buddha1-1.gif

หัวข้อธรรม ๑๑

ลักษณะ หรือเครื่องกำหนดต่างๆที่แสดงความเป็น

 คลิกขวาเมนู

อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา ของสังขารทั้งปวง

สามารถนำไปพิจารณาได้ในทุกสรรพสิ่งที่เป็นสังขาร คือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น กล่าวคือเกิดแต่การมีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกัน  จึงยกเว้นเพียงอสังขตธรรมคือสิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่งคือไม่มีสังขาร เช่น สภาวธรรม หรือสภาวธรรมชาติเท่านั้น

อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ, ลักษณะที่แสดงอนิจจัง
       ลักษณะที่เห็น(แสดง)ว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
           ๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้น และสลายไป คือ เกิดดับๆ มี แล้วก็ ไม่มี
           ๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
           ๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ (ตามเหตุปัจจัยของแต่ละสังขาร จึงมีวงจรชีวิตของสังขารต่างๆไม่เท่ากัน)
           ๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว

(เหตุเมื่อไม่เที่ยงแล้ว จึงยังผลให้เกิดทุกข์ เนื่องต่อไปอีกด้วย  ตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม)

ทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์,
       ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
           ๑. ถูกการเกิดขึ้น และการต้องดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา (คือมีการบีบคั้นให้เกิดการปรุงแต่งกันเกิดขึ้น และบีบคั้นให้ดับสลาย กลับคืนสู่สภาพเดิมๆ - ดังตัวอย่างในเรื่องน้ำ ดังนี้)
           ๒. ทนได้ยาก หมายถึงคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ด้วยสภาวะจากข้อ๑ สังขารจึงทนได้ยาก ที่หมายถึงคงสภาพเดิมไว้ไม่ได้ จีงต้องคลาย,ดับไปเป็นที่สุดด้วยแรงบีบคั้นต่างๆนาๆ คืออาการของสังขารทั้งปวง แม้สุขเวทนา,ความสุข ฯลฯ.)  อีกทั้งยังครอบคลุมถึง การร่วมอยู่ด้วยกันแล้วมีความยากลำบากใจ เช่น ทุกขเวทนา, ความทุกข์
           ๓. จึงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ (ทุกข์จากการดับไปบ้างในความทุกข์ ข้อ ๑, หรือทุกข์กายทุกข์ใจ จากข้อ ๒ บ้าง)
           ๔. แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข

          (ทุกข์ ในทางพุทธศานามีความหมายว่า

          1. สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก คือ สภาพที่คงทนอยูในสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ เพราะถูกแรงบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลายไปตลอดเวลา  ด้วยไปตามเหตุปัจจัย ที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง  (ข้อ ๒ ในไตรลักษณ์) เช่น ความรู้สึกสบายกาย สบายใจ เช่น สุขเวทนา, อารมณ์ความสุข, ทั้งสังขารทั้งปวง
          2. อาการแห่งทุกข์ที่ปรากฎขึ้นหรืออาจปรากฎขึ้นได้แก่คน  (ได้ในคำว่า ทุกขสัจจะ หรือ ทุกขอริยสัจจ์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจจ์ ๔)
          3. สภาพที่ทนอยู่ร่วมด้วยกับมันได้ยากลำบากใจ เช่น ความรู้สึกไม่สบายใจ, ไม่สบายกาย ได้แก่ ทุกขเวทนาต่างๆ, อารมณ์ทุกข์)

อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา,
       ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน (ไม่มีตัวตน ของตนจริง)โดยอรรถต่างๆ
           ๑. เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้า ขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย (คือ สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวเป็นตนทั้งหลายนั้น  แท้จริงขั้นปรมัตถ์แล้ว เป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนหรือมวลรวมขึ้นอย่างชั่วคราวหรือชั่วขณะๆหนึ่ง ของเหตุต่างๆที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน  แท้จริงโดยปรมัตถ์จึง)ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ
           ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง (เมื่อไม่มีตัวตนของตนจริง แท้จริงจึงเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของไม่ได้   หรือกล่าวได้ว่าเจ้าของแท้จริงแล้วก็คือ เหตุต่างๆ(อันมากหลาย) ที่มาเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ดังนั้นแท้จริงจึงขึ้นอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันนั่นเอง จึงไม่เป็นของใครๆทั้งสิ้น แม้แต่เรา)
           ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ  (แท้จริงเพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย จึงเป็นเหตุให้ล้วน ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา เมื่อไม่ใช่ของเราอย่างปรมัตถ์ แท้จริงจึงไม่อยู่ในอำนาจของเราจึงควบคุมบังคับบัญชามันไม่ได้)
           ๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นตามธรรมดา(ตามธรรมชาติหรือสภาวธรรมชาติ)ของมัน เช่น ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว  แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ,  ส่วนธรรมที่เป็นอสังขตธรรมหรืออสังขารนั้น จึงย่อมไม่มีตัวมีตนอยู่แล้ว เป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่งๆเท่านั้น
           ๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา(ซึ่งไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงความเชื่อว่ามี)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 (เป็นการขยายความเพิ่มเติมจากท่าน)

         สาระสำคัญ จึงอยู่ที่ว่า สิ่งทั้งปวงเมื่อไม่สามารถมีใครเป็นเจ้าของมันได้จริง จึงย่อมควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้  เป็นไปได้ตามเหตุปัจจัยเท่านั้น จึงทำหรือแก้ไขที่เหตุได้บ้างบางประการเท่านั้น

         จึงพึงรู้ความจริงขั้นปรมัตถ์ของ"สังขาร"และ"ธรรม"ทั้งปวงนี้  ก็เพื่อให้ไม่ไปอยาก หรือไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆในโลกนี้

นำเอา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชีวิต ฌาน สมาธิ โทสะ โลภะ ฯ  และสังขารทั้งปวงสามารถนำมาพิจารณาแต่ละตัว ให้เห็นความจริงให้ได้

แล้วจะพบความจริงอันยิ่งว่า

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  สังขารทั้งปวงจึงเป็นทุกข์  สังขารทั้งปวงก็เป็นอนัตตา

เพราะความเป็นอนัตตา แท้จริงแล้วจึงล้วน ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาตัวตนเรา

การคิดพิจารณา หมายถึง หยิบยกใจความสำคัญมาเป็นหลักสำคัญ แล้วนำไปพิจารณาในสิ่งต่างๆอย่างมีสติ  ใช้ปัญญาคิด

ไม่ใช่การท่องจำ แบบสูตรคูณ หรือบทสวดมนต์ หรืออย่างเลื่อนลอย

เพื่อให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เพื่อคลายความยึดมั่นในสังขาร รู้จักปล่อยวาง เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ล้วนไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนา

 

ตัวอย่างการนำไปพิจารณา

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา

 หัวข้อธรรม

กลับหน้าเดิม