ปฏิจจสมุปบาท

ย้อนกลับ

๑๒. อาสวะกิเลสร่วมด้วยอวิชชา เป็นเหตุปัจจัย จึงมีสังขารขึ้นอีก

คลิกขวาเมนู

         วงจรจักดําเนินย้อนกลับมาสู่ที่เดิม หรือจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงสมมุติ  จึงทําให้วนเวียน, เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ (เวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติหรือในกองทุกข์)ตั้งแต่ในปัจจุบันชาติ   เพราะความทุกข์และสุขที่เคยเกิดเคยเป็นอันประกอบด้วยกิเลส ที่ดับหรือมรณะไปแล้วก็ยังล้วนเก็บจำในรูปอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องหมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน และจักไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบกับอารมณ์ต่างๆ (รูป รส ฯ.)  จึงทําให้จิตหมองหรือขุ่นมัวหรือเศร้าหมอง ซึ่งเป็นปัจจัยทําให้ไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริงแห่งธรรม(ธรรมชาติ)หรืออวิชชา ซึ่งกลายเป็นตัวกระตุ้น เร่งเร้า จึงเป็นแหล่งพลังที่ขับดันหนุนเนื่องให้วงจรสามารถหมุนเวียนเคลื่อนต่อๆไป  และเพราะร่วมด้วยกับอวิชชา คือไม่มีวิชชาความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ จึงปล่อยไปตามกระแสธรรมของการเกิดขึ้นของทุกข์ หรือปล่อยไปตามยถากรรมตามธรรมชาติที่ย่อมดำเนินไปในทางก่อภพก่อชาติ ดุจเดียวดั่งนํ้าที่ย่อมไหลลงสู่ที่ตํ่าเท่านั้นโดยธรรม(ธรรมชาติ)   ดังนั้นเมื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยร่วมกันจึงยังให้เกิด ---> สังขาร อันย่อมเป็นสังขารกิเลสขึ้้นใหม่ --->....ฯลฯ. จึงวนเวียนเป็นวงจรหรือ วัฏฏะ หรือภวจักรของทุกข์ขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา  อันรวมถึงอาจไปก่อทุกข์อื่นๆเพิ่มอีกด้วยจากจิตที่ขุ่นมัวเศร้าหมอง จึงเกิดภพเกิดชาติอย่างต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้นโดยไม่รู้ตัว จนกว่าจะมีสติมารู้ มาเข้าใจ หรือถูกเบี่ยงเบนหรือบดบังโดยเหตุอื่นๆก็ได้  แล้วก็วนๆเวียนๆเกิดดับๆอยู่เช่นนี้อีก เป็นเช่นนี้ไปตลอดกาลนาน........

ดูภาพวงจรปฏิจจสมุปบาทอย่างละเอียดประกอบการพิจารณา คลิกที่นี่  

         ชรา-มรณะ + อาสวะกิเลส (โสกะ + ปริเทวะ + ทุกข์ + โทมนัส + อุปายาส)นั้นในมุมมองของหลักธรรมปฏิจจสมุปบาทแล้ว พระพุทธองค์ทรงรวมเรียกว่าทุกขสมุทัย, เช่นเดียวกันกับ"ทุกขสมุทัย ในอริยสัจ๔"ถ้ากล่าวถึงในหลักอริยสัจ,  เพราะชรา-มรณะ + อาสวะกิเลส กล่าวคือเมื่อแปรปรวนวนเวียนเร่าร้อนอยู่ในกองทุกข์จนดับลงไปตามธรรมหรือธรรมชาติแล้ว ย่อมเกิดสัญญาหรือความจําได้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา อันย่อมพรั่งพร้อมทั้งความจำในกิเลสที่แฝงอยู่นั้นด้วย  หมักหมมไว้ภายในจิต(ใต้สํานึก) อันเป็นกระบวนธรรมหรือกลไกตามปกติธรรมชาติของชีวิตของปุถุชน  และสัญญาจําแฝงกิเลสเหล่านี้สามารถผุดหรือคิดขึ้นมาเองบ้างอันเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของปุถุชนผู้มีชีวิต หรือเมื่อเกิดถูกกระตุ้นหรือจําขึ้นมาจากการผัสสะ  หรือเจตนาขึ้นมาก็ตามที  ต่างล้วนแล้วแต่แฝงกิเลสสิ่งที่ทําให้จิตมัวหมองทั้งสิ้น  และเพราะอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงในสภาวธรรมชาติของทุกข์และการดับทุกข์ กล่าวคือยังไม่มีวิชชาหรือวิชาความรู้ในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ จึงทําให้ไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างใด จึงปล่อยกายใจไปตามกระแสสภาวธรรมชาติโดยไม่มีวิชชาแก้ไข จึงปล่อยให้เป็นไปตามกระแสอาสวะกิเลสที่เกิดขึ้นมาเหล่านั้น  จึงเกิดสังขารสิ่งปรุงแต่งขึ้น...--->..แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดเหตุปัจจัยอื่นๆต่อเนื่องเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท  ขับดันให้วงจรแห่งความทุกข์นี้ขับเคลื่อนเป็นวงจรหรือภวจักรไปตลอดกาลนาน

           ด้วยเหตุที่ชรา-มรณะและ อาสวะกิเลสนี้ท่านจัดเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องละหรือกําจัด เฉกเช่นเดียวกับสมุทัยในอริยสัจ จึงควรโยนิโสมนสิการให้เกิดญาณความรู้ความเข้าใจให้ถ่องแท้  และญาณหรือความรู้ในอาสวะกิเลสอันเกิดขึ้นจากชรา-มรณะนี้จัดเป็นญาณรู้ในขั้นสุดท้ายหรือสูงสุดในการดับทุกข์ทีเดียวคือ "อาสวักขยญาณ" หมายถึงญาณที่เป็นภูมิรู้ภูมิธรรม จนสามารถดับอาสวะกิเลสอันเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์ได้  ดับอาสวะกิเลสนั้นไม่ได้หมายถึงการดับสัญญาจําอันแฝงกิเลส แต่เป็นภูมิรู้ภูมิเข้าใจที่ดับกิเลสที่แฝงอยู่ในสัญญา คงเหลือแต่สัญญาความจําอันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสอันขุ่นมัว เศร้าหมอง

 มงกุฎแห่งธรรม

ปฏิจจสมุปบาท โดยย่อ

ภาพประกอบ แบบสมุทยวาร หรือการเกิดขึ้นแห่งทุกข์

         อาสวะกิเลสและอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงในสภาวะธรรมของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์และการดับไปของทุกข์ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันยังให้เกิดสังขารความคิดนึกและการกระทําต่างๆตามที่ได้เคยสั่งสม, อบรม, เคยประพฤติ, ปฏิบัติไว้แต่เก่าก่อน(อดีต) อันเนื่องมาจากอาสวะกิเลสอันเป็นสัญญาจําที่นอนเนื่องชนิดที่แฝงด้วยกิเลสนั่นเอง จึงยังให้สังขารที่เกิดขึ้นนี้เป็นสังขารกิเลส

        จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิญญาณระบบประสาทการรับรู้ในสังขารที่เกิดขึ้นนั้น ตามหน้าที่ของวิญญาณหรือระบบประสาทนั้นๆ อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของผู้มีชีวิต

        จึงเป็นเหตุปัจจัยให้นาม-รูปเกิดครบองค์ชีวิต ที่หมายถึง การตื่นตัวครบองค์ประกอบในการประกอบการงานหรือหน้าที่ตามสังขารที่จรเกิดขึ้นมาในขณะนั้น

        จึงย่อมเป็นเหตุปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสฬายตนะ ที่หมายถึง อวัยวะในการรับการสัมผัสสื่อสารหรือทวารทั้ง ๖  ตื่นตัวทํางานตามหน้าที่ตนโดยสมบูรณ์ คือ ทวารใดที่รับผิดชอบในสังขารที่เกิดขึ้นมากระทบสัมผัสในครานี้  ก็ย่อมตื่นตัวเข้าทำหน้าที่รับผิดชอบต่อสังขารที่เกิดขึ้นมาในครานี้

        จึงย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดครบองค์ประกอบของการรับรู้ในการกระทบสัมผัสของสังขาร หรือเกิดผัสสะอย่างครบถ้วนบริบูรณในสังขารนั้น อย่างถูกต้องเป็นธรรมดาของผู้มีชีวิต

        จึงย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเวทนาความรู้สึกรับรู้และจําได้ ต่อสังขารนั้นๆ ที่มาผัสสะนั้น  อันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาความทะยานอยากหรือไม่อยากในเวทนาที่เกิดขึ้นนี้

        ซึ่งย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานอันยึดมั่นในกิเลส หรือยึดมั่นที่จะให้เป็นไปตามความพึงพอใจของตัวของตน, เพื่อสนองความต้องการของของตนให้เป็นไปตามตัณหาที่เกิดขึ้นมานั้น

        จึงเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ที่อยู่ของจิต ที่หมายถึง สภาวะจิตอันย่อมไปตามกำลังหรืออิทธิพลของอุปาทานที่ได้ครอบงําแล้ว  หรือก็คือภาวะ,บทบาทที่จะกระทําไปตามกำลังอิทธิพลของอุปาทานที่เกิดขึ้นมาในครานี้

        อันย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดชาติความเกิดขึ้นแห่งทุกข์โดยสัญญาหมายรู้ที่ถูกครอบงําแล้วโดยอุปาทาน   แล้วจึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดชราอันแปรปรวน เพื่อรอเวลาแห่งการแตกดับไป  อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกขบ้าง หรือทั้งสุขและทุกข์คละเคล้าไปบ้าง เกิดดับ เกิดดับ....วนเวียนอยู่เยี่ยงนั้น อันล้วนเป็นอุปาทานขันธ์๕ ในชราอันล้วนเป็นทุกข์เร่าร้อนเผาลนทั้งสิ้น  อันเป็นไปตามภพที่จิตอาศัยอยู่ขณะนั้น อันย่อมเป็นไปตามกําลังของอุปาทานที่ครอบงํานั่นเอง  จนมรณะดับไปในที่สุด  และย่อมเก็บความทุกข์ตลอดจนความสุขทางโลกต่างๆนั้นไว้เป็นอาสวะกิเลสหรือสัญญาจําที่นอนเนื่องซึมซาบย้อมจิตและแฝงด้วยกิเลสนั่นเอง ตามสภาวธรรมของชีวิตในการจดจำในสิ่งต่างๆได้เป็นธรรมดา

        แล้วอาสวะกิเลสจึงเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับอวิชชาความไม่รู้ในความเป็นจริงอันครอบงําขึ้นมาอีก  จึงเป็นปัจจัยให้วงจักร หรือวงจรแห่งความทุกข์นี้หมุนหนุนเนื่องอย่างไม่ขาดสาย เป็นวงจรอุบาทว์ ที่ทําให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติไปตลอดกาลนาน.

 

ธรรมตามที่ได้แสดงมาแล้วนี้  จึงบังเกิดเป็นคติธรรมขึ้นดังนี้

คติธรรม

จิตมีเวทนาปรุงแต่งตัณหาเป็นเหตุ

เป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์  

ผลของจิตมีเวทนาปรุงแต่งตัณหา

เป็นทุกข์อุปาทาน          

สติเห็นกาย,เวทนา,จิตสังขารหรือธรรม

เป็นมรรคปฏิบัติ            

ผลของสติเห็นกาย,เวทนา,จิต,ธรรม

เป็นนิโรธอันพ้นทุกข์     

พนมพร คูภิรมย์

คติธรรมนี้รวบรวมแฝงแก่นธรรมอันสําคัญยิ่งทางพุทธศาสนา

อันเมื่อบริกรรม ท่องบ่น เพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ เครื่องพิจารณา

อันพึงมีความเข้าใจในความหมายของธรรมเหล่านี้ด้วย  จึงจักยังผลอันยิ่งใหญ่   อันมี

อิทัปปัจจยตา

แสดงธรรมอิทัปปัจจยตาที่ว่า  เพราะเหตุนี้มี  ผลเหล่านี้จึงเกิดขึ้น

ปฏิจจสมุปบาท :

เวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา หมายถึงเมื่อเกิดเวทนาขึ้นแล้ว อาจเกิดตัณหาความทะยานอยากหรือความไม่อยากต่อเวทนาที่เกิดขึ้นเหล่านั้น   จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ขึ้นโดยตรง

สังขาร อันเกิด จาก อาสวะกิเลสและอวิชชา เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อุปาทาน

(อ่านรายละเอียดใน ปฏิจจสมุปบาท)

อริยสัจ             :

อันมี   ทุกข์อริยสัจ และทุกข์อุปาทานอันเป็นทุกข์             สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์,

          นิโรธคือการพ้นทุกข์                                           มรรคคือทางปฏิบัติให้พ้นไปจากทุกข์

สติปัฏฐาน๔     :

ทางสายเอกในการปฏิบัติ  อันควรปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย  สติเห็นธรรมใดก่อนปฏิบัติธรรมนั้น

สติเห็นเวทนา หรือ เวทนานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน๔(เห็นเวทนาในเวทนา), อันคือมีสติรู้เท่าทันอย่างเข้าใจ ในเวทนา

สติเห็นจิตสังขาร(คิด) หรือ จิตตานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน๔(เห็นจิตในจิต) อันคือสติรู้เท่าทันอย่างเข้าใจใน จิตหรือจิตสังขาร(ความคิด ความนึก)

สติเห็นกาย หรือ กายานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน๔ (เห็นกายในกาย) อันคือฝึกสติและมีสติรู้เท่าทันอย่างเข้าใจใน กายหรือกายสังขาร เช่น สักว่าธาตุ๔ ฯลฯ.

สติเห็นธรรม ดังเช่น ธรรมานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน๔ (เห็นธรรมในธรรม) หรือสติเห็นปฏิจจสมุปบาท  สติเห็นคือรู้เท่าทันและเข้าใจในธรรมดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องรู้  เครื่องระลึก  เครื่องเตือนสติ  เพื่อให้เกิดปัญญาญาณ(สัมมาญาณ)อันสําคัญยิ่งในการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์

แล้วเป็นกลางวางทีเฉย(อุเบกขา)โดยการไม่เอนเอียงไปคิดนึกปรุงแต่งทั้งทางดีหรือชั่ว อันหมายถึงไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ  กล่าวคือไม่ไปยึดทั้งในด้านดี(กุศล)หรือด้านร้าย(อกุศล)ในเรื่องนั้นๆ  อันต่างล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา อันอาจเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อันยังให้เกิดทุกข์ในที่สุดโดยไม่รู้ตัว

 

anired06_next.gif ย้อนกลับวงจรปฏิจจสมุปบาท

 

 

จำแนกแตกธรรม ในแต่ละองค์ธรรม

หรือดำเนินต่อไปใน

เกร็ดธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปฏิจจสมุปบาท  ฝ่ายสมุทยวาร  หรือฝ่ายการเกิดขึ้นแห่งทุกข์  

หรือดำเนินต่อไปใน

ปฏิจจสมุปบาท  ฝ่ายนิโรธวาร  หรือฝ่ายดับทุกข์

กลับสารบัญ