ผู้ดำเนินในมรรคาแห่งอารยชน    ไม่จำเป็นที่จะต้องรอเพื่อเสวยภาวะที่ดีงามเป็นประโยชน์ เช่นนี้  ต่อเมื่อได้บรรลุนิพพานที่เป็นความหมายสูงสุดของนิโรธเท่านั้น  แม้ในระหว่างที่ดำเนินในมรรคาที่ถูกต้องอยู่นั่นเอง  ก็สามารถประสบผลแห่งการปฏิบัติประจักษ์แก่ตนได้เรื่อยไป  โดยควรแก่การปฏิบัติ  ด้วยว่านิโรธนั้นมีผ่อนลงมารวมด้วยกันถึง ๕ ระดับ  คือ

        ๑. วิกขัมภนนิโรธ    ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยข่มไว้     โดยทำจิตใจให้สงบ  เยือกเย็นผ่อนคลายหายเครียด  ปราศจากความขุ่นมัวเศร้าหมองหายเร่าร้อนกระวนกระวาย  ด้วยวิธีการฝ่ายสมาธิ  เฉพาะอย่างยิ่งหมายเอาสมาธิในระดับฌาน  ซึ่งกิเลสถูกทำให้สงบไว้  ได้เสวยนิรามิสสุขตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น

        ๒. ตทังคนิโรธ    ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยองค์ธรรมคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงกันข้าม  เฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักคิดรู้จักพิจารณา    มีปัญญารู้เท่าทันความจริงที่เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย   ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ไม่ขึ้นต่อความอยากความปรารถนาและความหมายมั่นยึดถือของมนุษย์  แล้ววางใจได้ถูกต้องและปฏิบัติต่อสิ่งนั้นด้วยท่าทีแห่งความรู้  ความเข้าใจ  ความหวังดีมีนํ้าใจงามและความเป็นอิสระ   เมื่อปัญญานี้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนตรงตามสภาวะ  ก็เรียก วิปัสสนาปัญญา    ทำให้กิเลสและความทุกข์ดับหายไปได้ในชั่วเวลานั้น  มีจิตใจสงบบริสุทธิ์  เป็นสุข  ผ่องใส  เบิกบานใจ  กับทั้งทำให้จิตประณีตและปัญญางอกงามยิ่งขึ้น

         ๓. สมุจเฉทนิโรธ    ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยตัดขาด  คือบรรลุโลกุตรมรรคขึ้นไป  ดับกิเลสดับทุกข์ได้เสร็จสิ้นเด็ดขาดตามระดับของมรรคนั้นๆ

         ๔. ปฏิปัสสัทธินิโรธ    ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยด้วยสงบระงับไป   คือบรรลุโลกุตรผล  เป็นอริยบุคคลด้วยตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป   กิเลสดับสิ้นไปแล้วมีความบริสุทธิ์ปลอดโปร่งเป็นอิสระตามระดับของอริยบุคคลขั้นนั้นๆ

         ๕. นิสสรณนิโรธ    ดับกิเลสด้วยสลัดออกได้    หมายถึงภาวะที่เป็นอิสระปลอดโปร่งอย่างแท้จริงและโดยสมบูรณ์  คือ  ภาวะแห่งนิพพาน

พุทธธรรม หน้า ๙๐๙

ศรัทธา

        ลักษณะทางปัญญาอีกอย่างหนึ่งของผู้เข้าถึงสัจจธรรมแล้วคือ    ไม่(ต้อง)เชื่อ    ไม่(ต้อง)ศรัทธา หรือไม่ต้องอาศัยศรัทธา  เรียกตามคำบาลีสั้นๆว่า "อัสสัทธะ"    ลักษณะนี้ต่างกันอย่างตรงข้ามกับความไม่เชื่อ หรือความไม่มีศรัทธา ตามความหมายสามัญขั้นต้น  ซึ่งหมายถึงไม่รู้ไม่เห็น  จึงไม่เชื่อ หรือไม่เลื่อมใสในตัวผู้พูดหรือดึงดื้อถือรั้นเป็นต้น จึงไม่ยอมเชื่อ    แต่ในที่นี้ไม่ต้องเชื่อ เพราะรู้เห็นสิ่งนั้นๆแจ้งประจักษ์กับตนเองแล้ว  รู้เองเห็นเองแล้วไม่ต้องรู้เห็นผ่านคนอื่น  ไม่ต้องอาศัยความรู้ของคนอื่น  (ศรัทธา  คือ  การยอมขึ้นต่อความรู้ของผู้อื่น  ในเมื่อยังไม่รู้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง)  ในเมื่อรู้เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างนั้น  จะต้องไปเชื่อใครอีก  หรือจะต้องไปเอาใครมาบอกให้อีก  เรียกว่าเป็นขั้นที่ยิ่งกว่าเชื่อ หรือเลยเชื่อไปแล้ว    ดังที่ท่านอธิบายว่า "เกี่ยวกับธรรมที่รู้แน่อยู่ด้วยตัวเอง  ประจักษ์กับตนเอง  (เธอ)ไม่เชื่อต่อใครๆอื่น  ไม่ว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์  เทวดา  มาร  หรือพรหม  คือไม่เชื่อต่อใครๆเกี่ยวกับธรรมที่รู้แน่อยู่เอง  ประจักษ์กับตัวว่า  สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์  ธรรมทั้งปวงไม่ใช่เป็นตัวตน     เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ"     หรือที่พระสาลีบุตรทูลพระพุทธเจ้าว่า  "ในเรื่องนี้ข้าพระองค์มิใช่ถือไปตามด้วยศรัทธาต่อพระผู้มีพระภาค......เรื่องนี้ข้าพระองค์ทราบแล้ว  เห็นแล้ว  รู้ชัดแล้ว  ทำให้ประจักษ์แจ้งแล้ว  สัมผัสแล้วด้วยปัญญา  จึงไม่มีความสงสัย  ไม่มีความคลางแคลงใจ"

พุทธธรรม หน้า ๒๔๔

         webmaster-กล่าวคือ ศรัทธาเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในเบื้องต้น เช่น ศรัทธาในพระรัตนไตย ครูบาอาจารย์   แต่เมื่อเป็นการปฏิบัติให้เห็นปรมัตถ์เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วต้องวางศรัทธาอย่างถูกต้องอันประกอบด้วยปัญญาไม่งมงายจนยึดติดยึดถือ  กล่าวคือไม่ใช่การศรัทธาอย่างขาดเหตุผลหรืองมงายอันเป็นอธิโมกข์ที่เป็นวิปัสสนูปกิเลส

สมาธิ และ ปัญญา

        สมาธิ เป็นองค์ธรรมที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งก็จริง    แต่ก็มีขอบเขตความสำคัญที่พึงตระหนักว่า   สมาธิมีความจำเป็นแค่ไหนเพียงใด  ในกระบวนการปฏิบัติ  เพื่อเข้าถึงวิมุตติ  อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม    ขอบเขตความสำคัญนี้  อาจสรุปดังนี้

        ๑. ประโยชน์ของสมาธิ    ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น   อยู่ที่การนำมาใช้เป็นที่ทำการสำหรับให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลที่สุด    และสมาธิที่ใช้ในการนี้ก็ไม่จำต้องเป็นขั้นที่เจริญถึงที่สุด    ลำพังสมาธิอย่างเดียวแม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด  หากไม่ก้าวสู่ขั้นใช้ปัญญาแล้ว    ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของพุทธธรรมได้อย่างเป็นอันขาด

         ๒. ฌานต่างๆทั้ง ๘ ขั้น    แม้จะเป็นภาวะจิตที่ลึกซึ้ง    แต่ในเมื่อเป็นผลของกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่าสมถะอย่างเดียวแล้ว  ยังเป็นเพียงโลกีย์เท่านั้น    จะนำไปปะปนกับจุดมุ่งหมายทางพุทธธรรมหาได้ไม่

         ๓. ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลสำเร็จของสมาธินั้น    กิเลสต่างๆสงบระงับไป  จึงเรียกว่าเป็นการหลุดพ้นเหมือนกัน  แต่ความหลุดพ้นนี้มีชั่วคราวเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะนั้นเท่านั้น    และถอยกลับสู่สภาพเดิมได้  ไม่ยั่งยืนแน่นอน    ท่านจึงเรียกการหลุดพ้นชนิดนี้ว่าเป็นโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์)   เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)    และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้  เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า  ยกแผ่นหินออกเมื่อใด  หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่) (สามารถอ่านรายละเอียดเหตุผลได้ในนิวรณ์ ๕ - webmaster)

         จากข้อพิจารณาที่กล่าวมานี้  จะเห็นว่า  ในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดมุ่งหมายของพุทธธรรมนั้น  องค์ธรรมหรือตัวการสำคัญที่สุดที่เป็นตัวตัดสินใจในขั้นสุดท้าย  จะต้องเป็นปัญญา   และปัญญาที่ใช้ในการปฎิบัติการในขั้นนี้  เรียกชื่อเฉพาะได้ว่า  วิปัสสนา    ดังนั้น  การปฏิบัติจึงต้องก้าวมาถึงขั้นวิปัสสนาด้วยเสมอ    ส่วนสมาธิ  นั้นแม้จะจำเป็น  แต่อาจยืดหยุ่นเลือกใช้ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้    เริ่มแต่ขั้นต้นๆ ที่เรียกวิปัสสนา-สมาธิ    ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับขณิกสมาธิ  และอุปจารสมาธิ  เป็นต้นไป....................

พุทธธรรม หน้า ๘๖๘ - ๘๖๙

สำหรับความหมายของอริยสัจแต่ละข้อ  พึงทราบตามบาลีดังนี้

         "ภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แล  เป็นทุกขอริยสัจ  คือ   ชาติ(การเกิด) ก็เป็นทุกข์   ชรา(ความแก่) ก็เป็นทุกข์   พยาธิ(ความเจ็บไข้) ก็เป็นทุกข์   มรณะ(ความตาย) ก็เป็นทุกข์   การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์   การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์   ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์   โดยย่อ อุปาทานขันธ์๕ เป็นทุกข์

         ภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ  คือ  ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่   ประกอบด้วยความเพลินและความติดใจ  คอยเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้นๆ  ได้แก่  กามตัณหา   ภวตัณหา   วิภวตัณหา

         ภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ  คือ  การที่ตัณหานั้นแลดับไปได้ด้วยอาการสำรอกออกหมด  ไม่มีเหลือ  การสละเสียได้  สลัดออก  พ้นไปได้  ไม่หน่วงเหนี่ยวพัวพัน

         ภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ   คือ  อริยมรรคมีองค์๘ นี้แหละ  ได้แก่  สัมมาทิฎฐิ ฯลฯ   สัมมาสมาธิ"

พุทธธรรม หน้า ๘๙๖

การดับทุกข์

         ในมรรคาแห่งความดับทุกข์   หรือปฏิบัติการแก้ปัญหาทั้งหลาย   ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด   ตั้งแต่ภายนอกจนถึงลึกซึ้งในภายใน     ผู้ศึกษาที่สนใจอาจคอยกำหนดจับธรรมที่ตนเกี่ยวข้อง จัดเข้าในธรรม ๔ ประเภทนี้ได้เสมอ   เช่นในการปฏิบัติขั้นถึงแก่น  เอาแต่สาระ   พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงธรรม ๔ ประเภทนี้ไว้ดังนี้

๑. (ทุกข์)   

:     ปริญเญยยธรรม (การกำหนดรู้)  

ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕

๒. (สมุทัย)

:     มหาตัพพธรรม (การละ)  

ได้แก่ อวิชชา และ ภวตัณหา

๓. (นิโรธ)

:     สัจฉิกาตัพพธรรม (การทำให้แจ้ง)

ได้แก่ วิชชา และ วิมุตติ

๔. (มรรค)

:     ภาเวตัพพธรรม (การเจริญ)

ได้แก่ สมถะ และ วิปัสสนา

พุทธธรรม หน้า ๙๐๕

วิปัสสนาสมาธิ

         คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึง วิปัสสนาสมาธิ   เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง  แทรกอยู่ระหว่างขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิ   พึงทราบว่า วิปัสสนาสมาธิ นั้นก็ คือ  ขณิกสมาธิที่นำไปใช้ในการเจริญวิปัสสนานั่นเอง  และมีความประณีตขึ้นไปเพราะการปฏิบัติ................

พุทธธรรม หน้า ๘๒๘

(webmaster - หมายความว่า เป็นการปฏิบัติโดยใช้สมาธิระดับขณิกสมาธิไปในการเริ่มพิจารณาธรรมหรือวิปัสสนา กล่าวคือใช้การคิดพิจารณาธรรมนั้นเป็นอารมณ์หรือเป็นวิตกโดยตรงเลยนั่นเอง  เมื่อดำเนินไปได้อย่างแนบแน่นในธรรม ซึ่งในบางครั้งหรือบางขณะก็จะเกิดความประณีตเลื่อนไหลไปสู่สมาธิในระดับละเอียดประณีตขึ้นไปได้เองเป็นลำดับด้วย จึงเจริญสมาธิระดับประณีตปด้วยในที่สุด  ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมิจฉาฌานหรือมิจฉาสมาธิชนิดไปติดเพลินหรือนันทิในองค์ฌานสมาธิอันยังให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสอีกด้วย อันมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มุ่งหวังในฌานสมาบัติระดับประณีตโดยขาดการวิปัสสนา,  วิปัสสนาสมาธิจึงเป็นสมถวิปัสสนาอันดีงามยิ่ง เหมาะกับทุกเพศ ทุกฐานะ ฯ.)

ความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิ

         ความมุ่งหมายของสมาธิที่ใช้อย่างถูกต้อง    หรือพูดตามศัพท์ว่าความมุ่งหมายของสัมมาสมาธินั้นเป็นที่ชัดเจนดังได้กล่าวมาแล้วบ่อยๆว่า   เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างได้ผลดี   พูดอย่างง่ายๆว่า สมาธิเพื่อปัญญา   ดังบาลีที่เคยอ้างแล้วว่า  "สมาธิเพื่ออรรถ คือ ยถาภูตญาณทัสสนะ (สมาธิเพื่อจุดหมาย คือ การรู้เห็นตามเป็นจริง)" บ้าง      "สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอรรถเป็นอานิสงส์ (ความมุ่งหมายและผลสนองที่พึงประสงค์ของสมาธิ  คือ การรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง)" บ้าง     จิตวิสุทธิ เพียงแค่มี ทิฎฐิวิสุทธิ เป็นอรรถ (การบำเพ็ญสมาธิให้จิตบริสุทธิ์  มีจุดหมายอยู่แค่จะทำ ความเห็นความเข้าใจให้ถูกต้องบริสุทธิ์)" บ้าง    และอาจอ้างพุทธพจน์ต่อไปนี้มาสนับสนุนด้วย

         "สมาธิที่ศีลบ่มรอบแล้ว  ย่อมมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก,   ปัญญาที่สมาธิบ่มรอบแล้วย่อมมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก,   จิตที่ปัญญาบ่มรอบแล้วย่อมหลุดพ้นโดยชอบเทียวจากอาสวะทั่งหลาย  คือ  กามาสวะ  ภวาสวะ  และอวิชชาสวะ"

         แม้ว่าสมาธิจะมีจุดมุ่งหมายดังกล่าวมานี้ก็จริง   แต่สมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อย่างอื่นๆ    ที่นอกเหนือไปจากจุดมุ่งหมายนั้นอีก    ประโยชน์บางอย่างเป็นผลพลอยได้ในระหว่างการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายของสมาธินั้นเอง     บางอย่างเป็นประโยชน์ส่วนพิเศษออกไปซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนยิ่งกว่าธรรมดา    บางอย่างเป็นประโยชน์ที่เกื้อกูลแม้แก่ท่านที่ได้บรรลุจุดหมายของสมาธิเสร็จสิ้นไปแล้ว

         โดยสรุป   พอจะประมวลประโยชน์ของสมาธิได้ดังนี้

         ก. ประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย หรือ อุดมคติทางศาสนา :  ประโยชน์ที่เป็นความมุ่งหมายแท้จริงของสมาธิตามหลักพระพุทธศานา  คือเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งแห่งการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด   อันได้แก่   ความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง

         ๑. ประโยชน์ที่ตรงแท้ของข้อนี้คือ   การเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งสภาวธรรมตามความเป็นจริง  เรียกตามศัพท์ว่า  เป็นบาทแห่งวิปัสสนา  หรือทำให้เกิดยถาภูตญาณทัศนะ (การรู้เห็นตามเป็นจริง) ดังได้กล่าวแล้ว   ซึ่งจะนำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

         ๒. ประโยชน์ที่รองลงมาในแนวเดียวกันนี้    แม้ว่าจะไม่ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริง  คือการบรรลุภาวะที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราว  ที่เรียกว่าเจโตวิมุตติประเภทยังไม่เด็ดขาด   กล่าวคือ  หลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจพลังจิต  โดยเฉพาะด้วยกำลังอำนาจของฌาน  กิเลสถูกกำลังสมาธิ  กด  ข่ม  หรือทับไว้  ตลอดเวลาที่อยู่ในสมาธินั้น  เรียกเป็นศัพท์ว่า วิกขัมภนวิมุตติ.....................................ฯลฯ

พุทธธรรม หน้า ๘๓๓

 

   

  กลับหน้าเดิม

  กลับสารบัญ