นิพพาน

พุทธพจน์ และ พระสูตร ๗๐.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕

 คลิกขวาเมน

             ธาตุสูตร พระสูตรที่กล่าวถึงนิพพาน ที่หมายถึงการดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นโลกุตรธรรม และเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา,  ท่านแบ่งนิพพานธาตุ อันหมายถึงภาวะแห่งนิพพาน เป็น ๒  กล่าวคือ

             สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง นิพพานที่ยังมีอุปาทิเหลือ,  ดับกิเลสแล้วแต่ยังมีเบญจขันธ์(ขันธ์ ๕)เหลืออยู่ กล่าวคือ ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง คือนิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตหรือยังดำรงขันธ์อยู่ในโลกนั่นเอง จึงยังต้องเสวยอารมณ์หรือเวทนาอันเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง เพราะอินทรีย์ยังมีอยู่ ยังไม่แตกดับไป จึงย่อมมีการผัสสะให้เกิดเวทนาขึ้นเป็นธรรมดาอยู่ตลอดเวลาที่ดำรงขันธ์หรือชีวิตอยู่  แต่ไม่เป็นทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเผาลนเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพแล้ว กล่าวคือ จึงเป็นนิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับกิเลส คือโลภะ โทสะ โมหะ,  หรือก็คือการดับภพจิตในปฏิจจสมุปบาทธรรมเสียสนิทแล้วนั่นเอง

             อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ,  ดับกิเลสและไม่มีเบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕ เหลืออีกด้วย กล่าวคือ สิ้นทั้งกิเลสและชีวิต จึงหมายถึง พระอรหันต์ที่สิ้นชีวิต,  นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับภพทั้งปวง กล่าวคือทั้งฝ่ายภพจิตและภพกายนั่นเอง

             ในธาตุสูตรที่แสดงถึงนิพพานธาตุนี้  แสดงความทั้ง ๒ นัย กล่าวคือ ทั้งฝ่ายโลกิยะและโลกุตระ ขึ้นอยู่กับภูมิของนักปฏิบัติเองเป็นสำคัญ

๗. ธาตุสูต

             [๒๒๒] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ ๒ ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑   อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ  ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์(หมายถึง ย่อมยังมีเวทนาอยู่เป็นธรรมดาของชีวิต  จึงมี)ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่  (ก็)เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใด(อัน)เป็นธรรมชาติ(ของขันธ์หรือชีวิต ยัง)ไม่บุบสลาย(แตกดับไป)  อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว  ดูกรภิกษุทั้งหลาย (เราจึงเรียก)ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น(ที่ยังดำรงขันธ์หรือชีวิตอยู่) นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ  เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น(อันย่อม)เป็นธรรมชาติ(ของชีวิตเมื่อยังดำรงชีวิตหรือขันธ์อยู่)  (ดังนั้น)อัน(เมื่อ)กิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้น(ย่อม)ให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว  (จึงย่อม)จักเย็น  ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาต

(สำนวนตรงนี้ อาจตีความจนเกิดวิจิกิจฉาได้  แต่มีความหมายถึง  เวทนาทั้งปวง ย่อมสิ้นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม เพราะถึงกาละหรือความตายแล้ว  จึงไม่เสวยเวทนาทั้งปวงแม้ในอินทรีย์ ๕ ดังสอุปาทิเสสนิพพานข้างต้น ;  หรือเป็นดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวแสดงความหมายของนิพพานในอีกลักษณาการหนึ่งซึ่งดีงามเช่นกัน)

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการ นี้แล ฯ

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้วในพระสูตรนั้น  พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

                          นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้  พระตถาคต ผู้มีจักษุผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ ประกาศไว้แล้ว

                          อันนิพพานธาตุ อย่างหนึ่งมีในปัจจุบันนี้ ชื่อว่า สอุปาทิเสส  เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ

                          ส่วนนิพพานธาตุ (อีกอย่างหนึ่ง) เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวงอันมีในเบื้องหน้าชื่อว่า อนุปาทิเสส

                          ชนเหล่าใดรู้บทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้  มีจิตหลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ

                          ชนเหล่านั้นยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นกิเลส  เพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ  เป็นผู้คงที่  ละภพได้ทั้งหมด ฯ

             เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๗

 

 

 

 

กลับหน้าเดิม

กลับสารบัญ