ปฏิจจสมุปบาท

ย้อนกลับ

๗. เวทนา เป็นเหตุปัจจัย จึงมี ตัณหา

คลิกขวาเมนู

        เมื่อเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว อันคือ การเสวยอารมณ์ หรือการรับรู้รสในสิ่งที่กระทบผัสสะ   ระวังมักจะสับสนกับความคิด,ความนึก,โทสะ ฯ. อันล้วนเป็นสังขารขันธ์ชนิดมโนสังขารหรือจิตสังขาร,   เวทนาเป็นเพียงการรับรู้ในสิ่งที่ผัสสะ ที่แฝงด้วยความจำได้ในสิ่งที่ผัสสะนั้น แล้วย่อมมีความถูกใจ สบายใจ ชอบใจ(สุขเวทนา),  ไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ ระคายเคืองใจ(ทุกขเวทนา),  หรือเฉยๆ(อทุกขมสุขเวทนา) ที่เกิดขึ้นจากการผัสสะกับอายตนะภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์    จึงเกิดตัณหาขึ้น กล่าวคือ เกิดความทะยานอยาก,ความปรารถนา,ความดิ้นรน ให้เป็นไปตามเวทนา  ที่เกิดขึ้น   กล่าวคือกิเลสที่นอนเนื่องแช่นิ่งอยู่ในจิตในรูปอาสวะกิเลสเช่นกัน ได้เกิดการตื่นทำงานขึ้น(active)นั่นเอง  ดังเช่น ถ้าเวทนานั้นเป็นสุขเวทนาก็มีความอยากให้คงอยู่  อยากให้เป็นไป  อยากให้เป็นเช่นนั้นนานๆ  อยากให้เกิดขึ้นอีก  หรือความติดใจอยาก หรือติดเพลิน(นันทิ)นั่นเอง   ถ้าเวทนานั้นเป็นทุกขเวทนา ก็มีความไม่อยาก(วิภวตัณหา)ให้คงอยู่  ไม่อยากให้เกิด  ไม่อยากให้เป็นไป  อยากให้ดับสูญ

          เวทนา เป็นเพียงเครื่องรับรู้ เหมือนดั่งจักรกล เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแต่การไปกระทบสัมผัส(ผัสสะ)กับอายตนะภายนอกหรืออารมณ์ทั้งหลาย คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ล้วนเกิดแต่การผัสสะนั้น  ในปฏิจจสมุปบาทนั้นองค์ธรรมสังขาร(คือสังขารกิเลสหรือกิเลส)นั่นเองที่ทำหน้าที่เป็นอารมณ์  จึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยสภาวธรรมจากการผัสสะ อันเนื่องสัมพันธ์กับสัญญาจำ ซึ่งในวงจรปฏิจจสมุปบาทจึงหมายถึงอาสวะกิเลสดังที่กล่าวมาแล้ว  กล่าวคือ เมื่อผัสสะแล้วย่อมต้องเกิดเวทนามีอามิส(กิเลส)ขึ้นเป็นธรรมดา   เพียงแต่อาจแรงเข้มเด่นชัด หรืออาจแผ่วเบาจนไม่รู้สึกในบางการผัสสะก็มีเนื่องจากความเคยชินที่สั่งสมและอวิชชา

          ส่วนตัณหาเป็นความรู้สึกหรืออาการของจิตอย่างหนึ่ง  จึงจัดเป็นสังขารขันธ์ในขันธ์ ๕ อีกอย่างหนึ่ง  แต่เป็นฝ่าย" อกุศลสังขารขันธ์ "  แม้เป็นสังขารขันธ์อันเป็นสภาวธรรมชาติอย่างหนึ่ง  แต่ไม่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างขันธ์ทั้ง ๕ และถ้าไม่มีตัณหาเสียกลับเป็นสุขสงบบริสุทธิ์ยิ่ง  ตัณหาจึงเกิดขึ้นตามสภาวธรรมดังกล่าว แล้วเกิดจากอาสวะกิเลสคือการสั่งสมอบรมเก็บจำของตัวตนอีกเป็นปัจจัยสำคัญ กล่าวคือ จึงเกิดความต้องการ หรือความทะยานอยาก หรือไม่อยากในเหล่าเวทนาที่ผุดเกิดขึ้นมาเหล่านั้น จากการผัสสะ  อันสามารถปฏิบัติเพื่อดับทำลาย(มีความหมายถึง ไม่ให้เกิดตัณหาเนื่องต่อไปอีก จึงคลายดับไป)เสียได้เป็นยอดดี  ไม่เหมือนกับขันธ์ทั้ง ๕ ที่ยังจำเป็นในการดำรงขันธ์หรือชีวิตให้เป็นปกติสุข,  จึงเป็นความรู้สึกที่แตกต่างไม่เหมือนกันกับฝ่ายเวทนาที่เป็นการรับรู้ตามสภาวธรรมหรือโดยธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งทุกทีไป ที่เพียงแต่ว่าในบางครั้งบางทีเป็นอทุกขมสุขเวทนาอันแผ่วเบาและเคยชิน จึงสังเกตุไม่รู้เท่านั้นเอง

        ตัณหานั้นเป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง ประภทอกุศล เช่น ราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ. คือ อาการของจิตหรือความรู้สึกฝ่ายอกุศล ที่ไปปรุงแต่งจิต ให้เกิดอุปาทาน(สัญเจตนา)คือเจตนาหรือความคิดอ่านต่างๆ ให้เห็นหรือเป็นไปตามความปรารถนาหรือกิเลสของตัวของตนเป็นสำคัญ  คือปรุงแต่งจิตให้เป็นไปตามอุปาทานหรือกิเลสของตัวตนนั่นเอง   ในแง่มุมมองของอริยสัจ ๔ ถือว่าตัณหาเป็น สมุทัย - เหตุแห่งทุกข์ โดยตรงทีเดียว   อันมีกิจที่พึงกระทําอย่างยิ่ง คือ เป็นสิ่งที่ควรละ

        อนึ่งพึงพิจารณาให้เห็นว่า ตัณหาในความหมายของวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้น มีความครอบคลุมอย่างกว้างขวาง แม้มีความหมายว่า ความปรารถนา ความทะยานอยาก ความไม่อยาก แต่แท้จริงแล้วครอบคลุมถึงอาการของจิตหรืออารมณ์ต่างๆซึ่งก็คือ สังขารขันธ์ฝ่ายอกุศล หรือฝ่ายชั่วทั้งปวง หรือให้โทษ อีกด้วย ดังเช่น โทสะ โมหะ โลภะ ราคะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ทุกข์ใจ อีกทั้งนันทิความติดเพลิน ฯ. เพราะอารมณ์ต่างๆเหล่านี้แท้จริงก็เกิดจากตัณหาเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งพิจารณาโดยการโยนิโสมนสิการได้ว่า ล้วนทำให้เกิดอุปาทานขึ้นทั้งสิ้น  หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัณหาชนิดภวตัณหา หรือวิภวตัณหาในพวกอรูปธรรมนั่นเอง  ดังเช่น

        โทสะ ก็เกิดจากตัณหาเป็นเหตุปัจจัย เพราะความที่ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนา ความทะยานอยาก ความต้องการ  จึงเกิดโทสะ ความขุ่นข้อง ขัดเคืองใจขึ้น ได้ทั้งจาก กามตัณหา ภวตัณหา หรือวิภวตัณหา ก็ได้

        โมหะ เพราะความไม่รู้ในความจริง ก็เกิดการอยากให้เกิดขึ้นและเป็นไปตามใจปรารถนา จึงทำให้เกิดการโน้มเอียงน้อมเชื่อไปตามความปรารถนา ได้ทั้งจาก กามตัณหา ภวตัณหา หรือวิภวตัณหา ก็ได้

        โลภะ ก็เกิดจากความอยากได้ให้เป็นตามใจปรารถนา ได้ทั้งจาก กามตัณหา ภวตัณหา ก็ได้

        นันทิ ติดเพลิน จึงเป็นตัณหา

 แสดง ตัณหา เปรียบเทียบกับ สังขารขันธ์

        โยนิโสมนสิการ แยกแยะความรู้สึกของเวทนาและตัณหา,  เวทนานั้นเป็นการรับรู้เสพรสของอารมณ์ที่ผัสสะ เช่นในรูป เสียง รส ฯ. พร้อมทั้งความรู้สึกที่รับได้ทั้งทางกาย และทางใจ เป็น สุขเวทนา(ถูกใจ) ทุกขเวทนา(ไม่ถูกใจ) หรืออทุกขมสุขเวทนา(เฉยๆ)  เพราะเป็นกระบวนธรรมของชีวิตนั่นเอง กล่าวคือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา,  ส่วนตัณหานั้นเป็นอารมณ์ความรู้สึก,ความปรารถนาความทะยานอยากที่เกิดแต่ภายในตัวตน ตามเคยสั่งสมไว้(เช่นใน รูปสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา คันธสัญเจตนา ฯ)  มีความรุนแรงทีเดียว  อันเป็นสิ่งที่ควร"ละ" ด้วยการอุเบกขา   อันในบางครั้งบางคราสังเกตุเห็นความรู้สึกภายในที่พลุ่งพล่าน แปรปรวนของความทะยานอยาก(ตัณหา)ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนทีเดียว ในรูปของมโนกรรมความคิดนึกต่างๆที่เป็นผลเกิดขึ้นจากตัณหา  โยนิโสมนสิการพิจารณาให้แจ่มแจ้งว่าจริงๆแล้ว เกิดตัณหาขึ้น จากเวทนาการรับรู้การผัสสะที่เกิดขึ้นเหล่านั้น   ตัณหาจึงมิได้เกิดขึ้นเนื่องมาแต่ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ หรือธรรมารมณ์ โดยตรงๆแต่อย่างใด   แต่เกิดจากเวทนาเป็นเหตุปัจจัยโดยตรง   ที่สุด  อันเกิดขึ้นแต่การผัสสะในสิ่งเหล่านั้น(อารมณ์ - รูป รส กลิ่น ฯ.)    ถึงแม้ว่า รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ หรือธรรมารมณ์  เป็นเหตุปัจจัยที่ต้องยังให้เกิดเวทนาขึ้นก่อนก็ตาม แต่ย่อมไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงเหล่าอารมณ์อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของเขาได้ สวยงาม น่าเกลียด หอม เหม็น อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น  แต่เมื่อเกิดเวทนาขึ้นแล้วจึงเป็นเหตุปัจจัยที่ไปกระตุ้นเร้าจิตให้เกิดอาการจิตหรืออารมณ์ คืออาการทะยานอยากที่นอนเนื่องอยู่ในจิตให้เกิดการทำงานขึ้น  ที่เรียกกันโดยทั่วๆไปว่าเกิดตัณหาขึ้น  ที่เราสามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ด้วยสติและปัญญาของตัวตนเองได้ โดยอาศัยวิชชาของพระองค์ท่าน คือไม่ให้เป็นเหตุก่อให้เกิดการต่อเนื่องเป็นวงจรของทุกข์ไปอีก

          ควรมีความเข้าใจเบื้องต้น  เกี่ยวกับธรรมชาติของจิตของปุถุชนที่สั่งสมมาโดยตลอดอย่างไม่รู้ตัวด้วยอวิชชาเสียก่อน  จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาขึ้น  จึงดำเนินและเป็นไปตามวงจรการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ปฏิจจสมุปบาท

          ปุถุชน เมื่อมีสุขเวทนาความรู้สึกรับรู้ชนิดเป็นสุข ก็อยาก ก็ชอบ อยากให้คงอยู่ อยากให้เป็นไป  หรือเกิดอาการอยากให้เกิดขึ้น  อยากให้คงอยู่นานๆ หรือติดเพลิน(นันทิ)นั่นเอง อันเป็นอาการธรรมชาติของปุถุชน  อันเป็นตัณหาเป็นธรรมดา  อันสั่งสมเป็นเยี่ยงนี้ตั้งแต่เกิด หรือไม่รู้ว่าสั่งสมมานานสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น

          เมื่อเกิดทุกขเวทนาหรือความทุกข์ อันคือ ความรู้สึกรับรู้ที่ไม่ถูกใจไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น  ไม่อยากให้เป็นไป  อยากกำจัด  อยากเลี่ยงหนี  หรือเกิดอาการผลักไส อยากให้ไปหรือหายไปโดยเร็วโดยอาการต่างๆนาๆนั่นเอง   หรืออยากให้เป็นไปอย่างอื่นตามใจปรารถนาขึ้นแทน  อันเป็นธรรมชาติ  อันเป็นวิภวตัณหาหรือตัณหาอย่างหนึ่งนั่นเอง

          เมื่อเกิดอทุกขมสุขไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆ อันแผ่วเบา ด้วยความเคยชิน  จึงไม่รู้ตัวและเพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง(อวิชชา) จึงไปปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านออกไปต่อไป   จนเกิดการผัสสะต่อการคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน จนเกิดเวทนาอันรุนแรง จนเกิดตัณหาขึ้นในที่สุดเช่นกัน

          สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นธรรมชาติของปุถุชนที่เกิดขึ้นและเป็นไปเป็นธรรมดา  โดยตลอดเวลาทั้งขณะที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเพราะการสั่งสมจนเชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง และเพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง(อวิชชา)    สิ่งเหล่านี้จึงคงเกิดขึ้นและเป็นไปตั้งแต่จำความได้ และยังดำเนินสั่งสมให้กล้าแข็งเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆตลอดเวลาโดยธรรมชาติของผู้มีชีวิตเองที่ย่อมเป็นไปเช่นนี้เป็นธรรมดา  เพราะย่อมยังไม่มีวิชชาที่จำต้องสั่งสมและฝึกปฏิบัติจึงจักเกิดขึ้นได้

         ดังนั้นเมื่อเกิดเวทนาขึ้นมา ไม่ว่าสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา จึงมักเกิดความปรารถนาหรือความทะยานอยาก หรือไม่อยากในสุขเวทนา และทุกขเวทนานั้น จึงเกิดสังขารขันธ์หรืออารมณ์ทางโลกต่างๆ เช่น โลภะ โทะสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯ. ซึ่งเรียกรวมกันว่า"ตัณหา"นั่นเอง  ตัณหาจึงกินความหมายกว้างขวางครอบคลุมฝ่ายอกุศลสังขารขันธ์ทั้งหลาย

         ตัณหาท่านแบ่งออกเป็น ๓ คือ

          ๑. กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม(ในทางโลกๆ) คือ ความอยากหรือไม่อยากใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  อันสัมผัสได้ด้วยสฬายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นไปในทางโลกๆ

          ๒. ภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ หรือความทะยานอยากทางจิต  อยากเป็นนั่น  อยากได้นี่,  หรือความอยาก,  จึงอาจรวมทั้งความอยากให้คงอยู่  อยากให้เป็นไปในกามตัณหาข้างต้นด้วยก็ได้

          ๓. วิภวตัณหา ความทะยานอยากในวิภพ คือ อยากไม่เป็นนั่น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้  อยากให้สิ่งนั้นๆพรากพ้นดับสูญ  อยากให้สิ่งที่ไม่ดีหรือที่ไม่ต้องการนั้นๆไม่ให้เกิดขึ้น,  หรือความไม่อยากให้เกิด,ไม่อยากให้มี,ไม่อยากให้เป็น ทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง,   บางทีจึงหมายรวมทั้งความเบื่อ การผลักไส ความไม่อยากให้คงอยู่ ไม่อยากให้เป็นไปในกามตัณหาข้างต้นด้วยเช่นกัน

         โดยทั่วไปมักมองสังเกตุเห็นแต่กามตัณหาใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  ไม่สนใจภวตัณหาและวิภวตัณหาที่ล้วนก่อทุกข์โทษภัยเช่นกัน   ทั้ง ๓ ณ ที่นี้ ผู้เขียนจําแนกให้เห็นได้ชัดๆง่ายๆ เพื่อความสะดวกในการสื่อสารกัน เป็น ความรู้สึกอยาก(ภวตัณหา) และไม่อยาก(วิภวตัณหา) ในเวทนาที่เกิดขึ้นเหล่านั้น อันเกิดขึ้นต่อเนื่องใน ณ ขณะจิตนั้นเอง  ต้องทําการโยนิโสมนสิการโดยละเอียดและแยบคายถึงจักมองเห็นด้วยปัญญาหรือญาณคือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องดีงาม

         เมื่อเกิดสุขเวทนา ที่ชอบใจ ถูกใจ โดยธรรมชาติของปุถุชนแล้วก็ปล่อยกายใจไปตามสภาพนั้นๆเพราะความชอบใจ ถูกใจ และอยากให้สภาพเหล่านี้คงอยู่ หรือเกิดขึ้นบ่อยๆ อันเป็นนันทิ(ความติดเพลิน)หรือตัณหานั่นเอง,   เมื่อเกิดทุกขเวทนา ที่ไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ  ไม่สบายใจ โดยธรรมชาติเช่นกันก็อยากผลักใส ไม่อยากให้คงอยู่ ไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เป็น อันเป็นสภาวะของวิภาวตัณหา(ความไม่อยากให้เกิดให้มี)นั่นเอง   สิ่งต่างๆเหล่านี้นี่เองที่เป็นตัณหา แต่เป็นไปโดยไม่รู้ตัว   หรือเมื่อเกิดอทุกขมสุข(ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือเฉยๆ) อันแผ่วเบา จึงมักไม่รู้ตัว จึงเกิดความประมาทปล่อยกายใจไปปรุงแต่งจนเกิดเป็นทุกข์ขึ้นในที่สุดด้วยอวิชชานั่นเอง

         โปรดเข้าใจด้วยว่า ไม่มีใครสามารถคอยไปไล่ตามกระบวนธรรมของจิตได้ทัน  เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุหรือปัญญา, เพราะเกิดรวดเร็วกว่าสายฟ้าแลบเสียอีก ต้องใช้ธัมมวิจยะ อันคือการพิจารณาในธรรมนั้นโดยการโยนิโสมนสิการอย่างแยบคาย คือการพิจารณาในใจด้วยความละเอียดและแยบคายหรือชาญฉลาดอย่างหาเหตุหาผลนั่นเอง  เพราะจิตเป็นไปสมดั่งพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

เราไม่เล็งเห็นสิ่งอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง  ที่จะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเหมือนจิตเลย

(เอกนิบาต ๒๐/๙)

         ถ้าไม่มีตัณหาเกิดขึ้นต่อเวทนานั้น กล่าวคือไม่เกิดความอยากหรือความไม่อยากต่อเวทนาที่บังเกิดขึ้นนั้น  กระบวนจิตก็จักดําเนินไปตามกระบวนการดํารงชีวิตหรือกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ตามปกติ  อันไม่ก่อให้เกิดทุกข์อุปาทาน  (ดูภาพประกอบ ณ ตำแหน่งเวทนาในภาพ)

         ข้อสังเกตุเพื่อการโยนิโสมนสิการ ตัณหานั้นเกิดจากเหตุปัจจัยโดยตรงคือเวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจากการผัสสะเช่นผัสสะกับความคิดของเราเอง  มิได้เกิดขึ้นโดยตรงจากอารมณ์อันคือ รูป(สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยตา) เสียง กลิ่น รส สัมผัส  อันวิจิตรสวยงามที่มากระทบสัมผัส ดังที่เข้าใจกันโดยทั่วๆไป เพราะต้องยังให้เกิดเวทนาจากการผัสสะขึ้นเสียก่อน  และข้อสำคัญอารมณ์เหล่านั้นก็เป็นไปของมันตามธรรมหรือธรรมชาติของเขา ไปเปลี่ยนแปลง ให้สวย ให้หอม ให้น่าเกลียดดั่งใจก็ไม่ได้  ดัวยเหตุดังนี้จึงเป็นไปได้ด้วยการขจัดหรือละตัณหาอันซึ่งเกิดขึ้นมาโดยตรงๆจากเวทนา  ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้

      "อารมณ์(สิ่งที่จิตไปกำหนดหมาย เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) อันวิจิตรทั้งหลายในโลก หาใช่ (ทําให้เกิด) กามไม่,  ราคะ (ตัณหา) ที่เกิดจากความคิดของคนต่างหากที่เป็นกาม,   อารมณ์ทั้งหลายอันวิจิตรย่อมดํารงอยู่ตามสภาพ(สภาวธรรม-ธรรมชาติ)ของมัน อย่างนั้นเอง  ดังนั้นชนอันประกอบด้วยธรรม (เข้าใจสภาวะธรรมหรือธรรมชาติ) ทั้งหลาย  จึงขจัดแต่เพียงตัวความอยาก (ตัณหา) ในอารมณ์วิจิตรเหล่านั้น" (กล่าวคือมิได้ต้องพยายามกําจัดอารมณ์อันวิจิตรอันคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้ง ๕ ที่มากระทบสัมผัสนั้น, ต้องกําจัดตัณหาจึงเป็นการถูกต้อง)

(อฺงคุตฺตรนิกาย ฉกฺกนิปาต ๒๒/๓๓๔/๔๖๐)

         แต่ตามปกติของปุถุชนผู้ยังไม่มีวิชชานั้น ย่อมฝึกปรือสั่งสมจนเป็นสังขารตั้งแต่เกิดมาโดยธรรมชาติ  อันย่อมเป็นไปในฝ่ายก่อทุกข์แต่ฝ่ายเดียว ไม่เป็นอื่นไปได้  ดุจเดียวดั่งนํ้าที่ต้องไหลลงสู่ที่ตํ่าแต่ฝ่ายเดียวโดยธรรม หรือธรรมชาติ  กล่าวคือ ถ้าเวทนานั้นเป็นเวทนาที่เป็นสุข (สุขเวทนา-แม้ว่าพอจะจัดได้ว่าเป็นสุขชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความสุขอย่างแท้จริงเป็นแค่เวทนาหรือความรู้สึกรับรู้ในอารมณ์ที่ถูกใจ,ชอบใจ,สบายใจอันมากระทบสัมผัสอันเกิดแต่ระบบประสาทสัมผัสจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอันมีสัญญา(ความจำ)หรืออาสวะกิเลส(ความจำที่มีกิเลสแฝงอยู่)ร่วมด้วยเท่านั้น อันจักเกิดแค่ชั่วระยะหนึ่ง และที่สำคัญเป็นกระบวนการธรรมชาติธรรมดาของชีวิต) ก็มีความทะยานอยากหรือตัณหา, อยากจะได้,  อยากให้เกิด,  อยากให้เป็นไปตามสุขเวทนานั้นนานๆหรือตลอดไป จึงเกิดอาการอยากพยายามยึดไว้โดยไม่รู้ตัว (แต่ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป จึงเป็นทุกข์เมื่อไปอยากหรือไปยึด จึงนําไปสู่ทุกข์ในภายหน้าเป็นที่สุด)

         และถ้าเวทนานั้นเป็นเวทนาที่รู้สึกเป็นทุกข์(คือทุกขเวทนา-ไม่ใช่ความทุกข์อย่างแท้จริงเช่นกัน เป็นแค่อาการตามธรรมชาติอันเป็นเช่นนั้นเองของเวทนาหรือความรู้สึกรับรู้อันไม่ถูกใจหรือไม่ชอบใจเมื่อเกิดการผัสสะ อันร่วมด้วยอาสวะกิเลสหรือสัญญาจํา อันเกิดขึ้นขณะหนึ่ง)โดยเฉพาะทุกขเวทนาอันแรงกล้าทั้งทางกายหรือทางใจ  ก็จะเกิดตัณหาชนิดไม่อยากให้เกิดขึ้น,  ไม่อยากให้เป็นไป, ไม่อยากให้มี, ไม่อยากเห็น, ไม่อยากได้ยิน อันแสดงออกมาทางอาการผลักไสอย่างหนึ่งอย่างใด อันล้วนคืออาการจิตของความไม่อยาหรือวิภวตัณหาทั้งหลายนั่นเอง เกิดขึ้นทั้งต่อจิตและกายทันที (แต่ตามความเป็นจริงก็ผลักไสไม่ได้, อย่างมากก็กดข่มไว้ได้ระยะหนึ่ง เพราะเกิดแต่ความจําหรืออาสวะกิเลส และการผัสสะตามธรรม อันเป็นตามกลไกธรรมชาติหรือสภาวธรรมของชีวิตที่เป็นไปเช่นนี้เองเป็นธรรมดา)

        หรือเมื่อเกิดอทุกขมสุขหรือความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ที่บางทีเรียกกันว่าเฉยๆบ้าง เปล่าๆบ้าง อันย่อมล้วนเกิดจากการกระทบสัมผัสเช่นกันแต่เพียงแผ่วเบาเท่านั้นหรือไม่มีสัญญจำใดเป็นเครื่องกำหนด  เป็นเวทนาที่เข้าใจกันว่าดีนั้น และเป็นเวทนาที่เกิดขึ้นมากที่สุด เป็นประจําแทบทุกขณะจิตที่จิตตื่นอยู่ และนักปฏิบัติมักไม่รู้ตัวและไม่รู้จัก เพราะความเคยชินและความแผ่วเบาของเวทนา  จึงมักเกิดอวิชชานุสัย เพราะความไม่รู้ในคุณ,ในโทษของมันตามความเป็นจริง จึงเกิดการประมาทปล่อยกายปล่อยใจไปปรุงแต่ง สอดส่าย แทรกแซงต่างๆนาๆเพราะไม่เห็นตามความเป็นจริงในโทษของมัน  จนอทุกขมสุขนั้นแปรปรวนกลับกลายไปเป็นทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาอย่างง่ายดาย อันนําไปสู่ทุกข์ในที่สุดเช่นกัน (อ่านรายละเอียดได้ในอทุกขมสุข บทที่ ๒๗)

ขั้นตอนเวทนาและตัณหานี้ สําคัญต่อความเข้าใจสภาวธรรมทั้งในขันธ์๕ และปฏิจจสมุปบาท

อ่านทบทวน พร้อมการพิจารณาลําดับในใจให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

        ความคิดนึกที่เกิดขึ้น แต่ละความคิดนั้น ล้วนเป็นขันธ์๕ หนึ่งกองที่ครบถ้วนกระบวนความในตนเอง(ภายหน้ามีอธิบายอย่างละเอียดในขันธ์๕) กล่าวคือ ประกอบด้วย รูปขันธ์ (อันทำหน้าที่เป็น อารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้  ดังเช่น ความคิด(ธรรมารมณ์)  รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)  เวทนาขันธ์ ๑   สัญญาขันธ์ ๑   สังขารขันธ์ ๑   และวิญญาณขันธ์  ที่ทำงานกันอย่างเนื่องสัมพันธ์ จนเกิดความคิดชนิดที่เป็นผลขึ้น(ความคิดแรก เป็นความคิดที่เป็นเหตุ) หรือเป็นการกระทำต่างๆออกมาหรือที่เรียกว่าสังขารขันธ์   ดังนั้นจึงรวมถึงความคิดนึกปรุงแต่งด้วย   ดังนั้นเมื่อคิดนึกปรุงแต่งมากๆ หรือหลายๆความคิดปรุงแต่งนั่นเอง อันก็คือการเกิดขันธ์๕หรือกระบวนการทํางานของชีวิตขึ้นหลายๆครั้ง อันย่อมต้องเกิดเวทนา   ร่วมด้วยทุกครั้งในแต่ละคิดปรุงแต่งนั้น  ดังที่ได้แสดงมาแต่ข้างต้นพอสังเขป   เมื่อเกิดเวทนามากๆครั้งและมักอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัว หลากหลายตามความคิดนึกปรุงแต่งที่เกิดขึ้น จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เวทนาตัวใดตัวหนึ่งมีโอกาสเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา  ผู้เขียนจึงกล่าวว่า ความคิดนึกปรุงแต่ง อันมักเป็นความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นและมักเนื่องสัมพันธ์กับความคิดแรกๆที่เกิดไปแล้วนั้น    หรือเกิดจากสังขารที่สั่งสมไว้ อันต้องมีเกิดผุดขึ้นมาบ้างเป็นธรรมดา อันจะห้ามไม่ให้เกิดเลยย่อมไม่ได้ เพราะสามารถผุดขึ้นมาเองได้ดั่งพรายอากาศอันผุดขึ้นมาเองจากการหมักหมมของโคลนตมใต้ท้องธารนั่นเอง อันเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)  แต่มักจะเป็นสิ่งที่ไม่จําเป็น,ไม่มีหน้าที่จริงๆ, ฟุ่มเฟือย อันมักแอบแฝงหรือก่อให้เกิดตัณหา    ตัวอย่างกระบวนการขันธ์๕ แสดงการเกิดถึงเวทนา (เกิดเฉกเช่นในปฏิจจสมุปบาทเช่นกัน  ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะความจริงแล้วเป็นกระบวนธรรมเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่การแสดงลำดับต่างกันเล็กน้อย)

คิดนึกปรุงแต่ง ใจ  วิญญาณ     ผัสสะ     สัญญาจํา(หรืออาสวะกิเลส)    เวทนา

      และความทุกข์เป็นจํานวนมาก มักเกิดจากความคิดนึกปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่งต่างๆนาๆทุกชนิดร้อยแปดพันเก้า อันล้วนยังให้เกิดเวทนา แล้วเวทนาเหล่านั้นจึงเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาเกิดความอยากอะไรหรือความไม่อยากอะไร   โยนิโสมนสิการว่าความคิดปรุงแต่งต่างๆ ส่วนใหญ่สรุปลงเป็นดังนี้หรือไม่    ส่วนความคิดที่เกิดจากกอง"สังขาร"ในปฏิจจสมุปบาทอันเป็นความคิดนึกที่อาจผุดขึ้นมาจากความจําที่สั่งสมหรืออบรมไว้จากประสบการณ์ในอดีตอันย่อมแฝงด้วยอาสวะกิเลสเป็นปกติเป็นธรรมดา โดยเป็นปัจจัยร่วมกับอวิชชาเพราะยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เท่าทันตามความเป็นจริงในสภาวะธรรมนั่นเอง  จึงเกิดตัณหาต่อเวทนาของสังขารนั้น...จนเกิดอุปาทานขึ้น...จนเป็นอุปาทานทุกข์ ในที่สุดนั่นเอง (ถ้าไม่มีอาสวะกิเลสและอวิชชา ก็เป็นเพียงสังขารที่สั่งสมตามปกติธรรมดาอันไม่ยังให้เกิดทุกข์ เช่น สัญญาความจําทั่วๆไปต่างๆในขันธ์ ๕,  และในพระอรหันต์เจ้าท่านจึงมีแต่สังขารอันไม่มกิเลส  หรือสัญญาจํา อันหมดจดไม่มีกิเลสมาร้อยรัด  เป็นปกติธรรมดา)

        ตัณหาเป็นความรู้สึกนอนเนื่องที่ผุดเกิดขึ้นจากการรู้แจ้งในอารมณ์(เวทนา) นี่คือจุดสําคัญที่สุด  ไม่ได้เกิดหรือกระทําโดยตรงต่อความคิดอันเป็นสังขารขันธ์(มโนสังขารขันธ์) เช่น สวย อร่อย โลภ โกรธ หลง หดหู่  ฟุ้งซ่าน ฯลฯ.  ลองพยายามโยนิโสมนสิการจุดนี้เป็นพิเศษ แล้วจักเข้าใจเวทนา  เพราะในความเป็นจริงแล้วตัณหาเกิด หรือกระทําโดยตรงต่อเวทนา กล่าวคือ มีความอยากหรือไม่อยากในความรู้สึกที่รับรู้อันเกิดแต่การผัสสะนั้น จึงเกิดการอยากหรือยึดในความรู้สึกรับรู้ที่เกิดขึ้น(เวทนา)นั้นนั่นเองว่าเป็นเรา เป็นของเรา.(บางท่านอาจพิจารณาว่าตัณหาเกิดแต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด อันไม่ใช่เหตุจริงๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นเหตุปัจจัยของเวทนาอยู่แล้ว จึงเกี่ยวเนื่องเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันโดยทางอ้อมเท่านั้น)

         ตัณหา นั้นถ้าพูดกันโดยภาษาโลกๆแล้วก็มีคำที่แสดงความหมายของตัณหาอยู่หลากหลาย  ดังเช่น  ความอยาก  ความติดเพลิน(นันทิ)  ความติดใจเพลิน  ความยินดี  ความติดใจอยาก  ความติดใจชอบ,   หรือแสดงในรูปของวิภวตัณหา ดังเช่น  ความไม่อยาก  ความไม่ยินดี  ความยินร้าย  ความไม่อยากให้เกิดให้มีให้เป็น  การผลักไส

กิจ ๓ ข้อ อันควรกระทำยิ่งในอริยสัจ ๔ ใน สมุทัย คือ

สมุทัยคือดังนี้   สมุทัยนี้ควรละ   สมุทัยนี้ละแล้ว

 

ธรรมน่าคิดพิจารณา

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)

ดูไม้ท่อนนี้ซิ ... สั้นหรือยาว
สมมติว่า คุณ
อยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ ...ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น
แต่ถ้าคุณ
อยากได้ไม้สั้นกว่านี้ ... ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว
หมายความว่า
ตัณหา ของคุณต่างหาก
ที่ทำให้มีสั้น มียาว มีชั่ว มีทุกข์ มีสุข ขึ้นมา

 

anired06_next.gif ย้อนกลับวงจรปฏิจจสมุปบาท

๘. เพราะตัณหาเป็นปัจจัย  จึงมีอุปาทาน

กลับสารบัญหน้า ปฏิจจสมุปบาท