ไปสารบัญ

หัวข้อธรรม ๔

   

คลิกขวาเมนู

ธรรมะจากพระอริยเจ้านี้ มีประโยชน์มากเมื่อนำไปคิดพิจารณาโดยละเอียดและแยบคาย(โยนิโสมนสิการ)  เพราะจะทำให้เห็นธรรมะแท้ได้

..............ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้ในขันธ์ ๕   แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท(จึงทำให้เกิดปัญญา)  (จึงทำให้)หยุดการปรุงแต่ง(หมายถึง หยุดการปรุงแต่งสังขารกิเลส ดั่งในองค์ธรรมสังขารในปฏิจจสมุปบาท)  หยุดการแสวงหา(หมายถึง ตัณหา)  หยุดกริยาจิต  มันก็จบแค่นี้  เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(Webmaster - จริงๆแล้วคำสอนนี้ นับได้ว่าเป็นสุดยอดของหลักการปฏิบัติได้ทีเดียว)

ดูไม้ท่อนนี้ซิ...สั้นหรือยาว

สมมติว่า คุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้...ไม้ท่อนนี้ก็สั้น

แต่ถ้าคุณอยากให้ไม้สั้นกว่านี้...ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว

หมายความว่า ตัณหา ของคุณต่างหาก

ที่ทำให้มีสั้น มียาว มีชั่ว มีทุกข์ มีสุข ขึ้นมา

พระโพธิญาณเถระ(หลวงพ่อชา สุภทฺโท)

         เรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวถึงไว้ด้วย  คือ  ปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งมีความหมายคลาดเคลื่อน  เลื่อนลอย  แปลกไปตามกาลสมัย  ตัวอย่างสำคัญคือ  คำว่า  "ปฏิบัติธรรม"  ซึ่งมีความหมายที่แท้ควรได้แก่  การนำเอาธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต  หรือการดำเนินชีวิตตามธรรม   แต่ปัจจุบันมักเข้าใจคำนี้ในความหมายว่า  เป็นการอบรมทางจิตปัญญาขั้นหนึ่งระดับหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปแบบ และทำไปตามแบบแผนที่กำหนดวางไว้ ...............พุทธธรรม หน้า ๙๓๒

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

(Webmaster-การปฏิบัติธรรม มักคิดกันไปว่า การปฏิบัติต้องมีแบบมีแผนที่กำหนด หรือปฏิบัติเน้นสมาธิ ที่แม้แลดูเป็นแบบแผนมีความสงบความเรียบร้อย แต่มักขาดเสียซึ่งการเจริญปัญญาหรือวิปัสสนา และที่สำคัญขาดการนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็เรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นการปฏิบัติธรรมนั้น ถือว่ายังเป็นการปฏิบัติธรรมที่คลาดเคลื่อนอยู่)   ธรรมบรรยาย โดยสมเด็จพระพรหมคุณาภรณ์

        "สุขก็ไม่ใช่ของใคร มันเกิดขึ้นมาประเดี๋ยวประด๋าวแล้วมันก็หายไป  เดี๋ยวทุกข์อื่นเกิดขึ้นมาอีกแล้วก็หายไป ไม่ใช่ของใครทั้งหมด มันเป็นของประจำกายอยู่อย่างนั้น  จึ่งว่าเป็นอนัตตา อนัตตาไม่ใช่ของไม่มีอยู่ อนัตตาเป็นของมีอยู่ เห็นอยู่เดี๋ยวนี้แหละ แต่เป็นของไม่มีสาระ"

(webmaster-อนัตตาเป็นของมีอยู่ เหมือนดั่งเงา ที่ท่านกล่าวไว้ดังนั้น เพราะเกิดแต่การประกอบกันขึ้นของเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยประชุมกันหรือการประกอบกันขึ้น  ดังนั้นถึงแม้มีอยู่แต่เป็นเพียงของชั่วคราวแค่ชั่วขณะๆ เกิดแล้วก็ดับ  ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของมันเองจริงๆ จึงไม่มีใครสามารถครอบครองเป็นเจ้าของมันได้แม้เรา แท้จริงจึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงย่อมไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาได้  ท่านจึงกล่าวว่าเป็นของไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสารให้ยึดถือ)

        "เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เรากลั้นลมหายใจเสีย ความโกรธนั้นก็หายไป แล้วแต่จะเหลือแต่ใจเดิม คือความรู้สึกเฉยๆ อย่าลืม ทำบ่อยๆ ก็เห็นใจเดิม แล้วความโกรธก็ค่อยๆหายไป"

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

(webmaster-เป็นวิธีเปลี่ยนจิต คือเป็นอุบายวิธี วิธีหนึ่งที่ใช้เปลี่ยนหรือระงับอารมณ์ทางโลกที่รุมเร้าอย่างรุนแรงเร่าร้อนจนเกินกำลังปัญญาพละในขณะนั้นๆ  มีคำอธิบายประกอบใน " ถึงอุเบกขาแล้วก็ตาม แต่ว่า....เป็นกลาง วางทีเฉยไม่ได้ " )

 

        ถ้าท่านยึดติดอยู่กับภาวะจิตที่สงบ แล้วท่านจะเป็นทุกข์เมื่อจิตไม่สงบ ฉะนั้น จงปล่อยวางหมดทุกสิ่ง แม้แต่ความสงบ....

 หลวงปู่ชา สุภัทโท

(webmaster-ความสงบก็ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์จากการคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ สุขจึงเป็นทุกข์ในที่สุดนั่นเอง  และถ้ายึดติดในความสงบ คือติดสงบ ติดสุข เมื่อคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้จึงยิ่งเป็นทุกข์  ติดสงบ ติดสุขจึงจัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสอันให้โทษนั่นเอง)

 

        หลักการที่สำคัญมากในการดูจิตที่ขอย้ำ  ก็คือ ให้ รู้ อารมณ์เฉยๆ(หมายถึงอารมณ์ทางโลกต่างๆ หรือสังขารขันธ์ เช่นโลภ โกรธ หลง หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. แต่)อย่าไปพยายาม ละ อารมณ์นั้นเด็ดขาด  จะเดินทางผิดทันที เพราะอารมณ์ทั้งปวงนั้น เป็นตัวขันธ์(คือเมื่อเป็นขันธ์คือสังขารขันธ์จึงคงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของชีวิต  จึงละไม่ได้ ด้วยเป็นอนัตตาจึงบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้  และเป็นสังขารอย่างหนึ่งจึงย่อม)เป็นตัวทุกข์  ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่"รู้"เท่านั้น  อย่าอยาก (มีตัณหา) ที่จะไปละมันเข้า

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(webmaster-จะต้อง"ละ"ที่สมุทัยคือ "เหตุ" ที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น เช่น ความคิดหรือมโนกรรมความคิดนึกต่างๆที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์(อารมณ์) ที่จะแปรไปเป็นธรรมารมณ์ต่างหากที่เป็นเหตุ   แต่ตัวอารมณ์ทางโลก เช่นโทสะนั้นเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง ย่อมเป็นอนัตตา จึงไปบังคับบัญชาเขาไม่ได้ เขาทำงานตามกระบวนการตามหน้าที่ของเขาโดยธรรม(ธรรมชาติ)เท่านั้น  เป็นตัวขันธ์คือสังขารขันธ์  จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อย่างแท้จริงนั่นเอง เมื่อไม่ใช่ของเราจึงควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้ว่า เจ้าจงอย่าเกิดเลยหรือเจ้าจงดับไป เพราะมันเกิดขึ้นและต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตาม"เหตุ"ข้างต้นที่กล่าว  และที่ท่านกล่าวว่าอารมณ์หรือสังขารขันธ์เป็นตัวทุกข์อีกด้วยนั้น เพราะสังขารขันธ์เป็นสังขารอย่างหนึ่ง จึงไม่เที่ยง อีกทั้งทุกขังคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้จึงแปรเป็นตัวทุกข์เป็นที่สุดนั่นเอง,  จึงต้องละที่เหตุเท่านั้นคือมโนกรรมที่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ ที่สามารถแปรไปเป็น"เหตุ"ได้อีก แล้วอารมณ์หรือสังขารขันธ์มันก็ต้องเสื่อมดับไป,  ถึงแม้มโนกรรมก็ย่อมเป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่ตัวขันธ์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามหน้าที่ของมัน  จึงสามารถ"ละ"ได้ด้วยการอุเบกขาสัมโพชฌงค์), คือไม่สามารถ"ละ" ที่หมายถึง"การกำจัดทิ้งหรือดับ"ในอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้โดยตรงๆดังใจอยาก เพราะเป็นขันธ์คือสังขารขันธ์ดังกล่าว

 

        ปัญญาวิปัสสนา (อย่างหนึ่ง) คือเห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้นเป็นของไร้สาระ เป็นโทษ เป็นทุกข์ เป็นภัย อันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวางทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ก็เพราะ เห็นที่สุดของโลก คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

(webmaster-คือ ระลึกรู้หรือเห็นอยู่เนืองๆว่าสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงขั้นสูงสุด(ปรมัตถ์)ถึงแก่นแท้หรือแก่นธรรมว่า สิ่งทั้งปวงหรือสังขารล้วนอยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์หรือธรรมนิยาม คือ ล้วนไม่เที่ยง  จึงคงสภาพอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ในที่สุด  เป็นอนัตตา จึงว่าเป็นของไร้สาระอย่าไปยึดถือ)

 

        ปฏิบัติสมาธิเพื่อปลุกจิตสำนึกให้มันตื่นขึ้น สมองคนเรามันฝึกได้ แต่พอมานั่งสมาธิ จะมาคอยบังคับให้มันหยุดนิ่งๆ นั่นแหละ คือการทำลายสมองตัวเอง  ที่ถูกแล้ว มันคิด ก็ปล่อยให้มันคิด แต่ว่าเรามีสติรู้ตัว เวลาหยุดก็มีสติรู้ว่ามันหยุด เป็นการปลุกให้มันตื่น มันสว่างขึ้นมา

(webmaster-มันคิดขึ้นมา เช่นธรรมารมณ์อันจำเป็นในการดำเนินชีวิตก็ปล่อยให้มันคิดไป  แต่มีสติรู้ตัวเมื่อเกิดความคิดมโนกรรม(อันเป็นผลจากสังขารขันธ์คืออารมณ์)ต่างๆที่เห็นว่าเป็นโทษหรือควรแก่เหตุ  และมีสติหยุดเสียด้วยการอุเบกขา  ดูภาพแสดงด้านล่างประกอบการพิจารณา

                                                                         ผัสสะ

ธรรมารมณ์(คิดอันเป็นเหตุ)    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ใจ ย่อมทำให้เกิดขึ้น โดยธรรม มโนวิญญาณ  การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น  สัญญาจํา ย่อมทำให้เกิด  เวทนา ย่อมทำให้เกิด สัญญาหมายรู้  ย่อมทำให้เกิด สังขารขันธ์ [ เป็นปัจจัยไปปรุงจิต ให้เกิดสัญเจตนาเกิดสัญเจตนา(เจตนา,จงใจ) จึงทำให้เกิดกรรม (คือ การกระทำต่างๆ ได้ทั้งทางกาย(กายกรรม) ทางวาจา(วจีกรรม) หรือทางใจ(มโนกรรม)เช่นความคิดเป็นทุกข์อันให้โทษ(คิดที่เกิดจากสังขารขันธ์นี้เป็นผล และสามารถไปทำหน้าที่เป็นเหตุได้อีก) ]  

 

        สอนสมาธิ ต้องสอนสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด  ความรู้เห็นอะไรที่เขาอวดๆกันนี่ อย่าไปสนใจเลย  ให้มันรู้เห็นจิตของเรานี่  รู้กายของเรา

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

        เรื่องดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ บุญ-บาป ยังไม่ใช่ความสงบ

ท่านพุทธทาสภิกขุ

        "ทุกข์" นั้นเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้เท่า ไม่ใช่ละ  "ละไม่ได้" ในเมื่อขันธ์ ๕ มีอยู่ตราบใด ทุกข์ก็มีอยู่ตราบนั้น  ที่ทรงสอนให้ละนั้นคือ "สมุทัย" คือเหตุให้เกิดทุกข์ต่างหาก

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

Webmaster-ขันธ์ ๕ หรือชีวิตยังมีอยู่ตราบใด ทุกขอริยสัจก็ยังคงมีอยู่ตราบนั้นเป็นของคู่ชีวิต   อีกทั้งทุกขเวทนาก็ยังมีอยู่กับชีวิตเป็นธรรมดาเพราะประสาทสัมผัสหรือวิญญาณยังไม่ดับ ที่จำเป็นเพื่อการรับรู้จากผัสสะสื่อสารกับโลก  จึง "ละ"เพียงตัณหาหรืออกุศลสังขารขันธ์(โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่านฯ.) หรือละมโนกรรมที่เกิดจากเหล่าอกุศลสังขารขันธ์เหล่านั้นเสียนั่นเอง(คือหยุดการอุทธัจจะคือคิดฟุ้งซ่าน)

        กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา  ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนี้ภาวนาบ่อยๆ  พิจารณาให้มากๆ  พิจารณาย้อนกลับไปกลับมา  จิตจะค่อยๆก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับๆไป

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

        การกระทำของตนเอง ก็ยังมิได้ถูกใจตนเองเสมอไป นับประสาอะไร จากการกระทำของผู้อื่น

ท่านพุทธทาสภิกขุ

        การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลังกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง......การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตคนเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังด้านสมาธิ

หลวงปู่ชา สุภัทโท

        การบริกรรมพุทโธเป็นการกระทำภายในใจ ต้องมีสติในการบริกรรม ไม่ใช่บริกรรมพุทโธๆ แต่ไม่มีสติกำกับ  ถ้าหากว่ามีสติควบคุม ก็จะไม่หลงลืม แล้วการบริกรรมพุทโธนั้นก็จะมีความละเอียด หรือมีความสดใสเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ พุทโธกับสติ ก็มีโอกาสที่จะรวมเป็นอันเดียวกัน

หลวงปู่แบน ธนากโร

        การภาวนานั้น ไม่ใช่จะนั่งหลับตาอย่างเดียว แต่ต้องทำและทำได้ตลอดเวลาการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้มีสติประคับประคองอยู่เสมอ สมาธินั้นอาตมาไม่เอามากหรอก....แต่ให้มี "สติ" อยู่เสมอ

หลวงปู่ชา สุภัทโท

        การภาวนานั้น คือ การเจริญจิตให้มีสติสมบูรณ์ สามารถรู้เท่าทันเหตุแห่งทุกข์ จะได้ละเหตุนั้นก่อน จึงจะได้ไม่ต้องรับทุกข์นั้น  หากจิตใจที่ไม่เคยฝึกอบรมภาวนาแล้ว ย่อมไม่มีคุณเครื่องป้องกันทุกข์ที่จะเกิดขึ้นได้เลย

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

        ขันธ์ ๕ ย่อมทำงานของเขาไปตามธรรมชาติ  ไม่มีใครหยุด หรือห้ามการทำงานของเขาได้ เพียงแต่มีสติ ระลึกรู้ แล้ววาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็สามารถเป็นอิสระเหนือขันธ์ ๕ ได้ โดยวิธีนี้

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล

Webmaster-ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา จึงควบคุมบังคับบัญชาเขาให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มาประชุมกันเท่านั้นเอง  จึงไปห้ามไปหยุดเขาให้ทำหน้าที่ของเขาไม่ได้เลย จึงให้เพียงแต่รู้ แล้วปล่อยวางหรืออุเบกขา

        ความคิด(ธรรมารมณ์)นั้น มันเกิดอยู่เสมอ เหมือนลมหายใจนั่นเอง ห้ามไม่ได้   การปฏิบัติก็ไม่ได้มุ่งให้ดับความคิด   เอาแค่ว่า พอรู้อารมณ์(คือสังขารขันธ์)แล้ว   จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง(คิดนึกปรุงแต่งจากอารมณ์หรือสังขารขันธ์ ก็คือมโนกรรม) ก็ให้รู้ทัน  อย่าให้ฝันทั้งที่ตื่น คือ หลงคิดไป(คือปรุงแต่งไปในมโนกรรม)โดยไม่รู้ตัว เท่านี้พอ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

Webmaster-ความคิดนึก เช่นธรรมารมณ์นั้นห้ามไม่ได้ เพราะทำหน้าที่เป็นเหตุ ใช้ในการดำเนินชีวิตมันจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ  แต่มโนกรรมที่เกิดจากอารมณ์ต่างหากที่ต้องรู้ทัน เมื่อเห็นว่าเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุแล้ว ก็"ละ"เสีย คือไม่ปรุงแต่งต่อ คืออุเบกขาเสียนั่นเอง  ด้วยเหตุและผลเป็นไปดังภาพ

  คิดนึกที่เป็นเหตุ                                    ผัสสะ

ธรรมารมณ์    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ใจ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด มโนวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์   anired06_next.gifเกิดสัญเจตนา(เจตนา,จงใจ)anired06_next.gifกรรม (คือ การกระทำต่างๆทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ) ทางใจคือ มโนกรรม (คือความคิดนึกอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์ข้างต้นขึ้นนั่นเอง)

 ถ้าไม่อุเบกขาเสียคือปล่อยวางหรือไม่ยึดถือ    มโนกรรมคือความคิดนึกที่เกิดจากอารมณ์นี้  ก็จะไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์อีกครั้งนั่นเอง

 คิด อันเป็นเหตุ (ธรรมารมณ์) + ใจ + มโนวิญญูาณ    anired06_next.gif   เวทนา

              (มโนกรรม)               คิดนึกปรุงแต่ง  วนเวียนเป็นวงจรไม่หยุดหย่อน                                

                สังขารขันธ์ เกิดคิดมโนกรรม(อันเป็นผล)      สัญญูา(หมายรู้)               

 

ในวงจรจึงล้วนเกิดเป็นความคิดที่วนเวียน  จึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลาเป็นวงจร จนมักเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นในที่สุด

คือมักเกิดเป็นสังขารขันธ์ชนิดตัณหาขึ้นในที่สุด  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทาน  จึงเกิดอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์

        จิต คือผู้ปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ต่างๆ....กิเลส เครื่องเศร้าหมอง คือ จิตที่ไปยึดอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากจิตมาเป็นของตัว....สติ คือ ผู้ควบคุมจิตไม่ให้หลงไปยึดเอาอารมณ์ต่างๆ(เช่นความโกรธ,ทุกข์,หดหู่ อิจฉา ฯ.)มาเป็นของตัว

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

        จิตไม่มีตัวมีตน จิตเหมือนวอก(ลิง) นี่แหละ แล้วแต่มันจะไป  บังคับบัญชามันไม่ได้  แล้วแต่มันจะปรุงจะแต่ง(แล้วเป็นไปตามเหตุปัจจัย) บอกไม่ได้  ไหว้ไม่ฟัง(ควบคุมบังคับขอร้องให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้นั่นเอง) เพราะฉนั้นพระพุทธเจ้าให้วางมันเสีย อย่าไปยึดถือมัน

หลวงปู่ขาว อนาลโย

webmaster - อย่ายึดถือ ก็คือการปล่อยวาง ที่ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้ด้วยการอุเบกขา คือไม่เข้าไปปรุงแต่งพัวพันเสียนั่นเอง

        ตัวนึกคิด(มโนกรรม)นี่แหละคือสมุทัย    มรรคคือการเอา"สติ"มาดูความคิด   นี่คือข้อปฏิบัติ

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโก

 

        ให้เห็นความคิด(คือมโนกรรม)   อย่าไปห้ามความคิด(คือธรรมารมณ์)    และอย่าไปยึดถือ  ให้ปล่อยมันไป

webmaster-อย่าไปห้ามความคิดนึกอันเป็นฝ่ายทำหน้าที่เป็นเหตุหรือธรรมารมณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิต   ส่วนความคิดอันเป็นผลที่เกิดจากสังขารขันธ์(มโนกรรม)นั้นแม้ย่อมห้ามไม่ได้  แต่เมื่อเกิดขึ้น แล้วเล็งเห็นว่าเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุแล้ว ก็อย่าหยิบยกขึ้นมาให้เป็นเหตุคือให้แปรไปเป็นธรรมารมณ์ขึ้นมาอีก  ด้วยการไม่ยึดถือ ปล่อยมันไป หรืออุเบกขาเสียนั่นเอง

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโก

 

        อันนี้แหละ  ลัดสั้นที่สุด  มันคิดปุ๊บ เห็นปั๊บ(คิดนึกประเภทมโนกรรม) ขึ้นมา  อันนี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรมแท้ๆ......หากคนมีปัญญาจริงๆ  ดูความคิด มันคิดปุ๊บ เห็นปั๊บ นี่เป็นการปฏิบัติธรรม ดีใจ เสียใจ พอใจ ไม่พอใจ รีบมาแก้ไขตรงนี้(ตรงความคิดคือมโนกรรมที่เกิดขึ้น)

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโก

 

        แต่ถ้าคนใดแม้จะไม่เคยให้ทาน  ไม่เคยรักษาศีล  แต่การอยู่  การกิน  การนั่ง การนอนของเขา  มีจุดมุ่งหวังที่จะมาทำลายโทสะ  ทำลายโมหะ  ทำลายโลภะ  นี้แสดงว่าคนผู้นั้นแหละ  เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า  

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโก

        ประโยชน์ของการดูจิตนั้นมีอยู่มากนัก เบื้องต้นดูจิตเพื่อให้เห็นความคิด   การเห็นความคิดบางทีเผลอบ้าง หลงลืมบ้างไม่เป็นไร   ฝึกบ่อยๆ จนชำนาญก็เอาอยู่  เมื่อฝึกจนชำนาญแล้วแขกจะไม่ค่อยมาเยือน  เมื่อถึงที่สุดเมื่อแขกมา...ยืนหน้าบ้าน เราก็รู้ แต่ไม่ต้อนรับแขกให้เข้ามาแล้ว

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

webmaster-เมื่อถึงที่สุดของหลวงปู่หมายถึง เมื่อปฏิบัติบ่อยๆก็เป็นมหาสติอย่างหนึ่งได้นั่นเอง คือหมายถึงมันสามารถทำเองโดยอัตโนมัติ เหมือนดังเมื่อมียุงกัด เราก็ยกมือขึ้นปัดโดยอัติโนมัติ  เดินสะดุดก็มีสติทรงตัวได้เองโดยอัตโนมัติ   ดังนั้นเมื่อเห็นจิตคือสังขารขันธ์คืออารมณ์อันเป็นโทษแล้วอุเบกขาจนชำนาญ อีกหน่อยจิตก็สามารถทำเองได้โดยอัตโนมัติ คือ เมื่อเห็นแขก(คืออารมณ์หรือมโนกรรมอันเป็นโทษ)จรมาเยือนหน้าบ้าน ไม่ว่าจะเวทนา หรือสังขารขันธ์อันเป็นทุกข์ เช่นโทสะ กลัว หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. หรือความคิดนึกต่างๆที่เป็นผลขึ้นมาจากสังขารขันธ์ทุกข์นั้นๆ(มโนกรรม)  เราก็รู้ แล้วปล่อยวางเสียแต่ต้นมือ  ด้วยอุเบกขาคือการปล่อยวาง ไม่เชื้อเชิญไม่ต้อนรับแขกให้เข้ามาในบ้าน

แขกมาเยือนหน้าบ้าน จึงมีความหมายถึง ความคิดนึก(มโนกรรม)ที่เกิดมาจาก ผลจากการผัสสะจนเกิดอกุศลสังขารขันธ แล้วเกิดสัญเจตนาแล้วเกิดความคิดนึกอันเป็นโทษหรืออกุศลขึ้น(มโนกรรม) อันมักจะไปทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์อีกจึงเกิดความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาวนเวียนเป็นวงจร จึงไม่ใช่หมายถึงความคิดทั่วๆไปที่ผุดหรือใช้งานในการดำรงชีวิตที่เป็นเพียงธรรมารมณ์ธรรมดาของโลกที่ยังจำเป็นใช้ในการดำเนินชีวิต,  การปฏิบัติดั่งนี้ก็คือการปฏิบัติในจิตตานุปัสสนานั่นเอง

        กล่าวคือ มีสติ(รู้)ว่า เมื่อมีแขกชื่อ"มโนกรรม"และผองเพื่อนชื่อ"คิดนึกปรุงแต่ง" อันไม่เป็นมิตร(ให้โทษ) มาเยือนที่หน้าบ้าน  เราก็ไม่เปิดประตู(ไม่เอา,อุเบกขาเสีย) คือไม่ต้อนรับเขาให้เขาเข้ามาในบ้าน(คือใจ)

        การปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเดินทางไปไหน ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ นี้แลเป็นตัวธรรม เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติที่กายและใจนี้ หาได้ปฏิบัติที่อื่นไม่

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

        ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้  รู้แจ้งในขันธ์ ๕,  แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท,  หยุดการปรุงแต่ง(คืออุทธัจจะในสังโยชน์ ๑๐),  หยุดการแสวงหา,  หยุดกริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(webmaster-กริยาจิต หลวงปู่น่าจะหมายถึง การกระทำทางจิต หรือสังขารขันธ์ อาทิเช่น ชอบ-ชัง, ถูก-ผิด, บุญ-บาป, ดี-ชั่ว, ยินดี-ยินร้าย ฯ.)

        มีผู้เรียนถาม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า   พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ ฯ

        ท่านตอบว่า  "การหลับแล้วเกิดฝัน  เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ไม่ใช่หรือ."

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(webmaster-ท่านสอนธรรมะในคำตอบนั้นด้วย  เมื่อเป็นขันธ์คือสังขารขันธ์  เขาย่อมเป็นอนัตตา เป็นอิสระจากเรา ทำงานตามหน้าที่ตนเท่านั้น ไปห้ามเขาไม่ได้  จึงย่อมมีอยู่เป็นธรรมดาของชีวิตเหมือนปุถุชน   จึงยังคงมีฝันเป็นธรรมดา

        เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร  ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น, อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง, อย่าไปเอออเห็นดีเห็นงาม ให้จิตได้โอกาสก่อรูปร่างเป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกัน เพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(webmaster-อารมณ์ภายนอก หลวงปู่หมายความถึง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ จากภายนอกนั่นเอง  แล้ว"หยุดคิดนึกปรุงแต่ง")

        ทุกข์กับความเพียรเท่านั้นที่มีค่ามากในโลกนี้  หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว ใครๆในโลกนี้ จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพาน

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

        ทุกข์เพราะอะไร ?...นอกจากไม่ทันอารมณ์ หลงปล่อยใจคิดมากจนดับไม่ได้  คิดอะไรดีหรือไม่ดีก็ปล่อยไปตามอารมณ์(สังขารขันธ์)จนจบ พอจบก็เป็นทุกข์...คิดดีก็เฉย คิดไม่ดีก็เฉย ไม่ไปตามทั้งคิดดีและไม่ดี

หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ

  

        ผู้นับถือพุทธศาสนา ไม่มีโอกาสไปวัดไปวา เราอยู่บ้าน จงให้พากันมีวัดภายใน คือ ที่ตัวของเรา ที่บ้านของเราทุกๆคน วัดคือ สถานที่ที่เราจะบำเพ็ญคุณงามความดี

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

        ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย(ย่อมทราบดีว่า) เมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกันเข้า มีความรู้สึก(ย่อมต้อง)เกิดขึ้น(เป็นธรรมดาของชีวิต) ย่อมพิจารณาเป็นไตรลักษณญาณอย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยบถใดๆทั้งหมด ถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้ว มันจะเป็นไปโดยอัติโนมัติของมันเอง มีความรู้เท่าตลอดเวลา จนเห็นว่าอารมณ์ทั้งปวง สักแต่ว่าอารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

(webmaster-ไตรลักษณญาณ ปัญญาเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์ ดังเช่น เมื่อมีการกระทบกัน(ผัสสะ)แล้วมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของเวทนาแล้วยังให้เกิดสังขารขันธ์(อารมณ์)  และไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์จากการคงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้แล้วดับไป และไม่ใช่ตัวตน จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงบังคับบัญชาไม่ได้)

        ภาวนาให้จิตสงบได้รู้ธรรมเห็นธรรมได้ภายในบ้าน จะมีคุณค่าดียิ่งกว่านิมนต์พระไปสวดมนต์ตั้งหมื่นๆ องค์

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

        "สติ" ให้นำมาใช้ในขณะตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  จมูกได้ดมกลิ่น  ลิ้นได้ลิ้มรส  กายต้องโผฏฐัพพะ  ใจได้สัมผัสธรรมารมณ์  ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกยินดี ยินร้ายครอบงำ,  ส่วนความรู้สึกยินดียินร้ายก็คงมีอยู่(เป็นธรรมดาของขันธ์)   แต่ว่าไม่ให้มันครอบงำเราได้

หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม

webmaster-ความรู้สึกยินดียินร้าย ยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา เพราะเป็นขันธ์คือสังขารขันธ์(อารมณ์)อย่างหนึ่ง เป็นอนัตตาจึงควบคุมบังคับเขาไม่ได้ตามใจปรารถนา ซึ่งทำงานเป็นอิสระตามหน้าที่ของเขาเท่านั้น จึงเป็นไปตามเหตุปัจจัย,  แต่ไม่ปล่อยให้มันครอบงำ เสียด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือปล่อยวาง ช่างมัน ไม่ยินดียินร้าย  ด้วยการอุเบกขาเสียนั่นเอง

        สมาธิทำให้เกิดปัญญา  การเจริญวิปัสสนา คือ การนำปัญญามาใช้

        จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆกรณี ย่อมไม่ได้ ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆทั้งสิ้น  จิตย่อมไม่ไหลไปตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

webmaster-จึงห้ามแต่จิตคือ"ความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากการผัสสะจนเกิดสังขารขันธ์ทุกข์หรืออกุศลสังขารขันธ์ขึ้นคือมโนกรรม ซึ่งย่อมยังให้เกิดสัญเจตนาเกิดความคิดนึกอันเป็นอกุศลเพียงเท่านั้น)

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

        ทุกข์มันมีอยู่ตลอดเวลา  ทุกข์เพราะหิวกระหาย  ทุกข์เพราะเจ็บป่วย  ทุกข์เพราะความทะเยอทะยานดิ้นรน อยากได้นั่นอยากได้นี่   ทุกข์เพราะความกังวลเกี่ยวข้องพัวพัน กลุ้มอกกลุ้มใจ  ทุกข์ที่เป็นนามธรรม     ทุกข์ที่เป็นรูป ก็ทุกข์เพราะหิวกระหาย กระทบเย็นร้อนอ่อนแข็ง ทุกอย่างที่มากระทบ    เพราะสัมผัสมันมีอยู่  ประสาทมันยังไม่ทันดับยังไม่ทันตาย  สิ่งทั้งหลายจะต้องมากระทบอยู่ตลอดเวลา  จะหนีทุกข์พ้นที่ไหนได้ ไปไม่พ้นหรอก   จึงว่าใครจะทิ้งทุกข์ก็ทิ้งไม่ได้  มีชีวิตอยู่ตราบใดก็ยังมีทุกข์อยู่ตราบนั้น    พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน  พระอริยสงฆ์สาวกก็เหมือนกัน   ถึงแม้ท่านจะพิจารณาเห็นทุกข์แล้ว  ทุกข์ก็ยังอยู่เหมือนเดิม  ท่านก็ไม่ได้ทิ้งไปไหน  แต่ว่าทุกข์มาแล้วไม่สามารถมารบกวนท่านได้  ด้วยเหตุที่ท่านเห็นชัดตามเป็นจริง ดังที่อธิบายมานั้น.......

webmaster-ปุถุชนมักไปคาดเดากันไปว่า ไม่มีเลย มีแต่พ้นทุกข์อย่างสุข สงบ สบาย แต่ฝ่ายเดียว ตามสีลัพพตุปาทานและทิฏฐุปาทาน ที่ซึมซ่านย้อมจิตกันมาแต่อ้อนแต่ออก  โดยไม่รู้ว่ายังคงมีทุกข์ธรรมชาติหรือทุกขอริยสัจยังคงเกิดมีอยู่เป็นธรรมดาของโลก เพียงแต่ทุกข์เหล่านั้นล้วนไม่สามารถมารบกวนท่านให้เร่าร้อนลนใจได้  กล่าวคือ พระอริยเจ้านั้น แม้ทุกขอริยสัจหรือทุกข์ธรรมชาติทั้งหลายยังคงมีอยู่เป็นธรรมดา คือยังมีทุกข์ในระดับขันธ์ ๕ อันเป็นวิสัยโลก  แต่ท่านทั้งหลายไม่มีอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ คือทุกข์หรือขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานจึงเร่าร้อน,  ทุกข์เหล่านั้นจึงรบกวนท่านไม่ได้

 จากเรื่อง "ทุกข์"  โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรัง

        อย่าด่วนตัดสิน ในสิ่งที่เพิ่งได้เห็น  อย่าเชื่อในสิ่งที่เพิ่งได้ฟัง  อย่าด่วนสรุปในสิ่งที่เพิ่งได้อ่าน แต่จงใช้วิจารณญาณอย่างถึงที่สุด

ท่าน มหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ท่าน ว.วชิรเมธี)

        เรื่องเวทนานี้  เราจะหนีมันไปไหนไม่ได้  เราต้องรู้มัน  เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา  สุขก็สักแต่ว่าสุข  ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์  มันเป็นของสักว่าเท่านั้นแหละแล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นมันทำไม

 

        ให้ขันธ์ ๕ เป็นทาน ท่านกล่าวว่า ย่อมสูงกว่า เงินทอง ของทั้งสิ้น    พินิจขันธ์ ๕ ให้ว่าง เป็นอาจิณ    ทุกข์ดับสิ้น จิตสงบ พบนิพพาน

หลวงปู่ชา สุภัทโท

          มีผู้เรียนถาม"หลวงปู่ดูลย์ อตุโล"ว่า "หลวงปู่  ยังมีโกรธไหม"  หลวงปู่ตอบว่า "มี  แต่ไม่เอา"

 หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

webmaster-เป็นคำตอบตามความสัตย์จริงอันยิ่ง เหตุที่ท่านกล่าวยอมรับว่า"มี" ความโกรธอยู่นั้น เพราะโกรธนั้นก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งแม้เป็นอกุศลสังขารขันธ์ แต่ก็ยังคงมีอยู่เป็นธรรมดาของขันธ์ ที่ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ด้วยเป็นอนัตตา ไม่ว่าอริยบุคคลระดับไหน การไปดับตรงๆดื้อๆ หรือจะไม่ให้เกิดขึ้นเลยจึงย่อมไม่ได้,   แต่"ไม่เอา"คือไม่เอาไปปรุงแต่งต่อ โดยการไม่เอามโนกรรมอันพึงเกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์โกรธนั้นไปปรุงแต่งต่อ หรือการอุเบกขาสัมโพชฌงค์เสียนั่นเอง เพื่อไม่ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปได้  โกรธก็ย่อมเสื่อมดับไป ในขณะจิตหนึ่ง  จึงเป็นการตัดวงจรของทุกข์ไม่ให้เกิดการสืบเนื่องต่อไปเสียนั่นเอง ที่เีรยกกันทางโลกๆว่า"ดับ"ไปก็ได้   แต่ในความคาดเดาของปุถุชนนั้น มักคาดเดาไปกันเองว่าท่านต้อง "ไม่มี"  เมื่อเข้าใจผิดไปดั่งนั้น เมื่อมีการปฏิบัติจึงเห็นเป็นไปตามแนวทางตามความคิดเห็นที่เข้าใจผิด(ทิฏฐุปาทาน)ที่เกิดขึ้นและเป็นไปโดยไม่รู้ตัว จึงโน้มเอียงศึกษาค้นหาไปในทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ โดยการดับขันธ์คือสังขารขันธ์ทุกข์ต่างๆอย่างตรงๆดื้อๆอย่างหักหาญโดยห้าวหาญ โดยหารู้ไม่ว่าไม่สามารถไปดับขันธ์ต่างๆอันเป็นสภาวธรรมของชีวิตได้โดยตรงๆดังปิดสวิตช์ไฟ ด้วยกำลัง  แม้ด้วยฌานสมาธิที่แม้มีกำลังมากแต่ก็ได้เพียงกดข่มไว้ในชั่วขณะที่อยู่ในสภาวะนั้นเท่านั้น ที่ท่านกล่าวว่าจึงเป็นเพียง วิกขัมภนวิมุตติ  การพยายามดับโดยหักหาญจึงเปรียบเสมือน วิ่งเอาหัวชนภูเขา จึงย่อมไม่สามารถก้าวหน้าไปในการปฏิบัติได้  เพราะเป็นการไปต่อสู้กับธรรมหรือธรรมชาติ อันเป็นวิสัยของโลก จึงไม่มีวันชนะะอย่างแท้จริง  จึงต้องดำเนินกลยุทธตามหลัก"อิทัปปัจจยตา" จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามหลักพระศาสนา อันเป็นปรมัตถ์   และแม้ความโกรธนี้เป็นปฏิฆะ แต่เป็นไปในระดับขันธ์ ๕ อันเพียงเป็นไปตามธรรมชาติหรือวิสัยโลก แต่เมื่อรู้เท่าทันและไม่เอาหรืออุเบกขา ก็ไม่นอนเนื่องเป็นอนุสัย(ปฏิฆานุสัย)คือไม่เป็นปฏิฆะในสังโยชน์ ๑๐ (รายละเอียดอยู่ในสังโยชน์ ๑๐)

         อีกครั้งหนึ่ง มีผู้เรียนถามหลวงปู่เรื่องการละกิเลส "หลวงปู่ครับ ทําอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้"

หลวงปู่ตอบว่า  "ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก  มีแต่รู้ทัน... เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง."    (น.๔๖๒) 

 หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

webmaster-ความโกรธเป็นขันธ์คือสังขารขันธ์ อันเป็นอิสระดังกล่าวข้างต้นมามากแล้ว  จึงตัดให้ขาดหรือไม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นไปไม่ได้   แต่รู้ทัน แล้วอุเบกขา มันก็ดับไปเอง

         "คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้  ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้  แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้"

 หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

webmaster-ขยายความว่า คิดนึกปรุงแต่งในมโนกรรมเท่าไรๆก็ไม่รู้จักนิโรธการดับทุกข์   ต้องหยุดคิดนึกปรุงแต่งในมโนกรรมอันเป็นโทษหรือสมควรแก่เหตุแล้วจึงรู้จักนิโรธ   แต่ทั้งหมดที่รู้ได้ก็เพราะเกิดจากการคิดพิจารณาคือการโยนิโสมนสิการจึงจักรู้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง

        การดับทุกข์คือ การรู้เท่าทันทุกข์

        ไม่ยินดียินร้าย ต้องเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ

        พยายามรักษาจิตให้เสมอ อย่าให้ขึ้นลงตามกิเลสที่มาก่อกวน

        จิตนี้เมื่อเราปฏิบัติถึงจุดแห่งผล

        อานิสงส์จะหาประมาณมิได้

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

        "สมาธิ เป็นองค์ธรรมที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งก็จริง  แต่ก็มีขอบเขตความสำคัญที่พึงตระหนักว่า  สมาธิมีความจำเป็นแค่ไหนเพียงใด  ในกระบวนการปฏิบัติ  เพื่อเข้าถึงวิมุตติ  อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม(ธรรมของพระพุทธเจ้า อันมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความสุข อันเกิดจากการหลุดพ้นจากความทุกข์ - webmaster)    ขอบเขตความสำคัญนี้  อาจสรุปดังนี้

        ๑. ประโยชน์ของสมาธิ   ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น  อยู่ที่การนำมาใช้เป็นที่ทำการสำหรับให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลที่สุด    และสมาธิที่ใช้ในการนี้ก็ไม่จำต้องเป็นขั้นที่เจริญถึงที่สุด    ลำพังสมาธิอย่างเดียวแม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด  หากไม่ก้าวสู่ขั้นใช้ปัญญาแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้ถึงจุดหมายของพุทธธรรมได้อย่างเป็นอันขาด

         ๒. ฌานต่างๆทั้ง ๘ ขั้น  แม้จะเป็นภาวะจิตที่ลึกซึ้ง  แต่ในเมื่อเป็นผลของกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่าสมถะอย่างเดียวแล้ว ยังเป็นเพียงโลกียเท่านั้น  จะนำไปปะปนกับจุดมุ่งหมายทางพุทธธรรมหาได้ไม่

         ๓. ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลสำเร็จของสมาธินั้น    กิเลสต่างๆสงบระงับไป  จึงเรียกว่าเป็นการหลุดพ้นเหมือนกัน  แต่ความหลุดพ้นนี้มีชั่วคราวเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะนั้นเท่านั้น   และถอยกลับสู่สภาพเดิมได้  ไม่ยั่งยืนแน่นอน   ท่านจึงเรียกการหลุดพ้นชนิดนี้ว่าเป็นโลกียวิโมกข์ (ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์)   เป็นกุปปวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่กำเริบคือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้)    และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้  เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า  ยกแผ่นหินออกเมื่อใด  หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่)

         จากข้อพิจารณาที่กล่าวมานี้  จะเห็นว่า ในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดมุ่งหมายของพุทธธรรมนั้น  องค์ธรรมหรือตัวการสำคัญที่สุดที่เป็นตัวตัดสินใจในขั้นสุดท้าย  จะต้องเป็นปัญญา  และปัญญาที่ใช้ในการปฎิบัติการในขั้นนี้  เรียกชื่อเฉพาะได้ว่า วิปัสสนา   ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องก้าวมาถึงขั้นวิปัสสนาด้วยเสมอ   ส่วนสมาธินั้น แม้จะจำเป็น แต่อาจยืดหยุ่นเลือกใช้ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้  เริ่มแต่ขั้นต้นๆ ที่เรียกวิปัสสนา-สมาธิ   ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ  เป็นต้นไป..........................."  (พุทธธรรม หน้า ๘๖๘ - ๘๖๙)

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต)

 

ข้อน่าคิดพิจารณา

      "จิต"อุปมาดั่ง"เงา" กล่าวคือ จิตเป็นอนัตตาไม่มีตัวตน ของตนเองจริง เหมือนดั่งเงา  และมีการเกิดดับๆ...จากเหตุปัจจัยเฉกเช่น"เงา"

      "เงา" นั้นก็ไม่มี ในแสง ๑

      "เงา" นั้นก็ไม่มี ในวัตถุทึบแสง ๑

      "เงา" นั้นก็ไม่มี ในพื้นที่รับการตกกระทบของแสง ๑

      แต่เมื่อเหตุทั้ง ๓ ดังกล่าวข้างต้น  มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน  ก็ย่อมต้องเกิดสิ่งที่เรียกกันโดยโลกสมมติว่า "เงา" ขึ้น

      และเมื่อเหตุปัจจัยอันใดมีอาการแปรปรวน   "เงา"นั้นก็ย่อมต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่ย่อมมีการแปรปรวนนั้นๆ

      และเมื่อเหตุที่เป็นปัจจัยอันใดดับไป  "เงา"นั้นก็ย่อมต้องดับไปตามเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง

      สังขารทั้งปวงล้วนสิ้น  ก็เฉกเช่นกัน  

      (ชีวิต ขันธ์ ๕ ความสุข ความทุกข์ โทสะ โมหะ โลภะ ราคะ คือทุกสรรพสิ่งที่เป็นสังขารอันย่อมถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ทั้งรูปธรรม และนามธรรม)

      ดังนั้นการไล่ค้นหาจิต หรือไปยึดถือจิต จึงย่อมไม่มีวันประสบผลสำเร็จได้ ดุจดั่งการวิ่งไล่จับเงา ที่ย่อมไม่มีวันสำเร็จได้  ไม่ว่าจะเนิ่นนานไปกี่ร้อยภพ กี่พันชาติ ตลอดกาลนานก็ตามที

      ตัณหา อันเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์นั้น  ครอบคลุมถึง อกุศลสังขารขันธ์ คืออารมณ์อกุศลทั้งปวงอีกด้วย ดังเช่น โทสะ โมหะ โลภะ ฯลฯ.  ดังโทสะก็เกิดขึ้นจากการไม่เป็นไปตามใจปรารถนา,ตามใจอยาก คือตัณหา จึงเกิดโทสะขึ้น เป็นต้น,  หรือโมหะความหลงความไม่รู้ เพราะไม่เป็นไปตามใจปรารถนาคือตัณหา จึงเกิดการหลงอยากหรือไม่อยากให้เป็นไปตามที่ตนเองปรารถนาดังนั้น ดังนี้เป็นต้น,  โลภะ, ฟุ้งซ่าน หดหู่ ฯ. ก็เป็นไปในลักษณาการเดียวกัน

พิจารณาในแง่อริยสัจ ๔    อุทธัจจะ นั่นแหละเป็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์       อุเบกขา นั่นแลเป็นมรรคการปฏิบัติ เพื่อนิโรธอันพ้นทุกข์

        อุเบกขา การวางใจเป็นกลาง ด้วยการวางทีเฉย ไม่เอนอียงเข้าไปแทรกแซงปรุงแต่งด้วยถ้อยคิด หรือกริยาจิตใดๆในกิจนั้นๆ  หมายความว่า มีทั้งสติ(ระลึกรู้เท่าทัน) สมาธิ(จิตแน่วแน่) และปัญญา(ความรู้ความเข้าใจในขันธ์ ๕ จึงเป็นกำลัง) ที่เมื่อเกิดการผัสสะต่างๆแล้ว ย่อมต้องเกิดเวทนา คือ ความรู้สึกจากการต้องรับรู้ในรสสัมผัส หรือผัสสะ เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา เป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ   อีกทั้งยังเนื่องให้เกิดสังขารขันธ์คืออารมณ์ หรืออาการของจิตต่างๆ เช่น โมหะ โทสะ โลภะ ฯ.เนื่องต่อไปอีก   จึงต้องมีสติรู้เท่าทัน ในเวทนาหรือตัณหา(อกุศลสังขารขันธ์) ด้วยความแน่วแน่คือมั่นคง อีกทั้งความรู้ความเข้าใจดีว่า มันต้องเกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนั้นเองตามธรรม คือธรรมชาติ  จึงไม่ยึดมั่น หมายมั่นใดๆ ด้วยอาการของการไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งต่างๆนาๆ นั่นเอง แล้วมันก็ดับไป

 

        อุทธัจจะ  คิดฟุ้งซ่าน คือ คิดนึกปรุงแต่ง คือ ความคิด ความนึกที่เกิดขึ้นในใจ ที่เกิดขึ้นไปปรุงแต่งจิตต่างๆนาๆ โดยเฉพาะทางด้านอกุศล  อีกทั้งมักเกิดเนื่องต่อจากมโนกรรม ซึ่งย่อมก่อให้เกิดการวนเวียนปรุงแต่งจนเกิดการผัสสะต่างๆนาๆ  จึงเกิดเวทนาต่างๆนาๆขึ้น อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คืออกุศลสังขารขันธ์หรืออารมณ์อกุศลทั้งปวง  จัดเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๙

          หยุดคิดปรุงแต่ง ไม่ใช่การหยุดคิดหยุดนึกในธรรมารมณ์ที่ย่อมต้องใช้ในการดำเนินชีวิต   แต่เป็นการหยุดคิดหยุดนึกใน"มโนกรรม" ที่เป็นผลเกิดขึ้นจากเวทนา หรือสังขารขันธ์(อารมณ์ต่างๆ) ที่สติรู้เท่าทันและเล็งเห็นว่า เป็นโทษ

        เวทนา ทำงานเสมือนหนึ่งเป็นเพียงเครื่องมือจักรกล  ทำหน้าที่รองรับการผัสสะ ทุกชนิด และทุกทีไป  แล้วประกอบร่วมคลุกเคล้าด้วยสัญญาจำได้ หมายรู้ (เช่น รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพะสัญญา และ ธัมมะสัญญา) จึงเกิดเป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นตลอดเวลา ทุกครั้งทุกทีไป  จึงไม่ควรไปยึดมั่น หมายมั่นใดๆ เพราะเขาเพียงทำได้แต่ตามหน้าที่ตนได้เท่านั้น  ดุจดั่งเครื่องจักรเครื่องกลที่มีหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเท่านั้นเอง  เป็นอนัตตาควบคุมบังคับบัญชาเขาให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้  จึงเหมือนเครื่องจักรกลจริงๆ ที่เพียงทำหน้าที่ตามที่ได้ตามออกแบบสร้างไว้เท่านั้น

   

 หัวข้อธรรม

 

กลับหน้าเดิม