ค้นหาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ที่ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์และประมวลธรรม โดยพระธรรมปิฎก

คลิกขวาเมนู

 ควรใช้กับคอมพิวเตอร์

คำชี้แจง

 

 

กรรม-การกระทำ หมายถึง การกระทำทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่ประกอบด้วยเจตนา(สัญเจตนาในขันธ์ ๕) คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม  แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม)
       การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี”   ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”
กรรม ๒-กรรมจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ มี ๒ คือ
       ๑. อกุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจาก
อกุศลมูล
       ๒. กุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจาก
กุศลมูล

กรรม ๓-กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรม มี ๓ คือ
       ๑.
กายกรรม การกระทำทางกายต่างๆ
       ๒.
วจีกรรม การกระทำทางวาจาต่างๆ
       ๓.
มโนกรรม การกระทำทางใจต่างๆ เช่น เป็นความคิด ความคิดนึก ความตั้งใจ อันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์ จากการผัสสะ   จึงมีความแตกต่างจากธรรมารมณ์ความคิดนึกทั่วไปที่ทำหน้าที่เป็นเหตุ

กรรมฐาน-กัมมัฏฐาน-ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบาย(วิธี)ทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิต มี ๒ ประเภทคือ
           ๑.
สมถกรรมฐาน อุบาย(วิธี)สงบใจ ๑  เพื่อเป็นบาทฐานหรือเครื่องเกื้อหนุนในการวิปัสสนาหรือวิปัสสนากรรมฐาน
           ๒.
วิปัสสนากรรมฐาน อุบาย(วิธี)เรืองปัญญา ๑  เพื่อให้เกิดปัญญาในการดับทุกข์

กรรมฐาน ๔๐-สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์(จิตกำหนดหมาย)ในการเจริญภาวนา,   ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต,  อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต แบ่งออกเป็น  กสิณ ๑๐   อสุภะ ๑๐   อนุสสติ ๑๐   พรหมวิหาร ๔   อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑   จตุธาตุววัตถาน ๑   อรูป

กฐินทาน-การทอดกฐิน, การถวายผ้ากฐิน คือการที่คฤหัสถ์ผู้ศรัทธาหรือแม้ภิกษุสามเณร นำผ้าไปถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ณ วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อทำเป็นผ้ากฐิน เรียกสามัญว่า ทอดกฐิน (นอกจากผ้ากฐินแล้วปัจจุบันนิยมมีของถวายอื่นๆ อีกด้วยจำนวนมาก เรียกว่า บริวารกฐิน)

กสิณ-วัตถุอันจูงใจ คือ จูงใจให้เข้าไปผูกอยู่   เป็นชื่อของกัมมัฏฐาน(กรรมฐาน)ที่ใช้วัตถุสำหรับเพ่ง เพื่อจูงจิตหรือจิตไปกำหนดหมายเพื่อให้เป็นสมาธิ

กุปปธรรม-ผู้มีธรรมที่ยังกำเริบได้  หมายถึง ผู้ที่ได้สมาบัติแล้วแต่เสื่อมได้,     อกุปปธรรม ผู้มีธรรมที่ไม่กำเริบ คือ ผู้ที่เมื่อได้สมาบัติแล้ว สมาบัตินั้นจะไม่เสื่อมไปเลยได้แก่พระอริยบุคคลทั้งหมด

กุปปวิโมกข์-ความหลุดพ้นจากกิเลสที่ยังกำเริบได้  (วิโมกข์ = ความหลุดพ้นจากกิเลส)

กาม-ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่,  กามมี ๒ คือ  ๑.กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่(เกิดแต่จิตและอาสวะกิเลส)เป็นเหตุ   ๒.วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕

กามคุณ-ส่วนหรือสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ มี ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่ น่าพอใจ

กามตัณหา - ความทะยานอยากในกามหรือทางโลกๆ คือใน รูป,รส,กลิ่น,เสียง,สัมผัส ทั้ง ๕

กามฉันทะ - ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น, ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ข้อ ๑ ในนิวรณ์ ๕)

กามราคะ - ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม, ความใคร่กาม  (ข้อ ๔ ในสังโยชน์ ๑๐, ข้อ ๑ ในอนุสัย ๗)

กามภพ-ที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม, โลกเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม ได้แก่  อบายภูมิ ๔   มนุษยโลก   และสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตสวัตดี  รวมเป็น ๑๑ ชั้น (ข้อ ๑ ในภพ ๓)

กามาวจร-ซึ่งท่องเที่ยวไปในกามภพ, ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับกาม

กายทวาร-ทวารคือกาย, กายเป็นฐานในการทำกรรมทางกาย

กายสังขาร-๑. ปัจจัยปรุงแต่งกาย ได้แก่ลมหายใจเข้า หายใจออก   ๒. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย ได้แก่ กายสัญเจตนา หรือความจงใจทางกาย ซึ่งทำให้เกิดกายกรรม

กายสัมผัส-สัมผัสทางกาย, อาการที่กาย๑ โผฏฐัพพะ๑ และ กายวิญญาณ๑  ทั้ง ๓ ประจวบกัน

กายานุปัสสนา-สติพิจารณากายเป็นอารมณ์(ที่ยึดเหนี่ยว,ที่กำหนด)ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสติปัฏฐานข้อหนึ่ง ดู สติปัฏฐาน

กามุปาทาน-ความยึดมั่นถือมั่นในกามหรือทางโลก อันคือกามคุณ ๕ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไปยึดถือว่าเป็นเราหรือของเรา จนเป็นเหตุให้เกิดริษยา หรือหวงแหน ลุ่มหลง เข้าใจผิด ทําผิด,  เป็นหนึ่งใน อุปาทาน ๔

กายในกาย-การพิจาณากายให้เห็นเข้าใจอย่างละเอียดและแยบคาย คือพิจารณากายให้เห็นองค์ประกอบต่างๆ ในแบบต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยประกอบกันเป็นกาย เพื่อให้พิจารณาเห็นความจริงของกายได้แจ่มแจ้ง เช่น ไม่เที่ยง เป็นปฏิกูล เกิดแต่เหตุปัจจัยคือธาตุ ๔ ฯลฯ.

กาลามสูตร - เกสปุตตสูตร - พระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตัดสอนชาวกาลามะในแคว้นโกศล  ไม่ให้เชื่อถืองมงาย ไร้เหตุผล(อธิโมกข์) ตามหลัก ๑๐ ข้อ  อันมีอย่าปลงใจเชื่อในสิ่งใดโดย   ๑.ด้วยการฟังตามกันมา   ๒.ด้วยการนับถือสืบๆกันมา   ๓.ด้วยการเล่าลือ   ๔.ด้วยการอ้างตําราหรือคําภีร์   ๕.ด้วยตรรก   ๖.ด้วยการอนุมาน   ๗.ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล   ๘.เพราะการเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน   ๙.เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ   ๑๐.เพราะนับถือว่าสมณะ(รวมถึงพระองค์เองด้วย)นี้เป็นครูเรา  ต่อเมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้วด้วยตนเอง จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

กิจจญาณ-ปรีชากำหนดรู้ กิจที่ควรทำในอริยสัจจ์ ๔ แต่ละอย่าง คือรู้ว่า ทุกข์-ควรกำหนดรู้,   สมุทัย-ควรละ,   นิโรธ--ควรทำให้แจ้ง,   มรรค-ควรเจริญคือควรปฏิบัติ

กิจในอริยสัจจ์-ข้อที่ต้องทำในอริยสัจจ์ ๔ แต่ละอย่าง คือ การกำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์,   ปหานะ การละ เป็นกิจในสมุทัย,   สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้ง หรือการบรรลุ เป็นกิจในนิโรธ,   ภาวนา การเจริญ คือปฏิบัติบำเพ็ญ เป็นกิจในมรรค

กริยาจิต-เป็นศัพท์ทั่วๆไปทางโลก หมายถึง การกระทำของจิต,  การกระทำทางจิต

กิริยาจิต-(เป็นศัพท์ทางพุทธศาสนา) จิตที่สักว่ากระทำกิจตามหน้าที่ หมายถึง จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบากจิต คือ เกิดขึ้นมาสักแต่ว่าทำกิจการงานให้สำเร็จ หรือสักว่าทำการงานตามหน้าที่จิตเท่านั้น  หรือสักว่ามันทำการงานของมันเองเช่นนั้น เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่แฝงอยู่ในทวารทั้ง ๕ เช่น ตา เมื่อไปกระทบกับรูป ย่อมเกิดกิริยาจิตขึ้นจะไปห้ามไม่ให้เกิดการกระทบกันไม่ได้  จึงเกิดผลคือจักขุวิญญาณ คือการเห็น ดังนั้นจึงห้ามไม่ให้ตาเห็นรูป ไม่ได้,  anired06_next.gif สัญญาจำได้ anired06_next.gif เวทนา anired06_next.gif.....ฯ.   ;  ส่วนมโนทวาราวัชชนจิต อารมณ์รู้ทางมโนทวาร ที่แฝงอยู่ที่มโนทวารคือใจ มีหน้าที่การงานคอยรับการกระทบกับความคิดนึกต่างๆ นานา จึงเป็นผลให้เกิด มโนวิญญาณ การรู้ความคิดนั้นจึงห้ามจิตไม่ให้รับการกระทบกับคิดที่เกิดขึ้นย่อมไม่ได้ anired06_next.gif สัญญาจำได้ anired06_next.gif เวทนา anired06_next.gif.....ฯ.   จึงทำงานสักว่าตามหน้าที่โดยอัตโนมัติ

กิเลส - สิ่งที่ทําให้จิตขุ่นมัว เศร้าหมอง และทําให้รับคุณธรรมได้ยาก

        - สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง, ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์

กิเลสกาม - กิเลสเป็นเหตุใคร่, กิเลสที่ทำให้อยาก, เจตสิกอันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้ ได้แก่ราคะ โลภะ อิจฉา (อยากได้) เป็นต้น

กุศล - บุญ, ความดี, ฉลาด, สิ่งที่ดี, กรรมดี, แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป
กุศลมูล -รากเหง้าของกุศล, ต้นเหตุของกุศล, ต้นเหตุของความดีมี ๓ อย่าง คือ
       ๑.
อโลภะ ไม่โลภ (จาคะ- การสละ, การให้ปัน, การเสียสละ)
       ๒.
อโทสะ ไม่คิดประทุษร้าย (เมตตา)
       ๓.
อโมหะ ไม่หลง (ปัญญา)

       อกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล, ต้นเหตุของอกุศล, ต้นเหตุของความชั่ว มี ๓ อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ

กุศลธรรม - ธรรมที่เป็นกุศล, ธรรมฝ่ายกุศล, ธรรมที่ดี, ธรรมฝ่ายดี

กำหนัด - ความใคร่,ความอยากในกามคุณ

ขณิกสมาธิ - สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบาย, และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้

ขณิกาปีติ-ความอิ่มใจชั่วขณะ เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกเสียวแปลบๆ เป็นขณะๆ เหมือนฟ้าแลบ (ปีติ ๕ ข้อ ๒)

ขันธ์ - กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว; หมวดหนึ่ง ๆ ของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่แบ่งออกเป็นห้ากอง คือ รูปขันธ์ กองรูป, เวทนาขันธ์ กองเวทนา, สัญญาขันธ์ กองสัญญา, สังขารขันธ์ กองสังขาร, วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกรวมว่า เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)

ขันธ์๕ - เบญจขันธ์ องค์ประกอบทั้ง ๕ ที่ทางพุทธศาสน์ถือว่า เป็นเหตุปัจจัยของชีวิต อันมี รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์  และขันธ์ทั้ง ๕ นี้ยังต้องเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันในการดำเนินชีวิตอีกด้วย ดังเช่น

รูป     กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป  ตา(ส่วนรับกระทบเป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์)   จักขุวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์

ธรรมารมณ์     กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ใจ(ส่วนรับกระทบเป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์)    มโนวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์

       ขันธ์ ๕  หรือ  เบญจขันธ์ (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และฉบับประมวลธรรม) กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม ๕ หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบ ๕ อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต
       1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ
       2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
       3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ ๖ เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น
       4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต
       5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖ มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ ๖

       ขันธ์๕ นี้ ย่อลงมาเป็น ๒ คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, ๔ ขันธ์ นอกนั้นเป็นนาม.  อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม ๔ : วิญญาณขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์๕

ขีณาสพ - ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว, ผู้หมดกิเลส, พระอรหันต์

ขุททกาปีติ - ปีติเล็กน้อย, ความอิ่มใจอย่างน้อย เมื่อเกิดขึ้นทำให้ขนชันน้ำตาไหล (ข้อ ๑ ในปีติ ๕)

ครุกรรม - กรรมหนักทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ในฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ในฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม  กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่าง ๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั่นถึงพื้นก่อน

ความคิดนึก - ความคิด-ความนึก-ความจำ-และมโนกรรมคือความคิดนึกอันเป็นผลที่เกิดมาจากสังขารขันธ์(ขันธ์๕),  เป็นสิ่งที่ต้องมี,ต้องเป็นโดยปกติธรรมชาติ โดยปกติแล้วไม่เป็นโทษ  และจำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตหรือขันธ์ ๕

คิดนึกปรุงแต่ง - อุทธัจจะ - คิดปรุงแต่ง - จิตปรุงแต่ง - จิตฟุ้งซ่าน - จิตฟุ้งซ่านไปภายนอก -  หรือคิดนึกฟุ้งซ่าน - คิดนึกเรื่อยเปื่อย  - คิดวนเวียนปรุงแต่ง - จิตส่งออกไปภายนอก = ล้วนมีความหมายเป็นนัยเดียวกัน เป็นการกล่าวถึงจิตที่ไปทำหน้าที่อันไม่ควร จึงเป็นทุกข์  จึงเน้นหมายถึงไปคิดนึกอันเป็นเหตุปัจจัยทําให้เกิดกิเลสตัณหา - เพราะการคิดนึกปรุงแต่งขึ้นแต่ละครั้งแต่ละที ย่อมเกิดการผัสสะ อันย่อมต้องเกิดเวทนาต่างๆขึ้น และตามมาด้วยสังขารขันธ์หรืออารมณ์ทางโลกต่างๆขึ้นด้วย ทุกครั้งทุกทีไปในทุกๆความคิดปรุงแต่ง  อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาจากความคิดนึกปรุงแต่งที่มีเกิดขึ้นอย่างหลากหลายนั้นได้,   และความคิดหรือนึกปรุงแต่งไปถึงอดีตและอนาคต อันมักเจือด้วยกิเลสอันทําให้ขุ่นมัว, หรือเจือด้วยตัณหาความอยาก,ไม่อยาก  อันจักก่อตัณหาจากความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ๆนั้น(เวทนา)ได้ง่ายเช่นกัน,    แต่ถ้าเป็นการคิดในหน้าที่ หรือการงานเช่นการทำงาน, คิดพิจารณาธรรม ฯ. ก็ไม่ได้จัดว่าเป็นคิดปรุงแต่ง  แต่ก็ต้องควบคุมระวังสติให้ดีเพราะย่อมต้องเกิดเวทนาขึ้นเช่นกัน,  ความคิดนึกปรุงแต่ง มักยังให้โทษ และมักเกิดขึ้นจากมโนกรรม (ดูรายละเอียด มโนกรรม)

     อุทธัจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่าน คิดนึกปรุงแต่ง เหล่านี้ จัดเป็นสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) ในข้อ ๙ จึงแลเห็นและรู้ในโทษได้ยาก เพียงรองจากอวิชชาทีเดียว (ดู สังโยชน์ ๑๐)

     หลักการปฏิบัติโดยทั่วไป  ไม่ใช่ให้หยุดคิด(ธรรมารมณ์)ทั้งปวง  แต่ให้เห็นความคิดนึกพวกมโนกรรมที่เป็นผลเกิดขึ้น  เป็นคิดปรุงแต่งหรืออาการของจิตที่ฟุ้งซ่านฟุ่มเฟือย จึงเป็นความคิดอันก่อทุกข์โทษภัย หรือทำให้จิตเศร้าหมอง  แล้วอุเบกขาคือหยุดการคิดปรุงแต่งในมโนกรรมนั้นๆเท่านั้นเอง  การคิดนึกปรุงแต่ง(มโนกรรม)ทำให้เกิดการวนเวียนแปรปรวน จนก่อเป็นทุกข์ได้ในที่สุดและยาวนานด้วยวนเวียนเป็นวงจรได้ ดังภาพ

ธรรมารมณ์  + ใจ  anired06_next.gif มโนวิญญูาณขันธ์    anired06_next.gif เวทนาขันธ์

หยุดมโนกรรม                         ขันธ์ทั้ง๕                        

สังขารขันธ์ เกิดมโนกรรมความคิดนึก          สัญญาขันธ์

วงจรแสดงขันธ์ทั้ง ๕

ธรรมารมณ์ + ใจ anired06_next.gif วิญญูาณูปาทานขันธ์  anired06_next.gif เวทนูปาทานขันธ์

หยุดมโนกรรม                           อุปาทานขันธ์ทั้ง๕                         

สังขารูปาทานขันธ์ เกิดมโนกรรมคิดที่เป็นทุกข์ สัญญูปาทานขันธ์

วงจรอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ที่ล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทาน

     ส่วนความคิดนึก(ไม่ปรุงแต่ง)ในขันธ์ ๕ ที่ใช้ในการดำเนินชีวิต(ธรรมารมณ์)  เช่น การงาน การธรรมะวิจยะ ฯ. โดยไม่มีกิเลส,ตัณหา เป็นสิ่งจําเป็นที่ควรจะมีอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเพียงความคิดนึกในสังขารขันธ์ของขันธ์ ๕ อันเป็นปกติ เป็นประโยชน์ และจําเป็นในการดํารงชีวิต  แยกแยะพิจารณาให้เข้าใจชัดเจน

     การคิดพิจารณาในธรรมก็ไม่ใช่ความคิดนึกปรุงแต่ง เป็นธรรมะวิจยะความคิดนึกที่ควรปฏิบัติและควรทําให้เจริญยิ่งขึ้นไป

ฆนะ - กลุ่ม, ก้อน, แท่ง, ความเป็นมวลรวม,  องค์ประกอบย่อยๆมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมวลรวม,  เป็นธรรมหรือสิ่งที่ปิดบังไม่ให้เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน หรือไม่ใช่ตัวใช่ตนของมันจริง

ฆราวาส - การอยู่ครองเรือน, ชีวิตชาวบ้าน;   ในภาษาไทย มักใช้หมายถึง คฤหัสถ์ คือผู้ครองเรือน, ชาวบ้าน

ฆราวาสธรรม - หลักธรรมสำหรับการครองเรือน, ธรรมของผู้ครองเรือน มี ๔ อย่างคือ ๑. สัจจะ ความจริง เช่น ซื่อสัตย์ต่อกัน ๒. ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตน เช่น รู้จักข่มใจ ควบคุมอารมณ์ บังคับตนเองปรับตัวเข้ากับการงานและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดี ๓. ขันติ ความอดทน ๔. จาคะ ความเสียสละเผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ

ฆานวิญญาณ - ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะกลิ่นกระทบจมูก, กลิ่นกระทบจมูก เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้กลิ่น

ฆานสัมผัส - อาการที่ จมูก กลิ่น และฆานวิญญาณประจวบกัน

ฆานสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่จมูก กลิ่น และฆานวิญญาณประจวบกัน

งมงาย - ไม่รู้เท่า, ไม่เข้าใจ, เซ่อเซอะ, หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล หรือโดยไม่ยอมรับฟังผู้อื่น

จงกรม-เดินไปมาโดยมีสติกำกับ  (บางท่านใช้ไปเป็นอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำหนดเพื่อทำสมาธิแต่อย่างเดียวโดยไม่รู้ตัว  ดังนั้นถ้าเป็นการกระทำไปโดยไม่รู้ตัวว่า ตนกระทำสติที่ประกอบด้วยสมาธิหรือสมาธิแต่อย่างเดียวก็เป็นการไม่ถูกต้อง)

จตุธาตุววัตถาน - การกำหนดธาตุ ๔
       คือ พิจารณาร่างกายนี้ แยกแยะออกไปมองเห็นแต่ส่วนประกอบต่างๆ ที่จัดเข้าไปในธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ทำให้รู้ภาวะความเป็นจริงของร่างกาย ว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเท่านั้น  
จึงไม่เป็นตัวสัตว์บุคคลที่แท้จริ เพราะตัวตนสัตว์บุคคลที่เห็นหรือผัสสะนั้นเป็นเพียงกลุ่มหรือก้อนของเหตุที่มาเป็นปัจจัยประชุมกัน

จริต-ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ   ๑.ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ)   ๒.โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด)   ๓.โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึมงมงาย)   ๔.สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ)   ๕.พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติ ปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา)   ๖.วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)

จักขุวิญญาณ-จักษุวิญญาณ-ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตา  :  รูปกระทบตา เกิดความรู้คือเห็น

จักขุสัมผัส-อาการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน

จักขุสัมผัสสชาเวทนา-เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ตา รูป และจักขุวิญญาณประจวบกัน

จาตุรงคสันนิบาต-การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ ๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือนสาม ๒. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ๔. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ ดู มาฆบูชา

จิต-ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ (สภาวธรรมชาติของชีวิตที่รับรู้อารมณ์ ที่กำหนดหมาย เช่น สภาพหรือสภาวะของชีวิตในการรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น ฯ.),  สภาพที่นึกคิด,  ความคิด, ใจ
     ตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น ๘๙ (หรือพิสดารเป็น ๑๒๑)
     แบ่ง โดยชาติ เป็น  อกุศลจิต ๑๒   กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗)    วิปากจิต ๓๖ (๕๒)   และกิริยาจิต ๒๐;
     แบ่ง โดยภูมิ เป็น   กามาวจรจิต ๕๔   รูปาวจรจิต ๑๕   อรูปาวจรจิต ๑๒   และโลกุตตรจิต ๘ (พิสดารเป็น ๔๐)

     ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (หัวข้อที่ ๓๕๖) ของพระเดชพระคุณเจ้าพระธรรมปิฏก ก็ได้กล่าวถึงจิตไว้ดังนี้   

     "จิต มีไวพจน์ คือ คำที่ต่างเพียงรูป แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น มโน มานัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย์ และ วิญญาณ เป็นต้น คำเหล่านี้มีความหมายเกยกัน มิใช่ตรงกันโดยสมบูรณ์  ใช้แทนกันได้ในบางโอกาส มิใช่เสมอไป
      เ
มื่อจัดแบ่งสภาวธรรมทั้งหลายเป็นประเภทๆ ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕  จิต ได้แก่ วิญญาณขันธ์ นั่นเอง

จิตเดิมแท้-สภาวธรรมหรือธรรมชาติของจิต ที่เดิมแท้ คือ แต่เดิมของจิตแต่แรกแล้วนั้นบริสุทธิ์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ, แต่มาถูกบดบังให้เศร้าหมองเสียด้วยกิเลสที่จรมาสั่งสมปรุงแต่งขึ้นห่อหุ้มในภายหลัง  ;   หรือจิตพุทธะของนิกายเซ็น

จิตว่าง-ดู สุญญตา

จิตตะ-เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ, ความคิดฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย (ข้อ ๓ ในอิทธิบาท ๔)

จิตสังขาร-สังขารของจิต, มีความหมายทั่วๆไปถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทางจิต เช่นความคิด นึก มโนกรรม  ( จิตสังขาร )

จิตตสังขาร-มโนสังขาร
     ๑. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ เจตนาที่ก่อให้เกิดมโนกรรม (การกระทำทางใจ เช่นความคิดนึกที่เป็นผลเกิดขึ้นจากสังขารขันธ์)    

     ๒. ปัจจัยที่ไปปรุงแต่งจิต ได้แก่ สัญญา(ความจำได้หมายรู้) และเวทนา(การเสวยอารมณ์ การรับรู้รสของอารมณ์ จากการผัสสะ)

จิตตานุปัสสนา-สติพิจารณาเห็นอาการของจิต(เจตสิก)หรือจิตตสังขาร,     หรือสติพิจารณาใจหรือระลึกรู้เท่าทันใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เรา เขา,   กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ,   ดังเช่น จิตมี ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ,  จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ.(ข้อ ๓ ในสติปัฏฐาน ๔) เมื่อสติระลึกรู้ และปัญญาเล็งเห็นว่าให้โทษแล้ว ก็ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรืออุเบกขานั่นเอง

จึงสรุปหมายถึง การมีสติระลึกรู้เท่าทันสังขารขันธ์อารมณ์ทางโลกต่างๆ หรือมโนกรรมความคิดนึกที่เกิดขึ้นมาจากสังขารขันธ์นั้นนั่นเอง

จิตส่งใน-อาการการกระทำทางจิต  ที่เกิดจากการติดเพลิน(นันทิ)ไปในผลของความสุข สงบ สบาย อันเกิดขึ้นทั้งต่อทางกายและจิต  อันมักเป็นผลมาจากการปฏิบัติฌาน,สมาธิ มักเพราะขาดการเจริญวิปัสสนาหรือด้วยความไม่รู้(อวิชชา)  จึงเกิดอาการคอยแอบจ้อง, แอบเสพ, แอบพยายามทำให้ทรง, ทำให้เป็นอยู่ในอาการขององค์ฌาน เช่นในปีติ ความสงบ ความสุข ความแช่นิ่ง  ซึ่งเป็นไปในอาการทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัวก็ตามที,   อาการที่จิตแช่นิ่ง อยู่ภายในจิตหรือกายตน  ;  อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ใน จิตส่งใน ในหัวข้อ เกี่ยวเนื่องกับฌานสมาธิ  เป็นการปฏิบัติผิดที่เกิดกับนักปฏิบัติมากเป็นที่สุด  และมักเข้าใจผิดกันไปว่าจิตส่งในไปแช่นิ่งหรือเสพรสอร่อยหรือความสงบสบายในกายหรือจิต เป็นการปฏิบัติจิตเห็นกายหรือกายานุปัสสนาหรือจิตตานุปัสสนาอันดีงามในสติปัฏฐาน ๔  แต่ไม่ใช่ดังนั้นเลย!!!

จิตเห็นจิต-เห็นจิตในจิต-คืออาการที่จิตแรกหมายถึงสติ ระลึกรู้เท่าทันคือเห็นจิต ที่หมายถึงสังขารขันธ์หรือมโนกรรม(เกิดจากสังขารขันธ์เป็นเหตุปัจจัย) อันเป็นผลของจิตที่เกิดขึ้นจากการผัสสะของอายตนะต่างๆ

จูฬปันถกะ - พระมหาสาวกองค์หนึ่งในอสีติมหาสาวก เป็นบุตรของธิดาเศรษฐีกรุงราชคฤห์ และเป็นน้องชายของมหาปันถกะ ออกบวชในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่ามีปัญญาทึบอย่างยิ่ง พี่ชายมอบคาถาเพียง ๑ คาถาให้ท่องตลอดเวลา ๔ เดือน ก็ท่องไม่ได้ จึงถูกพี่ชายขับไล่ เสียใจคิดจะสึก พอดีพบพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสปลอบแล้วประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ให้ไปลูบคลำพร้อมทั้งบริกรรมสั้นๆ ว่า “รโชหรณํ ๆ ๆ” ผ้านั้นหมองเพราะมือคลำอยู่เสมอ ทำให้ท่านมองเห็นไตรลักษณ์และได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความชำนาญ แคล่วคล่อง ในอภิญญา ๖ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ฉลาดในเจโตวิวัฏฏ์; ชื่อท่านเรียกง่าย ๆ ว่าจูฬบันถก, บางแห่งเขียนเป็นจุลลบันถก

เจดีย์ - ที่เคารพนับถือ, บุคคล สถานที่หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา, เจดีย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี ๔ อย่างคือ ๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย ๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรม คือพุทธพจน์ ๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป; ในทางศิลปกรรมไทยหมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลมเป็นที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือเช่น พระธาตุและอัฐิบรรพบุรุษ เป็นต้น

เจตน- ความตั้งใจ, ความมุ่งใจหมายจะทำ, เจตน์จำนง, ความจำนง, ความจงใจ,   เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง หรือเป็นประธานในสังขารขันธ์  และเป็นตัวการในการทำกรรม(การกระทำทั้งทางกาย วาจา ใจ)  หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมทีเดียว ดังพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” แปลว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม(การกระทำ)

เจตภูต - สภาพเป็นผู้คิดอ่าน, ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หมายถึงดวงวิญญาณหรือดวงชีพอันเที่ยงแท้ที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่า ออกจากร่างได้ในเวลานอนหลับ  และเป็นตัวไปเกิดใหม่เมื่อกายนี้แตกทำลาย  เป็นคำที่ไทยเราใช้เรียกแทนคำว่าอาตมันหรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์  และเป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา

เจโตวิมุตติ - ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ  (แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องเกิดปัญญาวิมุตติ จึงจักทำให้เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อ) เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติ อันละเอียดประณีต (สันตเจโตวิมุตติ)

เจริญวิปัสสนา, ปฏิบัติวิปัสสนา, บำเพ็ญวิปัสสนา - การฝึกอบรมปัญญา เช่น โดยพิจารณาสังขาร คือ รูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดแยกออกเป็นขันธ์ๆ กำหนดด้วยไตรลักษณ์ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา,   อบรมปัญญาโดยพิจารณาปฏิจจสมุปบาท, ขันธ์ ๕ ฯลฯ.

เจตสิก ๕๒ - ธรรม(สิ่ง)ที่ประกอบกับจิต, อาการและคุณสมบัติต่างๆของจิต หรือกลุ่มอาการของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา ความเเป็นกลาง เป็นต้น   ท่านได้แบ่งออกเป็น ๕๒ ชนิด อันนอกจากเวทนาและสัญญาแล้ว ต่างก็ล้วนจัดเป็นสังขารขันธ์อีกด้วย, เหตุที่ทั้งเวทนาและสัญญา แม้เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่งแต่เป็นปกติวิสัยของขันธ์นั้นเขาทำงานตามหน้าที่ตนอยู่ตลอดเวลาตามหน้าที่ของขันธ์อยู่แล้วตลอดเวลา จึงไม่จัดเป็นสังขารขันธ์(อารมณ์ทางโลกๆ)ของจิตที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะระยะหนึ่ง แต่มีอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตหรือขันธ์ ๕ อยู่แล้ว จึงไม่จัดเป็นสังขารขันธ์  ดังนั้นจึงเพียงจัดเป็นอาการของจิตหรือเจตสิกอย่างหนึ่งเท่าน้้น,   เจตสิก๕๒ ได้แก่

๑.ผัสสะ - อาการที่จิตกระทบกับอารมณ์    ๒.เวทนา-ความเสวยอารมณ์    ๓.สัญญา-ความจำได้หมายรู้อารมณ์     ๔.เจตนา-ความจงใจหรือเจตนาต่ออารมณ์ที่กำหนดหมาย เช่น จึงเกิดสัญเจตนาปรุงจิตให้คิดอ่านจึงทำให้เกิดเจตนาจงใจกระทำ(กรรม)ในสิ่งต่างๆ  ทั้งดี ชั่ว และกลางๆเช่นใช้ในชีวิตทั่วๆไปอีกด้วย    ๕.เอกัคคตา-ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว   ๖.ชีวิตินทรีย์-อินทรีย์คือชีวิต,สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง     ๗.มนสิการ-ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ,ใส่ใจ    ๘.วิตก-ความตรึกอารมณ์    ๙.วิจาร-ความตรองหรือพิจารณาอารมณ์     ๑๐.อธิโมกข์-ความปลงใจหรือปักใจยึดหรือเชื่อในอารมณ์     ๑๑.วิริยะ-ความเพียร    ๑๒.ปีติ-ความปลาบปลื้มในอารมณ์,ความอิ่มใจ     ๑๓.ฉันทะ-ความพอใจในอารมณ์    ๑๔.โมหะ-ความหลง    ๑๕.อหิริกะ-ความไม่ละอายต่อบาป    ๑๖.อโนตตัปปะ-ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป    ๑๗.อุทธัจจะ-ความฟุ้งซ่าน    ๑๘.โลภะ-ความอยากได้อารมณ์    ๑๙.ทิฎฐิ-ความเห็นผิด    ๒๐.มานะ-ความถือตัว    ๒๑.โทสะ-ความคิดประทุษร้าย,โกรธ    ๒๒.อิสสา-ความริษยา    ๒๓.มัจฉริยะ-ความตระหนี่    ๒๔.กุกกุจจะ-ความเดือดร้อนใจ    ๒๕.ถีนะ-ความหดหู่    ๒๖.มิทธะ-ความง่วงเหงา    ๒๗.วิจิกิจฉา-ความคลางแคลงสงสัย    ๒๘.สัธทา(ศรัทธา)-ความเชื่อ    ๒๙.สติ-ความระลึกได้,ความสำนึกพร้อมอยู่    ๓๐.หิริ-ความละอายต่อบาป    ๓๑.โอตตัปปะ-ความสะดุ้งกลัวต่อบาป    ๓๒.อโลภะ-ความไม่อยากได้อารมณ์    ๓๓.อโหสิ-อโทสะ-ความไม่คิดประทุษร้าย   ๓๔.อุเบกขา หรือ ตัตรมัชฌัตตตา ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ    ๓๕.กายปัสสัทธิ-ความสงบแห่งกองเจตสิก    ๓๖.จิตตปัสสัทธิ-ความสงบแห่งจิต    ๓๗.กายลหุตา-ความเบาแห่งกาย    ๓๘.จิตตลหุตา-ความเบาแห่งจิต    ๓๙.กายมุทุตา-ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งกายหรือกองเจตสิก    ๔๐.จิตตมุทุตา-ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งจิต   ๔๑.กายกัมมัญญตา-ความควรแก่การใช้งานแห่งกายหรือกองแห่งเเจตสิก    ๔๒.จิตตกัมมัญญตา-ความควรแก่การใช้งานแห่งจิต    ๔๓.กายปาคุญญตา-ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก  ๔๔.จิตตปาคุญญตา-ความคล่องแคล่วแห่งจิต   ๔๕.กายุชุกตา-ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก   ๔๖. จิตตุชุกตา-ความซื่อตรงแห่งจิต    ๔๗.สัมมาวาจา-เจรจาชอบ    ๔๘.สัมมากัมมันตะ-กระทำชอบ    ๔๙.สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ    ๕๐.กรุณา-ความสงสารสัตว์ผู้ถึงทุกข์    ๕๑.มุทิตา-ความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข    ๕๒.ปัญญินทรีย์(ปัญญา) หรืออโมห-ความรู้เข้าใจ,ไม่หลง  ท้้ง๕๐ นี้ท่านล้วนจัดเป็นอาการต่างๆของจิต หรืออารมณ์ในทางโลกๆในชั่วขณะระยะหนึ่งทั้งสิ้น   ยกเว้นเพียงเวทนาและสัญญา ที่แม้เป็นอาการของจิตแต่นับเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ มีหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว  ส่วนที่เหลือทั้ง ๕๐ จึงล้วนจัดเป็นสังขารขันธ์ คืออาการต่างๆของจิตจึงล้วนเป็นนามธรรม    และสังขารขันธ์หรืออาการของจิตหรืออารมณ์ ไม่ได้มีเพียงแค่ เจตสิก ๕๐ นี้เท่านั้น, อาการต่างๆของจิตหรืออารมณ์ทางโลก ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาให้เกิดการกระทำต่างๆ ก็ล้วนเป็นสังขารขันธ์ จึงมีอีกมากมาย,  อีกทั้งตัณหาก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งเช่นกันเพราะเป็นอาการปรารถนาแต่เป็นฝ่ายอกุศลนั่นเอง ซึ่งแสดงอยู่แล้วในเจตสิก ๕๐ แท้จริงจึงคือเจตสิกที่ครอบคลุมอาการของอกุศลสังขารขันธ์ทั้งปวงจึงกว้างขวางครอบคลุมล้วนสิ้น ดังเช่น โมหะ(๑๔) อุทธัจจะ(๑๗) โลภะ(๑๘) โทสะ(๒๑) อิสสา(ริษยา ๒๒) หดหู่(๒๕) ฯลฯ.

ชาติ - การเกิด, ชนิด, พวก, เหล่า, ปวงชนแห่งประเทศเดียวกัน,   การเกิดของสังขาร(สิ่งปรุงแต่งทั้งปวง)  จึงครอบคลุมการเกิดขึ้นของสังขารทั้งปวงไม่ใช่ชีวิตหรือร่างกายแต่อย่างเดียว,  ในปฏิจจสมุปบาท ชาติ จึงหมายถึงการเกิดขึ้นของสังขารขันธ์ทุกข์(สังขารูปาทานขันธ์) อันเป็นสังขารขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ ชาติ )

ชรา - ความแก่ ความทรุดโทรม ความเสื่อม, ความเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวน,  การแปรปรวนการเปลี่ยนแปลงของสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง) จึงครอบคลุมสังขารทั้งปวง,  ในปฏิจจสมุปบาท ชรา จึงหมายถึง ความแปรปรวน จึงหมายถึงความแปรปรวนวนเวียนอยู่ในทุกข์หรือกองทุกข์  กล่าวคือฟุ้งซ่านปรุงแต่งไม่หยุดหย่อนวนเวียนในอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง โดยไม่รู้ตัว  คือเกิดอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ วนเวียนแปรปรวนเป็นวงจร ดังภาพ

                   ธรรมารมณ์     +     ใจ    +    วิญญูาณูปาทานขันธ์      anired06_next.gif    เวทนูปาทานขันธ์

                          หยุด มโนกรรม      อุปาทานขันธ์๕  อันคือ คิดปรุงแต่งในชราอันเผ็ดร้อนเป็นทุกข์               

                        สังขารูปาทานขันธ์ เกิดคิดที่เป็นทุกข์(มโนกรรม)        สัญญูปาทานขันธ์     

                ในวงจรชราแสดงความวนเวียนเร่าร้อนด้วยเหล่าอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เพราะล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว

มรณะ - ความตาย ความดับไป ความเสื่อมจนถึงที่สุด,  การดับไปในสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง) จึงครอบคลุมสังขารทั้งปวง,   ในปฏิจจสมุปบาท มรณะ จึงหมายถึงการดับไปของสังขารทุกข์(อุปาทานขันธ์ ๕) ที่เกิดวนเวียนอยู่ในองค์ธรรมชรานั่นเอง แต่พร้อมทั้งเก็บจำเป็นสัญญานอนเนื่องรอวันกำเริบในรูปอาสวะ หรืออาสวะกิเลสนั่นเอง

ชิวหา - ลิ้น

ชิวหาวิญญาณ - ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรสกระทบลิ้น, รสกระทบลิ้นเกิดความรู้ขึ้น, การรู้รส

ชิวหาสัมผัส - อาการที่ลิ้น รส และ ชิวหาวิญญาณประจวบกัน

ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ ลิ้น รส และชิวหาวิญญาณประจวบกัน

ฌาน-การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่ เป็นอัปปนาสมาธิ ,  ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก

    องค์ฌาน หรือองค์ประกอบสำคัญของฌาน มี ๖

    วิตก  การตรึงจิตไว้กับอารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมาย)  ความคิด  ความดำริ  

    วิจาร  ความตรอง, การพิจารณาอารมณ์, การปั้นอารมณ์, การฟั้นอารมณ์  การเคล้าอารมณ์ให้เข้าเป็นเนื้อเดียว หรือเคล้ากลมกลืนไปกับจิต

    ปีติ  ความซาบซ่าน, ความอิ่มเอิบ,  ความดื่มด่ำในใจ  อันยังผลให้ทั้งกายและใจ 

    สุข  ความสบาย, ความสำราญ (อาการผ่อนคลายกว่าปีติ)

    อุเบกขา  ความสงบ ความมีใจเป็นกลาง ความวางเฉยต่อสังขารสิ่งปรุงแต่งต่างๆ

    เอกัคคตา ความมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว คือ ความมีจิตแน่วแน่เป็นเอกหรือเป็นสำคัญ

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบท ฌาน,สมาธิ)

    ฌาน ๔ คือ ๑. ปฐมฌาน ประกอบด้วยมีองค์ ๕ คือ องค์ฌานทั้ง ๕ มี  วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา   ๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๓ (ปีติ สุข เอกัคคตา)   ๓. ตติยฌาน มีองค์ ๒ (สุข เอกัคคตา)  ๔. จตุตถฌาน มีองค์ ๒ (อุเบกขา เอกัคคตา) ;

    ฌาน ๕ - ก็เหมือนอย่าง ฌาน ๔ นั่นเอง แต่ตามแบบอภิธรรม ท่านซอยละเอียดออกไป โดยเพิ่มข้อ ๒ แทรกเข้ามา คือ ๑. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา)  ๒. ทติยฌาน มีองค์ ๔ (วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) ข้อ ๓. ๔. ๕. ตรงกับข้อ ๒. ๓. ๔. ในฌาน ๔ ตามลำดับ

ญาณ - ความรู้, ปรีชาหยั่งรู้, ปรีชากําหนดรู้หรือความเข้าใจตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ)   หรือก็คือ ปัญญาที่เข้าใจอย่างถูกต้องแจ่มแจ้งแท้จริง ตามธรรมหรือธรรมชาติ

ญาณ ๓ หมวดหนึ่ง ได้แก่
           ๑. อตีตังสญาณ ญาณในส่วนอดีต
           ๒. อนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต
           ๓. ปัจจุปปันนังสญาณ ญาณในส่วนปัจจุบัน;
       อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่
           ๑. สัจจญาณ หยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง
           ๒. กิจจญาณ หยั่งรู้กิจในอริยสัจ
           ๓. กตญาณ หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ;

ญาณ ๑๖ - ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาโดยลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่างคือ
๑.
นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป   ๒.(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป   ๓.สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์  ๔. - ๑๒. (ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙)   ๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชนเป็นอริยบุคคลระดับใดระดับหนึ่ง   ๑๔.มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค   ๑๕.ผลญาณ ญาณในอริยผล   ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่พิจารณาทบทวน;   ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือเรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส;   ดู วิปัสสนาญาณ ๙

ญาณทัสสนวิสุทธิ - ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ ได้แก่ญาณในอริยมรรค ๔

ตทังควิมุตติ-“พ้นได้ด้วยองค์นั้น”  หมายความว่า พ้นจากกิเลสด้วยอาศัยธรรมตรงกันข้ามที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น เกิดเมตตา จึงหายโกรธ, เกิดสังเวช จึงหายกำหนัด เป็นต้น   เป็นการหลุดพ้นชั่วคราว และเป็นโลกิยวิมุตติ

ตทังคปหาน-“การละด้วยองค์นั้น”, การละกิเลสด้วยองค์ธรรมที่จำเพาะกันนั้น คือละกิเลสด้วยองค์ธรรมจำเพาะที่เป็นคู่ปรับกัน แปลง่ายๆ ว่า “การละกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ” เช่น ละโกรธด้วยเมตตา  (แปลกันมาว่า “การละกิเลสได้ชั่วคราว”)  และเป็นโลกิยวิมุตติ

ตทังคนิพพาน-"นิพพานด้วยองค์นั้น”, นิพพานด้วยองค์ธรรมจำเพาะ เช่น มองเห็นขันธ์ ๕ โดยไตรลักษณ์แล้วหายทุกข์ร้อน ใจสงบสบายมีความสุขอยู่ตลอดชั่วคราวนั้นๆ กล่าวคือ เห็นเข้าใจธรรมใดได้อย่างแจ่มแจ้ง(ธรรมสามัคคคี) ทำให้ใจสงบสบายมีความสุขอยู่ตลอดคราวหนึ่งๆ,  นิพพานเฉพาะกรณี เช่นตทังควิมุตติ

ตติยฌาน-ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒   ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุข กับ เอกัคคตา

ตถตา-ความเป็นอย่างนั้น, ความเป็นเช่นนั้น, ภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของมันอย่างนั้นเอง คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย (มิใช่เป็นไปตามความอ้อนวอนปรารถนา หรือการดลบันดาลของใคร ๆ) เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกฎปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา

ตถาคต-พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรง เรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง คือ ๑. พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๒. พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๓. พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง ๔. พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน ๕. พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง ๖. พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น ๗. พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น  ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ๘. พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจเป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสะ

ตรัสรู้-รู้แจ้ง หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ติดสุข-เป็นอาการหรือกริยาจิต ที่ไปยึดติดเพลิดเพลินจนถอนตัวไม่ขึ้นในความสุข สงบ สบาย จากอำนาจหรือกำลังขององค์ฌาน(สุข)หรือสมาธิ   จึงเกิดอาการของจิตคือ"จิตส่งใน"ไปในกายหรือจิตตน เพื่อการเสพเสวย ที่กระทำอยู่เสมอๆทั้งโดยรู้ตัว และโดยเฉพาะไม่รู้ตัว และควบคุมไม่ได้ เป็นการกระทำเองโดยอัติโนมัติ  เมื่อติดสุขแล้วจึงร่วมด้วยอาการ"จิตส่งใน" อยู่เสมอๆตลอดเวลาอย่างควบคุมไม่ได้,  เกิดจากการปฏิบัติฌานหรือสมาธิ จนเกิดองค์ฌานหรือได้รับความสบายระดับหนึ่งจากการระงับไปของนิวรณ์ ๕ แล้วไม่ได้ดำเนินการวิปัสสนาทางปัญญาเลย  เน้นกระทำแต่ฌานสมาธิก็เพื่อเสพสุขในรสของความสุข ความสงบ และเสพรสชาดอันแสนอร่อยขององค์ฌานต่างๆ อันมี ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ อุเบกขาต่างๆ ซึ่งเรียกรวมกันไปว่า ติดสุข,  ซึ่งเป็นไปโดยไม่รู้ตัว และประกอบด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นปฏิบัติถูกต้องแล้วเป็นสำคัญอีกด้วย คือเข้าใจไปว่าถูกทางแล้วเพราะมีความสุขสบายที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องล่อลวง   หรือปฏิบัติไปด้วยเข้าใจผิดๆไปว่า จิตส่งในไปในกายหรือในจิตเป็นกายานุปัสสนาหรือจิตตานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔  :   มีรายละเอียดและการแก้ไขใน รวมหัวข้อฌานสมาธิในบท ติดสุข

ตัณหา-ความทะยานอยาก, ความดิ้นรน, ความปรารถนา, ความเสน่หา ความยินดี ยินร้าย ความติดใจอยาก  ;  ตัณหา ก็คือ อาการอย่างหนึ่งของจิต คือความทะยานอยากหรือความปรารถนา จึงจัดเป็นสังขารขันธ์คืออารมณ์ทางโลกอย่างหนึ่ง, ดังนั้นตัณหา ก็คือ ธรรมหรืออาการจิตอย่างหนึ่ง ทีไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาความคิดอ่าน ความจงใจให้กระทำในสิ่งต่างๆได้ทั้งกาย วาจา ใจ  แต่สัญเจตนาหรือเจตนาความคิดอ่านนั้น เป็นไปตามอำนาจกิเลสคืออุปาทานที่ครอบงำ คือเป็นไปตามความยึดมั่นยึดถือตามกิเลสหรือความปรารถนาของตัวตน  ก็เพื่อให้เกิดขึ้น ให้เป็นไปได้ตามตัณหาความปรารถนาหรือกิเลสตน นั่นเอง,  ตัณหา จึงเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง แต่เป็นอกุศลสังขารขันธ์นั่นเอง จึงครอบคลุมสังขารขันธ์ฝ่ายอกุศลทั้งหมด ทั้ง โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฯ. ดังเช่น เกิดตัณหาความอยากแล้วไม่เป็นไปตามปรารนาจึงเกิดความโกรธ หรือโลภขึ้นเป็นต้น จึงเกิดอุปาทานขึ้นได้นั่นเอง  ในปฏิจจสมุปบาทจึงไม่ใช่หมายถึงความปรารถนาเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึง อกุศลสังขารขันธ์หรืออารมณ์ฝ่ายอกุศลต่างๆทั้งสิ้น เช่น ราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ.

    ตัณหา มี ๓ ;  ตัณหา คือสังขารขันธ์หรืออารมณ์ ฝ่ายอกุศล

    กามตัณหา ตัณหาความทะยานอยาก(รวมทั้งความไม่อยาก)ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้ง๕ หรือในทางโลกๆ  หรือความอยากได้ในอารมณ์(รูป รส กลิ่น ฯ.)อันน่ารักน่าใคร่

    ภวตัณหา ตัณหาความทะยานอยากในทางจิตหรือความนึกคิด หรือความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่

    วิภวตัณหา ตัณหาความทะยานไม่อยาก หรือผลักไส ต่อต้าน ความไม่อยากในทางจิตหรือความนึกคิด  หรือความทะยานอยากในวิภพ ความอยากในวิภพ คือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้น(ไม่อยาก)ไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา,  ความทะยานที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐ,   พอสรุปได้เป็น ความไม่อยากทั้งหลายนั่นเอง

     ตัณหาพอสรุปเพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณา จึงพอจำแนกหยาบๆได้ว่าเป็นตัณหาความทะยานอยาก(ภสตัณหา)และไม่อยาก(วิภวตัณหา)  ในที่นี้ผู้เขียนจึงมักเรียกสั้นๆในตัณหาว่า ความอยาก และไม่อยาก   และในปฏิจจสมุปบาทนี้ผู้เขียนหมายรวมความคิดปรุงแต่งหรือคิดนึกปรุงแต่งใจอันทำให้เกิดเวทนา-->แล้วมักก่อให้เกิดตัณหา คิดนึกปรุงแต่งมากก็มักทําให้เกิดตัณหาในที่สุดนั่นเอง

ไตรทวาร-ทวารสาม, ทางทำกรรม(การกระทำ) ๓ ทาง คือ กายทวาร(ทางกาย)  วจีทวาร(ทางวาจา)   และมโนทวาร(ทางใจ)

ไตรปิฎก-“ปิฎกสาม”; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้วโดยนัยนี้ ไตรปิฎกจึงแปลว่าคัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวดกล่าวคือ

        วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

        สุตตันตปิฎก  ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ ในเวลาและสถานที่แตกต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง คำบรรยายธรรมบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป

        อภิธรรมปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยาและอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา

ไตรลักษณ์-ลักษณะสาม อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ,  ๓ ประการ ได้แก่
           ๑.
อนิจจตา (อนิจจัง) ความเป็นของไม่เที่ยง
มีความแปรปรวนอยู่เสมอๆ
           ๒.
ทุกขตา (ทุกขัง) ความเป็นทุกข์หรือทนอยู่ด้วยได้ยาก  หรือความเป็นของ
คงสภาพอยู่มิได้
           ๓.
อนัตตตา (อนัตตา) ความเป็นของมิใช่ตัวตน หรือไม่มีตัวตนของเขาเองจริง
จึงครอบครองเป็นเจ้าของแล้วไปควบคุมบังคับไม่ได้ตามใจปรารถนา เป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น
       (คนไทยนิยมพูดสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแปลง่ายๆว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา”)
       ลักษณะเหล่านี้มี ๓ อย่าง จึงเรียกว่า
ไตรลักษณ์
       ลักษณะทั้ง ๓ เหล่านี้มีแก่ธรรมที่เป็น
สังขตะ คือสังขารทั้งปวง เป็นสามัญเสมอเหมือนกัน จึงเรียกว่า สามัญญลักษณะ
       (ไม่สามัญแก่ธรรมที่เป็น
อสังขตะ คือวิสังขาร ซึ่งมีเฉพาะลักษณะที่สาม คืออนัตตาอย่างเดียว ไม่มีลักษณะสองอย่างต้น);
       
ลักษณะเหล่านี้เป็นของแน่นอน เป็นกฏธรรมชาติ มีอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่า ธรรมนิยาม (ธมฺมนิยามตา) ส่วนคำว่าไตรลักษณ์และสามัญลักษณะ เป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลังในยุคอรรถกถา

ไตรวัฏฏ์, ไตรวัฏ - วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาทซึ่งหมุนเวียนสืบทอดต่อ ๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส ---> กรรม ---> และวิบาก (เรียกเต็มว่า ๑.กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน  ๒.กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ  ๓.วิปากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาส)

        กล่าวคือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น  อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุขเวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลสคือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

ไตรสรณะ - ที่พึ่งสาม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ไตรสิกข- สิกขาสาม, ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา ๓ อย่าง คือ อธิศีลสิกขา  อธิจิตตสิกขา  อธิปัญญาสิกขา เรียกกันง่าย ๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

        

ทิฏฐิ - ความเห็น, ทฤษฎี, ความเชื่อ ;  ในภาษาไทย มักหมายถึง การดื้อดึงในความเห็น  (พจนานุกรมเขียนทิฐิ)

ทิฏฐิ ๒ - ความเห็นผิดมี ๒ คือ ๑.สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง   ๒.อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ เช่น ทำกรรมใดไว้ บุญไม่มี บาปไม่มี ;
ทิฏฐิ ๓ - อีกหมวดหนึ่งมี ๓ คือ ๑. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ ๒. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ ๓. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มี คือถืออะไรเป็นหลักไม่ได้เช่น มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น

ทิฏฐิมานะ - ทิฏฐิ แปลว่าความเห็น ในที่นี้หมายถึงความเห็นดื้อดึง ถึงผิดก็ไม่ยอมแก้ไข,  มานะ ความถือตัว, รวม ๒ คำเป็นทิฏฐิมานะ หมายถึงถือรั้น อวดดี หรือดึงดื้อถือตัว

ทิฏฐิวิบัติ - วิบัติแห่งทิฐิ, ความผิดพลาดแห่งความคิดเห็น, ความเห็นคลาดเคลื่อนผิดธรรมหรือผิดวินัย ทำให้ประพฤติตนนอกแบบแผน ทำความผิดอยู่เสมอ (ข้อ ๓ ในวิบัติ ๔)

ทิฏฐิวิสุทธิ-ความหมดจดแห่งความเห็น คือ เกิดความรู้คความเข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง คลายความหลงผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนลงได้ (ข้อ ๓ ในวิสุทธิ์ ๗)

ทิฏฐุปาทาน-ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี ความเชื่อ ความคิดของตน ภายใต้อํานาจของกิเลสและตัณหา อันพาให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง,   ความถือมั่นในทิฏฐิ, ความยึดติดฝังใจในลัทธิ ทฤษฎี และหลักความเชื่อต่างๆ ;  เป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔ ที่ยังให้เกิดอุปาทานทุกข์ ที่สรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นทุกข์เร่าร้อนกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ทิพย์ - เป็นของเทวดา, วิเศษ, เลิศกว่าของมนุษย์

 

ทุกข์- ๑. สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก, สภาพที่คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ไม่ขึ้นต่อตัวของมันเอง (ทุกข์หรือทุกขัง ในไตรลักษณ์) จึงเป็นทุกข์ในที่สุดทั้งสิ้น
        
๒. อาการแห่งทุกข์ที่ปรากฎขึ้นแก่คน เป็นธรรมดา คือ  ความเกิด ก็เป็นทุกข์๑   ความแก่ ก็เป็นทุกข์๑   ความเจ็บ ก็เป็นทุกข์๑   ความตาย ก็เป็นทุกข์๑   ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์๑   ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์๑   ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์๑  รวม ๗ อย่าง  โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์.  (ทุกขสัจจะ หรือ ทุกขอริยสัจในอริยสัจจ์ ๔)
        
๓. สภาพที่ทนอยู่ด้วยได้ยากลำบาก กล่าวคือ ความรู้สึกไม่สบาย ได้แก่ ทุกขเวทนา,   ถ้ามาคู่กับโทมนัส (ในเวทนา ๕) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกาย คือทุกข์กาย (โทมนัสคือไม่สบายใจ)   แต่ถ้ามาลำพัง (ในเวทนา ๓) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ

 

ทุกขลักษณะ-เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์,
       ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
           ๑. ถูกการเกิดขึ้น และการดับสลาย บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา (จากความไม่เที่ยง)
           ๒. ทนอยู่ได้ยาก   คือ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (จากความไม่เที่ยง แม้แต่สุขก็คงสภาพเดิมอยู่ตลอดไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ในที่สุด)
           ๓. จึงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ในที่สุด
           ๔. แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข

ทุกขเวทนา - ความรู้สึกรับรู้หรือเสวยอารมณ์ ที่เกิดขึ้นจากการผัสสะกับอายตนะภายนอกต่างๆ(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) พร้อมความจำได้ในสิ่งนั้นว่า ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ;  ความรู้สึกลำบาก, ความรู้สึกเจ็บปวด, ความรู้สึกเป็นทุกข์, การเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย;   พึงทำความเข้าใจให้ดีว่าทุกขเวทนาเป็นทุกข์อย่างหนึ่งแต่เป็นทุกข์ธรรมชาติ ที่ยังคงเกิด ยังคงมี ยังคงเป็น ตลอดเวลาขณะที่ยังดำรงชีวิตอยู่ แม้ในองค์พระอริยเจ้า และแท้จริงแล้วยังจำเป็นต้องมีเสียอีกด้วย ถ้าไม่มีเสียก็เป็นอันตรายต่อชีวิตยิ่งจนไม่สามารถดำรงขันธ์อยู่ได้   ทุกขเวทนาจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ จึงต้องทำความเข้าใจอย่างยิ่งยวดเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติ  แต่ทุกขเวทนานี้ย่อมไม่แสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายเหมือนดังทุกข์อุปาทานคือทุกขเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน ที่เรียกว่า เวทนูปาทานขันธ์ (ดูในเวทนา)

ทุกขสมุทัย - เหตุให้เกิดทุกข์ หมายถึงตัณหาสาม คือ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา เรียกสั้น ๆ ว่า สมุทัย

ทุกขสัญญา - ความหมายรู้ว่าเป็นทุกข์, การกำหนดหมายให้มองเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์

ทุกขอริยสัจ-ความจริงอันประเสริฐข้อที่๑ ของอริยสัจ ๔,   ความเกิด ก็เป็นทุกข์๑   ความแก่ ก็เป็นทุกข์๑   ความเจ็บ ก็เป็นทุกข์๑  ความตาย ก็เป็นทุกข์๑   ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์๑   ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์๑   ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์๑ กล่าวคือทั้ง ๗ นี้เป็นทุกข์ธรรมชาติ ที่เกิด ดับ แก่ทุกรูปนามเป็นธรรมดา ไม่สามารถหลีกหนีพ้นแม้พระอริยะ, หรือโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์. คือเมื่อใดที่ประกอบด้วยความยึดมั่นด้วยกิเลส หรืออุปาทานแล้ว ก็จะกลายเป็น อุปาทานทุกข์ คือความทุกข์ที่ประกอบด้วยอุปาทานคือยึดมั่นในกิเลสของตัวตน คือสิ่งที่ไปปรุงจิตให้เห็นเป็นไปตามกิเลสตน จึงแสนเร่าร้อนเผาลนนั่นเอง อันไม่มีในพระอริยเจ้า

ทุกขสัจจ์-ทุกขสัจ-ทุกข์ตามความเป็นจริง คือเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย,  ทุกข์ธรรมชาติ  เกิดขึ้นแก่ทุกคน,  ทุกขสัจจ์ มี ๑๑ คือ ชาติ(การเกิด)  ชรา(การแปรปรวน ความเปลี่ยนแปลง)  มรณะ(ตาย)  โสกะ(ความโศกเศร้า)  ปริเทวะ(โหยไห้อาลัยหา)  ทุกข์(กาย)  โทมนัส(ทุกข์ใจ)  อุปายาส(ความขุ่นข้อง คับแค้นใจ)  การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก  การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก  การปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น, ;  ความเจ็บไข้ และเหล่าทุกขเวทนาต่างๆ ก็รวมอยู่ในเหล่าทุกขสัจจ์นี้ด้วย เช่นทุกขเวทนาจาก ทุกข์(กาย) โทมนัส(ทุกข์ใจ) การพลัดพราก....ฯ. ล้วนก่อให้เกิดทุกขเวทนานั่นเอง

ทุกข์อุปาทาน-อุปาทานทุกข์-ความทุกข์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน  เป็นความทุกข์ที่ร่วมด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นตามกิเลสของตัวตนเป็นสำคัญ  จึงมีความเร่าร้อนเผาลนกว่าความทุกข์ต่างๆทั่วไป ที่หมายถึงทุกข์ธรรมชาติหรือทุกขอริสัจ  กล่าวคือ ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทาน หรือที่กล่าวกันทั่วไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์,  การดับทุกข์อุปาทานเป็นจุดประสงค์สูงสุดของการปฏิบัติทั้งหมดในพระศาสนา,   ดังทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติอันเกิดขึ้นแต่การรับรู้ของการผัสสะ แต่ถ้ามีอุปาทานครอบแล้ว จะเรียกว่า เวทนูปาทานขันธ์ กลายเป็นเวทนาที่เร่าร้อนเผาลนกว่า ทุกขเวทนา,    ส่วนความทุกข์ใจ หดหู่ใจ ความคิดฟุ้งซ่าน อันเป็นสังขารขันธ์เมื่อประกอบด้วยอุปาทานแล้ว ย่อมทำให้เป็นทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเผาลนวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ด้วยอำนาจอุปาทาน,   ทุกข์อุปาทานอันทุกข์ใจเป็นผลจากตัณหาอันเป็นเหตุคือสมุทัย จึงมีอุปาทานขึ้น ดังนั้นทุกข์ธรรมชาติหรือทุกขอริยสัจจึงถูกครอบงำด้วยอุปาทานจนกลับกลายเป็นทุกข์อุปาทานขันธ์อันแสนเร่าร้อนเผาลนและมักวนเวียนปรุงแต่งจนเป็นไปอย่างยาวนาน  เป็นไปดังปฏิจจสมุปบาทธรรม,   การดับทุกข์ในพุทธศาสนาคือการดับทุกข์อุปาทานหรืออุปาทานขันธ์ ๕ นี้นี่เอง  ;  จึงไม่เหมือนดังทุกขเวทนาที่เป็นทุกข์ธรรมชาติ ที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ที่ย่อมมีความรู้สึกจากการรับรู้ เมื่อเกิดการผัสสะ(กระทบ)กัน เกิดเป็นสุขเวทนา หรือเป็นทุกขเวทนาดังกล่าว หรือเกิดอุเบกขาเวทนา(อทุกขมสุขเวทนา)คือเฉยๆ  อย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามสัญญาของตนเป็นสําคัญ,   ส่วนสังขารขันธ์ ความโกรธ ความทุกข์ใจ หดหู่ใจ ฯ. แม้ต้องเกิดเป็นธรรมดา เพราะเป็นสภาวธรรมชาติ จึงเป็นไปดามเหตุปัจจัย เป็นขันธ์อย่างหนึ่งจึงเป็นอิสระจากเรา ไม่ใช่ของเรา แต่ไม่เร่าร้อนเผาลนดังประกอบด้วยอุปาทาน อันเรียกว่าสังขารูปาทานขันธ์คือสังขารที่ขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานเข้าครอบงำ  และเมื่อเป็นสังขารูปาทานขันธ์อันเร่าร้อนแล้ว  มักจะเกิดมโนกรรมคือความคิดนึกจากสังขารขันธ์คืออารมณ์ต่างๆปรุงแต่งวนเวียนเป็นวงจรของทุกข์ ดังที่เกิดขึ้นในวงจรชรา ของปฏิจจสมุปบาท

 anired06_next.gif      anired06_next.gif      anired06_next.gif ตัณหา anired06_next.gif อุปาทาน anired06_next.gif ภพ anired06_next.gif ชาติ anired06_next.gif......ธรรมารมณ์      ใจ   anired06_next.gif วิญญูาณูปาทานขันธ์    anired06_next.gif   เวทนูปาทานขันธ์  

                   วงจร ปฏิจจสมุปบาท                                  อุปาทานขันธ์๕ อันเกิดวนเวียนอยู่ใน ชรา อันเป็นทุกข์                   

   ดำเนินไปตามวงจรใหม่  anired06_next.gif อาสวะกิเลส anired06_next.gif มรณะ anired06_next.gif......สังขารูปาทานขันธ์ เกิดมโนกรรมคิดที่เป็นทุกข์      สัญญูปาทานขันธ์    

ภาพขยายในชรา   ล้วนเป็นอุปาทานขันธ์ อันเป็นทุกข์ เพราะเกิดจากสังขารูปาทานขันธ์ในชาติ อันถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว

    เนื่องด้วยเมื่อขันธ์ ๕ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งถูกครอบงำเสียแล้วด้วยอำนาจอุปาทาน กระบวนธรรมของจิตที่เป็นเหตุปัจจัยให้เนื่องสัมพันธ์กันก็ย่อมถูกครอบงำตามไปด้วย อุปาทานขันธ์ ๕ จึงเป็นทุกข์

    เมื่อเป็นทุกข์จากทุกข์อุปาทานแล้ว ดับมันลงไปได้ด้วยการ ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ปล่อยวาง หรือการปฏิบัติโดยการอุเบกขา ในสังขารขันธ์หรือมโนกรรมที่เกิดขึ้นเสียนั่นเอง

ทุติยฌาน - ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓  ละวิตกวิจารได้ คงมีแต่ ปีติ, สุขอันเกิดแต่สมาธิ, เอกัคคตา

โทสะ-ความคิดประทุษร้าย,   ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือตรงข้ามกับโทสะ ได้แก่ เมตตา ;  โทสะ ได้แก่ ความโกรธ โมโห ความเกลียด ความเคียดแค้น ความไม่พอใจ ฯ.     

 

 

ธรรม-สภาพที่ทรงไว้,  ธรรมดา,   ธรรมชาติ,   สภาวธรรม,   สัจจธรรม,   ความจริง;

 

        เหตุ, ต้นเหตุ;

 

        สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด;

 

        คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ;

 

        หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่;

 

        ความชอบ, ความยุติธรรม;

 

        พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรม(คือความจริงแท้ เรื่องของทุกข์และการดับทุกข์)ให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

ธรรม ๒ - หมวดหนึ่ง คือ  ๑.รูปธรรม ได้แก่รูปขันธ์ทั้งหมด  ๒.อรูปธรรม ได้แก่นามขันธ์ ๔ และนิพพาน;  อีกหมวดหนึ่ง คือ  ๑.โลกียธรรม ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก   ๒.โลกุตตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลกได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑;   อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑.สังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด และสังขารทั้งปวง   ๒.อสังขตธรรม ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน

ธรรมขันธ์ - กองธรรม, หมวดธรรม, ประมวลธรรมเข้าเป็นหมวดใหญ่มี ๕ คือ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์; กำหนดหมวดธรรมในพระไตรปิฎกว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐,  สุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐,  และอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ธรรมจักษุ - ดวงตาเห็นธรรมคือ ปัญญารู้เห็นความจริง ดังเช่นว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา;   ธรรมจักษุโดยทั่วไป เช่น ที่เกิดแก่ท่านโกณฑัญญะเมื่อสดับธรรมจักร ได้แก่โสดาปัตติมรรคหรือโสดาปัตติมัคคญาณ คือญาณที่ทำให้เป็นโสดาบัน

ธรรมดา - อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ; สามัญ, ปกติ, พื้น ๆ

ธรรมฐิติ - ความดำรงคงตัวแห่งธรรม, ความตั้งอยู่แน่นอนแห่งกฎธรรมดา

ธรรมชาติ - สิ่งหรือของที่เกิดเอง ตามวิสัยของโลก (ถือว่าเป็นสิ่งที่ทรงอำนาจยิ่งใหญ่เป็นที่สุดแล้ว เป็นไปเช่นนี้เอง  จนบางลัทธิบางศาสนาหลงไปนับถือโดยไม่รู้ อุปโลกน์ไปว่าเป็นเทพเจ้าบ้าง พระเจ้าบ้างก็มี ก็ด้วยความกลัว จึงหาที่พึ่งพิงที่ตนคิดว่ามีอำนาจยิ่งใหญ่มาช่วยปัดเป่า)

ธรรมนิยาม-ไตรลักษณ์-กำหนดแน่นอนแห่งธรรมดา,   กฎธรรมชาติ,
       ความจริงที่มีอยู่หรือดำรงอยู่โดยธรรมชาติของมัน  เป็นอกาลิโก ทนต่อทุกกาลเวลา  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วทรงนำมาแสดงชี้แจงอธิบายให้คนทั้งหลายให้รู้ตาม มี ๓ อย่าง
       แสดงความตามพระบาลีดังนี้
           ๑. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา  
 สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง
           ๒. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา   
 สังขารทั้งปวง คงสภาพทนอยู่มิได้
           ๓. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา    
 ธรรมทั้งปวง ไม่เป็นตัวตน;
       ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า
ไตรลักษณ์ แทนคำว่า ธรรมนิยาม

ธรรมทาน-การให้ธรรม, การสั่งสอนแนะนำเกี่ยวกับธรรม, การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง  เป็นทานอันสูงสุด

ธรรมาธิษฐาน-มีธรรมเป็นที่ตั้ง คือ เทศนา โดยยกธรรมขึ้นแสดง เช่นว่าศรัทธาศีล คืออย่างนี้   ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น คู่กันกับบุคคลาธิษฐาน

ธรรมารมณ์-ธัมมารมณ์-อารมณ์ทางใจ กล่าวคือ สิ่งที่กำหนดรู้ได้ทางใจ,  สิ่งที่ใจนึกคิด เช่น ความคิดต่างๆในใจ หรือแม้ภาพที่นึกเห็นในใจ  หรือแม้แต่ความฝัน,  ถ้าเกี่ยวกับขันธ์ ๕ "ธรรมารมณ์" ส่วนใหญ่ใช้ในความหมายว่า ความคิดนึกที่รู้ได้ด้วยใจ เมื่อไปทำหน้าที่เป็นเหตุปัจจัยร่วมกับขันธ์ทั้ง ๕ ให้เกิดการผัสสะ  ตัวอย่างธรรมารมณ์ได้แก่ การคิดนึกทำการงาน  คิดนึกว่าลืมอะไร  คิดนึกว่าคนนั้นชื่ออะไร  คิดนึกว่าจะทำอะไร  คิดนึกว่าเคยทำอะไร  ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการดำเนินชีวิต  จึงต่างจากความคิดนึกมโนกรรมที่เป็นผลจากสังขารขันธ์(อารมณ์)ต่างๆ และมโนกรรมฝ่ายอกุศลเป็นสิ่งที่ควร"ละ"หรืออุเบกขา เพื่อไม่ให้เกิดการวนเวียนปรุงแต่งให้เป็นทุกข์

ธรรมวิจยะ-ธัมมวิจยะ-ธรรมวิจัย-การวิจัยหรือค้นคว้าพิจารณาธรรม  การเฟ้นเลือกธรรม การสอดส่องค้นคว้าธรรม

ธรรมสามัคคี - ความพร้อมเพรียงขององค์ธรรม, องค์ธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกันทุกอย่าง ทำกิจหน้าที่ของแต่ละอย่าง ๆ โดยพร้อมเพรียงและประสานสอดคล้องกันให้สำเร็จผลที่เป็นจุดหมาย เช่น จนเกิดความเข้าใจในธรรมใดธรรมหนึ่งอย่างแจ่มแจ้ง อย่างปรมัตถ์,   แต่ถ้าเข้าใจในธรรมถึงขั้นบรรลุในมรรคผล กล่าวคือถ้าเป็นธรรมสามัคคีดังข้างต้นที่พร้อมด้วยองค์มรรค ก็เรียกกันว่า มรรคสามัคคีหรือมรรคสมังคี อันเป็นการบรรลุมรรคผลในขั้นใดขั้นหนึ่งนั่นเอง กล่าวคือเป็นอริยบุคคล เช่น พระโสดาบัน   พระสกิทาคามี ฯ.เป็นต้น

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร - “พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป”, พระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรมเป็นชื่อของ ปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากวันตรัสรู้สองเดือน ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่าง และว่าด้วยอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือ ความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะหัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ)และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก เรียกว่า เป็นปฐมสาวก

ธัมมารมณ์ - ดู ธรรมารมณ์

ธัมมสัญญา-ความจำได้ รู้จัก หมายรู้ ในธรรมารมณ์นั้นๆ (เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาขันธ์ ความจำต่างๆ) จึงร่วมเกิดความรู้สึกในการรับรู้รสผัสสะ(เวทนา),  เกิดก่อนเวทนา(มโนสัมผัสสชาเวทนา) จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนาต่างๆขึ้นได้ เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา,   ในลักษณะเดียวกันใน รูปสัญญา(ในรูป)  สัททสัญญา(ในเสียง)  คันธสัญญา(ในกลิ่น)  รสสัญญา(ในรส)  โผฏฐัพพะสัญญา(ในสัมผัส)

ธัมมสัญเจตนา-ความคิดอ่านไปปรุงแต่งธรรมารมณ์ ที่ผัสสะนั้น (เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาขันธ์), เกิดต่อจากเวทนา(มโนสัมผัสสชาเวทนา) จึงเป็นเหตุปัจจัยไปปรุงแต่งจิตให้เกิดอารมณ์ต่างๆ คือสังขารขันธ์ต่างๆขึ้น,   ในลักษณะเดียวกันใน รูปสัญเจตนา(ในรูป)  สัททสัญเจตนา(ในเสียง)  คันธสัญเจตนา(ในกลิ่น)  รสสัญเจตนา(ในรส)  โผฏฐัพพะสัญเจตนา(ในสัมผัส)

ธาตุ  สิ่งที่ทรงสภาวะของมันอยู่ได้เองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย หรือทรงสภาวะของมันเองได้โดยธรรมชาติ (ดังเช่น ในทางโลกๆก็ธาตุต่างๆที่ยืนยันในปัจจุบันล่าสุดก็ ๑๑๘ ธาตุที่ทรงสภาวะอยู่ได้ตามธรรมชาติของมันเอง เป็นต้น)   :   ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา  ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ธาตุ ๔ คือ ๑.ปฐวีธาตุ หรือธาตุดิน สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่เรียกสามัญว่าธาตุแข้นแข็ง ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า (มันสมอง), หรือหมายถึงสารประกอบแข้นแข็งที่เกิดแต่การประกอบกันขึ้นของธาตุทั้ง๑๑๘ ที่ล้วนมีอยู่ในดินหรือโลก ก็เพื่อประโยชน์ในการเจริญวิปัสสนาก็ได้   ๒.อาโปธาตุ สภาวะที่เอิบอาบดูดซึม เรียกสามัญว่า ธาตุเหลวหรือธาตุน้ำ ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร น้ำย่อย ข้อความนี้ เป็นการกล่าวถึงอาโปธาตุในลักษณะที่คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้ และพอให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน   ๓.เตโชธาตุ ธาตุไฟ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่าธาตุไฟ ในร่างกาย ได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายและไฟที่เผาอาหารให้ย่อย(ระบบเผาผลาญเมตะโบลิซึ่มในร่างกาย)  ๔.วาโยธาตุ ธาตุลม สภาวะที่ทำให้เคลื่อนไหว มีลักษณะพัดไปมา, ภาวะสั่นไหว เคร่งตึง ค้ำจุน  ในร่างกายนี้ ส่วนที่ใช้กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ

ธาตุ ๖ - คือ เพิ่ม  ๕.อากาสธาตุ สภาวะที่ว่าง หรือช่องว่าง   ๖.วิญญาณธาตุ สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ หรือ ธาตุรู้

ธาตุ - กระดูกของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย เรียกรวมๆ ว่า พระธาตุ  (ถ้ากล่าวถึงกระดูกของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเรียกว่า พระบรมธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ พระสารีริกธาตุ หรือระบุชื่อกระดูกส่วนนั้นๆ เช่น พระทาฐธาตุ)

ธาตุ ๑๘ - สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง  ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นไปตามธรรมนิยามคือกำหนดแห่งธรรมดา คือไม่มีผู้สร้างผู้บันดาล และมีรูปลักษณะกิจอาการเป็นแบบจำเพาะตัว  อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่างๆ
       1. จักขุธาตุ (ธาตุคือจักขุปสาท หรือจักขุประสาท)
       2. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปารมณ์)
       3. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุคือจักขุวิญญาณ)
       4. โสตธาตุ (ธาตุคือโสตปสาท)
       5. สัททธาตุ (ธาตุคือสัททารมณ์)
       6. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุคือโสตวิญญาณ)
       7. ฆานธาตุ (ธาตุคือฆานปสาท)
       8. คันธธาตุ (ธาตุคือคันธารมณ์)
       9. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุคือฆานวิญญาณ)
       10. ชิวหาธาตุ (ธาตุคือชิวหาปสาท)
       11. รสธาตุ (ธาตุคือรสารมณ์)
       12. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุคือชิวหาวิญญาณ)
       13. กายธาตุ (ธาตุคือกายปสาท)
       14. โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์)
       15. กายวิญญาณธาตุ (ธาตุคือกายวิญญาณ)
       16. มโนธาตุ (ธาตุคือมโน)
       17. ธรรมธาตุ (ธาตุคือธรรมารมณ์)
       18. มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุคือมโนวิญญาณ)

       ธาตุกัมมัฏฐาน - กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ กล่าวคือ กำหนดพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่  จึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  จึงไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา  ไม่ใช่ตัวตนของเรา

นาม - ธรรมที่รู้จักกันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจเป็นเรื่องของจิตใจ, สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปแต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้   ๑.ในที่ทั่วไปหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ   ๒.บางแห่งหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ นั้นและนิพพาน (รวมทั้งโลกุตตรธรรมอื่นๆ)   ๓.บางแห่งเช่นในปฏิจจสมุปบาท บางกรณีหมายเฉพาะเจตสิกธรรมทั้งหลาย เทียบ รูป

นามธรรม-สิ่งที่ไม่มีรูปร่างตัวตน สัมผัสได้ด้วยใจ หรือความคิด

             - สภาวะที่น้อมไปหาอารมณ์, ใจและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ คือ จิตและเจตสิก,  สิ่งของที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ทางใจ

นามรูป - นามธรรมและรูปธรรม;   นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ;    รูปธรรม หมายถึงสิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป ได้แก่รูปขันธ์ทั้งหมด ; ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง การทำงานของชีวิตหรือขันธ์ทั้ง ๕

นามรูปปริจเฉทญาณ - ญาณกำหนดแยกนามรูป, ญาณหยั่งรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นแต่เพียงนามและรูป  และกำหนดจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนาม (ข้อ ๑ ในญาณ ๑๖)

นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ - ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป, ญาณหยั่งรู้ที่กำหนดจับได้ซึ่งปัจจัยแห่งนามและรูป โดยอาการที่เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น (ข้อ ๒ ในญาณ ๑๖) เรียกกันสั้นๆ ว่า ปัจจัยปริคคหญาณ)

นิพพาน - การดับกิเลสและกองทุกข์เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดู นิพพานธาต

นิพพานธาตุ - ภาวะแห่งนิพพาน; นิพพาน หรือนิพพานธาตุ ๒ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสและยังมีขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์อยู่ ๑  หมายถึง ยังมีชีวิตอยู่  ดังนั้นจึงไม่ใช่การพยายามดับขันธ์๕ แต่เป็นการดับอุปาทานที่ไปยึดขันธ์๕   อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ๑ (ตายหรือดับขันธ์)

นิพพิทา - ความหน่าย หมายถึงความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง  ถ้าหญิงชายอยู่กินกันเกิดหน่ายกัน เพราะความประพฤติไม่ดีต่อกัน หรือหน่ายในมรรยาทของกันและกัน อย่างนี้ไม่จัดเป็นนิพพิทา เพราะเป็นการหน่ายที่เกิดจากกิเลสตัณหา;   ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์  (ดูรายละเอียดในบท นิพพิทา)

นิพพิทาญาณ - ความรู้ที่ทำให้เบื่อหน่ายในกองทุกข์, ปรีชาหยั่งเห็น(ญาณ)สังขารด้วยความหน่าย ดู วิปัสสนาญาณ

นิมิต - สิ่งที่เกิดปรากฏเฉพาะขึ้นในนักปฏิบัติ อันเกิดแต่ใจของนักปฏิบัติหรือผู้เจริญกรรมฐานเป็นสำคัญ เช่น ภาพที่ปรากฏขึ้นแต่ใจของนักปฏิบัติหรือผู้เจริญกรรมฐาน ฯ.,  พอแยกให้เห็นโดยสังเขปได้ดังนี้

          ภาพหรือรูป,แสง,สี ที่เห็นขึ้นอันเกิดแต่ใจของนักปฏิบัตเองเป็นสำคัญหรือเป็นเหตุ ผู้เขียนเรียกว่ารูปนิมิต,   ส่วนเสียงที่ได้ยินอันเกิดแต่ใจของนักปฏิบัติเป็นสำคัญหรือเป็นเหตุ ผู้เขียนเรียกว่าเสียงนิมิตหรือนิมิตทางเสียง เช่นได้ยินเสียงระฆัง เสียงสวดมนต์ที่ผุดขึ้นมาแต่ภายในเอง,   และความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจของนักปฏิบัติเองเป็นสำคัญ ก็เรียกว่านามนิมิต  ทั้งปวงล้วนเกิดแต่ใจหรือสัญญา(จึงครอบคลุมถึงเหล่าอาสวะกิเลสด้วย)ของผู้เจริญกรรมฐานเป็นสำคัญ  จึงมิได้เกิดแต่ปัญญาหรือการพิจารณาอย่างแจ่มแจ้งแต่อย่างเดียว  นิมิตที่พึงเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาทั้งหลายนั้น จึงอย่าได้ไปยึดมั่นหรือหลงไหล เพราะพาให้การปฏิบัติผิดแนวทางในผู้ที่ไปยึดติดยึดมั่นเข้า  และสิ่งที่เห็นนั้นนักปฏิบัติอาจเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริงคือไม่ได้เป็นไปตามที่เห็นจริง ;  อ่านรายละเอียดได้ในบท นิมิตและภวังค์

        บางทีก็ใช้ในความหมายว่า มอง, จ้อง, เห็น

        - เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนด ในการเจริญกรรมฐาน,   ภาพที่ใช้เป็นอารมณ์ ในการปฏิบัติกรรมฐานมี ๓ คือ

        ๑. บริกรรมนิมิต นิมิตแห่งบริกรรม หรือนิมิตตระเตรียม ได้แก่ สิ่งที่เพ่ง หรือกำหนดนึกเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู หรือพุทธคุณที่นึกว่าอยู่ในใจว่า พุทโธ ก็จัดเป็นนิมิต เป็นต้น
        ๒.
อุคคหนิมิต นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตาติดใจ ได้แก่ สิ่งที่เพ่ง หรือนึกนั้นเอง จนแม่นในใจ  หรือจนหลับตามองเห็นสิ่งนั้น

        ๓. ปฏิภาคนิมิต นิมิตเสมือน หรือนิมิตเทียบเคียง ได้แก่อุคคหนิมิตนั้น เจนใจจนกลายเป็นภาพที่เกิดจากสัญญา เป็นของบริสุทธิ์ จะนึกขยาย หรือย่อส่วนก็ได้ตามปรารถนา

นิรามิส-นิรามิษ -หาเหยื่อมิได้, ไม่มีอามิษ(อามิส) คือ ไม่ต้องมีเหยื่อใช้เป็นเครื่องล่อใจ,   ไม่ต้องอาศัยวัตถุมาเป็นเครื่องล่อใจหรือกำหนด

นิโรธ - ความดับทุกข์ คือดับตัณหาได้สิ้นเชิง, ภาวะปลอดทุกข์เพราะไม่มีทุกข์ที่จะเกิดขึ้นได้ หมายถึง พระนิพพาน

นิโรธสมาบัติ-การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญา ความจำได้หมายรู้ และเวทนา การเสวยอารมณ์  เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ   เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ในสภาวะของสมาธิขั้นสูงคือสมาบัติเท่านั้น  กล่าวคือเมื่อเป็นสมาบัติจนดับสัญญาต่างๆลงไปเป็นการชั่วคราว ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้ไม่เกิดเวทนาขึ้นได้เช่นกัน จึงเกิดการสงบระงับทั้งสัญญาและเวทนาลง เป็นการชั่วคราว  แต่ย่อมไม่สามารถดับสัญญาขันธ์หรือเวทนาขันธ์ลงไปโดยสิ้นเชิงได้เพราะเป็นขันธ์  เพียงแต่เมื่อหยุดสัญญาได้ จึงดับทั้งเวทนาที่เป็นเหตุปัจจัยกันลงไปได้ด้วย

นิวรณ์, นิวรณธรรม - ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี, สิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรมมี ๕ อย่าง คือ  ๑.กามฉันท์ ความพอใจในกามคุณ    ๒.พยาบาท คิดร้ายผู้อื่น   ๓.ถีนมิทธะ ความหดหู่ ความซึมเซา   ๔.อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน และรำคาญ,เดือดร้อนใจ   ๕.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ;  ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับนิวรณ์ ๕ คือสมาธิ

เนกขัมมะ - การออกจากกาม, การออกบวช, ความปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน (พจนานุกรม เขียน เนกขัม)

เนกขัมมวิตก - ความตรึกที่จะออกจากกาม หรือตรึกที่จะออกบวช, ความดำริ หรือความคิดที่ปลอดจากความโลภ (ข้อ ๓ ในกุศลวิตก ๓)

เนวสัญญานาสัญญายตนะ - ภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นชื่ออรูปฌาน หรือ อรูปภพที่ ๔

นันทิ - ความเพลิดเพลิน ความติด ความติดเพลิน  ทําหน้าที่เป็นตัณหา

บริกรรม - การกระทำขั้นต้นในการเจริญสมถกรรมฐาน คือ กำหนดใจโดยเพ่งวัตถุ  หรือนึกถึงอารมณ์ที่กำหนดนั้น ว่าซ้ำๆ อยู่ในใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อทำใจให้สงบ   (ในภาษาไทยเลือนไปหมายถึง ท่องบ่น, เสกเป่า)

บริกรรมภาวนา - ภาวนาขั้นต้นหรือขั้นตระเตรียม คือ กำหนดใจ โดยเพ่งดูวัตถุ หรือนึกว่าพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นต้น ซ้ำๆ อยู่ในใจ

บุคคลาธิษฐาน - มีบุคคลหรือรูปธรรมเป็นที่ตั้ง, เทศนา ยกบุคคลหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมอื่นๆขึ้นตั้งเพื่ออ้างอิงหรือเปรียบเทียบ คือ วิธีแสดงธรรมโดยยกบุคคลหรือรูปธรรมขึ้นเพื่ออ้างแสดง  คู่กับธรรมาธิษฐาน

บุญ - เครื่องชำระสันดาน, ความดี, กุศล, ความสุข, ความประพฤติชอบทางกาย วาจาและใจ, กุศลธรรม, ความใจฟู, ความอิ่มเอิบ

บุพเพนิวาสานุสติญาณ - ความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน, ระลึกชาติได้

บูชา - ให้ด้วยความนับถือ, แสดงความเคารพเทิดทูน มี ๒ คือ อามิสบูชา และปฏิบัติบูชา,  พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการปฏิบัติ คือ  ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของท่าน, บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม

เบญจกามคุณ - กามคุณ ๕ สิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)

เบญจขันธ์ -
ขันธ์ ๕ - กองหรือหมวดทั้ง ๕ แห่งรูปธรรมและนามธรรมที่ประกอบเข้าเป็นชีวิต ได้แก่ ๑. รูปขันธ์ กองรูป ๒. เวทนาขันธ์ กองเวทนา ๓. สัญญาขันธ์ กองสัญญา ๔. สังขารขันธ์ กองสังขาร ๕. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ

เบญจธรรม - ธรรม ๕ ประการ, ความดี ๕ อย่างที่ควรประพฤติคู่กันไปกับการรักษาเบญจศีลตามลำดับข้อ ดังนี้ ๑. เมตตากรุณา ๒. สัมมาอาชีวะ ๓. กามสังวร (สำรวมในกาม) ๔. สัจจะ ๕. สติสัมปชัญญะ ; บางตำราว่าแปลกไปบ้าง  ข้อคือ ๒. ทาน  ๓. สทารสันโดษ = พอใจเฉพาะภรรยาของตน  ๕ อัปปมาทะ = ไม่ประมาท; เบญจกัลยาณธรรมก็เรียก

เบญจศีล - ศีล ๕ เว้นฆ่าสัตว์  เว้นลักทรัพย์  เว้นประพฤติผิดในกาม  เว้นพูดปด  เว้นของเมา  มีคำสมาทานว่า ๑. ปาณาติปาตา ๒. อทินนาทานา ๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา ๔. มุสาวาทา ๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา ต่อท้ายด้วยเวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ทุกข้อ

ปราโมทย์ - ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ

ปฏิกูล - น่าเกลียด, น่ารังเกียจ

ปฏิฆะ - ความขัด, แค้นเคือง, ความขึ้งเคียด, ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ความที่จิตหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ

ปฏิฆานุสัย - กิเลส ความขุ่นข้อง ขัดเคือง ที่นอนเนื่องในสันดาน;   ดูอนุสัย

ปฏิจจสมุปบาท - สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ ๑๒ ดังนี้
๑. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี
๒. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณี เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
๓. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
๔. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
๕. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
๖. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
๗. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนา เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
๘. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
๙. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี
๑๐. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี
๑๑. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติ เป็นปัจจัย (๑๒.)ชรามรณะจึงมี
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ   โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมมัส อุปายาส จึงมีพร้อม
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้

                                                                                               อาสวะกิเลส      อวิชชา   anired06_next.gif   สังขาร   anired06_next.gif   วิญญาณ   anired06_next.gif   นามรูป

                                                                                                                                                                                   

                                                                                               มรณะ                                                                           สฬายตนะ

                                                                                                                       วงจรปฏิจจสมุปบาท  

           สัญญูปาทานขันธ์            anired06_next.gif            anired06_next.gif           anired06_next.gif          สังขารูปาทานขันธ์ (เกิดมโนกรรม                                                    

                         ชรา อันเป็นทุกข์ วนเวียนปรุงแต่งและเร่าร้อน                   anired02_down.gif                                                                    ผัสสะ

           เวทนูปาทานขันธ์   anired06_next.gif  วิญญูาณูปาทานขันธ์    anired06_next.gif    ใจ   ธรรมารมณ์ (มโนกรรมจาก"ชาติ"มาทำหน้าที่เป็นธรรมารมณ์)

                                                                                                                                                                               

                                                                                               ชาติ (สังขารขันธ์ แปรเป็นสังขารูปาทานขันธ์เกิดมโนกรรมคิดนึก          เวทนา

                                                                                                                                                                                   

                                                                                               ภพ                           อุปาทาน                          ตัณหา 

                                                                                           (มโนสังขาร)                         (อกุศลสัญเจตนา)                        (อกุศลสังขารขันธ์)

ภาพวงจรปฏิจจสมุปบาท  แบบขยายความเต็มรูปแบบโดยพิศดาร

ปฏิจจสมุปบันธรรม - ปฏิจจสมุปปันนธรรม - ธรรมหรือสภาวธรรมที่สิ่งต่างๆเกิดขึ้นมาแต่เหตุปัจจัย เช่น การเกิดแต่เหตุปัจจัยของความทุกข์หรือปฏิจจสมุปบาท เรียกสภาวธรรมนี้ว่าปฏิจจสมุปบันธรรม,   การเกิดแต่เหตุปัจจัยของขันธ์ ๕ หรืออุปาทานขันธ์๕,  ธรรมหรือสภาวธรรม ในการเกิดมาแต่เหตุปัจจัยของสังขารหรือสรรพสิ่งต่างๆ กล่าวคือ จึงครอบคลุมสิ่งต่างๆหรือสังขาร(สังขตธรรม)ที่เกิดขึ้นแต่เหตุหรือสิ่งต่างๆมาเป็นปัจจัยกันทั้งสิ้น นั่นเอง

ปฏิปทา - ทางดำเนิน, ความประพฤติ, ข้อปฏิบัติ

ปฏิสนธิจิตต์ - จิตที่สืบต่อภพใหม่, จิตที่เกิดทีแรกในภพใหม่

ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ - ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง, ปรีชาคำนึงพิจารณาสังขาร เพื่อหาทางเป็นเครื่องพ้นไปเสีย ดู วิปัสสนาญาณ

ปริวาส - การอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่าอยู่กรรม, เป็นชื่อวุฏฐานวิธี (ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ) อย่างหนึ่ง ซึ่งภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องประพฤติเป็นการลงโทษตนเองชดใช้ให้ครบเท่าจำนวนวันที่ปิดอาบัติ ก่อนที่จะประพฤติมานัตอันเป็นขั้นตอนปกติของการออกจากอาบัติต่อไป, ระหว่างอยู่ปริวาส ต้องประพฤติวัตรต่างๆ เช่น งดใช้สิทธิบางอย่าง ลดฐานะของตนและประจานตัวเป็นต้น ; ปริวาส มี ๓ อย่าง คือ ปฏิจฉันนปริวาส สโมธานปริวาส และ สุทธันตปริวาส ; มีปริวาสอีกอย่างหนึ่งสำหรับนักบวชนออกศาสนา จะต้องประพฤติก่อนที่จะบวชในพระธรรมวินัย เรียกว่า ติตถิยปริวาส ซึ่งท่านจัดเป็น อปฏิจฉันนปริวาส

ปฏิภาคนิมิต - นิมิตเสมือน, เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตเกิดจากสัญญา(จํา) สามารถนึกขยายหรือย่อ ให้ใหญ่หรือเล็กได้ตามปรารถนา

ปฏิเวธ - เข้าใจตลอด, แทงตลอด, ตรัสรู้, รู้ทะลุปรุโปร่ง, ลุล่วงผลปฏิบัติ

ปฏิปักษ์ - ฝ่ายตรงกันข้าม, คู่ปรับ, ข้าศึก, ศัตรู

ปฏิโลม-ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงการพิจารณาการดับไปแห่งทุกข์เป็นลําดับ

ปปัญจสัญญา-สัญญาอันมีการเกิดจากความคิดปรุงแต่งที่สลับซับซ้อนและมักเจือด้วยกิเลสและตัณหา  ถือได้ว่าเป็นสัญญาชนิดทําหน้าที่เป็น "ตัณหา"

ปรมัตถ์-ความหมายสูงสุด, ความหมายที่แท้จริง,

ปรมัตถธรรม-ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่เป็นจริงโดยความหมาย(ในระดับ หรือในขั้น)สูงสุด(แก่นแท้)

ปรมัตถสัจจะ-ความจริงโดยความหมายสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯ.   ตรงข้ามกับสมมติสัจจะ อันคือจริงโดยสมมติขึ้น เช่น สัตว์ บุคคล เธอ ฉัน นายแดง นายขาว รถฉัน บ้านเธอ ที่มีความหมายว่า จริงในระดับหนึ่งหรือจริงในระยะเวลาหนึ่ง

       ปรมัตถสัจจะนั้นหมายถึง ความจริงขั้นสูงสุด หรือจริงแท้อยู่เยี่ยงนั้นเป็นธรรมดา ดังเช่น ชีวิตเกิดแต่เหตุปัจจัยของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังนี้เป็นปรมัตถสัจจะ,  ส่วนสมมติสัจจะนั้น อาจจะกล่าวหรือหมายความได้ว่า "ความจริงในระดับหนึ่งหรือความจริงแค่ในระยะเวลาหนึ่ง" ดังเช่น นายแดงหรือชีวิตของนายแดงเป็นสมมติสัจจะ

ประภัสสร-ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธ์    ดังพุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา” มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่ แต่สภาพเศร้าหมองนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้นการชำระจิตให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ปริเทวะ-ความครํ่าครวญ, ความร่ำไรรําพัน ความบ่นเพ้อ  จึงรําลึกถึงทั้งในสุขและทุกข์ เช่น คร่ำครวญหรือรำพันในทุกข์  หรือบ่นเพ้อคือคร่ำครวญถึงความสุข;    ดูอาสวะกิเลส

ปริยัติ-พุทธพจน์อันจะพึงเล่าเรียน,  สิ่งที่ควรเล่าเรียน (โดยเฉพาะหมายเอาพระบาลี คือพระไตรปิฎก พุทธพจน์หรือพระธรรมวินัย);  การเล่าเรียนพระธรรมวินัย

ปิยรูป สาตรูป๑๐ - สิ่งที่มีสภาวะน่ารักน่าชื่นใจ  เป็นที่เกิดและเป็นที่ดับของตัณหา

ปีติ - (มักเขียนกันเป็นปิติ) ความอิ่มใจ, อิ่มเอิบ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ ๑.ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล   ๒.ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ   ๓.โอกกันติกาปีติ  ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง   ๔.อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบาหรืออุทานออกมา   ๕.ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์เป็นของประกอบกับสมาธิ  (มีรายละเอียดอยู่ในบท ฌาน,สมาธิ)

ปุถุชน-คนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส,  คนที่ยังมีกิเลสมาก หมายถึงคนธรรมดาทั่วๆ ไป ซึ่งยังไม่เป็นอริยบุคคล หรือพระอริยะ

ปัจจัย-ในทางธรรมหมายถึง  เครื่องสนับสนุนให้ธรรม(สิ่ง)อื่นๆเกิดขึ้น,   เหตุที่ให้ผลเป็นไป,  เครื่องหนุนให้เกิด

          (เหตุ -สิ่งที่ทำให้เกิดผลขึ้น,   สิ่งที่ก่อเรื่อง,   เค้ามูล,   เรื่องราว, )

         - ของสำหรับอาศัยใช้, เครื่องอาศัยของชีวิต, สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต มี ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม)  บิณฑบาต (อาหาร)  เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)  คิลานเภสัช (ยาบำบัดโรค)

ปัจจัตตัง-รู้ได้เฉพาะตน   ดังการกินอาหาร ใครจะกล่าวว่าอร่อย เปรี้ยว หวาน มัน เค็มเยี่ยงไร ก็ย่อมไม่สามารถรู้รสชาดได้บริบูรณ์เหมือนการชิมด้วยตนเอง จึงเป็นลักษณาการของการรู้ได้เฉพาะตน

ปัญจทวาราวัชชนจิต-คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือทวารทั้ง ๕ ดังเช่นเมื่อ ตากระทบรูป ย่อมต้องเกิด"จักขุวิญญาณ"ขึ้น เป็นการทำงานของมันเองโดยไม่ต้องมีเหตุโดยไม่ต้องมีเจตนา  มีรายละเอียดดังนี้ใน อเหตุกจิต  ส่วนมโนทวาราวัชชนจิต คือ กิริยาจิตที่จิตทำงานของมันเองโดยไม่ต้องมีเหตุมากระตุ้น เช่น ธรรมารมณ์ กระทบ จิต ย่อมเกิดมโนวิญญาณเองโดยธรรมชาติ,  จะไปห้ามไปหยุดย่อมมิได้เช่นกัน,  กล่าวคือทั้งสองนี้ เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเหตุ บุญ เหตุบาปใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากหน้าที่นั้นเป็นหน้าที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าตน  กล่าวง่ายๆคือ เป้นการทำงานโดยอัตโนมัติ และบังคับบัญชาไม่ได้อีกด้วย

ปัญญา-ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น  และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง

         - ความเข้าใจหรือความเห็น เป็นไปตามความเป็นจริง   กล่าวคือ ไม่เชื่อไม่เห็นไปตามความคิด,ความเชื่อ,ความอยากของตนเอง  จึงไม่ได้หมายถึงความฉลาดเฉลียว หรือI.Q.สูงแต่อย่างใด   แต่เป็นปัญญาในการเห็นการเห็นหรือเข้าใจตามความจริงที่เป็นไป(ยถาภูตญาณ)

ปัญญาจักขุ, ปัญญาจักษุ - จักษุคือปัญญา, ตาปัญญา, จึงหมายถึงปัญญา ;   เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยปัญญาจักขุ (ข้อ ๓ ในจักขุ ๕)

ปัญญาพละ - กำลังของปัญญา,  เป็นหนึ่งในพละ ๔ คือธรรม(สิ่ง)อันเป็นพลังทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยต่างๆ

ปัญญาวิมุตติ-ความหลุดพ้นด้วยปัญญา,
       ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตตผล
       และทำให้
เจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป

ปัสสัทธิ-ความสงบกาย,สงบใจ ความผ่อนคลายกายและใจ (ข้อ๕ ในสัมโพชฌงค์๗)

เป็นธรรมดา-อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ ;  สามัญ, ปกติ, พื้นๆ :  ในเรื่องต่างๆที่กล่าวนั้น  จะสังเกตุได้ว่ามีคำว่า เป็นธรรมดา หรือ มันเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา)แทรกอยู่อย่างมากมายแทบทุกบททุกตอน  จึงอยากขอกล่าวถึงสักเล็กน้อยว่า เป็นธรรมดานั้น  เป็นธรรมดาที่ไม่ธรรมดา หรือหมายถึงยิ่งใหญ่นั่นเอง หมายถึงต้องเป็นไปเช่นนั้นเองเท่านั้น  ไม่เป็นอื่นไปได้  เพราะความเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง อันเป็นอสังขตธรรม แม้เป็นอนัตตา แต่มีความเที่ยง คงทนอยู่ได้ทุกกาล  จึงต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง ไม่เป็นอื่นไปได้,  จึงเป็นธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

ผัสสะ-สัมผัส-การประจวบกันของอายตนะภายใน๑ และอายตนะภายนอก๑ และวิญญาณ๑ เรียกการประจวบกันของธรรมทั้ง ๓ ว่าผัสสะ ดังเช่น ตา + รูป + จักขุวิญญาณ;   ผัสสะ การถูกต้องกัน, การกระทบกัน;   ผัสสะ ๖ ผัสสะอันเนื่องมาจากอายตนะภายในต่างๆทั้ง ๖ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับอายตนะภายนอกทั้ง ๖ คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ(กายสัมผัส) ธรรมารมณ์(คิด) จึงเกิดวิญญาณ ๖ ขึ้น คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ เรียกการประจวบกันครบทั้ง ๓ องค์ดังนี้ว่าการผัสสะ  ซึ่งยังผลให้เกิดเวทนาต่างๆขึ้น เช่น

ใจ    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ธรรมารมณ์  (เกิด)มโนวิญญาณ  ผัสสะ (การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓)  ยังให้เกิดเวทนาต่างๆขึ้น

ผล - สิ่งที่เกิดจากเหตุ,  ประโยชน์ที่ได้, สิ่งที่ได้รับจากการเหตุ ;  ชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับมรรค และเป็นผลแห่งมรรค มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล ๑   สกทาคามิผล ๑   อนาคามิผล ๑   อรหัตตผล ๑

ผลญาณ - ญาณในอริยผล, ญาณที่เกิดขึ้นในลำดับ ต่อจากมรรคญาณ และเป็นผลแห่งมรรคญาณนั้น ซึ่งผู้บรรลุแล้วได้ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ มีโสดาบัน เป็นต้น

โผฏฐัพพะ - อารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย, สิ่งที่ถูกต้องด้วยกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เจ็บ ปวด เป็นต้น (ข้อ ๕ ในอายตนะภายนอก ๖ และในกามคุณ ๕)

พระเสขะ - อริยะบุคคล ผู้ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ มี พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี

พระอเสขะ - อีกชื่อหนึ่งของ "พระอรหันต์ "

พรหมวิหาร - ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

พุทธาธิบาย - พระประสงค์ของพระพุทธเจ้า, พระดำรัสชี้แจงของพระพุทธเจ้า

พยากรณ์ - ทาย, ทำนาย, คาดการณ์; ทำให้แจ้งชัด, ตอบปัญหา

พยาบาท - ความขัดเคืองแค้นใจ, ความเจ็บใจ, ความคิดร้าย, ตรงข้ามกับเมตตา;     ในภาษาไทยหมายถึง ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้น

โพธิปักขิยธรรม - ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรคมี ๓๗ ประการคือ สติปัฏฐาน ๔,  สัมมัปปธาน ๔,  อิทธิบาท ๔,  อินทรีย์ ๕,  พละ ๕,  โพชฌงค์ ๗,  มรรคมีองค์ ๘

ภพ-โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์, หรือเป็นที่อยู่ของจิตหรือใจ, ภาวะชีวิตของสัตว์ หรือของจิตหรือใจ มี ๓ คือ  ๑.กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ คือติดใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส   ๒.รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงหรือเสวยอยู่ในรูปฌาณ   ๓.อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาณ

ภูมิ-1.พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน   2. ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ  ๑.กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม   ๒.รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน   ๓.อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปหรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน   ๔.โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลกหรือระดับพระอริยบุคคล

ภวตัณหา-ความอยาก-ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ หรืออยากเกิด อยากมีอยู่คงทนตลอดไปตามใจปรารถนา

ภวังค์, ภวังคจิต และวิถีจิต-ภวังค์หรือภวังคจิต คือขณะจิต ที่จิตมิได้มีการเสวยอารมณ์จากทวารทั้ง ๖ หรือก็คือ ขณะที่จิตหยุดการเสวยอารมณ์หรือการรับรู้จากทวารทั้ง ๖  ;   จิตที่เป็นองค์แห่งภพ,   ตามหลักอภิธรรมว่า จิตที่เป็นพื้น อยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ กล่าวคือตั้งแต่เกิดจนถึงตาย  ในเวลาใดที่มิได้เสวยอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ (อันมี จักขุทวาร-ตา,โสตทวาร-หู, มโนทวาร-ใจหรือจิต ฯ. เป็นต้น),  แต่เมื่อใดมีการรับรู้อารมณ์ เช่น เกิดการเห็น การได้ยินเป็นต้น ก็เกิดเป็น"วิถีจิต"ขึ้น แทนภวังคจิต ซึ่งก็คือภาวะที่เราอยู่โดยปกติธรรมดานี่เอง  และเมื่อวิถีจิตที่เกิดจากทวารทั้ง๖ไปเสวยอารมณ์ดับไป  ก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นอย่างเดิม

       ภวังคจิต นี้ คือมโน(ใจ) ที่เป็นอายตนะที่ ๖ หรือมโนทวาร อันเป็นวิบาก จัดเป็นอัพยากฤต ซึ่งเป็นจิตตามสภาพ หรือตามปกติของมัน  เป็นเพียงมโน(จิตหรือใจ)  ยังไม่เป็นมโนวิญญาณ(ที่รู้แจ้งคือรับรู้ในสิ่งที่กระทบ)

       พุทธพจน์ว่า “จิตนี้ประภัสสร (ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์) แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา” มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่  แต่สภาพเศร้าหมองนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้น การชำระจิตให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้;    จิตที่ประภัสสรนี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ภวังคจิต

 

ภาวนา - การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ  

    ๑. การฝึกอบรม ตามหลักพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่างคือ ๑. สมถภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ  ๒.วิปัสสนาภาวนา ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้เข้าใจตามเป็นจริง,  อีกนัยหนึ่ง จัดเป็น ๒ เหมือนกันคือ  ๑.จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใสพร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ   ๒.ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์   

    ๒. การเจริญสมถกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาธิมี ๓ ขั้น คือ  ๑. บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐาน  ๒. อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ  ๓. อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ เกิดอัปปนาสมาธิเข้าถึงฌาณ  

    ๓. ในภาษาไทย ความหมายเลือนมาเป็น การท่องบ่นหรือว่าซ้ำๆให้ขลัง ก็มี

ภาวนาปธาน - เพียรเจริญ, เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่มียังไม่เกิด ให้เกิดให้มีขึ้น (ข้อ ๓ ในปธาน ๔)

ภาวนามัย - บุญที่สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา, ความดีที่ทำด้วยการฝึกอบรมจิตใจให้สุขสงบมีคุณธรรม เช่น เมตตากรุณา (จิตตภาวนา) และฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ปัญญาภาวนา) ดู ภาวนา (ข้อ ๓ ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ และ ๑๐)

ภาวรูป - รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ มี ๒ คือ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และปุริสภาวะ ความเป็นชาย

มาฆบูชา - การบูชาใหญ่ในวันเพ็ญ เดือน ๓ ในโอกาสคล้ายวันประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ซึ่งเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ณ พระเวฬุวัน หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์    (การปลงพระชนมายุสังขาร ก็ตรงในวันนี้)

มโน-ใจ

มโนกรรม-การกระทำทางใจ เช่นความคิด คิดนึก ความตั้งใจต่างๆแต่เป็นฝ่ายผล คือเกิดขึ้นจากสังขารขันธ์(อารมณ์ทางโลกต่างๆเช่น โทสะ โลภะ หดหู่ ฯ.) จึงย่อมประกอบแฝงด้วยอำนาจของอารมณ์(สังขารขันธ์)ต่างๆที่เป็นเหตุให้เกิด จึงมีทั้งทางชั่ว และทางดี, เช่นความคิดนึก ที่มีทั้งกุศล และอกุศล ตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น   (จึงมีความแตกต่างจากความคิดนึกทั่วไปอันคือธรรมารมณ์ อันทำหน้าที่เป็นฝ่ายเหตุ)  (มโนกรรมที่กิดจากสังขารูปาทานขันธ์ เป็นอกุศลมโนกรรม หรือมโนกรรมเจือกิเลส หรือความคิดนึกที่เกิดขึ้นอันเจือกิเลส))

              -การกระทำทางใจ เช่น ความคิดนึก แต่เป็นความคิดนึกอันเป็นผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากสังขารขันธ์นั้นๆ จึงย่อมต้องประกอบด้วยอารมณ์ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาคือจงใจหรือเจตนาคิดอ่านให้เกิดการกระทำต่างๆขึ้น ได้ทั้งทางกาย(กายกรรม) วาจา(วจีกรรม) หรือใจ, ทางใจนี้นี่เองคือมโนกรรม การกระทำทางใจนี้จึงเป็นผลมาจากสังขารขันธ์เป็นเหตุจึงเกิดขึ้น  ;  ความคิดนึกที่เกิดขึ้น คือเป็นผลมาจากการกระทบกันของ อายตนะภายนอกทั้งหลาย กับอายตนะภายใน เกิดการผัสสะกัน จึงเกิดสังขารขันธ์ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัญเจตนา และเกิดความคิดนึกอันเป็นผลของการผัสสะ คือมโนกรรมขึ้นได้ ดังเช่น

ธรรมารมณ์(คิดนึกแต่ทำหน้าที่เป็นเหตุ   กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ใจ  มโนวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์ { anired06_next.gifเกิดสัญเจตนา(เจตนา,จงใจ)anired06_next.gifกรรม (คือ การกระทำต่างๆทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ) ทางใจเช่น ความคิด (คือเกิดมโนกรรมคือความคิดนึกอันเป็นผลจากการผัสสะขึ้นนั่นเอง) }

 

รูป       กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป    ตา  จักขุวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา   เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์ {anired06_next.gifเกิดสัญเจตนา(เจตนา,จงใจ)anired06_next.gifกรรม (คือ การกระทำต่างๆทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ) ทางใจเช่น ความคิด (คือเกิดมโนกรรมคือความคิดนึกอันเป็นผลจากการผัสสะขึ้นนั่นเอง) } 

การอุเบกขา จึงต้องวางใจเป็นกลาง ต่อความคิดนึกที่เกิดจากสังขารขันธ์ คือมโนกรรม ที่มักไปทำหน้าที่เป็น อุทธัจจะ (สังโยชน์ข้อที่๙)  ที่ทำให้เกิดทุกข์  จึงถูกต้อง  จึงไม่ใช่ธรรมารมณ์

มโนวิญญาณ-ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์เกิดกับใจ, ธรรมเกิดกับใจ เกิดความรู้ขึ้น, ความรู้อารมณ์ทางใจ ดู วิญญาณ  

มโนสังขาร-สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ เจตนาที่ก่อให้เกิดมโนกรรม(การกระทำทางใจ เช่นความคิดนึกที่เป็นผลเกิดขึ้นจากสังขารขันธ์)  หรือมีเจตนาตกลงปลงใจนั่นเอง

มโนสัญเจตนาหาร-ความจงใจเป็นอาหาร(
ปัจจัยอันนำมาซึ่งผล, เครื่องค้ำจุนชีวิต) เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่างๆ (ข้อ ๓ ในอาหาร ๔)

มโนสัมผัส - อาการที่ใจ ธรรมารมณ์ และมโนวิญญาณประจวบกัน ดู สัมผัส หรือ ผัสสะ

มโนสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะการที่ใจ ธรรมารมณ์และมโนวิญญาณประจวบกัน ดู เวทนา

มรณสติ-ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศลธรรม เกิดความไม่ประมาทและไม่หวาดกลัว คิดเร่งขวนขวายบำเพ็ญกิจและทำความดี (ข้อ ๗ ในอนุสติ ๑๐)

มรรค-ทาง, หนทาง, ทางปฏิบัติ

     ๑. มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทางมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ  ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริ(คิด)ชอบ  ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ  ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำ(ประพฤติ)ชอบ  ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ  ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ  ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ  ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ

     ๒. มรรคว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละขั้น, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ โสดาปัตติมรรค๑  สกทาคามิมรรค๑  อนาคามิมรรค๑  อรหัตตมรรค ๑

มรรคจิต - ขณะจิตที่สัมปยุต(ประกอบด้วย)ด้วยมรรคองค์๘,    พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรค มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ตั้งอยู่ชั่วขณะมรรคจิตเท่านั้น พ้นจากนั้นก็จะเกิดผลจิต กล่าวคือกลายเป็นผู้ตั้งอยู่ในผล มีโสดาปัตติผลคือเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น

มรรคสมังคี, มรรคสามัคคี - ความพร้อมเพรียงขององค์มรรค, องค์มรรคทั้ง ๘ ทำกิจหน้าที่ของแต่ละอย่าง ๆ พร้อมเพรียงและประสานสอดคล้องกัน ให้สำเร็จในมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง กล่าวคือเป็นอริยบุคคล ;   ดู ธรรมสามัคคี

มรรคองค์ ๑๐ - สัมมัตตะ - ตรงกับองค์มรรคทั้ง ๘ ข้อ, เพิ่ม ๒ ข้อท้าย คือ  ๙. สัมมาญาณ รู้ชอบ ได้แก่ผลญาณและปัจจเวกขณญาณ  อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด ๑๐. สัมมาวิมุตติ พ้นชอบได้แก่อรหัตตผลวิมุตติ;  เรียกอีกอย่างว่า อเสขธรรม ๑๐; ดูสัมมัตตะ

มหรคต - “อันถึงสภาพความเป็นใหญ่”  “ซึ่งถึงความยิ่งใหญ่” หรือ “ซึ่งดำเนินไปด้วยฉันทะวิริยะจิตตะและปัญญาอย่างใหญ่" คือ เข้าถึงฌาน (ดังมีกล่าวในสติปัฏฐาน ๔ ในเรื่องจิตตานุปัสสนา), เป็นรูปาวจรหรืออรูปาวจร, ถึงระดับวิกขัมภนวิมุตต(การพ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้ ได้แก่ความพ้นจากกิเลสและอกุศลธรรมได้ด้วยกำลังฌาน อาจสะกดไว้ได้นานกว่าตทังควิมุตติ แต่เมื่อฌานเสื่อมแล้ว  กิเลสอาจเกิดขึ้นอีก จัดเป็นโลกิยวิมุตติ )

มหาภูต - ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม    ดู มหาภูตรูป  ธาตุ ๔

มหาภูตรูป - รูปใหญ่, รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ปฐวี(ดิน) อาโป(นํ้า) เตโช(ไฟ) และวาโย(ลม)   ดู ธาตุ ๔

มหาสติ - เป็นคำย่อมาจากมหาสติปัฏฐานสูตร และมักใช้ในความหมายที่ว่า มีสติยิ่ง ที่หมายถึง สติที่รู้เท่าทันในกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรมเป็นอย่างยิ่ง  ;  หรือใช้ในสำนวนที่ว่า มีสติจนสามารถกระทำโดยแทบไม่ต้องเจตนาหรือไม่ต้องตั้งใจอย่างแรงกล้า กล่าวคือ สามารถกระทำคือผุดระลึกรู้เท่าทันตามจริงเองได้โดยอัตโนมัติ คือมันเกิดมันทำของมันเองโดยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นมาแต่การสั่งสมอย่างดีเลิศหรือเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง จนเคยชินยิ่ง อันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตนั่นเอ  จึงเป็นสังขารที่เกิดแต่วิชชา กล่าวคือเกิดแต่การปฏิบัติสั่งสมอย่างถูกต้องทั้งด้วยสติและปัญญา  (ในทางโลกเที่ยบได้กับการมีสติระลึกรู้ ดัง ๒+๒ = ๔ ที่ย่อมระลึกรู้ได้โดยทันทีหรือโดยอัตโนมัติ คือดุจดังทำหน้าที่ได้ด้วยตนเอง)

มานะ - ความถือตัว, ความสําคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ดีกว่าเขา เสมอเขา ด้อยกว่าเขา (ข้อ ๕ ในอนุสัย ๗, ข้อ ๘ ในสังโยชน์ ๑๐, ข้อ ๑๓ ในอุปกิเลส ๑๖)   คนละความหมายกับ มานะ ในภาษาไทยที่แปลว่า ความพยายาม, ความตั้งใจจริง

มิจฉา - ผิด,  แบบผิดๆ

มิจฉาญาณ - รู้อย่างผิดๆ เช่น ความรู้ ความเข้าใจแบบผิดๆ,  ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ (ข้อ ๙ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด)

มิจฉาทิฏฐิ - เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี  มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น  และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรม เขียน มิจฉาทิฐิ)  (ข้อ ๑ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด) มิจฉาวิมุตติ - พ้นผิด เช่นการระงับกิเลสบาปธรรมได้ชั่วคราว เพราะกลัวอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลก การระงับกิเลสนั้นย่อมดี แต่เป็นการระงับเพราะความกลัวในอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลกนั้น ผิดทาง ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง ที่หมายถึงพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด ไม่กลับกลายหายสูญ (ข้อ ๑๐ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด)

มิจฉาสติ - ระลึกผิด ได้แก่ ระลึกถึงการหรือสิ่งอันจะยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ (ข้อ ๗ ในมิจฉัตตะ ๑๐ ภาวะที่ผิด)

มิจฉาสมาธิ-มิจฉาฌาน-ตั้งใจผิด ได้แก่จดจ่อ ปักใจแน่วในราคะ เช่น จดจ่อในความสุข,ความสงบ,ความสบาย ที่เกิดขึ้นจากอำนาจของสมาธิหรือองค์ฌานจากฌาน (ดังแสดงออกด้วยอาการจิตส่งใน),   ความจดจ่อ ปักใจ แน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น (ข้อ ๘. ใน มิจฉัตตะ ๑๐) ; มิจฉัตตะ-ความเป็นผิด, ภาวะที่ผิดมี ๑๐ อย่าง คือ  ๑. มิจฉาทิฏฐิ   ๒. มิจฉาสังกัปปะ   ๓. มิจฉาวาจา   ๔. มิจฉากัมมันตะ   ๕. มิจฉาอาชีวะ   ๖. มิจฉาวายามะ   ๗. มิจฉาสติ   ๘. มิจฉาสมาธิ   ๙. มิจฉาญาณ   ๑๐. มิจฉาวิมุตติ;    ตรงข้ามกับ สัมมัตตะ ๑๐ หรือบางทีเรียกมรรคองค์ ๑๐ ที่มีในพระอริยเจ้า

โมหะ - ความหลง, ความไม่รู้ตามเป็นจริง, อวิชชา,  ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโมหะ คือ ความรู้จริง ได้แก่ปัญญา (โมหะ ได้แก่ ความหลง มัวเมา ความกลัว กังวล ริษยา หวาดหวั่น ความเขลา ความไม่รู้จริง ความโง่),  บางท่านกล่าวว่า "อกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ กล่าวคือ อกุศลจิตที่ไม่ใช ่โลภะ หรือ โทสะ แล้วจัดเป็น โมหะ",  โมหะจัดโทษไว้ว่า "มีโทษมาก และคลายยาก"

ยถาภูตญาณ -  ความรู้ความเป็นจริง, รู้ตามที่มันเป็นไป, รู้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังเช่น จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ, จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ ฯ.

ยถาภูตญาณทัสนะ -ความรู้ความเห็นตามเป็นจริง

โยคะ - 1. กิเลสเครื่องประกอบ คือประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา 2. ความเพียร

โยคาวจร - ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร, ผู้ประกอบความเพียร, ผู้เจริญภาวนา คือกำลังปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เขียน โยคาพจร ก็มี

โยนิ - กำเนิดของสัตว์ มี ๔ จำพวก คือ ๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น คน แมว ๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ เช่น นก ไก่ ๓. สังเสทชะ เกิดในไคล คือที่ชื้นแฉะสกปรก เช่น หนอนบางอย่าง ๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา สัตว์นรก

โยนิโสมนสิการ-การพิจารณาในใจโดยละเอียดและแยบคายคือตามความเป็นจริงของสภาวธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ อย่างชาญฉลาด เช่นคิดค้นหาข้อสงสัย เปรียบเทียบสภาวะธรรมอื่นๆอันเห็นได้ชัดแจ้งกับสภาวธรรมอื่นๆที่ติดขัด ฯลฯ.  อันสามารถทําได้ในทุกอิริยาบถ หรือทุกขณะ และดีที่สุดคือในระดับวิปัสสนาสมาธิ หรือในขณิกสมาธิอันคือสมาธิอ่อนๆระดับใจที่แน่วแน่ ไม่วอกแวก ไม่ซัดส่ายไปในเรื่องคิดนึกปรุงแต่งอื่นๆคือฟุ้งซ่าน  หรือภายหลังจากการถอนออกมาจากสมาบัติคือสมาธิในระดับประณีตต่างๆ, ในบันทึกธรรมนี้กล่าวไว้บ่อยครั้งที่สุด เพราะเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่งในการเข้าใจธรรม หรือธรรมะวิจยะอันถูกต้องแท้จริง, ไม่ใช่เพราะทิฎฐิ(ความเชื่อ,ความยึด)หรือด้วยอธิโมกข์, อคติใดๆ มานําให้เห็นผิด

        จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)โยนิโสมนสิการ  การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดู ด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ และโดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

ราคานุสัย - กิเลส อันเป็นความกําหนัดในทางโลกที่แฝงนอนเนื่องในสันดาน;   ดูอนุสัย

ราคะ - ความกำหนัด, ความยินดีในกาม, ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่ในอารมณ์

รูป - ในขันธ์๕ หมายถึง รูปขันธ์คือส่วนร่างกายตัวตน,   ในอายตนะหมายถึง "ภาพ หรือรูป "ที่เห็น,  และบางครั้งก็ใช้ครอบคลุมถึง "สิ่งที่ถูกรู้"ทั้งหลายคือสิ่งที่ถูกรู้โดยอายตนะภายในทั้งหมด(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)ที่ล้วนต่างต้องอาศัยอยู่ในรูปขันธ์ คือสิ่งที่ถูกรู้ทั้งในรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส, ความคิด(ธรรมารมณ์)ทั้ง ๖

    - รูป ๑.สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น ๒๘ คือ มหาภูตหรือธาตุ ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ (= รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป,)   ๒.อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา (ข้อ ๑ ในอารมณ์ ๖ หรือในอายตนะภายนอก ๖)   ๓.ลักษณนาม ใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง สามเณร ๕ รูป; ในภาษาพูดบางแห่งนิยมใช้ องค์รูปกาย ประชุมแห่งรูปธรรม, กายที่เป็นส่วนรูป โดยใจความได้แก่รูปขันธ์หรือร่างกาย

รูปฌาน - ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ คือ  ๑) ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง) ปีติ (อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) เอกัคคตา (จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง)     ๒) ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ปีติ, สุข, เอกัคคตา    ๓) ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา    ๔) จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา, เอกัคคตา

รูปตัณหา - ความอยากในรูป

รูปธรรม - สิ่งที่ถูกรู้หรือสัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง๕ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ยกเว้น ใจ

             - สิ่งที่มีรูป, สภาวะที่เป็นรูป คู่กับ นามธรรม

รูปกัมมัฏฐาน - กรรมฐานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์

รูปวิจาร - ความตรองในรูป เกิดต่อจาก รูปวิตก

รูปวิตก - ความตรึกในรูป เกิดต่อจากรูปตัณหา

รูปสัญเจตนา-ธรรมหรือสิ่งที่ไปปรุงแต่งจิตให้ความคิดอ่านเจตนา (เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาขันธ์) ในเวทนาความรู้สึกรับรู้จากสิ่งที่กระทบที่เกิดจากรูปที่ผัสสะ คือเห็นนั้น,  จึงเกิดต่อจากเวทนา(จักขุสัมผัสสชาเวทนา)  จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสังขารขันธ์คืออารมณ์ต่างๆหรืออาการต่างๆของจิตขึ้น เช่น โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ.   ;    ในลักษณาการเดียวกันกับรูปสัญเจตนา(ในรูป) คือ สัททสัญเจตนา(ในเสียง)  คันธสัญเจตนา(ในกลิ่น)  รสสัญเจตนา(ในรส)  โผฏฐัพพะสัญเจตนา(ในสัมผัส)  ธัมมสัญเจตนา(ในธรรมารมณ์)  ดังเช่น

                                         ผัสสะ      รูปสัญญา                          รูปสัญเจตนา

รูป    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ตา ย่อมทำให้เกิดขึ้น โดยธรรม จักขุวิญญาณ  การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น  สัญญาจํา ย่อมทำให้เกิด  เวทนา  สัญญาหมายรู้   สังขารขันธ์ [ anired06_next.gifเกิดสัญเจตนา(เจตนา,จงใจ)จึงทำให้เกิดกรรม (คือ การกระทำต่างๆ  เช่น กายกรรม, มโนกรรม ฯ.]

 

 


รูปสัญญา-ความจำได้, หมายรู้ในรูป (เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาขันธ์),  เกิดก่อนเวทนา(จักขุสัมผัสสชาเวทนา) จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนาคือความรู้สึกรับรู้จากสิ่งที่กระทบที่เกิดจากรูปที่ผัสสะคือเห็นนั้น เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา จากรูปสัญญาขึ้น  ;   ในลักษณะเดียวกันกับรูปสัญญา(ในรูป) คือ สัททสัญญา(ในเสียง)  คันธสัญญา(ในกลิ่น)  รสสัญญา(ในรส)  โผฏฐัพพะสัญญา(ในสัมผัส)  ธัมมสัญญา(ในธรรมารมณ์)  ดังเช่น

                                                                         ผัสสะ     ธัมมสัญญา                        ธัมมสัญเจตนา

ธรรมารมณ์(คิดอันเป็นเหตุ)    กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป ใจ ย่อมทำให้เกิดขึ้น โดยธรรม มโนวิญญาณ  การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น  สัญญาจํา ย่อมทำให้เกิด  เวทนา ย่อมทำให้เกิด สัญญาหมายรู้  ย่อมทำให้เกิด สังขารขันธ์ [ เป็นปัจจัยไปปรุงจิต ให้เกิดสัญเจตนาเกิดสัญเจตนา(เจตนา,จงใจ) จึงทำให้เกิดกรรม (คือ การกระทำต่างๆ ทางใจ(มโนกรรม)เช่นความคิดเป็นทุกข์อันให้โทษ(คิดที่เกิดจากสังขารขันธ์นี้เป็นผล) ]     แสดงขันธ์ ๕ อย่างละเอียด ของสัญญา

 

รูปพรหม - พรหมในชั้นรูปภพ, พรหมที่เกิดด้วยกำลังรูปฌาน มี ๑๖ ชั้น ดู พรหมโลก

รูปภพ - โลกเป็นที่อยู่ของพวกรูปพรหม  หรือ  ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน

รูปราคะ - ความติดใจในรูปธรรม คือติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต (ข้อ ๖ ในสังโยชน์ ๑๐)

รู้แจ้งในอารมณ์ - วิญญาณ  ที่แท้จริง เพียงแค่รับรู้อารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมาย)ที่กระทบ

โลก - แผ่นดินเป็นที่อาศัย, หมู่สัตว์ผู้อาศัย; โลก ๓ คือ  ๑.สังขารโลก โลกคือสังขาร   ๒.สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์   ๓.โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน;  อีกนัยหนึ่ง ๑.มนุษยโลก โลกมนุษย์  ๒.เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น  ๓.พรหมโลก โลกของพระหรหม

โลกธรรม - ธรรมที่มีประจำโลก, ธรรมดาของโลก, ธรรมที่ครอบงำสัตวโลก และสัตวโลกก็เป็นไปตามมัน มี ๘ อย่าง คือ มีลาภ ไม่มีลาภ,   มียศ ไม่มียศ,   นินทา สรรเสริญ,    สุข ทุกข์     ดูรายละเอียด

โลกธาตุ - แผ่นดิน;  จักวาลหนึ่งๆ

โลกิยะ-โลกียสุข-ความสุขอย่างโลกีย์หรือตามวิสัยแบบโลกๆ,   ยังประกอบด้วยอาสวะคือ กิเลสหมักหมมเช่น กามสุข-ทางกาม, มนุษย์สุข-มนุษย์, ทิพยสุข-เทวดา,พรหม,  ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพสาม, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร

โลกิยวิมุตติ-วิมุตติที่เป็นโลกีย์ คือความพ้นอย่างโลกๆ ไม่เด็ดขาด ไม่สิ้นเชิง กิเลสและความทุกข์ยังกลับครอบงำได้อีก ได้แก่วิมุตติ ๒ อย่างแรกคือ ตทังควิมุตติ และ วิกขัมภนวิมุตติ เช่น ฌาน  สมาธิ ;  มีความหมายเหมือนกับ โลกิยวิโมกข์ (วิโมกข์ = ความหลุดพ้นจากกิเลส)

โลกุตระ-โลกุตตระ-พ้นจากโลก, เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลกภาวะ  ไม่เนื่องในภพทั้ง๓(กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ) ดู ภพ

โลกุตตรวิมุตติ-วิมุตติที่เป็นโลกุตตระ คือ ความหลุดพ้นที่เหนือวิสัยโลก ซึ่งกิเลสและความทุกข์ที่ละได้แล้ว ไม่กลับคืนมาอีก ไม่กลับกลาย
,  ดู
โลกิยวิมุตติ

โลกุตรธรรม-ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลกๆ,สภาวะพ้นโลกหรือเหนือโลก อันมี๙  อันมีมรรค ๔ เช่นโสดาปัตติมรรค, และ ผล ๔ เช่นโสดาปัตติผล,   และ นิพพาน ๑   รวมเป็น ๙  (รายละเอียดอยู่ในบทสังโยชน์ ๑๐)

โลกุตตรสุข-โลกุตรสุข-ความสุขอย่างโลกุตตระ, ความสุขที่เหนือกว่าระดับของชาวโลก, ความสุขที่เหนือกว่าระดับของโลก, ความสุขเนื่องด้วยมรรคผลนิพพาน

โลภะ-ความโลภ, โลภอยากได้ของเขา,  ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความโลภ คือ ความคิดเผื่อแผ่เสียสละ, จาคะ

ถีนมิทธะ - ความหดหู่และเซื่องซึม, ความที่จิตหดหู่และเคลิมเคลิ้ม, ความง่วงเหงาซึมเซา (ข้อ ๓ ในนิวรณ์ ๕)   (ถีนะ - ความหดหู่, ความท้อแท้ใจ,  มิทธะ - ง่วงงุน)

วสี - ความชำนาญ มี ๕ อย่าง คือ
       ๑.
อาวัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่ว ในการนึก ตรวจองค์ฌานที่ตนได้ออกมาแล้ว
       ๒.
สมาปัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่ว ในการที่เข้าฌานได้รวดเร็วทันที
       ๓.
อธิฏฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่ว ในการที่ตั้งจิตหรือรักษาจิตไว้มิให้ฌานจิตต์นั้นตกภวังค
       ๔.
วุฏฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่ว ในการจะออกจากฌานเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ
       ๕.
ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญคล่องแคล่ว ในการพิจารณาทบทวนองค์ฌาน

วจีกรรม-การกระทำทางวาจา, การกระทำด้วยวาจา, การกระทำด้วยคำพูด, คำพูดจา  

วจีสังขาร- ปัจจัยปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก(ตรึก) วิจาร(ตรอง)  ถ้าไม่มีตรึกตรองก่อนแล้ว ย่อมพูดไม่รู้เรื่อง

            -สภาพปรุงแต่งทางวาจา ได้แก่ วจีสัญเจตนา ความจงใจทางวาจา จึงก่อให้เกิดวจีกรรม

วิกขัมภนวิมุตติ - การพ้นด้วยข่มหรือสะกดไว้ ได้แก่ความพ้นจากกิเลสและอกุศลธรรมได้ด้วยกำลังฌาน อาจสะกดไว้ได้นานกว่าตทังควิมุตติ แต่เมื่อฌานเสื่อมแล้ว  กิเลสอาจเกิดขึ้นอีก  จัดเป็นโลกิยวิมุตติ ;   มีความหมายเหมือนกันกับ วิกขัมภนนิโรธ

วิศาขบูชา - การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์; วิสาขบูชา ก็เขียน

วิสัย - ภูมิ, พื้นเพ, อารมณ์, เขต, แดน, ลักษณะที่เป็น,  ไทยใช้ในความหมายว่า  ขีดขั้นแห่งความเป็นไปได้  หรือขอบเขตความสามารถ

วิจิกิจฉา - ความคลางแคลงสงสัย   จากการไม่รู้ตามความเป็นจริง

วิจิตร - งาม, งดงาม, แปลก, ตระการ, หรู, แพรวพราว

วิชชา - ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ;  วิชชา ๓ คือ  ๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้   ๒.จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย   ๓.อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น;    วิชชา ๘ คือ ๑.วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา   ๒.มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ   ๓.อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ   ๔.ทิพพโสต หูทิพย์   ๕.เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้   ๖.ปุพเพนิวาสานุสติ   ๗.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (= จุตูปปาตญาณ) ๘. อาสวักขยญาณ

วิบาก - ผล, ผลที่จักได้รับ เช่นผลแห่งกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน

วิบากกรรม - ผลแห่งกรรม(การกระทำ)ที่ทำไว้แต่ก่อน,   ผลที่จักได้รับจากการกระทํา(กรรม)

วิญญาณ-ในปฏิจจสมุปบาทและขันธ์๕  อันหมายถึงการรู้จากการกระทบกันของอายตนะภายในและภายนอก,  ความรู้แจ้งอารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมาย) คือรู้แจ้ง ในสิ่งที่กระทบนั่นเอง หรือระบบประสาทสัมผัสอันทําหน้าที่ในการสื่อสาร ดังเช่น จักขุวิญญาณ การรู้แจ้งในสิ่งที่กระทบคือรับรู้ในรูป, ระบบประสาทสัมผัสในการรับรู้ของตา กล่าวคือ การรับรู้หรือรู้ในรูป ที่มากระทบตา (วิญญาณเยี่ยงนี้ พระพุทธองค์ถึงจัดว่าเป็นไปอย่างปรมัตถ์หรือโลกุตระ เพื่อการหลุดพ้น  จึงแตกต่างจากเหล่าเจตสิกวิญญาณที่ลอยละล่องกลับมาเกิดที่มีไว้สอนเพียงปุถุชน ผู้ยังอยู่ในโลกีวิสัย)              

             - ความรู้แจ้งอารมณ์,   จิต(ก็เรียกกันเพราะในขันธ์ ๕ จัดเป็นสิ่งเดียวกัน),   ธรรมชาติที่รู้อารมณ์  คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นเองทุกครั้งที่อายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่น รูปอารมณ์ ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น  ได้แก่ การเห็น การได้ยิน เป็นอาทิ;

           วิญญาณ ๖ คือ
           ๑.
จักขุวิญญาณ จักษุวิญญาณก็เรียก ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น)
           ๒.
โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน)
           ๓.
ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น)
           ๔.
ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส)
           ๕.
กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย)
           ๖.
มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)

วิญญาณาหาร-อาหารคือวิญญาณ, วิญญาณเป็นอาหาร คือเป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดนามรูป  (ข้อ ๔ ในอาหาร ๔)

วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความไม่มี ไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่น อยากไม่เป็นนี่  ความไม่อยากในอรูปนั่นเอง เช่น โทสะ โมหะ โลภะ ฯ.  หรือ อยากดับสูญ หรือพอสรุปง่ายๆเป็นความ"ไม่อยาก"นั่นเอง

วิปัสสนา-วิปัสนา-ความเห็นแจ้ง, ทำให้เห็นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง คือ เห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรม(ธรรมชาติ), การเห็นตามความเป็นจริง ดังเช่น ปัญญาเห็นไตรลักษณ์อันให้ถอดถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสีย,   ปัญญาเห็นการเกิดขึ้นและเป็นไปของทุกข์ในปฏิจจสมุปบาท, ปัญญาเห็นการเกิดขึ้นและเป็นไปในขันธ์ ๕ ฯลฯ. (ข้อ ๒ ในกรรมฐาน ๒ หรือภาวนา ๒)

วิปัสสนาญาณ-ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง คือ  ๑.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณคือความปรีชา,ความหยั่งรู้หรือก็คือปัญญาตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป   ๒.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา   ๓.ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว   ๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ   ๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย    ๖.มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย   ๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง    ๘.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดย ความเป็นกลางต่อสังขาร    ๙.สัจจานุโลมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์;   ดู ญาณ ๑๖ หรือญาณโสฬส

วิปัสสนูปกิเลส-อุปกิเลส ๑๐ ที่เกิดจากการวิปัสสนา คือ กิเลสที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมถวิปัสสนา และมักมาจากการปฏิบัติสมถสมาธิหรือฌานแต่ฝ่ายเดียว (ดูรายละเอียดในบทวิปัสสนูปกิเลส) มักขาดการวิปัสสนาด้วยปัญญาอีกด้วย  อุปกิเลสแห่งวิปัสสนาในหัวข้อทั้ง ๑๐ ดูจากชื่อแล้ว น่าเป็นสภาพที่น่าชื่นชมแต่ที่แท้เป็นโทษ กล่าวคือ ให้ผลที่ไม่ถูกต้อง คือให้ผลตรงข้ามกับข้อธรรมนั้นๆ  เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา ซึ่งเกิดแก่ผู้ได้สมถวิปัสสนาอ่อนๆ แล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่า ตนบรรลุมรรคผลขั้นใดแล้ว ไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ และยังก่อโทษก่อภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างร้ายแรงได้  มี ๑๐ คือ  ๑.โอภาส แสงสว่าง,นิมิตแล้วงมงายอย่างเพลิดเพลินหรือติดเพลิน(นันทิ)น้อมเชื่อ    ๒.ปีติ ความอิ่มเอิบใจ แต่อย่างติดเพลิน   ๓.ญาณ ความรู้ แต่อย่างเข้าใจผิดหรือมิจฉาญาณ   ๔.ปัสสัทธิ ความสงบกายและจิต แต่อย่างแช่นิ่งอยู่ภายในอย่างขาดสัมปชัญญะ   ๕.สุข ความสบายกายสบายจิต แต่อย่างติดเพลิน   ๖.อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อแต่อย่างขาดเหตุผลหรือปัญญา   ๗.ปัคคาหะ ความเพียรที่เกินพอดี   ๘.อุปัฏฐาน สติชัดเกินพอดี   ๙.อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง(แบบแน่นิ่ง,สงบแต่แบบผิดๆ)แบบอวิชชา   ๑๐.นิกันติ ความพึงพอใจอย่างงมงายหรือลุ่มหลง ในผลต่างๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

วิปัสสนาสมาธิ-คือขณิกสมาธิคือสมาธิขั้นต้น ที่ใจสงบไม่ซัดส่าย แล้วนำไปใช้ในการเจริญวิปัสสนา คือการเจริญปัญญาหรือการพิจารณาในธรรมต่างๆโดยละเอียดและแยบคายนั่นเอง    และบางครั้งเมื่อเจริญวิปัสสนาอยู่นั้นก็เลื่อนไหลเจริญงอกงามไปเป็นสมาธิระดับประณีตขึ้นไปเป็นลำดับได้เองอีกด้วยในขณะที่กำลังเจริญวิปัสสนาได้เป็นอย่างดีนั้นเอง   และไม่ยังให้่เกิดวิปัสสนูปกิเลสต่างๆอีกด้วย เนื่องจากไม่ได้ตั้งใจทำด้วยความอยากหรือตัณหาในความสุขความสบายต่างๆที่เกิดขึ้นจากผลฌานสมาธิ เพราะจิตเน้นอยู่ที่การเจริญปัญญาหรือการพิจารณา เพียงแต่บางขณะจิตอาจไหลเลื่อนไปพักเป็นครั้งคราวอันเป็นคุณ จึงไม่ยังให้เกิดโทษพวกวิปัสสนูปกิเลสต่างๆ เช่น ติดสุข ติดปีติ ติดจิตสงบ จิตแน่นิ่ง ติดนิมิต และติดญาณ(หมายถึงหลง) อธิโมกข์ ฯลฯ.

วิราคะ - ความสิ้นกําหนัด, ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ, ความคลายออกได้หายติด, เป็นอีกชื่อหนึ่งของนิพพาน

วิมุตติ - ความหลุดพ้น, ความพ้นจากกิเลส มี ๕ อย่าง คือ
        ๑.
ตทังควิมุตติ พ้นด้วยธรรมคู่ปรับหรือพ้นชั่วคราว เช่น โทสะพ้นได้ด้วยการเจริญเมตตา อันเป็นธรรมคู่ปรับ,  เกิดความสังเวช จึงพ้นจากความกำหนัด เป็นต้น
        ๒.
วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยข่มหรือสะกดได้ เช่น การพ้นหรือสะกดได้ด้วยอำนาจของฌาน  อรูปฌาน,  ยังเป็นโลกิยวิมุตติ กลับกลายหายสูญได้
        ๓.
สมุจเฉทวิมุตติ พ้นด้วยตัดขาด ได้แก่ พ้นจากกิเลสด้วยอริมรรค กิเลสเหล่านั้นขาดเด็ดไป ไม่กลับเกิดขึ้นอีก,   เป็นโลกุตตรวิมุตติ
        ๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยสงบระงับ ได้แก่ การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอริยผล เป็นการหลุดพ้นที่ยั่งยืน ไม่ต้องขวนขวายเพื่อละอีก เพราะกิเลสนั้นสงบไปแล้ว  เป็นโลกุตตรวิมุตติ
        ๕. นิสฺสรณวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยออกไปเสีย หรือสลัดออกได้ เป็นการพ้นที่ยั่งยืนตลอดไป เป็นโลกุตตรวิมุตติ

                 ๒ อย่างแรก เป็นโลกิยวิมุตติ ากล่าวคือเป็นการพ้นไปอย่างชั่วคราวหรือระยะหนึ่ง,   ส่วน ๓ อย่างหลังเป็น โลกุตตรวิมุตต เป็นการพ้นไปอย่างเด็ดขาด

วิเวก - ความสงัด มี ๓ คือ  อยู่ในที่สงัดเป็น กายวิเวก   จิตสงบเป็น จิตวิเวก   หมดกิเลสเป็น อุปธิวิเวก

เวทนา-การเสวยอารมณ์(สิ่งที่จิตไปกำหนดหมาย) ทั้งต่อใจและกาย, ความรู้สึก,ความรู้สึกรับรู้ที่เกิดจากการเสพในรสของอารมณ์ (Feeling;  การรับรู้พร้อมทั้งความรู้สึก ที่ย่อมต้องเกิดขึ้น เมื่อมีการเสวยคือกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับอารมณ์ต่างๆ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัสทางกาย) ความคิดนึก(ธรรมมารมณ์) ด้วยอายตนะภายในอันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ;    หรือ ความรู้สึกจากการรับรู้ในสิ่งที่มากระทบสัมผัสทั้งทางใจและกาย   หรือ เวทนา คือ ความรู้สึกที่ย่อมเกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส(ผัสสะ)อันพร้อมด้วยสัญญาความจําได้หรือมีประสบการณ์ในสิ่งที่ผัสสะนั้นๆ จึงเกิดการเสวยรสชาด ซึ่งย่อมมีความรู้สึกในสิ่งที่เสวยหรือผัสสะนั้นเป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา (อ่านรายละเอียดในบทเวทนา)  ดังเสวยอารมณ์คืออาหาร ย่อมรับรู้ในรสชาดของอาหาร ซึ่งย่อมพรั่งพร้อมด้วยการรับรู้ในรสชาดว่า ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆกลางๆ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นั่นเอง  กล่าวได้ว่า เวทนาเป็นเครื่อง(มือ)รับรู้ ที่ประกอบด้วยความรู้สึกในรสจากการสัมผัสต่างๆ  เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นั่นเอง

เวทนาในเวทนา-การเห็นหรือพิจารณาเวทนาโดยลึกซึ้งและแยบคาย กล่าวคือแยกแยะหรือชำแหละเวทนาออก ดังเช่น เพื่อให้เห็นว่าเกิดขึ้นมาจากการประกอบแต่เหตุใดๆมาเป็นปัจจัยกันบ้าง  เพื่อการวิปัสสนาใหรู้ความจริงของเวทนา

รูป       กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป    ตา     จักขุวิญญาณ  anired06_next.gif  สัญญาจํา    เวทนา

 

เวทนูปาทานขันธ์ - เวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นตามกิเลสตน จึงยิ่งยังให้เร่าร้อนเผาลนเป็นทุกข์ทวีคูณ,   เวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน ที่เกิดวนเวียนในองค์ธรรมชราในปฏิจจสมุปบาท  จึงทั้งเร่าร้อนและวนเวียนเป็นวงจรอย่างยาวนานแสนนาน

                   ธรรมารมณ์ +   ใจ   +   วิญญูาณูปาทานขันธ์   anired06_next.gif  เวทนูปาทานขันธ์

                                อุปาทานขันธ์๕  อันคือ คิดปรุงแต่งในชราอันเผ็ดร้อนเป็นทุกข์            

                        สังขารูปาทานขันธ์ เช่นคิดนึก(มโนกรรม)   สัญญูปาทานขันธ์     

                ในวงจรชราแสดงความวนเวียนเร่าร้อนด้วยเหล่าอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เพราะล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว

           เวทนา ๓ - ความเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกสุขทุกข์ มี ๓ อย่าง คือ
           ๑. สุขเวทนา ความรู้สึกสุขสบาย
           ๒. ทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่สบาย
           ๓. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา;
           
อีกหมวดหนึ่งจัดเป็น เวทนา ๕ คือ แยกเป็นเวทนา ฝ่ายกายและจิต โดยพระอรรถกถาจารย์ ในภายหลัง
           ๑.
สุข สบายกาย
           ๒.
ทุกข์ ไม่สบายกาย
           ๓.
โสมนัส สบายใจ
           ๔.
โทมนัส ไม่สบายใจ
           ๕.
อุเบกขา เฉยๆ;
           ส่วนในภาษาไทย  
เวทนาใช้ไปในความหมายว่า เจ็บปวดบ้าง  สงสารบ้าง  อันมีความหมายไม่เหมือนกัน

เวทนานุปัสสนา-สติตามดูเวทนา คือสติตามดูคือระลึกรู้เท่าทัน ในความรู้สึกสุข, ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์  โดยรู้เท่าทันด้วยว่าเวทนานี้ ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่อัตตา สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา  เพราะเวทนา เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนของตนจริงๆ จึงล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา  เพียงเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยจากการผัสสะเป็นธรรมดา  เมื่อสติรู้เท่าทันพร้อมด้วยปัญญา ก็ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น

เวทนูปาทานขันธ์-เวทนาที่ประกอบด้วยคือแฝงด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นตามความพึงพอใจหรือกิเลสของตัวตน

เวไนยสัตว์ - สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน,  สัตว์ที่พึงแนะนำได้,  สัตว์ที่พอดัดได้สอนได้

ศรัทธา - สัทธา ความเชื่อ;   ในทางธรรม หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความมั่นใจในความจริงความดีสิ่งดีงามและในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก หรือไม่เป็นไปอย่างงมงายไร้เหตุผล   

           ท่านแสดงสืบๆ กันมาหรืออรรถกถาว่า มี ๔ อย่างคือ
           ๑.
กัมมสัทธา เชื่อกรรม
           ๒.
วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม(วิบากกรรม)
           ๓.
กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ดังนั้นเมื่อ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
           ๔.
ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต

           ถ้าเป็นความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นไปอย่างงมงายแล้ว ไม่จัดว่าเป็นศรัทธา แต่เป็นอธิโมกข์ อันเป็นหนึ่งในวิปัสสนูปกิเลส อันให้โทษนัก

สมุจเฉท - การตัดขาด

สมุทัย-ทุกขสมุทัย-ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์-ความหมายเดียวกันหมายถึง เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา คือความทะยานอยาก เช่น อยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่  (ข้อ ๒ ในอริยสัจ ๔);    ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ หมายถึง ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา  

สงสาร - ๑.การเวียนว่ายตายเกิด, การเวียนตายเวียนเกิด    ๒.ในภาษาไทยมักหมายถึงรู้สึกในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น (= กรุณา)

สงสารทุกข์-ทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด

สงสารวัฏฏ์-วังวนแห่งสงสาร คือ ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า;  ดูสงสาร

สติ - ตามความหมายในทางพุทธศาสตร์แปลว่า ความระลึกได้, ความนึกขึ้นมาได้, ความจำขึ้นมาได้, ความไม่เผลอ, การคุมใจไว้กับกิจ  หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง  จำการที่ทำและคำที่พูดแล้ว คือความจำได้คือสัญญา (สติจึงเป็นอาการหนึ่งของจิต จึงเป็นสังขารขันธ์หรือจิตตสังขารอย่างหนึ่ง จัดอยู่ในเจตสิก ๕๒ ข้อ ๒๙),  บางทีก็เรียกกันไปว่า ผู้รู้  ตัวรู้  ธาตุรู้

 

สติปัฏฐาน-ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ, ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง, การมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส มี ๔ อย่างคือ

    ๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์(สิ่งที่จิตกำหนดหมาย)ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เพราะล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย

    ๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เพราะล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย เป็นเพียงเครื่องรับรู้, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา

    ๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตเป็นอารมณ์ว่า จิตหรือใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เพราะล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิต คือ สภาพและอาการของจิต(สังขารขันธ์)ต่างๆว่าเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว เช่น

    จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ ฯ. เป็นจิตเศร้าหมอง หรือจิตที่เกิดอกุศลสังขารขันธ์นั่นเอง

    จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ฯ. ก็รู้ว่าจิตนั้นไม่มี  เป็นจิตผ่องแผ้ว หรือจิตที่เกิดกุศลสังขารขันธ์

    ๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์ คือ สติพิจารณาธรรมว่าเป็นกุศลหรืออกุศลที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่าธรรม  ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ล้วนเป็นอสังขตธรรม ไม่มีตัวตน, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม;

     เรียกกันสั้นๆ ว่า มีสติ(หรือจิต)รู้เท่าทันใน กาย  เวทนา  จิต  ธรรม

สติรู้เท่าทัน-ความระลึกได้ตามที่มันเกิดหรือเป็นจริง เช่น จิตมีราคะ(ความอยากในสิ่งใดๆ) ก็รู้เท่าทันราคะที่เกิดขึ้นนั้น และรู้ว่าเป็นราคะอันเป็นโทษ(ตามหลักสติปัฏฐาน๔) เมื่อรู้แล้วต้องหยุดคิดนึกปรุงแต่งต่อจากสติรู้เท่าทันนั้นๆเพราะจะทําให้จิตมีโอกาสปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป

สมถะ-สมถกรรมฐาน-สมถสมาธิ - สมาธิ - ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต,  ธรรมยังจิตให้สงบระงับจากนิวรณูปกิเลส,   การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ (ข้อ ๑ ในกรรมฐาน ๒ หรือภาวนา ๒)

สมถวิปัสสนา-สมถะและวิปัสสนา  หมายถึงการปฏิบัติพระกรรมฐาน ที่ใช้สมถสมาธิเป็นบาทฐานหรือเป็นปัจจัยเครื่องสนับสนุนการวิปัสสนา

สมมติสัจจะ-จริงโดยสมมติ คือ โดยความตกลงหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์  เช่น นาย ก. นาย ข. ช้าง ม้า มด โต๊ะ หนังสือ พ่อ แม่ ลูก เพื่อน เป็นต้น    ซึ่งเมื่อกล่าวตามสภาวะ หรือโดยปรมัตถ์แล้ว ก็เป็นเพียงสังขาร หรือนามรูป หรือขันธ์ ๕ เท่านั้น;  ตรงข้ามกับ ปรมัตถสัจจะ

        สมมติสัจจะ จะกล่าวหรือหมายความดังนี้ก็ได้ว่า "ความจริงหรือเป็นจริงในระดับหนึ่ง  หรือความเป็นจริงแค่ในระยะขณะเวลาหนึ่ง"

        ส่วนปรมัตถสัจจะนั้นจึงหมายถึง ความจริงขั้นสูงสุด หรือจริงแท้อยู่เยี่ยงนั้นเป็นธรรมดา ดังเช่น ชีวิตเกิดแต่เหตุปัจจัยของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังนี้เป็นปรมัตถสัจจะ,     ส่วนผู้อ่าน ชีวิตของตัวผู้ที่กำลังอ่านอยู่นี้ เป็นเพียงสมมติสัจจะ กล่าวคือ แม้จริงแท้ในขณะนี้นั้น ก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นจริง แบบเพียงขณะระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

สมาบัติ-ภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึง ; สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ  ผลสมาบัติ  อนุปุพพวิหารสมาบัติ เป็นต้น   สมาบัติที่กล่าวถึงบ่อยคือ ฌานสมาบัติ กล่าวคือ สมาบัติ ๘ อันได้แก่ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔   ถ้าเพิ่มนิโรธสมาบัติต่อท้ายสมาบัติ ๘ นี้ รวมเรียกว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙

 

สมาธิ-ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ(อารมณ์),   มักใช้เป็นคำเรียกง่ายๆ สำหรับอธิจิตตสิกขา  ;  สมถะ ก็เรียก

        สมาธิ ๓ - คือ ๑.ขณิกสมาธิ   ๒. อุปจารสมาธิ   ๓.อัปปนาสมาธิ

        สมาธิ ๓  อีกอย่างใช้ไปในการเจริญวิปัสสนา คือ
           ๑. สุญญตสมาธิ  สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่
วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ
           ๒. อนิมิตตสมาธิ  สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต  คือ
วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ
           ๓. อัปปณิหิตสมาธิ  การเจริญสมาธิที่ทำให้ถึงความหลุดพ้นด้วยการ
วิปัสสนากำหนดทุกขลักษณะ

 

สมาธิภาวนา-ท่านจัดออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน   (รายละเอียดใน สมาธิสูตร)

            ๑. สมาธิภาวนา เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เช่น สมาธิในองค์มรรค

            ๒. สมาธิภาวนา เพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ เช่น มรรคญาณ

            ๓. สมาธิภาวนา เพื่อสติสัมปชัญญะ เช่น สมาธิในสติปัฏบาน ๔

            ๔. สมาธิภาวนา เพื่อความสิ้นอาสวะ เช่น สมาธิสัมโพชฌงค์

สภาวธรรม-หลักแห่งความเป็นเอง, สภาวะหรือปรากฏการณ์ของธรรมชาติ  เป็นเพียงสภาวะที่ยังไม่เกิดการปรุงแต่งกันเป็นตัวเป็นตนเป็นรูปเป็นร่างคือเป็นสังขารขึ้นนั่นเอง,   สภาวะที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงเที่ยงแท้ คงทนต่อทุกกาล คือ อกาลิโก

สอุปาทิเสสนิพพาน-นิพพานยังมีอุปาทิเหลือ,   ดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ คือ นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่,   นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ

ส่งจิตออกนอก-มีความหมายว่า ส่งจิตออกไปนอกกาย เวทนา จิต ธรรม (ในสติปัฏฐาน๔นั่นเอง)  คือหมายถึง จิตฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งนอกกาย เวทนา จิต ธรรม   มีความหมายเดียวกันก็คือ จิตฟุ้งซ่านหรือคิดนึกปรุงแต่ง,คิดนึกปรุงแต่งไปภายนอกนั่นเอง  เป็นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ดีงามและแพร่หลาย

สีลัพพตุปาทาน-เป็นหนึ่งในอุปาทาน๔, ความยึดมั่นในศีล(ข้อบังคับ)และวัตร(ข้อปฏิบัติ)ด้วยอํานาจกิเลส  คือยึดมั่นเชื่อถืออย่างผิดๆในศีลและการปฏิบัติด้วยกิเลสจึงเป็นเหตุให้งมงาย  เป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔  ดังเช่น ยึดว่าการถือศีล สวดมนต์ หรือสมาธิแต่อย่างเดียวเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องพอแล้ว ดับทุกข์ได้ หรือสักว่าทำตามกันมา จึงขาดการเจริญปัญญาให้รู้แจ้งความจริง  ;  ดู สีลัพพตปรามาส ข้อต่อไป

สีลัพพตปรามาส-ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร   ความหมายเดียวกันกับสีลัพพตุปาทาน  เพียงแต่ไม่กล่าวเกี่ยวเนื่องกับอุปาทาน  (ข้อ ๓ ในสังโยชน์)

        สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นถือมั่นอย่างผิดๆว่า บุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร (คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงายหรืออย่างงมงายก็ตาม),
       ความถือศีลพรต โดยสักว่า ทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง,
       ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่า จะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ล่วงธรรมดาวิสัย

สักกายทิฏฐิ-ความคิดเห็นว่าเป็นตัวของตน, ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน เป็นต้น   (ข้อ ๑ ในสังโยชน์ ๑๐)

สักว่า-เพียงแต่ว่า.....เท่านั้นเอง, ในทางพระศาสนาก็ในลักษณาการเดียวกัน คือ เป็นเพียงแค่ เครื่องรู้(ทั้งความรู้และรับรู้) เครื่องระลึก เพื่อเตือนสติ ที่เพียงเพื่อใช้ในการดำรงขันธ์ตามปกติของชีวิตเท่านั้นเอง (ดังนั้นจึงเพียงแค่ เกิดขึ้นและเป็นไปเช่นนี้เอง จึงอย่าไปยึดหรืออยากเพราะมันเป็นไปของมันเช่นนี้เองโดยธรรมชาติ, ควบคุมบังคับเขาไม่ได้) , ดังมักปรากฏอยู่เนืองๆเช่น สักว่าเวทนา, สักว่าทุกข์(สังขารขันธ์) ฯ.

สังขตธรรม-ธรรมหรือสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ตรงกับสังขารในคำว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น;  ตรงข้ามกับ อสังขตธรรม หรือนิพพาน

สังขตลักษณะ-ลักษณะแห่งสังขตธรรม, ลักษณะของปรุงแต่ง มี ๓ อย่าง ๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ ๒. ความดับสลาย ปรากฏ ๓. เมื่อตั้งอยู่ ความแปร ปรากฏ

สังขาร-สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น,  สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัย,  สิ่งหรือผลที่เกิดขึ้น มาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยคือเครื่องสนับสนุน ปรุงแต่งกันขึ้น  จึงครอบคลุมสังขารทั้งฝ่ายรูปธรรม และ นามธรรม ได้แก่ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, จิต, สิ่งของวัตถุ, ตัวตน ฯลฯ. กล่าวคือจึงครอบคลุมทั้งหมดทั้งสิ้น พึงยกเว้นแต่เพียงเหล่าอสังขตธรรมเท่านั้น อันคือ สภาวธรรม ทั้งปวง ดังเช่น พระนิพพาน.   (ในภาษาไทย บางทีใช้คำว่า สังขาร ในความหมายว่าร่างกาย เช่น "สังขารแก่เฒ่าลงไปทุกวัน" ที่หมายถึงรูปสังขารคือร่างกาย จนบางครั้งก่อความสับสนในการพิจารณาธรรม คือ คิดนึกถึงตีความไปหมายถึงแต่ร่างกายเสียแต่ฝ่ายเดียว จนเสียการ)

          อธิบายสังขารที่ทำหน้าที่ต่างๆ  เพื่อการพิจารณา ป้องกันการสับสนในการพิจารณา พอจะแยกได้เป็น ๓

สังขารขันธ์  ในขันธ์ ๕ - "ีสังขารขันธ์" ที่หมายถึง ธรรมหรือสิ่ง(เช่น อารมณ์ในทางโลกต่างๆ, สภาพหรืออาการของจิตต่างๆ)ที่ปรุงแต่งจิต ให้เกิดสัญเจตนา (เจตนา) คือความจงใจหรือความคิดอ่านหรือเจตนา ให้เกิดการกระทำ(กรรม)ต่างๆขึ้น ทั้งดี ชั่ว และแม้กลางๆ ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตทั่วไป ทั้งทางกาย วาจา และใจ  ;  คือสิ่ง(ธรรม)ที่มีเจตนาเป็นประธานปรุงแต่งจิตให้เกิดการกระทำต่างๆ อันมี ๓ อย่าง คือการกระทำทางกายสังขาร (ทางกาย) วจีสังขาร(ทางวาจา) มโนสังขารหรือจิตตสังขาร(ทางใจ)  ;  สังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ได้แก่ โทสะ โมหะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน คับแค้นใจ สติ สมาธิ ปัญญา อุเบกขา(กลางๆเฉยๆ) สุขใจ ทุกข์ใจ ตัณหา อีกทั้งเจตสิก ๕๐ ฯ.  หรือก็คือ อารมณ์ต่างๆในทางโลกๆนั่นเอง คือความรู้สึกหรือความเป็นไปแห่งจิต (สภาพหรืออาการของจิต) ที่เกิดขึ้นครอบคลุมในขณะหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงไปยังให้เกิดเจตนาหรือความคิดอ่านในการกระทำต่างๆขึ้น ดังเช่น โกรธ

สังขารขันธ์ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิด สัญเจตนา(เจตนา) เป็นเหตุปัจจัยให้เกิด กรรม(การกระทำต่างๆทางกาย วาจา ใจ)

          - "สังขาร" ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง สิ่งปรุงแต่ง ตามที่ได้สั่งสม,อบรมไว้แต่อดีต คืออาสวะกิเลสที่นอนเนื่องขึ้นมาย้อมจิต  และเป็นสังขารกิเลสด้วย หมายถึง สังขารที่ประกอบด้วยกิเลส (กิเลสที่นอนเนื่องในอาสวะกิเลสนั่นเอง)

          - "สังขาร" ในไตรลักษณ์หมายถึงทุกๆสรรพสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา จึงครอบคลุมทั้งรูปธรรม,นามธรรมและธรรมทุกชนิดรวมทั้งโลกุตรธรรม อันยกเว้นเพียงอสังขตธรรม ดังเช่น นิพพานอันเป็นสภาวะหรือสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติ, ดังนั้นจึงครอบคลุมทั้งสังขารในขันธ์ ๕ และสังขารในปฏิจจสมุปบาท และทุกสรรพสิ่ง ยกเว้นแต่นิพพานและสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติ

        สังขาร (จากพจนานุกรม)
        
๑. สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมก็ตาม นามธรรมก็ตาม ได้แก่ขันธ์ ๕ ทั้งหมด,
           ตรงกับคำว่า สังขตะหรือ
สังขตธรรม ได้ในคำว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง” ดังนี้เป็นต้น
        
๒. สภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดีหรือชั่ว, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานที่ปรุงแต่งความคิด การพูด การกระทำ มีทั้งที่ดีเป็นกุศล ที่ชั่วเป็นอกุศล และที่กลางๆเป็นอัพยากฤต  ได้แก่ เจตสิก ๕๐ อย่าง (คือ เจตสิกทั้งปวง เว้นแต่เพียงเวทนาและสัญญา) เป็นนามธรรมอย่างเดียว,
           ตรงกับ
สังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ได้ในคำว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง” ดังนี้เป็นต้น;
           อธิบายอีกปริยายหนึ่ง สังขารตามความหมายนี้ยกเอา
เจตนาขึ้นเป็นตัวนำหน้า ได้แก่ สัญเจตนา คือ เจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่างคือ สังขาร ๓
            ๑.
กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา
            ๒.
วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา
            ๓.
จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา
        
๓. สภาพที่ปรุงแต่งชีวิตมี ๓ คือ
            ๑.
กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกาย ได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
            ๒.
วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร
            ๓.
จิตตสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา

สังขารวิบาก - ผลที่ได้รับ(วิบาก)จากการกระทําต่างๆที่ได้กระทํามาแล้ว

                 -ผลที่ได้รับอันเนื่องจากเจตนาหรือเจตจํานงที่กระทํา(เช่นความคิดคือทางใจ,หรือทางกาย,วาจา) อันเป็นผลจากการที่เคยประพฤติปฏิบัติอันได้สั่งสม อบรม ประพฤติ ปฏิบัติไว้ในอดีต หรือสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

สังสารวัฏ - การเวียนว่ายตายเกิดในโลกหรือภพ

 

สังโยชน์ - กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรม(สิ่ง)ที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่างคือ

    ก.โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องตํ่า ๕ ได้แก่ ๑.สักกายทิฏฐิ ความคิดความเห็นว่ากายเป็นอัตตาตัวตน   ๒.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย   ๓.สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต   ๔.กามราคะ ความติดใจในกามคุณ   ๕.ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ความขุ่นเคือง

    ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้แก่  ๖.รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต เช่น รูปฌาน   ๗.อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม เช่น อรูปฌาน   ๘.มานะ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่   ๙.อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน   ๑๐.อวิชชา ความไม่รู้จริง   ดูรายละเอียดได้ในบทสังโยชน์๑๐

    พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้, พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ ให้เบาบางลงด้วย, พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด, พระอรหันต์ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ, ในพระอภิธรรมท่านแสดงสังโยชน์อีกหมวดหนึ่ง คือ ๑.กามราคะ  ๒.ปฏิฆะ  ๓.มานะ ๔.ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)  ๕.วิจิกิจฉา  ๖.สีลัพพตปรามาส  ๗.ภวราคะ (ความติดใจในภพ)  ๘.อิสสา (ความริษยา)   ๙.มัจฉริยะ(ความตระหนี่)  ๑๐.อวิชชา

สังวร - ความสำรวม,การระวังปิดกั้นบาป อกุศล มี ๕ อย่าง คือ ๑. ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในปาฏิโมกข์ (บางแห่งเรียก สีลสังวร สำรวมในศีล) ๒. สติสังวร สำรวมด้วยสติ ๓. ญาณสังวร สำรวมด้วยญาณ ๔. ขันติสังวร สำรวมด้วยขันติ ๕. วิริยสังวร สำรวมด้วยความเพียร;  ดู สำรวม

สัจจะ - ความจริง มี ๒ คือ
           ๑.
สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ เช่น คน พ่อค้า ปลา แมว โต๊ะ เก้าอี้  คุณก.  คุณข.
           ๒.
ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถ์ เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สันตติ - การสืบต่อ คือ การเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยอาการที่เป็นปัจจัยส่งผลแก่กัน ในทางรูปธรรม ที่พอมองเห็นอย่างหยาบ เช่น ขนเก่าหลุดร่วงไปขนใหม่เกิดขึ้นมาแทน ความสืบต่อแห่งรูปธรรม จัดเป็นอุปาทายรูปอย่างหนึ่ง; ในทางนามธรรม จิตก็มีสันตติ คือเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับๆเป็นปัจจัยสืบเนื่องต่อกันไป

สัมผัส - ความกระทบ,การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก,ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณ มี ๖ เริ่มแต่จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เป็นต้น จนถึง มโนสัมผัส สัมผัสทางใจ (เรียงตามอายตนะภายใน ๖); ผัสสะ ก็เรียก

สัมมา - โดยชอบ, ดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้

สัมมาญาณ - สัมมาญาณะ - รู้ชอบ จนเกิดผลญาณ ได้แก่ ญาณอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมรรคญาณ เช่น โสดาปัตติผล เป็นต้น และปัจจเวกขณญาณ   (ข้อ ๙ ในสัมมัตตะ ๑๐)

สัมมาวิมุตติ - หลุดพ้นชอบ ได้แก่ อรหัตตผลวิมุตติ   (ข้อ ๑๐ ในสัมมัตตะ ๑๐)

สัมมาทิฏฐิ - ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔, เห็นชอบตามคลองธรรมว่าทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว มารดาบิดามี (คือมีคุณความดีควรแก่ฐานะหนึ่งที่เรียกว่ามารดาบิดา) ฯลฯ, เห็นถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงเป็นต้น (ข้อ ๑ ในมรรค)

สัมมาสติ - ระลึกชอบ คือระลึกใน สติปัฏฐาน ๔  (ข้อ ๗ ในมรรค)

 

สัมปชัญญะ - ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ตระหนัก, ความรู้ชัดเข้าใจชัด ซึ่งสิ่งที่นึกได้;   มักมาคู่กับ สติ (ข้อ ๒ ในธรรมมีอุปการะมาก ๒)

                    ขยายความ  สัมปชัญญะหมายถึง การมีสติทั่วพรัอม  ไม่ใช่การมีสติอยู่แต่ในสิ่งๆเดียวที่กำหนด(อารมณ์)   แต่เป็นสติชนิดทั่วพร้อม ที่หมายถึงยังมีสติเนื่องสัมพันธ์ในสิ่งอื่นๆอีกด้วย  กล่าวง่ายๆก็คือ ยังมีสติเท่าทันต่อเนื่องในสิ่งอื่นๆอีกด้วยนั่นเอง  ไม่เฉพาะเจาะจงแต่สติในอารมณ์นั้นๆแต่ฝ่ายเดียว,   หรือการรู้ตัวทั่วพร้อมในกิจหรืองานที่ทำนั่นเอง

สฬายตนะ-หมายถึงเหล่าอายตนะภายใน ๖ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ;  หรือหมายถึง การทำงาน การตื่นตัวของอายตนะภายในทั้ง ๖ เป็นการกล่าวถึงในแบบนามธรรม  ;  หรือหมายถึงอายตนะที่ ๖ ก็ได้ คือมโน หรือใจ   :    ทางเชื่อมต่อ, ที่เชื่อมต่อ, เครื่องติดต่อ หมายถึง สิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน จึงหมายถึง การเชื่อมต่อทำงานของอายตนะภายในต่างๆก็ได้

สัปปายะ - สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวยโดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญและประคับประคองรักษาสมาธิ
       ท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ
           อาวาส (ที่อยู่,สถานที่)
           โคจร (ที่บิณฑบาต หรือแหล่งอาหาร)
           ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติที่ถูกต้อง)
           บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง เช่น กัลยาณมิตร)
           โภชนะ (อาหาร)
           อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ)
           อิริยาบถ;
       ทั้ง ๗ นี้ที่เหมาะกันเป็นสัปปายะ ที่ไม่สบายเป็นอสัปปายะ

สัญเจตนา - เจตนา, การปรุงจิตให้คิดอ่านต่างๆ, ความเจตนา, ความจงใจ, ความคิดอ่าน,  ความแสวงหาอารมณ์, เจตนาคิดอ่านที่แต่งกรรม(การกระทำต่างๆ)ทั้งทางดี ชั่ว และกลางๆ ได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ(มโนกรรม);  มักใช้ในขันธ์ ๕ ที่กล่าวถึงโดยทั้่วไป ; เทียบเคียงได้กับอุปาทาน แต่อุปาทานปรุงจิตให้เจตนาความคิดอ่านเป็นไปตามกิเลสตน จึงเป็นฝ่ายอกุศลหรือ อกุศลสัญเจตนา
       สัญเจตนา เกิดต่อจาก
สังขารขันธ์มี ๓ คือ   กายสัญเจตนา, วจีสัญเจตนา,  มโนสัญเจตนา  ซึ่งยังให้เกิดกรรมต่างๆคือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม;   ดู สังขาร ๓;
       สัญเจตนา เกิดใน
สัญญามี ๖ เกิดต่อจากเวทนาจึงเป็นเหตุให้เกิดสังขารขันธ์หรืออารมณ์ต่างๆขึ้น คือ ความคิดอ่านใน  รูปสัญเจตนา    สัททสัญเจตนา     คันธสัญเจตนา    รสสัญเจตนา    โผฏฐัพพสัญเจตนา    และธัมมสัญเจตนา;

       ระวังสับสนกับ สัญญา ๖ ในรูป คือความจำได้หมายรู้ที่เกิดจากอายตนะภายในต่างๆ เช่น จำได้หมายรู้ในรูป เรียกว่ารูปสัญญา, และอื่นๆเช่น สัททสัญญา จำได้หมายรู้ในเสียง,  คันธสัญญา จำได้หมายรู้ในกลิ่น,  รสสัญญา จำได้หมายรู้ในรส,  โผฏฐัพพะสัญญา จำได้หมายรู้ในกายสัมผัส,  และธัมมสัญญา จำได้หมายรู้ในธรรมารมณ์ความคิดนึกต่างๆ

สัญชาตญาณ-สัญชาติญาณ-ความรู้,หรือสัญญา อันติดตัวมาโดยเนื่องมาจากการเกิด เช่นหิว, เจ็บปวดทางกาย, อิ่ม, กระหายนํ้า ฯลฯ.

สังขารูปาทานขันธ์-ธรรมหรือสิ่ง(คืออารมณ์ทางโลกต่างๆ) ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนา(คือความจงใจหรือเจตนาหรือความคิดอ่าน)ให้เห็นเป็นไปตามกิเลสของอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสของตัวตน)  จึงเกิดผลการกระทำต่างๆขึ้นภายใต้อำนาจของกิเลสตน ขึ้นได้ทั้งทางกาย วาจา และใจ ทางใจก็คือมโนกรรมความคิดนึกต่างๆที่ประกอบด้วยกิเลสนั่นเอง  ดังนั้นการกระทำต่างๆทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจคิดนึกต่างๆ จึงล้วนถูกครอบงำอยู่ในอำนาจของอุปาทานหรือกิเลสอยู่โดยธรรมชาติแล้วโดยไม่รู้ตัว  เป็นหนึ่งในอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ ก็ด้วยล้วนแอบแฝงด้วยกิเลสอันยังให้ขุ่นมัวด้วยอุปาทาน

สัญญา-การกำหนดหมาย,  ความจำได้ทั้งหมายรู้    ซึ่งถ้าแยกออกละเอียดเป็น ๒  คือ ๑. คือจำได้ในสิ่งที่กระทบนั้นๆ (ได้แก่ ธัมมสัญญา, รูปสัญญา, สัททสัญญา(เสียง) ฯ.)  ๒.อีกทั้งประกอบด้วยความหมายรู้ (ได้แก่ ธัมมสัญเจตนา, รูปสัญเจตนา, สัททสัญเจตนา ฯ.) คือความคิดอ่าน เจตนา เข้าใจจึงประมวลผล คือ
       
จำได้ คือ รู้จักอารมณ์(สิ่งที่จิตไปกำหนดหมาย)นั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก เช่น รูปสัญญา จำได้ในรูป, สัททสัญญา จำได้ในเสียง, คันธสัญญา จำได้ในกลิ่น, รสสัญญา จำได้ในรส,  โผฏฐัพพะสัญญา จำได้ในผัสสะ,  ธัมมสัญญา จำได้ในในธรรมารมณ์หรือความนึกคิด เป็นต้น;

       หมายรู้ไว้ ซึ่ง คิดอ่านหรือเจตนาในรูป(รูปสัญเจตนา) เสียง(สัททสัญเจตนา) กลิ่น(คันธสัญเจตนา) รส(รสสัญเจตนา โผฏฐัพพะ(โผฏบัพพะสัญเจตนา และธรรมารมณ์(ธัมมสัญเจตนา) ที่เกิดกับใจ,  จึงเกิดการคิดอ่านต่างๆ เช่น รูปสัญเจตนา คือคิดอ่านในรูป ;  ธัมมสัญเจตนา ความคิดอ่านในสิ่งที่กระทบคือธรรมารมณ์ ฯ.

        -สัญญา เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕, สัญญาขันธ์มี ๖ อย่าง ตามอารมณ์ที่ทั้ง จำได้ อีกทั้งหมายรู้ นั้นๆ ดังข้างต้น  ;  ในภาษาไทย มักไปใช้ในความหมายถึง ข้อตกลง, คำมั่น บางครั้งจึงทำให้สับสน

สัมโพชฌงค์๗-โพชฌงค์๗-องค์หรือธรรมที่เป็นเครื่องตรัสรู้มี ๑.สติ  ๒.ธรรมวิจัย(ธรรมวิจยะ-การพิจารณาธรรม) ๓.วิริยะ  ๔.ปีติ  ๕.ปัสสัทธิ  ๖.สมาธิ  ๗.อุเบกขา (รายละเอียดในบท โพชฌงค์๗)

สัมมัตตะ - มรรคองค์ ๑๐ - ความเป็นถูก, ภาวะที่ถูกมี ๑๐ อย่าง, ภาวะที่ถูกต้องในการปฏิบัติ,    ๘ ข้อต้นตรงกับองค์มรรคทั้ง ๘ ข้อ เพิ่มอีก ๒ ข้อท้าย คือ  ๙.สัมมาญาณ รู้ชอบ,ปัญญาชอบจนเกิดผลญาณ ได้แก่ผลญาณทั้ง ๔ มีพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ฯ. และปัจจเวกขณญาณ  ๑๐.สัมมาวิมุตติ พ้นชอบได้แก่อรหัตตผลวิมุตติ;  เรียกอีกอย่างว่า อเสขธรรม ๑๐  ;  ธรรมตรงข้ามมิจฉัตตะ ๑๐  (รายละเอียดของ สัมมัตตะ ๑๐)

สัสสตทิฏฐิ - ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง;  ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐ

สำเหนียก - กำหนด,  จดจำ,  คอยเอาใจใส่,  ฟัง,   ใส่ใจคิดที่จะนำไปปฏิบัติ,  ใส่ใจสังเกตพิจารณาจับเอาสาระ เพื่อจะนำไปปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์  (คำพระว่า สิกขา หรือ ศึกษา) สำรวม - ระมัดระวัง, เหนี่ยวรั้ง, ระวังรักษาให้สงบเรียบร้อย เช่น สำรวมตา, สำรวมกาย, ครอง เช่น สำรวมสติ คือครองสติ,  ดู สังวร;

เสขะ - ผู้ยังต้องศึกษา ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล โดยพิสดารมี ๗ คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ในโสดาปัตติผล ในสกทาคามิมรรค ในสกทาคามิผล ในอนาคามิมรรค ในอนาคามิผล และในอรหัตตมรรค, พูดเอาแต่ระดับเป็น ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี

โสกะ -  ดูอาสวะกิเลส (รวมปริเทวะ,ทุกข์,โทมนัส,อุปายาส)

โสดาบัน - ผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน, มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ย่อมถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกาลต่อไปอย่างแน่นอน,  พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผล มี ๓ ประเภทคือ  ๑.เอกพีชี เกิด(หรือมรรคสามัคคี!)อีกครั้งเดียว  ๒.โกลังโกละ เกิดอีก ๒-๓ ครั้ง  ๓.สัตตักขัตตุปรมะ เกิดอีก ๗ ครั้ง เป็นอย่างมาก  ดูบทสังโยชน์

โสดาปัตติผล - ผลคือการถึงกระแสสู่นิพพาน, ผลที่ได้รับจากการละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ด้วยโสดาปัตติมรรค ทำให้ได้เป็นพระโสดาบัน  ดูโลกุตรธรรม

โสดาปัตติมรรค - ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผล คือความเป็นพระโสดาบัน,  ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส(รายละเอียดอยู่ในบทสังโยชน์),   เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะมรรคจิตเท่านั้น พ้นจากนั้นก็จะเกิดผลจิตคือโสดาปัตติผล กลายเป็นผู้ตั้งอยู่ในผล คือเป็นพระโสดาบันนั่นเอง ;  ดูโลกุตรธรรม

โสตวิญญาณ - ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเสียงกระทบหู, เสียกระทบหู, เกิดความรู้ขึ้น, การได้ยิน

โสตสัมผัส - อาการที่หู เสียง และโสตวิญญาณประจวบกัน เกิดการได้ยิน

โสตสัมผัสสชาเวทนา - เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัส, ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะการที่หู เสียง และโสตวิญญาณกระทบกัน

โสมนัส - ความดีใจ, ความสุขใจ, ความปลาบปลื้ม ดู เวทนา

เหตุ - สิ่งที่ให้เกิดผล,  สิ่งที่ก่อเรื่อง,   เค้ามูล,  เรื่องราว

เหตุปัจจัย - สิ่ง(เหตุ) ที่เป็นเครื่องสนับสนุน(ปัจจัย) ให้เกิดสิ่งอื่นหรือผลอื่นขึ้น   ;   การที่มีเหตุคือสิ่งต่างๆ   มาเป็นเครื่องสนับสนุนหรือเครื่องปรุงแต่งกันหรือประชุมกัน   จนเกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้น

อกาลิโก-พระธรรมหรือธรรมชาติไม่ประกอบด้วยกาล,  ให้ผลไม่จำกัดกาล คือ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาล ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลตามฤดู,  อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นจริงอยู่อย่างไร ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป

อกุศล-บาป, ชั่ว, ไม่ฉลาด, ความชั่ว, กรรมชั่ว

อกุศลสังขารขันธ์-สังขารขันธ์ฝ่ายอกุศล คือ อาการของจิตหรืออารมณ์ทางโลกต่างๆฝ่าย"อกุศล" เช่น ตัณหา ที่ครอบคลุมทั้งความโลภ โกรธ หลง หดหู่ ฟุ้งซ่าน ทุกข์ใจ ฯลฯ

อกุศลสัญเจตนา-อกุศลเจตนา-เจตนาหรือความคิดอ่านที่แฝงกิเลสนั่นเอง  หรือเทียบเคียงได้กับอุปาทานในปฏิจจสมุปบาท  

อจินไตย ๔ - มีพุทธพจน์แสดงไว้ดังนี้ใน อจินตสูตร  ความว่า "ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด   เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน   อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๑    ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน๑    วิบากแห่งกรรม๑    ความคิดเรื่องโลก๑    ดูกรภิกษุทั้งหลายอจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ "  หมายถึง สิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด มี ๔

องค์ฌาน-(บาลี ว่า ฌานงฺค) ฌานมีสมาธิคือความมีจิตแน่วแน่ในสิ่งที่กำหนดเป็นองค์ประกอบหลัก แล้วยังมีองค์ประกอบของฌานอีก ๖ ;  องค์ธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเข้าเป็นฌานขั้นหนึ่งๆ เช่น ปีติ สุข เอกัคคตา รวมกันเรียกว่า ฌานที่ ๒ หรือทุติยฌาน;   องค์ฌานทั้งหมดในฌานต่าง ๆ นับแยกเป็นหน่วยๆ ไม่ซ้ำกัน มีทั้งหมด ๖ อย่างคือ ๑.วิตก-ความตรึก,ดำริ,คิดในอารมณ์ หรือก็คือการตรึงจิตไว้กับอารมณ์   ๒.วิจาร-ความตรอง,ฟั้นอารมณ์,เคล้าอารมณ์ให้เข้ากันหรือกลมกลืนกัน   ๓.ปีติ-ความอิ่มใจ   ๔.สุข-ความสุข   ๕.อุเบกขา-ความมีจิตเรียบสมดุล เป็นกลาง   ๖.เอกัคคตา-ความมีอารมณ์หนึ่งเดียว   ;  ดู ฌาน  ;   อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบท ฌานสมาธิ

อนัตตลักขณสูตร - ชื่อพระสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน จึงไม่ใช่อะไรๆของใครๆอย่างแท้จริง จึงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาตัวตนเรา,  พระศาสดาทรงแสดงแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์  และภิกษุปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จพระอรหัต ด้วยได้ฟังอนัตตลักขณสูตรนี้

อนัตตา - ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวตน,  ไม่มีตัวตน ที่หมายถึง ไม่มีตัวตนของตนจริง คือไม่มีตัวตน ที่เป็นของมันเองจริงๆ ,   ตัวตนที่เห็น หรือตัวตนที่ผัสสะได้ด้วยอายตนะใดๆ(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)ก็ตามที ล้วนเป็นเพียงกลุ่มก้อน หรือมวลรวม(ฆนะ)ของเหตุ(สิ่ง)ต่างๆที่มาประกอบเป็นปัจจัยแก่กันและกัน หรือประชุมรวมกันเท่านั้นเอง กล่าวคือเกิดจากองค์ประกอบย่อยต่างๆมารวมกันอย่างชั่วคราวนั่นเอง  ดังนั้นแท้จริงแล้ว สิ่งที่หลงคิดไปว่าเป็นตัวตน,ของตัวตนจึงล้วนขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุปัจจัย  จึงไม่ใช่ตัวตนที่มีความหมายถึงเราเป็นผู้ครอบครองเป็นเจ้าของจริงๆ, จึงควบคุมบังคับไม่ได้ตามใจปรารถนา,  ตามปรมัตถ์หรือความจริงขั้นสูงสุดแล้ว จึงล้วนไม่ใช่เราหรือของเรา หรือใครๆอย่างแท้จริง จึงไม่ขึ้นอยู่กับใครๆหรือตัวตนเราเองเลย แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยนั้นๆนั่นเอง ไม่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของใครๆ (จึงแค่สามารถเพียงแก้ไขที่เหตุปัจจัยบางอย่าง,บางประการได้บ้างเท่านั้นเอง),  ดังนั้นตัวตนทั้งหลายรวมทั้งตัวตนของตนเอง จึงต่างล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่อัตตาตัวตนเรา อย่างแท้จริง :  ดู อนัตตลักษณะ

 

อนัตตลักษณะ - ลักษณะที่เป็นอนัตตา,  ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน ได้แก่

        ๑. เป็นของสูญ คือ ฆนะ(กลุ่มก้อน)เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆทั้งหลายเท่านั้น  ความจริงแท้แล้วจึงไม่ใช่สิ่งๆเดียวกันอย่างแท้จริงเกิดจากการประกอบกันขึ้นขององค์ประกอบต่างๆ  จึงว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ

        ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้  ไม่เป็นของใครจริง  เพราะเมื่อไม่มีตัวตนแท้จริงจึงไม่มีใครครอบครองเป็นเจ้าของได้

        ๓. จึงไม่อยู่ในอำนาจ  ไม่เป็นไปตามความปรารถนา  ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆทั้งสิ้น  แต่เป็นไปตามธรรมคือตามเหตุ

        ๔. เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ขึ้นหรืออิงต่อเหตุปัจจัย  ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว  จึงเป็นไปโดยสัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่(เหตุปัจจัย)กับสิ่งอื่นๆ

        ๕. โดยสภาวะของมันเองก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา


อนัตตานุปัสสนา
- การพิจารณาเห็นในสภาพที่เป็นอนัตตา คือหาตัวตนเป็นแก่นสารมิได้   ดู อนัตตา 

อนันตริยกรรม - กรรมหนัก, กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน, กรรมที่ให้ผลคือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

อนาคตังสญาณ - ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต, ปรีชากำหนดรู้คาดผลข้างหน้าอันสืบเนื่องจากเหตุในปัจจุบันหรือในอนาคตก่อนเวลานั้น (ข้อ ๒ ในญาณ ๓)

อนาคามิผล - ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์ คือ กามราคะ และปฏิฆะด้วยอนาคามิมรรค อันทำให้เป็นพระอนาคามี

อนาคามิมรรค - ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุผลคือความเป็นพระอนาคามี, ญาณคือความรู้ เป็นเหตุละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ทั้ง ๕ (คือ ละได้เด็ดขาดอีก ๒ อย่าง ได้แก่ กามราคะ และปฏิฆะ เพิ่มจาก ๓ อย่างที่พระโสดาบันละได้แล้ว)

อนาคามี - อริยบุคล พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอนาคามิผล มี ๕ ประเภท คือ ๑. อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ถึงกึ่ง (หมายถึงโดยกิเลสปรินิพพาน) ๒. อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่อจวนจะถึงสิ้นอายุ ๓. อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก ๔. สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก ๕. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ
ดู
โลกุตรธรรม

อนุสติ - ความระลึกถึง, อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ มี ๑๐ อย่างคือ  ๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า   ๒. ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม   ๓. สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์   ๔. สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา   ๕. จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว   ๖. เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา(ไม่ใช่ระลึกถึงเทวดา)    ๗. มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา   ๘. กายคตาสติ ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม   ๙. อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก(อย่างมีสติ ไม่เลื่อนไหลไปสู่ฌาน)   ๑๐. อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือนิพพาน

อนุสัย - กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ คือ  ๑. กามราคะ ความกำหนัดในกาม   ๒. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด,ขุ่นเคือง   ๓. ทิฏฐิ ความเห็นผิด   ๔. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย   ๕. มานะ ความถือตัว   ๖. ภวราคะ ความกำหนัดในภพ   ๗. อวิชชา ความไม่รู้จริง   ;   อนุสัย ๗ นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์

อนุโลม - ในปฏิจจ. หมายถึงพิจารณาการเกิดของทุกข์ตามลําดับ

อนุปาทิเสสนิพพาน - นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ,   ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์(ขันธ์ ๕)เหลือ คือ สิ้นทั้งกิเลสและชีวิต หมายถึง พระอรหันต์สิ้นชีวิต,  นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับภพทั้งปวง  หรือดับทั้งภพจิตและภพกาย;

อสุภ, อสุภะ - สภาพที่ไม่งาม, พิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพที่ไม่งาม; ในความหมายเฉพาะ หมายถึง ซากศพในสภาพต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน รวม ๑๐ อย่าง คือ  ๑. อุทธุมาตกะ ซากศพที่เน่าพอง  ๒. วินีล กะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ  ๓. วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกอยู่  ๔. วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดกลางตัว  ๕. วิกขายิตกะ ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว  ๖. วิกขิตตกะ ซากศพที่มีมือ เท้า ศีรษะขาด  ๗. หตวิกขิตตกะ ซากศพที่คนมีเวรเป็นข้าศึกกัน สับฟันเป็นท่อน ๆ  ๘. โลหิตกะ ซากศพที่ถูกประหารด้วยศัตรามีโลหิตไหลอาบอยู่  ๙. ปุฬุวกะ ซากศพที่มีตัวหนอนคลานคล่ำไปอยู่  ๑๐. อัฏฐิกะ ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก

อรรถกถา-ปกรณ์(ตำรา,คัมภีร์,หนังสือ)ที่พระอาจารย์ทั้งหลายในภายหลังแต่งแก้อรรถแห่งบาลี,   คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก

อรรถกถาจารย์-อาจารย์ผู้แต่งอรรถกถา(ตำรา,คัมภีร์,หนังสือ) แต่งขึ้นเพื่อแก้อรรถ(ความหมาย, ความมุ่งหมาย, เนื้อความ, ใจความ, ผล, ประโยชน์)แห่งบาลี

อรหันต์ - ผู้สําเร็จธรรมสูงสุดในพุทธศาสนา โลกุตรธรรม

อธิโมกข์-ความปลงใจ, ความตกลงใจ, ความปักใจในอารมณ์,   ความน้อมใจเชื่อ, ความซาบซึ้งศรัทธาหรือเลื่อมใสอย่างแรงกล้า  ซึ่งทำให้จิตใจเจิดจ้าหมดความเศร้าหมอง  แต่ไม่เป็นไปตามแนวทางแห่งเหตุผล  กล่าวคือ ไม่เป็นไปในแนวทางแห่งปัญญา  (เป็นหนึ่งในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐  สิ่งที่ทำให้จิตหลง ทำให้รับธรรมได้ยาก);   แต่ถ้าเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล จัดเป็นสิ่งที่ดีงามเรียกว่า ศรัทธา

อธิษฐาน-ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความมั่นคง เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน (ข้อ ๘ ในบารมี๑๐)  ;   ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ความตั้งจิตปรารถนา

อริยสัจ-อริยสัจจ์-ความจริงอย่างประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ มี ๔ อย่าง คือ  ทุกข์ (หรือ ทุกขสัจจะ)  สมุทัย (หรือ สมุทัยสัจจะ)   นิโรธ (หรือ นิโรธสัจจะ)  มรรค (หรือ มัคคสัจจะ)   เรียกเต็มว่า ทุกข(อริยสัจจ์) ทุกขสมุทัย(อริยสัจจ์) ทุกขนิโรธ(อริยสัจจ์) และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(อริยสัจจ์)

อนิจจัง-อนิจจะ-ไม่เที่ยง, ไม่คงที่, สภาพที่เกิดมีขึ้น แล้วก็ดับล่วงไป

อนิจจลักษณะ-ลักษณะที่เป็นอนิจจะ,
       ลักษณะที่ไม่เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
           ๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
           ๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
           ๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ
           ๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว

อนิฎฐารมณ์-อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา

อริยบุคคล - บุคคลซึ่งเป็นอริยะ, ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษมีโสดาปัตติมรรค จึงเกิดโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น มี ๔ คือ พระโสดาบัน๑  พระสกทาคามี๑  พระอนาคามี๑  พระอรหันต์๑  ;   ดูโลกุตรธรรม

อภิธรรม-หมวดแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา ฝ่ายปรมัตถธรรม ว่าด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน

อภิชฌา-โลภอยากได้ของเขา, ความคิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของของคนอื่น

อภิสังขาร-สภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการกระทำของบุคคล, เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม มี ๓ อย่างคือ   ๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นบุญ   ๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ บาป   ๓. อาเนญชาภิสังขาร อภิสังขารที่เป็นอเนญชา คือ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔;    เรียกง่าย ๆ ได้แก่ บุญ บาป ฌาน

อัตตวาทุปาทาน - ความยึดมั่นในวาทะ(คําพูด)จนเกิดมายาจิตไปยึดว่าเป็นตัวตน ของตนขึ้นในจิต  เป็นหนึ่งในอุปาทานทั้ง ๔ ชนิด (รายละเอียดอยู่ในปฏิจจสมุปบาท)

อวิชชา - ความไม่รู้จริง, ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง มี ๔ คือความไม่รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง (ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์),

อวิชชา๘ - ความไม่รู้จริง,ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริงมี๘ คือ ความไม่รู้อริยสัจทั้ง๔ และเพิ่ม ๕.ไม่รู้อดีต(ไม่รู้ในเบื้องต้น) คือเหตุ   ๖.ไม่รู้อนาคต(ความไม่รู้ในเบื้องปลาย) คือผล  ๗.ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต จึงไม่รู้ทั้งเหตุและผล ทั้งการเป็นปัจจัยกัน   ๘.จึงไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท  อ่านรายละเอียดได้ใน อวิชชา)

อวิชชานุสั- กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องในสันดานอันเกิดจากความไม่รู้ตามความเป็นจริง, อันจักอาจทําให้เกิด การกระทําหรือการประพฤติ,ปฏิบัติโดยไม่รู้ตามความเป็นจริงในสภาวะธรรมนั้นๆ อันอาจก่อทุกข์;  ดูอนุสัย

อวิชชาผัสส- ผัสสะที่ยังไม่มีวิชชาในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์  จึงไม่รู้และไม่มีสติรู้เท่าทันว่าจะมีสัญญาความจําอันแฝงไว้ด้วยกิเลส(อาสวะกิเลสนั่นเอง)เกิดขึ้นด้วยเป็นธรรมดา  จึงยอมให้อาสวะกิเลสนั้นแฝงติดมากับการกระทบผัสสะนั้น  อันพร้อมที่จะทํางานเมื่อถูกกระตุ้นเร่งเร้าจากตัณหา

อรูป - ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ได้แก่ อรูปฌาน,  ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน,   ภพของอรูปพรหม มี ๔ คือ  ๑. อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)   ๒. วิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)  ๓. อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไร ๆ เป็นอารมณ์)  ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

อรูปฌาน - ฌานมี อรูปธรรม เป็นอารมณ์ มี ๔ ดู อรูป

อรูปภพ - ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน,    โลกเป็นที่อยู่ของพรหมไม่มีรูป 

อรูปราคะ - ความติดใจใน อรูปธรรม, ความติดใจในอารมณ์แห่ง อรูปฌาน, ความปรารถนาใน อรูปภพ (ข้อ ๗ ในสังโยชน์ ๑๐)

อรูปาวจร - ซึ่งท่องเที่ยวไปในอรูปภพ, ยังเกี่ยวข้องอยู่กับอรูปธรรม,    รูปาวจร-ซึ่งท่องเที่ยวไปในรูปภพ, ยังเกี่ยวข้องอยู่กับรูปธรรม

อสังขตธรรม - ธรรมอันมิได้ถูกปรุงแต่ง กล่าวคือสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั่นเอง ได้แก่ นิพพาน, สภาวธรรมชาติทั้งหลาย  อสังขตธรรมมีองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งคือ มีความเที่ยง๑  คงทนต่อทุกกาล๑  แต่ก็เป็นอนัตตา๑  ดังแสดงไว้ในบทพระไตรลักษณ์

อายตนะภายใน - อวัยวะที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารอันมี ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ,ทั้ง๖

อายตนะภายนอก - สิ่งที่ถูกรู้โดยอายตนภายในอันมี รูป,เสียง,กลิ่น,รส,สัมผัส,ธรรมารมณ์(สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยใจหรือความคิด) ทั้ง ๖ เรียกทั่วๆไปอีกอย่างในทางธรรมว่า อารมณ์ ๖

อานิสงส์-ผลแห่งความดี, ผลแห่งบุญกุศล, ประโยชน์, ผลดี

อามิส-เครื่องล่อใจ หรือกิเลส, เหยื่อ, สิ่งของ

อามิสบูชา-การบูชาด้วยอามิส คือ ด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ของหอม อาหาร และวัตถุอื่นๆ (ข้อ ๑ ในบูชา ๒)

อารมณ์-ในทางธรรม หมายถึง สิ่งที่จิตไปยึดหน่วงหรือยึดเป็นหลัก หรือสิ่งที่เป็นที่กำหนดของจิต ในขณะนั้นๆ อันมี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (อายตนะภายนอก ๖)นั่นเอง  ;  เครื่องยึดหน่วงของจิต,  สิ่งที่จิตยึดหน่วงหรือกำหนดหมายในขณะนั้นๆ เช่น ลมหายใจ หรือคำบริกรรมต่างๆ พุทโธ ยุบหนอพองหนอ ฯ รวมทุกสิ่งที่จิตไปกำหนดหมายหรือยึดหน่วงอยู่ทั้งสิ้น แม้การเคลื่อนไหว  ;   

          - อารมณ์ทางโลก หรือในภาษาไทย มีความหมายเคลื่อนไป หรือแปลไปว่า เป็นความรู้สึกหรือความเป็นไปแห่งจิตใจ ในขณะหรือช่วงเวลาหนึ่งๆ   หรือสภาพหรืออาการของใจในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ เช่นว่า อารมณ์โกรธ อย่าทำตามอารมณ์  วันนี้อารมณ์ดี  ตอนนี้อารมณ์เสีย เป็นต้น จึงเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่งนั่นเอง เพราะย่อมยังให้เกิดสัญเจตนาคิดอ่านให้เกิดการกระทำต่างๆ ซึ่งย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ครอบงำ,  จึงต้องตีความคำว่าอารมณ์นั้น ใช้ในความหมายทางธรรมหรือทางโลก เพราะจะทำให้การจำแนกแตกธรรมในการทำความเข้าใจในธรรมต่างๆไม่ได้ หรือไม่ถูกต้อง,  เราจะเรียกอารมณ์นี้กันว่า อารมณ์ทางโลก ซึ่งก็คือสังขารขันธ์นั่นเอง

อานาปานสติ-อานาปานสติกัมมัฏฐาน-กัมมัฏฐานที่ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

อาสาฬหบูชา-“การบูชาในเดือน ๘”   หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นการพิเศษ เนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำให้เกิดมีปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และเกิดสังฆรัตนะคำรบพระรัตนตรัย

อาโลกสัญญา-ความสำคัญในแสงสว่าง,  กำหนดหมายแสงสว่าง คือ ตั้งความกำหนดหมายว่า กลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เป็นวิธีแก้ง่วงอย่างหนึ่ง

อาสวะ-กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ   ถ้าแบ่งตามเหตุที่ทำให้เกิดมี ๓ อย่าง คือ
          ๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม  อาสวะอันเกิดแต
่กามคุณ ๕ เช่น ย้อมจิตเมื่อประสบกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างๆ
          ๒. ภวาสวะ อาสวะคือ
ภพ  อาสวะอันเกิดแต่ภาวะของจิต อยากมี อยากเป็น ในสภานะต่างๆ เช่น ย้อมจิตให้อยากเป็นนั่น เป็นนี่
          ๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา  อาสวะอันเกิดแต่ความไม่รู้หรืออวิชชา เช่น ย้อมจิตด้วยอวิชชา เมื่อประสบกับธรรมารมณ์ต่างๆ เช่นความคิด ฯ.
          อีกหมวดหนึ่งมี ๔ คือ  ๑.กามาสวะ  ๒.ภวาสวะ  ๓.ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ  ๔.อวิชชาสวะ

อาสวะกิเลส - สิ่งที่ทําให้จิตขุ่นมัวที่หมักหมมหรือนอนเนื่องอยู่ในจิต รอเวลาซึมซ่านขึ้นมาย้อมจิตเมื่อประสบกับอารมณ์  (หรืออาจพูดได้ว่าคือสัญญาหรือความจําที่สั่งสมอันมีกิเลสสิ่งที่ทําให้จิตขุ่นมัวแฝงอยู่อันเนื่องจากทุกข์และสุขในอดีต)   ถ้าแบ่งตามผลหรืออาการที่เกิดขึ้น อันมี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส;    ดูอาสวะ

    โสกะ - ความโศก โศรกเศร้า แห้งใจ หดหู่ใจ โศรกเศร้าจากการเสื่อมหรือสูญเสียต่างๆเช่น โศกเศร้าของผู้ที่เสื่อมสุข เสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกี่ยวด้วยโรค เสื่อมศีล เสื่อมทิฏฐิ เสื่อมยศ ฯลฯ.

    ปริเทวะ - ความครํ่าครวญ โหยหา รํ่าไรรําพัน พิรี้พิไรรําพัน  อาการของความอาลัยอาวรณ์คิดคํานึงถึงในสุขหรือทุกข์ในอดีตที่เสื่อมหรือสูญเสียไปแล้ว เช่นโหยหา, อาลัย, ครํ่าครวญถึงสุข, ความสนุก, ญาติ, ทรัพย์, เกียรติ ฯลฯ.ที่รุ่งเรืองหรือเสื่อมหรือดับไปแล้วแต่อดีต อันอยากให้เกิดหรือไม่เกิดขึ้นอีก

    ทุกข์ - ความทุกข์ทางกาย ความไม่สบายกายทั้งหลาย ความจดจําได้ ความกลัว ในความเจ็บปวด ความป่วยไข้ การบาดเจ็บ

    โทมนัส - เศร้าใจ เสียใจ ความทุกข์ทางจิต ความไม่สําราญทางจิต อารมณ์ไม่ดีเป็นทุกข์เกิดแต่ใจ ไม่ได้ดังใจ ไม่ได้ตามใจปรารถนา

    อุปายาส - ความคับแค้นใจ, ความสิ้นหวัง, ความขุ่นเคือง คับแค้นใจ ขุ่นข้อง เช่น ความโกรธ ความอาฆาต พยาบาท ขุ่นเคือง หรือเกิดจากความคับแค้นใจหรือถูกเบียดเบียน รังแก เอาเปรียบ

อาสวักขยญาณ - ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, (ข้อ ๓ ในญาณ ๓ หรือวิชชา ๓)

อาหาร-ปัจจัยอันนำมาซึ่งผล, เครื่องค้ำจุนชีวิต,  หรือเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต มี ๔ คือ
           ๑.
กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงร่างกาย
           ๒.
ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงเวทนา
           ๓.
มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงให้เกิดกรรม(การกระทำ)
           ๔.
วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงนาม-รูป

อาหาเรปฏิกูลสัญญา - กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร, ความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียด โดยอาการต่างๆ  เช่น ปฏิกูล โดยบริโภค, โดยประเทศที่อยู่ของอาหาร, โดยสั่งสมอยู่นาน เป็นต้น   (ข้อ ๓๕ ในกรรมฐาน ๔๐)

อิทธิบาท - คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์, ทางแห่งความสำเร็จมี ๔ คือ   ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น   ๒. วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น   ๓. จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น   ๔. วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น, จำง่าย ๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน

อิทัปปัจจยตา-หลักธรรมที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเหตุและผล อันกล่าวถึงกฏเหตุปัจจัยไว้ดังนี้

           เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี                เพราะเหตุนี้เกิดขึ้น ผลนี้จึงเกิดขึ้น

           เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี        เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ

           กล่าวคือ เมื่อดับเหตุลงไป  ผลนั้นย่อมต้องดับไปด้วยเป็นธรรมดา,   ส่วนการดับที่ผลนั้น  เมื่อเหตุยังคงอยู่  จึงย่อมเกิดผลขึ้นใหม่ได้อีกเป็นธรรมดา  ถือเป็นหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาทีเดียว  และเป็นหลัการสำคัญของวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบันนี้ทีเดียว ที่ต้องยึดถือเป็นพื้นฐาน คือหลักเหตุและผล นั่นเอง

           หรือกล่าวอีกนัย แต่นัยยะเดียวกันนั่นเอง อิทัปปัจจยตา “ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย, กฎที่ว่า

           “เมื่อสิ่งนี้มี    อีกสิ่งหนึ่งจึงมี           เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  อีกสิ่งหนึ่งจึงเกิดขึ้น

            เมื่อสิ่งนี้ไม่มี   อีกสิ่งหนึ่งจึงไม่มี     เพราะสิ่งนี้ดับ  อีกสิ่งหนึ่งจึงดับ”

           และเป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ

อิริยาบถ - การเคลื่อนไหวของร่างกาย

อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

อุคคหนิมิต - นิมิตติดตา หมายถึงนิมิต(อารมณ์กรรมฐาน) ที่นึกกําหนดจนแม่นใจ หรือเพ่งดูจนติดตา แม้หลับตาก็เห็น อุทธัจจกุกกุจจะ - ความฟุ้งซ่าน(อุทธัจจะ)และรำคาญ(กุกกุจจะ), ความฟุ้งซ่านและความเดือดร้อนใจ (ข้อ ๔ ในนิวรณ์ ๕)

อเหตุกจิต-คือ กิริยาจิต ที่จิตเกิดขึ้นตามหน้าที่การงานของตน โดยไม่ต้องอาศัยเหตุ บุญ เหตุบาปใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากหน้าที่นั้นเป็นหน้าที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าตน ดูรายละเอียดที่นี่

อุทธัจจะ-ความฟุ้งซ่าน, จิตต์ส่าย, ใจวอกแวก (พจนานุกรมเขียน อุทธัจ);  ข้อ ๙ ในสังโยชน์ ๑๐ ที่ผูกมัดร้อยรัดสัตว์ไว้กับทุกข์,  ท่านจัดเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด รองจากอวิชชา  ;  ดูความคิดนึกปรุงแต่ง  ;  ในฝ่ายนิกายเซ็น ถือว่าการหยุดระงับอุทธัจจะลงไปได้ ทำให้เกิดจิตพุทธะขึ้นทีเดียว คือจิตของผู้หลุดพ้น หรือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

อุทธัจจกุกกุจจะ-ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ, ความฟุ้งซ่านจึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจ  (ข้อ ๔ ในนิวรณ์ ๕)  ;  จิตปรุงแต่งไปในเรื่องราวต่างๆ ทั้งใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดการผัสสะต่างๆขึ้น จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ 

อุทาน-วาจาที่เปล่งขึ้นโดยความเบิกบานใจ มักเป็นข้อความสั้นๆเพียง ๑ หรือ ๒ คาถา ; ในภาษาไทย  หมายถึงเสียงหรือคําพูดที่เปล่งออกมาเวลาดีใจหรือตกใจ อุภโตภาควิมุต - “ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน”  คือ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมาเป็นอย่างมากจนได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงใช้สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุอรหัตตผล;
       หลุดพ้นทั้งสองส่วน (และสองวาระ) กล่าวคือ หลุดพ้นจาก
รูปกายด้วยอรูปสมาบัติ (เป็นวิกขัมภนะ) หนหนึ่งแล้ว  แล้วจึงหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค (เป็นสมุจเฉท) อีกหนหนึ่ง

อุบาย-อุบาย วิธีสำหรับประกอบ, หนทาง, วิธีการ, กลวิธี,      (ภาษาไทยใช้ไปในความหมายถึง เล่ห์เหลี่ยมด้วย)

อุเบกขา-อุเบกขาสัมโพชฌงค์-การเป็นกลางวางทีเฉย หมายถึง การกระทำทางใจให้เป็นกลาง โดยการวางทีเฉย กล่าวคือ มีสติรู้เท่าทันสภาวธรรมที่เกิดขึ้นนั้นๆตามเป็นจริง และเมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้นแล้ว ต้องเป็นกลางโดยการวางทีเฉยด้วยสติที่ตั้งมั่น(สมาธิสัมโพชฌงค์)ต่อธรรมหรือสิ่งที่ควรเหล่านั้นเสีย  เป็นกลางวางทีเฉย ที่หมายถึง เจตนากระทำโดยอาการไม่เอนเอียง ไม่แทรกแซง ไม่พัวพันเข้าไปคิด,นึก,ปรุงแต่ง ไม่ว่าในฝ่ายที่ว่า เราเขา, ดีหรือชั่ว, ถูกหรือผิด บุญบาป ฯ. ก็ตามทีในมโกรรมคือความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์  ด้วยจิตที่ตั้งมั่น  เพราะมักเป็นการหลอกล่อของจิต ให้ไปปรุงแต่ง (เพราะการปรุงแต่งต่างๆล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาต่างๆ อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา>>อุปาทานต่างๆ  จึงเป็นผลยังให้เกิดทุกข์อุปาทาน(ความทุกข์ที่ประกอบด้วยอุปาทานหรืออุปาทานขันธ์ ๕)อันแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายยิ่งกว่าทุกขอริยสัจ (อันเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติ) และย่อมเป็นไปอย่างวนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องได้แสนยาวนานในชรา และเกิดอาสวะกิเลส อันล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรมนั่นเอง),   อุเบกขาเป็นองค์ธรรมข้อสุดท้ายในสัมโพชฌงค์๗ ที่ยังให้ทั้งวิชาและวิมุตติบริบูรณ์ได้เท่านั้น,  อุเบกขามีการใช้กันหลายความหมายมาก บางครั้งอาจสับสน ดูอุเบกขาแบบต่างๆ

กล่าวโดยสาระะดังนี้

        อุเบกขา  การที่มีสติระลึกรู้เท่าทันเวทนา หรือสังขารขันธ์หรือมโนกรรมอันเป็นโทษ เช่นโทสะ โลภะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ทุกข์ใจ สุขใจ กลัว ฯ. มีความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ถูกต้องแล้ว อย่าใส่ใจไม่ถูกผิดอะไร(ข้อนี้สำคัญ)  แต่เมื่อปัญญาเห็นโทษหรือเห็นว่าสมควรแก่เหตุแล้ว  ต้องวางใจเป็นกลาง วางใจเฉย ด้วยอาการของการมีสติตั้งมั่น ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่งด้วยถ้อยคิด(คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ) หรือด้วยอาการจิตใดๆ(ชอบ-ชัง, ถูก-ผิด, ดี-ชั่ว ยินดี-ยินร้าย ฯ.) ในสังขารขันธ์หรือมโนกรรม(คิดนึกที่เกิดขึ้นจากสังขารขันธ์)นั้นนั่นเอง

ดู อุเบกขา ในความหมายอื่นๆ

อุเบกขาเวทนา-หรืออทุกขมสุขชื่อเดียวกันของเวทนาชนิดไม่สุขไม่ทุกข์หรือความรู้สึกเฉยๆ เป็นเพียงความรู้สึกจากการรับรู้ที่อาจเกิดจากการผัสสะกับอารมณ์ต่างๆ เป็นเพียงสภาวธรรมของชีวิตเป็นธรรมดา ที่ย่อมเกิดความรู้สึกขึ้นจากการผัสสะกับสิ่งต่างๆตามหน้าที่ของขันธ์หรือชีวิต  แต่ยังไม่ประกอบด้วยการรู้เห็นตามความเป็นจริงในธรรมนั้นๆดังอุเบกขาในสัมโพชฌงค์๗

อุปกิเลส-โทษเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก  มี ๑๖ อย่าง คือ ๑.อภิชฌาวิสมโลภะ(โลภะ) ละโมบ จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร   ๒.โทสะ คิดประทุษร้าย   ๓.โกธะ โกรธ   ๔.อุปนาหะ ผูกโกรธไว้    ๕.มักขะ ลบหลู่คุณท่าน   ๖.ปลาสะ ตีเสมอ   ๗.อิสสา ริษยา   ๘.มัจฉริยะ ตระหนี่   ๙.มายา เจ้าเล่ห์   ๑๐.สาเถยยะ โอ้อวด   ๑๑.ถัมภะ หัวดื้อ   ๑๒.สารัมภะ แข่งดี    ๑๓.มานะ ถือตัว   ๑๔.อติมานะ ดูหมิ่นท่าน   ๑๕.มทะ มัวเมา  ๑๖.ปมาทะ เลินเล่อหรือละเลย  (ดู อุปกิเลส ๑๐ แห่งวิปัสสนา)

อุปจารสมาธิ-สมาธิจวนจะแน่วแน่, สมาธิที่ยังไม่ดิ่งถึงที่สุด แต่เป็นขั้นทำให้กิเลส มีนิวรณ์เป็นต้นระงับได้ดี ก่อนจะเป็นอัปปนาสมาธิ คือถึงฌาน

อุปธิ-สิ่งนุงนัง, สภาวะกลั้วกิเลส,  สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส   ๑.ร่างกาย   ๒.สภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้แห่งทุกข์ได้แก่ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และอภิสังขาร

อุปาทิ-๑. สภาพที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง,  สภาพที่ถูกอุปาทานยึดไว้มั่น, เบญจขันธ์
           ๒. กิเลสเป็นเหตุถือมั่น,  ความยึดมั่นถือมั่น,  อุปาทาน

อุปาทาน-ความยึดมั่น,ความถือมั่นด้วยอำนาจของกิเลสตน ก็เพื่อสนองความพึงพอใจของตนเป็นเอก หรือเป็นสำคัญนั่นเอง,  อุปาทาน เปรียบได้ดั่งสัญเจตนาในขันธ์ ๕ คือ เจตนาหรือความคิดอ่านให้จิตกระทำในสิ่งต่างๆ แต่ภายใต้อำนาจกิเลสของตัวตน จึงส่งผลให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ

            - ความยึดมั่นถือมั่นตามความพึงพอใจของตัวของตนด้วยกิเลสเป็นสําคัญ   (รายละเอียดอยู่ในบทปฏิจจสมุปบาท), แบ่งออกเป็น ๔

            - ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ ๑.กามุปาทาน ความถือมั่นในกามทั้ง๕   ๒.ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ คือความเชื่อ,ความเข้าใจ,ทฤษฎีของตน   ๓.สีลัพพตุปาทาน ความถือมั่นหรือความเชื่อในศีลและพรตอย่างงมงาย    ๔. อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นในวาทะ(คำพูดจา) เช่น เงินฉัน บ้านฉัน ของเล่นฉัน ฯลฯ.จนเกิดมายาแก่จิตหลงผิดไปในแทบทุกสิ่งอื่นๆอีกด้วยว่า เป็นตน เป็นตัวตน เป็นของตัวของตนอย่างแท้จริง โดยไม่รู้ตัวในที่สุด ตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนเติบกล้า เป็นมายาจิตที่ติดตนไปตลอด

อุปาทานขันธ์ ๕-ขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นหรือคิดอ่านตามกิเลสตน อันมี รูปูปาทานขันธ์ (หมายถึง ทั้งรูปขันธ์ และสิ่งที่ถูกรู้อีกด้วยคือสิ่งที่ถูกรู้โดยอาตนะภายในต่างๆ อันต่างล้วนเป็นส่วนของรูปขันธ์นั่นเอง คืออายตนะภายนอกทั้งหมดคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ แต่ต่างล้วนแฝงด้วยความยึดมั่น,ถือมั่น ด้วยกิเลสคืออุปาทานอยู่ในที)  เวทนูปาทานขันธ์(เวทนาที่ประกอบด้วยกิเลสคืออุปาทาน)  สัญญูปาทานขันธ์(สัญญาที่ประกอบด้วยอุปาทาน)  สังขารูปาทานขันธ์  และวิญญาณูปาทานขันธ์ กล่าวคือขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ที่เกิดขึ้นโดยมีความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสเพื่อความพึงพอใจหรือสุขของตนเองเป็นสำคัญ แอบแฝงหรือนอนเนื่องอยู่ในขันธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น ถ้ามองในมุมของปฏิจจสมุปบาท ก็คือขันธ์ ๕ ที่เกิดใน"ชาติและชรา" อันผ่านการครอบงําหรือประกอบด้วยอุปาทานหรือการยึดมั่นด้วยกิเลสแล้วนั่นเอง

                    - ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานได้แก่ ขันธ์ในเบญจขันธ์ คือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ  ที่ล้วนประกอบด้วยอาสวะ หรือมีอาสวะหรืออุปาทานแฝงอยู่นั่นเอง  เมื่อประกอบด้วยอุปาทานแล้ว เรียกใหม่เป็น  รูปูปาทานขันธ์  เวทนูปาทานขันธ์  สัญญูปาทานขันธ์  สังขารูปาทานขันธ์  และวิญญาณูปาทานขันธ์  อันดำเนินเกิดขึ้นวนเวียนแปรปรวนอยู่ในองค์ธรรมชราในปฏิจจสมุปบาท  ดังภาพ

ธรรมารมณ์ + ใจ(รูปูปาทานขันธ์) + วิญญูาณูปาทานขันธ์  anired06_next.gif เวทนูปาทานขันธ์

             อุปาทานขันธ์๕  อันคือ คิดปรุงแต่งในชราอันเผ็ดร้อนเป็นทุกข์            

    สังขารูปาทานขันธ์ มโนกรรมคิดที่เป็นทุกข์              สัญญูปาทานขันธ์     

ในวงจรชรา แสดงความวนเวียนเร่าร้อนด้วยเหล่าอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เพราะล้วนถูกครอบงําโดยอุปาทานแล้ว

อุปาทายรูป ๒๔-รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป, อาการของมหาภูตรูป, ตามหลักฝ่ายอภิธรรมว่ามี ๒๔,  จึงเป็นเหตุให้มีลักษณะรูปร่าง   เพศ  สวยไม่สวย ฯลฯ. ลักษณะจึงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

เอกัคคตา-ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่สมาธิ (พจนานุกรม เขียน เอกัคตา) ดู ฌาน

อัตตา-ตัวตน, อาตมัน ;  ปุถุชนย่อมยึดมั่น มองเห็นขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดเป็นอัตตาหรือตัวตน  หรือยึดถือว่าอัตตา(ตัวตน)เนื่องด้วยขันธ์ ๕ โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง : ตรงข้ามกับ อนัตตา

อัปปนาสมาธิ-สมาธิแน่วแน่, จิตตั้งมั่นสนิท เป็นสมาธิในฌาน

อัพยากฤต - “ซึ่งท่านไม่พยากรณ์”, บอกไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือ เป็นกลางๆ  ไม่ดีไม่ชั่ว  ไม่ใช่กุศล  ไม่ใช่อกุศล

อัพโพหาริก - กล่าวไม่ได้ว่ามี, มีแต่ไม่ปรากฏ  จึงไม่ได้เป็นการเล่นโวหารที่ว่า มี, มีเหมือนไม่มี เช่น สุราที่เขาใส่ในอาหารบางอย่างเพื่อฆ่าคาวหรือชูรส ก็ถือว่าไม่มีเจตนาในการเสพสุรา,  เจตนาที่มีในเวลาหลับเช่นอสุจิเคลื่อนโดยฝันในขณะหลับ เป็นต้น แม้มีเจตนาที่แอบนอนเนื่องโดยไม่รู้ตัว ก็ไม่ถือว่ามีเจตนา เพราะเป็นเจตนาที่โดยไม่ได้ตั้งใจอย่างแท้จริงแต่เป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ

อกพีซี - ผู้มีพืชคืออัตภาพอันเดียว หมายถึง พระโสดาบันซึ่งจะเกิดอีกครั้งเดียวก็จะบรรลุพระอรหัตตผลในภพที่เกิดขึ้น

เอกายนมรรค - ทางอันเอก คือ ข้อปฏิบัติอันประเสริฐที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด หมดความทุกข์ และบรรลุนิพพาน ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔;   อย่างกว้าง เช่น ในมหานิทเทส หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ด้วย

เอตทัคคะ - พระสาวกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นเอตทัคคะ ในทางธรรมกถึก หมายความว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางแสดงธรรม เป็นต้น

โอกกันติกาปีติ - ปีติเป็นระลอก, ความอิ่มใจเป็นพักๆ เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกซู่ซ่าเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง (ข้อ ๓ ในปีติ ๕)

โอวาทปาฏิโมกข์ - หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา)

โอภาส - ๑.แสงสว่าง, แสงสุกใสผุดผ่อง (ข้อ ๑ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐) จัดเป็นนิมิตอย่างหนึ่ง   ๒.การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำโอภาส ณ ที่ต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งถ้าพระอานนท์เข้าใจ ก็จะทูลขอให้ทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอด (อายุ) กัป

โอปปาติกะ-อุปปาติกะ-สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด ตายก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ เช่นเทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ข้อ ๔ ในโยนิ ๔); บาลีว่า รวมทั้งมนุษย์บางพวก

  kahuna@g-cnfh.org  hbd@tlv-apmhet.net  isa@gdzfwwd.us  vau-oic@vjpcazj.org  qcapiqa@l-admz.us  omz-eniac@g-tby.org  vac@gvz-nrefgq.us

อธิบายศัพท์  ส่วนใหญ่ใจความคัดลอกมาจาก

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และฉบับประมวลธรรม

โดย ท่านพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)

และจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน

แต่เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมบรรยาย ในเว็บหรือโฮมเพจนี้

จึงมีการแทรกความคิด, ความเห็น, ความเข้าใจของWebmaster "ปฏิจจสมุปบาท" นี้ลงไปด้วย

สำหรับการตรวจดูต้นฉบับ ท่านสามารถ Link ไปที่

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และประมวลธรรม

หรือที่นี่

และที่ พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน

ความผิดพลาดใดๆที่อาจเกิดขึ้นเพราะความรู้น้อยของผู้เขียน  ผู้เขียนกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้