ปฏิจจสมุปบาท

ย้อนกลับ

๖. ผัสสะ เป็นเหตุปัจจัย จึงมี เวทนา

คลิกขวาเมนู

        เมื่อมีการผัสสะกันเกิดขึ้น  อันคือการประจวบกระทบกันทั้งของ อายตนะภายใน, ภายนอก และวิญญาณ ย่อมบังเกิด "เวทนา" คือการเสวยอารมณ์ (อารมณ์-ในทางพุทธศาสนาหมายถึง สิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยวหรือสัมผัสในขณะนั้นๆ อันหมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส(โผฏฐัพพะ) และธรรมารมณ์(เช่น ความคิด ความนึก, สิ่งต่างๆที่รับรู้ได้ด้วยใจ)ที่มากระทบ   จึงมีความหมายต่างกับความหมายทางโลกๆ เช่น อารมณ์ดี อารมณ์เสีย)   เป็นไปดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการเกิดของเวทนา เป็นดังนี้

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย   บุคคลอาศัยจักษุ(อายตนะภายใน) และรูป(อายตนะภายนอก) เกิดจักษุวิญญาณ(วิญญาณ ๖)  ความประจวบกันของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ  และเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์(เวทนา)  เป็นสุขบ้าง(สุขเวทนา)  เป็นทุกข์บ้าง(ทุกขเวทนา)  มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง(อทุกขมสุขเวทนา)  

(ข้อความเดียวกันใน เสียง-หู, กลิ่น-จมูก, รส-ลิ้น, สัมผัส-กาย, ธรรมารมณ์(คิดนึก)-ใจ   อันต้องเป็นไปเช่นนั้นเองเป็นธรรมดาตามสภาวธรรม)

(ฉฉักกสูตร, ม.อุ.๑๔/๘๒๓/๔๙๓)

        พึงระลึกรู้ จำให้แม่นไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีการผัสสะ หมายถึงมีการเกิดของวิญญาณขึ้นแล้ว ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้กระบวนธรรมของชีวิตหรือขันธ์ ๕ ดำเนินไปตามธรรมคือธรรมชาติ คือต้องดำเนินต่อไปเหมือนดั่งลูกธนูที่หลุดออกจากแล่งแล้วนั่นเอง  ดังนั้นจึงอย่าเข้าใจผิดไป"พยายามดับผัสสะ" ไม่ให้เกิดขึ้น เพราะต้องดำเนินไปตามธรรม เป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดา จึงอย่าไปปฏิบัติผิดโดยหาทางดับผัสสะ เพราะเมื่อเกิดการกระทบของอายตนะภายนอกและภายในกันแล้ว วิญญาณย่อมเกิด จึงย่อมดับไม่ได้  เพียงได้แต่สามารถสำรวม สังวร คือระวังไม่ให้เกิดการกระทบกันเสียก่อนของอายตนะภายนอกและภายในได้เท่านั้นเอง ซึ่งย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงสำรวมได้ในทุกกรณี เพราะยังต้องดำเนินชีวิตอยู่ในโลก  แต่เมื่อมีการผัสสะกันแล้วย่อมดำเนินไปตามธรรมของชีวิตหรือขันธ์ ๕  เพราะขันธ์ทั้ง ๕ ล้วนเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จึงควบคุมบังคับเขาไม่ได้ จึงดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของการกระทบกันของอายตนะภายนอกและภายใน

        เวทนา หมายถึง การเสวยอารมณ์ หรือเสพรับรู้ในรสชาดของทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์   อันล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยดังข้างต้นที่มากระทบผัสสะกันนั่นเอง

        ซึ่งมีความหมายต่างไปจากภาษาสมมุติทางโลกในภาษาไทย ที่มีความหมายแสดงถึง ความรู้สึกหรืออาการของจิต ที่เกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาหนึ่งๆ เช่น ความรู้สึกเศร้าใจ ความรู้สึกน่าสงสาร น่าเห็นใจ หรืออารมณ์เสีย

        โยนิโสมนสิการ พิจารณาดูว่าเวทนาในความหมายใดถูกจริตแห่งท่าน อันก่อให้เกิดความเข้าใจในสภาวธรรมของเวทนาได้อย่างถูกต้อง เพราะล้วนเป็นเอกเสสนัย  เช่น

        เวทนา คือ การเสพรสชาดในอารมณ์ (อารมณ์ ที่หมายถึง รูป เสียง กลิ่น ฯ.) เช่น เสพจึงรับรู้รสชาดของรูปที่เห็นหรือผัสสะ, เสพจึงรับรู้รสในรสชาดของอาหารที่ผัสสะ, หรือการที่มีสิ่งใดมากระทบกาย

        เวทนา คือ การรับรู้ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ย่อมเกิดขึ้นมาจากการรับรู้ ในสิ่งต่างๆที่มากระทบสัมผัสอายตนะต่างๆ อันเกิดขึ้นได้ทั้งต่อกายหรือใจ   หรือก็คือ ความรู้สึกอันเนื่องมาจากการผัสสะกับอารมณ์นั้นๆ อันคือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  และธรรมารมณ์  โดยมีความจํา(สัญญา)มาจําแนกร่วมกับการรับรู้นั้น เป็นชนิด ชอบใจ สบายใจ ถูกใจ ๑, ไม่ชอบใจ ไม่สบายใจ ระเคืองใจ ไม่ถูกใจ ๑,  และไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆกลางๆ ๑,   อันท่านจัดเป็นเวทนาชนิด สุขเวทนา, ทุกขเวทนา, อทุกขมสุขหรือไม่ทุกข์ไม่สุข ตามมาเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของผู้มีชีวิต  ที่ย่อมต้องเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการผัสสะ เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด  อุปมาเหมือนดั่งเม็ดฝนที่ตกกระทบผิวน้ำ ย่อมต้องเกิดฟองอากาศใหญ่บ้าง เล็กบ้าง หรือเป็นเพียงระลอกบ้าง อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

        เวทนา คือ ความรู้สึกรับรู้ ที่เกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส(ผัสสะ) พร้อมความจําได้และเข้าใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสนั้น

        หรือ เวทนา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส อันพร้อมถึงด้วยความจำได้หรือมีประสบการณ์ในสิ่งที่ผัสสะนั้นๆ

        ขอให้สังเกตุหรือโยนิโสมนสิการโดยละเอียดและแยบคายด้วยว่า เวทนาเป็นสภาวธรรมหรือสภาวธรรมชาติแท้ๆ ที่ต้องเกิด ต้องมีเป็นธรรมดา มันเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ที่มันเป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดาหรือตถตาใช่ไหม?  เหมือนดั่งเม็ดฝนกระทบผิวน้ำนั่นเอง

        หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า การรับรู้ ที่เกิดขึ้นจากอารมณที่มากระทบผัสสะนั้น พร้อมความจำได้  (ตามปกติ "รู้แจ้งในอารมณ์" หมายถึง วิญญาณ ที่หมายถึง เกิดแค่การรู้ ในสิ่งที่ผัสสะนั้น)

ที่มนุษย์หรือสัตว์เรารู้สึก

สุข  ทุกข์  หรือเฉยๆ

กันอยู่ ก็คือ เวทนา หรือความรู้สึกจากการรับรู้ในอารมณ์ต่างๆนั่นเอง

กล่าวคือ สิ่งต่างๆ แม้กระทั่งความคิดของตน(ธรรมมารมณ์)ที่มา ผัสสะ เหล่านี้นี่เอง!

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  เวทนาเหล่านี้ยังไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ท่านกล่าวว่าเป็น ความทุกข์ อย่างแท้จริง

แต่เมื่อเวทนาเหล่าใดเหล่านี้ ประกอบด้วยอุปาทานเมื่อใด  เวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน ที่เรียกว่า เวทนูปาทานขันธ์

จึงเป็นความทุกข์ที่แท้จริง ที่เร่าร้อนเผาลน ที่พระองค์ท่านทรงสอนให้ดับสนิทไม่เหลือ

ส่วนทุกขเวทนาก็ยังคงมีอยู่เป็นธรรมดาของโลกวิสัย

        โยนิโสมนสิการ โดยละเอียดจริงๆว่า กระบวนธรรมชาติของการเกิดเวทนานี้  จําเป็นต้องมีสัญญา(ความจําได้ในอารมณ์ เช่น จำได้ในรูป,เสียง,กลิ่น,รส ฯ.)ต้องเกิดร่วมด้วย คือ นอกจากรับรู้ในรสชาดของอารมณ์ที่มากระทบแล้ว  ยังมีความจําได้(สัญญา)ในสิ่งที่มากระทบหรือสัมผัส(ผัสสะ)นั้นอีกด้วย  จึงจะทําให้สามารถจําแนกแตกเวทนาได้เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุข,  เพียงแต่ท่านได้ ละ ไว้  ไม่แสดงในปฏิจจสมุปบาท  เพราะหมายถึงอาสวะกิเลสอันก็เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา-ความคิดความจํานั่นเอง  และ ณ ที่นี้เป็นการกล่าวถึงกระบวนธรรมของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์  อาสวะกิเลสนี้ จึงเป็นสัญญาจําชนิดที่แฝงกิเลสล้วนสิ้น ที่จักทําให้จิตหมองขุ่นมัวอันก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์อันเร่าร้อนเผาลนจิต  ดังนั้นเวทนาต่างๆที่เกิดขึ้นในปฏิจจสมุปบาท จึงล้วนเป็นเวทนามีอามิส อันเป็นเวทนาชนิดที่มีสัญญาจำอันแฝงด้วยกิเลสอยู่แล้วนั่นเอง   จึงพอเขียนเป็นกระบวนธรรมของจิต(ขันธ์ ๕)ได้ดังนี้

คิด  ใจ  วิญญาณ     ผัสสะ     สัญญาจํา(จากอาสวะกิเลส)     เวทนา ชนิดต่างๆ (ลองพิจารณาไล่ลําดับจิตดู)

รูป  ตา  วิญญาณ     ผัสสะ     สัญญาจํา(จากอาสวะกิเลส)     เวทนา ชนิดต่างๆ

        เราจึงควรใส่ใจ มีความเข้าใจด้วยว่ามีสัญญา(จํา)ในอารมณ์ - รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมมารมณ์(ความคิด) หรือสัญญาจําของอาสวะกิเลสมาเกี่ยวเนื่องด้วย  เพราะจักไปช่วยให้เข้าใจในกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ตลอดจนปฏิจจสมุปบาท  อันเป็นสิ่งที่จําเป็นยิ่งในการเข้าใจสภาวธรรม(ธรรมชาติ)อย่างแจ่มแจ้งในภายหน้า

        ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สําคัญ เพราะเป็นขั้นตอนเกิดเวทนาซึ่งเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)แท้ๆ  เกิดอย่างไร เป็นอย่างนั้น  และปุถุชนมักจะติดบ่วงของเวทนานี้  ซึ่งเมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องจักช่วยให้เข้าใจธรรมหรือสภาวธรรมต่างๆอย่างถูกต้อง  อันนําไปใช้ในการระงับหรือดับความทุกข์ที่จักเกิดขึ้นทั้งจากเวทนาทางกายและทางใจเพราะความเข้าใจในธรรม(สภาวธรรมหรือธรรมชาติ)นั้นอย่างถ่องแท้  จนจิตน้อมยอมรับอย่างศิโรราบในภายหน้า   เพราะการรับรู้แจ้งในอารมณ์หรือการเสพเสวยอารมณ์ในสิ่งที่กระทบสัมผัสในขั้นแรก เกิดขึ้น ณ ที่นี้  ไม่ว่าจักเพราะสังขารที่สั่งสมไว้(สังขารในปฏิจจสมุปบาท), หรือเป็นเพราะสฬายตนะที่จรไปกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่างๆจากภายนอก(กาย)  แม้แต่ธรรมารมณ์อันเกิดมาจากเหตุปัจจัยแวดล้อมภายนอก,  ล้วนแล้วแต่ต้องเกิดเวทนาเช่นนี้ขึ้นทั้งสิ้นเป็นธรรมดา   และโดยธรรมชาติของสรรพสัตว์และมวลมนุษย์ทั้งปวงนั้น   เมื่อรับรู้ความรู้สึกของสิ่งที่มากระทบสัมผัสแล้วอันคือเวทนา  ถ้าความรู้สึกนั้นชอบใจ, ถูกใจ หรือสบายใจ ก็จะไปอยาก(ตัณหา) หรือติดเพลิน(นันทิ)  หรือพยายามยึดไว้ ให้คงอยู่ คงเป็น (ตัณหา)   แต่ถ้ารู้สึกไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ไม่สบายใจ ระเคืองใจ ก็จะพยายามผลักไส ครํ่าครวญ พิรี้พิไร หรือไม่อยาก(วิภวตัณหา)ในความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่กระทบสัมผัส(ผัสสะ)นั้น   จนสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ประพฤติปฏิบัติจนติดแน่นอยู่ในกมลสันดานหรือเป็นสังขารที่ได้สั่งสมไว้ในรูปอาสวะกิเลสนั่นเอง โดยไม่รู้ตัวและเนื่องด้วยอวิชชา  จึงต้องใช้ทั้งปัญญาและสติรู้เท่าทันเวทนา(จึงครอบคลุมทั้งเข้าใจและรู้เท่าทัน) มีความเข้าใจในสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของเวทนาที่เกิดอย่างไรเป็นอย่างนั้น  (จึงไม่ใช่ต้องรู้สึกเฉยๆหรืออทุกขมสุขเวทนาในสิ่งต่างๆที่มากระทบ ดังที่นักปฏิบัติพยายามปฏิบัติกันผิดๆเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว)  จึงจักไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา หรือทําให้ตัณหาเกิดน้อยลง  อันเป็นปัจจัยให้อุปาทานอันก่อเป็นทุกข์อุปาทานดับลงหรือน้อยลงไปด้วย (อ่านเวทนา และ การแยกแยะเวทนาช่วยในการเข้าใจเวทนาให้ถูกต้อง)  เพราะเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกระบวนธรรมหรือสภาวธรรมอันยิ่งใหญ่ที่เป็นเช่นนี้เองเป็นธรรมดา  บังเกิดขึ้นเป็น สุขเวทนบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง หรืออทุกขมสุขเวทนาบ้าง แม้แต่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ผู้ตรัสรู้ชอบดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ตลอดจนพระอริยเจ้าทุกองค์,   เราจึงต้องเข้าใจ(ปัญญา)เวทนาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง  จิตจักได้เลิกดิ้นรนการกําจัดเวทนาอย่างโง่งมและไร้เหตุผล เช่น มีอะไรมากระทบตา หู ใจ ฯ. จักให้ไม่รู้สึกรู้สาใดๆเลย   จึงกลับเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานทุกข์อันแสนเร่าร้อนเผาลนขึ้นจริงๆจากเวทนาเหล่านั้น,   หรือวนเวียนปฏิบัติเพราะการพยายามดับเวทนานี้โดยตรงตามความเข้าใจผิดด้วยอวิชชา  ไปดับตามความหมายทางโลกคือให้ดับสูญ  อันมีผู้นิยมพยายามปฏิบัติกันมากเพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรมหรือสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ว่าแท้จริงแล้ว  เป็นการกด การข่มชั่วขณะเท่านั้น  ไม่มีผู้ใดดับได้อย่างถาวรแท้จริงนอกจากความตาย  เพราะอยู่ในสภาพเกิดๆดับๆอยู่เยี่ยงนี้นั่นเองตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ กล่าวคือ เมื่อเหตุปัจจัยครบองค์ คือมีการผัสสะเกิดขึ้น  ก็ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดาด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์

        เมื่อมีความเข้าใจว่าเวทนาย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว,  สิ่งหรือกิจอันพึงกระทําต่อเวทนา จึงมีดังนี้  ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย   บุคคลอาศัยจักษุ(ตา) และรูป เกิดจักษุวิญญาณ  ความประจวบกันของธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ  และเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์(เวทนา)  เป็นสุขบ้าง(สุขเวทนา)  เป็นทุกข์บ้าง(ทุกขเวทนา)  มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง(อทุกขมสุขเวทนา)  (อันต้องเป็นไปเช่นนั้นเองเป็นธรรมดาตามสภาวธรรม)

        เขา(บุคคล)อันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่เพลิดเพลิน  ไม่พูดถึง  ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ  จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ (นิสัยอันนอนเนื่องหรือแอบแฝงด้วยความโลภ,ความอยาก)

        อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่เศร้าโศก  ไม่(รำพันว่า)ลำบาก  ไม่ร่ำไห้  ไม่คร่ำครวญทุ่มอก  ไม่ถึงความหลง(โมหะเพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง)พร้อม  จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ (นิสัยอันนอนเนื่องด้วยความขุ่นเคือง,ขัดข้อง,คับแค้นใจ)

        อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว  ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น(เกิดขึ้น)  ความดับไป  คุณ  โทษ  และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง  จึงไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ (นิสัยอันนอนเนื่องด้วยความไม่รู้  เนื่องจากเฉยๆจึงไม่ระวังด้วยไม่รู้ จึงปรุงแต่งจนเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนาต่างๆขึ้นในที่สุด)

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนาบรรเทา,  ละปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาบรรเทา,  ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา,  (และ)ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้  แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้  นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ

ข้อความเดียวกันใน  เสียง-หู,   กลิ่น-จมูก,   รส-ลิ้น,   สัมผัส-กาย,    ธรรมารมณ์(คิดนึก)-ใจ

(ฉฉักกสูตร  เล่มที่๑๔ ข้อที่๘๒๓)

        ข้อที่น่าโยนิโสมนสิการคือ เวทนาทั้งหลายล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น  แม้สุขเวทนานั้นจะจัดว่าเป็นสุขชนิดหนึ่งจาการเสวยคือรับรู้ แต่เป็นสุขที่ยังไม่พ้นจากทางโลกๆกล่าวคือ เหตุเพราะความไม่เที่ยง จึงคงสภาพอยู่ไม่ได้ต้องดับไป  และแม้จะเป็นสุขยิ่งแต่ก็ก่อให้เกิดเป็นสัญญาจําชนิดหนึ่งคืออาสวะกิเลส อันย่อมพาให้เกิดทุกข์ในภายหลังเพราะสัญญาที่จําได้นั้นเองจึงก่อให้เกิดปริเทวะหนึ่งในอาสวะกิเลส คือ การโหยไห้ อาลัยหา ถวิลถึง จึงเกิดการขวยขวายที่จะทําให้เกิด ให้มี ให้เป็น เช่นอดีตโดยไม่รู้ตัว วนเวียนอยู่เช่นนี้เอง,  ท่านจึงสอนว่าไม่ให้ติดเพลิน,เพลิดเพลินชนิดลืมตัว

        ควรแยกแยะเวทนาให้กระจ่าง สว่าง ที่สุด เพราะที่เวทนานี้  เป็นองค์ธรรมที่เป็นจุดสําคัญที่จะแยกหรือตัดทําลายวงจรปฏิจจสมุปบาท ให้ดําเนินไปตามกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ ในการดํารงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขตามสภาวธรรมชาติของผู้มีชีวิต   หรือจักไหลเลื่อนต่อเนื่องเข้าไปในวงจรของการเกิดขึ้นแห่งทุกข์(ปฏิจจสมุปบาท)อันเป็นปกติธรรมดาของปุถุชน  (ดูภาพประกอบ พิจารณาที่องค์ธรรมเวทนา)

        คำว่าตัดทำลายวงจรปฏิจจสมุปบาทนี้ มีความหมายถึง เมื่อมีสติรู้เท่าทันเวทนา(เวทนานุปัสสนา) แล้วสักว่าเวทนา ไม่เอนเอียงเข้าไปปรุงแต่ง,  หรือโดยการพิจารณาในเวทนาอย่างแจ่มแจ้งจนเกิดนิพพิทาญาณเกิดความหน่ายในเวทนาจากการไปรู้ความจริงยิ่งทั้งมวลเกี่ยวกับเวทนา เช่นว่า สักแต่ว่าเวทนาเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติ ตามวิสัยโลก,  ล้วนเป็นสังขารจึงไม่เที่ยง ทุกขัง อนัตตา ฯ.  เพราะเมื่อเกิดความหน่ายย่อมคลายกำหนัดหรือคลายตัณหา จึงเท่ากับเป็นการตัดทำลายวงจรที่จะดำเนินเกิดองค์ธรรมต่อไปคือตัณหาโดยตรงนั่นเอง

 

(แสดงสติและสัมปชัญญะในเวทนาโดย พระสูตร เคลัญญสูตร)

 

anired06_next.gif ย้อนกลับวงจรปฏิจจสมุปบาท

๗. เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา

กลับสารบัญหน้า ปฏิจจสมุปบาท